เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 33368 ประวัติพระยาราชมนตรี(ภู่)
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 27 ม.ค. 10, 22:14

อ่านมาจาก  สยามประเภท เล่ม ๔    ตอนที่ ๑๖    วันที่ ๒๗ มีนาคม  ร.ศ. ๑๑๙



นายฉนัย    สมาชิกเลขที่ ๒๗๕  เงินบำรุงส่งแล้ว ๔ ปี
ขอถามประวัติ พระยาราชมนตรี(ภู่)  ปู่   มาสืบเนื่องมาจากท่านผู้ใด  มีกี่ขั้น  คือผู้ใดบ้าง


ถ้าอาจารย์กุหลาบตอบไม่ได้  ก็จะขอรับรางวัล นาฬิกาพกเรือนเงิน  ราคา ๒๕ บาทตามที่สัญญาไว้
และจะโฆษณา  การเดาสวดอวดดีของท่านที่ไม่รู้จักวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้า


จะนำความโง่ของท่านไปลงในสยามออฟเซอร์เว่อร์ และ บางคอกแตม

ถ้าท่านลงถูกต้องตามความเป็นจริงโดยเรียบร้อยแล้ว  มหาชนก็จะพากันสรรเสริญหาที่สุดไม่ได้
ทั้งพวกวงศ์ข้าพเจ้าก็จะสรรเสริญท่านด้วย


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ม.ค. 10, 22:37

เรา(สยามประเภท)  ขอตอบตามสังเขปดั่งนี้


(เมื่อภาษาโบราณเพราะพริ้งและเข้าใจ ก็จะคัดมาเต็ม ๆ        ถ้าเนื้อเรื่องยืดมาก ดิฉันก็จะย่นย่อตัดทอน แต่พยายามรักษาข้อมูลไว้
เพราะประวัติขุนนางที่สำคัญ  หาอ่านได้ยาก  ข้อมูลซำ้

ตั้งใจจะให้คุณเพ็ญชมพู ที่เคยอ่านนิราศของคุณพุ่มมาด้วยกัน  เห็นญาติสายอื่นๆของคุณพุ่มด้วยค่ะ)


เรื่องสักวาขอเวลาเล็กน้อยเพราะรับงานอ่านมากหมู่นี้




          เมื่อพระเจ้าตากปราบพม่า  ค่ายโพธิสามต้นแตกหมดแล้ว   ได้รับพระราชวงศานุวงศ์กรุงเก่า และข้าราชการ
ลงมาไว้ที่กรุงธนบุรีทั้งสิ้น          ทรงทำนุบำรุงปลูกเลี้ยงตามแบบขนบธรรมเนียมราชการกรุงเก่า


พระยาธิเบศร์บดี(กรุงเก่า)จางวางมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
ตกเป็นเชลยในค่ายโพธิ์สามต้นหลายเดือน   ได้มารับราชการในปีต้นตั้งกรุงธนบุรี
ไม่ทันจะได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกร  ป่วยเป็นวรรณโรคตกโลหิตถึงแก่กรรม

มีบุตรชายหลายคน
คนหนึ่งไม่ทราบชื่อ ได้เป็น พระยาศรีสรราชในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ม.ค. 10, 23:05

พระยาศรีสรราชมีธิดาชื่อไม่ปรากฏ   ได้สามีไม่ทราบชื่อแต่เป็นพระพี่เลี้ยงในทูลกระหม่อมพระบัณฑูรน้อย
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์

ในรัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ  พระบัณฑูรน้อยได้เป็น กรมพระราชวังบวร
พระพี่เลี้ยงจะได้เป็นอะไรไม่ปรากฏ


ลูกสาวเจ้าคุณศรีสรราชและลูกเขย  มี บุตร ๖ คน

๑.     สาหร่าย    เจ้าจอมอยู่งานในรัชกาลที่ ๒
๒.    นายช้าง  เป็นหลวงศรีสมยัติ ในรัชกาลที่ ๒
๓.    นายนก  ได้เป็นพระยาอภัยภักดี จางวางกรมหมอ  ในรัชกาลที่ ๓
๔.    พลับจีน     ถวายตัวเป็นหม่อมละครในพระบัณฑูรน้อย  เป็นตัวจินตหรา
       ในรัชกาลที่ ๒   หม่อมพลับจีน   มีพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีกร
       ประสูติปีจอฉอศก จ.ศ. ๑๑๗๖   พระราชบุตรองค์ที่ ๓๕ ในกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ
๕.    นายภู่
       ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  แล้วได้เป็นจางวาง ในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  รัชกาลที่ ๒

       บ้านนายภู่จางวางตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งตะวันตก  บางยี่ขันเหนือบ้านปูน   ภายหลังยกบ้านสร้สงเป็นวัดคฤหบดี

       ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้เป็นพระยาราชมนตรี  แล้วให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ
       พระราชทานบ้านท่าพระให้พระยาราชมนตรี(ภู่)
๖.    นายปัก(เรื่องราวของนายปักนี้  คงมีโอกาสนำมาคุยกันเป็นหลักฐานสนับสนุนเรื่องสนุกอื่น ๆ ต่อไป)


วางแผนไว้ว่าจะข้ามสายสกุลของพี่บางคนของเจ้าคุณราชมนตรีไป  แต่ทำไม่ได้ เพราะมีความสำคัญ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 05:23

นายช้างมีธิดาชื่อขำ เป็นภรรยาพระสุนทรพิมล(กระต่าย) เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพ ฯ

ขำมีลูกชายสองคน
๑.   นายหนู

๒.  นายเปลี่ยน  ครูมโหรี    เดี๋ยวนี้(ร.ศ. ๑๑๙ / พ.ศ. ๒๔๔๓)ยังมีชีวิตอยู่  อายุ ๖๗   บ้านอยู่หลังกระทรวงพระนครบาล



พระอภัยภักดี(นก) มี บุตร ๕ คน

๑.   นายครุฑ  ได้เป็นพระยาไชยยศสมบัติ

๒.   หญิงชื่ออิ่ม  ได้เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นศรี

๓.   หญิงชื่อแย้  ได้เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ในรัชกาลที่ ๓  กรุงเทพ ฯ

๔.  นายจั่น

๕.  นายทิม


พระยาราชมนตรี มีบุตรหลายสิบคน

บุตรกับภรรยาหลวง ท่านผู้หญิงกลำ่ (ท่านผู้หญิง เป็นคำยกย่องของ ก.ศ.ร. เอง)
๑.   หญิงชื่อพุ่ม  ได้ทำราชการฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง  เรียกกันว่าคุณพุ่มศักรวาท์ (ตัวสะกดสมัยนั้น)
      ท่านผู้นี้แต่งกลอนดียิ่งนัก

๒.   หญิงชื่ออิ่ม  ได้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน  ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  กรุงเทพ ฯ
      (เรื่องน้องแท้ๆของคุณพุ่มเป็นเจ้าจอมนี้  ไม่เคยเห็นข้อมูลมาก่อน
      คุณพุ่มไม่เคยเอ่ยถึง/วันดี)

๓.  นายทองดี


บุตรกับภรรยาหลวงอีกคนหนึ่ง ชื่อท่านผู้หญิงอิน  

หญิงชื่อน้อย    เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์  พระเจ้าลูกยาเธอที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มียุตร ๒ คน

๑.   เป็นหญิง  มีพระนามว่า  หม่อมเจ้าสาระพัดเพชร
      (พระนามนี้  ดิฉันสนใจมานานแล้ว   อ่านผ่านมาว่า เมื่อทรงพระเยาว์เสด็จขึ้นอยู่งานพัด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ทรงเครื่องแล้วล้วนด้วยเพชร
        เคยเข้าใจผิดว่า เป็นเพราะขรัวตารำ่รวย    แต่ที่จริง กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ทรงร่ำรวย  และ โปรดหม่อมน้อยยิ่งนัก
        เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์รับราชการมีชื่อเสียงมาก    หม่อมเจ้าสารพัดเพชรเคยประทานเงินให้หลายชั่ง เพราะเป็นน้องต่างพ่อ
        พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงบันทึกไว้ว่า  วันนี้โชคดี/วันดี)

๒.    หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์   ภายหลังได้เป็นพระองค์เจ้า   มีบุตร
       หม่อมราชวงศ์โนรี  ได้เป็นหลวงนายฤทธิ์

       หม่อมราชวงศ์เล็ก   ได้เป็นเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์
       ลูกคือ หม่อมหลวงพัวพัน  ได้เป็นหม่อมในหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ ในพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์

ต่อมา หม่อมน้อย ได้เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม  มีลูก ๑๐ คน

๑.   หม่อมเจ้าชายเปีย

๒.   หม่อมเจ้าชายระเบียบ
      มีบุตรชื่อ ม.ร.ว. จันทร์เป็นนักเรียนกฎหมาย

๓.   หม่อมเจ้าหญิงปุก

๔.   หม่อมเจ้าชายจำเริญ

๕.   หม่อมเจ้าหญิงจรัศ

๖.   หม่อมเจ้าหญิงรศ

๗.   หม่อมเจ้าชายประวิช
      มีหม่อมห้ามชื่อหม่อมเจ้าสาระภี ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
      มีบุตร ชื่อ  ม.ร.ว.ถัด  (ประวัติของท่านน่าอ่านมาก  ทรงต่อสู้ชีวิต  มองโลกอย่างสนุกสนาน  ต่อมาได้เป็น พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์  
      ครอบครัวของท่านทำอาหารเป็นเลิศ/วันดี)

๘.   หม่อมเจ้าปฤษฎางค์  ต่อมาได้เป็นพระองค์เจ่า
     (คุณนวรัตน์ ได้เขียนเรื่องของท่านอย่างมีรสชาติเป็นที่สุดไว่ใน พันทิปแล้ว)

ที่ ๙ และ ที่ ๑๐  ไม่ปรากฏนาม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 06:00

คุณพุ่มเมื่อนั่งเรือผ่านวังกรมขุนราชสีหวิกรม    รำพึงว่า คุณน้อยซึ่งเป็นห้ามราชสีห์ ถึงจะเหงาเพราะกรมขุนสิ้นแล้ว
ก็ยังมีลูกอีกหลายคน


พระยากสาปนกิจโกศล(โหมด  อมาตยกุล) ในบันทึกความทรงจำของท่าน  เล่าว่า  หม่อมน้อยร่ำรวยมาก รับจำนำเครื่องเพ็ชรของเจ้านาย


บรรดาศักดิ์ของขุนนางคนสำคัญก็จำได้ถ้าท่านผู้เล่าจะวงเล็บชื่อเดิมไว้  เพราะบางท่านมีหลายบรรดาศักดิ์  ไม่คุ้นก็มาก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 06:12

พระยาราชมนตรี(ภู่)  มีบุตรด้วยอนุภรรยาหลายคน    จะออกชื่อแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์บางคน

จมื่นมหาดเล็ก(อ่ำ)

หลวงเสน่ห์รักษา(เอี่ยม)

ทั้งสองเป็นข้าราชการในรัชกาลที่ ๕  กรุงเทพ ฯ



หญิงชืื่อ นิ่ม  

นวม

ศิลา เป็นภรรยานายสุทธิรักษ์

โหมด เป็นภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี(ท้วม)
มีลูกชื่อเปีย  เป็น นายฉันหุ้มแพรในรัชกาลที่ ๕  กรุงเทพ (ต่อมาเป็น พระยาราชานุประพันธ์/สาแหรก สกุลบุนนาค/วันดี)
ลูกอีกคนชื่อ แสละ เป็นภรรยาพระยาสีกาฬสมุด(ข้อมูลไม่ตรงกับสาแหรก สกุลบุนนาค/วันดี)


บุตรพระยาราชมนตรี(ภู่)ยังมีอีก  ไม่จำเป็นจะกล่าว  ด้วยหน้ากระดาษไม่พอรับรอง  ก.ศ.ร. กุหลาบเขียน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 09:13

 
อ้างถึง
หญิงชื่ออิ่ม  ได้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน  ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  กรุงเทพ ฯ
      (เรื่องน้องแท้ๆของคุณพุ่มเป็นเจ้าจอมนี้  ไม่เคยเห็นข้อมูลมาก่อน
      คุณพุ่มไม่เคยเอ่ยถึง/วันดี)

คิดเล่นๆ  เพราะคงไม่มีวันรู้คำตอบ
สะกิดใจตรงที่คุณวันดีบอกว่า  คุณพุ่มไม่เคยเอ่ยถึง

น้องสาวที่ถวายตัวทีหลัง   สาวกว่า และอาจจะสวยกว่า  หรือเปล่า ทำให้คุณพุ่มถวายบังคมลาสมเด็จพระปิ่นเกล้า กลับไปรับราชการวังหลวงอีกครั้ง

สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ย่อมทรงทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงมีพระราชนิพนธ์
เจ้าช่อมะกอก  เจ้าดอกมะไฟ
เจ้าเห็นเขางาม   เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ   เจ้ากลับมาไย
เขาสิ้นอาลัย    เจ้าแล้วหรือเอย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 10:35

ช่วยทำเชิงอรรถให้คุณวันดี

ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้เป็นพระยาราชมนตรี  แล้วให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ พระราชทานบ้านท่าพระให้พระยาราชมนตรี(ภู่)

บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเดียวกันกับบ้านของสุนทรภู่สมัยที่รับราชการเป็นหลวงสุนทรโวหาร แพสักวาของคุณพุ่มก็อยู่หน้าบ้านหลังนี้

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์  ต่อมาได้เป็นพระองค์เจ่า (คุณนวรัตน์ ได้เขียนเรื่องของท่านอย่างมีรสชาติเป็นที่สุดไว่ใน พันทิปแล้ว)

ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html
            
บุตรพระยาราชมนตรี(ภู่)ยังมีอีก  ไม่จำเป็นจะกล่าว  ด้วยหน้ากระดาษไม่พอรับรอง  ก.ศ.ร. กุหลาบเขียน

ก.ศ.ร.กุหลาบคงลืมเขียนถึงบุตรที่ชื่อ บัว  ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยามณเฑียรบาล

 พระยามณเฑียรบาล (บัว) ----->  พระชำนาญคุรุวิทย์ (นายพันตรีแย้ม ภมรมนตรี) -----> พลโทประยูร ภมรมนตรี ------> ยอดมนู-ยุรนันท์ ภมรมนตรี

 ยิ้ม
                                                                        

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 10:48

พระยาราชมนตรี (ภู่) เปรียบเสมือนดัง ‘บ่อแก้ว’ ของรัชกาลที่ ๓  

พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นบุตรชายของพระยาศรีสรราช ในรัชกาลที่ ๑ พระยาศรีสรราชเป็นบุตรชายของพระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ พระยาธิเบศร์บดีผู้นี้ว่ากันว่า คุ้นเคยกันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งพระทัยว่าจะทรงตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เสนาบดีกรมวัง พอดีพระยาธิเบศร์บดีถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน

หลานปู่ของพระยาธิเบศร์บดี คือ นายภู่ ได้ถวายตัวทำราชการ ได้เป็นจางวางมหาดเล็กในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดปราน ตรัสเรียกว่า “ไอ้ภู่” เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดฯให้เป็นจางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ก่อน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ว่ากล่าวดูแลสรรพภาษีอากรบ่อนเบี้ย โรงหวย เตาสุรา ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร จึงทรงเปรียบให้เป็น ‘บ่อแก้ว’ ในรัชกาลของพระองค์ พระยาราชมนตรี (ภู่) มีชื่อเสียงในความซื่อสัตย์สุจริต พูดง่าย ๆ ว่าแม้จะดูแลพระคลังก็มิได้กอบโกยเอาเข้าพกเข้าห่อของตน เมื่อสิ้นบุญของท่าน ธิดาจึงมิได้มีมรดกเงินทอง จะเรียกว่าตกยากก็คงได้ ธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) คือ คุณพุ่ม กวีเอก ผู้มีฉายานามว่า ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’

คุณพุ่มบรรยายถึงบิดาของท่านไว้ในกลอนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๓ ไว้ในตอนแรก ๆ ว่า

ด้วยพระองค์ทรงเลี้ยงไว้เพียงบุตร                        เป็นสุขสุดสมบัติพัสถาน
ถึงพลั้งผิดปลิดโปรดโทษประทาน                        ด้วยการสุจริตของบิดา
คือถือมั่นกตัญญูชูพระเดช                                รักษาเขตคลังสมบัติมนัสา
ไม่ฉ้อหลวงล่วงพระราชอาชญา                           ทำเงินตราขึ้นไว้ในแผ่นดิน
สมพัตสรบ่อนเบี้ยคิดเกลี้ยกล่อม                         รู้เก็บหอมรอมรับซึ่งทรัพย์สิน
เดิมกรุงเก่าเล่าวิบัติปัฐพินทร์                             เป็นราคินครั้งพม่ามันมากวน
สมบัติกรุงยุ่งยับนับเอนก                                 อภิเษกกษัตรารักษาสงวน
ประชาชนจนเซยังเรรวน                                  การเรือกสวนสมพัตสรต้องผ่อนปรน
สืบสยามสามทั้งพระนั่งเกล้าฯ                            เป็นจอมเจ้าจักรพรรดิบำเพ็ญผล
ประชาชีมีทั่วทุกตัวคน                                    ได้ลาภผลพฤกษาเนื้อนาปรัง
ถึงสุธาหากินถิ่นประเทศ                                  คุ้มภัยเพทโจรโขมยได้โดยหวัง
ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง                               จึงแต่งตั้งเจียสัวตัวอากร
ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด                           ฉลองบาทบพิตรอดิศร
คลังสมบัติวัฒนาสถาวร                                   พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
เป็นบุรุษสุจริตสนิทนาถ                                   เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
รู้ถ่ายเทเสน่หาสาพิภักดิ์                                  บำรุงรักษาสมบัติขัติยา


จากบทความเรื่อง ขุนนางฝ่ายหน้า โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๔๖๒ ปีที่ ๔๘ ประจำวันอังคารที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๔
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stcolumnid=1098&stissueid=2462&stcolcatid=2&stauthorid=13

๑  ข้อมูลตรงนี้ของ ม.ล.ศรีฟ้า ไม่ตรงกับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งเขียนว่า พระยาราชมนตรี (ภู่) เป็นหลานตาของพระยาศรีสรราช

พระยาศรีสรราชมีธิดาชื่อไม่ปรากฏ   ได้สามีไม่ทราบชื่อแต่เป็นพระพี่เลี้ยงในทูลกระหม่อมพระบัณฑูรน้อย
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์

ลูกสาวเจ้าคุณศรีสรราชและลูกเขย  มี บุตร ๖ คน

๑.    สาหร่าย    เจ้าจอมอยู่งานในรัชกาลที่ ๒
๒.    นายช้าง  เป็นหลวงศรีสมยัติ ในรัชกาลที่ ๒
๓.    นายนก  ได้เป็นพระยาอภัยภักดี จางวางกรมหมอ  ในรัชกาลที่ ๓
๔.    พลับจีน     ถวายตัวเป็นหม่อมละครในพระบัณฑูรน้อย  เป็นตัวจินตหรา
       ในรัชกาลที่ ๒   หม่อมพลับจีน   มีพระองค์เจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีกร
       ประสูติปีจอฉอศก จ.ศ. ๑๑๗๖   พระราชบุตรองค์ที่ ๓๕ ในกรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพ
๕.    นายภู่  ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  แล้วได้เป็นจางวาง ในพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  รัชกาลที่ ๒
๖.    นายปัก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 11:07

ขอบคุณมากค่ะคุณเพ็ญชมพู


ขอแก้ คคห  ๓
ข้อ ๓      หญิงชื่อ แย้ม     
ตกตัว ม   ไป


โตีะหนังสือมีเศษกระดาษที่กรอบร่วงสลายตัวจากแผ่น  ร่วงอยู่กระจายเลยค่ะ
เพราะค่อย ๆ เปิดจาก เล่ม จริง
บางครั้งกดหัวแม่มือขวาด้วยความตื่นเต้น  กระดาษแตกเป็นร่องลงไป ๔ - ๕ แผ่น

ไม่เสียดายเพราะหนังสือมีไว้อ่าน  ไม่ได้มีไว้สะสม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 11:33

ดีครับ ยิ้ม    ขออนุญาตตามอ่านไปก่อน  ได้จังหวะดีเมื่อไร จะเข้ามาผสมโรงครับ ยิงฟันยิ้ม

(อีกนานไหมหนอ  กว่าถึงประเด็นสักวาของคุณพุ่ม)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 15:27

รออ่านนาน  ยังไม่มีใครมาต่อกระทู้  ขออนุญาตผสมโรงดังนี้

แม้คุณพุ่ม  จะได้ชื่อว่าเป็นนักกลอนหญิงฝีปากเอก  แต่ท่านมีผลงานค่อนข้างน้อย  และส่วนใหญ่เป็นผลงานขนาดสั้น   ผลงานของคุณพุ่มมักมีลักษณะเสียดสีเหน็บแนมแบบเพลงปฏิพากย์  ผลงานที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือกลอนสักวาบทที่ว่า


สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม              นี่ฤากรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน    เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ


กล่าวกันว่ากลอนสักวาบทนี้ คุณพุ่มแต่งโต้อย่างทันควันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ที่ทรงพระนิพนธ์กลอนสักวาแหย่คุณพุ่มก่อนว่า

สักวาวันนี้พี่สังเกต                      เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา               ................................

และเล่ากันต่อมาว่า สักวาดังกล่าว  เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร)จำไว้ได้บ้าง  จะหาฉบับให้จบยังไม่ได้


ถ้าถือตามที่เคยเชื่อกันมา  ว่าคุณพุ่มแต่งสักวาบทดังกล่าวโต้กับเสด็จในกรมภูวเนตร  แสดงว่า  คุณพุ่มก็ต้องแต่งสักวาบทนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ หรือ ๔  เพราะเสด็จในกรมภูวเนตร สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ (จำปีพ.ศ. ไม่ได้)   แต่ในฐานะผู้อ่านวรรณคดีสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้น  เจ้าพระยาเทเวศรฯ ท่านจะมีโอกาสได้เห็นการโต้สักวาครั้งนั้นหรือ ถึงได้จดจำสักวาดังกล่าวของคุณพุ่มได้  หรือมิเช่นนั้นท่านคงจะต้องฟังคนอื่นเล่าให้ฟังอีกทอด 

 อ.ล้อม ได้เคยหาหลักฐานมาพิจารณาสักวาบทนี้ใหม่ ว่า คุณพุ่มแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕  และแต่งโต้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงศักดิ์  เจ้านายซึ่งมีพระปรีชาด้านกาพย์กลอนเป็นเอกเหมือนกัน 

ใครจะแย้งหรือสนับสนุนความเห็น  เชิญนะครับ   ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 15:57

อ.ล้อม ได้เคยหาหลักฐานมาพิจารณาสักวาบทนี้ใหม่ ว่า คุณพุ่มแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕  และแต่งโต้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงศักดิ์  เจ้านายซึ่งมีพระปรีชาด้านกาพย์กลอนเป็นเอกเหมือนกัน

เหตุผลของอาจารย์ล้อมมีดังนี้

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                  นี่ฤๅกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน         เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ


อะไรอยู่เบื้องหลังสักวาบทนี้ อาจารย์ล้อมท่านว่า เป็นเรื่องที่น่าจะแลลอดไปข้างหลังเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์ล้อมท่านอธิบายว่า นายทิมผู้นี้น่าจะคือ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ผู้แต่งนิราศหนองคาย  ที่ได้รับการลงพระราชอาญา ทวน (เฆี่ยนหลัง) แล้วจำคุก ดังมีหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ประจำวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล (ตรงกับวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๑)

เพราะฉะนั้นสักวาบทนี้ควรจะแต่งขึ้นไม่ก่อนเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๔๒๑ หรือหลังจากนั้นไม่นานนัก  และผู้บอกสักวาฝ่ายตรงข้ามคุณพุ่มต้องมีส่วนในการจับนายทิมมาทวน

แต่กรมหลวงภูวเนตรฯ สิ้นพระชนม์ในปีมะโรง พ.ศ.๒๓๙๙ แล้วจะมาบอกสักวาในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้อย่างไร

ความจริงควรจะเป็นผู้ใด

ท่านว่า เป็นใครก็ได้ที่มีวงสักวา  และมีหน้าที่เกี่ยวกับการชำระความเรื่องนิราศหนองคายในคราวนั้น

จากหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ฉบับ พ.ศ.๒๔๖๘ มีคำประกาศตั้งกรมเจ้านายพระองค์หนึ่ง ในปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙  ให้ทรงมีหน้าที่ชำระความฎีกาในศาล เจ้านายพระองค์นี้ก็คือ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่สักวาเดิมของคุณพุ่มจะมีความว่า

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                                 นี่หรือกรมภูธเรศเศษสวรรค์
เอาอ้ายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน                        เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ


รายละเอียดมีอยู่ในภาคผนวกหนังสือ ว่ายเวิ้งวรรณคดี ของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว สำนักพิมพ์พิมพ์คำ ปี พ.ศ.๒๕๔๙

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 16:01

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมกลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงพระประชวรด้วยพระโรคทุลาวะสะ สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จ.ส. ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๙ ศิริพระชันษา รวม ๕๖ ปี ครั้น ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ (วันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๐)

สักวาที่คุณพุ่มแต่ง  เอ่ยถึงกรมหลวงภูวเนตร   คู่สักวาก็จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้นอกจากเจ้านายพระองค์นี้

ส่วนบทนี้
สักวาวันนี้พี่สังเกต                      เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา              

เจ้านายพระองค์ที่แต่ง น่าจะมีพระชนม์มากกว่าคุณพุ่ม หรือไม่ก็ไล่เลี่ยกัน  ถึงกล้าเรียกว่า  พุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
ดูจากถ้อยคำก็แสดงว่าคุ้นเคยกันมาก่อน    เพราะรู้ว่าเธอไม่ได้เล่นสักวามาหลายปี (คงเป็นช่วงที่ไปเป็นหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าน้อย)
กรมหลวงภูวเนตรฯ ท่านเป็นกวี    จะมีคารมแบบนี้ย่อมเป็นไปได้
นอกจากนี้เคยอ่านพบว่า ตอนคุณพุ่มเป็นสาวเนื้อหอม อยู่บนแพของเจ้าคุณพ่อ    กรมหลวงภูวเนตรก็เป็นหนึ่งในหนุ่มๆที่แวะเวียนไปเล่นกลอนด้วย

บทที่โต้สักวาตอนคุณพุ่มชราแล้ว มีอีกบทหนึ่ง  อาจจะโต้กับกรมหมื่นภูธเรศก็ได้   ดิฉันจำได้ที่ตอบว่า
อย่าเป็นเมียเลยคะหม่อม ยอมเป็นแม่    ฉันก็แก่รุ่นราวกับคราวป้า

ขอออกนอกเรื่องว่า โรคทุลาวะสะ นี่ใครพอรู้ไหมว่าโรคอะไร   ฟังชื่อน่าจะมาจากภาษาบาลี นะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ม.ค. 10, 16:10

บทความของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ในหนังสือว่ายเวิ้งวรรณคดี ที่สงสัยว่า "กรมภูวเนตร" ในสักวาของคุณพุ่มน่าจะเป็น "กรมภูธเรศ" นั้น น่าจะมีข้อแย้งอยู่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๔ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารตาตลับ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘   ขณะที่กรมหมื่นภูธเรศฯ ประสูติ คุณพุ่มคงเป็นสาวแล้ว

สักรวาวันนี้พี่สังเกต                                       เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา                                   .............................................


กรมหมื่นภูธเรศฯ คงไม่เรียกตนเองกับคุณพุ่มว่า "พี่"  "เชษฐา" เป็นแน่

นายทิม หรืออ้ายทิม คงไม่ใช่คนเดียวกับผู้แต่งนิราศหนองคาย  หรือถ้าหากเป็นคนเดียวกัน สักวาที่ว่า

สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม                                 นี่หรือกรมภูธเรศเศษสวรรค์
เอาอ้ายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน                        เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ


คงไม่ใช่การตอบบทสักวา "สักรวาวันนี้พี่สังเกต" น่าจะเป็นคนละเหตุการณ์กัน หรือว่าเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ จะจำสับสนลำดับของเหตุการณ์

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง