รำภาสะหรี นั้น ดูท่านสุนทรภู่ จะหมั่นไส้ อยู่หน่อย ๆ
เมื่อเปิดตัว
มีลูกสาวขาวล้ำดังสำลี อายุยี่สิบสลวยสวยโสภา
ไม่มีผัวกลัวที่จะมีลูก ต้องกินหยูกยาฝาดไม่ปรารถนา
คุณเพ็ญชมพูคะ คุณหลวงคะ ยาฝาดนี่ กินเพื่ออะไรคะ
ยาฝาด ในที่นี้อาจจะตีความได้ ๒ ทาง คือ หนึ่ง หมายถึงยาชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า ยาฝาด ซึ่งคงมีรสฝาด จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อ หรือ สอง หมายถึง ยาอะไรก็ไม่ทราบ อาจหมายถึงยาทั่วไป ที่มีรสฝาด (โปรดสังเกตว่า ใช้คำว่า หยูกยาฝาด ไม่ใช่ ยาฝาด) แต่โดยรวมน่าจะหมายเอายาที่มีรสฝาด รสฝาดของยาไทย ตามตำราดบราณท่านว่า มีฤทธิ์ช่วยสมานแผลให้หายหรือสนิทเร็วขึ้น และรสฝาดยังช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย การที่ให้สตรีรับประทานยาฝาดก็คงมุ่งหมายที่จะช่วยรักษาแผลช่องคลอดอันเกิดจากการคลอดบุตรและช่วยฆ่าเชื้อโรคอันจะเกิดหรือติดมาในระหว่างการทำคลอด เป็นภูมิปัญญาคนไทยสมัยก่อน (ทั้งหมดเป็นการสันนิษฐานนะครับ เพราะเป็นผู้ชายเลยไม่ใคร่รู้เรื่องผู้หญิงสักเท่าไร)

เรื่องที่สงสัยจริง ๆ คือเรื่อง บอก หรือ ใบบอก ซึ่งจะต้อง รายงาน(หรือบอก)เข้ามายังเมืองหลวงเมื่อมีเรื่องสำคัญเกืดขึ้นได้อ่าน จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ ไม่กี่ปีมานี่เอง ทราบซึ้งในราชกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขนาดอ่านยังเหนื่อย) ท่านรับสั่งถามถึงความคืบหน้าของกองทัพและการเดินทางอยู่ตลอดเวลา
เรื่องใบบอก สมัยก่อน เมื่อขุนนางหัวเมืองจะทำเรื่องเข้ามาแจ้งให้ทางเมืองหลวงทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนิดใด ท่านจะให้เสมียนเขียนข้อราชการที่จะแจ้งนั้นลงกระดาษเพลา เขียนยาวเท่าไรไม่ว่า แผ่นเดียวไม่จบ ก็เอาอีกแผ่นมาต่อเข้า เขียนจบข้อความแล้วให้เจ้าเมืองลงชื่อประทับตราหัวแหวน จากนั้นม้วนใบบอกนำบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดกระบอกไม้ไผ่(ตรงนี้ไม่ทราบว่าปิดด้วยอะไร)แล้วหยดครั่งประทับตราที่กระบอก จากนั้นก็ส่งให้คนเดินสารนำเข้ามาที่เมืองหลวง ทั้งนี้สุดแต่ว่าหัวเมืองที่ส่งใบบอกนั้นขึ้นอยู่กับกรมมหาดไทย หรือกรมพระกระลาโหม หรือกรมท่า ก็ให้นำใบบอกนั้นไปส่งที่ขุนนางที่มีหน้าที่รับหนังสือบอกกรมนั้นๆ เมื่อกรมเหล่านั้นรับหนังสือแล้ว ก็จะพิจารณาดูที่กระบอกว่ามีรอยแกะออกก่อนมาถึงที่กรมหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จัดแจงแกะตราผ่ากระบอกนั้น เอาใบบอกไปเรียนเสนาบดีที่กำกับดูแลกรมนั้นๆ ให้ทราบ ถ้าเป็นราชการทั่วไป เสนาบดีก็ให้เสมียนคัดเอาแต่ใจความใบบอกนั้นลงสมุดไทยสำหรับเสนาบดีนำติดตัวไปเข้าเฝ้าฯ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนาง ถ้าเป็นใบบอกราชการสำคัญ เช่น ราชการทัพ ข่าวกบฏ นอกจากจะคัดใจความใบบอกลงสมุดเสนาบดีแล้ว บางทีเสนาบดีอาจจะต้องนำใบบอกนั้นติดตัวไปในเวลาเข้าเฝ้าฯ ด้วย เผื่อว่าจะมีรับสั่งเรียกทอดพระเนตร
อนึ่งใบบอกหัวเมืองที่อยู่ไกลจากพระนครมากๆ อย่างทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ต้องอาศัยเรือที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงช่วยนำใบบอกมาส่งให้ บางทีการเดินทางข่าวสารอาจจะล่าช้าไป ไม่ทันการ และเจ้าเมืองอาจจะไม่ได้ส่งข่าวมาต่อเนื่อง กรมท่าจึงต้องสอบถามข่าวคราวหัวเมืองปักษ์ใต้จากเรือสินค้าที่มาจากปักษ์ใต้เพื่อนำความกราบบังคมทูลได้เมื่อมีรับสั่งถาม อย่างกรณีจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นการติดต่อสื่อสารและการหาข่าวสมัยก่อน ก็คิดดูว่า ราชการต่างๆ เดินทางกลางวัน พอตกค่ำ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องเสด็จออกว่าราชการไปจนดึกดื่นค่อนคืน ถ้ามีราชการทัพหรือสงครามบางทีก็ล่วงถึงเช้ามืดวันใหม่ทีเดียว พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงราชการเวลาดึก ผิดกับขุนนางที่ทำราชการที่ราชการกลางวัน