เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46501 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 11:17

อาจารย์ศานติอธิบายว่า มีผลงานของสุนทรภู่ 3 เรื่อง ที่เขมรนำไปแปลเป็นกลอนภาษาเขมร คือ เรื่อง ลักษณวงศ์ จันทโครพ และ พระอภัยมณี เรื่องหลังนี้ฉบับที่พบในปัจจุบันถึงแค่ตอนนางยักษ์ลักพาพระอภัยมณีเข้าถ้ำ

เรื่องลักษณวงศ์กับพระอภัยมณี  ไม่มีปัญหา  แต่เรื่องจันทโครพ  ยังเชื่อว่าเป็นฝีมือสุนทรภู่ไม่ได้นัก  เพราะสำนวนกลอนอ่อนกว่านิทานคำกลอนของสุนทรภู่ทุกชิ้น  น่าจะเป็นผลงานของผู้แต่งคนอื่นๆ  ที่เอาอย่างลีลาสัมผัสกลอนของสุนทรภู่มากกว่า   ในสมัยสุนทรภู่ไม่ได้มีแต่สุนทรภู่คนเดียวที่แต่งกลอนเป็น  ผู้แต่งกลอนคนอื่นๆ ก็ยังมี  แต่ชื่อเสียงและผลงานของคนอื่นไม่มีมากเท่าสุนทรภู่เท่านั้น  ภายหลังเราจึงรู้จักแต่สุนทรภู่และกวีร่วมสมัยท่านอีกไม่กี่คนเท่านั้น

เรื่องราชทินนาม  สุนทรโวหาร  เข้าใจว่าอย่างนี้   เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังสถานพิมุขเสด็จทิวงคต  ข้าราชการวังหลังจะถูกโอนมาขึ้นกับวังหลวงทั้งหมด  แต่อาจจะยังคงฐานะเป็นกรมกองอย่างเดิมหรือยุบลงก็ตามแต่จำนวนคนในแต่ละกรมกอง  และเมื่อไม่มีการสถาปนาตำแหน่งวังหลังอีก  ราชทินนามของข้าราชการวังหลังก็อาจจะถูกโยกมาตั้งเป็นราชทินนามข้าราชการวังหลวงได้   เราต้องไม่ลืมว่า  ข้าราชการวังหลังและวังหน้า  ต้องได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากวังหลวงทั้งนั้น  วังหลังวังหน้าจะโปรดแต่งตั้งเองไม่ได้  

ทีนี้ถึงจะมีราชทินนามข้าราชการเหมือนในวังทั้งสาม (วังหน้า วังหลวง วังหลัง) แต่ต่างกันด้วยลำดับยศ   เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน   เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใครเป็นขุน/หลวงสุนทรโวหารรับราชการที่วังหลวงหรือวังหน้าหรือวังหลังวังใดวังหนึ่งแล้ว   ก็ไม่โปรดเกล้าฯ ตั้งใครในราชทินนามนี้ซ้ำอีก  แม้จะต่างยศกัน   เช่น  วังหลวงตั้งหลวงสุนทรโวหาร  ในช่วงนั้นวังหน้าและวังหลังจะไม่มีใครได้รับพระราชทานราชทินนาม สุนทรโวหาร เลย  จนกว่า  คนที่ได้รับพระราชทานราชทินนาม สุนทรโวหาร ของวังหลวงจะถึงแก่กรรมหรือได้รับพระราชทานเปลี่ยนราชทินนามใหม่เป็นอย่างอื่น  

อนึ่งยศในทำเนียบขุนนางนั้น  เป็นของตายตัว   ในขณะที่ความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นไปตามทำเนียบก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย  ยศในทำเนียบอาจจะเป็นเพียงข้อกำหนดว่า  ถ้าจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใครมารับราชทินนามดังกล่าว  จะไม่พระราชทานยศให้สูงไปกว่าที่ทำเนียบนามมีอยู่ แต่ทรงแต่งตั้งยศที่ต่ำกว่าได้   แต่ก็นั่นแหละทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย

กรมราชบัณฑิต  ถ้าเราพิจารณาตามทำเนียบขุนนาง  ดูเหมือนเป็นกรมที่มีฐานะเทียบเท่ากันกับกรมพระอาลักษณ์   แต่ในความเป็นจริง  กรมราชบัณฑิตนั้นเป็นกรมที่ขึ้นกับกรมพระอาลักษณ์  การที่ข้าราชการกรมราชบัณฑิตจะถูกโยกมาทำราชการที่กรมพระอาลักษณ์ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดประหลาดอันใด ยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 13:49

      อ่านกระทู้นี้แล้วก็ชวนให้นึกถึงกระทู้โน้น เมื่อนานมากแล้วที่คุณ pipat ตั้งไว้หลายกระทู้
เกี่ยวกับสุนทรภู่ ครับ

       โดยเฉพาะในกระทู้ นิราศภูเขาทอง อ่านอีกครั้งก็ยังอดยิ้มไม่ได้กับความเห็นที่คุณพพ. สวมรอย
เป็นสุนทรภู่มาตอบ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2286.0

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 14:08

สนุกจริงอย่างที่หลายคนว่า   
ถ้ามาที่เรือนไทยตั้งแต่ครั้งนั้น   คงได้ร่วมวงผสมโรงอภิปรายแน่นนอน  คิดมาแล้วก็เสียดาย ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 15:34

อย่าเสียดายเลยค่ะ คุณหลวง

ชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง
หรือห่วงใยอยู่กับวันวาน

จาก ปรัชญาชีวิต ของ คาลิล ยิบราน
แปลโดย ดร.ระวี ภาวิไล


เรือนไทยมีสมาชิกใหม่ๆ และกระทู้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเสมอ   
กระทู้เก่าจบไป กระทู้ใหม่ก็เข้ามา
คลื่นลูกใหม่ก็ทะยอยไล่หลังคลื่นลูกเก่า  เป็นธรรมดาของทะเล

ว่าแต่คุณหลวงกับคุณเพ็ญ จะได้ฤกษ์เริ่มเรื่องทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์   
หรือว่าจะคุยเรื่องอื่นไปก่อน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 15:59

ถือเสียว่า  กระทู้นั้นไม่มีวาสนากับผมก็แล้วกัน   ยิงฟันยิ้ม

สบายใจแล้ว   บัดเดี๋ยวนี้  จะกล่าวถึงพราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  หลังจากปล่อยให้รอมานาน

- พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  เป็นใคร ? อยู่ตอนไหนของเรื่องพระอภัยมณี ?

- พราหมณ์ทิศาปาโมกข์เป็นพราหมณ์ที่ท้าวทศวงศ์นางจันทวดีและนางเสาวคนธ์เชิญมาช่วยหาทางแก้ไขให้สุดสาครที่ต้องเสน่หืที่เกาะลังกากลับคืนเมืองการะเวก   พราหมณ์ทิศาฯ ปรากฏตัวในตอนที่ ๔๑ นางสุวรรณมาลีหึงหน้าป้อม 

- พราหมณ์ทิศาฯ มีประวัติอย่างไร ?  รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ?

- พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  เป็นผู้วิเศษเหมือนฤาษี  อายุยืนกว่าร้อยยี่สิบปี  นิสัยซื่อสัตย์  ไม่พูดจาประจบสอพลอหรือล่อลวงใคร  ท่าทางภูมิฐานมีความรู้เรื่องโบราณมาก  พราหมณ์ได้เป็นครูสอนเหล่ากษัตริย์เมืองการะเวกมาจนกระทั่งท้าวทศวงศ์เองก็เคยได้เรียนกับพราหมณ์นี้  และว่า  เมื่อครั้งปู่ของท้าวทศวงศ์ได้ให้ตึกแก่พราหมณ์เป็นที่อยู่ในสวนหลวง  สามารถไปมาหาสู่ได้ตามปกติและเป็นยอดกว่าครูใดๆในแผ่นดิน  มีกลอนตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

ฝ่ายทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์          เป็นพราหมณ์เทศเทวฤทธิ์อิศยมภุ์
มีสมบัติพัสถานพานอุดม              แต่อารมณ์ไม่สู้รักด้วยมักน้อย
ตึกประทานบ้านตั้งหลังสวนหลวง   ทาสทั้งปวงจัดไว้พอใช้สรอย
แต่ท่านยายขายเพชรเมล็ดพลอย    อายุร้อยสิบเก้าแก่คราวกัน
ดูรูปเห็นเป็นชราแต่หน้าอ่อน          ฟันไม่คลอนเลยทีเดียวเคี้ยวขยัน
แต่ผมหงอกดอกจึงแลดูแก่ครัน       นอกกว่านั้นดีอยู่ทั้งหูตา  ฯ

เล่าความถึงพราหมณ์ทิศาฯ แต่เท่านี้ก่อน   เชิญอภิปรายกันได้ครับ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 16:40

เป็นพราหมณ์เทศเทวฤทธิ์อิศยมภุ์
รู้เพียงสั้นๆ ว่าเป็นพราหมณ์เทศ คือมาจากอินเดีย  นับถือพระอิศวร
เรียกว่า ไศวนิกาย   (Saivism)

สัญลักษณ์พวกนี้คือใช้ขี้เถ้าสีขาวหรือสีเทา เขียนเป็นเส้นนอนตรงซ้อนกัน 3 เส้นที่หน้าผาก
พวกนี้ถือการหลุดพ้นที่เรียกว่า โมกษะ  คือเข้าถึงเอกภาพกับพระศิวะ   นิยมบำเพ็ญบารมีแบบที่พุทธเรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค" คือสุดโต่งไปทางด้านทรมานกาย
อยากเอารูปมาให้ดู แต่ยังหาไม่เจอค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 21:16

สงสัยอยู่นิดหนึ่งค่ะ    ท่านยายขายเพ็ชรพลอยได้หรือคะ
ตอนที่ ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  ยอมเดินทางไปด้วยก็เพราะ พระสุริโยไทยกษัตริย์การะเวก  จันทวดีพระมเหสี พานางเสาวคนธ์มาหาถึงที่อยู่

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 22:31

คุณวันดีสงสัยเหมือนดิฉันเลย
แต่ท่านโลกเชษฐ์ เป็นผู้ครองเรือน มีลูกเมียได้ ก็คงประกอบอาชีพได้มั้งคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 22:57

พระเจ้ากรุงการะเวกรอบคอบในราชประเพณีนะคะคุณเทาชมพู



.................................​​​​​​​​​​                ด้วยพระอภัยเข้าไปอยู่ในบูรี
แต่นงลักษณ์อัคเรศอยู่เขตค่าย                เราเป็นชายไปถึงพระมเหสี
จะพูดจาปราไศยก็ไม่ดี                         ครั้นจะมิเจรจาก็น่าชัง
ซึ่งดีชั่วทั่วโลกไม่เล็งเห็น                       เกลือกจะเป็นรอยร้ายไปภายหลัง


สุนทรภู่คงทราบเรื่องไม่ดีไม่งามที่ฝ่ายในบางท่านประมาท
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 23:35

การแก้ไขของพราหมณ์ผู้เฒ่า

แล้วพราหมณ์เอาทองคำทำเป็นธง                    มาเขียนลงอักขระพระศุลี
แล้วลงยันต์พระพิเนกเสกสะกด                       ดังจักรกรดพระนารายณ์ทำลายผี

มองให้หัสไชยนำไปมอบให้พระญาติที่ต้องมนต์เสน่ห์
และได้เสกข้าวตอกเป็นดอกฟ้า  ฝากไปให้นางละเวงด้วย

ธงแก้เสน่ห์นี่อ่านผาด ๆ ราวกับเรื่องจีนไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง  จับความยังไม่แม่น
แต่ธงวิเศษที่ตัวเอกของพงศาวดารจีนถือมีอำนาจมาก  ใช้ในการสู้รบ

ธงนั้นช่วยสุดสาครกับสินสมุทรมาได้เท่านั้น

ท้างทศวงศ์ พระสัสสุระ ของ ศรีสุวรรณ  ได้พาพระญาติมาหาทิศาปาโมกโลกเชษฐ์
พราหมณ์ดีใจมากที่ได้รับเสด็จ


พราหมณ์คำนับรับเสด็จด้วยดีใจ                ถวายชัยมงคลด้วยมนต์พราหมณ์



นางสุวรรณมาลีและนางเกษรา...
ฝ่ายสองนางต่างว่าข้าพเจ้า                      จะกราบเท้าทองคำเต็มกำปั่น
คนละลำบำรุงพระคุณครัน                       ช่วยแก้กันผ่อนปรนให้พ้นภัย

นี่ยิ่งกว่าทองเท่าหัวอีกนะคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 23:58

นางละเวงนำธงและดอกไม้สวรรค์ไปให้บาดหลวงดู

บาดหลวงทราบทันทีว่าเป็น คนดีมีวิชา  และคงเป็น ทิศาปาโมกโลกเชษฐ์
บาดหลวงรู้เขาดีจัง  คือการข่าวฝ่ายตรงกันข้ามแจ๋ว  แต่ฝ่ายตัวเองทำอะไรไว้ไม่ทันรู้

บาดหลวงคงรู้หลายภาษาเป็นแน่

บาดหลวงรับจับต้องมองพินิจ                    อักษรผิดลังกาภาษาสยาม
เคยเรียนครูรู้ว่าหนังสือพราหมณ์                จึงอ่านตามปริศนาว่าอย่าทำ
ใครผูกไว้ไม่แก้เป็นแม่ม่าย                       เคยนอนหงายมาแต่ก่อนจะนอนคว่ำ

สังฆราชโมโหพวกตัวเองก็โมโห  แต่อยากลองฤทธิ์พราหมณ์ขึ้นมา

คนที่นึกว่าตนเก่งอยู่คนเดียวก็แบบนี้แหละ   

แล้วร่ำบอกดอกฟ้าเขาว่าตัว                      เป็นผู้หญิงชิงผัวไม่กลัวใคร
ซึ่งแต่ก่อนนอนหงานจะกลายคว่ำ                เป็นข้อคำเยาะเย้ยเฉลยไข
มีผัวเหมือนเดือนหงายสบายใจ                  พอผัวไปจะต้องคว่ำกินน้ำตา
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 08:35

ในที่สุด  บุคคลที่รอคอยก็มาปรากฏตัว   หลังจากห่างหายไปนาน ยิงฟันยิ้ม
สวัสดีครับคุณวันดี  คงสบายดีนะครับ  ช่วงนี้มีหนังสือเก่าดีๆ เด่นๆ อะไรมาเล่าสู่กันฟังบ้างหรือเปล่า  ยิ้ม

ก่อนจะเล่าเรื่องพราหมร์ทิศาฯ ต่อ  ขอวิเคราะห์ชื่อพราหมณ์ท่านนี้สักหน่อย

ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  คำว่า ทิศาปาโมกข์  เป็นคำบาลีแท้  ทิศา มาจาก ทิสา ในภาษาบาลี (ทิส ในภาษาบาลี แปลว่า ข้าศึก  ศัตรู) ตรงกับคำว่า ทิศฺ ในภาษาสันสกฤต  ส่วน ปาโมกขื แปลว่า ผู้ประเสริฐ  ผู้ยอดยิ่ง  ผู้เป็นเลิศ   รวมความ ทิศาปาโมกข์ แปลว่า  ครูผู้เป็นเลิศเลื่องลือไปในทิศทั้งหลาย   ถ้าใครอ่านชาดกหรือเรื่องเกี่ยวกับชมพูทวีปสมัยพุทธกาล มักจะได้ยินชื่อพราหมณ์ทิศาปาโมกข์บ่อยๆ  พราหมณ์นี้เป็นครูที่มีชื่อเสียงมักอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น ตักกศิลาและพาราณสี  เป็นต้น  มีลูกศิษย์มาก ยกตัวอย่างพราหมณ์ในพระมหาชนกชาดกที่รับพระมารดาของพระมหาชนกเป็นน้องสาว  บรรดาคนที่เกิดในวรรณะสูงมักนำลูกหลานไปฝากเรียนวิชาพร้อมกับปรนนิบัติรับใช้พราหมณ์ทิศาปาโมกข์  ส่วน โลกเชษฐ์  ที่เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น  มาจากคำว่า โลก + เชฺยษฺฐ  แปลว่า ผู้เป็นเลิศในโลก    สุนทรภู่ตั้งชื่อตัวละครพราหมณ์นี้ขึ้นมา ก็นับว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามลักษณะพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ในอินเดียโบราณ

สงสัยอยู่นิดหนึ่งค่ะ    ท่านยายขายเพ็ชรพลอยได้หรือคะ
ตอนที่ ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์  ยอมเดินทางไปด้วยก็เพราะ พระสุริโยไทยกษัตริย์การะเวก  จันทวดีพระมเหสี พานางเสาวคนธ์มาหาถึงที่อยู่

คุณวันดีสงสัยเหมือนดิฉันเลย
แต่ท่านโลกเชษฐ์ เป็นผู้ครองเรือน มีลูกเมียได้ ก็คงประกอบอาชีพได้มั้งคะ

เคยได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่งในกระทู้นี้ตอนต้นๆ แล้วว่า  พราหมณ์ในพระอภัยมณีของสุนทรภู่  นอกจากเป็นนักบวชนุ่งขาวห่มขาวเรียนไตรเพทแล้ว  พราหมณ์ของสุนทรภู่ยังมีลักษณะเป็นวรรณะตามอย่างสังคมอินเดียด้วย   คนวรรณะพราหมณ์ในสังคมอินเดียสามารถประกอบอาชีพได้อย่างคนวรรณะอื่นๆ  ที่เป็นพราหมณ์นักบวชมีหน้าที่ประกอบพิธีทางศาสนานั้นก็มีส่วนหนึ่ง   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของพราหมณ์แต่ละครอบครัวด้วย   พราหมณ์ที่มีฐานะยากจนเป็นขอทานก็มี  เช่น ตาพราหมณ์เฒ่าชูชก ในพระเวสสันดรชาดกไงล่ะครับ  อันที่จริง  พราหมณ์ของสุนทรภู่มีบางลักษณะที่เป็นไปตามขนบนิยมในวรรณคดีไทย  แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่เป็นตามขนบนิยมในวรรณคดีไทย  เช่น ให้พราหมณ์ออกมาสู้รบในสนามรบ เป็นต้น  (ไม่รู้ว่ามีใครเอาไปทำการศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์บ้างหรือยัง?)   ส่วนเรื่องพราหมณ์มีลูกเมีย  ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  พราหมณ์ไทยมีลูกเมียมาแต่ไหนแต่ไร  ว่ากันว่า พราหมณ์ที่ไม่มีลูก โดยเฉพาะลูกชาย  ตายไปจะต้องตกนรกขุมปุตตะ เพราะไม่มีใครทำศราทธพรตให้หลังจากบิดามารดาตาย  ยายพราหมณี เมียพราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ ขายเพชรพลอย  ก็คงเหมือนกับชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยสมัยปัจจุบัน   ในสังคมอินเดียโบราณที่ปรากฏในวรรณคดีอินเดียเก่าๆ  กระทั่ง ฤาษีก็มีเมียปรนนิบัติที่อาศรมได้

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 09:08

ถ้าว่าตามคติของชาวพุทธไทยแล้ว ชื่อโลกเชษฐ์ (ผู้เลิศในโลก) นี้ดูยิ่งใหญ่มาก เช่นเดียวกับชื่อ

โลกนายก    ผู้นำของโลก
โลกประทีป  แสงแห่งโลก
โลกโมลี     โมลีของโลก
โลกนาถ      ที่พึ่งของโลก

อันหมายถึง พระพุทธเจ้า

ชาวพุทธไทยมักไม่ใคร่สบายใจ หากใครเอาชื่อที่มีความหมายถึงพระพุทธเจ้ามาตั้งเป็นชื่อตนเองหรือลูกหลาน

อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เล่าไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ มีพระฝรั่งชาติอิตาลีชื่อ "โลกนาถ" เข้ามาชักชวนพระภิกษุสามเณรไปฝึกอบรมและเรียนวิชาธรรมทูตที่อินเดีย พระเถรานุเถระหลายองค์ของไทยเราไม่ค่อยพอใจพระฝรั่งองค์นี้ ก็ด้วยชื่อของท่านที่บังอาจตั้งฉายาของท่านว่า โลกนาถ

ชื่อ โลกเชษฐ์ นี้ ใช้เป็นชื่อพราหมณ์ก็พอว่า แต่ถ้าเอามาตั้งเป็นฉายาของพระสงฆ์อาจจะมีปัญหา

 ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 09:46

อ้างถึง
สุนทรภู่คงทราบเรื่องไม่ดีไม่งามที่ฝ่ายในบางท่านประมาท
คุณวันดีนึกถึงเรื่องไหนอยู่หรือเปล่าคะ?
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 13 ม.ค. 10, 09:51

ถ้าเป็นกรณีชื่อแบบเดียวกับ โลกเชษฐ์ และ โลกนาถ นี้
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือไม่ก็รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนแปลงนามสมณศักดิ์พระราชาคณะบางนามใหม่เพื่อไม่ตรงกับชื่อพระอริยสาวกด้วย  เสียดายว่าจำไม่ได้ว่าทรงเปลี่ยนแปลงนามสมณศักดิ์ใดบ้าง

แต่ถ้าเป็นสมัยนี้  เห็นท่าจะไม่ถือแล้วกระมัง  เพราะเห็นพ่อแม่ตั้งชื่อลูกโดยใช้ฉายาพระพุทธเจ้ากันอยู่มาก  เช่น ทศพล  ชินวร  เป็นต้น เศร้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 20 คำสั่ง