ดิฉันเจออาหรับราตรี ฉบับภาษาอังกฤษที่เสฐียรโกเศศแปล เลยซื้อไว้ เป็นฉบับพิมพ์ใหม่ ขายที่ Barn and Nobles คุณโฮน่าจะสั่งซื้อได้ อาจจะยังมีเหลือ แม้ว่าเป็นฉบับพิมพ์ใหม่ แต่ภาพประกอบยังก๊อปปี้จากของเดิม
พบว่าท่านแปลค้างไว้ ไม่จบเรื่องสุดท้ายในฉบับ อาหรับราตรี ข้อความขาดหายไปเฉยๆกลางเรื่อง
ไม่เห็นสำนักพิมพ์แถลงว่าอะไร ที่เรื่องไม่จบ ท่านก็ไม่ได้กลับมาแปลให้จบ หรือต้นฉบับจะสูญหายไปก็ไม่ทราบ
ส่วนเนื้อหา เมื่อเทียบกันบทต่อบท มีทั้งที่แปลข้ามบทไป และแปลรวบรัดตัดความ ย่อจากต้นฉบับ
อย่างที่คุณ Ho อ่านในฉบับภาษาฝรั่งเศสค่ะ
*****************
ถ้าสุนทรภู่เคยรู้เรื่องซินแบด เกาะงูทะเล และภูเขาแม่เหล็ก ไม่จำเป็นต้องรู้จากพ่อค้าอาหรับที่เดินทางมาถึงไทย แต่อาจจะรู้จากมิชชันนารีอเมริกัน หรือคนอังกฤษที่เข้ามาทำงานและค้าขายในรัชกาลที่ ๓ ได้
เพราะนิทานพวกนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว อาจจะมีฝรั่งนำติดตัวเข้ามาจากสิงคโปร์ ไว้อ่านเล่นในยามว่าง บางทีก็เล่าสู่กันฟังกับคนไทยที่สนใจ
เมื่อแปล "ตำนานพระเจ้าชาลมาญ" กับคุณนิลกังขา เราเคยสงสัยกันว่า มีบางตอนคล้ายกับศึกลังกาและกรุงผลึก เช่น เจ้าละมาน อาจได้แรงบันดาลใจจากชื่อ ชาลมาญ ส่วนนางอัญชลิกาที่เป็นต้นเหตุของศึกชิงนาง ก็คล้ายกับนางละเวงในศึกเก้าทัพ
สุนทรภู่อาจได้ยินเรื่องนี้ ซึ่งเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษแล้วโดยชาวอเมริกันชื่อบุลฟินช์ เผลอๆหมอบรัดเลย์อาจถือติดมือมาอ่านในสยามก็ว่าได้
