เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46504 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 14:25

      ความแม่นยำของคุณเพ็ญชมพู และความรู้อันหนักแน่นของคุณหลวง  น่าติดตาม
ที่คุยกันเรื่องชื่อก็น่าฟัง  เพราะเป็นธรรมเนียมการตั้งชื่อของไทยอยู่แล้วที่จะไม่เลียนชื่อเทพเจ้า



ที่คุณเทาชมพูถาม  พอจะจำได้สองเรื่องค่ะ

เรื่องหนึ่ง  นายโหมดเล่าไว้ใน ๓๓๑ ปีสกุลอมาตย์ ๒๕๒๙ ปกสีชมพู มีรายละเอียดเรื่องราวตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓
ดิฉันอ่านทีไรก็เก็บประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้


ท่านเล่าว่า  ท้าววรจัน(อิ่ม) ธิดาเจ้าพระยารัตราธิเบศร์เป็นโทษในแผ่นดินพระนั่งเกล้า
"ด้วยหม่อมไกรศรแกล้งชำระว่าเป็นปาราชิกกับพระศรีสุธรรมมุนี(จุ้ย)วัดพระเชตุพน

ชำระได้ความจริงว่า  ศรีสุธรรมมุนีสึกออกมาอยู่ที่แพหน้าวัดพระเชตุพน  เมื่อจะตัดผมมหาดไทย  คุณวรจันเอาน้ำไปรดจึงได้เป็นโทษ

ครั้นพระนั่งเกล้าฯ สวรรคตแล้ว  วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน  พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้ามาพอประทับขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ   
ขุนนางพากันไปรับเสด็จ   ท่านก็รับสั่งให้ไปถอดคุณตาเจ้า(พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ทองจีน ไกรฤกษ์ รู้สึกว่าข้อหานำข้าวลงเรือ  คือตอนนั้นห้ามส่งข้าวออกค่ะ)     
กับท้าววรจันมารับราชการไปตามเดิมอยู่ที่พลับพลาคลังศุภรัต"


 อีกเรื่องหนึ่งคือเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ สองคน  ออกไปเผาศพบิดา  แล้วแจกเงิน และถุงมะนาวทิ้งทานแก่คุณหลวงหรือคุณพระคนหนึ่ง
เจ้าจอมทั้งสองโดนลดขั้น     คุณหลวงรู้สึกจะเคราะห์ร้ายมาก   ขอเล่าย่อๆไว้แค่นี้ก่อนค่ะ
คุณเทาชมพูออกปากถามแล้ว  ต้องไปค้นค่ะ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 15:10

ขอชวนคุยเรื่องสังฆราชบาดหลวงหน่อยนะคะ  เพราะมีบทบาทใน พระอภัยมณีเล่มสาม และ เล่มสี่อีกมาก

เมื่อท่านเห็นนางละเวง พร้อมด้วย ยุพาผกา สุลาลีวัน รำภาสะหรี ปรากกฏตัวบนเชิงเทินพร้อมกับสามี  สังฆราชโกรธมาก

เอ่ยออกมาว่า

พลอยขายหน้าฝรั่งทั้งประเทศ                   เสียประเภทพวกหญิงชาวสิงหล



ด่านางละเวงว่า "คบขี้ข้ามาเข้าเลี้ยงไว้เคียงตัว"

แหม!   คิดแบบคนตะวันนออกเปี๊ยบเลยนะคะ   เพราะ ยุพาผกา กับ สุลาลีวันเป็นเด็กกำพร้า   หลวงพ่อสิกคารนำมาเลี้ยง
รำภาสะหรีนั้น เป็นธิดานายด่านที่ตายในหน้าที่   ควรจะถือว่าสกุลขุนนางนายทหารมากกว่า



ปากคอของพระสังฆราชบาดหลวง  คงทำให้นักอ่านในสมัยก่อนติดใจกันมากทีเดียว

จนด่านแตกแยกย้ายล้มตายยับ             เพราะมึงกลับกลายแกล้งไปแปลงความ
จนฝรั่งลังกาเป็นข้าเขา                       เพราะมึงเข้าเพศภาษาสยาม
เป็นเมียน้อยช้อยชดช่างงดงาม             เมียหลวงตามเข้ามาหึงถึงประตู



สามนางนั้นไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ  ได้ย้อนพระสังฆราชว่า

เป็นเหตุเพราะผู้เป็นเจ้าเฒ่าชรา
ออกไปด้วยช่วยแก้ก็แพ้พ่าย
เช่นนั้นอายหรือไม่เล่าพระเจ้าข้า


สังฆราชว่า

อีแม่สื่อถือดีไม่มีอาย                      เที่ยวชักชายชักผัวให้ตัวเอง
ไม่ถึงปีมีท้องกระปองเหยาะ              ยังมีหน้ามาทะเลาะล้วนเหมาะเหมง


ทั้งสามนางต่างล้อว่าขอถาม              อยากแจ้งความอนุกูลเถิดทูลหัว
ว่ามีท้องมองเห็นมันเป็นตัว               หรือตามัวดูให้แน่อย่าแลเกิน  ฯ


สลับคำกลอนเล็กน้อยนะคะ

..............................               มึงจะลงขุมนรกหกคะเมน
เพราะสับปลับลวงกูผู้มีศีล                 ทั้งมือตีนจะต้องถ่างบนกางเขน
น้อยหรือรุมทุ่มเถียงขึ้นเสียงเกน          อีเมียเถนเทวทัต...............
(เกน  แปลว่า ตะโกนหรือร้องดัง ๆ)

ยิ่งอ่านก็ชื่นชมความรอบรู้ของ สุนทรภู่

ขออภัยที่กางใบออกอ่าวไทยไปเล็กน้อยค่ะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 16:21

เรื่องหนึ่ง  นายโหมดเล่าไว้ใน ๓๓๑ ปีสกุลอมาตย์ ๒๕๒๙ ปกสีชมพู มีรายละเอียดเรื่องราวตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓
ดิฉันอ่านทีไรก็เก็บประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

เล่มนี้ เคยอ่านครับ  นายโหมดจดเหตุการณ์บางเหตุการณ์ไว้ดีมาก  เห็นทีต้องกลับไปอ่านอีก

บทบาทของสังฆราชบาดหลวงในเรื่องพระอภัยมณี  ดูจะเดินทางเดียวกับเถรขวาดและเณรจิ๋ว ซึ่งภายหลังเป็นเถรจิ๋ว 
แต่เรื่องด่าคนนี่  สังฆราชบาดหลวงกินขาด  อ่านๆ ไป นึกว่าอ่านขุนช้างขุนแผน หรือบทละครนอก

เมื่อคุณวันดีเกริ่นเริ่มเรื่องสังฆราชมาเช่นนี้   เพื่อไม่ให้ปะปนกับเรื่องพราหมณ์ 
เรียนคุณเทาชมพู  กรุณาตั้งกระทู้ว่าด้วยเรื่องฝรั่งในพระอภัยมณีเสียแต่บัดนี้ดีกว่าครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 16:24

สังฆราชปีโป เป็นตัวนำคนหนึ่งของชาติพันธุ์วรรณา ฝรั่ง    ถ้าเราจะกล่าวต่อไปถึงชาติฝรั่งลังกาในเรื่องนี้      เป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล เอาการ  
สุนทรภู่ให้เป็นนักบวชฝ่ายร้ายของเรื่อง   ตรงข้ามกับทิศาฯโลกเชษฐ์ ก็เป็นฝ่ายดี

รอคุณวันดีค่ะ

พอจะโพสต์ เห็นค.ห.คุณหลวง
อ้างถึง
เรียนคุณเทาชมพู  กรุณาตั้งกระทู้ว่าด้วยเรื่องฝรั่งในพระอภัยมณีเสียแต่บัดนี้ดีกว่าครับ

ตั้งเป็นชาติพันธุ์วรรณา 2 นะคะ 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 17:02

ขอบคุณค่ะ คุณหลวงเล็ก

ขอบคุณค่ะคุณเทาชมพู  สมควรแล้วค่ะ

คุณเพ็ญชมพูคะ   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 22:40

ขอประทานโทษคุณโฮ ค่ะ         โพสผิดกระทู้ค่ะ   ตั้งใจจะไปที่ ชาติพันธุ์วรรณา ในพระอภัยมณี ๒    


ฝรั่งคนแรกที่เจอใน  พระอภัยมณี ยกเว้นพวกเรือแตก  คือ  สุหรั่ง (สงสัยแปรมาจาก สรั่ง ภาษาเปอร์เชีย ว่า หัวหน้ากลาสี)  โจรสลัดชาติอังกฤษ
ในสมัยที่ สุนทรภู่ แต่งพระอภัยมณีอยู่นั้น  ฝรั่งหลายชาติก็ผจญภัยมาหาโชคลาภข้ามโลก
ยกให้โจรสลัดเป็นสัญชาติอังกฤษก็นับว่าเหมาะสมอยู่


เรื่องความใหญ่โตของเรือนั้น รุ้สึกว่าแทบจะไม่มีใครไม่พูดถึง
จึงขอเลยไปถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในเรือ  มีช้างด้วยค่ะ   นำไปขายที่ไหนหนอ


สุหรั่งหวังรับ นางสุวรรณมาลี เป็นมาดาม  จึงมอมเหล้าสินสมุทรด้วยบรั่นดีหรือเหล้าเข้ม  แล้วย่องเข้าไปในห้องที่ให้นางสุวรรณมาลีอยู่

สำนวนการสนทนานั้นค่อนข้างแปลก  ฟังราวกับท่านขุนสั่งภริยาน้อยคนล่าสุด ว่า  "ช่วยถอนขนรักแร้พี่ทีเถิดนาง"

นางสุวรรณมาลีได้ผ่อนผัดว่า ถึงฝั่งก่อนซิคะ จะยอมเป็นเมีย      โจรเลยยอมถอยไป  เลยสั่งใครมาถอนขนรักแร้ให้ก็ไม่แน่ หนังสือไม่ได้บอก

สินสมุทรตื่นขึ้นมาจากเมาเหล้า ทราบเรื่องก็โมโห  ออกไปสู้รบ
โดยผลักสุหรั่งให้ล้ม  เหยียบอก   คงไม่ค่อยๆขึ้นไปยืน น่าจะกระโดนโครม

.....................................                                 ทะยานยุดเหยียบอกผงกหงาย
กระชากฉีกซีกโครงครากทะลาย                                    เอาศพนายตีไพร่ไล่กระพือ

         แสดงว่าสัญชาติญาณในการต่อสู้  รับมาจากแม่ผี้เสื้อสมุทรเต็ม ๆ

การเอาศพตีไพร่นั้น  มาจากพงศาวดารจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งแน่นอน มีตั้งสามสิบกว่าเรื่อง  กิ่งพงศาวดารที่คนไทยแต่งกันเองก็มีประมาณ ๒๐ เรื่อง

แล้วสินสมุทรก็ยึดเรือไว้ใช้



((   นอกประเด็น  แต่ขอเล่าไว้เป็นหลักฐาน   ))มีเรื่องอยู่นิดหนึ่งที่ สุหรั่งมากระตุ้นความคิด  ก็เรื่องกลิ่นตัว

สินสมุทรกลิ่นตัวแรงมากค่ะ

เพราะขนาดโอรสของสินสมุทร วายุพัฒน์ เกิดกับนางยุพาผกา  ตัวสีเขียว  มีเขี้ยว  ยังมีกลิ่นย่าติดตัว

   พอเวลาวายุพัฒน์ไปเที่ยวเล่น                                 กลับมาเห็นยักษ์กลัวยืนตัวแข็ง
มันเข้าใกล้ได้กลิ่นก็สิ้นแรง                                       ล้มตะแคงคุกคลานซมซานไป
ด้วยหน่อนาถชาติเชื้อผีเสื้อร้าย                                  ยักษ์ผีพรายเข็ดขามตามวิสัย


(เล่ม ๓  ตอนที่ ๖๗  หน้า ๕๒)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 08:50

แสนสงสารนางวาลีนี้ยิ่งนัก             ไร้คนรักจงจินต์ถวิลหา
เป็นเชื้อพราหมณ์ตามแต่โบราณมา     ขอเพื่อนยาช่วยบรรยายขยายความ

อยู่ภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง                       อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว
ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว                         รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล
ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น                      หน้านั้นรอยฝีมีแต่แผล
เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ             ได้พึ่งตายายอยู่ปลายนา
เป็นเชื้อพราหมณ์ความรู้ของผู้เฒ่า             แต่ก่อนเก่าเดิมบุราณนานหนักหนา
เป็นมรดกตกต่อต่อกันมา                      นางอุตส่าห์เรียนเล่าจนเข้าใจ
รู้ฤกษ์ผาฟ้าดินสำแดงเหตุ                     ทั้งไตรเพทพิธีคัมภีร์ไสย
ครั้นเจนแจ้งแกล้งเอาเข้าเผาไฟ               มิให้ใครพบปะพระคัมภีร์


ส่งให้คุณวันดีรับไม้ต่อไป

 ยิงฟันยิ้ม

ป.ล.

เรื่องความใหญ่โตของเรือนั้น รุ้สึกว่าแทบจะไม่มีใครไม่พูดถึง
จึงขอเลยไปถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในเรือ  มีช้างด้วยค่ะ   นำไปขายที่ไหนหนอ

สมัยพระยานคร (น้อย) เอาช้างไปขายที่อินเดียอยู่บ่อย ๆ ไมเคิล ไรท ยังสงสัยอยู่เลยว่าสุนทรภู่เคยขึ้นเรือที่บรรทุกช้างไปขายที่อินเดียหรือเปล่า

ยังสงสัยตามมาว่าเรือของโจรสุหรั่งได้ความคิดมาจากเรือบรรทุกช้างของพระยานครนี้หรือเปล่า

 ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 08:54

คุณวันดีกำลังเล่าเรื่องโจรสุหรั่งกับสินสมุทผิดใจกันเรื่องนางสุวรรณมาลีออกรส

ขออนุญาตคั่นรายการด้วยเรื่องพราหมณ์อินเดียสักเล็กน้อย  ด้วยเพิ่งไปค้นเอกสารที่ต้องการเจอ  เห็นว่าน่าสนใจจึงมานำเสนอ

เอกสารที่ว่านี้  คือ  นิราศเมืองเทศ   ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง  ทราบแต่เพียงว่าผู้แต่งน่าเป็นกรมการชาวปักษ์ใต้ที่เดินทางทางเรือไปค้าขายช้างที่เมืองบาบุดบำดัด  อินเดีย  เนื่องจากปรากฏการใช้คำภาษาไทยปักษ์ใต้ในนิราศดังกล่าวลางแห่ง  นิราศนี้แต่งในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๖๒  ดังปรากฏคำกลอนตอนต้นนิราศว่า  

                                            วันเสาร์กาฬปักษ์ดิถี
คิมหันตฤดูเดือนสี่                     ปีเถาะเอกศกนั้นไม่คลาย
เวลาเช้าสี่โมงนาที                    ฤกษ์ดีได้ล่องนาเวศผาย
ออกจากเกาะตาลิบงบรรจงราย     ด้วยหาดทรายขาวสะอาดประหลาดดี

นิราศเรื่องนี้เคยพิมพ์มาแล้ว  ๓ ครั้ง  ครั้งแรก เมื่อ ๒๔๖๒ พิมพ์แจกในงานศพนางอินทรสมบัติ (สิน   บุนนาค)    ครั้งที่ ๒  เมื่อ ๒๔๖๒ เช่นกัน  จางวางโท  พระยาอนิรุทธเทวา  (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)  อธิบดีกรมมหาดเล็ก  พิมพ์แจกในงานพระกฐินพระราชทาน ณ วัดศาลาปูน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   และครั้งที่ ๓  เมื่อ ๒๕๑๖  พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพนายสีนวล   นพคุณ  ณ วัดธาตุทอง พระโขนง   ๒๐  มีนาคม  ๒๕๑๖   จำนวน  ๕๐๐ เล่ม  จากนั้นมาก็ไม่ได้มีการนำมาพิมพ์อีก   ปัจจุบัน  คงจะไม่ใคร่มีผู้เคยอ่านหรือรู้จักนิราศเรื่องนี้กันมากนัก

นิราศเมืองเทศ เป็นนิราศขนาดสั้น  จำนวน  ๒๕๐ คำกลอน  เนื้อความเล่าถึงการเดินทางไปค้าช้างกับดีบุกซึ่งเป็นส่วยของหลวงที่เมืองบาบุดบำดัด  โดยเรือสินค้าของหลวง  มีเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดการเรื่องการค้าขายสินค้ากับอินเดีย  โดนใช้เมืองตรังเป็นเมืองท่า  เมื่อเรือไปถึงที่อินเดีย  จะมีพวกแขกเอเยนต์รับสินค้าอยู่ที่นั่น  มาคอยรับสินค้าในเรือไปขาย   เมื่อแขกนำไปขายได้เท่าไรก็นำเงินนั้นไปจัดซื้อสินค้าอินเดียที่เป็นที่ต้องการของเมืองไทย อันมีผ้าลาย อัญมณี เป็นต้น  บรรทุกเรือกลับมายังท่าเมืองตังแล้วส่งของที่ซื้อนั้นมาที่เมืองนครศรีธรรมราช  แล้วเจ้าพระยานครฯ จะจัดส่งเข้ามาที่กรุงเทพฯ  พร้อมทำรายงานต้นทุนกำไรเป็นใบบอก  อันเป็นลักษณะการค้าขายระหว่างไทยกับอินเดีย ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในนิราศนั้นว่า จากท่าเรือเมืองตรัง ที่เกาะตาลิบงมาจนถึงเมืองอินเดียใช้เวลาเดินทาง ๗ วัน  (เจ็ดวันก็มาเห็นซึ่งนิเวศ    ขอบเขตอังกฤษมิจฉา)  เมื่อมาถึงพวกแขกเรือที่มีหน้าที่ตรวจตราเรือที่เข้าออกที่ท่าเมืองบาบุดบำดัดนั้น  ได้ซักถามจดรายละเอียดของเรือ สินค้า และจำนวนลูกเรือ ไปรายงานต่อนายด่าน  (ลักษณะเช่นเดียวกันนี้  ทางเมืองไทยก็ทำเช่นกัน  อย่างเมืองพระประแดง หรือสมุทรปราการในปัจจุบัน   ก็ต้องทำรายงานเรือเข้าออกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาส่งมาที่กรุงเทพฯ  ถ้าเป็นเรือราชทูตต่างเมืองเข้ามาต้องรีบรายงานให้ทางเมืองกรุงเทพฯทราบ  เพื่อเตรียมการต้อนรับให้สมเกียรติ)  พวกไทยในเรือเมื่อถึงก็เที่ยวซักถามหาบรรดาไทยที่ไปค้าขายที่อินเดีย   มีพวกแขกมามุงดูพวกไทยกันมากมาย  (แขกมุง)  จากนั้นก็พากันไปที่ตึกเศรษฐีที่เป็นผู้ดูแลเมืองท่า  เศรษฐีนั้นได้ไต่ถามถึงทุกข์สุขบ้านเมืองไทยตลอดจนพระเจ้าแผ่นดินไทยด้วย

ต่อจากนั้น  ก้กลับมาที่เรือเพื่อนำช้างที่บรรทุกลงเรือไปนั้นขึ้นท่า  มีพวกแขกไปดูช้างกันมากเต็มท่า  และมี "ทั้งฝรั่งอังกฤษพาอิสตรี    นั่งเก้าอี้ดูกลาดทั้งหาดทราย"  ฝรั่งก็พากันไปดูช้างเหมือนกัน  การค้าขายคงดำเนินไปเป็นเวลานาน ๕ เดือน

ระหว่างนั้นเป็นธรรมดาของคนที่ไปค้าขายต่างบ้านต่างเมืองจะคิดถึงบ้าน และคู่รักที่จากมา  ก็เลย "แล้วชวนเพื่อนเชือนเชยสัญจรเล่น     ได้คลึงเคล้นหญิงเทศเพศยา"  ขยิบตา รายละเอียดหญิงแพศยาที่อินเดียเป็นอย่างไร  คนแต่งได้เล่าไว้ละเอียดดีมาก  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 10:43

นางวาลีที่เผาคัมภีร์เสียนั้น  ก็เพราะเกรงผู้อื่นจะได้ตำราไป

สมัยโบราณนั้นกว่าจะรับศิษย์สักคน  ท่านดูความประพฤติและความสามารถเป็นหลัก
ไพร่ในที่นี้ ไม่ใช่คนยากจนเสียทีเดียว   คนกำเนิดต่ำแทบไม่มีการศึกษา  อ่านเขียนไม่ได้นั้น
ถ้าได้วิชานั้นเพียงส่วนเดียว ก็ทำความเดือดร้อนได้

เรื่องที่นางเรียนด้วยตนเอง  ก็สามารถทำประโยชน์  คือรู้เรื่องภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการเพาะปลูก
ช่วยยายกับตาที่เลี้ยงมา

นางได้ใช้วิชาช่วยเหลือผู้อื่น  ได้ของกำนัลซึ่งก็เป็นพืชผลทางเกษตร


สิ่งที่นางวาลีอยากได้มากคือสามีที่มีบุญ  หนุ่ม  หล่อ  รูปร่างอ้อนแอ้น  ใบหน้าเหมือนหุ่น
รูปร่างอ้อนแอ้นพอจะเข้าใจ เพราะเป็นค่านิยมของสมัยนั้น
หนุ่มก็พอจะเข้าใจ  เพราะนางเป็นสาว
หล่อ     ก็เข้าใจอีก  มีรูปโฉมไว้ประโลมใจ
นางวาลีรู้ค่าของตนเอง  ว่าความรู้ของตนนั้นเป็นของโบราณมาจากอาณาจักรที่เจริญมาก่อน
สังคมไม่ได้ให้โอกาสนางวาลี

สิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้าใจก็คือ นางมี สิ่งประสงค์ คือ สามีที่มีใบหน้าอย่างหุ่น
คือขาวมาก(ไม่ยาก  ทาแป้งปนปรอทของจีน)   คิ้วโก่ง(เขียนด้วยเนื้อมะพร้างวแก่เผาไฟ)  ตาดำ(ไม่ยาก  ทายาตาโตของแขก)  และปากแดง(ไม่ยาก ทาลิ้นจี่ของจีน)
คนที่ขาดสิ่งจรรโลงใจมาแต่เด็ก  เมื่อมีโอกาสได้ปลดปล่อยอารมณ์หรือแสดงความปรารถนา ก็ดูจะ ต้องการมาก


เมื่อพระอภัยประกาศหาข้าราชการ
นางวาลีเห็นว่าโอกาสผ่านมา  จะปล่อยให้ผ่านไปมิได้

นางปลื้มใจมาก   มองว่าถ้าพระอภัยไม่ต้องกับนางสุวรรณมาลีแล้ว   นางก็มีโอกาสเป็นเอก
จึงไปสมัครสอบ
(เคยเขียนเรื่องนางจงลี่ฉุนมาแล้ว  จึงขอข้่ามไปก่อนค่ะ)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 10:45

รายละเอียดหญิงแพศยาที่อินเดียเป็นอย่างไร  คนแต่งได้เล่าไว้ละเอียดดีมาก  ดังนี้

"แล้วชวนเพื่อนเชือนเชยสัญจรเล่น     ได้คลึงเคล้นหญิงเทศเพศยา
แต่งกายมิได้วายเว้นเวลา                  ให้กายาโอ่เอี่ยมอรชร
เจาะหูรูรอบร้อยสุวรรณ                     ที่ถัดนั้นก็ร้อยเป็นสร้อยอ่อน
ล้วนใบสุวรรณสลับซับซ้อน                อลังกรณ์เลื่อมเหลืองอยู่ทั้งตัว
เอาสร้อยใบปลานั้นผูกคอ                  ถัดต่อมานั้นล้วนสร้อยเฝือ
สริชั้นห้าชั้นฟั่นเฟือ                          แล้วใส่เสื้อแบนกอลติดขลิบทอง
ที่เต้าถันนั้นแกล้งบรรจงหนัก              เอาตาดปักติดต่อไว้เป็นช่อง
สวมเข้าที่เต้าเหมือนทำลอง              ชักทั้งสองเต้าเต่งเคร่งครัน
ถึงคล้อยยานสัณฐานทำเหมือนสาว    จะยานยาวก็อยุ่ในเสื้อมั่น
แล้วหวีผมไว้แสกให้แยกกัน               เกล้ามวยพัวพันดอกไม้มี
ข้อมือนั้นผูกลูกปะหล่ำ                     กำไลนั้นก็ใส่ข้างละสี่
ห่มสีชมพูดูดี                                 มีขลิบติดริมพริ้มพราย
กำไลใส่เท้าล้วนหิรัญ                       ถึงสามชั้นพรวนน้อยห้อยระสาย
แหวนปลอกตอกประดิษฐ์ลาย            ใส่ในปลายนิ้วเท้าล้วนขาวดี
นุ่งผ้าถุงรูดเป็นริ้วรอบ                      แต่ประกอบแต่งกายให้สดศรี
เห็นชายเดินเมินเมียงไม่พาที             ก็เร็วรี่ร้องเรียกให้หยุดยืน


แล้วไถ่ถามเป็นความบุ้ยใบ้มา            ด้วยไม่รู้ภาษาอุส่าห์ขืน
พวกเราเหล่าคะนองลองสักคืน           เครงครืนต่อว่าราคากัน
ที่มีเฟื้องมีสลึงกลัวจะหมด                แต่อดอดมาก็สุดเต็มกลั้น
กระซิบบอกกันแต่สองลองสักวัน        นอกกว่านั้นอย่าให้อึงระทึงไป

อันเหล่าหญิงชั่วที่ตัวกลั่น                 ทรัพย์นั้นมีมากด้วยหาได้
ช่วยทาสทาสาข้าช่วงใช้                   นี่ยกไว้พอรู้เป็นเรื่องราว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 11:02

กฏหมายตราสามดวง  พระไอยการ ลักษณะผัวเมีย  ท่านว่า

   "หญิงใดทำชู้นอกใจผัว  มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวนีในวันเดียว ๒ คนขึ้นไป   ท่านว่าเปนหญิงแพศยา"
    (รักษาตัวสะกดเดิม)



พยายามไม่กระโดดออกไปนอกกระทู้
เพราะสามารถคุยเรื่องหนังสือเก่าได้โดยไม่ต้องอ้างอิงอะไรมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 11:13

อ้างถึง
การเอาศพตีไพร่นั้น  มาจากพงศาวดารจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งแน่นอน มีตั้งสามสิบกว่าเรื่อง  กิ่งพงศาวดารที่คนไทยแต่งกันเองก็มีประมาณ ๒๐ เรื่อง

เรื่องเอาศพไล่ตี ที่คุณวันดีเอ่ยถึง   มีอยู่ในสามก๊ก   ตอนโจโฉถูกทหารของเตี้ยวสิ้วบุกเข้ามาถึงค่าย       เตียนอุยองครักษ์ของโจโฉฟันศัตรูจนดาบหัก    ก็ฉวยศพข้างละมือมาเป็นอาวุธ  ไล่ตีทหารเตี้ยวสิ้วตายไปอีกเก้าคนสิบคน

อ้างถึง
สิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้าใจก็คือ นางมี สิ่งประสงค์ คือ สามีที่มีใบหน้าอย่างหุ่น
หน้าอย่างหุ่น  หมายถึงหน้างาม  ตาหูจมูกปากราวกับวาดไว้    เพราะช่างเขียนหน้าหุ่นจะบรรจงเขียนหน้าตาตามแบบที่เขาเห็นว่างามรับกัน
ขอให้นึกถึงหน้าหุ่นของอ.จักรพันธุ์ดูก็ได้ค่ะ
ส่วนผู้ชายที่หน้างามเหมือนหุ่น   ดิฉันเคยเห็นอยู่คนหนึ่งคืออ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต เจ้าของหุ่น     รูปอาจารย์ตอนหนุ่มๆ  นี่แหละ  หน้าหุ่นแบบที่นางวาลีใฝ่ฝัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 11:16

คำว่า หญิงแพศยา  ใช้ในความหมายทั้งหญิงคบชู้    และหญิงโสเภณี    ส่วนการแยกศัพท์ว่ามาจากอะไรเห็นจะต้องถามคุณหลวง
มีอีกคำหนึ่งที่แปลตรงกัน แต่เรียกไพเราะมาก  คือคำว่า "อภิสาริกา"   นางอภิสาริกาคือโสเภณี  พบในวรรณกรรมของ "แสงทอง"  พจนานุกรมบาลี เก็บศัพท์นี้ไว้ด้วย 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 11:22

นางวาลีแต่งตัวไปเข้าเฝ้าโดยนุ่งผ้าสุหรัด(มาจากไหนพอทราบ  แต่เป็นอย่างไรไม่ค่อยแน่ใจค่ะ)
ห่มผ้าสีชมพูมีภู่ติด     สงสัยล้ำสมัยมาก


กว่านางวาลีจะเข้าเฝ้าพระอภัยมณีก็ต้องผ่านด่านซักถามอยู่นาน
เป็นประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นเอง
ทูตฝรั่งมากรุงสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ต้องเจอแบบเดียวกัน
มาทำกระทืบมือกระทืบเท้าก็กลับไปได้  ไม่ต้องเฝ้า
เอกสารที่ทางไทยฝากไปด่าก็ยังมีอยู่


พระอภัยถามว่าที่มาสมัคร  ปรารถนาตำแหน่งไหน

จะเป็นพี่เลี้ยงเจ้าขรัวนาย         หรือรักฝ่ายกรมท่าเสนาใน


นางวาลีพูดว่า

แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม                 ล้วนสวยงามเคยประณตบทศรี
แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้                            ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น
........................
........................
แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท              ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี
ก็ผิดอย่างทำเนียบประเวณี                      เห็นคนดีจะไม่มาสามิภักดิ์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 14 ม.ค. 10, 11:26

หญิงผู้มีปัญญาแต่ขี้ริ้ว  จงลีฉุน กับนางวาลี

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชโองการรับสั่งให้แปลเลียดก๊กเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒

อุยอ๋องนั้นเมื่อว่างศึกมาสามปี  มีสามบ้านเมืองมานบนอบยำเกรง  น้ำใจกำเริบถือตัวว่าหาผู้เสมอเหมือนมิได้   ตั้งแต่เสพสุราทุกวันทุกเพลาไม่ขาด
ให้เสาะหญิงรูปงามจัดเข้ามาไว้   รื่นเริงไปในการสตรี

ยังมีสตรีคนหนึ่งชื่อ จงลีฉุน  บ้านอยู่นอกเมืองใกล้กันกับบ้านใหม่ของอุยอ๋อง

นางคนนี้มีปัญญาหลักแหลมนัก  แต่รูปร่างนั้นพิกล

จักษุกลมจมูกยาวหน้าผากใหญ่  คอสั้น  มือโตเท้าโต  นิ้วมือนิ้วเท้ายาว
ทั้งสูงทั้งใหญ่  สีตัวดำเหมือนทาหมึก

นุ่งกางเกงขาด  ใส่เสื้อเก่า

ออกจากบ้านเดินร้องมาแต่ไกลว่า เราจะมาหาอุยอ๋อง
ทหารทั้งปวงเห็นว่าวิปริตนัก  จึงไต่ถาม ว่าชื่ออะไร อยู่บ้านไหน มีธุระอะไร

หญิงนั้นบอกว่า อยู่บ้านบูเอียน  แขวงเมืองเจ๋
อายุ สี่สิบปี ยังไม่มีผัว
คิดอยู่ใคร่จะได้ผัว  แต่ชายผู้ใดเขาไม่ชอบใจ
ข้าพเจ้าจึ่งมายอมตัวอยู่กับอุยอ๋อง  จะขอเป็นเมียหลวง

ว่าแล้วก็ทำปริศนาใบ้ต่างๆ   คนทั้งปวงก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน

อุยอ๋องถามว่าปริศนาแปลว่าอะไร  นางขอโทษแล้วอธิบายว่า

ที่ข้าพเจ้าเบี้ยวปากขยิบตา เพราะท่านฟังแต่คนพูดไม่จริง
ข้าพเจ้ายิงฟัน  ด้วยเห็นว่าท่านพอใจเสพสุรามัวเมานัก  แล้วเพลิดเพลินลุ่มหลงด้วยสตรี
ข้าพเจ้ากอดเข่าและชี้นิ้ว  ด้วยเห็นว่าขุนนางเหล่านี้หามีกตัญญูต่อท่านไม่
ท่านชุบเลี้ยงเสียเปล่า  มิได้โอบอ้อมอาณาประชาราษฎร์
ท่านทิ้งเมืองมาดังนี้  ไม่ช้านานเท่าใดก็จะเกิดจลาจลในเมือง

ด้วยเหตุวาสนาอุยอ๋องจะยืดยาวไป ก็หายโกรธ  พิจารณาเห็นตามคำของนางจงลีฉุน
สรรเสริญนางว่ามีปัญญาหลักแหลมนัก
รับนางขึ้นเกวียนพาเข้าเมือง  ตั้งให้นางเป็นใหญ่กว่าภรรยาทั้งปวง  ยกบ้านเดิมให้เป็นส่วยด้วย
ตั้งแต่นั้นมาก็จัดแจงบ้านเมือง หาผู้มีสติปัญญามาชุบเลี้ยง

บลัดเลเริ่มพิมพ์เลียดก๊กเล่มแรกเมื่อปี ๒๔๑๓
เล่ม ๕ พิมพ์ในปี ๒๔๑๔ ปีมะเมีย โทศก


นางวาลีอายุ ๓๔  มีเชื้อสายพราหมณ์  ใบหน้าปรุ  ผิวพรรณดำ
ได้ศึกษาตำราโบราณทั้งไสยศาสตร์ กลศึก และฤกษ์์

เมื่อมาเข้าเฝ้า พระอภัยมณีถามว่าจะเลี้ยงไว้เป็นที่ปรึกษา  อยากจะเป็นพี่เลี้ยงเจ้านาย หรืออยากอยู่กรมท่า

นางวาลียืนยันว่าภักดีอยากเป็นมเหสี

พระอภัยมณีตรัสด้วยเป็นอย่างดีว่าควรพิเคราะห์ตัวเอง

จะควรเป็นมเหสีหรือมิควร  จงใคร่ครวญนึกความให้งามใจ

นางวาลีทูลว่า

แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม   ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี
แต่หญิงมีปัญญาเช่นข้านี้    ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น
จึงอุตส่าห์มายอมน้อมประณต    ให้พระยศใหญ่ยิ่งทุกสิ่งสรรพ์
บรรดาผู้รู้วิชาสารพัน    จะหมายมั่นพึ่งพาบารมี

แม้นทรงศักดิ์รักโฉมประโลมสวาท    ไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงซึ่งกรุงศรี
ก็ผิดอย่างธรรมเนียมประเวณี    เห็นคนดีจะไม่มาสามิภักดิ์
ขอพระองค์ทรงตรึกให้ลึกซึ้ง    เป็นที่พึ่งแผ่ไปทั้งไตรจักร
อันรูปหญิงพริ้งเพริศล้ำเลิศลักษณ์    ดีแต่รักรอนรานการโลกีย์

นางวาลีนี้  วิชาความรู้ส่งให้งาม

ที่มาห้องสมุด พันทิป เขียนโดย หญิงผู้มีปัญญา

สุนทรภู่ครูของฉันเป็นนักอ่านที่ยิ่งใหญ่
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/06/K5548596/K5548596.html

 ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 20 คำสั่ง