เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 12083 นิราศหนองคาย หนังสือเก่าที่สุดหายากเล่มหนึ่ง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 30 ม.ค. 10, 06:26

ในกลุ่มนักอ่านนักสะสมหนังสือเก่าที่ดิฉันเป็นสมาชิกอยู่    เราจะตรวจสอบข้อมูลกันเสมอ
ใครได้ยินข่าวอะไร มาจากใคร  ที่ไหน  อย่างไร  ก็จะ แบ่ง ๆ กัน
ข่าวที่น่าเชื่อถือ คือ คนที่เล่าต้องปรากฎตัวอยุ่ในที่เกิดเหตุ  เห็นหนังสือแลกเปลี่ยนมือกัน  และได้จับต้อง จะให้ดีต้องได้อ่าน

นักสะสมบางคน(แต่ละคนก็ไม่ค่อยจะธรรมดา)ให้ความสำคัญของหนังสือไม่เท่ากัน
ถ้าไม่มีการพบปะสนทนาอย่างถูกใจบุคคลิกและนิสัยของอีกฝ่าย  ก็ไม่มีวันแพลมออกมาว่าหนังสือเล่มนั้น ๆ อยู่กับตน
ทำเป็นลืมไปได้ลงคอ


หมู่นี้ไม่มีข่าวสำคัญอะไรมาก   เราก็บ่นอยากเห็น  นิราศหนองคายกันอีกแล้ว



เมื่อวานเห็นคุณเพ็ญชมพู พูดถึง  ก็เลยเกิดอาการอยากเล่าขึ้นมา




นายทิม สึกมาจากวัดราชบูรณะ  บวชอยู่ ๓ พรรษา   มาฝากตัวอยู่กับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(เพ็ง  เพ็ญกุล)(ต่อมาเป็น เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง)ในฐานะทนายหน้าหอ
ตอนนั้นอายุ ๒๓     

เกิด วันที่ ๑๖  มกราคม  พ.ศ. ๒๓๙๐ (ปลายรัชกาลที่ ๓)

ตระกูลเป็นพ่อค้่าจอดแพอยู่หน้าวัดราชบูรณะ

การเป็นทนายนั้นก็ต้องฝึกกันอยู่นาน  กว่าจะเลื่อนขั้นมาเป็นคนใกล้ชิด นั่งหลังช้างตามออกสงคราม

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 06:49

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘   เจ้าคุณมหินทรศักดิ์ธำรง ได้เป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อที่หนองคาย

ยกทัพออกจากกรุงเทพ ในเดือน ๑๐ ไปสระบุรี    ต่อไปนครราชสีมา

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์บัญชาให้เดินผ่านดงพระยาไฟ
เจ้าคุณขัดข้องเพราะฝนตกน้ำท่วม  การเดินผ่านป่านั้นลำบากเพราะความชื้นแฉะทหารจะเจ็บป่วยเป็นอันตรายด้วยไข้ป่า

ศึกหนองคายน่ะจบไปแล้วเพราะข้าหลวงสักเลขที่มณฑลร้อยเอ็ด  พระยาปลัดและยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ตีพวกฮ่อแตกไปอยู่ที่เชียงขวาง

สมเด็จเจ้าพระยาสั่งให้ยกกองทัพไปนครราชสีมาเพื่อคอยคำสั่ง

การเดินทางตอนนั้นขาดน้ำเพราะหน้าร้อนแล้งจัด          พอถึงพุทไธสงก็ได้รับคำสั่งให้แบ่งกำลังไปให้ทัพเจ้าพระยาภูธราภัยแล้วกลับกรุงเทพ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 07:06

นายทิมผู้นั่งท้ายช้างก็แต่งนิราศการไปทัพ

เคยถามครูสำนักดาบท่านหนึ่งผู้เชี่ยวชาญการรบสมัยโบราณ ด้วยความนอบน้อมเป็นที่สุดว่า
แล้วนายทิมเขียนระหว่างการเดินทางได้อย่างไร    นั่งช้างไม่ใช่นั่งนิ่ง         
ครูตอบด้วยความเอ็นดูว่า  นายทิมพิงกระดานรองเขียนกับกูบท่านเจ้าคุณนะซิ

อื้อฮือ!    ทำไมเราคิดไม่ออกแฮะ

เรื่องไปรบฮ่อนี้   เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แค้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ไปก็ลำบาก   กลับก็แย่    โดนนินทาว่าไม่ได้รบ

เนื่องจากจะมาเล่าเรื่อง หนังสือนิราศหนองคาย   ไม่ใช่จดหมายเหตุการไปทัพ   จึงจะไม่ขอลงรายละเอียด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 07:26

นิราศหนองคาย  พิมพ์ที่โรงพิมพ์ครูสมิท พ.ศ. ๒๔๒๑


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กราบทูลว่า หนังสือหมิ่นประมาทท่าน  ๖ ข้อ
ถ้อยคำบรรยายฟ้อง

กล่าวเสียดแทงเป็นที่ช้ำชอกแก่ผู้บังคับการแผ่นดินหนัก

คนฟุ้งซ่านมันทำ

คนฟุ้งซ่านดั่งนี้มีมาทุกแผ่นดิน

กระทบกระทั่งการแผ่นดิน

ก้าวร้าวหนัก    จะบังคับบัญชาแผ่นดินต่อไปจะเป็นที่ชอกช้ำด้วยถ้อยคำของคนที่กล่าวเหลือ ๆ เกืน ๆ

ติเตียนผู้บัญชาการกองทัพ

กระทบกระเทียบ

หมิ่นประมาท

หยาบคายแรง


นิราศ
โอ้กรรมเราเกิดมาเวลานี้                                    พอไพรีมาสู่ฤดูฝน
นึกแค้นไอ้พวกฮ่อทรชน                                     จะฆ่าคนเสียด้วยไข้ใช้ปัญญา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 07:52

ลงพระราชอาญา  ๕๐  แล้ว จำคุก

นายทิมยอมรับว่า เป็นปัญญาความคิดของตนเอง



ราชกิจจาปี วันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๑      ลงว่า
หนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น  ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง  ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง 
เก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น  อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้



ราชกิจจาอีกฉบับ วันอังคาร  แรม ๗ ค่ำ  ตามมาติดๆ
หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน   เป็นที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีผู้มีกตัญญูต่อแผ่นดิน
หาควรจะอ่านจะเก็บหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเป็นที่ขัดขวางราชการแผ่นดิน   แลเป็นที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเด็จพระเข้าแผ่นดิน  แลท่านเสนาบดี

ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้เรียกมาทำลายเสีย

ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น   ให้ผู้ซึ่งส่งไปพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น

แต่หนังสือที่ได้ซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น   ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้นก็ให้ฉีกทำลายเสีย
อย่าให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 08:03

เจ้าพระยามหินทร ฯ   ส่งต้นฉบับมา ๔ เล่ม
ได้ซื้อหนังสือที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์ครูสมิท  เป็น

สมุดปกแข็ง                             ๕๓  เล่ม
ในปกลายศิลา                         ๑๒๗ เล่ม
ใบปกเขียว                             ๑๗๘ เล่ม

รวม                                     ๓๖๒ เล่ม

หนังสือที่ไม่ได้เย็บอีกประมาณ        ๑๐๐ เล่ม



มีตำราว่าด้วยหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง เล่าว่า  ปกนั้นมี สี่สี(คงเข้าใจผิดจากต้นฉบับ ๔ เล่ม)เขียว  แดง  เหลือง  น้ำเงิน

สหายคนหนึ่งและตัวดิฉ้นเองเคยใฝ่ฝันถ้าเราเลือกได้  จะเลือกปกสีอะไรกันดี

ขออธิบายเรื่อง ในปกลายหินอ่อน ตามที่เห็นมาว่า  จะเป็นด้านหลังของปกแข็ง  และด้านหน้าของปกรอง ติดต่อกัน  ตามความนิยมของโรงพิมพ์


ในเวลานั้น สมเด็จเจ้าพระยา อายุ ๗๐   นายทิม อายุ  ๓๑


มีเรื่องราวของนายทิม เก็บมาจากที่อื่นๆ  เล่าต่อได้อีกเล็กน้อย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 09:08

ภาพนายทิม ภรรยา และบุตรทั้งสองคน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 09:16

เริ่มเรื่อง นิราศหนองคาย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 09:25

ภาพครอบครัวนายทิม และ เนื้อหาตอนต้นของนิราศหนองคาย อยู่ในหนังสือนิราศหนองคาย ของ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ฉบับกรมศิลปากร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายสมพัฒน์ สุขยางค์ (หลานปู่ของผู้แต่ง)  ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๕



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 10:52

ราชกิจจาปี วันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๑      ลงว่า
หนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น  ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง  ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  
เก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น  อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

ให้เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๕๓
วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีขาล


ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด      ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ
ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ               ได้สดับเรื่องหมดจดจำมา
ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ             บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา        ค่อนขอดว่ากองทัพเสียยับเยิน


หลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)


Where they have burned books, they will end in burning human beings.
Dort, wo man Bücher verbrennt, verbrennt man am Ende auch Menschen.


Heinrich Heine
จากบทละคร Almansor (๑๘๒๑)



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 11:00

นิราศหนองคายฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ถูกตัดทอนแก้ไขบางส่วน

แต่เนื่องจากนิราศเรื่องนี้เกิดเป็นคดีขึ้น  เกี่ยวกับผู้แต่งได้แต่งเติมข้อความที่เป็นที่เสียหายแก่ผู้อื่น  กรมศิลปากรจึงได้ตัดข้อความเหล่านั้นออก....

พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น  ชี้แจง

 เศร้า

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 14:13

นายทิมถูกจำคุกอยู่ ๑ ปีกับ ๑ เดือน   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกโทษพระราชทาน 

นายทิมกลับมารับราชการอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเจ้ากรมพระสุรัสวดีตามเดิม

ได้เป็น ขุนจบพลรักษ์

เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงแล้ว  ได้ถวายตัวอยู่กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง จุธารัตนราชกุมารี
และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม

ในปี ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานยศให้เป็น หลวงพัฒน์พงศ์ภักดี  ขึ้นกับพระคลังข้างที่
ด้วยเห็นว่าเป็นผู้มีความกตัญญู       และและเจ้าพระยามหืนทรศักดิธำรงกราบทูลขอฝากไว้

คุณหลวงถึงแก่กรรมในปี ๒๔๕๘  อายุได้ ๖๘ ปี
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 14:34

งานวรรณกรรม

เมื่อเป็นขุนจบพลรักษ์  ได้แต่งบทละคอน  ให้เจ้าพระยามหินทรเล่นละคร  โดยเอาเรื่องเก่า มาแปลงเป็นตอน ๆ เช่น

พระอภัยมณี
ราชาธิราช
ลักษณวงส์
ทินวงศ์
ยักษียักษา

จักรแก้ว
สามก๊ก
ขุนช้าง - ขุนแผนตอนต้น
อาบูหะซัน
บ๊วยหั่งเหลา

สิงหไตรภพ
สามฤดู
มณีสุริยง
พระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกี
ทิ้งพวงมาลัยเจ๊ก

สุริวงศ์พรหมเมศ
วงศ์เทวราช

       สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพระนิพนธ์ ไว้ใน คำนำ หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง "วงศ์เทวราช" ดังนี้

       บทละคอนเรื่องนี้ไม่ได้นำไปเล่นละคอน   ขุนจบพลรักษ์ส่งไปพิมพ์ขายเล่มละสลึง  ไม่ได้ออกนามผู้แต่ง
       วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร  โปรดให้หาบทละคอนซึ่งไม่เคยทรงฟังมาอ่านแก้รำคาญ
       ท่านเลยแต่ง ล้อ ขึ้นมา เพราะเห็นว่า หนังสือวิปลาศขบขัน  เจ้านายไปไหนก็ต้องขึ้น เกยอยู่เป็นประจำ

กลอน
มณีนพรัตน์
กายนคร
ฉัตรสามชั้น
พระศรสุริยัน


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 14:53

คุณหลวงพัฒนพงศ์ภักดี   มีชื่อเสียงอยู่ในวงสังคมผู้ก้าวหน้าและชาวต่างประเทศ
ก.ศ.ร. กุหลาบ  เมื่อจัดงานสังคมที่บ้าน  เช่นงานเลี้ยงอาหาร  งานบวชลูกชาย และงานฌาปนกิจภรรยาก็เชิญ คุณหลวงเสมอ
ท่านสมัครเป็นสมาชิกหนังสือ สยามประเภท ด้วย และเขียนกระทู้มาถาม ก.ศ.ร.   
ตอนนั้นก.ศ.ร. เรียกตัวเองว่า เอไดเตอร์ บ้าง  เรา สยามประเภท บ้าง  ก็ตอบคำถามอย่างเรียบร้อย


คุณหลวงมี ภรรยา ชื่อ คุณนายเสงี่ยม  และมีบุตรที่มีชื่อเสียง
คือ พระยาสารศาตร์ศิริลักษณ์(สรรเสริญ  สุขยางค์) ผู้แปลและเรียบเรียง "แซมเมียล ไวท์"
พระสาโรจน์รัตนิมมานก์(สาโรช  สุขยางค์)



ความฝันอันสูงสุดของเพื่อน ๆ และ ดิฉัน  ก็คือได้อ่าน  นิราศหนองคาย  ฉบับเดิม
คนเราก็มีสิทธิที่จะฝันนะคะ  คุณเพ็ญชมพู
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ม.ค. 10, 15:07

ขอให้ฝันนั้นเป็นจริง

สาธุ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง