เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 40848 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 16:20

ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   


บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 22 ม.ค. 10, 20:59

ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน บอกว่า

เงือก ๑ (โบ) น. งู เช่น ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง. (แช่งนํ้า).

จากรูปประโยค ผมคิดว่าผู้แต่ง คงหมายจะเล่นคำ "เผือก" กับ "เงือก" ซึ่งสิ่งที่ต้องการสื่อนั้นคือ "งู"

เท่าที่อ่านความเห็นต่างๆ มา เห็นที เงือก นี้ จะต้องเกี่ยวกับ "น้ำ"

เงือก ทางล้านนา (ตามความหมายเดิม) คงหมายถึง ปลาไหลยักษ์ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลัทธิบูชาผีท้องถิ่น จึงนับเอาเงือกเป็น ผีพรายชนิดหนึ่ง ที่รักษาแม่น้ำ

ตำนานเก่าๆ ที่พูดถึงภัยพิบัติที่เกิดจาก "เงือก" (ปลาไหล) มีปรากฎอยู่ในตำนานเมืองโยนก (เวียงหนองล่ม) ที่ในเรื่องเล่าว่า ชาวเมืองที่กินปลาไหลเผือก จะถูกน้ำท่วมตาย

ต่อมา เมื่อรับพุทธศาสนาเข้ามา เงือก จึงถูกเทียบเป็น "นาค" ดังปรากฎในตำนานพระร่วงลูกนาค

ตำนานเก่าๆ เช่น ตำนานอุรังคธาตุ ก็เล่าตอนกำเนิดแม่น้ำโขง ว่าเกิดจากการขุดของ "นาค" แต่ไปๆ มาๆ แล้ว อาจดัดแปลงมาจากตำนานเผ่าไต ที่บูชาเงือก (ปลาไหลยักษ์) ก็เป็นได้

เดาครับ  ยิงฟันยิ้ม 

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 22 ม.ค. 10, 22:04

ตำนานเก่าๆ ที่พูดถึงภัยพิบัติที่เกิดจาก "เงือก" (ปลาไหล) มีปรากฎอยู่ในตำนานเมืองโยนก (เวียงหนองล่ม) ที่ในเรื่องเล่าว่า ชาวเมืองที่กินปลาไหลเผือก จะถูกน้ำท่วมตาย

เรื่องอย่างนี้ นึกถึงนิทานเรื่องผาแดงนางไอ่  แต่ในเรื่องว่าลูกชายพญานาคแปลงกายมาเป็นกระรอกถูกชาวเมืองยิงแล้วนำเนื้อมาแบ่งกันเกือบทั้งเมืองของนางไอ่ (จำชื่อเมืองไม่ได้ ขออภัย)    ฝ่ายพญานาคทราบเรื่องว่าลูกชายถูกฆ่าตายโดยชาวเมืองนั้น  (ในเรื่องว่าลูกชายพญานาคมาแอบชอบนางไอ่ด้วย  แต่นางไม่รับรัก) ก็โกรธพาบรรดานาคทั้งหลายมาถล่มเมืองจนกลายเป็นหนองหารในปัจจุบัน  จริงๆ เรื่องอย่างนี้มีทั้งที่อีสานและภาคเหนือ  น่าจะเกิดจากการที่กระแสในแม่น้ำสายหนึ่งเปลี่ยนทิศทางการไหล  ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะฝั่งพังไปในระยะเวลารวดเร็ว  เมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศทางไหลก็เลยถูกกระแสน้ำพัดพาพังลงน้ำไป  หรือไม่ก็ถูกน้ำท่วมทั้งเมือง เช่น กรณีเวียงกาหลง  เป็นต้น  คนสมัยก่อนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางไหล จึงพยายามหาเหตุผลโดยเชื่อมโยงกับสัตว์ในจินตนาการบ้าง ภูตผีบ้าง หรือไม่ก็ว่าเป็นเพราะผู้ปกครองหรือชาวเมืองปฏิบัติตนไม่ตามศีลธรรม เทพเจ้า เจ้าที่ จึงลงโทษ โดยการสาปให้เมืองนั้นหายไป 

ดีครับมาช่วยกันเดา  สนุกดี ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 23 ม.ค. 10, 09:47

ดิฉันจะไปตั้งกระทู้ใหม่   เป็นชาติพันธุ์วรรณา ในพระอภัยมณี  ๓   เป็นชาติพันธุ์อมนุษย์  โดยเฉพาะ   กระทู้นี้ได้เล่นเรื่องฝรั่งต่อไปตามจุดมุ่งหมายเดิม
อมนุษย์(หมายถึงอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์)ในพระอภัยมณี มีเยอะมาก     ตั้งแต่นางผีเสื้อ เงือก  พระโยคีเกาะแก้วพิสดาร   เจ้าเขาที่มาบอกพระอภัยตอนนางผีเสื้อตาย    อ้ายย่องตอด  ม้านิลมังกร   ผีดิบในเมืองที่สุดสาครหลงเข้าไปฯลฯ
สะท้อนจินตนาการของสุนทรภู่ว่ากว้างไกลขนาดไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 23 ม.ค. 10, 10:13

แยกไปตั้งกระทู้ใหม่  คุยกันเรื่องอมนุษย์แล้วค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3115.0
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 09:31

 พูดถึงฝรั่งในเรื่องพระอภัยมณี      ทำให้นึกว่า กระแสสนใจฝรั่งในความรู้สึกของชาวสยาม เกิดขึ้นในรัชกาลไหน คำตอบของดิฉันคือรัชกาลที่ ๓
เรื่อง"กระแส" ที่ประปรายอยู่ในบรรยากาศของวรรณคดี  มีให้จับได้บ้าง  อย่างในขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒  เราจะเห็นบรรยากาศแบบไทยๆ ต้นรัตนโกสินทร์   
มีกระถางไม้ดัด   ดอกไม้ไทย  แสงจันทร์บนนอกชานเรือน    บรรยากาศเป็นไทยเอามากๆ
แต่ถ้ามาเทียบกับละครขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   พระนิพนธ์วังหน้ารัชกาลที่ ๓  (หาอ่านได้ในตู้หนังสือเรือนไทย) บรรยากาศจีน มีเขามอ  เข้ามาแทนที่
เพราะในรัชกาลที่ ๓  คนจีนหลั่งไหลเข้ามามาก  เป็นแรงงานครั้งใหญ่ของรัตนโกสินทร์  พาเอาช่างฝีมือจีนมาสร้างวัดและเครื่องประดับวัด
กระแสวรรณคดีก็เห็นร่องรอยอยู่ในนั้น

กลับมาถึงพระอภัยมณี     ตอนต้นที่ไปพระอภัยมณีศรีสุวรรณไปเรียนวิชา ถูกขับไล่   พี่ชายถูกนางยักษ์ลักไป  น้องชายเข้าเมืองรมจักรไปได้พระธิดา   
ทั้งหมดนี้ยังมีกลิ่นอายจักรๆวงศ์ๆ แบบละครนอกให้เห็น
ถ้าจะแต่งสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นไปได้

แต่พอจบตอนนางผีเสื้อตาย    เริ่มด้วยเจ้ากรุงผลึกมีพระธิดาหมั้นหมายกับเจ้าชายฝรั่ง     ลูกสาวอยากเที่ยวทะเล พ่อก็พาเที่ยว  ลงเรือออกทะเล   บรรยากาศจักรๆวงศ์ๆจบไปเลย
ในรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ และ ๒  ถ้าพญายักษ์หรือพระราชา อยากเที่ยวนอกเมืองขึ้นมาเมื่อไร      ร้อยทั้งร้อย ออกจากเมืองไปเที่ยวป่า    เหมือนชาวกรุงเทพไปเที่ยวรีสอร์ทในยุคนี้
ไม่มีใครนั่งเรือออกปากอ่าวไปเที่ยวทะเล   จะเป็นเพราะยานพาหนะยังไม่สะดวก หรือไม่นิยมกันก็ตามแต่

แต่ตัวละครของสุนทรภู่  ออกจากเมือง ลงเรือใหญ่ไปทะเล  ออกปากอ่าวไปไกลมาก จนถึงเกาะ   ไม่ใช่แค่เลาะๆชายฝั่ง
สุนทรภู่เขียนกลอนขาย    จึงต้องคำนึงถึงรสนิยมคนอ่านด้วย  มิฉะนั้นก็ขายไม่ออก
เมื่อเขียนถึงท่องทะเล  ก็ต้องแน่ใจว่าชาวบ้าน(หรือชาววัง)ที่อ่าน  สนใจเรื่องนี้อยู่    เขียนถึงฝรั่งก็ต้องรู้ว่าคนอ่านสนใจฝรั่ง
เพราะกระแสฝรั่งกำลังมาถึงสยาม
พระธิดาเจ้ากรุงผลึก จึงไปหมั้นกับเจ้าชายฝรั่ง แทนที่จะหมั้นหมายกับเจ้าชายไทยอีกเมืองหนึ่ง    นับว่าพ่อแม่นางสุวรรณมาลี  หัวล้ำยุคมากทีเดียว ที่นิยมฝรั่งขนาดนั้น
เพราะถ้าหากว่าลูกสาวแต่งงานไปจริงๆ     วันข้างหน้า  กรุงผลึกก็ต้องตกเป็นของลังกาตามสิทธิ์ของลูกเขย
อุศเรนก็จะมาครองเมืองผลึก    เหมือนสิงคโปร์มีฝรั่งเป็นเจ้าเมือง  ฮ่องกงก็มีเซอร์จอห์น เบาริงเป็นเจ้าเมือง

จึงคิดว่าช่วงนี้ สุนทรภู่แต่งตอนปลายรัชกาลที่ ๓  ในช่วงที่โรเบิร์ต ฮันเตอร์มาตั้งห้างอยู่ในพระนครแล้ว   มิชชันนารีก็มาถึงแล้วด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 11:31

คิดว่าช่วงรัชกาลที่ ๑ - ๒ บรรดาฝรั่งก็เข้ามาดินแดนแถบนี้มากอยู่พอสมควร  แต่จะมีฝรั่งหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งในดินแดนแถบนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้างนั้น  ต้องไปค้นดูรายละเอียดก่อน

สุนทรภู่อาจจะไม่ต้องรอกระทั่งมิชชันนารีหรือฝรั่งคนอื่นเข้ามาในกลางหรือปลายสมัยรัชกาลที่ ๓   เพราะนั่นเป็นเวลาที่สุนทรภู่คงได้แต่งพระอภัยมณีไปยาวมากแล้ว 

เชิญนักประวัติศาสตร์ช่วยมาร่วมวงอภิปรายหน่อย เร้ว ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 19:27

ไม่รู้ว่าคุณหลวงหมายตานักประวัติศาสตร์นอกเรือน คนไหนไว้หรือยัง    แต่ในเมื่อยังไม่มีใครเข้ามา  ก็จะขอคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อน
สาวฝรั่ง หรือเมื่อก่อนเรียกว่า แหม่ม   ในเรื่องพระอภัยมณี   ล้วนเป็นสาวมั่น   ไม่เรียบร้อยนุ่มนิ่มอย่างสาวไทย ที่สะท้อนผ่านทางนางแก้วเกษรา  นางเอกตัวจริงของศรีสุวรรณ
นับเป็นพัฒนาการทางการสร้างตัวละครได้อีกทาง

เมื่อเริ่มเรื่องพระอภัยมณี มาจนถึงตอนนางผีเสื้อตาย    เรื่องสามารถจบได้บริบูรณ์  แบบเรื่องจักรๆวงศ์ๆ
ตัวนางทั้งหลาย  เว้นแต่นางผีเสื้อ   ก็ดูเป็นสาวไทยๆต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง   
ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร    พระธิดาก็งามเสงี่ยมแบบสาวในวรรณคดีไทย   จะรักผู้ชายก็ต้องเก็บซ่อนไว้ในใจ  มีพี่เลี้ยงเป็นสื่อให้สมหวัง
ส่วนนางตัวประกอบทั้งหลายเช่นนางกำนัลพี่เลี้ยง ก็มีจริตจะก้านแบบสาวไทย กระชดกระช้อย เจ้าคารมสมเป็นสาวชาววัง เป็นผงชูรสของเรื่องเท่านั้น
ไม่มีบุคลิกนิสัยแหวกไปจากขนบเดิมที่เคยแต่งๆกันมา

แต่นางฝรั่งที่ดาหน้ากันออกมา นำขบวนด้วยนางละเวง   เป็นนางพญาครองเมือง  เป็นขุนทัพหญิง  เป็นนักรบหญิง  เป็นนางมายา (enchantress)  ไม่ว่าจะเป็นรัมภาสะหรี  ยุพาผกา  สุลาลีวัณ
สีสันจัดจ้านตรงกันข้าม
สุนทรภู่เอามาจากไหน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 07:22

คุยต่อค่ะ  เห็นคุณเทาชมพูเลี้ยวมาเมืองรมจักรนัครา

เพลงยาวที่ศรีสุวรรณเขียนถึงนางเกษรา

พระว่าพลางทางตัดใบตองอ่อน                            มาเขียนกลอนกล่าวประโลมนางโฉมฉาย
จนลงเอยอ่านต้นไปจนปลาย                               ไม่คลาดคลายถูกถ้วนม้วนใบตอง
เอาโศกแซมแกมรักสลักหนาม                             เหมือนบอกความรักนางว่าหมางหมอง

เรื่องใบตองอ่อน  ยกให้ก็แล้วกัน  เพราะอ่านตามจินตนาการ  สงสัยอะไรมาก



มาสะดุดก็วลีที่ว่า   เอาโศกแซมแกมรักสลักหนาม  ห่อดอกรัก

เคยอ่านใน สยามประเภท เล่ม ๓  เรื่องขุนนางบางคนเดินเหินส่งจดหมายให้เจ้าจอม  จดหมายนั้นห่อด้วยใบรัก ใบสวาท ใบระกำ  ใบโศก
เมื่ออ่านให้ชมรมนักอ่านหนังสือเก่าฟัง  ฮือฮากันโดยพร้อมเพรียง


สุนทรภู่ก็รับเขียนเพลงยาวอยู่ระยะหนึ่ง( ๒๐๐ ปี สุนทรภู่และตำนานเมืองเพชรบุรี  ค้นคว้าและรวบรวมโดย อำมาตย์เอกและเสวกเอก พระยาปริยัติธรรมธาดา
( แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ ) หนังสืออนุสรณ์  นางจันทร์  ตาละลักษมณ์  ๒๕๓๓


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 09:44


สุนทรภู่ก็รับเขียนเพลงยาวอยู่ระยะหนึ่ง( ๒๐๐ ปี สุนทรภู่และตำนานเมืองเพชรบุรี  ค้นคว้าและรวบรวมโดย อำมาตย์เอกและเสวกเอก พระยาปริยัติธรรมธาดา
( แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ ) หนังสืออนุสรณ์  นางจันทร์  ตาละลักษมณ์  ๒๕๓๓


หนังสือเล่มนี้ได้อ่านเหมือนกัน  แต่เป็นฉบับพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๒  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  นำมาพิมพ์ใหม่  มีเรื่องเล่าเล็กน้อยหลายเรื่องเกี่ยวกับสุนทรภู่ที่ท่านผู้รวบรวมได้พยายามเสาะหาถามจากขุนนางที่คุ้นเคยกับสุนทรภู่และยังมีชีวิตมาจนถึงสมัยพระยาปริยัติธรรมธาดา ( แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ )

เจ้าคุณแพ ตาละลักษมณ์ ท่านเป็นคนมีความสามารถมากคนหนึ่ง  ท่านทำพจนานุกรมภาษาบาลีเล่มโตชื่อ พระบาฬีลิปิกรม  (หรือบาฬีลิปิมายน) เห็นวิธีการทำพจนานุกรมของท่านแล้วทึ่งมาก เพราะท่านไปเก็บคำบาลีจากหนังสือเล่ม หนังสือใบลานต่างๆ หลายเล่มทีเดียว  นับว่าท่านเป็นราชบัณฑิตโดยแท้ (ผู้ใดสนใจ ไปหาซื้อพระบาฬีลิปิกรม ๓ เล่ม/ชุด ที่มหามกุฏฯ หน้าวัดบวรฯ ได้ ราคาเล่มละ ๒๕๐ บาท ปกแข็งอย่างดี)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 10:38

มีประเพณีฝรั่งในลังกา มาฝาก  คือประเพณีทำศพ

พนักงานการสำหรับประดับศพ                        ก็แต่งครบเครื่องอร่ามตามภาษา
อันเยี่ยงอย่างข้างฝรั่งเกาะลังกา                      ท้าวพระยาอยู่ปราสาทราชวัง
ก็ต้องมีที่ตายไว้ท้ายปราสาท                          สำหรับบาดหลวงจะได้เอาไปฝัง
เป็นห้องหับลับลี้ที่กำบัง                                 ถึงฝรั่งพลเรือนก็เหมือนกัน
ใครบรรไลยไปบอกพระบาดหลวง                    มาควักดวงเนตรให้ไปสวรรค์
มีไม้ขวางกางเขนเป็นสำคัญ                           ขึ้นแปลธรรม์เทศนาตามบาลี
ว่าเกิดมาสามัญคนทั้งหลาย                            มีร่างกายก็ลำบากคือทรากผี
ครั้นตัวตายภายหลังฝังอินทรีย์                        เอาเท้าชี้ขึ้นนั้นด้วยอันใด
วิสัชนาว่าจะให้ไปสวรรค์                                ว่าเท้านั้นนำเดินดำเนินได้
อันอินทรีย์ชีวิตพลอยติดไป                            ครั้นเท้าย่างไปทางไหนไปทางนั้น
จึงฝรั่งฝังผีตีนชีฟ้า                                       ให้บาทาเยื้องย่างไปทางสวรรค์
ว่ารูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครัน                    ให้สูญลับกัปกัลป์พุทธันดร
เทศนาหน้าศพจบแล้วสวด                             พวกนักบวชบาดหลวงทั้งปวงสอน
ให้เผ่าพงศ์วงศานรากร                                  นั้นมานอนคว่ำเรียงเคียงเคียงกัน
ครั้นสวดจบศพใส่เข้าในถุง                             บาดหลวงนุ่งห่มดำนำไปสวรรค์
อ่านหนังสือถือเทียบเวียนระวัน                       ลูกศิษย์นั้นแบกผีทั้งสี่คน
ค่อยเดินตามข้ามหลังคนทั้งหลาย                   ที่นอนรายเรียงขวางกลางถนน
บาดหลวงพระประพรำด้วยน้ำมนต์                   ตลอดจนห้องฝังกำบังลับ
หกศีร์ษะเอาศพใส่หลุมตรุ                              แต่พอจุศพถุงเหมือนปรุงปรับ
พระบาทบงสุ์ตรงฟ้าศิลาทัพ                           เครื่องคำนับนั้นก็ตั้งหลังศิลา
ให้ลูกหลานว่านเครือแลเชื้อสาย                     ได้ถวายข้าวตอกดอกบุบผา
ให้กราบลงตรงบัลลังก์ตั้งบูชา                         เหมือนกราบฝ่าพระบาทไม่ขาดวัน
แล้วกรวดน้ำทำบุญกับบาดหลวง                     ตามกระทรวงส่งให้ไปสวรรค์
ครั้นสำเร็จเสร็จศพทำครบครัน                        มาพร้อมกันบรรดาเสนาใน
คล้ายประเพณีของพวกคาทอลิค    เรื่องใส่ถุงนี่ไม่เคยเห็น   แต่ว่าการเก็บศพในสุสานที่ทำเป็นห้อง มีจริง      การหามศพด้วยคนแบกสี่คนก็จริง
อาจจะมีไทยปนๆบ้างเช่นกรวดน้ำ   
สุนทรภู่น่าจะเคยเห็นประเพณีทำศพของฝรั่งในกรุงเทพนะคะ   คิดว่าเป็นประเพณีคาทอลิคมากกว่าโปรแตสเตนท์
ถ้าใครเป็นคริสตศาสนิกชน มาช่วยอธิบายจะขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 11:56

เลือกเอาบางส่วนจากจดหมายเหตุของหมอบรัดเล ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๒ มานำเสนอ เพื่อว่าจะเป็นประโยชนืในการอภิปรายในกระทู้นี้บ้าง

๒๓ ส.ค. ๒๓๗๑  มิชชันนารี ชื่อ ชาลส์  คุตสลัฟ (หมอกิศลับ) กับเยมส์ ตอมลิน  แรกเข้ามาสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ในกรุงเทพฯ

๒๔ มี.ค. ๒๓๗๖  มิชชันนารี ชื่อ ยอน เตเลอ โยนส์ (หมอยอน) เข้ามากรุงเทพฯ

๑๘ ก.ค. ๒๓๗๗ มิชชันนารี ชื่อ วิลเลียมดีน กับหมอบรัดเล เข้ามาถึงกรุงเทพฯ  ปีนี้แรกมิชชันนารีเอาเครื่องพิมพ์เข้ามากรุงเทพฯ

๕ ส.ค. ๒๓๗๗ มิชชันนารีแรกเช่าที่นายกลิ่น น้องชายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ตั้งโอสถศาลาที่ข้างใต้วัดเกาะ

๘ ก.ย. ๒๓๗๗ กัปตันเวลเลอ นายเรืออังกฤษ เกิดวิวาทกับพระวัดเกาะ  เหตุด้วยเข้าไปยิงนกในวัด  พระตีเอาบาดเจ็บสาหัส

๕ ต.ค. ๒๓๗๗ โอสถศาลาของพวกมิชชันนารีถูกไล่จากวัดเกาะเนื่องในเหตที่ฝรั่งตีพระ  ต้องย้ายมาอยู่ที่กุฎีจีน

ต.ค. ๒๓๗๘ ไทยแรกมีเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่ง เรือลำนี้ชื่อ เอริล  หลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์)ต่อถวาย

๑๒ พ.ย. ๒๓๗๘ หลวงนายสิทธิ์ ชวนหมอบรัดเลกับมิชชันนารีชื่อ สตีฟิน  ยอนสัน ลงเรือเอริลไปจันทบุรี เรือไปถึงจันบุรีเมื่อ  ๒๑ พ.ย.

๒๖ มี.ค. ๒๓๗๙  เอดมอนด์รอเบิต ทูตอเมริกัน นำหนังสือสัญญามาแลกเปลี่ยน

มิ.ย. ๒๓๗๙  มิชชันนารี ชื่อ รอบินสัน  แรกตั้งเครื่องพิมพ์พิมพ์อักษรไทย ในกรุงเป็นครั้งแรก

๑๓ ม.ค. ๒๓๘๐ ฉลองวัดเจ้าพระยาพระคลัง (วัดประยุรวงษ์)  ปืนใหญ่ที่ทำไฟพะเนียงแตก  ถูกคนตายหลายคน  หมอบรัดเลตัดแขนพระรูป ๑ ที่ถุกปืนแตก  ว่าได้ผ่าตัดอย่างฝรั่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

๒๐ ธ.ค. ๒๓๘๐ รัชกาลที่ ๓ มีรับสั่งให้หมอหลวงไปฝึกหัดปลูกฝีไข้ทรพิษจากมิชชันนารี

๒๘ ก.พ. ๒๓๘๑  มิชชันนารี รอบินสัน กับเตรซี พาครอบครัวไปอยู่ที่อ่างหิน (นัยว่าเป็นครั้งที่ฝรั่งไปตากอากาสรักษาตัวที่อ่างศิลา)

๒๗ มี.ค. ๒๓๘๒ รัชกาลที่ ๓ พระราชทานบำเหน็จแก่หมอหลวงและหมอบรัดเลที่ปลูกฝีไข้ทรพิษ

๒๗ เม.ย. ๒๓๘๒  รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น  หมายประกาศนี้ได้ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์มิชชันนารี ๙๐๐๐ ฉบับ  เป็นหมายประกาศฉบับแรกที่รัฐบาลไทยให้พิมพ์

๑ ม.ค. ๒๓๘๔  นายเชสสี  คัสเวล  (หมอกัศแวน) มิชชันนารี เข้ามาถึงเมืองไทย  (คนนี้ได้ถวายพระอักษณภาษษอังกฤษแด่รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงพระผนวชได้ ๙ ปี)

๑๗ ต.ค. ๒๓๘๔  พวกมิชชันารีอเมริกันเข้ามาเพิ่มในรวมอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน ๒๔ คน (นับทั้งบุตรและภรรยา)

ต.ค. ๒๓๘๕ โรงพิมพ์มิชชันนารีหล่อตัวพิมพ์อักษณไทยได้เองเป็นครั้งแรก

ธ.ค. ๒๓๘๕ เกิดข่าวลือวในคนไทยว่า รัชกาลที่ ๓ ทรงกริ้วคนที่รับแจกหนังสือสอนศาสนาของพวกมิชชันารี  พากันทำลายหนังสือที่ได้รับแจกเสียมาก ภายหลังได้ทราบว่าไม่ได้ทรงกริ้ว

๑๒ ม.ค. ๒๓๘๖  มิชชันนารีพิมพ์ปดิทินภาษษไทยครั้งแรก............. ยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 14:37

๕ ส.ค. ๒๓๗๗ มิชชันนารีแรกเช่าที่นายกลิ่น น้องชายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) ตั้งโอสถศาลาที่ข้างใต้วัดเกาะ
๕ ต.ค. ๒๓๗๗ โอสถศาลาของพวกมิชชันนารีถูกไล่จากวัดเกาะเนื่องในเหตที่ฝรั่งตีพระ  ต้องย้ายมาอยู่ที่กุฎีจีน

ตรงนี้หมอบรัดเลอธิบายไว้ในที่อื่นว่า

เมื่อแรกมิชชันนารีเข้ามาตั้งในเมืองไทย ตั้งใจจะมาสอนสาสนาคฤศตังแก่พวกจีน ซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ด้วยเห็นว่า สอนที่เมืองจีนได้ผลดี จึงเตรียมหนังสือสอนสาสนาที่พิมพ์ในภาษาจีนเข้ามา แลมาขออนุญาตต่อรัฐบาล เพื่อจะสอนสาสนาแก่พวกจีน เมื่อไปตั้งโอสถศาลาที่วัดเกาะ มิชชันนารีแจกหนังสือสอนสาสนาแก่พวกจีน แลรับรักษาไข้เจ็บให้ทั้งจีนแลไทยๆ ไปรู้จักพวกมิชชันนารีด้วยการที่ไปให้รักษาไข้ จึงเรียกบรรดามิชชันนารีว่า “หมอ” ทั้งที่เปนแพทย์แลมิใช่แพทย์ จึงเรียกกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อแรกมิชชันนารีเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ มีบ้านฝรั่งแต่ ๒ แห่ง คือ บ้านซินยอคาลส ซิลไวโร กงสุลโปจุเกต ไทยเรียกว่า “คาลศ” ได้เปนขุนนางไทยตำแหน่งที่หลวงอภัยวานิช อยู่ตรงสถานทูตโปจุเกตทุกวันนี้แห่ง ๑ กับรอเบิต ฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษ ไทยเรียกว่า “หันแตร” พึ่งบุญค้าขายอยู่ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ แต่ยังเปนเจ้าพระยาพระคลัง ได้เปนขุนนางไทย ที่หลวงวิเศษพานิช อยู่ที่กุฎีจีนคน ๑ พวกมิชชันนารีได้อาไศรยฝรั่ง ๒ คนนี้ เมื่อโอสถศาลาถูกไล่จากวัดเกาะ จึงมาอาไศรยอยู่ที่ริมบ้านหันแตร


http://www.reurnthai.com/wiki/จดหมายเหตุของหมอบรัดเล
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 15:14

โต๊ะอาหารให้วังของนางละเวงวัณฬา เป็นแบบเดียวกับในตำหนักพระนางแมรี่อังตัวเนตที่ชื่อว่า เปตีอองนอง ที่พระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศส

นางวัณฬาพาองค์พระทรงศักดิ์          มาหยุดพักพุ่มพฤกษ์เป็นตึกโถง
นั่งเก้าอี้ที่ห้องท้องพระโรง              ข้างนอกโล่งเลี่ยนรื่นพื้นสุธา
ต้นไม้ร่มลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยพัด        โต๊ะเขาจัดแต่งไว้ทั้งซ้ายขวา
พอพร้อมกันลั่นระฆังสั่งสัญญา         โต๊ะก็มาเกลื่อนกล่นด้วยกลไก
ลูกล้อกลิ้งวิ่งเวียนเหมือนเกวียนขับ     พร้อมสำรับหวานคาวขวดเหล้าใส่
เสียงกริ่งกร่างต่างเขม้นไม่เห็นใคร      แต่โต๊ะใหญ่ไปถึงทั่วทุกตัวคน


ตอนนี้พระบาทสมเด็จพระจุลอจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านเมื่อเสด็จถึงตำหนักพระนางแมรี่อังตัวเนตว่า

ห้องที่แปลกมากนั้นก็คือห้องเสวย ถ้าถึงเวลาเสวยโต๊ะจัดอยู่ในชั้นต่ำสำเร็จแล้วทะลึ่งขึ้นมาบนพื้นเอง ตาภู่แกคงระแคะระคายใครเล่าให้ฟัง หรือจะมีในหนังสือเก่า ๆ ครั้งโกษาปานที่คนหารเสียแล้วว่าไม่จริง จึงไม่ได้เก็บลงในพงศาวดาร

สุนทรภู่ท่านรู้เรื่องฝรั่งถึงในพระราชวังแวร์ซายเชียว

 ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 16:00


๒๓ ส.ค. ๒๓๗๑  มิชชันนารี ชื่อ ชาลส์  คุตสลัฟ (หมอกิศลับ) กับเยมส์ ตอมลิน  แรกเข้ามาสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ในกรุงเทพฯ

หมอกิศลับ (Karl Friedrich August Gützlaff) เป็นชาวเยอรมัน ภรรยาเป็นชาวอังกฤษชื่อ Maria Newell สร้อยชื่อ วัณฬา ของนางละเวง อาจจะมาจากท้ายชื่อของแหม่ม Newell นี้ก็เป็นได้

http://en.wikipedia.org/wiki/Maria_Newell

Newell  ---> วัณฬา

ไม่ทราบว่าเดาไกลเกินไปหรือเปล่า

 อายจัง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 20 คำสั่ง