เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46506 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 12:54

กลับมาเรื่องพระอภัยมณี

ลองเทียบพระอภัยมณีกับขุนช้างขุนแผน  เรื่องฉากและเหตุการณ์    สังเกตอยู่อย่างว่าในขุนช้างขุนแผน  ฉบับหอพระสมุด    พระเอกตั้งแต่พ่อถึงลูก เป็นนักรบทางบก    ไม่เคยแม้แต่เฉียดชายหาด
แต่พระอภัยมณี ตรงกันข้าม คือฉากทะเลเยอะมาก   
เริ่มเรื่อง เป็นฉากทางบกก็จริง คือเจ้าชายสององค์เดินทางบุกป่าฝ่าดงไปเรียน  แต่พอพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนจบ   กลับบ้านถูกไล่จากเมือง  ทีนี้ก็เริ่มด้วยฉากทะเล
จากนั้นก็วนเวียนอยู่กับฉากทะเลอีก  ไม่รู้ว่ากี่ฉากต่อกี่ฉาก   จนกระทั่งถึงศึกเมืองผลึกกับลังกา 

สุนทรภู่น่าจะเคยเดินเรือระยะทางไกลทีเดียว    และมากกว่า ๑ หน   ถ้าเคยนั่งเรือออกปากอ่าวไปแค่ผิวเผิน   ท่านคงไม่ประทับใจจนกระทั่งมาใส่ไว้เป็นฉากยืดยาวติดกันหลายต่อหลายตอน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 14:57

ทะเลอันดามันในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ มีหมู่เกาะอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า นาควารินทร์ ปัจจุบันคือ หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar  Islands) สุจิตต์ วงษ์เทศกล่าวว่าชื่อ นิโคบาร์ เพี้ยนมาจากชื่อ นาควาระ หมายถึงถิ่นนาค  นาคในที่นี้มีความหมายที่เป็นไปได้อยู่ ๒ อย่างคือ งู หรือ คนเปลือย

สุนทรภู่เอาความหมายแรกมาอธิบายถึงดินแดนนี้ตามนิยายของศาสนาพราหมณ์เรื่องนาคกับครุฑ

ฝ่ายปู่เจ้าหาวเรอเผยอหน้า          นั่งหลับตาเซื่องซึมดื่มอาหนี
แล้วว่าปู่เจ้าเขาคีรี                  ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก           ชื่อว่านาควารินทร์สินธุ์สมุทร
ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ
     ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย


แต่แท้จริงแล้วดินแดนแถบนี้อยู่ในความหมายที่สองคือเป็นถิ่นของคนเปลือย ซึ่งสุนทรภู่ไม่ได้กล่าวถึง

แม้ในปัจจุบัน เหล่าคนเปลือยก็ยังคงอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้
http://www.andaman.org/NICOBAR/book/Shompen/Shompen.htm

 ยิ้มเท่ห์



 


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 16:21

ถ้าว่ากันตามนิราศที่สุนทรภู่บรรยายความตามที่ได้เดินทางไปยังหัวเมืองติดทะเล  ก็มีนิราศเมืองแกลง ที่สุนทรภู่คงจะได้เดินทางออกทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต  และได้รับความลำบากจากการเดินทางมากทีเดียว  และนิราศเมืองเพชร ซึ่งน่าจะแต่งตอนบั้นปลายชีวิตของสุนทรภู่แล้ว  แต่จากกลอนที่สุนทรภู่บรรยายไว้ในนิราศเรื่องนี้  ทำให้ทราบว่า สุนทรภู่เคยเดินทางมาเมืองเพชรบุรีก่อนหน้าที่จะมาครั้งแต่งนิราศเมืองเพชรแล้ว  ส่วนท่านจะได้เคยเดินทางออกทะเลมากี่ครั้งนั้นไม่ทราบได้     แต่เข้าใจว่าสุนทรภู่น่าจะเดินไปหัวเมืองติดทะเลเมืองอื่นๆ ด้วย   เคยมีผู้สันนิษฐานว่า สุนทรภู่น่าจะเคยเดินทางไปเมืองถลางหรือภูเก็ตด้วย  (น่าจะเป็นอ.ล้อม เพ็งแก้ว เป็นผู้สันนิษฐาน)

แต่ถ้าพิจารณาช่วงเวลาที่สุนทรภู่จะได้ออกจากพระนครไปตามหัวเมืองได้นั้น  ก็น่าจะเป็นช่วงรัชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชกาลที่ ๒ ที่สุนทรภู่ยังไม่ได้เข้ารับราชการในวังหลวง  และช่วงรัชกาลที่ ๓ ตลอดรัชกาล  ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๔ สุนทรภู่อายุมากแล้วคงจะเพลาๆ เรื่องการเดินทางไกลๆ ลง  อีกทั้งมีหน้าที่รับราชการที่วังหน้าด้วย    อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น   ลังเล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 17:08

คำบรรยายทิวทัศน์ทางทะเล เมื่อพ้นปากอ่าว    

กรุงกษัตริย์ตรัสชวนพระลูกแก้ว                          ให้ชมแถวที่ชลาคงคาใส
เหล่าละเมาะเกาะเกียนเหมือนเขียนไว้                 มีเขาไม้โขดคุ่มงุ้มชะเงื้อม
บ้างงอกง้ำน้ำท่วมถึงเชิงผา                               แผ่นศิลาแลลื่นคลื่นกระเพื่อม
เสียงดังโครมใหญ่ไม่กระเทื้อม                           เป็นไคลเลื่อมเลื่อมผาศิลาลาย
พอลมเรื่อยเฉื่อยชื่นคลื่นสงัด                             ให้แล่นตัดไปตามวนชลสาย
ชมมัจฉาสารพัดพวกสัตว์ร้าย                              เห็นคล้ายคล้ายว่าเคล้าสำเภาจร

ฝูงกระโห้โลมาขึ้นคลาคล่ำ                                 บ้างผุดดำเคลื่อนคล้อยลอยสลอน
ทั้งกริวกราวเต่าปลาในสาคร                               เที่ยวสัญจรหากินในสินธู
ฝูงฉลามล้วนฉลามมาตามคลื่น                            ฉนากตื่นชมฉนากไม่จากคู่
ปลาวาฬวนพ่นฟองขึ้นฟ่องฟู                               ทั้งราหูเหราสารพัน


ยังนึกไม่ออกว่า พ้นปากอ่าวไทยแล้ว ทะเลที่เห็นส่วนนี้น่าจะเป็นหมู่เกาะส่วนไหน    ต้องขอคุณเพ็ญชมพูสอบข้อมูลจากภูมิศาสตร์สุนทรภู่ให้หน่อยได้ไหมคะ
จากที่อ่าน เชื่อว่าเป็นการบรรยายจากภาพที่เคยเห็น  ไม่ใช่จากคำบอกเล่า    อย่างบรรยายปลาว่า "เห็นคล้ายคล้ายว่าเคล้าสำเภาจร" คือปลามันว่ายตามเรือ หรือว่ายอยู่ข้างเรือเลยทีเดียว
ส่วนปลาที่เอ่ยชื่อมา  ปลาน้ำเค็มทั้งหมดหรือเปล่าคะ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ม.ค. 10, 22:00 โดย Hotacunus » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 19:04

ฉากบนเรือกลางทะเล ก็ชัดเจนด้วยรายละเอียด   สุนทรภู่น่าจะเคยเดินทางกลางทะเลด้วยตัวเอง ไม่ใช่ด้วยคำบอกเล่า 

พอสุริยงลงลับพยับโพยม                                เขาจุดโคมสายระยางสว่างไสว
ฆ้องระฆังหง่างเหง่งวังเวงใจ                             พระอภัยเผยแกลแลดูดาว
เห็นเดือนหงายฉายแสงแจ้งกระจ่าง                   ต้องน้ำค้างซักสาดอนาถหนาว
น้ำกระเซ็นเป็นฝอยดูพร้อยพราว                       อร่ามราวเพชรรัตน์จำรัสราย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 08 ม.ค. 10, 08:05

อ้างถึง
ฝูงกระโห้โลมาขึ้นคลาคล่ำ                    บ้างผุดดำเคลื่อนคล้อยลอยสลอน
ทั้งกริวกราวเต่าปลาในสาคร                               เที่ยวสัญจรหากินในสินธู
ฝูงฉลามล้วนฉลามมาตามคลื่น                            ฉนากตื่นชมฉนากไม่จากคู่
ปลาวาฬวนพ่นฟองขึ้นฟ่องฟู                               ทั้งราหูเหราสารพัน

กลอนนี้เข้าใจว่าสุนทรภู่แต่งตามขนบนิยมในวรรณคดีไทยที่มักเอาชื่อปลามากล่าวเมื่อกล่าวถึงท้องน้ำท้องทะเล  บางทีก็เอาทั้งปลาน้ำเค็มน้ำจืดมาปะปนในท้องน้ำเดียวกันได้    เพียงชื่อแรก กระโห้  ก็ไม่ใช่ปลาน้ำเค็มเสียแล้ว   และยิ่งเห็นเต่าในท้องทะเล กลางทะเล ยิ่งเป็นไปได้ยาก  ปลาราหูนี่ ไม่แน่ใจว่าใช่ปลากระเบนราหูหรือไม่  ถ้าใช่ก็เป็นปลาที่เห็นได้ยาก  และปกติก็ไม่ใช่ปลาที่ว่ายลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วย  การที่จะได้เห็นปลาชนิดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เกิดได้บ่อยๆ   กระนั้นก็นับสุนทรภู่บรรยายความตอนนี้ได้ใกล้ความเป็นจริงอยู่บ้าง   อันที่จริงต้องเอากลอนที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ในเรื่องพระอภัยมณีมาลองเทียบเคียงด้วยว่า  สุนทรภู่แต่งตามขนบนิยมจริงหรือไม่  ลำพังกลอนตอนเดียวอาจจะตัดสินไม่ได้ทั้งหมด ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 08 ม.ค. 10, 12:29

เต่า ในกลอน  ดิฉันนึกถึงเต่าทะเลตัวใหญ่ๆ  ไม่ใช่เต่าตัวเล็กตามบึงตามสระ
กลอนตอนนี้ บรรยายธรรมชาติของสัตว์ทะเล  เช่น ฉนากมาเป็นคู่  (ข้อนี้ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า)
ปลาวาฬพ่นน้ำ  (ตรงตามที่บรรยายในรำพันพิลาป)
ส่วนราหูกับเหรา ไม่แน่ใจว่าเป็นปลาทะเลจริงๆหรือว่าในจินตนาการ    ราหูอาจเป็นปลากระเบนก็ได้
ส่วนเหรา  รู้แต่ว่าเป็นลูกผสมระหว่างนาคกับจระเข้   เป็นสัตว์ในจินตนาการ   แต่ไม่รู้ว่าเป็นชื่อเรียกสัตว์ทะเลชนิดอื่นด้วยหรือเปล่า

ฉากชมทะเล  ในตอนต้นๆของเรื่อง  คือเมื่อพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อลักไป  ศรีสุวรรณออกติดตาม  นั่งสำเภายนต์ของพราหมณ์โมรา
บรรยายคล้ายๆกับบทในค.ห.ก่อนๆ คือมองเห็นเกาะ  พอตกค่ำก็เห็นฟอสฟอรัสในคลื่น และชมปลาจริงที่ปนกับจินตนาการ

พอสิ้นแสงสุริยันจันทร์กระจ่าง                        ส่องสว่างกลางทะเลพระเวหา
ต้องพระพายชายพัดกระพือมา                       สำเภาหญ้าฝ่าคลื่นมากลางชล
พระเล็งแลตามกระแสชลาสินธุ์                       สิขรินทร์เกาะแก่งทุกแห่งหน
ละลิบลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน                         เห็นแต่ชลกับมัจฉาดาราพราย
เวลาค่ำน้ำเค็มก็พร่างพร่าง                             แวมสว่างวาบวับระยับฉาย
เสมอเม็ดเพชรรัตน์โมราราย                           แจ่มกระจายพรายพร่างกลางนภา
..................................
ฉนากฉลามตามคลื่นอยู่คลาคล่ำ                     ทั้งช้างน้ำโลมาและราหู
มังกร
เกี่ี่ยวเลี้ยวล่องท้องสินธู                          เป็นคู่คู่เคียงมาในวารี


มังกร ในที่นี้อาจหมายถึงงูทะเล เป็นไปได้ไหมคะ   
ยังมีลักษณะเหนือจริงอยู่บ้าง   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 08 ม.ค. 10, 14:34


คำบรรยายทิวทัศน์ทางทะเล เมื่อพ้นปากอ่าว    

กรุงกษัตริย์ตรัสชวนพระลูกแก้ว                          ให้ชมแถวที่ชลาคงคาใส .......

ยังนึกไม่ออกว่า พ้นปากอ่าวไทยแล้ว ทะเลที่เห็นส่วนนี้น่าจะเป็นหมู่เกาะส่วนไหน    ต้องขอคุณเพ็ญชมพูสอบข้อมูลจากภูมิศาสตร์สุนทรภู่ให้หน่อยได้ไหมคะ


กษัตริย์ในตอนนี้คือท้าวสิลราชแห่งเมืองผลึก ส่วนพระลูกแก้วคือนางสุวรรณมาลี  ตำแหน่งของเมืองผลึกมีการตีความตำแหน่งของเมืองเป็น ๒ แห่ง ตามความเห็นของกาญจนาคพันธุ์คือตอนใต้ของพม่า ส่วนของสุจิตต์ วงษ์เทศคือเมืองถลางหรือภูเก็ต ไม่ว่าเมืองผลึกจะอยู่ที่ไหนสองแห่งนี้ แต่ไม่ได้อยู่ในอ่าวไทยแน่นอน

ออกเดินทางจากเมืองผลึกมาเจ็ดวันเจ็ดคืน

ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนเป็นคลื่นคลั่ง         เรือที่นั่งซัดไปไกลหนักหนา
จนผ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา         ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด


ปู่เจ้าเขาคิรีบอกว่าตำแหน่งนี้คือทะเลแถบนาควารินทร์ (หมู่เกาะนิโคบาร์)

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคิรี                   ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก             ชื่อว่านาควารินทร์สินธุสมุทร


หมู่เกาะนิโคบาร์อยู่ในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน

 ยิ้มเท่ห์


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 08 ม.ค. 10, 15:38

อ้างถึง
ปู่เจ้าเขาคิรีบอกว่าตำแหน่งนี้คือทะเลแถบนาควารินทร์ (หมู่เกาะนิโคบาร์)

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคิรี                   ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก             ชื่อว่านาควารินทร์สินธุสมุทร

หมู่เกาะนิโคบาร์อยู่ในทะเลอันดามัน

เกาะนาควารี เป็นเกาะที่คนไทยรู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว  มีหลักฐานคือ  ปรากฏภาพวาดเกาะนาควารีในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยาและสมัยต่อๆ มา  แต่ตำแหน่งของเกาะนาควารีในสมุดภาพไตรภูมิจะวางลงในตำแหน่งทิศใต้ถัดจากเกาะลังกา  ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะสมุดภาพไตรภูมิแสดงตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ในทะเลปักษ์ใต้ลงไปถึงชวาและทะเลฝั่งอันดามันค่อนข้างสับสน  สมุดภาพไตรภูมิจะไล่สถานที่จากมลายู ภาคใต้ของไทย หัวเมืองมอญติดชายทะเล หัวเมืองพม่า  ชายฝั่งทะเลอินเดีย ลงไปถึงเกาะลังกา ซึ่งมีรายละเอียดสถานที่บุญสถานมาก  เมื่อไล่สถานที่เลียบตามชายฝั่งดังนี้  โดยไม่มีอ่าวเบงกอล  จึงต้องวางเกาะนาควารีไว้ต่อจากเกาะลังกาแทน ซึ่งความจริงเกาะนาควารี  อยู่ในอ่าวเบงกอลถึงก่อนเกาะลังกา  ในภาพเกาะนาควารีที่ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิจะมีคำบรรยายว่า  เกาะนาควารีมีคนเปลือยอาศัยอยู่  พร้อมกับมีภาพวาดผู้ชายผู้หญิง ๑ คู่เปลือยนุ่งใบไม้
ส่วนที่ว่า "ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก"   เคยได้ยินเรื่องที่เล่ากันว่า  มักมีเรือที่แล่นเข้าใกล้เกาะนาควารีแล้วรู้สึกคล้ายๆ ว่าเรือกำลังถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น   จึงทำให้คนในเรือนั้นเข้าใจว่าที่เกาะนาควารีมีปรอทแร่แม่เหล็กมาก   เรื่องนี้คงเป็นเพราะกระแสน้ำทะเลแถบนั้นบวกกับกระแสลมทำให้เรือดูคล้ายถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น ฮืม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 08 ม.ค. 10, 15:53

ส่วนที่ว่า "ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก"   เคยได้ยินเรื่องที่เล่ากันว่า  มักมีเรือที่แล่นเข้าใกล้เกาะนาควารีแล้วรู้สึกคล้ายๆ ว่าเรือกำลังถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น   จึงทำให้คนในเรือนั้นเข้าใจว่าที่เกาะนาควารีมีปรอทแร่แม่เหล็กมาก   เรื่องนี้คงเป็นเพราะกระแสน้ำทะเลแถบนั้นบวกกับกระแสลมทำให้เรือดูคล้ายถูกดูดเข้าไปที่เกาะนั้น ฮืม

มีนิยายปรัมปราเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า บนเกาะนาควารีนี้มีภูเขาแม่เหล็ก ซึ่งสามารถจะดูดเอาเหล็กจากที่ต่าง ๆ เข้าไปติดที่ภูเขาได้ จึงเป็นธรรมเนียมตั้งแต่อินเดียใต้จนถึงมลายู ไทย ญวน ไปจนถึงจีนว่า การต่อเรือสำเภาต้องไม่ให้มีเหล็กเช่นตะปูหรือเหล็กพืดอะไรเป็นอันขาด ต้องต่อด้วยวิธีใช้ไม้ตลอดทั้งลำ

 ยิ้มกว้างๆ



บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 08 ม.ค. 10, 17:22

เหรา คือแมงดาทะเลชนิดหนึ่ง มีพิษ กินไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 09 ม.ค. 10, 22:57

เรื่องเกาะแม่เหล็กนี้ ผมคุ้นๆ ว่า มีเล่าอยู่ใน "ซินด์แบดผจญภัย" คือเป็นข้อห้ามของชาวเรือว่า ห้ามต่อเรือด้วยตะปู มิฉะนั้น ถ้าแล่นผ่านเกาะนี้ เรือจะแตก เพราะเกาะจะดูดเอาตะปูออกไป

คุ้นๆ แต่ไม่ยืนยันนะครับว่า มาจากเรื่องซินด์แบด ถ้าใช่ ก็อาจเป็นตอนที่ซินด์แบดเดินทางไปเจอนกร๊อก ซึ่งเป็นนกยักษ์ประจำเกาะ มีผู้ตีความว่า นิทานกลาสีแขกเหล่านี้ มีแรงบันดาลใจมาจาก ครุฑ ของอินเดีย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 10 ม.ค. 10, 19:09

ใช่ค่ะ  ในหนังสือ อาหรับราตรี ที่เสฐียรโกเศศแปลไว้  มีการผจญภัยของซินแบดหลายเที่ยวด้วยกัน
หนึ่งในจำนวนนั้นเล่าถึงภูเขาแม่เหล็ก ที่เรือแล่นเข้าไปจะถูกดูดเหล็กในเรือ เช่นตะปู ปลิวไปหมด  แล้วเรือก็จะแตก  กลาสีจมน้ำตายกันหมด   ซินแบดเป็นกลาสีดวงแข็งที่รอดตายมาได้
ในเรื่องซินแบด กล่าวถึงเกาะสรินทีป  ที่เสฐียรโกเศศ วงเล็บไว้ว่าหมายถึงเกาะลังกา   ซินแบดเป็นทูตจากแบกแดด มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ที่นี่ด้วย 

นกรอคที่ซินแบดเจอ   เป็นนกยักษ์ ขาแต่ละข้างเท่าเสาเรือน    ในฉบับอังกฤษสะกดว่า roc   ลองหาจากกูเกิ้ลดูก็คงทราบความเป็นมาค่ะ
รูปนี้เป็นรูปนกรอคกำลังทำลายเรือของซินแบด  ด้วยการทิ้งหินก้อนเท่าตุ่มน้ำลงมา  เพราะกลาสีในเรือฆ่าลูกมันมาย่างกิน


บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 10 ม.ค. 10, 19:43

ขอบคุณครับ อาจารย์

ผมอ่านแล้ว รู้สึกว่า การผจญภัยของซินด์แบด มักวนเวียนอยู่แถวๆ ทะเลอันดามัน

ชื่อนิโคบาร์ คือ นาควาีรี มีนัยหมายถึง เกาะงูทะเล นกร็อก จับงูทะเลเหล่านี้เป็นอาหาร (คุ้นๆ อีกแล้ว  อายจัง )

สรินทีป หรือ สรนดีป เป็นสำเนียงแขกอาหรับที่เพี้ยนมาจาก สิงหลทวีป หรือ สิงหลทีป (Simhaladip) แล้วคำว่า สรัน ก็เพี้ยนต่อไปเป็นคำฝรั่งว่า ซีลอน (Cylon) ครับ

ผมเคยซื้อซินด์แบด ฉบับภาษาฝรั่งเศส ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอาหรับ มีอยู่บางตอนที่ฉบับภาษาไทย ไม่ได้แปลไว้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นเนื้อเรื่องตอนบรรยาย สภาพภูมิศาสตร์โบราณครับ

ไปๆ มาๆ น่าสนใจเหมือนกันนะครับว่า สุนทรภู่เคยฟังนิทานเรื่องซินด์แบดผจญภัย จากพ่อค้าอาหรับหรือไม่ (ถ้าสุนทรภู่ไม่เคยออกทะเลมาก่อน) ถึงได้มีแรงบันดาลใจผูกเรื่องให้เกิดขึ้นในท้องทะเล แหวกแนวธรรมเนียมการแต่งนิทานแบบไทยๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 10 ม.ค. 10, 21:01

ดิฉันเจออาหรับราตรี ฉบับภาษาอังกฤษที่เสฐียรโกเศศแปล  เลยซื้อไว้ เป็นฉบับพิมพ์ใหม่ ขายที่ Barn and Nobles  คุณโฮน่าจะสั่งซื้อได้ อาจจะยังมีเหลือ   แม้ว่าเป็นฉบับพิมพ์ใหม่  แต่ภาพประกอบยังก๊อปปี้จากของเดิม

พบว่าท่านแปลค้างไว้    ไม่จบเรื่องสุดท้ายในฉบับ อาหรับราตรี    ข้อความขาดหายไปเฉยๆกลางเรื่อง
ไม่เห็นสำนักพิมพ์แถลงว่าอะไร ที่เรื่องไม่จบ    ท่านก็ไม่ได้กลับมาแปลให้จบ  หรือต้นฉบับจะสูญหายไปก็ไม่ทราบ

ส่วนเนื้อหา เมื่อเทียบกันบทต่อบท  มีทั้งที่แปลข้ามบทไป   และแปลรวบรัดตัดความ ย่อจากต้นฉบับ
อย่างที่คุณ Ho อ่านในฉบับภาษาฝรั่งเศสค่ะ
*****************
ถ้าสุนทรภู่เคยรู้เรื่องซินแบด  เกาะงูทะเล  และภูเขาแม่เหล็ก    ไม่จำเป็นต้องรู้จากพ่อค้าอาหรับที่เดินทางมาถึงไทย  แต่อาจจะรู้จากมิชชันนารีอเมริกัน หรือคนอังกฤษที่เข้ามาทำงานและค้าขายในรัชกาลที่ ๓ ได้   
เพราะนิทานพวกนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว      อาจจะมีฝรั่งนำติดตัวเข้ามาจากสิงคโปร์   ไว้อ่านเล่นในยามว่าง     บางทีก็เล่าสู่กันฟังกับคนไทยที่สนใจ

เมื่อแปล "ตำนานพระเจ้าชาลมาญ" กับคุณนิลกังขา     เราเคยสงสัยกันว่า มีบางตอนคล้ายกับศึกลังกาและกรุงผลึก   เช่น เจ้าละมาน อาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อ ชาลมาญ   ส่วนนางอัญชลิกาที่เป็นต้นเหตุของศึกชิงนาง  ก็คล้ายกับนางละเวงในศึกเก้าทัพ 
สุนทรภู่อาจได้ยินเรื่องนี้ ซึ่งเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษแล้วโดยชาวอเมริกันชื่อบุลฟินช์      เผลอๆหมอบรัดเลย์อาจถือติดมือมาอ่านในสยามก็ว่าได้  ยิ้มเท่ห์


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.142 วินาที กับ 20 คำสั่ง