กลับมาที่กรมดำรงนะครับ
พระองค์เอง เห็นได้ว่าทรงรับฟังตำนานของวัด แต่ก็ยังมีข้อข้องใจว่า ลวดลายมันสมัยกรุงเทพลงมาแล้ว ทำไมมันจึงเก่าถึงอยุธยา อย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังเห็นคล้อยกับตำนานว่า ขุนหลวงเสือทรงสร้างจริง
“ตำหนักของโบราณนั้นอยู่ริมคลองข้างกุฏิสงฆ์ เป็นตำหนักไม้ 3 ห้อง ยาว 4 วาศอก กว้าง 9 ศอก ปลูกยาวตามคลอง ทางด้านใต้กั้นฝาทึบห้องหนึ่ง มีหน้าต่างกรอบจำหลักเป็นซุ้มยอด ทางด้านเหนือฝาเป็นช่องโถงสำหรับผูกม่านไม่มีบาน 2 ห้อง เสาและเครื่องบนของเดิมผุเปลี่ยนใหม่เสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฝา ฝานั้นข้างนอกเขียนทองรดน้ำพื้นดำเป็นกระหนกเครือ แต่ลายทองยังคงเหลืออยู่เพียงด้านข้างบนที่ชายคาบังฝน ตอนล่างที่ถูกแดดถูกฝนนั้นลายทองชำรุดซ่อมทาสีเสียแล้ว เครื่องบนยังมีของเดิมแต่กรอบกระจังจำหลักที่หน้าบรรณเหลืออยู่ท่อนหนึ่ง
ข้างในตำหนักฝารอบทาสีพื้นขาวเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สงสัยว่าจะเขียนเปลี่ยนลายเมื่อซ่อมชั้นหลังบ้าง พระบอกว่า เสาเดิมเป็นลายรดน้ำปิดทองเหมือนกับฝาด้านนอก ฝาประจันห้องที่ยังคงเหลืออยู่จนบัดนี้ เขียนทองลายรดน้ำเหมือนฝาด้านนอก มีประตูฝาประจันห้อง 2 ช่องที่บานเขียนทองรูปเทวดา แต่ดูจะเป็นฝีมือช่างกรุงเทพ ซ่อมชั้นหลัง
ลักษณะของตำหนักเป็นดังกล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่าเดิมคงเป็นตำหนักของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างไว้จริง อย่างนี้ที่เรียกว่า ตำหนักทอง ซึ่งผู้อื่นจะสร้างอยู่นั้นไม่ได้ โดยถ้าสร้างถวายวัดเป็นพุทธบูชา ก็ได้แต่เป็นโบสถ์วิหาร หรือหอไตร ที่ผู้อื่นจะทำเป็นเรือนทองถวายเป็นเสนาสนสงฆ์ หรือเป็นศาลาอาศัยนั้น หามีอย่างธรรมเนียมไม่
ความที่กล่าวนี้มีอุทาหรณ์ในพงศาวดารครั้งรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภจะทดแทนทรกรรมที่พระเจ้ากรุงธนบุรีลงพระราชอาญาสมเด็จพระสังฆราชสี เพราะเหตุที่ไม่ยอมถวายบังคม โปรดให้รื้อตำหนักทองของพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกถวายเป็นตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นให้เป็นเกียรติยศสถานหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่าแต่โบราณนับถือตำหนักทองว่าเป็นของสูงศักดิ์เพียงไร
ถ้าเป็นตำหนักเจ้านายภายในพระราชวงศ์ก็เพียงใช้แต่ทาสี ดังเช่นที่เรียกนามตำหนักของสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ว่า ตำหนักเขียวและตำหนักแดงนั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยมีหลักฐานดังอธิบายนี้ จึงเห็นว่าตำหนักทองที่วัดไทรเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างเป็นแน่”
