เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 24248 ภาพเทพสตรีสมัยอยุธยาตอนต้น กับ นางดานแห่งเมืองนครฯ
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 18:22

  ยิ้ม
ดังที่เราเคยเห็นฉากชนะมาร หรือมารผจญโดยทั่วไป ในศิลปะไทย(มาตรฐาน) จะเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงกลาง จะแสดงปางมารวิชัยหรือไม่ก็ได้ (จริงๆจะมีพระพุทธเจ้าหรือมีเพียงวัชรอาสน์เฉยๆก็ได้)

พระยาวัสวดีมาราธิราช จะเข้ามาทางซ้ายมือของพระองค์ มีพระธรณีเห็นเต็มองค์ บีบมวยผมไปทางขวามือของพระพุทธองค์ และมีน้ำท่วมมารแตกพ่ายไปทางขวา รายละเอียดทั้งหมดปรากฏในปฐมสมโพธิกถา

พระพุทธเจ้าผินพระพักตร์ไปทางตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำอโนมา มารเข้ามาทางทิศเหนือ คือทางซ้ายมือของพระองค์ และแตกพ่ายไปทางทิศใต้ จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดพระธรณีจึงต้องบีบมวยผมไปทางด้านขวาของพระองค์

นี่คือรูปแบบฉากมารวิัชัยที่ผ่านขั้นตอนพัฒนาการมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นรูปแบบคลาสสิก และแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 18:37

ถ้าย้อนกลับไปดูคัมภีร์เก่าๆ โดยเฉพาะส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของคัมภีร์บาลีในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค ปธานสูตร กล่าวเพียงว่า

มารได้เข้ามาชักชวนให้พระโพธิสัตว์ละทิ้งความเพียรเสีย แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ และตรัสถึงโทษของมาร 10 ประการ หรือที่ทรงเรียกโทษเหล่านั้นว่า เป็นเสนา 10 จำพวกของมาร และจะทรงชนะเสนามารเหล่านั้นได้ด้วยปัญญา ดุจบุคคลทำลายภาชนะดินทั้งดิบทั้งสุก ด้วยก้อนหิน ฉะนั้น เมื่อมารได้ฟังดังนั้นก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจ ทำพิณตกจากมือ กลายร่างเป็นลมหายไปจากริมฝั่งแม่น้ำ


จะสังเกตได้ว่า ในพระไตรปิฎกมิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆเลย มีเพียงการโต้ตอบด้วยวาทะระหว่างมารและพระพุทธองค์เท่านั้น การปรากฏของกองทัพมารในรุ่นหลังอาจเป็นบุคคลาธิษฐานโทษของมาร ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสติเตียนไว้ก็เป็นได้  แน่นอนว่า ยังไม่มีพระแม่ธรณีที่ปรากฏร่างแบบบุคคลาธิษฐาน มีอาการเหมือนมนุษย์

 ในอรรถกถา นิทานกถา ในส่วนของอวิทูเรนิทาน พุทธจริตและมหาวัสดุ คัมภีร์ทั้ง 3 เล่ม ของทั้งฝ่ายมหายาน (มูลสรรวาสติวาท) และ เถรวาท มิได้กล่าวถึงนางธรณีที่เป็นบุคคลแต่อย่างใด

ในอวิทูเรนิทาน พระโพธิสัตว์ทรงขอให้แผ่นดินเป็นพยาน ขณะที่ในมหาวัสดุ พระองค์ทรงชนะมารด้วยการใช้พระหัตถ์ตบพื้นดินเพียงเบาๆเท่านั้น

ก็ยังไม่ปรากฏว่า คัมภีร์รุ่นอรรถกถาที่แต่งราวพุทธศตวรรษที่ 10 และคัมภีร์มหายานที่แต่งราวพุทธศตวรรษที่ 6-8 กล่าวถึงธรณีที่เป็นบุคคลแต่อย่างใด

จิตรกรรมฉากชนะมารที่พม่า อายุร่วมสมัยอยุธยาปลายตอนต้นครับ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 18:57

คัมภีร์ที่กล่าวถึงนางธรณีที่เป็นบุคคลจริงๆ ที่รู้จักกันดีน่าจะได้แก่ ลลิตวิสตระ คัมภีร์ฝ่ายมหายาน ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 8 คัมภีร์นี้มีบทบาทต่อศิลปะอินเดียอย่างมาก ทั้งศิลปะคุปตะ ปาละ ทั้งเผยแำพร่ออกไปเป็นคัมภีร์หลักที่ใช้สร้างสรรค์ภาพสลักที่บุโรพุทโธ อินโดนีเซียครับ

ในลลิตวิสตระ กล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุญกุศลที่พระองค์บำเพ็ญไว้มากมายกว่าพญามารนัก พระยามาร (ซึ่งในที่นี้คือกามเทพ มีที่มาที่ไปซับซ้อนพอๆกับพระธรณี) ได้กล่าวว่า พระองค์ไม่มีพยานหลักฐาน ท่านแพ้แล้วด้วยการกล่าวพล่อยๆอะไรออกมา

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

"ดูกร มารชั่วร้าย แม่น้ำ (แผ่นดิน) ผู้อุ้มชูทุกสิ่งทุกอย่าง (ภูตธาตรี) เป็นหลักฐานของเรา"

ทรงใช้พระหัตถ์ขวาตบแผ่นดินด้วยอาการแช่มช้อย ตรัสว่า "ความเท็จของเราไม่มี แผ่นดินจงให้ความเป็นพยานแก่เรา"

มหาปฤถิวี (แผ่นดิน) เมื่อพระโพธิสัตว์สัมผัสแล้ว ก็สั่นเป็นเสียงดัง เหมือนเอาไม้ตีถาดทองเหลืองของชาวมคธ แล้ว...


“นางเทพธิดาผู้รักษามหาปฤถิวี มีนามว่า สถาวรา อยู่ในโลกธาตุคือเทวโลกและมนุษยโลก นางมีเทพธิดาผู้รักษาแผ่นดินร้อยโกฏิเป็นบริวาร ยังมหาปฤถิวีทั้งหมดให้กระเทือนพร้อมแล้ว ชำแรกพื้นดินในที่ไม่ไกลพระโพธิสัตว์ขึ้นมากึ่งกาย ได้กระทำอัญชลีต่อพระมหาสัตว์”

จะเห็นว่าเป็นคัมภีร์แรกๆที่กล่าวถึงบุคคลาธิษฐานของธรณี แต่ก็ไม่ได้ถือหม้อน้ำอยู่ดี

ฉากมารผจญที่บุโรพุทโธครับ จะเห็นว่า พระยามารถือศรทำด้วยคันอ้อย มีดอกไม้เป็นลูกศร มีมือทั้งพัน เอาพลมารรุมเข้ามาจากทุกทิศ ซึ่งตรงกับในลลิตวิสตระ แต่ต่างกับเหตุการณ์ในอวิทูเรนิทานและนิทานกถา ที่กล่าวว่ามารเข้ามาทางทิศเหนือ

นางธรณีนั้นอยู่ทางขวาของพระพุทธองค์ ถือหม้อน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน ชำแรกขึ้นมากึ่งกายต้องตามคัมภีร์ เห็นพระยามารทำท่าพ่ายแพ้อยู่ทางซ้ายของพระพุทธองค์


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 19:05

เทียบกับฉากมารวิชัยสมัยราชวงศ์ราษฏรกูฏะ ที่ถ้ำอชันต้าที่ 26 นะครับ ที่นี่มารเข้าทางขวาของพระพุทธเจ้า และแตกออกไปทางด้านซ้าย และพระพุทธองค์แสดงปางประทานพร ซึ่งเป็นฉากที่ไม่ค่อยเห็นในศิลปะหลังคุปตะ ช่างอาจไม่ชำนาญจึงทำได้ไม่ค่อยชัดเจนตามคัมภีร์ หรืออาจจะมีคัมภีร์อื่นที่ไม่รู้จักก็เป็นได้

ที่มาครับ

http://huntington.wmc.ohio-state.edu/public/index.cfm?fuseaction=showThisDetail&ObjectID=10050


นางธรณีอยู่ตรงที่พระพุทธเจ้าหงายพระหัตถ์ลงพอดี


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 19:17

ในศิลปะปาละ ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 นางธรณีชำแรกดินขึ้นมาเต็มตัวแล้วครับ อยู่ใต้พระหัตถ์พระพุทธเจ้า

ส่วนทางขวาเป็นพญามารทำท่าพ่ายแพ้

ทางซ้ายสุดนั่งพนมมือ เป็นคนจ่ายเงินสร้างพระพุทธรูป ขอมีเอี่ยวด้วย จากพิพิธภัณฑ์พระนครครับ

จะเห็นธรณีถือหม้อน้ำ หม้อน้ำนี้เป็นสัญลักษณ์แทนโลกและแผ่นดิน เพราะอินเดียถือว่าโลกลอยอยู่เหนือน้ำ

 นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าหม้อน้ำในพุทธศาสนาเปรียบกับความเป็นบุคคล ซึ่งบรรจุไว้ทั้งความดีและความชั่ว และยังสามารถเป็นสัญลักษณ์แทนการบรรลุธรรมได้ โดยบุคคลที่เข้าใจในอริยสัจ 4 อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนกุมภะอันเต็มแล้ว หรือปูโรกุมภะ (Purokumbha) พระอรหันต์ย่อมเปรียบเสมือนภาชนะอันเต็มแล้ว ไม่อาจกระทำเสียงได้แม้สั่นไหว



บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 19:26

อันนี้คือพญามารทำท่าพ่ายแพ้ มีลูกสาวมาปลอบ 3 คน ลูกสาวทั้งสามตามคัมภีร์บาลีฝ่ายเถรวาทจะมีชื่อ ตัณหา ราคา อรตี (ความรัก)

ในลลิตวิสตระ 3 สาวนี้มีชื่อว่า รตี อรตี และตฤษณา

ในมหาวัสดุ มีชื่อว่า นางตันตรี รตี และอรตี

เมื่อพญามารพ่ายแพ้กลับมาแล้ว ก็ให้ลูกสาวทั้งสามไปประจญพระพุทธเจ้าด้วยมายาสตรี 32 ประการแทน แต่พระองค์ก็ไม่สนพระทัย นางทั้งสามก็กลับไปหาพ่อ


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 19:34

 ตกใจ....!!! สุดยอดเลยครับ วันหน้าถ้าได้รับการอธิบายจากสถานที่จริงคงจะ
ได้อรรถรสเต็มที่จริงๆนะครับ ขอรบกวนถามต่ออีกสักนิดครับ แล้วอย่างทวาราวดี
ล่ะครับใช้ตามคัมภีร์ไหน มีภาพพระแม่ธรณีหรือเปล่าครับ

ที่จริงอินเดียกับชวานี่ก็น่าไปนะครับ น่าสนใจมากมายไปหมดเลยจริงๆ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 19:41

บางที่เราจะเห็นรูปยายแก่ 3 คน ทั้งในไทยและพม่า เป็นลูกสาว 3 คนของพญามารที่โดนพระพุทธเจ้าสาปให้แก่ (แต่บางคัมภีร์ก็ไม่เขียนไว้ ทั้งบอกว่า พระองค์จะไม่กระทำการโหดร้ายเช่นนั้น)


 "ธิดามารคิดกันอีกว่า ความประสงค์ของพวกผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายบางคนรักหญิงกุมารีรุ่นสาว บางคนรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย ถ้ากระไร พวกเราควรประเล้าประโลมด้วยรูปนานาประการ

จึงนางหนึ่งๆ นิรมิตอัตภาพเป็นร้อยๆ อัตภาพ โดยเป็นรูปหญิงรุ่นเป็นต้น เป็นหญิงยังไม่คลอด เป็นหญิงคลอดคราวเดียว เป็นหญิงคลอด ๒ คราว เป็นหญิงกลางคนและเป็นหญิงรุ่นใหญ่ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๖ ครั้ง แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกข้าพระบาทจักบำเรอบาทของพระองค์."

ในอวิทูเรนิทานกล่าวว่า

  ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเห็นธิดามารเหล่านั้นเข้ามาหาโดย ภาวะเป็นหญิงผู้ใหญ่จึงทรงอธิษฐานว่า หญิงเหล่านี้จงเป็นผู้มีฟันหัก ผมหงอกอย่างนี้ๆ. คำของเกจิอาจารย์นั้นไม่ควรเชื่อถือ. เพราะพระศาสดาจะไม่ทรงกระทำการอธิษฐาน เห็นปานนั้น.

เห็นได้ว่าสมัยหนึ่งๆคงมีคัมภีร์หลายๆแบบแตกต่างกัน ที่เราเห็นยายแก่ 3 คนเดินร้องไห้ กันในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ คงได้แบบมาจากเล่มอื่นที่ไม่ใช่อวิทูเรนิทาน


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 19:51

ฉากมารวิชัยสมัยทวารวดีที่สมบูรณ์ไม่เคยเห็นนะครับคุณ Virain เพราะพระพุทธรูปปางมารวิชัยในศิลปะทวารวดีก็หายากอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ ทวารวดีได้อิทธิพลจากศิลปะอินเดียหลังคุปตะค่อนข้างมาก ซึ่งแถวนั้นจะนิยมปางมหาปาฏิหาริย์มากกว่า

ที่ผมยังหาไม่เจอคือ นอกจากเขมรแล้ว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ธรณีบีบมวยผมมีที่อื่นอีกหรือไม่ ที่พุกามเองก็ยังไม่ได้สังเกตรายละเอียดมากครับ

เคยได้ยินบางทฤษฎีเขาว่า พวกโยคีมุ่นมวยผมไว้ เป็นการเก็บกักพลังงานทางเพศ หรืออสุจิไว้บนมุ่นมวย การที่พระพุทธเจ้าทรงใช้นางธรณีบีบมุ่นมวยก็อาจหมายถึงการปลดปล่อยอะไรบางอย่างออกจากพระองค์ อาจเป็นการตัดขาดกับทางโลกหรือการละความสุขแบบโลกิยะ แต่ผมว่ามันดูแนวฟรอยมากๆ
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 20:27

แล้วบรรดาเสมาหินที่เมืองฟ้าแดดฯ หรือที่อื่นๆก็ไม่พบเลยหรือครับ ?? ผมไม่รู้จริงๆ

ส่วนเรื่องมุ่นผมโยคีนั้นแลดูจะยุ่งๆไปหน่อยนะครับ แต่ยังไงก็แล้วแต่จะพิจารณากันไปตามเหตุผล
ส่วนในอวิทูเรนิทาน ก็ฟังดูแหม่งนะครับ ไม่เคยรู้มาก่อนด้วย

 

 "ธิดามารคิดกันอีกว่า ความประสงค์ของพวกผู้ชายไม่เหมือนกัน ผู้ชายบางคนรักหญิงกุมารีรุ่นสาว บางคนรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย บางคนรักหญิงผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย ถ้ากระไร พวกเราควรประเล้าประโลมด้วยรูปนานาประการ


ที่เคยได้ยินมาก็จะทำนองนี้นะครับ แต่ยังไงก็ยังจำภาพจากหนังเรื่อง little buddha ได้ลางๆ ให้อารมณ์แบบที่คุณKurukula เล่ามาเลยทีเดียว (อยากจะดุหนังเรื่องนี้อีก ที่ไหนมีดีวีดีขายบ้างครับ)

ปล.ถ้าตอนนั้นฉลาดกว่านี้ผมคงได้ภาพเกี่ยวกับทวาราวดีมาตั้งกระถูถามอีกเยอะครับ 555



บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 20:37

ยอมรับว่าเสมาทางอีสานไม่ถนัดเลยจริงๆ ต้องลองอ่านงานของดร.พิริยะไกรฤกษ์ดูครับ

แต่เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่จะเป็นชาดกแปลกๆ

อย่างที่คุณ Virain โพสต์ไว้ ของทวารวดีส่วนมากนิยมสร้างตอนปาฏิหาริย์ที่เมืองศราวัตสติ (สาวัตถี)

เหมือนกับศิลปะอินเดียช่วงหลังราชวงศ์คุปตะที่เจริญในรัฐมหาราษฏร์ครับ
บันทึกการเข้า
Chaichana-13
อสุรผัด
*
ตอบ: 25


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 00:47

ไม่อยากเชื่อเลยนะครับ ว่าพระเเม่ธรณี จะมีที่มาย้อนอดีตไปไกลได้ขนาดนั้น เพราะความที่เห็นจนชินตาเเท้ๆ
ขอบพระคุณที่เสียสละเวลาให้ความรู้อันมีค่ามาก

ชักอยากรู้ว่าศิลปกรรมรูปพระแม่ธรณีในประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุดจะได้ถึงยุคไหน ?
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 10:17

ฉากมารวิชัยที่เก่าแก่ที่สุดในไทย คือที่พิมายครับ ครบถ้วนกระบวนความตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนหน้าบรรดาปราสาทในเขมรเสียอีก

แต่ก็ยังไม่เห็นภาพนางธรณีอยู่ดี อาจสร้างขึ้นจากตำราที่ธรณียังไม่มีรูปเป็นคนก็ได้

หรือผมอาจจะตาไม่ดีมองไม่เห็น ช่วยๆกันหาหน่อยนะครับ  อายจัง


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 10:20

ส่วนธรณีบีบมวยผมที่เก่าที่สุด (ไทย-เขมร) ก็น่าจะเป็นปราสาทตาพรม สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18

เรื่องธรณีบีบมวยผม เก่าแก่ที่สุดอยู่ในชินลังการฎีกา ซึ่งแต่งราวพุทธศตวรรษที่ 18 เช่นกัน   ยิ้ม


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 10:27

ส่วนศิลปะไทย ถามว่าธรณีบีบมวยผมเ่ก่าแก่ที่สุดอยู่ไหน ผมคิดว่าคงเป็นพระบาทไม้แกะวัดพระรูปมั้งครับ น่าจะช่วงอยุธยาตอนกลางลงมา

ใครมีรูปเอามาแบ่งกันดูนะครับ ไปเดี๋ยวนี้เขาติดกระจกเงางามอยู่ตามที่ ถ่ายไม่ได้เลย

จบด้วยคาถาฎีกาพาหุงดีกว่าครับ แต่คาถานี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงธรณี (อีกแล้ว)

 พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
คิริเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.

เมื่อพญามารเนรมิตแขนมากเป็นพัน ถืออาวุธในมือ ขี่ช้างคิริเมขละ สะพรึบพร้อมกองทัพอันน่าสะพรึงกลัว พระจอมมุนีทรงชนะด้วยทานบารมีเป็นต้นอันชอบธรรม ด้วยพระเดชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง