เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46643 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 11:31

มัวแต่พิมพ์นานมาก  เลยเข้ามาช้ากว่าคุณหลวงเล็ก
เรื่องชีเปลือย    เห็นด้วยกับคุณเพ็ญชมพู  ว่าสุนทรภู่คงจะได้ความคิดมาจากพวกทิคัมพร     ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาเชนหรือเดียรถีย์นิครนถ์  
ศาสนาเชน มีอยู่ในยุคเดียวกับพุทธศาสนา   บำเพ็ญการหลุดพ้นสู่นิพพานคล้ายๆกัน  แต่ด้วยวิธีการต่างกัน
ศาสนาเชนเน้นหนักไปด้านบำเพ็ญทุกขกิริยา  ส่วนพุทธศาสนาเห็นว่าการทรมานตัวเองไม่ใช่การหลุดพ้น   แต่เป็นทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

ประวัติของมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนนับว่าน่าสนใจ    มีอะไรบางอย่างคล้ายพุทธประวัติ  คือเป็นเจ้าชายเหมือนกัน มีนามเดิมว่า  วรรธมานะ  ประสูติ ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ในภาคเหนือ ของอินเดีย  ในราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ ได้มีการจัดงานสมโภชใหญ่โตที่นครเวสาลี  มีนักพรตและเหล่าพราหมาจารย์ มาพยากรณ์ ว่า เจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตยิ่งใหญ่ มีทางเลือก 2 ทาง คือ
1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิ
2. ถ้าทรงออกผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก

 เจ้าชายอภิเษกับเจ้าหญิงยโศธรา มีพระธิดาชื่อ อโนชา  เมื่อพระชนมายุได้ 30 เจ้าชายวรรธมานะก็ละทิ้งกรุงเวสาลีไปเป็นนักบวช เพื่อแสวงหาการหลุดพ้น   ทรงอธิษฐานจิตว่า  “ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว”
ถือปฏิญาณครบ 12 ปี เจ้าชายบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเรียกว่า เกวัล (keval) ตำราเชนระบุว่าขณะนั้นมหาวีระอยู่ในท่านั่งยองๆ คล้ายท่ารีดนมวัว การบรรลุเกวัลตามคติของศาสนาเชนเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นพระอรหันต์ เป็นสัพพัญญู เรียกว่า พระชินะ คือ ผู้ชนะ (กิเลสในใจทั้งปวง) โดยสิ้นเชิง
 เจ้าชายจึงเผยแพร่ความคิดคำสอนใหม่ของพระองค์ ทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่า ศาสนาเชน แปลว่าศาสนาของผู้ชนะตนเอง  ส่วนพระองค์มีพระนามใหม่ว่า มหาวีระ

พระมหาวีระใช้เวลาในการสั่งสอนสาวก และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปี ทรงประชวรหนัก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้ายพระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวา จึงเป็นสังเวชนียสถาน สำคัญแห่งหนึ่ง


หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาเชน
อนุพรต
 อนุพรต คือ ข้อปฏิบัติพื้นฐาน  มี 5 ประการที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดี คือ
1. อหิงสา  การไม่เบียดเบียนให้คนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น
2. สัตยะ    การไม่พูดเท็จ
3. อัสตียะ  การไม่ลักขโมย
4. พรหมจริยะ  เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย
5. อัปริคคหะ  ความไม่โลภ

 มหาพรต
ข้อปฏิบัติสำคัญและยิ่งใหญ่
1. สัมยัคทรรศนะ  ความเชื่อที่ถูกต้อง
2. สัมยัคญาณะ  ความรู้ที่ถูกต้อง
3. สัมยัคยาริตะ  ความประพฤติที่ถูกต้อง

พิธีกรรมของศาสนาเชน
การบวชเป็นบรรพชิต  เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรต ครองผ้า 3 ผืน ต้องโกนผมด้วยวิธี ถอนผมตนเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้  
ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับการลำบากต่างๆ เช่นการอดอาหาร การไม่พูดจากับใครจะสามารถทำให้บรรลุโมกษะ
แต่พุทธศาสนาเรียกการกระทำนี้ว่า อัตตกิลมถานุโยค   คือบำเพ็ญสุดโต่งไปทางด้านทรมานตัวเอง     ไม่ใช่หนทางหลุดพ้น

จุดหมายสูงสุดของศาสนาเชน
 ศาสนาเชนมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดร คือ นิรวารณะ หรือ โมกษะ (ความหลุดพ้น)
ผู้หลุดพันจากเครื่องผูก คือ กรรม ได้ชื่อว่า สิทธะ หรือ ผู้สำเร็จ เป็นผู้ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนต่อกลิ่น ปราศจาก ความรู้สึกเรื่องรส ไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา ไม่มีความหิว ความเจ็บปวด ความเสียใจ ความดีใจ ไม่เกิด แก่ ตาย ไม่มีรูป  ไม่มีร่างกาย ไม่มีกรรม เสวยความสงบอันหาที่สุดมิได้
วิธีที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานที่เรียกว่า อนุพรต 5 จนถึงอย่างสูงที่เป็นข้อปฏิบัติอันยิ่งใหญ่และสำคัญคือ มหาพรต 3

นิกายสำคัญของศาสนาเชน
ศาสนาเชนมีนิกายที่สำคัญอยู่ 2 นิกาย
1. นิกายเศวตัมพร  นิกายนุ่งผ้าขาว  ถือว่าสีขาวเป็นสีบริสุทธิ์
2. นิกายทิคัมพร     นิกายนุ่งลมห่มฟ้า ( เปลือยกาย)

หากมีข้อสงสัยว่า ทำไมศาสดามหาวีระจึงนุ่งลมห่มฟ้า เรื่องนี้มีตำนานว่า ภรรยาของพราหมณ์ยากจนคนหนึ่งบอกให้ไปขอสิ่งของจากมหาวีระ ท่านจึงมอบผ้าห่มกายของท่านให้พราหมณ์ไปครึ่งหนึ่ง ครั้นเมื่อภรรยาของพราหมณ์นำผ้าดังกล่าวไปให้ช่างทอผ้าดู ช่างทอผ้าก็ว่า หากได้ครึ่งที่เหลือมา เขาก็จะเย็บผ้าเข้าด้วยกันเป็นผืนเดียวซึ่งขายได้หลายเหรียญทอง

พราหมณ์คนนั้นจึงได้กลับไปหามหาวีระในป่าอีกครั้ง แต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปากขอ เดินไปได้ระยะหนึ่งผ้าพาดไหล่ของมหาวีระเกิดเกี่ยวติดพงหนามหลุดออกโดยอุบัติเหตุ พราหมณ์จึงฉวยโอกาสเก็บผ้าและรีบจากไป ส่วนมหาวีระนั้นก็ไม่ว่ากระไร เพราะตั้งใจว่าจะไม่กล่าวอะไรถึง 12 ปี นับแต่นั้นมา มหาวีระจึงไม่มีอาภรณ์ใดๆ ติดกายมานับแต่นั้น (น่ารู้ไว้ว่า ศาสนาเชนมี 2 นิกายหลัก คือ นิกายทิคัมพร ซึ่งนักบวชยึดถือการนุ่งลมห่มฟ้าแบบเคร่งครัด และนิกายเศวตามพร ซึ่งนักบวชนุ่งผ้าขาว)


อ้างอิง
๑   http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-3-43343.html
๒  http://www.bangkokbiznews.com/jud/sat/20071201/news.php?news=column_25165841.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ม.ค. 10, 06:56 โดย Hotacunus » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 11:44

เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย                  ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค      แสนโสโครกคืออายุกเป็นทุกขัง
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง                     จะปิดบังเวทนาไว้ว่าไร
เราถือศิลจินตนาศิวาโมกข์                    สละโลกรูปนามตามวิสัย
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด                 ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ                  อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี

ยังสงสัยอยู่ว่า สุนทรภู่เคยเห็นพวกทิคัมพรด้วยตัวเอง หรือฟังเขาเล่าต่อกันมา       เพราะเหตุผลของชีเปลือยที่ยกมาข้างบนนี้  ฟังๆ ก็เข้าหลักของศาสนาเชนอยู่มาก
สาเหตุการเปลือยกายของพวกทิคัมพร  ตามหลักการแล้วไม่ใช่อย่างตำนานของมหาวีระ เรื่องหนามเกี่ยวผ้าหลุด     แต่เป็นการละวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง  สละทิ้ง ไม่ยึดถืออะไร แม้แต่ยึดถือเสื้อผ้าอาภรณ์เพื่อปิดบังกาย
ถ้ายังนุ่งห่มอยู่ก็หมายความว่ายังยึดมั่นอยู่ อย่างน้อยก็ยังยึดว่าร่างกายเป็นของน่าอาย  หรือเป็นของน่าทะนุถนอม ต้องปกป้องให้พ้นร้อนหนาว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 12:11

ถ้าหากว่าสุนทรภู่เคยเห็นพวกชีเปลือย หรือนิครนถ์ ด้วยตาตัวเอง  จนจุดประกายให้เอามาเขียนเป็นตัวร้ายในพระอภัยมณี   ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชีเปลือยเดินทางจากอินเดียมาบำเพ็ญทุกขกิริยาถึงประเทศไทย   
จึงหมายความได้อีกอย่างว่า สุนทรภู่เคยเดินทางไปถึงดินแดนที่มีพวกนิครนถ์
ทิ้งเป็นคำถามไว้แค่นี้   เราคงไม่มีวันรู้คำตอบ    เพราะงานของสุนทรภู่ที่เขียนไว้ แต่ปลวกขึ้นกุฏิเสียหายหมดก็มีหลายเรื่อง    เรื่องที่ต้นฉบับสูญหายหาไม่พบก็มีอีก    จึงไม่รู้ว่าตลอดรัชกาลที่ ๓ ที่ท่านพ้นราชการมานั้น ท่านเคยเดินทางออกพ้นประเทศไทยหรือเปล่า

เอารูปมหาวีระมาให้ดูค่ะ   มองเผินๆ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธรูป หรือภาพวาดพระพุทธเจ้า
แต่สังเกตให้ดีจะเห็นว่า ไม่นุ่งผ้า



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 12:28

ศาสดามหาวีระ กับพระพุทธเจ้า ไม่เคยพบกัน  แต่ศิษย์ของมหาวีระ ชื่อสัจจกะนิครนถ์ เคยมาประลองปัญญา โต้วาทะธรรมกับพระพุทธเจ้า
แล้วสัจจกะนิครนถ์ เป็นฝ่ายจนมุมไป     เหตุการณ์ครั้งนี้ บันทึกไว้ในบทสวดพาหุง  หรือชัยมงคลคาถา  ตอนนี้ค่ะ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ
แปลว่า
พระจอมมุนี ผู้รุ่งเรืองด้วยแสงสว่าง คือ ปัญญา ได้เอาชนะ สัจจกะนิครนถ์ ผู้มีความคิดมุ่งหมายในอันจะละทิ้งความสัตย์ มีใจคิดจะยกถ้อยคำของตนให้สูงประดุจยกธง และมีใจมืดมนยิ่งนัก ด้วยการแสดงเทศนาให้ถูกใจ,
ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแด่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ
 
คุณหลวงเล็กจะมาแก้ไข หรือต่อเติม อะไรไหมคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 15:35

อ้างถึง
ถ้าหากว่าสุนทรภู่เคยเห็นพวกชีเปลือย หรือนิครนถ์ ด้วยตาตัวเอง  จนจุดประกายให้เอามาเขียนเป็นตัวร้ายในพระอภัยมณี   ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชีเปลือยเดินทางจากอินเดียมาบำเพ็ญทุกขกิริยาถึงประเทศไทย   

ข้อความนี้  "ก็ยากที่จะเชื่อว่าพวกชีเปลือยเดินทางจากอินเดียมาบำเพ็ญทุกขกิริยาถึงประเทศไทย"  น่าสนใจ  เพราะนักบวชศาสนาเชนนิกายทิคัมพร ซึ่งอาจจะรวมไปถึงนิกายเศวตัมพรด้วย  มีข้อห้ามข้อหนึ่งที่ว่า ห้ามนักบวชเชนขึ้นพาหนะโดยสารเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ ช้าง ม้า วัว หรืออะไรก็ตาม จะไปไหนมาไหนให้เดินด้วยเท้าเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้เอง ศาสนาเชนจึงมีผู้นับถืออยู่เฉพาะในประเทศอินเดีย  เนื่องจากการเผยแผ่ศาสนาเชนถูกจำกัดโดยวิธีการเดินทางไปเผยแผ่คำสอน  อนึ่งหลักการของศาสนาเชนบางประการก็มีลักษณะสุดโต่งด้วย  เช่น นิกายทิคัมพรถือว่า ผู้ชายเท่านั้นที่จะบรรลุโลกุตตระทางศาสนาเชนได้  เพราะผู้หญิงไม่สามารถจะเปลือยกายเป็นนักบวชในนิกายนี้ได้  ในศาสนาเชนนิกายทิคัมพร(รวมถึงนิกายเศวตัมพรด้วยหรือไม่ ไม่ทราบได้) ผู้ชายที่จะเป็นนักบวชนั้นจะถูกถอนผม หนวด เครา และเส้นขนตามร่างกาย ด้วยมือ!!! เท่านั้น  เคยดูสารคดีที่เขาไปถ่ายทำ เห็นเขาดึงกระชากกันเลือดซิบๆ เลย   

นอกจากนี้ ในศาสนาเชนยังอนุญาตให้ผู้ศรัทธาในศาสนาเชนอย่างยิ่งสามารถอดอาหารจนตายเพื่อบำเพ็ญตนให้หลุดพ้นถึงโมกษะได้   ถ้าเป็นพุทธศาสนาถือเป็นบาป ลังเล
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 16:01


วัดเชนแห่งแรกในไทยตั้งเมื่อ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ชื่อ ศรี ๑๐๐๘ มหาวีระ มัณดรา
http://news.sanook.com/education/education_42502.php

มีวัดก็ต้องมีนักบวช  ข่าวไม่ได้ระบุว่านักบวชเชนเดินทางมาเมืองไทยโดยวิธีใด

ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 18:53

เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ศาสนาเชน มาถึงประเทศไทยแล้ว  เดาว่านักบวชน่าจะเป็นพวกเศวตามพร คือนุ่งขาว
อ่านพบในเว็บไหนจำไม่ได้ว่า ศาสนาเชน มักจะนับถือกันในหมู่ชนชั้นกลางของอินเดีย มากกว่าชนระดับแรงงานอย่างชาวนาชาวไร่        พวกหลังนี้ไม่สะดวกที่ปฏิบัติตามแนวทาง เพราะเชนเคร่งครัดเรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต   แม้โดยไม่ตั้งใจก็ทำไม่ได้
พวกชาวไร่ชาวนา เสี่ยงกับทำลายชีวิตสัตว์เล็กๆน้อยๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน  เพราะแค่ไถนา พลิกดิน ก็อาจจะทำลายมดแมลงไปแล้วจำนวนมาก  ส่วนคนชั้นกลางไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาแบบนี้ จึงสะดวกมากกว่า

การโต้วาทีระหว่างสัจจกะนิครนถ์ กับพระพุทธองค์  น่าสนใจ เพราะสะท้อนความเชื่อที่แตกต่างกันระหว่างสองศาสนา  เรียกว่าแตกต่างกันใน "แก่น" เลยทีเดียว
เนื้อหาที่โต้กันนั้นมีบันทึกไว้ในจูฬสัจจกสูตร และมหาสัจจกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  เกี่ยวกับเรื่อง อัตตา (ตัวตน) และ อนัตตา ( ไม่มีตัวตน) กับเรื่องฝึกฝนกายและจิต
มีเนื้อหายาวเหยียดมาก   
ขอย่อยบางส่วนย่อๆ  ในเรื่องอัตตาและอนัตตา  ว่า ศาสนาเชนเชื่อว่า  “อัตตา” (ตัวตน) มีจริง
อยู่ในภาวะเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็น “อนัตตา” เปลี่ยนแปลงได้และไม่มีตัวตน

เมื่อสัจจกะนิครนถ์เชื่อมั่นว่า อัตตามีจริง  เป็นของเราจริง   เที่ยวแท้แน่นอน  พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้วิธีตะล่อมถาม  ว่า “กษัตริย์ย่อมมีอำนาจในการสั่งริบทรัพย์สั่งจองจำ สั่งฆ่าผู้ที่มีความผิดในพระราชอาณาจักรได้ใช่หรือไม่
สัจจกะก็ตอบว่า ใช่   กษัตริย์ย่อมทำได้กับประชาชนในอำนาจของพระองค์
พระพุทธเจ้าก็ทรงถามต่อไปว่า กษัตริย์ทีมีอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ จะสั่งให้รูป (หนึ่งในขันธ์ ๕) ว่า จงเป็นอย่างนี้  อย่าเป็นอย่างนั้น ได้ไหม สั่งให้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จงเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้นได้ไหม  (คือไม่ให้แก่ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ได้ไหม)
สัจจกะตอบว่าไม่ได้
ทรงถามไปทีละข้อๆ อย่างนี้ สัจจกะก็ยอมรับว่า ไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว

พระองค์ก็ตรัสสรุปว่า ที่ท่านว่าขันธ์ ๕ เป็น “ตัวตน” นั้นผิดแล้ว เพราะถ้ามันเป็นตัวตนของเราจริง เราก็น่าจะบังคับบัญชามัน และสั่งให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ความจริงขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่มีตัวตน

สัจจกะจำนนด้วยเหตุผล ยอมรับว่าตนเข้าใจผิด   และยอมรับนับถือ  ถึงขั้นนิมนต์พระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหาร ที่บ้านของตน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 08:56

อ้างถึง
เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า ศาสนาเชน มาถึงประเทศไทยแล้ว  เดาว่านักบวชน่าจะเป็นพวกเศวตามพร คือนุ่งขาว

คิดเหมือนอย่างที่คุณเทาชมพูว่านี่แหละครับ  แต่พอไปดูตามลิงก์ของคุณเพ็ญชมพูแล้ว  วัดเชนที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยนี้  เป็นวัดเชนนิกายทิคัมพรครับ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่นับถือนิกายเศวตัมพรจะเข้าวัดนี้ไม่ได้ เพราะว่าผู้นับถือศาสนาเชนในไทยไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน  ในเมืองไทยมีผูนับถือศาสนาเชนทั้ง ๒ นิกาย   โดยผู้นับถือนิกายทิคัมพรมีมากกว่านิกายเศวตัมพร  เข้าใจว่าวัดนี้คงจะไม่มีนักบวชประจำ  คงเป็นแต่ที่ประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาเชนของผู้ที่นับถือศาสนาเชน  และเป็นที่พบปะของผู้นับถือศาสนาเชนด้วย  วัดนี้ก่อตั้งโดยประธานองค์การเชนฑิฆัมพรแห่งอินเดีย 

นอกจากนี้ ในเมืองไทยยังมีมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยผู้นับถือศาสนาเชนด้วย ชื่อ " มูลนิธิ เดกัมบาร์ เชน " มีสำนักงานอยู่ที่เขตบางรัก กทม.  มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อ ปลายปี ๒๕๔๙ 

ในเบื้องต้นนี้  เข้าใจว่า ในเมืองไทยมีแต่ผู้นับถือศาสนาเชนทั้งสองนิกาย ส่วนนักบวชเชนในเมืองไทยนั้นอาจจะไม่มี  ส่วนการเข้ามาของผู้นับถือศาสนาเชนก็เป็นเพราะคนอินเดียเดินทางเข้ามาทำมาค้าขายในประเทศไทยและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย  เช่นเดียวกับการเข้ามาของผู้นับถือศาสนาฮินดูและศาสนาซิกข์นั่นเอง

ส่วนเรื่องการโต้วาทีระหว่างลัทธิศาสนาในอินเดียนั้น  มีมาแต่ก่อนพุทธกาล  ถ้าได้อ่านหนังสือที่เล่าเรื่องอินเดียโบราณจะทราบว่า  อินเดียเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิต่างๆ มากมาย  เมืองสำคัญที่เจ้าลัทธิมุ่งหมายจะไปเผยแพร่คำสอน คือ เมืองพาราณสี  นัยว่าถ้าปักหลักที่เมืองนี้ได้  ลัทธินั้นก็จะมีผู้นับถือมากขึ้น  ยิ่งถ้าโน้มน้าวให้พระเจ้ากรุงพาราณสียอมรับนับถือคำสอนของตนได้  ยิ่งดีเพราะจะมีคนเข้าในลัทธิมาก  และสามารถเผยแผ่คำสอนไปยังเมืองอื่นๆ ได้ง่าย   พระพุทธเจ้าก็ทรงพระดำริในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนในระยะแรกอย่างเดียวกันกับเจ้าลัทธิอื่นๆ  จึ่งทรงเริ่มเผยแผ่คำสอนในวงกว้างที่เมืองพาราณสี   เมืองพาราณสีจึงเป็นเมืองแห่งเจ้าลัทธิมาแต่โบราณ  เมื่อมีเจ้าลัทธิมากๆ คนในเมืองนั้นย่อมไม่รู้จะเลือกเชื่อตามเจ้าลัทธิใดดี  เจ้าลัทธิหรือสาวกในลัทธิเหล่านั้นจึงมักจัดการท้าโต้วาทีเรื่องปรัชญาศาสนาระหว่างลัทธิอื่นๆ กันเป็นประจำ  ฝ่ายใดชนะคนก็จะแห่ไปนับถือลัทธินั้น  พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลมา ก็ต้องโต้วาทีกับบรรดาลัทธิเหล่านั้นเสมอๆ  โดยเฉพาะพวกนิครนถ์ ปริพาชก พราหมณ์ หรือแม้แต่กษัตริย์ และนักปราชญ์  อย่างปรากฏเป็นพระสูตรต่างๆ หรือคัมภีร์อื่นๆ ในพุทธศาสนา  เช่น คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นต้น  นอกจากการโต้วาทีระหว่างลัทธิศาสนาแล้ว  เมื่อภายหลังศาสนาเกิดแตกเป็นนิกายต่างๆ อย่างพุทธศาสนาเคยมีนิกาย ๒๐ กว่านิกาย  ก็มีการโต้วาทีระหว่างนิกายด้วย  ทั้งนี้เพราะการตีความคำสอนไม่เหมือนกันในแต่ละนิกายนั่นเอง   ลักษณะการโต้วาทีนี้ยังคงปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ธิเบต  มีการฝึกการโต้วาทีอยู่ในหมู่พระลามะ

ความแตกต่างระหว่างนิกายทิคัมพรและนิกายเศวตัมพรในศาสนาเชน  คงเป็นความแตกต่างของลัทธิที่นักบวชที่ทั้งสองนิกาย ;Dปฏิบัติเป็นสำคัญ  แต่โดยในระดับผู้นับถือศาสนาเชนทั่วไปคงเหมือนกัน 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 09:31

ศิษย์ของมหาวีระ ชื่อสัจจกะนิครนถ์ เคยมาประลองปัญญา โต้วาทะธรรมกับพระพุทธเจ้า
แล้วสัจจกะนิครนถ์ เป็นฝ่ายจนมุมไป     เหตุการณ์ครั้งนี้ บันทึกไว้ในบทสวดพาหุง  หรือชัยมงคลคาถา


ผู้ประพันธ์พระคาถาพาหุงยกชัยชนะครั้งนี้ยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับชัยชนะของพระพุทธองค์ต่อพญามาร อาฬวกยักษ์ พญาช้างนาฬาคิรี องคุลิมาล นางจิญจมาณวิกา พญานาคนันโทปนันทะ และพรหมพกะ

http://th.wikisource.org/wiki/พระคาถาพาหุง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 10:01

ยังงงๆอยู่นิดหน่อยในลิ้งค์วัดเชนที่คุณเพ็ญชมพูเอามาให้ดู      เพราะเคยชินกับวัดไทยว่า สร้างวัดที่ไหน ต้องมีพระอยู่ที่นั่น  ก็เลยนึกว่า วัดเชนนิกายทิคัมพร คงมีไม่ได้เพราะจะเอานักบวชนุ่งลมห่มฟ้าที่ไหนมาประจำในไทย   จึงเชื่อว่าเป็นเศวตามพร
มาอ่านของคุณหลวงอีกที    ถึงเข้าใจว่าวัดเชนที่ว่า เป็นแค่ศาสนสถาน ที่ผู้นับถือศาสนานั้นมาพบปะชุมนุมกันตามโอกาส  ประกอบศาสนกิจกันด้วย   แต่ไม่มีนักบวช

ดิฉันสนใจเรื่องลัทธิต่างๆสมัยพุทธกาล   อยากรู้ว่าแต่ละอย่างเขามีความเชื่อและวิถีปฏิบัติอย่างใด    แต่เสียดายไม่มีความรู้เรื่องนี้มากพอ     
เท่าที่เข้าใจคร่าวๆคือการแสวงหาโมกษะ หรือการหลุดพ้น  มีมาก่อนแล้วในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  เขาแบ่งชีวิตเป็น ๓ วัย  วัยเด็กศึกษาเล่าเรียนพระเวท   วัยหนุ่ม ครองเรือน  มีลูกเมีย  ดำเนินชีวิตอย่างชาวโลก เช่นมีบุตรชายสืบตระกูล   วัยชราคือเมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว พ่อก็มอบบ้านเรือนสมบัติให้ครอบครอง  ตัวเองก็ละทางโลกไปอยู่ป่า แสวงหาโมกษะคือการหลุดพ้น    ก็กลายเป็นฤๅษีโยคีดาบส  (พวกเหล่านี้ในอินเดียไม่เหมือนกัน  แต่ในวรรณคดีไทย มาแปลเป็นอย่างเดียวกันหมด)
แต่ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ  คงไม่เดินตามขั้นตอนนี้   เห็นได้จากเจ้าชายวรรธมาน และเจ้าชายสิทธัตถะ  ละทิ้งทางโลกออกแสวงหาการหลุดพ้นตั้งแต่พระชนม์ไม่เกิน ๓๐

ในพระไตรปิฎก อธิบายถึงลัทธิอื่นๆไว้  แต่เท่าที่อ่านมาก็ยังไม่ชัดเจน     เรียกว่า เดียรถีร์ บ้าง มิจฉาทิฐิ บ้าง    ศาสนาเชน ที่พระไตรปิฎก เรียกว่านิครนถ์  ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งเอาเลยทีเดียว   
การสวดพาหุง จึงถือชัยชนะของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงธรรมให้ศิษย์ของมหาวีระยอมรับได้   เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ของมารผจญในรูปแบบต่างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 10:27

ฤๅษีโยคีดาบส  พวกเหล่านี้ในอินเดียไม่เหมือนกัน  แต่ในวรรณคดีไทย มาแปลเป็นอย่างเดียวกันหมด

ลองเปิดพจนานุกรมดู

ฤๅษี น. ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.

โยคี น. นักบวชผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ, ฤษีพวกหนึ่ง. (ป.; ส. โยคินฺ ว่า ผู้ปฏิบัติ ตามลัทธิโยคะ).

ดาบส [-บด] น. ผู้บําเพ็ญตบะคือการเผากิเลส, ฤษี. (ป., ส. ตาปส), เพศหญิง ใช้ว่า ดาบสินี. (ป. ตาปสินี), ในบทกลอนใช้ว่า ดาวบส ก็มี เช่น ไปแต่งองค์ทรงไม้เท้าของดาวบส. (อภัย).


ทุกคำแปลรวมว่า ฤษี เหมือนกันหมด

ปุจฉา ในอินเดียไม่เหมือนกันอย่างไร

 ฮืม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 10:33

รู้เพียงว่า คนละลัทธิกันค่ะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 11:07

อ้างถึง
เท่าที่เข้าใจคร่าวๆคือการแสวงหาโมกษะ หรือการหลุดพ้น  มีมาก่อนแล้วในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  เขาแบ่งชีวิตเป็น ๓ วัย  วัยเด็กศึกษาเล่าเรียนพระเวท   วัยหนุ่ม ครองเรือน  มีลูกเมีย  ดำเนินชีวิตอย่างชาวโลก เช่นมีบุตรชายสืบตระกูล   วัยชราคือเมื่อลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว พ่อก็มอบบ้านเรือนสมบัติให้ครอบครอง  ตัวเองก็ละทางโลกไปอยู่ป่า แสวงหาโมกษะคือการหลุดพ้น    ก็กลายเป็นฤๅษีโยคีดาบส  (พวกเหล่านี้ในอินเดียไม่เหมือนกัน  แต่ในวรรณคดีไทย มาแปลเป็นอย่างเดียวกันหมด)
แต่ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ  คงไม่เดินตามขั้นตอนนี้   เห็นได้จากเจ้าชายวรรธมาน และเจ้าชายสิทธัตถะ  ละทิ้งทางโลกออกแสวงหาการหลุดพ้นตั้งแต่พระชนม์ไม่เกิน ๓๐

ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบ่งช่วงวัยชีวิตคนเรา ออกเป็น ๔ ช่วงดังนี้ ครับ  เรียกว่าหลักอาศรม ๔
ช่วงที่ ๑ เรียก พรหมจารี  (ผู้ถือปฏิบัติอย่างพรหม - คือเป็นโสดและเรียนวิชาการต่างๆ) ตั้งแต่อายุ ๑-๒๕ ปี เป็นระยะที่ทุกคน (เด็กผู้ชาย)ต้องแสวงหาความรู้ไตรเพทและความรู้ทางโลก(อรรถะ)ตลอดจนเริ่มสร้างตน

ช่วงที่ ๒ เรียก คฤหัสถ์  (ผู้ครองเรือน) ตั้งแต่อายุ ๒๕  เป็นต้นไป - ๕๐ ปี โดยประมาณ เป็นระยะที่ควรมีครอบครัว แต่งงานมีลูก สร้างฐานะทางครอบครัว เพื่อจุดประสงค์คือ กามะ

ช่วงที่ ๓ เรียก วานปรัสถ์  (ผู้เข้าอยู่ในป่า)  เริ่มตั้งแต่อายุ ๕๐ ปีเป็นต้นไป หรือวัยเกษียณจากการงาน  เป็นระยะที่หมดภาระจากหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ  เพราะมีลูกหลานคอยดูแลกิจการต่างๆ แทนแล้ว  ความรับผิดชอบทางครอบครัวยังพอมีบ้าง  จึงพอมีเวลาหันเข้าหาธรรมะ  เข้าวัด เข้าป่าฝึกสมาธิ  (สมัยก่อนนักบวชมักปลีกวิเวกอยู่ตามถ้ำป่าเขา) สนทนาธรรม แต่ยังไม่ตัดขาดจากครอบครัวเสียทีเดียว ยังไปๆมาๆ อยู่  ช่วงชีวิตนี้แสวงหา ธรรมะ เป็นสำคัญ

และช่วงที่ ๔ เรียก สันยาสี (ความหมายคล้ายๆ กับผู้ออกบวชแสวงหาโมกษะความหลุดพ้น) เมื่อศึกษาธรรมะจนมีศรัทธาแก่กล้าหรือได้ปัญญาระดับหนึ่งแล้ว  ก็จะสละภาระทางครอบครัวสิ้นเชิง  ออกบวชหรือออกจาริกแสวงบุญ จุดหมายคือ โมกษะ ความหลุดพ้นนั่นเอง

ช่วงวัยทั้ง ๔ นี้ เข้าใจว่า คงเน้นปฏิบัติเฉพาะผู้ชายอินเดียบางวรรณะ มิใช่ทุกวรรณะ คือ  พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์  ส่วนศูทรกับพวกอวรรณะอาจจะไม่เป็นไปตามนี้  และช่วงวัยที่กำหนดตามหลักศาสนาพราหมณ์นั้น  เป็นการกำหนดอายุแต่ละช่วงอย่างกว้างๆ ไม่เคร่งครัดตายตัวเสียทีเดียว  ส่วนผู้หญิงคงมีที่ปฏิบัติตามนี้ได้บ้าง คงไม่ทั้งหมด

พระพุทธเจ้าและพระมหาวีระ  ก็ทรงปฏิบัติตามหลักนี้เหมือนกัน  คือ ศึกษาวิชาการต่างๆ  มีครอบครัว   ศึกษาธรรมะลัทธิต่างๆ  และบำเพ็ญเพียรออกบวชตัดขาดทางโลก  เพียงแต่ระยะแต่ละช่วงของทั้งสองพระองค์เร็วกว่าคนในสังคมฮินดูปกติ   ถ้าหันมาดูคนไทย  ก็คล้ายกับหลักอาศรม ๔  คือ แต่เด็กร่ำเรียนหนังสือ   พอเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ประกอบอาชีพมีครอบครัวสร้างฐานะ  พอทำงานจนถึงวัยเกษียณอายุ  ก็หันหน้าเข้าวัด ปฏิบัติธรรมะ  ทำบุญ    ถ้าศรัทธาแก่กล้ามากก็บวชก็มีอยู่เหมือนกัน

ส่วนเรื่องสัจจกนิครนถ์  ต้องไปอ่านหาอ่านในฎีกาพาหุงประกอบด้วย  ลำพังอ่านจากบทสวดพาหุง (ชัยมงคลคาถา) คงจะได้ความอะไรไม่ชัดเจน  ประการหนึ่ง  คาถาพาหุงก็เป็นคาถาที่แต่งขึ้นภายหลังพุทธกาลมากแล้ว  สังเกตได้จากการแต่งเป็นวสันตติลกฉันท์ที่เคร่งครัดและมีจำนวนหลายบท  (ถือเป็นฉันท์ชั้นครูทีเดียว) มีลักษณะความเชื่อออกไปทางมหายานอยู่  คล้ายๆ กับพระปริตรที่พระสงฆ์เจริญในงานมงคล

ส่วนที่ว่า ศาสนาเชน ที่พระไตรปิฎก เรียกว่านิครนถ์  ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งเอาเลยทีเดียว  
ก็คงเป็นเพราะศาสนาพุทธและศาสนาเชนมีคำสอนในลักษณะที่ค้านโต้แย้งความมีอยู่ของพระเจ้าของศาสนาพราหมณ์ (เรียกว่าฝ่าย นาสติกะ  ฝ่ายที่เชื่อว่ามีพระเจ้า เรียกว่า ฝ่ายอาสติกะ) เหมือนกัน  เพียงแต่หลักปฏิบัติของสองศาสนาที่ลักษณะสุดโต่งต่างกัน   ศาสนาเชนถือว่านักบวชต้องสละทางโลกให้เด็ดขาด  ไม่ควรมีทรัพย์สมบัติ  แม้กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์ ฉันอาหารในมือด้วยมือเท่านั้น (เป็นที่มาของนิกายทิคัมพร) ไม่ฆ่าสัตว์แม้แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในอากาศ  จะเดินไปไหนก็ต้องเอาไม้กวาดหรือแส้ปัดกวาดเสียก่อน มีผ้าปิดปากจมูก นุ่งขาวห่มขาว (เป็นที่มาของนิกายเศวตัมพร)  แต่พุทธศาสนา  ถือทางสายกลาง คือ  สละทางโลกแต่พอให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ เน้นการปฏิบัติบำเพ็ญทางจิตให้มาก   กระนั้นหลักการก็คล้ายกันอยู่  ต่างกันแต่หลักปฏิบัติลางข้อ  ฉะนั้นจึงต้องแข่งขันมากเป็นธรรมดา  การโต้วาทีจึงเป็นการแสดงศักยภาพของแต่ละศาสนาลัทธิว่า  สามารถตอบปัญหาชีวิตและปัญหาเรื่องโลกจักรวาลได้มากน้อยเพียงใด  สามารถทำให้คำสอนแจ่มแจ้งแก่คนได้ไหม  อันนี้แสดงว่าคนอินเดียสมัยก่อนช่างสงสัย  เพียงแต่มีครูที่ตอบคำถามให้มากมายจนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี  พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสอนหลักกาลามสูตร(เกสปุตตสูตร)ให้ว่า เราควรจะเชื่อคำสอนไหนเพราะมีหลักอะไรนั่นเองพิจารณาก่อนที่จะยอมรับเชื่อตาม ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 11:28

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 12:00

 อายจัง อายจัง ยิ้ม ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง