เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 14902 ราชทินนามกับงานที่ทำ
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 13 ธ.ค. 09, 07:44

สนใจ ราชทินนาม มานานแล้ว เพราะอ่านแล้วก็เข้าใจสังกัดและงานได้ทันที
ส่วนมากคุ้นเคยกับราชทินนามของทหารหรือข้าราชการปกครองเพราะหนังสือประวัติศาสตร์เอ่ยถึง



มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ พิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ   ปีพิมพ์ที่ปกหน้าแจ้งว่า ศักราช ๒๔๗๔

หมายความว่า ข้อมูลในเล่มเป็นของปี ๒๔๗๔
หนังสือเล่มนี้ออกมาในต้นปี ๒๔๗๕  ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนแปลงการปกครอง   ไม่มีผู้ใดกล้าเก็บหนังสือไว้เพราะข้อมูลเปลี่ยนไปมาก
หนังสือก็โดนทำลายไปแทบทั้งหมด
ยกเว้นผู้กล้าหาญท่านหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าของโรงพิมพ์เล็ก ๆ  ได้เปลี่ยนปกเป็นปกแข็งสีน้ำตาลเข้ม เดินทอง
แล้วเก็บไว้  (ตามที่เล่าต่อกันมา) ในตู้ไม้เนื้อหนา  อัดกันอยู่เป็นเวลานาน  กระดาษกรอบไปตามกาล
หนังสือหนา  ๑๖๙๔  หน้า
ให้ข้อมูลข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๗  และ ข้าราชการบำนาญบางท่านที่มีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔


วันนี้จับหนังสือมาอ่านอีก
เห็นข้อมูลของกระทรวงเกษตราธิการ และกรมต่าง ๆ    อ่านแล้วพออกพอใจและนับถืออาลักษณ์ที่คิด ราชทินนาม ที่เหมาะเจาะไพเราะมีความหมายที่เข้าใจตำแหน่งงานที่ทำ
จึงนำมาฝากดังต่อไปนี้



ขอเริ่มที่กรมชลประทานก่อนนะคะ

แผนกบัญชาการ

อธิบดี                                                      ม.อ.ต. พระยาชลมารคพิจารยณ์
ผู้ช่วยอธิบดี                                                อ.อ. พระยาชลขันธ์พินิต
เลขานุการ                                                 อ.ต. หลวง สิริธารารักษ์
นายเวรผู้ช่วยอธิบดี                                       ร.อ.อ. หลวงประสารสินธุ์

น้ำทั้งนั้นนะคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ธ.ค. 09, 08:07

กรมสารบรรณ

ปลัดกรม                                                       อ.ต. พระนิติเกษตรสุนทร
ล่าม                                                            อ.ต. หลวงสรกิจเกษตรการ
นายเวรเก็บ                                                    ร.อ.ท. ขุนโกวิทเกษตรสาส์น
นายเวรรับส่ง                                                  ร.อ.ท. ขุนสารบรรณเกษตรกิจ



กรมบัญชี

เจ้ากรม                                                        อ.อ. พระยาเกษตรรักษา
ปลัดกรม                                                       ร.อ.อ. หลวงวิสิฐเกษตร
นายเวรกองค่าใช้สรอย                                       ร.อ.อ. หลวงพิศาลโลหพรรค
นายเวรกองเงินเดือน                                         ร.อ.อ. ขุนบรรณสารสุทธิเขต
นายเวรกองรักษาเงิน                                         ร.อ.ท. ขุนสมานเกษตรภัณฑ์




กรมโลหกิจและภูมิวิทยา

เจ้ากรม                                                         อ.อ.  พระยาพิทักษ์โลหพิตร
พนักงานราชโลหกิจ                                           อ.ท.  พระพิสิษฐโลหการ
                                                                 ร.อ.อ. หลวงสังวรโลหสิทธิ์
ผู้ช่วยพนักงานราชโลหกิจ                                    ร.อ.ท. ขุนเพียรโลหพิทย์
                                                                 ร.อ.ท. ขุนวิจารณ์โลหศาสตร์
                                                                 ร.อ.ท. ขุนถาวรบุตต์โลหกิจ
นายเวร                                                        ร.อ.ท. ขุนสุจินต์โลหสาร                                                                 


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ธ.ค. 09, 21:57

กองรักษาสัตว์น้ำ

อ.ท. หลวงจุลชีพพิชชาธร
ร.อ.อ.   หลวงมัศยจิตรการ
ร.อ.อ.  หลวงอนันต์มัตสยพิทักษ์



กรมรังวัดที่ดิน

อ.อ. พระยาวิภาคภูวดล
ร.อ.อ. หลวงมิลินทานุชนิติเกษตร



กองรังวัดแผนที่
อ.ต. หลวงประกาศพิภัชนภาค
ร.อ.ท. ขุนพิสูจย์ภูมิลักษณ์



กองสำรวจแผนที่
อ.ต. หลวงสถิตภูมิวิจารณ์
ร.อ.ท. ขุนพรหม้ขตคำนวณ


แผนกบัญชี, พัสดุและพาหนะ
อ.อ. พระยาชลปทานธนารักษ์
ร.อ.อ. หลวงประมูลกระแสสินธุ์
ร.อ.อ. หลวงชำนาญชลวิทยา
ร.อ.อ. หลวงเชาวนกระแสสินธุ์
ร.อ.อ. หลวงสมมุติพิรุฬชาญ
ร.อ.ท. ขุนพินิจบรรณสินธุ์
ร.อ.อ. หลวงพิพัฒน์ชลเกษม
ร.อ.ท. ขุนวารีพาหกิจ



ยกมาพอเป็นตัวอย่างว่า ราชทินนามไพเราะ เหมาะกับงานในหน้าที่  มีความหมายที่ดี 

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 07:00

ผมก็เพิ่งพบราชทินนามที่น่าจะระบุหน้าที่การงานมา ๒ ชื่อ

พระยาประดิษฐอมรพิมาน  ท่านผู้นี้เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นพระประดิษฐ์นวกรณ์  เป็นนายช่างผู้จัดสร้างหมู่พระที่นั่งพระราชวังพญาไท  เสร็จแล้วจึงได้เลื่อนเป็นพระยา  มีตำแหน่งราชการในกรมศิลปากร

อีกท่านหนึ่งชื่อว่า ขุนบำรุงนาวา ตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นอะไรไม่ปรากฏ  ทราบแต่ว่าต่อมาได้เลื่อนเป็นหลวงและพระในนามเดิม  แต่ได้ชื่อว่าเป็นนักแบดมินตันและเป็นแชมป์เทนนิสในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทั้งสองท่านนี้ไม่ทราบชื่อนามสกุลเดิม  ขอรบกวนคุณ Wandee ตรวจสอบและบอกกล่าวด้วยครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 09:02

หน้า ๑๐๓๔

ประดิษฐอมรพิมาน   พระยา  (ม.ร.ว. ชิต  อิศรศักดิ์)  เสวกเอก เบี้ยบำนาญกระทรวงวัง
บ้านถนนสาทร   พระนคร




หน้า ๑๐๐๕

บำรุงนาวา   พระ  (ชุบ  สุนทรสารทูล) อำมาตย์ตรี  สมุหบัญชี   กรมเจ้าท่า





ถ้าคุณ เงินปุ่นศรี  ว่าง  กรุณาแถมข้อมูลให้ด้วยค่ะ
ดิฉันอาจจะหา ราชสกุล อิศรศักดิ์ ได้บ้าง




คุณ V_mee  กรุณาอย่าเอ่ยว่า รบกวน เลยค่ะ   ถือว่าเป็นการแลกข้อมูลจะดีกว่า
นั่งกอด ข้อมูล อยู่กับบ้านไม่ทำให้ความคิดแล่นแต่อย่างใด

ด้วยความเคารพทุกท่าน  การโต้แย้งทางข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ถือเป็นการประลองฝีมือให้แต่ละคนแม่นยำและคล่องแคล่ว
บางคนมีการจัดการข้อมูลที่ดีเลิศ  ก็หาคำตอบได้เร็ว   

ดิฉันมีหนังสืออยู่กับเขาหนึ่งเล่ม  ก็พออาศัยวิ่งตามสหายแถวนี้ได้....ห่างหน่อยก็ไม่เป็นไร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 09:27

เอาข้อมูลมาเสนอคุณวันดี

รัชกาลที่ ๖ ทรงบัญญัติราชทินนามนักดนตรีไทยให้เป็นทำเนียบชื่อ

ชุดใหญ่มี ๕๕ ชื่อ

ประสานดุริยศัพท์ - ประดับดุริยกิจ - ประดิษฐ์ไพเราะ - เสนาะดุริยางค์ - สำอางดนตรี -
ศรีวาทิต - สิทธิ์วาทิน - พิณบรรเลงราช - พาทย์บรรเลงรมย์ - ประสมสังคีต - ประณีตวรศัพท์ -
คนธรรพวาที - ดนตรีบรรเลง - เพลงไพเราะ - เพราะสำเนียง - เสียงเสนาะกรรณ - สรรเพลงสรวง -
พวงสำเนียงร้อย - สร้อยสำเนียงสนธิ์ - วิมลวังเวง - บรรเลงเลิศเลอ - บำเรอจิตรจรุง -
บำรุงจิตรเจริญ - เพลินเพลงประเสริฐ - เพลิดเพลงประชัน - สนั่นบรรเลงกิจ - สนิทบรรเลงการ -
สมานเสียงประจักษ์ - สมัคเสียงประจิต - วาทิตสรศิลป์ - วาทินสรเสียง - สำเนียงชั้นเชิง -
สำเริงชวนชม - ภิรมย์เร้าใจ - พิไรรมยา - วีณาประจินต์ - วีณินประณีต - สังคีตศัพท์เสนาะ -
สังเคราะห์ศัพท์สอาง - ดุริยางค์เจนจังหวะ - ดุริยะเจนใจ - ประไพเพลงประสม - ประคมเพลงประสาน -
ชาญเชิงระนาด - ฉลาดฆ้องวง - บรรจงทุ้มเลิศ - บรรเจิดปี่เสนาะ - ไพเราะเสียงซอ - คลอขลุ่ยคล่อง -
ว่องจรเข้รับ - ขับคำหวาน - ตัตตริการเจนจิต - ตันตริกิจปรีชา - นารถประสาทศัพท์ - คนธรรพประสิทธิสาร

ชุดเล็กมี ๔ ชื่อ

เจนดุริยางค์ - จัดดุริยางค์ - ถนัดดุริยางค์ - ถนอมดุริยางค์


ตัวจริง เสียงจริง ของแต่ละท่านคือใคร  

รศ. ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์ เฉลยไว้ในบทความ ราชทินนามของนักดนตรีไทย

 http://www.smusichome.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=424306&Ntype=4

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 10:41

ขอบคุณค่ะ คุณเพ็ญชมพู   น้อมรับไว้ด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง


ขอ ตอบแทน ด้วยกลอนอันยิ่งใหญ่ที่ ใครคนหนึ่งในดวงใจของคุณ เพ็ญชมพูเขียนไว้ในราว ๒๔๙๔  เขียนไปถามปัญหา คึกฤทธิ์  ปราโมช

(ที่จริงตั้งใจว่าจะหาทางส่งให้อยู่แล้วค่ะ)   ถ้าคุณเพ็ญฯ มีแล้ว     จะไปหางานของ เขา ผู้นี้ส่งมาอีกให้ได้




         "ถึงคึกฤทธิมิตรหม่อมผู้จอมปราชญ์
ขอโอกาสไต่ถามความสงสัย
คือเรื่องนามสยามรัฐผมอัดใจ
หนังสือไทยพาหลงงจนงงงม
ได้ยินท่านอ่านว่า  "สยา - มะ - รัฐ"
คล้ายจะคัดเป็นบาลีมี่ขรม
"สยามะ" แปลว่าทองต้องนิยม
แปลคารมชื่อเรื่องว่าเมืองทอง
แต่ผมรักศักดิ์ไทยมิใช่แขก
ได้ยินแหกกระเชอ "มะ" ใคร่จะถอง
ชื่อไทยไทยไพล่ไปเปลี่ยนให้เพี้ยนคลอง
เหมือนจองหองชืื่อไทยไม่ไพเราะ
ผมเองอ่านขนานนาม "สยาม - รัฐ"
แปลความชัด "เมืองไทย" ได้เสนาะ
จะเถียงเขาเล่าก็คร้านรำคาญทะเลาะ
จึงเขียนเคาะถามสหายให้คลายใจ

         เมื่อเดิมดั้งตั้งชื่อหนังสือพิมพ์
หม่อมหงุมหงิมคิดแปลกันแค่ไหน
มีจำนงจงจำแนกแขกหรือไทย
มี "มะ" ไหม  ไทยหรือทองที่ปองแปล
อย่าตีขลุมคลุมทั้งสองคลองระบิล
โปรดตัดสินถ้อยแถลงให้แดงแจ๋
ถ้าปรองดอง "สองนัยใช้ได้แล"
เป็นโกรธแน่ไม่รู้หายให้ตายซี
ที่ดักคอก็เพราะเห็นเคยเล่นลิ้น
ดูผันผินกลอกกลับจริงพับผี่
อย่าตอบยวนเลยข้อนี้ขอที
ตอบดีดีให้คนอื่นพลอยชื่นใจ


         ข้อที่สองรองลงมาเมตตาบอก
ชื่อเมืองนอกเมืองนารถราไหน
ที่พากเพียรเรียนวิชาภาษาไทย
มีหรือไม่น้อยหรือมากอยากรู้จัง
จงทุกพาราฝรั่งและอังกฤษ
มหาวิทยาลัยที่ไหนมั่ง
จงตีแผ่แม้สักนิดอย่าปิดบัง
อย่าดันทุรังตอบชุ่ยคุยนะเออ

         เป็นสิ้นความถามหม่อมน้องเพียงสองข้อ
ตอบอย่ารอลืมไว้จะไผลเผลอ
ขอขอบคุณล่วงหน้ามาบำเรอ
หวังเสมอว่ายินดีช่วยชี้แจง
จะรออ่านสารตอบทุกรอบวัน
กว่าจะผันมาพบคำรบแถลง
(ตอบสักหน้าอย่าได้หวาดกระดาษแพง
ขอแสดงความนับถือ(นี่สื่อกานต์)"

                  จิตร  ภูมิศักดิ์

ค่ายจักรพงษ์ดงพระราม
ปราจีนฯ คามนามนิยมกรมทหาร
ศกสองสี่เก้าสี่ปีพุทธกาล
พุทธวารยี่สิบห้าเมษายน

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 10:59

ขออภัยที่ออกอ่าวไทยไปหน่อยเพราะต้องทักทายเพื่อนฝูงที่แวะมาสนับสนุนกระทู้ค่ะ



คำตอบ


         "พูดถึงนาม "สยามรัฐ" อัดใจแท้
เป็นสองแง่สุดจะอ้างถูกข้างไหน
"รัฐ นั้นคำแขกแปลกกว่าไทย
นำมาใช้ควบ "สยาม" นามกร
แขกอยู่ข้างหลังไทยอยู่ข้างหน้าท่าไม่งาม
ปราชญ์ท่านห้ามผิดตำรามาแต่ก่อน
จะเรียกให้ถูกแท้เป็นแน่นอน
ควรผันผ่อนเติมอะ "สยามะรัฐ"

         ส่วนข้อสองขอสนองความสงสัย
ภาษาไทยที่เขาเรียนเพียรฝึกหัด
จนฝรั่งพูดไทยได้ชัดชัด
มีอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ณ สำนักศึกษาทันสมัย
ชื่อ "ฮาวาร์ด" มหาวิทยาลัย
หลักสูตรไทยมีอยู่พึงรู้เอย"


         น่ารักจัง  ถามว่าหม่อมหงุมหงิม   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 11:59

อ่านจดหมายจากจักร ภูมิสิทธิ์
ถามคึกฤทธิ์จอมปราชญ์องอาจหลาย
ขอบพระคุณ คุณวันดี มิมีคลาย
จากสหายถึงสหายด้วยใจจริง

ขออนุญาตนำเรือจากอ่าวเข้าสู่ท่า ด้วยกระทู้เก่ามีปราชญ์ให้ความรู้อยู่หลายท่าน

ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1503.0
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 07:37

ขอบพระคุณ คุณ Wandee เป็นอย่างสูงครับ

คำตอบที่กรุณาค้นมาให้นั้น  นอกจากตอบข้อสงสัยเรื่องนามเดิมของทั้งสองท่านแล้ว  ยังช่วยขยายความเรื่องบรรดาศักดิ์ของหลวงสถิตย์นิมานการ (คนแรก) ลงได้  เพราะเคยพบแต่ว่า หลวงสถิตย์ฯ นามเดิมว่า ม.ร.ว.ชิต แล้วก็ไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับท่านผู้นี้อีก  คำเฉลยข้างต้นจึงยืนยันว่า ท่านผู้นี้ต่อมาได้เป็นพระดิษฐนวกรณ  แล้วเป็นพระยาประดิษฐ์อมรพิมาน ตามลำดับ

อีกท่านคือ พระบำรุงนาวา นั้น  อ่านชื่อแล้วก็นึกสงสัยอยู่ว่า น่าจะเป็นข้าราชการกรมเจ้าท่า  เพราะราชทินนามที่ลงท้ายว่า "นาวา" จะไม่มีใช้ในกระทรวงทหารเรือ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ธ.ค. 09, 09:31 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 08:25

เข้ามาอ่านหลายครั้งแต่ยังไม่เคยนำเสนอ วันนี้ขอสำแดงข้อมูลบ้าง

ราชทินนามข้าราชการชั้นประทวนในกรมแผนที่ กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ รัชกาลที่ ๕

บรรดาศักดิ์ขุน-ทวีปวิจารณ์-ชำนาญรัถยา-นานาภูวดร-อำภรพินิจ-ประดิษฐรัฐเขตร์-วิเศษรัฐการ-วิจารณ์รัฐขันธ์-ขยันแยกประเทศ-นิเวศวิภัชน์-นิวัทธมรรคา-เลขานุวัตร์-ทัศนวิภาค-มารคประเมิน-ดำเนินประเทศ-เขตรประมาณ-ชาญวิถี-การีนภดล-สถลภูมสถิตย์-พินิจภูมสถาน-ตระการภูวกรรม์-ขันธ์ภูมพิภัชน์-รังวัดวิถี-ปถวีประจักษ์-สำนักเลขกิจ-วิจิตรเลขการ-ประสานสีสอาด-วาดวิถีงาม  ข้าราชการทั้งหมดนี้ได้ศักดินาคนละ ๓๐๐

บรรดาศักดิ์หมื่น-จงรังวัด-จัดแพนก-แยกสถล-ภูวดลพินิจ-สิทธิมรรคา-พนานุมัติ์-พิภัชน์สถาน-หาญพนม-อุดมภูวกิจ-สถิตย์วิจารณ์-อนุมานวิถี-ธารีรัถยา-เวหาพินิจ-นภางค์ชำนิ-วุฒฺรัฐการ-ปริมาณนิวาศ-อาจมรรคา-เทศานุกิจ-พิศพิจารณ์-การประจง-จำนงภูมพิภัชน์-วิวัตรภูมเวทย์-เดชพนาวาศ-ราษฎร์รังสิต-นิมมิตรสถล-ไพรสณฑ์สำรวจ-ตรวจมรรคา-อุปรมานักขัตร์-วัดอัมพร-เขจรวิจารณ์-นิมมาณประเทศ-เขตรคำนวน  ข้าราชการทั้งหมดนี้ได้ศักดินาคนละ ๒๐๐

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 08:43

อ่านราชทินนามข้าราชการในกรมแผนที่ แล้วสะดุดอยู่ชื่อหนึ่ง ขุนขยันแยกประเทศ

ชื่อนี้มีอยู่ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขุนขยันแยกประเทศ (ฃาว) ผู้ช่วยแม่กองวางหมุดสามเหลี่ยม  กรมแผนที่  ปู่ชื่อพรม  บิดาชื่อขุนภักดี (หลำ) ต้นสกุล พรหมลัมภัก


ราชทินนามนี้ ถ้ามีในปัจจุบันคงหาคนรับยาก

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 09:23

ราชทินนามขุนขยันแยกประเทศ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ ชื่อนายเชย ครับ  ราชทินนามนี้ค่อนข้างน่ากลัว  แต่หน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่กองวางหมุดสามเหลี่ยม  ก็สื่อความหมายได้ชัดดี 

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 09:24

อิอิอ่ะอ่ะ   ขำ   ร่วมวงคุยกันก็สนุก     ชี้ชวนกันดูข้อมูลที่น่าสนใจ


ดูกองทัพเรือสมัย หลวงศุภชลาศัย เป็น นายทหารฝ่ายเสนาธิการนะคะ



ในที่นี้จะแสดงแต่ ราชทินนามที่แสดงหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเห็นได้ชัด

แม่ทัพเรือ                               พล.ร.ต. พระยาปรีชสชลยุทธ

หมวดเรือยามฝั่ง                       ร.อ. หลวงสวัสดิ์วรฤทธิ์,  ร.อ. หลวงนาวาวิจิต

กองเรือพระที่นั่งรักษาพระองค์        น.ท. พระฤทธิศักดิ์ชลเขตต์,  น.ต. หลวงวิทยุกลจักร,  ร.อ. หลวงประกิตกลจักร

กองเรือปืน                             น.ท. พระมงคลนาวาวุธ


ร.ล. สุโขทัย                            น.ต. หลวงศรจักรรณชิต

กองเรือใช้ตอรปิโด                     น.ท. พระพิชัยชลสินธุ์

ร.ล. เสือคำรณสินธุ์                    น.ต. หลวงยุทธกิจพิลาส

ร.ล. ตอรปิโด ๓                        น.ต. หลวงสำแดงพิชชาโชติ

ร.ล. ตอรปิโด ๔                        ร.อ. หลวงมงคลยุทธนาวี



            คุณหลวง สำแดงพิชชาโชติ    นามนี้สง่านัก เป็นมงคลยิ่ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 09:28

นามเดิมของคุณหลวง คือ แดง
ท่านใช้ราชทินนาม  พิชชาโชติ เป็นนามสกุลค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง