เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 17848 อ่านสี่แผ่นดินจบแล้วสงสัยครับ เรื่องอายุแม่พลอย
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 02 ก.พ. 01, 17:05

เพิ่งอ่านสี่แผ่นดินจบครับ เชยจริงๆเลยเนาะ แต่ชอบมากๆเลยครับ ทึ่งและนับถือฝืมือการประพันธ์ของคุณชายหมดหัวใจ
มีคำถามเล็กน้อย ไม่รู้จะหันหน้าไปถามใครครับ นึกได้ก็แต่คุณเทาชมพูนี่เอง ต้องขอรบกวนหน่อยล่ะครับ

ตอนต้นเรื่องบอกว่า แม่พลอย มีอายุสิบขวบ เมื่อ พ.ศ. 2435
นั่นหมายความว่า แม่พลอยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2425
พออายุ 18 ปีได้แต่งงานกับคุณเปรม นั่นคือ พ.ศ. 2443
แล้วหลังจากนั้นประมาณหนึ่งหรือสองปี ร.5 ก็เสด็จสวรรคต ซึ่งตามประวัติศาสตร์จริงนั้นตรงกับปี พ.ศ. 2453
แต่ถ้าตามในเรื่องก็จะประมาณ พ.ศ. 2444-2445

ตกลงตอนที่ ร. 5 สวรรคต แม่พลอยอายุเท่าไหร่กันแน่ครับ
หรือว่าผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 10:20

เคยนับอายุแม่พลอยอยู่เหมือนกันว่าม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านนับผิดบ้างหรือเปล่า
ตอนที่เสด็จถามอายุพลอยว่าเท่าไรแล้ว พลอยตอบว่าอายุ ๑๘  คือช่วงคุณเปรมมาสู่ขอ
แต่กว่าจะแต่งงาน ก็คงอีกนานหลายเดือน   เพราะต้องตระเตรียมของหมั้น ของถวาย หาฤกษ์ยาม อนุโลมว่ากว่าจะแต่งได้แม่พลอยอายุ ๑๙ พ.ศ. ๒๔๔๔
แต่งงานได้ ๒-๓ เดือนก็ท้อง   กว่าจะคลอดอย่างช้าก็เข้าปี ๒๔๔๖
แสดงว่าตาอั้นลูกชายต้องอายุประมาณ ๖-๗  ขวบแล้วตอนปลายแผ่นดินที่ ๑
 แล้วมาท้องตาอ๊อดช่วงปี ๒๔๔๓ คลอดเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ ขึ้นรัชกาลที่ ๖
ปี ๒๕๔๓ แม่พลอยต้องอายุ ๒๘ ค่ะ

คิดว่ามีความสับสนอะไรกันอยู่บ้างในเรื่องการนับปี แต่ก็ไม่มากมายจนรู้สึกว่ามีผลต่อเนื้อเรื่องสำคัญ
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 10:52

ขอบคุณมากๆครับ คุณเทาชมพู
ผมก็คิดอย่างงั้นแหละครับ รู้สึกว่า แม่พลอยน่าจะอายุเยอะแล้วตอนสิ้นแผ่นดินที่หนึ่ง
แต่พอขึ้นแผ่นดินที่สอง ก็บรรยายไว้ว่า ขณะนั้นตาอั้น อายุราวๆห้าขวบ ในขณะที่ตาอ๊อดอายุราวๆสามขวบ นั่นคือ ห่างกันประมาณสองปี
เพราะฉะนั้นช่วงที่ท้องตาอ๊อดค้างแผ่นดิน แม่พลอยน่าจะอายุประมาณ 21-22
แต่ถ้าจะนับตามปีที่พลอยเกิดกับปีที่ ร.5 สวรรคต ก็ต้องร่วมๆ สามสิบ

ผมอ่านๆไปแล้วสับสนเรื่องอายุแม่พลอย เลยสร้างอารมณ์ไปตามเรื่องไม่ถูกน่ะครับ
แล้วพออ่านช่วงแผ่นดินที่สอง รู้สึกช่วงที่แม่พลอยอายุ 20-30 ปีมันหายไปยังไงชอบกล
เลยตะหงิดๆในใจนิดหน่อย...
บันทึกการเข้า
ด.เด็ก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 11:02

อย่าคิดมากครับ  ก็แม่พลอยแกอยู่มาตั้ง4แผ่นดิน ก็เลยหลงลืมไปเป็นเรื่องธรรมดา  ผมสงสัยแต่ว่า ตอนหม่อมฯคึกฤทธิมีชีวิตอยู่ ทำไมไม่มีใครหยิบยกปัญหานี้ไปถามแกละครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 11:18

อย่าว่าแต่แม่พลอยเลยค่ะ ดิฉันอยู่ ๑ แผ่นดิน ก็หลงลืม
ตอนแรกนับอายุแม่พลอยว่า ๓๑ ตอนสิ้นแผ่นดินที่ ๑ จากการจิ้มเครื่องคิดเลข  แล้วก็อตส่าห์จิ้มผิดจนได้
รีบไปแก้ใหม่ว่าแม่พลอยอายุ ๒๘ ตอนสิ้นแผ่นดิน โปรดอ่านอีกทีนะคะ

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านเขียนสี่แผ่นดินลงวันต่อวันในสยามรัฐรายวัน  ข้อมูลทั้งหลายมาจากความทรงจำ  ไม่ได้กางตำราเขียนพลางเปิดตำราพลาง   ก็อาจคลาดเคลื่อนเรื่องพ.ศ. ไปบ้าง

เรื่องนี้คนอ่าน "อิน" กับชีวิตแม่พลอยเสียจนลืมเรื่องพ.ศ. ก็คงคล้ายๆเราอินกับบทบาทจินตะหราจนลืมไปว่าเธออายุเท่าไรแน่ รู้แต่ว่าสาวและสวย  บทบาทประทับใจ  เธอจะ ๒๕ หรือ ๓๕ ก็ไม่เป็นไร

ชีวิตแม่พลอยตอนเป็นสาวจบสิ้นลงหลังจากแต่งงานกับคุณเปรมไม่เท่าไร   ก็มีบทผัวหนุ่มเมียสาวนิดหน่อย ต่อจากนั้นแม่พลอยก็ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ครองเรือน มีลูกมีภาระเข้ามาแทนที่  ไม่มีใครมองแม่พลอยเป็นสาว แต่มองเป็นผู้ใหญ่
ผู้หญิงสมัยแม่พลอยมีชีวิตสาวที่สั้นกว่าสาวยุค ๒๐๐๑ มาก    
สาวยุคนี้อาย ๒๘  ยังใส่สายเดี่ยว นุ่งยีนส์ ได้เหมือนวัยรุ่น
แต่สาวยุคแม่พลอย อายุ ๑๘ ถือว่าเป็นสาวใหญ่เต็มตัว ควรแต่งงานได้แล้ว   สาว ๑๘ ปี ๒๐๐๑ อาจจะยังกวดวิชาเตรียมเอนท์อยู่ก็มี

คุยเรื่องสี่แผ่นดิน คุยกันได้อีกยาวค่ะ
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 12:00

เรื่องอายุของแม่พลอยนี่ผมก็ไม่ได้สนใจเหมือนกันครับ อ่านเอาสนุกมากกว่า
เพิ่งจะมาเริ่มสงสัยตอนที่คุณพัดโบกถามนี่แหละครับ  มีอยู่ช่วงนึงผมสงสาร
แม่พลอยมาก คือช่วงที่อกหักจากพี่เนื่อง คุณชายคึกฤทธิ์ท่านปูพื้นความรักของ
แม่พลอยกับพี่เนื่องดีเหลือเกิน พอแม่พลอยอกหักแล้วผมนอนไม่หลับเลย มีความรู้สึก
เหมือนตัวเองมีความรักครั้งแรกแล้วผิดหวังยังไงยังงั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 12:22

กลับมาจะตอบเรื่องอายุแม่พลอยตอนถึงแก่กรรม   เจอคำตอบคุณแจ้งแล้วอึ้งเลยค่ะ
ไม่ได้อึ้งเรื่องคุณแจ้งผิดหวังนะคะ นั่นคนละกระทู้  สาวเค้าปากแข็งไปยังงั้นเองละค่ะ

แต่อึ้งว่ากระทบใจในเรื่องตอนนี้มาก

 ดิฉันสงสารแม่พลอยจับใจ    ตอนอ่านครั้งแรก  
พอมาอ่านครั้งหลังนอกจากสงสารแม่พลอยแล้วเกลียดน้ำหน้าพี่เนื่องจริงๆ
อ่านดูซีคะ จดหมายที่พี่เนื่องเขียนถึงช้อย พูดถึงเมียตัวเอง

" ถ้าจะพูดกันจริงๆ พี่ก็เป็นคนไม่มีวาสนา  ได้เมียขนาดนี้ก็ดีเหมือนกัน  เพราะเขาเป็นคนที่คอยเอาใจและอยู่ในโอวาททุกอย่าง  ถ้าไปได้เมียที่เสมอกัน  พี่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงเขาให้มีความสุขได้  เพราะช้อยก็คงรู้ว่าพี่ดีแต่เอาใจของตัว  เอาใจคนอื่นไม่เป็น  ถึงจะรักใคร่สักเท่าไรก็ไม่รับรองว่าจะทำให้เขามีความสบายใจได้แน่นัก   แต่ถ้าพี่ได้เมียอย่างสมบุญ ซึ่งเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา แล้วก็เป็นคนบ้านนอก  เขาก็คงจะไม่หวังอะไรจากพี่มากนัก   นอกจากให้เลี้ยงดูเขาตามธรรมเนียม  พี่คิดดูแล้วก็ดีไปอย่างหนึ่ง  เพราะมีเมียอย่างนี้ไม่เป็นภาระ  เรื่องราวทั้งหลายก็สุดแล้วแต่พี่จะเป็นคนว่า  เขาก็จะตามทุกอย่าง  ขอให้ช้อยเห็นใจพี่และอย่าคิดอะไรให้มากนัก"

ผู้ชายอะไร้  จะยอมรับผิดสักนิดก็ไม่มี  แถมยังพูดเป็นทำนองว่าได้ผู้หญิงดีๆอย่างแม่พลอยมาก็ไม่เป็นสุข เลี้ยงยาก ต้องเอาใจ  ไม่เหมือนได้เมียบ้านนอก
ดีแล้วที่แม่พลอยไม่ได้หน้ามืดตามัว คิดจะไปสร้างความสัมพันธ์ด้วยอีก  
 เพราะพี่เนื่องก็ทำท่าว่าไม่ยอมให้จบ ส่งเพลงยาวมาอีกพร้อมแพรเพลาะ
ถ้าแม่พลอยใจอ่อน ก็คงกลับมาพัวพันด้วยอีกนั่นแหละ

ผู้ชายแบบนี้เห็นแก่ตัวค่ะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเขาไม่รักใครจริง ทั้งแม่พลอย ทั้งเมียบ้านนอก แต่งงานก็ตกบันไดพลอยโจนเพราะผู้หญิงท้องขึ้นมา
เพราะฉะนั้นพอแม่พลอยเลิกกับพี่เนื่อง   ไม่มีใครสงสารพี่เนื่อง หรืออยากให้กลับไปตั้งต้นใหม่กันเลย ต่อให้พี่เนื่องหย่ากับเมียทีหลังก็ตาม

เรื่องอายุ แม่พลอยตายตอนอายุ ๖๔  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยังสาว     อ่อนกว่าเจ้าป้ากอแก้วตั้ง ๑๐ ปีได้มั้ง
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 13:52

พี่ด.เด็ก - นั่นสิครับ แต่ยังไงไม่ทราบ ผมยังเชื่อว่าถ้ามีใครไปถามคุณชาย จะต้องได้รับคำตอบที่น่าพอใจทีเดียว

คุณแจ้ง - เรื่องนี้มีหลายบทหลายตอนเหลือเกินที่ผมอ่านแล้วน้ำตาซึม ท่านบรรยายได้ถึงอารมณ์จริงๆ ตอนที่คุณแจ้งว่ามานั่นก็ตอนนึง อาจแล้วใจจะขาดตามแม่พลอยให้ได้ แต่ตอนที่ผมอ่านแล้วสลดใจที่สุดคงไม่พ้นตอนตาอ๊อดเสีย นั่นแหละครับ..เฮ้อ อ่านแล้วสงสารแม่พลอยจับใจ น้ำตาไหลไม่ทันตั้งตัวเลย

คุณเทาชมพู - เห็นด้วยอย่างที่คุณเทาฯว่าครับ แต่ก่อนหน้านี้ ใจผมคิดไปซะแล้วว่า พี่เนื่องนี่เป็นพระเอก คุณเปรมเป็นตัวประกอบ พอจู่ๆคุณเปรมมาเป็นตัวจริงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกใจหายยังไงบอกไม่ถูก

มานึกๆดู คำว่า "อยู่กินกันไปเดี๋ยวก็รักกันไปเอง" ของคนสมัยก่อนนี่มีน้ำหนักมากทีเดียวนะครับ
ผมรู้สึกว่า ในสังคมที่ผู้หญิงมีสถานะและบทบาทเป็นรองผู้ชายถึงขนาดนั้น ชีวิตคู่ที่จะอยู่กันได้ยืดน่าจะเป็นคู่ชายหญิงที่มีคุณสมบัติ ฐานะทัดเทียมกัน ซึ่งการจับคู่ที่เหมาะที่สุดก็คงไม่พ้นผู้ใหญ่จัดหาให้
อ่านแล้วเข้าใจ วัฒนธรรมคลุมถุงชน ขึ้นอีกเยอะเลย

ดีใจจริงๆที่ได้อ่านเรื่องนี้
เสียดายที่อ่านช้าไป
 
เอ..ตอนอ่านนี่ผมรู้สึกมีคำถามเยอะเลย
พออ่านจบแล้วชักลืมๆ เดี๋ยวนึกได้จะค่อยๆทยอยเอามาถามนะครับ
คุณเทาชมพูอย่าเพิ่งเบื่อซะก่อน
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 14:17

หวัดดีค่ะ คุณพัดโบก  ยินดีที่มาเที่ยวเรือนไทยค่ะ  ขอบคุณที่ยกเรื่องนี้มาคุยนะคะ   ดิฉันอ่านเรื่องสี่แผ่นดินมาตอนยังเด็กมาก  ขนาดยังไม่รูเรื่องว่า
คุณเปรมชวนแม่พลอยไปพระบาททำไมน่ะค่ะ  เลยลืมเนื้อเรื่องไปเกือบหมดแล้ว  ใครช่วยเล่าย่อให้ฟังอีกทีได้มั้ยคะ  ว่าเรือ่ง แม่พลอย
คุณเนื่องนี่มันเป็นอย่างไร  ดิฉันจำ คุณเนื่องไม่ได้เลยค่ะ  ที่คุยกันในกระทู้หมากพลูก็ยังงงๆอยู่ว่า  คุณเนื่อง นี่มาเกี่ยวอะไรด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 14:25

ไม่เบื่อค่ะ มันส์มาก เพราะสี่แผ่นดินเป็นเรื่องโปรดของดิฉัน  คุยกันปีหนึ่งก็ไม่จบ
สี่แผ่นดินมีหลายตอนที่ดิฉันขีดเส้นใต้เอาไว้ ยอมให้หนังสือเลอะเทอะไปบ้าง เพราะจับใจเกินกว่าจะปล่อยให้ผ่านสายตาไปเฉยๆ
ตอนที่ดิฉันสะเทือนใจมากมีหลายตอน อย่างตอนที่ตาอ้นเขียนถึงพลอย เรื่องการต่อสู้ในกบฏบวรเดช  ก็ตอนหนึ่ง  อ่านแล้วมือไม้สั่น ไม่กล้าอ่านซ้ำเพราะ" อิน" มาก ต้องรอไปอีกนาน ทำใจได้ถึงจะกลับมาอ่านได้

"แม่ทูนหัวของลูก   ขออย่าให้แม่นึกแต่น้อยว่าลูกชอบทำสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่   ลูกไม่อยากเห็นคนไทยรบกันเองเลย  และเมื่อแรกก็คิดไปไม่ถึง   หรือไม่ได้นึกว่าเรื่องราวจะรุนแรงถึงเพียงนี้
ลูกปืนทุกลูกที่ยิงออกไปทั้งสองข้างนั้นดูเหมือนจะถูกที่หมายทุกครั้งไป  ที่หมายนั้นคือหัวใจของลูกเอง  ทุกครั้งที่ลูกยิงปืนด้วยตนเอง หรือสั่งให้ทหารยิง  น้ำตาของลูกจะไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว  
ความรู้สึกเหมือนกับลูกกำลังทำบาปอย่างหนัก ต้องฆ่าพี่น้อง  บางครั้งลูกแทบจะทนไม่ได้  อยากจะวิ่งหนีหลบหลีกไปเสีย  แต่ลูกก็ไม่อาจทำได้ เพราะไม่สามารถจะทิ้งทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชา และไม่สามารถจะเสียความสัตย์ที่มีต่อเพื่อนร่วมตายทุกคน"

อ่านแล้ว นึกถึงพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพใหญ่ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช  แล้วใจหายมากกกก
บันทึกการเข้า
B
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 14:44

Khun Taochompoo ka, I have never heard the name of พระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ) before. Could you please tell me who he was ka?
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 17:02

ท่านที่คุณ B ถามถึง มีประวัติที่เขียนโดยธิดาของท่าน เป็นหนังสืออ่านสนุกครับ คุณ B ลองหามาอ่านดู
ท่านผู้เขียนก็เป็นนักเขียนอาวุโสมากในวงการอยู่เหมือนกัน เดิมท่านเรียนมาเป็นแพทย์หญิงนะครับ แต่เขียนหนังสือด้วย ใช้นามปากกาว่า ณเพ็ชรภูมิ ตอนนี้ท่านก็เขียนลงมติชนสุดสัปดาห์เป็นตอนๆ อยู่ ที่ที่คุณบีอยู่น่าจะหามติชนสุดสัปดาห์ได้

ชีวิตแม่พลอย นอกจากเด่นในแง่สะท้อนวัฒนธรรมไทยโบราณในรั้วในวังแล้ว ยังสะท้อนวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทย ที่พลอยในฐานะข้าแผ่นดิน เมีย และแม่ ได้เห็นมา ตั้งแต่ยุคกบฏ  ร.ศ. 130 ปฏิวัติ 2475 กบฏบวรเดช สงครามโลกและยุค "วัธนธัม"  ฯลฯ เรื่อยมาจนสิ้นรัชกาลที่แปด
สมัยหลังนี้ถ้าจะมีแม่พลอยคนที่สอง (ดูเหมือนว่ามีคนเขียนเรื่องในทำนองนี้แล้วด้วย) ก็สามารถเขียนสะท้อนความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยได้ตั้งแต่เริ่มวันเสียงปืนแตก คือเมื่อ พคท. เริ่มต้นสู้รัฐบาลด้วยอาวุธ เรื่อยไปจน 14 ตค. 2516 /6 ต.ค. 2519 /พ.ค. 2535...
ผมเคยอ่านเรื่องที่ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง ที่กล่าวถึงครอบครัวหนึ่ง พี่ชายเป็นนายทหาร น้องสาวเป็นนักศึกษาที่หัวรุนแรงและทนอยู่ในเมืองไม่ไหว ก็เข้าป่า ในช่วงที่นักศึกษาเข้าป่ากันมาก เมื่อไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว วันหนึ่ง กองทหารป่าของน้องสาวก็ปะทะกับกองทหารรัฐบาล แพ้ฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตหมด ปรากฏว่า นายทหารผู้นำหน่วยฝ่ายรัฐบาลนั้นก็คือ พี่ชายของตัวเองนั่นเอง
เรื่องจริงอาจจะไม่ dramatic ขนาดนี้ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดเห็นในครอบครัว แบบที่ปรากฏในหมู่ลูกๆ ของพลอย ในสมัยเราๆ ก็เห็นได้จริง ผมจำได้ว่าเหตุการณ์เมื่อพฤษภาคม 35 ขณะที่ยังดำเนินอยู่ยังไม่สิ้นสุด ทำให้สังคมไทยแตกกันเป็นขั้วเห็นชัด มีหลายครอบครัวที่พ่อไม่เห็นด้วยกับลูก พี่ไม่เห็นด้วยกับน้อง ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 18:49

คุณ B อยู่ไกลคงหาเรื่องกบฏบวรเดชอ่านได้ยากหน่อย  ขอเล่าคร่าวๆว่า
เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๖ มีทหารและพลเรือนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  โดยเฉพาะการที่พระยาพหลพลพยุหาเสนา บังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่งนกยกรัฐมนตรี
ก็รัฐประหารนั่นแหละค่ะพูดง่ายๆ
พวกเขาเห็นว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเจตนารมณ์แต่แรก  จึงรวบรวมกำลังกันจากนครราชสีมา ประสานงานกับทหารในจังหวัดอื่นๆ และทางกรุงเทพ ยกกำลังมายื่นคำขาดให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงท่าทีและนโยบายหลายๆอย่างเสียใหม่
ผู้นำคือพระองค์เจ้าบวรเดช (ราชสกุลกฤดากร) ส่วนแม่ทัพใหญ่คือพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)

กองกำลังประจันหน้ากันที่ทุ่งบางเขน  ตอนนั้นเป็นทุ่งนาชานเมือง
แต่รัฐบาลตอนนั้นมีนายทหารหนุ่มชื่อพันโทแปลก ขีตตะสังคะ (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นแม่ทัพ โต้ตอบอย่างแข็งกร้าว จนเกิดการสู้รบกันขึ้น
ตาอ้น เป็นฝ่ายกบฏบวรเดช

ทหารหน่วยต่างๆที่เคยตกลงกันว่าจะเข้าร่วมก็พากันถอนตัวเมื่อรู้ว่าผู้นำคือเจ้า  เกรงว่าจะกลับไปสถาปนาระบบเจ้าขึ้นมาใหม่

ในที่สุดกองกำลังฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้  ถอยร่นกลับที่ตั้งที่โคราช
ระหว่างถอยหลับ  พระยาศรีสิทธิคอยระวังหลัง ปักหลักสู้อยู่  แต่ถูกกระสุนของร้อยตรีคนหนึ่งฝ่ายรัฐบาล อ้อมไปยิง เสียชีวิต  เรียกว่าท่านปักหลักสู้จนนาทีสุดท้าย

านถูกเรียกว่า กบฏ   ครอบครัวของท่านก็ได้รับความสะเทือนใจหลายอย่าง    คุณหมอผู้เป็นลูกสาวเล่าไว้ในหนังสือที่คุณนกข.เอ่ยถึง ชื่อ "กำสรวลพระยาศรี"    ดิฉันจะไม่เล่าซ้ำ

มีเกร็ดเล่าให้คุณ B ฟังต่อ  ถ้าคุณ B เป็นแฟนหนังสือของคุณ "นิดา" นักแปลชื่อดัง
บิดาของเธอคือพันตรีหลวงสุรสิทธยานุการ  หนึ่งในผู้ที่ยืนหยัดอยู่ฝ่ายกบฏบวรเดชจนกระทั่งขั้นสุดท้าย  จึงยอมให้จับกุมไม่หนีไปไหน และถูกพิจารณาโทษในฐานะนักโทษการเมือง    แต่ภายหลังก็ได้รับอิสรภาพ
คุณ"นิดา" บันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณแม่  เป็นเรื่องที่คนในครอบครัวภูมิใจมากในอุดมการณ์และความกล้าหาญของคุณพ่อเธอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 19:47

คุณพวงร้อยคะ
เนื่องเป็น "ความรักครั้งแรก "ของแม่พลอยค่ะ  เป็นพี่ชายของช้อย  เห็นพลอยมาตั้งแต่ยังเด็กจนต่างคนต่างโตเป็นหนุ่มสาว   เนื่องเรียนทหารได้ไปประจำการอยู่นครสวรรค์
ระหว่างนั้นก็เขียนจดหมายหาพลอย ผ่านทางช้อย รำพันถึงความรักและความหวังว่าจะได้ครองคู่กัน
แต่ความมาแตกเมื่อพ่อแม่ของเนื่องรู้ว่าเนื่องไปได้ผู้หญิงอื่นเป็นเมีย  เพราะความใกล้ชิด   และแม่ผู้หญิงเขามาเรียกร้องให้ไปขอ เพราะลูกสาวเขาท้องขึ้นมา
ชีวิตรักแม่พลอยก็จบลง  อีกไม่นานคุณเปรมซึ่งตามรักมานานก็ให้คนมาสู่ขอ

เรื่องไปพระบาท เป็นประโยคแรกที่คุณเปรมพูดกับพลอยโดยตรง  หลังจากส่งตัวกันเข้าหอ
การไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีในสมัยนั้น ย้อนไปจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องลำบากลำบน  ไปได้ยากมาก  ถือว่าอานิสงส์แรง  ใครได้ไปครบ ๗ ครั้งจะได้ขึ้นสวรรค์
สาวชาววังจะตื่นเต้นกันมากเรื่องนี้   อย่างใน นิราศพระบาท ของสุนทรภู่ก็เล่าไว้ถึงขบวนสาวชาววังค่ะ
ดังนั้นผู้ชายที่อยากจะให้หญิงสาวตื่นเต้นนิยมยินดีในตัวเอง ก็ต้องเอาเรื่องพระบาทมาล่อเสียก่อน  ให้หมดความเขินอาย   จะได้พูดจาปราศรัยกันสะดวก ชักชวนให้ปลื้มไปด้วยได้
ถ้าเป็นยุคนี้  เทียบได้กับชวนแม่พลอยไปฮันนีมูนที่ยุโรป ๑๘ประเทศ   นั่ง first class พักในโรงแรมที่ดัดแปลงมาจากปราสาท อะไรพวกนี้มังคะ
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 22:28

เรื่องพระยาศรีสิทธิสงครามนี่ ผมอ่านเจอว่า ตอนท่านอยู่กองระวังหลัง ตรงนั้นชัยภูมิ
ดีมากเนื่องจากเป็นช่องเขาแคบ ข้าศึกไม่สามารถผ่านไปโดยสะดวก หากท่านต้องการ
ที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามจริงๆแล้วก็สบายมาก แต่ท่านคงคิดว่ายังไงฝ่ายพระองค์เจ้าบวร
เดชจะพ่ายแพ้แล้ว ก็เลยอยากประนีประนอมเนื่องจากเป็นคนไทยด้วยกัน จึงขอเข้าไปเจรจา
ยุติศึกอย่างลูกผู้ชาย แต่ปรากฎว่าพอท่านออกไปเจรจา กลับถูกลอบสังหารจากฝ่ายตรงข้าม
มีเรื่องแปลกอยู่อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อจัดงานศพของพระยาศรีสิทธิสงครามเรียบร้อยแล้ว อีกปีต่อมา
กองทัพจึงมีหนังสือถึงคุณหญิงภริยา ว่าให้ไปรับศพของพระยาศรีสิทธิฯ กลับมาได้

จะลองกลับไปเช็คความถูกต้องของข้อมูลอีกทีครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง