เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 40943 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี (๒)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 17:00

ดิฉันลองแกะรอยการสร้างชาติพันธุ์วรรณาเงือก ของสุนทรภู่    มองเห็นชิ้นส่วนบางอย่างตามนี้  แต่จะต้องขอคนอื่นๆให้ปะติดปะต่อดู
- ท่านเอาคำว่า "เงือก" ที่เป็นคำไทยโบราณ แปลว่า งู  มาใช้ตั้งชื่อชาติพันธุ์คนมีหางเป็นปลา อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ขึ้นบกได้
- ในลิลิตพระลอ  เงือกเป็นผีน้ำชนิดหนึ่ง ผมยาว ตากลมโตกลอกไปมา   ผมยาว   เวลาคนลงเล่นน้ำเงือกก็เข้ามาเอาผมรัดคอ ฉุดลงไปจนจมน้ำตาย
สุนทรภู่ไม่ได้เอาเงือกพันธุ์นี้มาเป็นต้นตระกูลเงือกในพระอภัยมณี
- ตำนานเงือกในพระอภัยมณี  ว่ากลาสีเรือแตกจมน้ำ  นางเงือกก็มาเลือกไปเป็นคู่  เป็นตำนานของฝรั่งยุโรปทางเหนือ
กลาสีฝรั่งเห็นนางเงือกกันทั้งนั้น  พบได้ในตำนาน นิทาน แม้แต่ปูมเดินเรือ    สร้างตำนานเนื้อคู่กันมามากมาย
แม้แต่เงือกน้อยของแอนเดอร์เสน ซึ่งเป็นเงือกดังที่สุดในโลก   ก็เป็นความรักของนางเงือกกับมนุษย์หนุ่ม    
แต่ตำนานหญิงสาวผู้โดยสารจะเจอเงือกหนุ่ม ถูกพาลงไปครองคู่กันในทะเล แทบไม่มีเลย
- สังเกตว่าสุนทรภู่ไม่ยักตั้งชื่อชาติพันธุ์นี้แบบรามเกียรติ์  คือเรียกว่านางมัจฉา หรือนายมัจฉา   คงจะเป็นการประดิษฐ์คิดค้นใหม่    ไม่อิงวรรณคดีในรัชกาลที่ ๑
- นางเงือก แปลตามตัวคือนางงู     แต่ไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งงู  เป็นครึ่งคนครึ่งปลา   
เป็นไปได้ไหมว่าเมื่อสร้างจินตนาการขึ้นมา   ท่อนล่างของเงือกเป็นปลา ยาวลงไป  ลักษณะคล้ายลำตัวงู    ไม่ใช่เป็นหางเหมือนหางลิงอยู่ด้านหลัง
แต่ท่านเผลอไปตอนเดียว ใส่ไปว่ามีขา ให้นางผีเสื้อหักและฉีกกิน    ภาพนางเงือกก็เลยสับสนไปเล็กน้อย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 21:30

เรื่องราวของพระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่สมุดไทยเล่มที่ ๕๐ ต่อ ไปถึง ๙๙
ที่แต่งตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

สุนทรภู่แต่งไว้เดิมเพียง ๔๙ เล่มสมุดไทย
ถึงจะวานผู้อื่นให้ช่วยแต่ง     สุนทรภู่ก็ต้องเป็นผู้วางแนวทางของเรื่อง
และกำหนดตัวละคร   

ถึงกลอนจะไม่ไพเราะประณีต  ก็ยังมีตอนที่ไพเราะเพราะพริ้งอยู่เป็นอันมาก
โดยเฉพาะกลอนชมสัตว์ต่าง ๆ  ต้นไม้   ชมทะเลและสัตว์น้ำ  ตลอดตอนบทอัศจรรย์
(คัดมาจากคำอธิบายของ ธนิต  อยู่โพธิ)


เมื่อพระฤาษีเชิญท้าวมัฆวานมาตัดหางนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร
หางหายไปแล้วนางเดินได้เอง   สุนทรภู่คงทราบและตรวจคุมงานอยู่แถวนั้น
เพราะนางเงือกที่เล่ากันมาถึงตอนนี้ชื่อ สุพรรณมัจฉา  ต่อมาสุดสาครยกเป็น พระจันทวดีพันปีหลวง(เล่ม ๔  หน้า ๑๑๒๕)


ตอนนี้คือตอนที่ ๑๑๒  ตัดหางนางสุพรรณมัจฉาแล้วสถาปนาเป็นจันทวดีพันปีหลวง   (เริ่งแต่หน้า ๑๑๑๔ - ๑๑๒๗)
พระโยคีไปบอก สุดสาคร ที่ตอนนั้นอยู่ลังกา  ให้มารับแม่     

ออเงือกน้ำนงคราญผู้มารดา                            กลับเพศมาเป็นมนุษย์ผุดผ่องพรรณ
กูทำที่ให้อยู่พ้นอู่อ่าว                                     จึงมาเล่าบอกให้เอ็งเร่งผายผัน
ไปรับแม่ให้ประเวศขอบเขตคัน                          ได้เห็นกันทุกเวลาบูชาคุณ
แต่ก่อนมันอยู่ได้วิสัยสัตว์                                ไม่ข้องขัดขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน
สอนให้ถือกรรมฐานเป็นการบุญ                         กุศลหนุนสิ้นกรรมที่ทำมา


พระฤาษีสอนว่า

ใช่วิสัยของสีกาอยู่ป่าดอน                               จงรีบจรไปกับลูกอย่าผูกพัน
ซึ่งตัวกูผู้คนชราร่าง                                      มันก็ย่างถึงกัปจะดับขันธ์
อายุกูนี่หนาก็กว่าพัน                                     จะดับขันธ์ลงเมื่อไรไม่จีรัง(เล่ม ๔  ตอนที่ ๑๓๒   หน้า ๑๑๑๒


จงหักห้ามความโทมนัสสา                               เอาปัญญาหยั่งลงในสงสาร
ให้เห็นไตรลักษณ์มรรคญาณ                            ตัดรำคาญผ่อนผันด้วยปัญญา
ยึดเอาธรรมกรรมฐานการกุศล                          คงให้ผลดับทุกข์เป็นสุขา
แล้วแก้ไขในทางอนัตตา                                 ออกพรรณนาให้สว่างกระจ่างใจ (หน้า ๑๑๑๓)

เดินทางจากลังกาไปเกาะแก้วพิสดารขาไปใช้เวลา วันครึ่ง ด้วยพระสิทธาย่นหนทาง  ขากลับ ออกตอนเช้าถึงตอนสาย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 20 ม.ค. 10, 21:41

นางเงือกได้ไปเฝ้าฤาษีอภัยมณีและแม่ชีทั้งสอง ขอบวช


พระอภัยมณีห้าม

ว่าแรกเริ่มกำเนิดเกิดเป็นปลา                          ที่จะมาบวชอนงค์เป็นหลงชี
ขัดเสียแล้วจริงนะพระก็ห้าม                            อันเรื่องความนี้หนามารศรี
พระภควันต์บรรพชาให้นาคึ                            สิกขามีห้ามไว้ไม่ได้การ
ถึงกลับเพศเป็นมนุษย์ต้องหยุดยั้ง                     กำเนิดยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าดับชาติจากขันธสันดาน                             สมาทานจึ่งจะได้ในศีลา ฯ

(หน้า ๑๑๒๐)

นางชีทั้งสองเรียกนางเงือกว่าพี่ตามระเบียบ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 08:25

ขนมแชงม้า (หรือที่เขียนเป็น แฉ่งม้า แชงมา ) ตามที่คุณวันดีได้กล่าวถึงนั้น  ปรากฏเป็นเพลงกล่อมเด็กภาคกลาง ๓ สำนวน  คือ

สำนวนที่ ๑
โอละเห่โอละฮึก      ลุกขึ้นแต่ดึก
ทำขนมแฉ่งม้า        ผัวตีเมียก็ด่า
ขนมแฉ่งม้า            ก็คาหม้อแกงเอย ฯ

สำนวนที่ ๒  ยาวหน่อย
โอ้ละเห่โอละฮึก      ลุกขึ้นแต่ดึก     ทำขนมแฉ่งม้า
ผัวตีเมียก็ด่า           ขนมแฉ่งม้า      ก็คาหม้อแกง
หายขึ้งหายโกรธ      ขนมแฉ่งม้า      ก็หมดหม้อแกง
ทำตาแดงแดง         ฝนก็เทลงมา  เอย  ฯ

สำนวนที่ ๓
โอระเห่โอระฮึกเอ๋ย   ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมแชงมา   
ฝ่ายเจ้าผัวก็ตี          ฝ่ายนางเมียก็ด่า
เลยขนมแชงมาคาหม้อแกง  ฯ

นอกจากนี้ก็มีเพลงกล่อมเด็กที่กลายไปจาก เพลงกล่อมเด็ก ๓ สำนวนข้างต้น  โดยเปลี่ยนชื่อขนมเป็นขนมบัวลอยกับหม้อแกง ดังนี้

สำนวนที่ ๑
โอระเห่โอระหึก   ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมบัวลอย
ผัวก็ตีเมียก็ต่อย   ขนมบัวลอยก็คาหม้อแกง ฯ

สำนวนที่ ๒
โอระเห่โอระฮึก  ลุกขึ้นแต่ดึกทำขนมหม้อแกง
เลยหกล้มดังแฉ่ง   ขนมหม้อแกงหกหมด  เลยอดกินเอย ฯ

สำนวนที่ ๓ ยาวมากหน่อย
โอระเห่โอระฮึกตื่นขึ้นแต่ดึกทำขนมหม้อแกง   เกิดทะเลาะยื้อแย่งเอยขนมหม้อแกงคาหม้อเอย   รักเอ๋ยแม่รักเจ้าเอยรักยิ่งเท่าภูเขาหลวง   ยามเจ้าร้องไห้ใจของแม่นี้เจียนจะล่วงเป็นห่วงแต่เจ้าคนเดียวทรามเปรียวของแม่นี้นา   แม่รักเจ้าแสนเท่านักหนาเอย   ยามโสกาอุ้มให้เจ้ากินนม  ตัวแม่เป็นทุกข์ถึงเจ้าเฝ้าระทมเอย  รักแต่เจ้าผู้เดียวทรามเปรียมของแม่นี้อา ฯ  (บทนี้คงใช้สำหรับเด็กที่นอนหลับยาก)

ถ้าถามว่า ขนมแชงม้า คือขนมอะไร  เคยมีคนพยายามค้นหาคำตอบ ก็ได้คำตอบมา ๒- ๓ ทาง  คือ บ้างก็ว่าเป็นขนมหม้อแกงที่โรยหน้าหอมเจียวนี่แหละ  ขนมอย่างนี้ขั้นตอนการทำมากยุ่งยาก  ต้องเตรียมการทำแต่เช้ามืดกว่าจะเสร็จก็ครึ่งค่อนวัน เป็นคำตอบหนึ่ง 

บ้างก็ว่าเป็นข้าวเหนียวต้มใส่น้ำตาล ลักษณะเหมือนขนมข้าวเหนียวเปียก เวลากินก็ราดกะทิที่ปรุงรสออกเค็ม  สมัยก่อนว่ากันว่าเจ้าภาพงานศพที่เป็นชาวมอญมักทำขนมนี้เลี้ยงแขกที่มานั่งฟังสวดพระอภิธรรมศพ ๔ กะ  เป็นคำตอบหนึ่ง

และบ้างก็ว่า เป็นขนมปลากริมไข่เต่า  ซึ่งเข้าใจว่าคงจะพัฒนามาจากขนมข้าวเปียกข้างต้น  หรือไม่ข้าวเหนียวเปียกข้างต้นเป็นขนมที่ย่อลงมาจากขนมปลากริมไข่เต่า  เป็นคำตอบหนึ่ง 

ตกลง ถึงตอนนี้ก็ยังไม่กล้าฟันธงว่ามันเป็นขนมอะไรแน่   ฮืม



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 09:07

ต่อมา  เรื่อง "เงือก"  (จริงๆ น่าจะยกไปตั้งเป็นกระทู้ใหม่ เรื่องชาติพันธุ์ "อมนุษย์" ยิงฟันยิ้ม)


เงือกในโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทรเป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆนจัญไร "  ซึ่งนักอ่านวรรณคดี ให้ความหมาย "เงือก" ในบริบทนี้ว่า หมายถึง งู  เพราะตามเทวปกรณ์ฮินดู  พระศิวะมีงูหรือนาคพันรอบพระศอ  บางทีก็เอามาทำเป็นสังวาล  อย่างไรก็ดี  การให้ความหมายคำเงือกในดองการแช่งน้ำนี้ เป็นการให้ความหมายโดยอาศัยการเปรียบเทียบการบรรยายกับลักษณะเทวปฏิมา  จริงๆ อาจจะผิดหรือถูกก็ได้  เพราะบริบทในโองการแช่งน้ำก็ไม่มีคำใดชี้ว่า เงือก หมายถึง งู   แล้วทำไมเราไม่ให้ความหมายคำว่า เงือก ในบริบทนี้ หมายถึง นางเงือก บ้างไม่ได้

มาดูที่ เงือก ที่ปรากฏในลิลิตพระลอ  "เงือกเอาคนใต้น้ำ กล่ำตากระเลือก กระเกลือกกลอกตากลม ผมกระหวัดจำตาย" อันนี้ให้ภาพชัดขึ้นมาอีกว่า  เงือก ในที่นี้ เป็นสัตว์น้ำ มีผมยาว ตากลมแดงเหลือก ดุร้าย สามารถใช้ผมกระหวัดคนบนบกลงไปในน้ำ  ความหมายของเงือกในบริบทนี้  เป็นแนวทางเดียวกับคำอธิบายคำว่า เงือก ในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเล  นอกจากนี้ ในอักขราภิธานศรับท์ ยังเก็บคำว่า เงือกน้ำ ไว้ด้วย  โดยอธิบายว่า  มีลักษณะรูปร่างเหมือนงูบ้าง เหมือนปลาบ้าง อาศัยอยู่ในน้ำ มีผมยาว  มักเอาคนลงไปดูดเลือดในน้ำ  แสดงว่า เงือก ไม่ได้หมายถึงงู เพียงแต่มีรูปร่างคล้ายหรือเหมือนงูเท่านั้น  และคงเป็นสัตว์ในจินตนาการของคนสมัยก่อน  ไปดูทางภาษาลาว  เขาก็มีคำว่า เงือก เหมือนกัน โดยอธิบายว่า เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ  รูปร่างอย่างงู  มีหงอน   แต่ไม่ใช่นาค  และว่ามีนิสัยดุร้ายเหมือนกัน  บางทีก็ว่าเป็นปิศาจประเภทหนึ่ง 

ต่อไป ไปดู เงือก ในภาษาตระกูลไทกลุ่มอื่นดูบ้าง  ในภาษไทยใหญ่  มีคำว่า เงือก เหมือนกัน  แต่แปลว่า จระเข้ !!!!  ตกใจ และแปลเหมือนกันกับ คำว่าเงือก ในภาษาไทยล้านนา  ดังปรากฏในหนังสือพจนานุกรมคำภาษาล้านนาที่พบเฉพาะในใบลาน  ก็แปลว่า เงือก ว่า จระเข้  โดยยกตัวอย่างจาก หนังสือใบลานเรื่องพระยาเจืองมาประกอบ  น่าจะแสดงให้เห็นว่า  เงือกที่มีขาคือจระเข้ มาแต่เดิม ?   ต่อมา คนไทยฝ่ายใต้ มีคำเรียก จระเข้  ใช้แทนเงือกที่เคยใช้กันมา  จึงเอาคำว่าเงือกไปเป็นสัตว์ในจินตนาการประเภทอื่น  ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน  ส่วนที่ว่าเงือกมีผมยาว ลากเอาคนลงไปในน้ำ  ถ้าเป็นจระเข้ก็เทียบแล้วใกล้เคียงกับเงือกในลิลิตพระลอเหมือนกัน กรณีผมยาว อาจจะหมายถึงจระเข้ที่มีตะไคร่น้ำเกาะมา หรืออาศัยอยู่ในน้ำที่มีสาหร่ายหรือตะใคร่มากก็เป็นได้   คนสมัยก่อนคงมักถูกจระเข้คาบไปกินบ่อยๆ ในเวลากลางคืน  เพราะสมัยก่อนจระเข้ในแหล่งน้ำชุกชุมมาก (ดูในนิราศของสุนทรภู่ก็พูดถึง) เดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวทะเล่อทะล่าไปเหยียบเอาจระเข้ในความมืดก็เลยถูกจระเข้คาบลงน้ำไป   คนเลยกลัวและคิดว่าเป็นเงือก   

ยังไม่ฟันธง  เชิญแย้งได้ครับ  ยิ้มเท่ห์ เพราะเงือกมีขาก็มีหลักฐานในภาษาไทเหมือนกัน  จะแปลกอะไรถ้าสุนทรภู่ท่านจะให้เงือกมีขา  (เอ  ในตำราภาพสัตว์หิมพานต์มีชื่อเรียกสัตว์ผสมอย่างนี้หรือเปล่าหนอ?) ลังเล เศร้า
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 09:34

ขอบคุณ คุณหลวงเล็กค่ะ 
คุยกันแบบแลกเปลี่ยนความคิดและแสดงหลักฐานเผื่อจะไปหาอ่านเพิ่มเติม
ไม่ต้องฟันธง

เรื่องทำกับข้าวดิฉันออกจะเชื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยนภาสกรวงศ์นะคะ
ท่านมีเกร็ดความรู้มหาศาล  ตัวท่านเองก็เป็นแม่ครัวลือชื่อ  ทำอาหารเลี้ยงดูฝรั่งมังค่า
ผู้คนของท่านก็เป็นหลานเหลนของแม่ครัวระดับเจ้านาย

ในเรื่องของหนังสือ  ได้ข่าวมาว่าจะมีการเขียนเรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)ใหม่
ดิฉันก็ดีใจ 
สงสัยอยู่นิดหนึ่งว่าจะมีข้อมูลใหม่ปานใด

พายเรือออกอ่าวไปแป๊บหนึ่งเองค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 10:21

ท่องเน็ทดูเรื่อง เงือก ในอดีตแถบบ้านเราครับ

       มีนิทานพื้นบ้านเขมรเล่าเรื่องนางเงือกว่า เกิดจากหญิงสาวภรรยางูถูกงูกลืนเข้าไปทั้งตัว แล้วนางออกมาได้
ด้วยการผ่าท้องงู จากนั้นนางได้ออกเดินทางเพื่อหาแหล่งน้ำชำระล้างคราบงูจนมาถึงมหาสมุทร แล้วนางก็เดิน
มุดน้ำแล้วหายไป กลายเป็นนางเงือกอยู่ในมหาสมุทรนั้น

นิทานเรื่อง กะเดิบโดง กะเดิบซลา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=268118

       ส่วนทางล้านนามีปัญญาสชาดก ที่ได้นำมาแต่งเป็นคร่าวซอ เรื่อง เจ้าสุวัตรกับนางบัวคำ
ตอนหนึ่ง กล่าวถึงนางเงือกซึ่งมีบทบาทสั้นๆ ชื่อ นางสมุทชา ได้แปลงตัวเป็นจระเข้แล้วถูกชาวประมงฆ่าตาย 

ส่วนบ้านเขา มีหนูน้อยเงือกที่เพิ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว  Shiloh Pepin


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 10:23

         เงือกน้อย ด.ญ. Shiloh Pepin เสียชีวิตขณะอายุได้ 10 ขวบ เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม 2009 
ที่ Maine Medical Center ด้วยโรคติดเชื้อในปอด
   
        เด็กน้อยเกิดมาด้วยภาวะผิดปกติมีขาทั้งสองข้างติดกันมาแต่กำเนิด เรียกว่า sirenomelia
          (siren - mermaid + melos -limb)
เธอมีไตข้างเดียวที่มีขนาดเพียง 1 ส่วน 4 ของปกติ มีลำไส้ใหญ่สั้นๆ ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ ไม่มีอวัยวะเพศ
        ภาวะเช่นนี้พบได้ 1 ใน 100,000
       ส่วนใหญ่สามารถผ่าตัดแยกขาออกจากกันได้ แต่ในหนูน้อยคนนี้มีปัญหาที่เส้นเลือดทำให้ไม่สามารถ
ผ่าตัดแยกขาได้


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 10:48

ในเรื่องของหนังสือ  ได้ข่าวมาว่าจะมีการเขียนเรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค)ใหม่
ดิฉันก็ดีใจ  
สงสัยอยู่นิดหนึ่งว่าจะมีข้อมูลใหม่ปานใด

พายเรือออกอ่าวไปแป๊บหนึ่งเองค่ะ

ขออนุญาตพายเรือออกอ่าวตามคุณวันดีสักครู่  เรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ถ้าเขียนใหม่ ก็อยากอ่านไวๆ เหมือนกัน  แต่อยากให้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและหลักฐานเอกสารยืนยันประกอบด้วย  จะพอใจมาก   ไม่นานมานี้   ได้อ่านเอกสารสำคัญทางราชการชิ้นหนึ่ง  มีเรื่องเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถูกสอบกลางที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒  เรื่องโดยสังเขปมีว่า  

ในการประชุมเสนาบดีสภาครั้งหนึ่งในร.ศ.๑๑๒  สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ  ทรงเสนอวาระด่วนขึ้นในการประชุม  เรื่องที่ทรงเสนอนั้นว่า  ได้มีคนเอาเรื่องที่ประชุมกันในเสนาบดีสภาไปเล่าลือโจษจันกันกว้างขวางเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทไทยกับฝรั่งเศสคดีพระยอดเมืองขวาง  และมีคนเอาเรื่องดังกล่าวมาถามกับกรมพระนเรศฯ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง  และได้เข้าร่วมประชุมเสนาบดีสภาด้วย  กรมพระนเรศฯ ทรงซักคนที่นำความที่โจษกันนั้นว่า ไปรู้มาจากไหน คนนั้นฏ้ทูลอิดเอื้อนไม่ยอมตอบ  จนกระทั่งยอมเผยความจริงว่า ได้ยินเจ้าพระยาภาสฯ พูดเรื่องดังกล่าวกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่หน้าห้องเวรมหาดเล็ก และว่ามีมหาดเล็กคนอื่นๆ ที่อยู่บริเวณนั้นได้ยินด้วย  

เมื่อมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น  กรมพระนเรศฯ จึงทรงนำมาปรึกษากับสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ทันที  ด้วยเกรงว่าหากเรื่องในที่ประชุมรั่วออกมาถึงคนนอกได้ในภาวะบ้านเมืองคับขันอย่างนี้  ถ้าฝ่ายฝรั่งเศสทราบเรื่องนี้เข้าจะทำให้สยามดำเนินการต่างๆ ลำบากยิ่งขึ้น  จึงทรงขอให้ที่ประชุมเปิดไต่สวนความจริงจากเจ้าพระยาภาสฯ  ซึ่งเจ้าพระภาสฯ แต่แรกก็ไม่ยอมให้การตรงๆ ตามจริง ตอบเลี่ยงไปมา  จนที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้จึงพูดความจริง  ที่ประชุมจึงตำหนิเจ้าพระยาภาสฯว่า ไม่ควรเอาเรื่องในที่ประชุมนี้ไปพูดแพร่งพราย  ครั้งนี้จะให้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ เพื่อทรงพิจารณาโทษเจ้าพระยาภาสฯ ทั้งนี้สุดแต่จะทรงพระกรุณาฯ  มิฉะนั้นบ้านเมืองจะเสียหาย   การประชุมครั้งนั้นเจ้าพระยาภาสฯ โดนที่ประชุมเสนาบดีตำหนิเละ เพราะปากของท่านแท้ๆ   เสียดายว่า เอกสารดังกล่าว ไม่ได้กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้น รัชกาลที่ ๕ มีพระราชกระแสเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง  แต่ที่แน่ๆ เจ้าพระยาภาสฯ คงสงบปากสงบคำมากขึ้น  และได้เป็นสมาชิกที่ประชุมเสนาบดีสภาต่อมา

เรื่องปากของเจ้าพระยาภาสฯ เคยก่อเรื่องแบบนี้หลายครั้ง  โดยเฉพาะกรร๊วังหน้าขัดแย้งกับวังหลวง  ก็ว่าเป็นเพราะเจ้าพระยาภาสฯ  พูดขึ้นในที่ประชุมปรีวีเคาซิลว่า  ยังนี้ ต้อง Coup d ' Etat  เท่านั้นแหละ วังหน้าทราบเรื่องขึ้นก็เกณฑ์ทหารขึ้นรักษาวังทันที  ทางวังหลวงก็ตื่นเกณฑ์ทหารรักษาวังบ้าง  กลายเป็นเรื่องขัดแย้งหนักบานปลาย จน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ต้องมาไกล่เกลี่ย  วุ่นวายเสียไม่ล่ะ เศร้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 11:06

อ้างถึง
ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทรเป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าภิฆนจัญไร "  ซึ่งนักอ่านวรรณคดี ให้ความหมาย "เงือก" ในบริบทนี้ว่า หมายถึง งู  เพราะตามเทวปกรณ์ฮินดู  พระศิวะมีงูหรือนาคพันรอบพระศอ  บางทีก็เอามาทำเป็นสังวาล  อย่างไรก็ดี  การให้ความหมายคำเงือกในดองการแช่งน้ำนี้ เป็นการให้ความหมายโดยอาศัยการเปรียบเทียบการบรรยายกับลักษณะเทวปฏิมา  จริงๆ อาจจะผิดหรือถูกก็ได้  เพราะบริบทในโองการแช่งน้ำก็ไม่มีคำใดชี้ว่า เงือก หมายถึง งู   แล้วทำไมเราไม่ให้ความหมายคำว่า เงือก ในบริบทนี้ หมายถึง นางเงือก บ้างไม่ได้

ไปดูเฟอร์นิเจอร์ประดับตัวพระศิวะทั้งหมดแล้ว     เงือกเกี้ยวข้าง แปลว่า สังวาลงู    แปลอย่างอื่นไม่ได้
เพราะไม่เคยเจอว่าท่านเอาอะไรอย่างอื่นมาคล้องคอและตัว นอกจากงู

คำว่า เงือก มาจากภาษาอะไรคะ    หรือว่าจะเป็นคำไทยดั้งเดิม

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 11:36

อ้างถึง
ไปดูเฟอร์นิเจอร์ประดับตัวพระศิวะทั้งหมดแล้ว     เงือกเกี้ยวข้าง แปลว่า สังวาลงู    แปลอย่างอื่นไม่ได้
เพราะไม่เคยเจอว่าท่านเอาอะไรอย่างอื่นมาคล้องคอและตัว นอกจากงู

คำว่า เงือก มาจากภาษาอะไรคะ    หรือว่าจะเป็นคำไทยดั้งเดิม

ใช่ครับ  พระศิวะที่เราเห็นจากภาพวาดก็ดี รูปแกะสลักก็ดี หรือจากในหนังละครก็ดี  ล้วนแต่มีงูพันพระศอ   แต่...ในสังคมอยุธยาตอนต้น  คนสมัยนั้นเขาใช้คติพระศิวะอย่างที่คนสมัยหลังๆ ใช้กันหรือเปล่า  อันนี้  ต้องไปหาตัวอย่างเปรียบเทียบจากเอกสารที่มีอายุใกล้เคียงโองการแช่งน้ำ มาเทียบดูว่า  ในสมัยนั้น เงือก  เคยใช้ในบริบทความหมายใดบ้าง 
น่าแปลกเหมือนกันที่  เงือกในวรรณคดีเก่ามากๆ  มีน้อยแห่งนักที่หมายความว่า งู

บางทีสิ่งที่เรารู้เราเห็นเราเข้าใจในปัจจุบัน  อาจจะไม่สื่งเดียวกันกับที่คนสมัยก่อนท่านเห็นท่านรู้ท่านเข้าใจก็ได้

คำว่า เงือก  เป็นคำภาษาตระกูลไทแน่นอน  คงไม่ใช่คำภาษาตระกูลมอญ-เขมร หรือ ชวา-มลายู  เพราะภาษาตระกูลเหล่านี้ มักไม่ใคร่ใช้ ง เป็นเสียงพยัญชนะต้นของคำ มีบ้างก็น้อย  เหมือน คำที่ขึ้นต้นด้วย ง ในภาษาไทยเองก็มีน้อยนัก ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 11:53

ทำไมคุณหลวงเล็กถึงสงสัยว่า เงือก สมัยต้นอยุธยา มีความหมายอื่นคะ

ดิฉันสันนิษฐาน ว่ามี ๒ ความหมาย
๑   งู
๒   อมนุษย์น้ำชนิดหนึ่ง    รูปร่างแตกต่างกันไปตามจินตนาการของแต่ละท้องถิ่น
ลาว มีรูปร่างเป็น งูมีหงอน ดุร้าย  แต่ไม่ใช่นาค
ทางเหนือของไทย  เป็นปีศาจผมยาว  ตาโตแดง  ดุร้าย ฆ่าคนได้

สุนทรภู่อาจนำชื่อ เงือก จากความหมายที่สอง ที่เป็นอมนุษย์น้ำแต่ดั้งเดิมของไทย  มาผสมเข้ากับ mermaid และ merman ของฝรั่ง 
กลายเป็นฝ่ายดี   เลิกดุร้าย  ทำหน้าที่ช่วยเหลือพระอภัยมณีให้พ้นนางผีเสื้อ
เพราะถ้าไม่ให้เงือกช่วย ก็คงจะหาอมนุษย์อื่นช่วยได้ยากหน่อย   เนื่องจากปีศาจทั้งหลายในท้องทะเลล้วนตกอยู่ในอำนาจนางผีเสื้อทั้งสิ้น
ตัวอะไรก็ตามที่จะเข้าไปพบพระอภัยมณีได้ ก็ต้องอยู่ในทะเล    ถ้าเป็นสัตว์น้ำล้วนๆ เช่นเป็นปลา ก็คงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
เอาครึ่งคนครึ่งปลานี่แหละ เหมาะแล้ว
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 12:09

ทำไมคุณหลวงเล็กถึงสงสัยว่า เงือก สมัยต้นอยุธยา มีความหมายอื่นคะ

เพราะตัวอย่างในสมัยเดียวกันที่จะเปรียบเทียบความหมายยังไม่มีหรือมีน้อย   ความสงสัยย่อมบังเกิดมีเป็นธรรมดาครับ   ก็เพราะความสงสัยนี่แหละที่ทำให้วิชาการงอกงาม

ส่วนสุนทรภู่ไปเอาเงือกฝรั่งมาเป็นเงือกไทยในนิยายของท่าน  ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น   ใครจะไปรู้ว่า บางทีท่านสุนทรภู่อาจจะเอาปลาโลมาหรือปลาพะยูนเป็นต้นแบบนางเงือกบวกกับบุคลิกนางสุพรรณมัจฉาในรามเกียรติ์เข้าไป  กลายเป็นนางเงือกก็ได้   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 15:59

เอาเรื่องผีเงือกน้ำล้านนาของคุณนิคมช่วยเป็นข้อมูลเพิ่มเติม

http://gotoknow.org/blog/nhanphromma/150606

ทางล้านนาเชื่อว่าผีเงือกเป็นผีรักษาแม่น้ำใหญ่คอยเอาชีวิตผู้คนที่กระทำขึ้ดทำลายแม่น้ำหรือเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรม

ลักษณะเงือกผู้คนล้านนาก็มีเล่าหลายสาย แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นสายหนึ่งว่ากันดังนี้

...อันว่าผีเงือกมันตั๋วยาวเหมือนดั่งป๋าเหยี่ยน (ปลาไหล) ผิวหนังมีเมือกมื่น (ลื่น) หลืด ๆ หลาด ๆ จับยับมันบ่ได้เมือกไคลมันหนายับก็หลูด...ยับก็หลูด...ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   มันชอบอยู่ในเงิ้มถืบถ้ำวังน้ำเลิ้ก (ลึก) มันชอบกิ๋นคนที่ไปเปลี่ยนกระแสแม่น้ำ  เยี๊ยะขึ้ดจา (อาถรรพ์) กับแม่น้ำกว๊านใหญ่  ด้วยเหตุที่มันมีเมือกและอยู่ในเงิบนี้เองผู้คนจึงเอาลักษณะเมือกกับเงิบมาผสมกั๋นฮ้อง (เรียก) มันว่า เงือก บ่งบอกลักษณะผีร้ายที่มีเมือกอยู่ในเงิบฝั่งวังน้ำ

วันเดือนดับเดือนเป็ง (วันแรม/วันเพ็ญ ๑๔หรือ  ๑๕  ค่ำ) ผีเงือกจะออกมาหาเหยื่อตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นปลาตัวใหญ่บ้าง  บางครั้งตะแหลงเป็นคนเดินตามหาดทรายบ้างตรวจตราท้องน้ำ  หากมันเกิดอารมณ์อยากเล่นน้ำมันจะเล่นน้ำดีดน้ำเสียงดัง..โต้มต้าม....โต้มต้าม..สายน้ำฟ้งกระจายดั่งถูกก้อนหินใหญ่ทุ่มลง   หากผู้คนได้ยินเสียงน้ำจะรีบขึ้นจากแม่น้ำทันทีพร้อมกับสงบปากเงี้ยบ..เงียบไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเพราะกลัวว่าผีเงือกจำเสียงได้หากกลับลงน้ำเมื่อใดผีเงือกก็จะมาลากเอาตัวไป

ในการกระทำพิธีเกี่ยวกับสายน้ำพ่อปู่อาจารย์(พิธีกร)  จะต้องกล่าวโองการถึงเทพยดาทุกหมู่เหล่าและต้องกล่าวอัญเชิญวิญญาณผีเงือกมาร่วมด้วย  เช่นว่า "   โอก๋าสะ......นาคฅรุฑปรมัยไอศวรย์เงือกน้ำวังใหญ่ จุ่งมา...."  เป็นต้น


ผีเงือกน้ำเถื่อนถ้ำถืบผา  อยู่เงิบฝั่งนา   จักจ๋าไขแจ้ง
ผิวหนังมัน    มีเมือกบ่แห้ง ลื่นไหลหลูดหลุดลุ่ยหลุ้ย
ตั๋วเหมือนเหยี่ยน ยาวไหว-วก-วุ้ย  ฮักษากว๊านอั้นคงคา
เวลาลงน้ำ   อย่าเข้าไปหา    มันจักบีฑา  จีวาต๋ายอ้อง...ฮื้ย...กั๋วแต๊..แต๊


ได้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งว่า เงือกมาจาก เงิบ + เมือก

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 16:17

สงสัยว่าเงือกของล้านนา จะตัวนี้ละค่ะ
ปลาไหลไฟฟ้าขนาดใหญ่  Electrophorus electricus


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 20 คำสั่ง