เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 17802 อ่านสี่แผ่นดินจบแล้วสงสัยครับ เรื่องอายุแม่พลอย
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 23:29

ขอบคุณมากครับ คุณเทาชมพู คุณนกข. สวัสดีคุณพวงร้อย คุณB ด้วยครับ  รู้อะไรขึ้นมากอีกเยอะเลย
เรื่อง คุณเปรมถามแม่พลอยเรื่องพระบาทนี่ผมอ่านแล้วก็งงๆเหมือนกัน นึกว่าหมายความว่า ไปสวรรค์อะไรทำนองนี้เสียอีก
ยังคิดว่า เอ๊ะ..คุณเปรมนี่ เอ่ยปากคำแรกก็จะชวนขึ้นสวรรค์เสียแล้ว..

มีเรื่องนึงที่อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมครับ
คือเรื่องที่รัชกาลที่ 6 ทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญา
มีที่มาอย่างไรหรือครับ กลับไปค้นกระทู้เก่าๆที่มองอดีต
ได้มาแต่กลอนข้างล่างนี้ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องทรงถอนหมั้นนัก

อย่าทนงอวดองค์ว่างามเลิศ
สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่าทนงอวดองค์ว่าวิไล
อันสุรางค์นางในยังมากมี
อย่าทนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์
จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที
เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา
อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน
อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา
อันชายใดฤาจะกล้ามาง้องอน
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 23:30

อ้าว..คุณแจ้ง ขออภัยครับ เมื่อกี้ไม่ได้ทัก
บันทึกการเข้า
ชานเรือน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 00:12

คุณพัดโบกคงจะอินกับกระทู้ ปิดไฟใส่กลอนข้างล่าง  ติดมาถึงสี่แผ่นดิน ที่นี่
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 00:50

มีคำถามครับ สี่แผ่นดินเนี่ยเรารู้แน่แล้วว่า ตัวละครเด่นฝ่ายหญิงคือแม่พลอย
แล้วตัวละครฝ่ายชายล่ะครับ คิดว่าใครเป็นพระเอก สำหรับผม ผมชอบพี่ชายของแม่พลอย แกเป็นสีสัน อีกสีสัน คือแทนชีวิตของชาวบ้านในสมัยนั้น เพราะแม่พลอยนั้น อยู่อย่างคนรวย แล้วก็เป็นผู้หญิงไม่ได้ไปเห็นอะไร ๆ ชัดเจน แต่พี่ชายของแม่พลอยนั้น อยู่แบบชาวบ้านมากกว่า เวลามาเล่าอะไรจึงเป็นเรื่องสนุก ๆ มากกว่า
อีกคนก็คือตาอ๊อด คนนี้พ่อส่งไปเรียนเมืองนอก แต่พอกลับมากลับไม่มีความคิดจะทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจนต้องทะเลาะกับพี่น้องแล้วก็ออกไปเสียชีวิตอย่างน่าสงสาร
ไม่รู้ว่า คนอื่นจะวิจารณ์ตาอ๊อดเป็นคนไม่เอาถ่านหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
B
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 08:38

Thank yoy so much ka Khun Taochompoo, Khun Nil, and Khun Jang. I read สี่แผ่นดิน since I studied in highschool so I cannot remember the details.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 08:48

เรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าทรงถอนหมั้นพระวรกัญญา ทรงแจ้งในประกาศเพียงว่าพระอัธยาศัยไม่ต้องกัน  สั้นๆไม่มีการขยายความ
แต่มี gossip ตกทอดกันมาว่า พระวรกัญญาไม่พอพระทัยข้าราชบริพารสนิทผู้หนึ่งของพระเจ้าอยู่หัว  เพราะถือธรรมเนียมฝรั่งเกินไป  เมื่อพระวรกัญญาเสด็จลงจากรถก็ไปรับพระหัตถ์มาแบบฝรั่ง ทั้งที่สมัยนั้นไม่มีธรรมเนียมบุรุษแตะต้องกายสตรีไม่ว่าในกาลเทศะใด ก็ทรงสะบัดไม่ให้แตะ   เป็นเหตุให้ข้าราชบริพารผู้นั้นเก้อ
บางข่าวก็บอกว่าข้าราชบริพารผู้นั้นไม่ชอบพระวรกัญญา จึงกีดกันไม่ให้เป็นพระมเหสี ด้วยเกรงว่าตัวเองจะตกอับในอนาคต

เรื่องgossip มันพูดกันยาก เพราะเราไม่รู้เรื่องไหนเรื่องจริงค่ะ  พูดมากไปก็เสียกับท่านเปล่าๆ เล่าแค่นี้พอแล้ว

สี่แผ่นดิน - เคยมีนายทหารท่านหนึ่งวิเคราะห์ว่าม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้นำความรู้สึกนึกคิดบางอย่างของตัวท่าน ไปใส่เป็นตัวตาอ๊อดด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 09:09

คุณชานเรือนครับ แหะๆ เพิ่งได้อ่านกระทู้ที่ว่าเมื่อกี้นี่เองแหละครับ

คุณพระนายครับ พอ่เพิ่ม แต่เป็นตัวละครที่ผมชอบมากทีเดียว รู้สึกเค้ามองโลกสบายๆ ดูเป็นคนมีความสุขตลอดเวลา
ส่วนตัวผมแล้วรู้สึกว่าตาอ๊อดมีบทบาทมากกว่า
อาจจะเป็นเพราะการบรรยายในลักษณะที่มองด้วยสายตาแม่พลอยเป็นหลักก็ได้
ผมเลยไม่ได้รู้สึกว่า ตาอ๊อดไม่เอาถ่าน แต่ชื่มชมในด้านความรักระหว่างแม่ลูกมากกว่า

ขอบคุณมากครับ คุณเทาชมพู ผมสงสัยขึ้นมาอีกนิดครับว่า
ก่อนหน้าสมัยรัชกาลที่ 6 เคยมีการหมั้นของพระมหากษัตริย์มาก่อนหรือเปล่าครับ
เพราะคิดว่าสมัยก่อน ถ้าทรงโปรดใครน่าจะแต่งตั้งเป็นมเหสี หรือ เจ้าจอม ได้เลย

มีอีกคำถามครับ คุณเทาชมพู อย่าเพิ่งเบื่อซะก่อน กลัวเหลือเกินว่า คุณเทาฯจะรำคาญ
ผมสงสัยชีวิตชาววังนิดหน่อยครับ
ช่วงที่รับใช้เสด็จ ชาววังเหล่านี้มีหน้าที่แน่นอนตายตัวหรือเปล่าครับ แล้วได้รับเงินเดือนหรือยังไง
ที่ผมเข้าใจคือ ไม่มีหน้าที่แน่นอนลงไป ว่างๆก็ขึ้นไปปรนนิบัติเสด็จ

แล้วหลังจากที่เสด็จที่เป็นเจ้านายตนสิ้นพระชนม์แล้วชีวิตชาววังเหล่านี้เป็นอย่างไร
อย่างในเรื่องกรณีของแม่ช้อย คุณสาย เค้าอยู่กันในลักษณะไหนครับ อ่านๆดูคล้ายๆกับว่า ก็อยู่รวมๆกันเหมือนเดิม
แต่ไม่ต้องปรนนิบัติรับใช้ใคร ใครมีลู่ทางก็หากินกันไป อาศัยวังเป็นที่กินนอนเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
อัญ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 09:19

พูดถึงสี่แผ่นดิน  แล้วจะไม่กล่าวถึงแม่ช้อยได้ไงคะ  แม่ช้อย  เป็นตัวละครที่น่ารักมีสีสันมาก เป็นคนที่เหมาะสมที่เกิดในยุคนั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เป็นคนปรับตัวเก่ง  มีความสุขในชีวิตมากกว่าแม่พลอย  และเป็นเพื่อนที่ดีของแม่พลอย  สรุปแล้วแม่ช้อยเป็นตัวละครในดวงใจค่ะ
บันทึกการเข้า
ก.แก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 13:06

ดิฉันก็ชอบพ่อเพิ่มและแม่ช้อยมากค่ะ ทั้งสองคนช่วยชูรสให้เรื่องสี่แผ่นดินมาก  มีตอนหนึ่งในเรื่องนี้ที่ดิฉันชอบคือตอนที่แม่พลอยหวีผมแล้วพบว่ามีผมหงอกขาวแซม ก็เก็บผ้าห่มผ้านุ่งสีสด ๆมาพับเก็บเสีย อยากอ่านข้อความตอนนี้อีกจังเลยค่ะ  เพราะถ้าเทียบกับสาวปัจจุบันคงต้องรีบโกรกผม แล้วแต่งตัวให้จ๊าบเข้าไว้  อิ อิ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 16:00

นั่นน่ะซีคะ  ดิฉันว่า ผู้หญิงไทยนี่ ถูกกำหนดให้ "ยอมรับว่า" แก่เร็วเกินวัยไปมากนะคะ  ดูดาราหนังฮอลลีวูดนี่  ขึ้นสูงสุดก็ย่างสามสิบกันทั้งนั้น  
แต่ถ้าเป็นบ้านเรานี่  เข้าสามสิบก็โดนล้อกันไม่จบเรื่องย้ายเข้า "คานทองนิเวศน์" น่ะค่ะ  ไปๆมาๆก็เลยทำตัวแก่ตามไปด้วย  ทั้งที่จริงแล้ว  
ดิฉันว่ามันเป็น prime time เสียด้วยซำ้ไป  ถ้าไม่ปล่อยตัวซะอย่าง   มาอยู่เมืองนอกนี่  คนคิดว่าเป็นเด็ก ม ปลาย อยู่ตลอดจนย่างเลขสามนั่นแหละ  
เค้าถึงได้สังเกตว่า  "เป็นสาวแล้ว"  โฮะๆๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 27 ม.ค. 01, 18:35

ไม่เบื่อหรอกค่ะคุณพัดโบก  เต็มใจตอบทุกคำถามถ้าหากว่าตอบได้นะคะ  คำถามไหนตอบไม่ได้เดี๋ยวก็มีเจ้าประจำบนเรือนไทยมาช่วยกันตอบเองละค่ะ
ธรรมเนียมการหมั้นหมายแบบฝรั่ง มีพระคู่หมั้น เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๖ค่ะ
ก่อนหน้านี้ผู้ที่จะได้เป็นเจ้าจอม ก็เป็นเรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  มีได้หลายทาง คือ
๑)ผู้หญิงคนนั้นเป็นที่สบพระราชอัธยาศัยเอง  อาจจะทรงให้บุคคลสำคัญไปสู่ขอทาบทาม  อย่างเจ้าจอมมารดาอ่วม ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของกรมพระจันทบรีนฤนาถ นี่ก็กล่าวกันว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นและพอพระราชหฤทัยเอง
๒) ข้าราชบริพารสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นบิดาหรือปู่หรือลุง ผู้ทำหน้าที่ปกครอง  นำขึ้นถวาย เรียกว่าให้รับราชการเป็นฝ่ายใน
๓) พระมเหสีหรือเจ้านายฝ่ายในพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง นำขึ้นถวาย   โดยมากก็เป็นนางข้าหลวงที่อยู่ในตำหนักหรือเรือนท่านนั้นๆ
วิธีที่ ๓ เป็นที่นิยมกันมากในปลายรัชกาลที่ ๕  เพราะการจะถวายใครเป็นเจ้าจอมไม่ได้ทำได้ง่ายๆ  ต้องคัดเลือกและอบรมกิริยามารยาทให้งามพร้อมเสียก่อน  พ่อแม่ที่หวังว่าลูกสาวจะได้เป็นเจ้าจอมก็มักจะนำตัวไปเป็นข้าหลวงตำหนักใดตำหนักหนึ่ง  ให้เจ้าของตำหนักทรงอบรมให้ดีก่อน  ถ้าเห็นสมควรเจ้านายพระองค์นั้นก็นำขึ้นถวายเอง
แม่พลอยเองก็เกือบจะได้เป็นประเภท ๓  เพราะเป็นคนสวย สกุลรุณชาติดี   เสด็จถึงรับสั่งว่ามีคน(คงหมายถึงเจ้านายสตรีด้วยกัน) มาบอกว่าทำไมไม่นำขึ้นถวาย  เผื่อเป็นที่โปรดปรานก็จะ "มีบุญวาสนา" (แปลว่าได้เป็นเจ้าจอมที่โปรดปราน)  แต่เสด็จทรงเห็นว่าบุญวาสนาไม่ทำให้คนมีความสุขได้  ก็เลยไม่ทรงทำข้อนี้
มีประโยคหนึ่งที่คุณเปรมพูดกับพลอยเมื่อแต่งงานกันแล้วว่า
"อย่างแม่พลอย ถ้าจะหากันจริงๆ หาผัวที่ดีกว่าฉันสักพันเท่าก็ยังได้"
หมายความว่าผู้หญิงสวยและชาติตระกูลดีอย่างแม่พลอย อยู่ในข่ายจะเป็นเจ้าจอมได้   ดังนั้นเมื่อมาแต่งกับคุณเปรม  ฝ่ายชายก็เลยปากหวานยอว่าแม่พลอยเป็นดอกฟ้า หล่นลงมาถึงมือ

ส่วนผู้ทีได้เป็นพระมเหสี ก็ต้องแล้วแต่พระเจ้าอยู่หัวค่ะ   หรือไม่ก็พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่เป็นผู้ใหญ่มากๆ ทรงสนับสนุนเจ้านายสตรีรุ่นเล็กให้ทรงรับตำแหน่งนี้

เรื่องการงานชาววัง แต่ละคนมีหน้าที่ประจำตัวค่ะ แต่ก็แล้วแต่ตำหนักใหญ่หรือเล็กด้วย  เสด็จของพลอยไม่ใช่พระมเหสี เป็นพระขนิษฐภคินีพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕   อ่านจากหนังสือก็เข้าใจว่าตำหนักไม่ใหญ่โตนัก  ข้าหลวงมีไม่มาก ก็แบ่งงานกันไปและอาจจะช่วยกันบ้าง  มีแม่บ้านต้นตำหนัก คือคุณสาย เป็นผู้ใหญ่คอยดูแลสาวๆ ควบคุมเรื่องการเงินการใช้จ่ายและความเรียบร้อยทั้งหมด  
นอกจากนี้ก็ต้องมีพวกควบคุมห้องเครื่อง(หมายถึงโรงครัว) พนักงานถูษา (ดูแลเรื่องซักผ้าอบผ้า)  เป็นต้น
นางข้าหลวงสาวๆอย่างพลอยอาจจะรับใช้เสด็จในเรื่องทั่วไปแล้วแต่จะทรงใช้
ตำหนักใหญ่ๆอย่างพระวิมาดาเธอฯ มีข้าหลวงมากมาย  ขนาดของคาวของหวานยังแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายมีหัวหน้าและลูกมือหลายคน  บางคนทำเฉพาะน้ำพริก  บางคนปอกสลักผลไม้   ทำกันเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน  หาอ่านได้จากหนังสือ" ชีวิตในวัง" ของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์  สนุกมากค่ะ  ถ้าอยากฟังจะมาเล่าให้ฟังทีหลัง
ข้าหลวงได้รับเบี้ยเลี้ยงค่ะ  ไว้ใช้สอยเล็กๆน้อยๆส่วนตัว   ถ้าทูลลาออกไปแต่งงานก็จะได้รับเงินและเครื่องประดับไปเป็นทุนติดตัวอีกด้วย
ส่วนใหญ่ข้าหลวงก็มักจะแต่งงานกันไป ไม่ค่อยอยู่เป็นโสดอย่างคุณสายและช้อย  เพราะการเข้าวังก็คือไปรับการศึกษา ฝึกวิชาการเรือน    โดยมากก็ออกมาจากวังเป็นคุณหญิงคุณนายของขุนนางกันทั้งนั้น

การกินอยู่ ที่พัก การเรียน ฟรีหมด เจ้านายท่านเลี้ยง สะตุ้งสตางค์มีเท่าไรก็เก็บได้สบายไม่ต้องใช้เงิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 28 ม.ค. 01, 09:19

คุณพระนายถามว่าใครเป็นพระเอกสี่แผ่นดิน
พูดถึงบทบาทอย่างเข้าใจกันทั่วๆไปคุณเปรมก็คือพระเอก ได้รักและได้คู่กับนางเอก   เป็นผู้ชายที่แม่พลอยรักอย่างแท้จริง ความตายพรากความรักไม่ได้
  แต่พูดถึงความสำคัญ   คุณแปรมก็เป็นแค่สัญลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง ในอดีตที่จบไปแล้ว คือเป็นภาพของชนกลุ่มที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  
สังคมสมัยร. ๕ และ ๖  เป็นยุคของหนุ่มลูกผู้ดี กำเนิดดี จึงได้เข้ามาเป็นมหาดเล็กแล้วก็เจริญก้าวหน้าในราชการ จนเป็นพระยา เป็น pattern เกือบจะตายตัวของข้าราชการใหญ่ๆ
ความหรูหราของคุณเปรมสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็สะท้อนภาพความนิยมในยุคนั้น
แต่พอเข้ารัชกาลที่ ๗  ค่านิยมก็เปลี่ยนไป   คุณเปรมจึงหมดบทบาทไปด้วยความตายก่อนวัยสมควร   เพราะคนอย่างคุณเปรมถ้าอยู่จนหลังปี ๒๔๗๕ ก็จะปรับตัวไม่ได้  และไม่มีที่ยืนในสังคม
คนที่ยืนขึ้นมาแทนคือคนรุ่นใหม่อย่างตาอั้น  และคนที่ยอมรับไม่ได้คือตาอ้น  เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง
ส่วนพ่อเพิ่มคือตัวแทนคนไทยจำนวนมาก ระดับชาวบ้าน  อยู่แบบ" ทำได้ตามใจคือไทยแท้"  และ "ไม่เป็นไร" กับความไม่สบอารมณ์ต่างๆ
พวกชาวบ้านไทยไม่ว่าใครจะขึ้นครองอำนาจหรือตกจากอำนาจ พวกเขาก็ยังอยู่อย่างเดิม ทุกข์สุขไปตามประสา  ไม่ได้เป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ทั้งที่เขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด
แต่พวกเขาก็มีความสามารถในการทำตัวให้อยู่ไปได้อย่างไม่เดือดร้อนเกินไป    มีอารมณ์ขันเป็นเครื่องผ่อนคลายชีวิต
ถึงกระนั้นชาวบ้านอย่างพ่อเพิ่มก็ไม่ใช่คนโง่นะคะ มีหลายครั้งที่แกฉลาดในการดูคนและดูสถานการณ์ เพียงแต่แกไม่มีสิทธิ์จะทำอะไรเท่านั้น
คนอย่างพ่อเพิ่มก็เลยอยู่ยืนนาน จนแม่พลอยตายไปเมื่อจบเรื่อง พ่อเพิ่มก็ยังไม่ตายจนแล้วจนรอด
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 28 ม.ค. 01, 21:10

ขอบคุณมากครับ คุณเทาชมพู

นับถือครับ รอบรู้จริงๆ อ่านแล้วทึ่ง...

ขอวกกลับไปคำถามเก่านิดนึงนะครับ
แล้วชีวิตของชาววังหลังจากเสด็จของตนสิ้นพระชนม์ล่ะครับ มีการเปลี่ยนเจ้านายกันหรือเปล่า

น่าเสียดายตอนนี้ผมหาซื้อหนังสือที่คุณเทาชมพูบอกไม่ได้ ถ้ามีโอกาสแล้วจะลองดูครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 28 ม.ค. 01, 22:59

เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์แล้ว  นางข้าหลวงทั้งหลายก็มีอิสระ หาทางเลือกกันเองตามใจสมัคร
จะไปหาเจ้านายใหม่ไว้พึ่งบารมีก็ได้ ไม่มีใครว่า
โดยมากคนที่มีเพื่อนฝูงเป็นข้าหลวงอยู่ตำหนักอื่นๆก็จะชักนำไป    ถ้าเป็นคนเก่งมีฝีมือก็ยิ่งดี  เจ้านายใหม่ก็จะโปรดใช้สอยให้ตรงตามความรู้ความสามารถ  
หรือถ้าใครไม่ประสงค์จะมีเจ้านายใหม่ก็ออกจากวังไปอยู่บ้านกับญาติพี่น้องก็ได้  จะแต่งงานไปก็ดี
หรือไม่กลับบ้าน ก็อาศัยอยู่ในตำหนักเดิม(ที่ยังว่างเจ้านาย) อย่างคุณสายกับช้อย   จนกว่าจะมีเจ้านายใหม่มาอยู่ก็ต้องย้ายออก  
 หรือถ้าไม่มีเจ้านายองค์ใหม่มา  ก็อยู่กันไปตามเดิม อาศัยเงินทุนจากที่มีเลี้ยงชีพไปตามกำลัง  พวกนี้มักไม่กระตือรือร้นจะไปหานายใหม่  ไม่ฝากเนื้อฝากตัวกับใคร

ข้าหลวงที่มีเจ้านายใหม่เมื่อเจ้านายเดิมสิ้นพระชนม์ไม่ถือว่าเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย
แต่ถ้าเอาใจออกหาก(ไม่ใช่ห่างนะคะ) ไปฝักใฝ่นายใหม่  ทั้งที่นายเก่าก็ยังอยู่   มีศัพท์เรียกอย่างเหยียดหยามว่า "โจทเจ้า"  
 บริวารประเภทนี้ถือว่าไว้ใจไม่ได้ เพราะไม่ภักดีต่อนาย  เนื่องจากสมัยนั้น loyalty   ถือเป็นคุณธรรมที่สูงมากในระบบ "เจ้ากับข้า"  จากข้าขึ้นไปสู่เจ้า

คุณพัดโบกคงนึกออกว่าเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินจากธนบุรีเป็นรัตนโกสินทร์  มีขุนนางหลายคนยอมตายตามพระเจ้าตากสิน มากกว่าจะฝักใฝ่กับนายใหม่ อย่างพระยาพิชัยดาบหัก นี่ก็ท่านหนึ่ง
สิ่งนี้ไม่ใช่ความโกรธแค้นระหว่างพระยาพิชัยกับเจ้าพระยาจักรีอย่างบางคนตีความไปตามนั้น   แต่เป็นเหตุผลของ loyalty โดยตรง
หากพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตไปด้วยเหตุสุดวิสัย อย่างประชวรหนักจนสวรรคต   อย่างนี้พระยาพิชัยไม่ต้องตายตาม   และไม่ควรด้วยซ้ำ
แต่การตายของพระยาพิชัย  เป็นเกียรติยศในระบบ "เจ้ากับข้า"   รัชกาลที่ ๑ ท่านก็ทรงทราบและเข้าพระทัยดี ไม่ถือเป็นเรื่องบาดหมางพระทัย
เมื่อพระยาพิชัยขอฝากบุตรเข้ารับราชการ ร.๑ ก็ทรงรับไว้ ไม่มีข้อขัดข้องกีดกันว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม    ลูกหลานสืบต่อมาหลายชั่วคนจนได้รับพระราชทานนามสกุล "วิชัยขัตคะ" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ค่ะ
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 29 ม.ค. 01, 00:29

ผมคิดว่าเรื่องพระยาพิชัย กับ ร. 1 นั้นมีความหมางใจกันมาตั้งแต่เริ่มพบกันแล้วนะครับ เพราะว่าพระยาพิชัย เป็นคนใกล้ชิดกับพระเจ้าตาก ตั้งแต่แรก แต่ ร. 1 ของเรา พอเข้ามารวมกับชุมนุมของพระยาตาก หลังจากที่ น้องชายของท่าน (วังหน้า) เข้ามารวมกับพระยาตากอยู่ก่อนแล้ว แต่ ร. 1 ท่านกลับได้ตำแหน่งใหญ่ในทันทีซึ่งทำให้พระยาพิชัย ทั้งไม่พอใจ และไม่ไว้ใจตั้งแต่ตอนนั้นก็ว่าได้นะครับ ทำให้ไม่มีทางที่จะทำงานร่วมกับ ร. 1 ท่านได้เลย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง