เรื่องสักวาของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง
สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม นี่ฤากรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ
ได้ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมมา จนเริ่มแน่ใจแล้วว่า ข้อเสนอของอ.ล้อม เพ็งแก้ว มีบางส่วน (เน้น ครับ ว่าบางส่วน) น่าจะพลาดตามที่คุณเทาชมพูได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้
ส่วนที่ อ.ล้อมน่าจะพลาด คือ การตีความวรรคกลอนสักวาที่ว่า "เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน" โดยอ.ล้อม ตีความว่า นายทิม ในสักวาของคุณพุ่ม คือ นายทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงษ์ภักดี ผู้แต่งนิราศหนองคายแล้วถูกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้น ฟ้องเอาผิดโทษฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้น
ในช่วงระยะเวลาปี ๒๔๑๘ จนถึงปี ๒๔๑๙ และล่วงมาถึงปี ๒๔๒๑ นายทิม สุขยางค์ ทำหน้าที่ทนายนั่งหน้าแคร่ติดตามเจ้าพระยามหินทรธำรงศักดิ์ ไปทัพปราบฮ่อ และคงรับราชการอยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯ จนกระทั่งถูกลงโทษเฆี่ยน ๕๐ ที ในช่วงนั้น นายทิม สุขยางค์ มียศและราชทินนามเป็นข้าราชการชั้นประทวนในบังคับของเจ้าพระยามหินทรฯ ที่ขุนพิพิธภักดี ตามที่ประกาศเรื่องเอาตัวนายทิมไปขังคุก ก็ระบุว่า อ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี อันเป็นการเรียกชื่อ ขุนนางที่ต้องโทษสมัยก่อน (เหมือนกับกรณีอ้ายสำอางค์ พระปรีชากลการ) แม้เราจะไม่ทราบว่า นายทิม เป็น ขุนพิพิธภักดี ตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็คงก่อนถูกลงพระราชอาญาแน่ ในเมื่อนายทิม สุขยางค์ อยู่ในบังคับเจ้าพระยามหินทรฯ และเจ้าพระยามหินทรฯ ก็ไม่ได้เล่นสักวาในคราวปี ๒๔๑๕ ถึง ๒๔๒๒ (เป็นระยะแรกที่รัชกาลที่ ๕ โปรดการเล่นสักวา ก่อนจะหยุดไปราว ๒๐ ปี จึงฟื้นขึ้นมาใหม่ราวปี ๒๔๓๘ ในการฉลองสิริราชสมบัติครบหมื่นวัน) ลำพังตัวนายทิมเอง น่าจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่นสักวาครั้งนั้น เพราะไม่ได้สังกัดอยู่ในเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่คนใดที่มีวงสักวาคราวนั้น จริงอยู่ว่า นายทิมแต่งกลอนได้ แต่ผลงานของนายทิมก็มีนิราศ ๑ เรื่อง บทละครที่แต่งให้ละครของเจ้าพระยามหินทรฯ เล่น และกลอนสุภาพกับโคลงอีก ๓-๔ เรื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายทิมเคยเล่นสักวาหรือผลงานเกี่ยวกับสักวาให้ปรากฏ อีกทั้งประวัติของนายทิมที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ก็ไม่ได้ทรงกล่าวถึงว่า นายทิมเคยเล่นสักวาหน้าพระที่นั่งในคราวต้นรัชกาลที่ ๕ แม้แต่แห่งเดียว ฉะนั้น ข้อที่ว่า นายทิม ในกลอนสักวาของคุณพุ่ม จึงไม่น่าจะใช่นายทิม สุขยางค์
ประการต่อมา อ.ล้อม ตีความคำว่า ทวน หมายถึง เฆี่ยน แล้วโยงความกับนายทิม เป็นอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ที่ต้องโทษทวน คือ หลวงพัฒนพงษ์ภักดี ที่แต่งนิราศหนองคาย ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ได้ทรงเป็นตุลาการศาลรับสั่งได้ทรงชำระความครั้งนั้นตามที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อันที่จริง เมื่อเทียบคำว่า ทวน กับสักวาบทหนึ่งที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า
สักวาอรุณหลานพานต่ำต้อย เพราะบุญน้อยนักขอรับยับเหมือนเขียง
มิใช่จะขันสู้เปนคู่เคียง ทั้งสุ้มเสียงบทกลอนไม่งอนงาม
เคยเปนข้าฝ่าลอองฉลองบาท เกรงอำนาจตรองจิตรให้คิดขาม
ซึ่งนายภู่คนทวนไม่ลวนลาม หลานสู้ตามงอนง้ออย่าภ้อ เอยฯ
นายภู่คนนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทรงอธิบายว่า เป็นกวีเชลยสักดิ์ บอกสักวาวงหม่อมเจ้าเจริญ เมื่อมีหลักเทียบเช่นนี้ ทวน ในบทของคุณพุ่ม ซึ่งอยุ่ในบริบทกลอนสักวาอย่างเดียวกันกับกลอนสักวานี้ ก็ควรจะมีความหมายว่า บอกสักวาให้คนร้องร้องเวลาเล่นสักวา ไม่ได้หมายความว่า เฆี่ยน ตามที่อ.ล้อม เข้าใจแต่อย่างใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ พิจารณาจากฐานะของนายทิม สุขยางค์ ในเวลานั้น กับการเล่นสักวาในราชสำนักช่วงดังกล่าว นายทิม สุขยางค์ ไม่น่าจะได้มาเล่นสักวาในหน้าที่คนบอกสักวาเป็นแน่
แต่นายทิม ในที่นี้เป็นใครหนอ? ในหนังสือ ประชุมบทสักวาเล่นถวายครั้งรัชกาลที่ ๕ มีพระอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงนายทิม คนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเคยเล่นสักวาในครั้งนั้น คือ
พระพินิจสารา (ทิม บุณยรัตพันธุ์) ดูจากราชทินนาม ท่านน่าจะทำราชการเกี่ยวกับหนังสือ หรือไม่ก็เป็นอาลักษณ์ ผมยังไม่ข้อมูลประวัติท่านผู้นี้ แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า วงสักวาของทหารมหาดเล็กที่เคยเล่นในยุคแรก เคยเล่นถวายคราวแรกในงานเฉลิมพระชันษากรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร รั ชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทสักวาพระราชทานให้วงทหารมหาดเล็กด้วย ซึ่งพระพินิจสารา (ทิน บุณยรัตพันธุ์ ) จดจำได้ทั้งบท ๑ ว่า
สักวาวงราชวัลลภ พระจอมภพธิบดินทร์ปิ่นไอสูรย์
ขอโอนเกศอภิวาทบาทมูล ต้องกราบทูลประทานโทษได้โปรดปราน
แรกฝึกสอนกลอนคิดติดอุธัจ เคยฝึกหัดแต่ปรีเซนต์เช่นทหาร
พึ่งหัดร้องขึ้นใหม่ไม่ชำนาญ ขอประทานโทษาข้าบาท เอยฯ การที่พระพินิจสารา (ทิม บุณยรัตพันธุ์ )จำได้ ก็แสดงว่าท่านคงจะอยู่ในการเล่นสักวาครั้งนั้น และคงน่าจะได้เป็นคนบอกสักวาด้วย จึงยังจดจำบทสักวาดังกล่าวได้ แม้จะล่วงเลยมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
เป็นว่า ข้อเสนอ อ.ล้อม เรื่อง นายทิม กับ ทวน นั้น น่าจะตกไป แต่ข้อเสนอที่ว่า กรมภูวเนตร คือ กรมภูธเรศ นั้นยังไม่ตก เพราะมีข้อมูลว่า พระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ได้รับการเอ่ยถึงในวงสักวาสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่คุณพุ่มยังเล่นอยู่ด้วย เหมือนกัน (ในพระนามแฝงว่า ม้าโหว่ และท่านวี)
คงต้องให้คุณเพ็ญหรือคุณวันดีช่วยหาข้อมูลพระพินิจสารา (ทิม บุณยรัตพันธุ์) ให้แล้วล่ะครับ
