เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46644 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 08:54

ถ้าสุนทรภู่เคยรู้เรื่องซินแบด  เกาะงูทะเล  และภูเขาแม่เหล็ก    ไม่จำเป็นต้องรู้จากพ่อค้าอาหรับที่เดินทางมาถึงไทย  แต่อาจจะรู้จากมิชชันนารีอเมริกัน หรือคนอังกฤษที่เข้ามาทำงานและค้าขายในรัชกาลที่ ๓ ได้  

สุนทรภู่อาจจะเคยได้ยินเรื่องของซินแบดเกี่ยวกับเกาะภูเขาแม่เหล็กและก็อาจเคยทราบเกี่ยวกับเรื่องของเกาะนาควารีโดยตรงก็เป็นได้

เรื่องของซินแบดเองก็น่าจะได้ข้อมูลมาจากนักเดินเรื่องอาหรับสมัยโบราณ กาจนาคพันธุ์กล่าวว่าแขกอาหรับเรียกเกาะนิโคบาร์ว่า มัลฮัน และเพี้ยนไปเป็น มนิอัล มนิยัล มนิโอลาย สันนิษฐานว่าชื่อนี้มาจากคำว่า อยัศกานต์มณี หรือ อโยมณี เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า หินเหล็กหรือแม่เหล็ก

เมื่อแปล "ตำนานพระเจ้าชาลมาญ" กับคุณนิลกังขา     เราเคยสงสัยกันว่า มีบางตอนคล้ายกับศึกลังกาและกรุงผลึก  เช่น เจ้าละมาน อาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อ ชาลมาญ   ส่วนนางอัญชลิกาที่เป็นต้นเหตุของศึกชิงนาง  ก็คล้ายกับนางละเวงในศึกเก้าทัพ

เรื่องชื่อ เจ้าชาลมาญ ----> เจ้าละมาน  น.ม.ส. ก็มีความเห็นเช่นนี้เหมือนกัน โดยทรงเล่าไว้ในภาคผนวกสามกรุงว่า คงจะดัดเสียงเพี้ยนมาจากเจ้าชาลมาญแห่งฝรั่งเศส  แต่กาญจนาคพันธุ์มีความเห็นอีกอย่างหนึ่งคือชื่อเจ้าละมานน่าจะเอามาจาก สุละมาน หรือ สุไลมัน ซึ่งเป็นกษัตริย์โซโลมอนสมัยโบราณ เมืองสุละมานหรือเกาะสุละมานนี้ มีจดหมายเหตุจีนกล่าวว่าทั้งหญิงชายไม่นุ่งผ้า ไม่ทำนาปลูกข้าว กินแต่ปลา มันเทศ ขนุน และกล้วย ผิวเนื้อชาวเหมืองดำเหมือนน้ำรัก จดหมายแขกอาหรับก็ว่าชาวเกาะไม่นุ่งผ้า ผิวดำดุร้ายกินมนุษย์ แต่ตามปกติกินปลา กล้วย มะพร้าว และอ้อย และกล่าวว่ามีหน้าเหมือนสุนัข คือ ศีรษะ ตา และฟัน เหมือนสุนัข ทั้งเมืองนี้ก็มีบ่อทองอยู่มาก



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 09:11

กาญจนาคพันธุ์สรุปว่า ชื่อเจ้าสุละมาน -----> เจ้าละมาน

และเกาะสุละมันก็คือเกาะอันดามันซึ่งอยู่ตอนเหนือของนิโคบาร์นั่นเอง

ฝ่ายลำหนึ่งถึงละมานสถานถิ่น                      เมืองทมิฬฟันเสี้ยมเหี้ยมหนักหนา
ไม่กินข้าวชาวบุรินทร์กินแต่ปลา                     กินช้างม้าสารพัดสัตว์นกเนื้อ
ถึงเวลาฆ่าชีวิตเอามีดเชือด                          แล้วคลุกเลือดด้วยสักหน่อยอร่อยเหลือ
ทั้งน้ำส้มพรมพล่าน้ำปลาเจือ                        ล้วนเถือเนื้อดิบกินสิ้นทุกคน
จึงพ่วงพีมีกำลังเหมือนดังอูฐ                         แต่เสียงพูดคล้ายทำนองของสิงหฬ
ไว้ผมปรกปกไหล่เหมือนไฟลน                      หยิกหยิกย่นย่อย่องององอน
ใส่เสื้อแสงแต่งกายคล้ายฝรั่ง                        มีกำลังเหล็กนั้นทำคันศร
ใส่สายลวดกวดกลมพอสมกร                        ยิงกุญชรแรดควายตายทุกที
อันแดนดินถิ่นฐานทุกบ้านช่อง                       บังเกิดทองเกิดเพ็ชรทั้งเจ็ดสี
อึกทึกตึกตั้งด้วยมั่งมี                                 ชาวบุรีก็มิได้ทำไร่นา


ชาวเมืองเจ้าละมานของสุนทรภู่และชาวเมืองสุละมานตามจดหมายเหตุข้างบนเหมือนกันอย่างกับแกะ

เพียงแต่สุนทรภู่ให้ใส่เสื้อใส่กางเกงเหมือนอย่างฝรั่งเท่านั้นเอง

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 09:13

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 09:28

อ่านที่ชาวเรือนไทยค้นกันมา   ยิ่งรู้สึกว่าสุนทรภู่มีความรู้รอบตัวกว้างขวางมาก    ก็กลับมาที่คำถามเดิมคือ สุนทรภู่เคย"ไปนอก" หรือเปล่า
ดูจากเส้นทางที่อธิบาย  เป็นทะเลฝั่งตะวันตกของไทยล้วนๆ   คือไปทางอินเดียและลังกา   ไม่มีฝั่งตะวันออกที่ไปเมืองจีน

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว              ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร


แสดงว่าท่านเคยเดินทางลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  และคงใช้เวลาอยู่ที่นั่น นานพอสมควร จนสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักได้
เมื่อไปถึงนครศรีธรรมราชได้  ก็อาจเดินทางไปถึงกระบี่หรือภูเก็ต  โดยสารเรือสินค้า  ออกทะเลไปได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 09:52

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว              ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร


แสดงว่าท่านเคยเดินทางลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  และคงใช้เวลาอยู่ที่นั่น นานพอสมควร จนสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักได้

เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

ถ้าจะสรุปว่าสุนทรภู่เคยไปเมืองนครด้วยข้อความตรงนี้ ด้วยตรรกะเดียวกันก็น่าจะสรุปได้อีกว่าสุนทรภู่เคยไปเขมรและลาว

ซึ่งไม่ใช่

ชื่อเสียงของสุนทรภู่ไปถึงเขมรและลาวได้อย่างไร ก็อาจจะไปถึงเมืองนครได้ด้วยวิธีเดียวกัน

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 10:16

"ถ้าจะสรุปว่าสุนทรภู่เคยไปเมืองนครด้วยข้อความตรงนี้ ด้วยตรรกะเดียวกันก็น่าจะสรุปได้อีกว่าสุนทรภู่เคยเป็นเขมรและลาว

ซึ่งไม่ใช่

ชื่อเสียงของสุนทรภู่ไปถึงเขมรและลาวได้อย่างไร ก็อาจจะไปถึงเมืองนครได้ด้วยวิธีเดียวกัน"

คุณเพ็ญชมพูคงตั้งใจพิมพ์คำว่า "ไป" ไม่ใช่ "เป็น"
เขมรและลาวในที่นี้     เขมรอาจหมายถึงอีสานตอนใต้  และลาว อาจหมายถึงภาคเหนือ หรืออีสานเหนือ  ไม่ใช่ประเทศเขมรและลาว ซึ่งตัวหนังสือคนละอย่างกับไทย

ถ้าเป็น ๑๐๐ ปีก่อน ชื่อเสียงแพร่หลายข้ามจังหวัดได้ เพราะมีการพิมพ์หนังสือแล้ว        แต่เวลา ๒๐๐ ปีก่อนที่ยังต้องคัดลอกหนังสือกันด้วยมือ
การที่ใครคนหนึ่งจะพูดอย่างภาคภูมิว่า  ชื่อเสียงตัวเองลือเลื่องไปถึงจังหวัดไกลๆได้   แสดงว่าคนรู้จักกันมาก      ในระดับ public หรือสาธารณะ
ไม่ใช่แค่ "ได้ยินชื่อ" อย่างหลังนี้อาจจะมีเจ้าเมืองที่เคยจ้างเขียนเพลงยาวถึงสาว เท่านั้นที่รู้จักท่าน
   
ลือเลื่องขนาดนี้ต้องฝากผลงานไว้ไม่น้อย    ผลงานที่ว่าคือเพลงยาว อย่างที่ระบุในกลอน
๒๐๐ ปีก่อน ผลงานก็จะล้อมอยู่รอบๆ   ใกล้ๆตัวเจ้าของผลงานนั่นเอง     ท่านรับจ้างเขียนเพลงยาว จนขึ้นชื่อ     คนมาจ้างก็ต้องจ้างกับตัว   ไม่มีทางจ้างข้ามจังหวัดได้
ในระยะเวลา ๒๗ ปีของรัชกาลที่ ๓  สุนทรภู่พ้นราชการ    ท่านคงเลี้ยงชีพด้วยตัวหนังสือ  ขึ้นเหนือล่องใต้และไปทางอีสาน  พักอยู่ครั้งละนานๆแล้วแต่จะมีงานมากน้อยแค่ไหน
มีโอกาสก็ลงเรือสำเภา ไปท่องทะเลด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 10:33

แก้ไข เป็น ---> ไป เรียบร้อยแล้ว

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าลาว เจ้าเขมร ก็มาอยู่ในราชสำนักหลายพระองค์อยู่  คงรู้จักสุนทรภู่บ้างไม่มากก็น้อย

พูดถึงเรื่องลาว

สุนทรภู่จับเอาเจ้าละมานมารับเคราะห์กรรมแบบเดียวกับเจ้าอนุวงศ์ของลาว พ.ศ. ๒๓๗๑

ตอนพระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพจับเจ้าละมานได้ใส่กรงเหล็กขังไว้ให้ชาวเมืองผลึกดู

ฝ่ายข้าเฝ้าชาวบุรินทร์สิ้นทั้งหลาย             ทั้งหญิงชายชื่นใจทั้งไอศวรรย์
เที่ยวดูเหล่าชาวละมานสำราญครัน            แต่ล้วนฟันเสี้ยมแซมแหลมแหลมเล็ก
บ้างดูท้าวเจ้าละมานชาญฉกาจ                เขาจำกราดตรึงองค์ไว้กรงเหล็ก
แขกฝรั่งทั้งพราหมณ์จีนจามเจ๊ก               ผู้ใหญ่เด็กเดินดูเป็นหมู่มุง
บ้างหัวเราะเยาะหยันพวกฟันเสี้ยม             มันอายเหนียมนั่งนิ่งเหมือนลิงถุง
จนพลบค่ำตรำตรากให้ตากยุง                 พวกชาวกรุงตรวจตราในราตรี


วาระสุดท้ายของเจ้าละมานเป็นเช่นไร เจ้าอนุวงศ์ก็เป็นเช่นนั้น

 เศร้า
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 11:10

อ้างถึง
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว              ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
แสดงว่าท่านเคยเดินทางลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  และคงใช้เวลาอยู่ที่นั่น นานพอสมควร จนสร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักได้
เมื่อไปถึงนครศรีธรรมราชได้  ก็อาจเดินทางไปถึงกระบี่หรือภูเก็ต  โดยสารเรือสินค้า  ออกทะเลไปได้

อ้างถึง
ถ้าจะสรุปว่าสุนทรภู่เคยไปเมืองนครด้วยข้อความตรงนี้ ด้วยตรรกะเดียวกันก็น่าจะสรุปได้อีกว่าสุนทรภู่เคยเป็นเขมรและลาว
ซึ่งไม่ใช่  ชื่อเสียงของสุนทรภู่ไปถึงเขมรและลาวได้อย่างไร ก็อาจจะไปถึงเมืองนครได้ด้วยวิธีเดียวกัน

ไม่ได้เข้ามาดูหลายวัน กระทู้ดูอุ่นหนาฝาคั่งขึ้นเยอะทีเดียว ยิงฟันยิ้ม

สงสัยว่า  สมัยต้นรัตนโกสินทร์  ถ้าคนเมืองไหนที่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ จะรู้จักชื่อสุนทรภู่  จำเป็นด้วยหรือว่า  สุนทรภู่ต้องเคยไปอยู่อาศัยหรือไปปรากฏตัวที่เมืองเหล่านั้น  สุนทรภู่ไปเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชนั่นอาจจะเป็นไปได้ ทว่าก็ไม่มีหลักฐานที่จะอ้างอิง  และถ้าจะเกณฑ์ให้สุนทรภู่ไปถึงเมืองลาวและเมืองเขมรคงต้องมีหลักฐานมายืนยันอยู่บ้าง   การที่นักประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะมีชื่อเป็นที่รู้จักไกลถึงต่างเมืองคงไม่จำเป็นต้องไปปรากฏตัวที่เมืองเหล่านั้นด้วยตนเอง   เอาแค่คำบอกเล่าของคนที่เข้ามาที่กรุงเทพฯ กับผลงานที่มีคนคัดลอกไปเผยแพร่ต่อก็น่าจะพอแล้ว  (สุนทรภู่คงไม่ได้ไปแจกลายเซ็นอย่างนักเขียนสมัยนี้)  

จากประวัติของสุนทรภู่ ในรำพันพิลาป  เท่าที่จะยืนยันการเดินทางไกลของสุนทรภู่ได้  สุนทรภู่เคยไปถึงเมืองพิษณุโลก  นั่นน่าจะเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือที่สุนทรภู่เดินทางใกล้เขตเมืองลาวมากที่สุด  ส่วนตะวันออกสุด ที่สุนทรภู่เล่าไว้ก็คือเมืองแกลง  เมื่อคราวไปหาพ่อ   ส่วนทางใต้  สุนทรภู่เคยไปเมืองเพชรบุรีและไปหลายครั้ง   กระนั้นก็ยังไม่วายบ่นไว้ในนิราศเมืองเพชรว่า  ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา  ด้านตะวันตก  ทราบว่าเคยไปถึงเมืองกาญจนบุรี บุกถึงถิ่นกะเหรี่ยง   เราต้องไม่ลืมว่าสุนทรภู่อยู่ในพระนครมานานตั้งแต่เด็กประกอบกับคุ้นเคยความสุขสบายในสังคมชาววัง   แม้จะได้เดินทางไปต่างหัวเมืองหลายครั้ง  สุนทรภู่ก็ยังติดใจอยู่กับความสนุกสบายอย่างชาววังชาวกรุง  

ถ้าจะพิจารณาจากชื่อเสียงของสุนทรภู่ที่ไปปรากฏเมืองตามกลอนในเพลงยาวถวายโอวาท    เมืองเขมร  ข้อนี้ไม่น่าจะมีปัญหา  ใครที่เคยศึกษาวรรณคดีเขมรสมัยย้ายราชธานีไปอยู่ที่กรุงพนมเปญแล้ว   จะเห็นอิทธิพลวรรณคดีไทยในวรรณคดีเขมรหลายเรื่อง   โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระพระหริรักษ์รามาธิบดี ( นักองด้วง ) ทางเขมรมีวรรณคดีที่แต่งด้วยบทพากย์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลอนสุภาพของไทยทุกประการ  อยู่หลายเรื่อง  มีนืราศเรื่องหนึ่ง คือ นิราศนครวัด แต่งอย่างนิราศคำกลอนของไทย  นอจากนี้ก็มีนิทานคำกลอนซึ่งเหมือนกับนิทานคำกลอนของไทย  จริงอยู่ว่า อาจจะเจาะจงไม่ได้ว่า  เป็นอิทธิพลของผลงานสุนทรภู่   แต่พิจารณาดูว่า  ในระยะที่สมเด็จพระพระหริรักษ์รามาธิบดี ( นักองด้วง ) เสด็จมาประทับในเมืองสยามนานก่อนจะได้รับสถาปนาไปเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนั้น  ต้องทรงคุ้นเคยกับสุนทรภู่และเคยทรงอ่านงานสุนทรภู่บ้าง  แน่นอนว่าขุนนางเขมรที่ติดตามพระองค์เข้ามาก็น่าจะรู้จักสุนทรภู่ผ่านงานเขียนของท่าน  ซึ่งระยะเดียวกันกับสุนทรภู่มีกวีที่มีฝีมือใกล้เคียงท่านไม่มาก เท่าที่ทราบคือ นายมี  หมื่นสมพัตสร  แต่นายมีก็แต่งนิราศกับกลอนสวดเป็นพื้น  และไม่ได้เป็นกวีในราชสำนักโดยตรง เป็นช่างเขียน

ที่เมืองลาว  ไม่แน่ใจว่า   สุนทรภู่ใช้คำว่าลาวนี้  หมายความถึงลาวอาณาเขตไหน แน่  จะเป็นลาวเชียงใหม่  ลาวเวียงจันท์ ลาวหลวงพระบาง  ลาวอีสาน  ลาวจำปาศักดิ์ ก็อาจจะอนุมานได้ทั้งนั้น   ถ้าเป็นลาวเชียงใหม่นั้น  สุนทรภู่คงมีชื่อปรากฏว่างานของท่านไปดังที่นั่น  เพราะมีคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีอยู่ที่นั่น และก็ยังมีพระอภัยมณีชาดกอยู่เป็นหลักฐานว่าคนล้านนาก็นิยมงานของสุนทรภู่  ส่วนลาวอื่นๆ ในเขตล้านช้างยังไม่เห็นหลักฐานที่แสดงอิทธิพลของสุนทรภู่ที่มีต่องานวรรณคดีของเขา  แต่น่าสังเกตว่า เจ้านายล้านช้างเองก็เข้ามาอยู่ในราชสำนักสยาม ย่อมน่าจะรู้จักกับสุนทรภู่  โดยเฉพาะเจ้าอนุวงศ์

ที่เมืองนคร  โดยส่วนใหญ่วรรณคดีภาคกลางภาคใต้จะเป็นเรื่องเดียวกัน  เนื้อหาอย่างเดียวกัน  อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมทางภาษาของสองภูมิภาคไม่ค่อยแตกต่าง  มีวรรณคดีลางเรื่องในภาคกลางไปปรากฏในวรรณคดีภาคใต้ เช่น เสือโค ก กา ของนายมี ก็ไปปรากฏที่ภาคใต้ ต่างกันบ้างที่ถูกแปลงคำบางคำเป็นภาษาถิ่นใต้  เป็นต้น  ชื่อเสียงและผลงานสุนทรภู่คงจะมีไปถึงเมืองนครบ้างก็ไม่น่าแปลก  อีกทั้งเจ้าพระยานคร แต่ละคนก็เคยเข้ามาอยู่ที่ราชสำนักกรุงเทพฯ  นาน ก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าพระยานครฯ

ฉะนั้นสุนทรภู่จะมีชื่อเสียงไปถึงเมืองนครก็ดี เมืองเขมรก็ดี  หรือเมืองลาวก็ดี  ก็ไม่เป็นต้องปรากฏตัวที่เมืองเหล่านั้นเสมอไป  ท่านไปแต่ชื่อเสียงในคำเล่าลือและผลงานก็น่าจะพอ  ที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่ง  ถ้าสุนทรภู่ไปเมืองเล่านั้นจริง  แต่ท่านไปโดยไม่ได้ประกาศตัวให้ใครทราบว่าเป็นใคร  จะมีใครรู้จักท่าน  ยิ่งถ้าไม่ได้แสดงฝีมืองานเขียนอย่างใดไว้  ก็คงจะไม่มีคนในหัวเมืองไกลพระนครจะรู้จักท่านว่าเป็นกวีเอกในเมืองหลวง  คงจะหาคนรู้สุนทรภู่ยากนัก ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 11:33

เสียงปี่เสียงกลอง ประโคมมาแต่เช้า   คุณหลวงเล็กจะไม่ขึ้นเวที  ก็ผิดที
จึงมาด้วยความคิดเห็นยาวเหยียดและเข้มข้นทีเดียว  ยิงฟันยิ้ม

ต้องย้อนกลับไปที่กลอนอีกครั้ง
อ้างถึง
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว        เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
ข้อนี้ระบุอาชีพสุนทรภู่ได้ไหมคะ   ที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักถึงหัวเมืองใหญ่ๆ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 12:12

ทำอย่างไรได้ล่ะครับ   มาทีหลังเขา   ก็ต้องช้ากว่าเขาเป็นธรรมดา   กว่าจะสำแดงความเห็นได้  ต้องกลับไปอ่านความเห็นคนอื่นที่ล่วงมาหลายวันให้จบและเข้าใจก่อน

อ้างถึง
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว    เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
ข้อนี้ระบุอาชีพสุนทรภู่ได้ไหมคะ   ที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักถึงหัวเมืองใหญ่ๆ

น่าจะอนุมานว่า อาชีพของท่านสุนทรภู่ได้   งานหลักของท่านคือ รับราชการเป็นอาลักษณ์ ในกรมพระอาลักษณ์  และคงเป็นราชบัณฑิตด้วย  เพราะราชทินนามของท่านอยู่ในกรมราชบัณฑิต  แต่ข้าราชการทั้งสองกรมนี้ทำงานร่วมกัน  บางทีก็เอาราชบัณฑิตมาเป็นอาลักษณ์ด้วย   นี่เป็นทางสันนิษฐานว่า  ท่านสันทรภู่คงจะมีลายมือสวยตามแบบอาลักษณ์  ไม่ใช่นั้น ก็คงไม่แต่งสอนไว้ในเสภาขุนช้างขุนแผนว่า   ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ   เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

ส่วนงานรองในสมัยรับราชการ  หรืองานหลักในสมัยเว้นว่างการรับราชการ  ท่านก็คือ นักเลงแต่งเพลงยาว  คำว่าเพลงยาว  คงหมายถึง กลอนตลาด ทั่วไป    ว่ากันว่า  สุนทรภู่นั้นมีคนมาว่าจ้างให้แต่งเพลงยาวอยู่เสมอๆ  โดยเฉพาะบรรดาสาวๆ (อาจะเป็นสาวๆ ฝ่ายในในวังด้วย) ซึ่งมาคอยให้สุนทรภู่แต่งเพลงยาวตอบผู้ชาย   เข้าใจว่า  ผู้ชายก็คงมาวานสุนทรภู่แต่งเพลงยาวจีบสาวอยู่เหมือนกัน   (มีเรื่องเล่ากันอีกว่า  บางทีสุนทรภู่รู้ว่า  ชายแอบชอบหญิงคนใดก็เลยแต่งเพลงยาวช่วยฝ่ายชายให้ได้คู่  เพราะทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายมาให้ท่านแต่งให้  ก็สนุกท่านสิงานนี้)

อาชีพต่างเพลงยาวนี้  คงทำให้ท่านมีรายได้พอกินไม่ถึงกับอด แต่คงจะไม่ถึงกับร่ำรวยมั่งมี  กระนั้นถึงคราวไม่มีคนมาว่าจ้างแต่งเพลงยาว  ท่านก็ต้องหางานอื่นมาทำคือแต่งกลอนนิทานขายให้คนมาคัดลอกไปอ่านพอมีรายได้เลี้ยงตัว

การแต่งเพลงยาวของสุนทรภู่ คงจะเป็นเหตุให้สุนทรภู่ต้องอธิกรณ์เมื่อบวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ ด้วยก็เป็นได้  ดังที่ท่านเล่าไว้ในนิราศบางเรื่อง  เพราะไหนจะมีหญิงสาวมาเข้าๆ ออกๆ กุฏิท่าน  ไหนจะมีของกินมาถวายเป็นค่าแต่งเพลงยาว  หนักเข้าท่านอาจจะถูกเขม่นจากผู้อื่นในวัดเดียวกัน จนอาจจะถูกร้องเรียนว่าประพฤติตนไม่บริสุทธิ์  (โลกวัชชะ) ไม่สมกับสมณเพศ  เมื่อมีการไต่สวน  ท่านคงจะเปลื้องมลทินไม่หลุด จึงถูกขับออกจากวัดไปอยู่วัดอื่น  แต่เข้าใจว่า คนว่าจ้างแต่งเพลงยาวก็คงตามไปหาท่านอีกนั่นแหละ

อันที่จริง  สุนทรภู่เคยทำอาชีพบอกบทละครด้วย  มีกลอนยืนยันอยู่ในนิราศพระบาท  แต่คงเป็นสมัยรัชกาลที่ ๑ ยิ้ม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 13:25

มี ๒ เสียง ต่อ  ๑  ว่าสุนทรภู่อาจไม่ได้เดินทางไกลไปหัวเมืองไกล    ด้วยตัวเอง       มีแต่ชื่อเสียงเท่านั้นที่ขจรขจายไปถึง
น่ากลัวจะแปรญัตติไม่ได้เสียแล้ว  ขาดคนยกมือสนับสนุน

ย้อนกลับมาเรื่องพราหมณ์    ถ้าหมดเรื่องชีเปลือยแล้ว  จะกลับมาพาทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ ออกโรงได้หรือยัง
แกคอยอยู่หลังม่านมาหลายวันแล้วค่ะ

คุณหลวงหรือคุณเพ็ญ ก็ได้   กรุณาบรรเลงเพลงโหมโรงด้วย   จะขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 09:17

งานหลักของท่านคือ รับราชการเป็นอาลักษณ์ ในกรมพระอาลักษณ์  และคงเป็นราชบัณฑิตด้วย  เพราะราชทินนามของท่านอยู่ในกรมราชบัณฑิต  แต่ข้าราชการทั้งสองกรมนี้ทำงานร่วมกัน  บางทีก็เอาราชบัณฑิตมาเป็นอาลักษณ์ด้วย

ราชทินนาม สุนทรโวหาร จากทำเนียบข้าราชการวังหลัง ปรากฏอยู่กรมพระอาลักษณ์และกรมราชบัณฑิต

กรมพระอาลักษณ์

พระสุนทรโวหาร              จางวาง                    ศักดินา  ๒๕๐๐
หลวงลิขิตปรีชา               เจ้ากรม                   ศักดินา   ๑๘๐๐
ขุนสารบรรจง                  ปลัดกรมขวา             ศักดินา   ๘๐๐
ขุนจำนงสุนทร                 ปลัดกรมซ้าย            ศักดินา   ๕๐๐

กรมราชบัณฑิต

พระมหาวิชาธรรม             จางวาง                   ศักดินา    ๕๐๐
หลวงสุนทรโวหาร             เจ้ากรม                  ศักดินา    ๔๐๐
หลวงญาณปรีชา              เจ้ากรม                  ศักดินา     ๔๐๐
ขุนธรรมพจนา                 ปลัดจางวาง             ศักดินา    ๓๐๐
ขุนเมธาภิรมย์                 ปลัดกรม                 ศักดินา    ๓๐๐
ขุนอุดมปรีชา                  ปลัดกรม                 ศักดินา    ๓๐๐

ในรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่มีตำแหน่งเป็น หลวงสุนทรโวหาร ในกรมราชบัณฑิต แต่ถูกเรียกตัวมาช่วยราชการในกรมพระอาลักษณ์ จนถึงในรัชกาลที่ ๔  จึงได้เป็น พระสุนทรโวหาร จางวางกรมพระอาลักษณ์

ส่วนตำแหน่ง ขุนสุนทรโวหาร ที่มักพูดกันในประวัติสุนทรภู่ไม่ปรากฏในทำเนียบข้าราชการ

 ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 10:43

คุณ Sila เคยโพสต์ไว้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2669.msg51303#msg51303

เรื่องอาลักษณ์ขี้เมา ครับ

             ตั้งแต่เล็กได้รับรู้ว่าสุนทรภู่ท่านเป็นอาลักษณ์ขี้เมา จำได้จากหนังสือภาพประวัติท่านที่อ.เปลื้อง ณ นคร
เล่าไว้ตอนสุนทรภู่ทะเลาะกับแม่จัน ครูเหมวาดรูปสุนทรภู่ผู้เมามายยืนอ้าแขนเปิดอกท้าทายแม่จันที่เงื้อมีดด้วยความโกรธจัด
             ตัวสุนทรภู่ท่านแต่งกลอนว่า -  เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว   

            อาจารย์ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
แสดงความเห็นว่า
                 ที่สุนทรภู่บอกอยู่ตลอดเวลาว่า เป็นอาลักษณ์นั้น  แท้จริงแล้ว
          ตำแหน่ง ขุนสุนทรโวหาร ตามที่ปรากฏศักดินาพลเรือน ไม่ได้อยู่ในกรมพระอาลักษณ์
แต่อยู่ในฝ่ายของกรมราชบัณฑิต และมักมีผู้เอาไปสับสนกับ ตำแหน่งพระสุนทรโวหารซึ่งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์
ของวังหน้า ทั้งที่ศักดินาต่างกัน
          กรณีของสุนทรภู่ อาจเป็นได้ที่ตัวอยู่กรมหนึ่ง แต่ถูกเรียกตัวไปช่วยอีกกรมหนึ่ง เพราะปรากฏหลักฐาน
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ระบุไว้ว่าขุนสุนทรโวหาร ผู้ว่าที่พระอาลักษณ์ หมายถึงขุนสุนทรโวหาร ถูกเรียกตัวไปช่วยในกรมพระอาลักษณ์

         "ตำแหน่งนี้ปรากฏมาถึงรัชกาลที่ 4 ตามที่มีในหลักฐานว่า โปรดฯ ให้ขุนสุนทรโวหาร ผู้ช่วยราชการในกรมพระอาลักษณ์
เป็นผู้แปลพงศาวดารเขมร แสดงว่าพอถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ถูกนำไปช่วยราชการในกรมพระอาลักษณ์ตลอด"
อาจารย์ศานติตั้งข้อสันนิษฐาน
           อาจารย์ศานติอธิบายว่า มีผลงานของสุนทรภู่ 3 เรื่อง ที่เขมรนำไปแปลเป็นกลอนภาษาเขมร คือ
เรื่อง ลักษณวงศ์ จันทโครพ และ พระอภัยมณี เรื่องหลังนี้ฉบับที่พบในปัจจุบันถึงแค่ตอนนางยักษ์ลักพาพระอภัยมณีเข้าถ้ำ
          ลักษณะกลอนของสุนทรภู่ ก็แพร่เข้าไปในเขมรเช่นกัน แต่เดิมเขมรไม่เคยเขียนกลอน แต่ปรากฏว่าในช่วงนั้น
มี "เปียะปรำปีล" เป็นบทพากษ์ 7 คล้ายรูปแบบกลอนของสุนทรภู่
          "ตำแหน่งสุนทรโวหาร ก็เข้าไปเป็นตำแหน่งในกรมอาลักษณ์ของเขมรด้วย" อาจารย์ศานติตบท้าย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 10:45

คุณเพ็ญ   ตำแหน่งของสุนทรภู่ น่าจะเป็นของวังหน้า มากกว่าวังหลังนะคะ
ในประวัติบอกว่า สุนทรภู่ไปพึ่งสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในบั้นปลายชีวิต  ในรัชกาลที่ ๔  ไม่มีวังหลังแล้ว
ตำแหน่งข้าราชการวังหลัง น่าจะโอนเข้าวังหลวงหรือวังหน้า ทั้งหมด
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 12 ม.ค. 10, 11:15

เรื่องของคุณศิลา มาจากลิ้งก์ใน # ๕๕
http://www.piwdee.net/teacher2.htm

ข้อมูลเกี่ยวชื่อตำแหน่ง ขุนสุนทรโวหาร ของอาจารย์ศานติ อ่านแล้วก็ยังสงสัยอยู่

ชื่อตำแหน่ง หลวงสุนทรโวหาร ของสุนทรภู่นั้นปรากฏร่องรอยอยู่ในคำกราบบังคมทูลฟ้องขุนพิพิธภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย เขียนโดยสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับสุนทรภู่ คือเกิดเมื่อ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๑ หลังสุนทรภู่เพียง ๒๒ ปี

ท่านเขียนไว้ดังนี้

แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จางวางเสือ ทำหนังสือทิ้งว่าหม่อมไกรสร ท่านก็เอาโทษ  หมื่นไวย์เพ็ง นอกราชการ นายเถื่อนคางแพะ พูดจาติเตียนแม่ทัพนายกอง ท่านก็เอาโทษถึงตายทั้งนั้น และผู้ทำนิราศแต่ก่อนมา พระยายมราชกุน หม่อมพิมเสน ครั้งกรุงเก่า หลวงสุนทรภู่ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทำไว้หลายเรื่อง หาได้กระทบกระเทือนถึงการแผ่นดินไม่ ผู้ทำนิราศฉบับนี้ว่าความก้าวร้าวมาก ด้วยการจะบังคับบัญชารักษาแผ่นดินต่อไป จะเป็นที่ชอบช้ำด้วยถ้อยคำของคนที่กล่าวเหลือ ๆ เกิน ๆ

การที่ท่านเรียกสุนทรภู่ว่า "หลวงสุนทรภู่" เพราะสุนทรภู่เป็นหลวงสุนทรโวหารอยู่เป็นเวลานาน  แม้ภายหลังได้เลื่อนเป็นพระสุนทรโวหาร ท่านจึงยังคงเรียกเป็น "หลวงสุนทรภู่" อยู่ตามเดิม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง