เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46502 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 13:17

นี่คือบทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ  กล่าวถึงประวัติของสุนทรภู่
http://www.sujitwongthes.com/2009/06/220648/

บิดาสุนทรภู่
คนเมืองเพชร หรือเมืองแกลง

เมื่อสุนทรภู่เดินทางจากบางกอกไปถึงเมืองเพชรบุรี ได้แต่งนิราศเมืองเพชร เล่าว่าไปตามหาถิ่นฐานบรรพชนซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ เมืองเพชรบุรี มีกลอนบอกชัดเจนว่า

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ
เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย

กลอนนิราศเมืองเพชรตอนสำคัญอีกตอนหนึ่ง สุนทรภู่แต่งบอกไว้ชัดๆว่า

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช
ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา

พยานหลักฐานจากถ้อยคำของสุนทรภู่เถียงไม่ได้ ฉะนั้นบรรพชนของท่านต้องเป็นชาวเพชรบุรี เมื่อทั้งย่าและยายเป็นคนเมืองเพชร แล้วพ่อกับแม่จะเป็นชาวเมืองอื่นได้ไฉน? เว้นเสียแต่ย่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองระยองในภายหลัง แล้วพ่อสุนทรภู่ไปเกิดที่นั่น ซึ่งใครจะเชื่ออย่างนั้นก็ตามใจ
ในนิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งไว้ชัดเจนว่าพ่อบวชเป็นพระสงฆ์ มีสมณศักดิ์เป็นพระครู“อรัญธรรมรังษี” เจ้าอาวาสวัดบ้านกร่ำ เมืองแกลง (จังหวัดระยอง)
นี่เป็นเหตุเดียวที่ตำราประวัติวรรณคดีไทย ใช้เป็นหลักฐานว่าพ่อสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง สุนทรภู่ก็ต้องเป็นคนที่นั่นด้วย
อาจารย์ล้อมเ พ็งแก้ว ชำระสมุดข่อยพบนิราศเมืองเพชร บอกว่าสุนทรภู่           มีบรรพชนเป็นชาวเพชรบุรี แล้วเขียนอธิบาย(รวมอยู่ในหนังสือสุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มิถุนายน 2547) บอกว่าพ่อสุนทรภู่เป็นทหารในกองทัพกรมพระราชวังหลัง คราวสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 ครั้นปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2329 ก่อนสุนทรภู่เกิดก็“บวชแก้บน”ที่ฆ่าคน(พม่า)ตายมากในสงคราม ซึ่งเป็นประเพณีของคนยุคนั้น
กรมพระราชวังหลังรู้เห็นเป็นใจให้พ่อสุนทรภู่บวช โปรดให้“จัดตั้ง”กองกำลังอยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ตามเงื่อนไขการเมืองการปกครองครั้งนั้น
สุนทรภู่โตขึ้นก็เริ่มรับราชการในวังหลัง แล้วถูกใช้ให้ไป“ทำงาน”บางอย่างที่เมืองแกลง ดังท่านเขียนไว้เองว่า “แม้นเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา”  แสดงว่าไม่ได้อยากไปเมืองแกลง เพราะหนทางไปลำบากตรากตรำมาก และตัวท่านเองไม่ได้มีเลือดเนื้อเชื้อไขทางบ้านกร่ำ เมืองแกลงด้วย
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะบอกต่อไปว่าสุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย  ฝั่งธนบุรี ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมเลิก“อำ”เสียทีเถิด
(ที่มา :   มติชน ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2548 หน้า 34)


อ้างถึง
เมื่อทั้งย่าและยายเป็นคนเมืองเพชร แล้วพ่อกับแม่จะเป็นชาวเมืองอื่นได้ไฉน?
ได้ซิคะ  ถ้าปู่กับตา เป็นคนเมืองอื่น  และย่ากับยายไปอยู่กับสามีเมื่อสมรสแล้ว

ในนิราศเมืองแกลง  สุนทรภู่ระบุถึงหลานสาวสองคนที่บ้านกร่ำ ช่วยพยาบาลให้เมื่อเจ็บป่วย  ก็แสดงว่าพ่อมีญาติอยู่ที่นั่น

ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ                   ม่วงกับคำกลอยจิตขนิษฐา
เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา                        ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน

ส่วนที่ว่าเป็นญาติ ก็คือตอนนี้
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต                            ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง                      ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 14:11

เรื่องเชื้อสายของสุนทรภู่เป็นพราหมณ์  สงสัยว่าจะเป็นเชื้อสายฝ่ายมารดาของท่าน  ส่วนเชื้อสายบิดาของท่านท่านว่าเป็นชาวชองอยู่เมืองแกลง

ท่านที่คุณหลวงเล็กอ้างถึงคงตีความเรื่องเชื้อสายของบิดาสุนทรภู่จากนิราศเมืองแกลงตอนนี้เอง

ส่วนที่ว่าเป็นญาติ ก็คือตอนนี้
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต                            ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง                      ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น

ดูท่าทางสุนทรภู่ท่านคงหมายความว่าชาวบ้านแถวนั้นเป็นพวกชอง ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองอยู่แถวจันทบุรี ระยอง ตราด ทั้งยังรำคาญอยู่นิด ๆ ด้วยว่าท่านคงเห็นพวกชองเป็นคนป่าคนดงไม่เจริญหูเจริญตาเหมือนคนในรั้วในวัง

http://th.wikipedia.org/wiki/ชอง



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 14:59

เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง คือวงศ์วานสุนทรภู่มีเชื้อสายชอง   และชาวบ้านที่ท่านเข้าไปปะปนอยู่กับพวกเขา เป็นพวกเชื้อสายชอง
ถ้าเป็นอย่างแรก ก็เป็นคำอธิบายว่าทำไมพ่อถึงจากเมืองหลวง มาอยู่เสียไกลลิบ      คำตอบคือมีญาติอยู่ที่นี่ คงไม่ใช่แค่คนสองคน   แต่น่าจะอยู่เป็นหมู่   ที่เป็นพ่อแม่ลุงป้าน้าอาของม่วงและคำ
ถ้าเป็นอย่างหลัง  ก็มีคำถามว่า  คนเราถ้าไปเยี่ยมพ่อในถิ่นไกล  มีญาติพ่ออยู่แถวนั้นด้วย  คงเลือกไปพักกับญาติก่อนคนอื่น  แต่เป็นญาติบ้านนอก ไม่ได้กลิ่นอายความเจริญเมืองหลวง  เลยพูดจากันไม่รู้เรื่อง 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 15:25

อ้างถึง
เมื่อทั้งย่าและยายเป็นคนเมืองเพชร แล้วพ่อกับแม่จะเป็นชาวเมืองอื่นได้ไฉน?
ได้ซิคะ  ถ้าปู่กับตา เป็นคนเมืองอื่น  และย่ากับยายไปอยู่กับสามีเมื่อสมรสแล้ว

ในนิราศเมืองเพชรฉบับเขียน ซึ่งอาจารย์ล้อมได้สอบชำระไว้ มิได้กล่าวถึงเฉพาะ ย่าและยาย แต่กล่าวรวมถึง ปู่และตา ด้วย

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ           ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป             บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช         ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวฐานศาลสถิตอิศวรา                  เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่                แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน    จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ          เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย                  ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ
แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม                จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน
จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน          ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน                           
จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ               ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ
ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์                สู่สวรรค์นฤพานสำราญกาย


 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 15:48

ในนิราศพระบาทก็เขียนถึงบรรพชนของสุนทรภู่อยู่ด้วย

แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา               เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก            ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน       เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ


ขาด ตา ไปหนึ่งคน

การที่ปู่ย่ายายของท่านได้เล่าให้ฟังถึงกรุงศรีอยุธยาครั้งบ้านเมืองดี เล่าถึงวงศ์กษัตริย์สืบสายกันลงมา ก็ย่อมเป็นนัยให้รู้ได้ว่าบรรพชนของท่านสุนทรภู่นั้นเป็นผู้ได้รู้ได้เห็นกรุงเก่ามาก่อน และส่อนัยว่าน่าจะเป็นผู้ดีหรือผู้ใกล้ชิดเนื่องในพระราชวงศ์หรือข้าราชการผู้ใหญ่มาก่อน

อาจารย์ล้อมท่านว่าไว้อย่างนั้น

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 15:53

ตกลง ว่า สุนทรภู่ มีเชื้อพราหมณ์กี่สาแหรกกันครับ   ๒ สาแหรก (สาแหรกย่า กับสาแหรกยาย)  หรือ ๔ สาแหรก (สาแหรกปู่กับย่า และสาแหรกตากับยาย)
และข้อมูลเกี่ยวกับบรรพชนของสุนทรภู่ที่ปรากฏทั้งในนิราศเมืองแกลงและนิราศเมืองเพชร (ทั้งที่ชำระก่อนและชำระครั้งหลัง) อันน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

หรือว่า
อ้างถึง
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ          เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย                   ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

ตรงนี้สุนทรภู่แต่งแบบกลอนพาไป ? หรือจะหมายความว่า  พอหมดปู่ย่าตายายของสุนทรภู่แล้ว  คนรุ่นหลังในเชื้อสายของท่าน  ก็ไม่ได้รู้เรื่องบรรพชนของย่ายายที่เป็นคนเชื้อสายพราหมณ์เลย  ฉะนั้น ปู่กับตาอาจจะเป็นเชื้อสายอื่นๆ ที่ไม่ใช่พราหมณ์ ก็ได้ แต่พอมาได้ย่ายายที่เป็นพราหมณ์ก็เลยได้รู้เรื่องพราหมณ์ต้นตระกูลย่ายายไปด้วย  แต่ญาติข้างปู่กับตาอาจจะไม่ได้สนใจที่อยากรู้ต้นตระกูลของคนที่มาเกี่ยวดองกับปู่และตา  และแถมเป็นคนที่มีถิ่นที่อยู่ต่างเมืองกัน ยิ่งไม่ได้ไปมาหาสู่เสมอๆ ความรู้เรื่องต้นตระกูลของแต่ละฝ่ายจึงค่อยๆ เลือนไป ลังเล
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 16:11

อ้างถึง
แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา                เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก            ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน       เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ

ถ้าหมายเอาคำว่า ปู่ย่ายาย ในนิราศพระบาทตอนที่ยกมานี้ หมายถึง ปู่ย่าและยายของสุนทรภู่เองแล้ว  ก็ชักไม่แน่ใจว่า  ตอนที่สุนทรภู่เกิดมาจนกระทั่งโตพอรู้ความรู้ภาษา  ปู่ย่ายายของสุนทรภู่จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  อีกอย่างหนึ่งสุนทรภู่ก็ไม่เอ่ยถึงปู่ย่ายายในลักษณะที่เน้นเฉพาะว่า  ปู่ย่ายายของท่านแต่ละคนได้อยู่ในความประทับใจความทรงจำของท่านอย่างไรบ้าง เช่น ยายเคยเลี้ยงเคยป้อนข้าว  ปู่สอนหนังสือให้  อะไรอย่างนี้เป็นต้น 

เมื่อยังหาหลักฐานไม่ได้  อยากให้ตีความคำว่า ปู่ย่ายาย ในนิราศพระบาท หรือที่อื่นๆ ในนิราศของสุนทรภู่ที่มีความบริบทคล้ายๆ กันนี้ว่า  ปู่ย่ายาย หมายถึง คนเก่าๆ ที่มีอายุทันเห็นความเจริญของพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียกรุงเมื่อ ๒๓๑๐ และยังจดจำความเจริญความงดงามของพระนครศรีอยุธยาได้แล้วนำมาเล่าให้ลูกหลานที่เกิดทันกรุงเก่าแต่ยังจดจำอะไรเกี่ยวกับอยุธยาไม่ได้ เพราะยังเด็กเกินไป หรือคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันได้รับทราบ

ตรงนี้ต้องนึกถึงนิสัยคนไทยด้วยว่า  คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติเชื้อของตน  แต่คนไทยก็นิยมเรียกท่านเหล่านั้นโดยการลำดับนับญาติด้วยความเคารพนับถือ เสมือนหนึ่งคนในเชื้อสายตระกูลเดียวกัน เช่น เราเรียกคนมีอายุมากกว่าพ่อแม่ ว่า ป้าหรือลุง  ทั้งที่ไม่ใช่พี่น้องของพ่อกับแม่เลย  ถ้าอายุอ่อนกว่าพ่อแม่ก็เรียกน้าอา อย่างนี้จนกระทั่งปัจจุบัน ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 16:54

ถ้าจะนับว่า ปู่ย่า ตายาย ของสุนทรภู่เป็นเชื้อสายพราหมณ์รามราช ตั้งถิ่นฐานอยู่เพชรบุรี    ก็จะได้ความอีกอย่างหนึ่งว่า  ท่านเหล่านี้อยู่ ๒ เมือง คืออยู่เพชรบุรีด้วย อยู่อยุธยาด้วย
เมื่ออยู่เมืองเพชร ก็อยู่แบบคนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั้นมาดั้งเดิม  ไม่ใช่แค่ไปอยู่ชั่วคราว   และพออยู่อยุธยา  ก็อยู่มายาวนานพอจะเห็น "เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี"   เก็บความในอดีตมาเล่าให้หลานฟังได้
เลยไม่รู้ว่าอยู่ไหนกันแน่  จะว่าอยู่ ๒ แห่ง นานๆกันก็ไม่น่าจะเป็นได้  เพราะสมัยโบราณ เขาไม่ได้ย้ายถิ่นกันง่ายๆ 

แต่สุนทรภู่เกิดมาอย่างชาววัง แม่เป็นแม่นมพระธิดากรมพระราชวังหลัง  ในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ก็ยังพูดถึงวังหลังที่เคยอยู่
แสดงว่าเป็นชาวกรุงเทพแต่เล็ก

แต่พ่อก็ยังไปบวชอยู่เมืองแกลง ไกลสุดกู่อีกด้วย   ไม่ยักเลือกเพชรบุรีหรืออยุธยา
 ฮืม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 29 ธ.ค. 09, 12:06

สุนทรภู่เกิดมาอย่างชาววัง แม่เป็นแม่นมพระธิดากรมพระราชวังหลัง  ในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ก็ยังพูดถึงวังหลังที่เคยอยู่
แสดงว่าเป็นชาวกรุงเทพแต่เล็ก

เรื่องนี้อาจารย์ล้อมท่านขยายความไว้ว่า

กรมพระราชวังหลังนั้นเป็นพระเจ้าหลานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ประสูติในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้ารับราชการใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรพชนของท่านสุนทรภู่จะได้ฝากฝังตัวเป็นข้ารับใช้ในกรมพระราชวังหลัง กล่าวให้ชัดก็คือ บรรพชนของท่านสุนทรภู่นั้นเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มารดาของสุนทรภู่จึงได้เป็นพระนมพระเจ้าลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง และสุนทรภู่ก็ได้ เติบใหญ่เป็นข้าวังหลังต่อมา

ก.ศ.ร. กุหลาบ เล่าไว้ในหนังสือ สยามประเภท ว่าบ้านของสุนทรภู่ก็อยู่หลังป้อมวังหลังนั่นเอง

ได้พบตัวนายพัดบุตรชายสุนทรภู่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นนายพัดอายุ ๘๖ ปี ความจำยังดีไม่หลงลืม แต่ไม่เป็นนักปราชญ์เหมือนบิดา นายพัดได้เล่าว่า ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสะเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี

สุนทรภู่เองก็เล่าถึงชีวิตรักที่วังหลังครั้งวัยหนุ่มในนิราศสุพรรณ ว่า

วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า           น้องเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย                ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย                ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า           คลาดแคล้วแล้วหนอ ฯ


 ยิ้มกว้างๆ



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 29 ธ.ค. 09, 15:19

เอ...จำได้ว่า  สุนทรภู่มีลูกชายอีกคนหนึ่ง ชื่อ นายตาบ พอจะมีความสามารถด้านกาพย์กลอนอยู่บ้าง  มีผลงานเรื่องหนึ่ง ชื่อ เพลงยาวนายตาบ แต่งเล่าเรื่องตามเสด็จรัชกาลที่ ๕ ไปเมืองสระบุรี  เคยลงพิมพ์ในวารสารศิลปากรนานมาแล้ว  แต่โวหารไม่โดดเด่นจึงไม่ใคร่มีคนรู้จักกัน.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ธ.ค. 09, 11:08

พราหมณ์เมืองเพชรมาอยู่ในวังหลังได้อย่างไร

อาจารย์ล้อมฟื้นอดีตให้ฟังว่า

กรมพระราชวังหลังเป็นพระโอรสของพระพี่นางองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีบิดาคือ พระอินทรักษา ซึ่งเป็นลูกชายคนใหญ่ของพระยากลาโหมราชเสนา (สาย) มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยปลายอยุธยา  พระอินทรักษาเป็นตำรวจในราชสำนักของเจ้าฟ้ากุ้งซึ่งมีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรทางพระมารดา เมื่อเป็นดังนี้ พระอินทรักษา ก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในวังมาตลอด  เมื่อมาอยู่กรุงเทพ พระอินทรักษาก็มีบารมีพอควร บรรดาญาติที่พลัดพรากกันซึ่งรวมถึงเหล่าพราหมณ์เมืองเพชรก็มารวมกันที่วังหลัง

อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ จากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ก็เห็นคล้ายคลึงกัน โดยขยายความเพิ่มเติมในส่วนการศึกษาค้นพบของอาจารย์ล้อม ว่า ในสมัยอยุธยา มีเจ้านาย ๒ พระองค์ที่สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี คือ กรมหลวงอภัยนุชิต ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากุ้ง อีกพระองค์หนึ่งคือ กรมหลวงพิพิธมนตรี

อาจารย์บุญเตือนมีความเห็นเกี่ยวกับประวัติมารดาของสุนทรภู่ว่า

เข้าใจว่าข้างมารดาของสุนทรภู่เป็นสกุลพราหมณ์เมืองเพชร และมารดาของสุนทรภู่อาจนับเนื่องอยู่ราชนิกูลของกรุงศรีอยุธยา คือ เป็นญาติสายเดียวกับทางเจ้าฟ้ากุ้ง

พราหมณ์เมืองเพชรจึงมาอยู่วังหลังได้ด้วยประการฉะนี้แล

ที่มา จากการเสวนาเรื่อง "สุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี" ในงาน "ชุมชนบางกอกน้อย เปิดถิ่นฐานบ้านเกิด มหากวีกระฎุมพีสยาม สุนทรภู่อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี" ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘

http://www.piwdee.net/teacher2.htm

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 05 ม.ค. 10, 16:09

ความพยายามของอ.ล้อม  ที่จะโยงกันระหว่างพราหมณ์เมืองเพชรกับราชสำนักเจ้าฟ้ากุ้ง มาถึงกรมพระราชวังหลัง   ดิฉันเห็นว่ามันยังหลวมอยู่มาก   
เจ้าฟ้ากุ้ง ท่านทรงมีวังของตัวเองมาตั้งแต่โสกันต์   เมื่อเป็นวังหน้าในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ก็ยิ่งมีข้าราชบริพารมากขึ้น ให้สมพระเกียรติ 
ขุนนางวังหน้าจะเป็นสายไหนก็ได้    ปะปนกันมากมายหลายสาย   ไม่จำเป็นต้องมีสายพราหมณ์เมืองเพชร ของพระมารดา     แม้แต่พวกบุนนาคซึ่งเป็นสายแขกเทศแท้ๆก็อยู่วังหน้า

ส่วนเรื่องมารดาเป็นเชื้อสายราชนิกูล ก็เดากันล้วนๆ   จึงไม่ขอต่อในเรื่องนี้

กลับมาเรื่องพระอภัยมณี
ในช่วงชีวิตของสุนทรภู่ คือรัชกาลที่ ๑-๔  เรื่องจีนเป็นที่นิยมกันมาก      ในฐานะอาลักษณ์  สุนทรภู่คงได้อ่านพงศาวดารจีนที่โปรดเกล้าฯให้แปล     
องค์ประกอบหนึ่งของเรื่องจีน คือ มีของวิเศษ และผู้วิเศษ     ก็ประสานเข้ากับเรื่องจักรๆวงศ์ๆของไทยได้กลมกลืน ในชาดกต่างๆมีทั้งของวิเศษ และพระฤๅษี ที่อนุโลมว่าเป็นผู้วิเศษประเภทหนึ่งอยู่แล้ว
ในเรื่องพระอภัยมณี มองเห็นร่องรอยของวิเศษของจีนมากกว่าชาดก  เช่นวิชาผูกสำเภายนต์     
แต่ตัวละครประกอบกลับมีหลายตัวเป็นพราหมณ์     เมื่อพิจารณาถึงประวัติสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร ฉบับที่อ.ล้อมค้นพบ
ก็พอจะเห็นแรงบันดาลใจว่าทำไมสุนทรภู่จึงเวียนอยู่ใกล้ๆ พราหมณ์

ถ้าหากว่าไม่มีใครเล่าถึงพราหมณ์อีก   ดิฉันจะเชิญให้คุยกันต่อถึงชาติพันธ์ที่ ๒  คือฝรั่ง    แต่ถ้าจะเล่าถึงพราหมณ์ต่อไปอีก  ก็เชิญได้ตามสบาย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 05 ม.ค. 10, 16:19

เดี๋ยวครับ คุณเทาชมพู  พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ ซึ่งตอนปลายๆเรื่องพระอภัยมณี มีบทบาทในการรบมาก  จะไม่เอาออกมาอภิปรายกันสักเทื้อหนึ่งหรือครับ  หรือเอาไว้ทีหลัง ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 08:58

อย่าลืมชีเปลือยอีกคน คนนี่ก็เป็นพราหมณ์เหมือนกัน

จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ      อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน
ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์              ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมนา
ไม่นุ่งห่มสมเพชเหมือนเปรตเปล่า              เป็นคนเจ้าเล่ห์สุดแสนมุสา
ทำเป็นทีชีเปลือยเฉื่อยเฉื่อยชา                ไม่กินปลากินข้าวกินเต้าแตง
พวกสำเภาเลากาก็พาซื่อ                       ชวนกันถือผู้วิเศษทุกเขตแขวง
คิดว่าขาดปรารถนาศรัทธาแรง                 ไม่ตกแต่งแต่คิดอนิจจัง
ใครขัดสนบนบานการสำเร็จ                    เนื้อแท้เท็จถือว่าวิชาขลัง
คนมาขอก่อกุฎิ์ให้หยุดยั้ง                      นับถือทั้งธรณีเรียกชีเปลือย


ชีเปลือยอวดอ้างกับสุดสาครว่า

เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย                  ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค         แสนโสโครกคืออายุกเป็นทุกขัง
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง                     จะปิดบังเวทนาไว้ว่าไร
เราถือศิลจินตนาศิวาโมกข์                    สละโลกรูปนามตามวิสัย
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด                 ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ                  อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี


อุดมการณ์ (ปลอม) ของชีเปลือยฟังดูแล้วคล้ายกับพวกทิคัมพร (นุ่งลมห่มฟ้า) ในศาสนาเชน

 ยิงฟันยิ้ม




บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 06 ม.ค. 10, 10:48

จริงด้วย  ลืมตัวละครสำคัญนี้ไปได้อย่างไร

เนื้อความเกี่ยวกับชีเปลือยที่คุณเพ็ญชมพูยกมานั้น  ทำให้นึกถึงบรรดาพวกลัทธิครูทั้ง ๖ ในสมัยพุทธกาล

ในบรรดาลัทธิครูทั้ง ๖ นี้  บางลัทธิ เจ้าลัทธิเป็นคนที่เคยเป็นทาสเขา  ทำความผิดถูกเขาไล่ออกจากบ้าน ไม่มีข้าวกิน ไม่มีเสื้อผ้านุ่ง  ผู้คนที่มีปัญญาน้อย เห็นเข้าก็คิดว่า  เป็นผู้ละทิ้งสมบัติทางโลกได้  เป็นพระอรหันต์  ก็พากันนับถือเคารพ  บางลัทธิ เจ้าลัทธิเป็นคนที่หนีรอดชีวิตมาจากเหตุการณ์เรือแตกกลางทะเล  เมื่อขึ้นฝั่งได้ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งห่ม ไม่มีบ้านเรือนจะอยู่  ทำตนเป็นขอทาน  คนพากันเข้าใจว่าเป็นนักบวชที่สละทางโลกได้แล้ว เป็นพระอรหันต์ก็พากันนับถือว่าเป็นครู  เจ้าลัทธิเหล่านี้เมื่อคนมานับถือมากเข้าก็ยินดี  แต่ไม่สามารถสั่งสอนธรรมะลึกซึ้งอะไรเป็นแก่นสารได้  ด้วยไม่ใช่ผู้มีปัญญา คงสอนตามที่ผู้คนทั้งหลายนับถือตนเองว่าเป็นผู้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ นั่นเอง รายละเอียดเรื่องอย่างนี้เหมือนกับเรื่องของชีเปลือยทีเดียว  ลางทีสุนทรภู่อาจจะเอาแนวเรื่องมาจากเจ้าลัทธิ ๖ สมัยพุทธกาลก็เป็นได้   (เนื้อเรื่องละเอียดของพวกลัทธิ ๖ ต้องลองไปค้นดูก่อน  ไว้จะเอามาเล่าใหม่แล้วกัน)

ส่วนพวกศาสนาเชน นิกายทิคัมพรนั้น สมัยสุนทรภู่ไม่น่าจะรู้จัก ถึงได้ยินได้รู้มาบ้าง  ก็น่าเป็นการบอกเล่าของผู้เคยไปถึงอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง  ซึ่งคงจะไม่ละเอียดถึงเรื่องลัทธิความเชื่อ คงเรียกรวมๆ ว่าชีเปลือยโดยไม่แบ่งว่าเป็นพวกลัทธิอะไร  จำได้เลาๆ ว่ามีเอกสารอะไรสักชิ้นหนึ่งของคนไทย เรียกพวกนี้ว่า เปรต เสียด้วยซ้ำไป  

ทิคัมพร  มาจาก  ทิศฺ + อมฺพร  แปลง ทิศฺ เป็น ทิคฺ เมื่อสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ  เป็นหลักของภาษาสันสกฤต ยิ้มกว้างๆ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ม.ค. 10, 06:51 โดย Hotacunus » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.103 วินาที กับ 20 คำสั่ง