เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46641 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 11:56

ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาส                        เมืองมะงาดมะงาดามะงาสวรรค์
ข้ามเกาะเชามาลีกะปิตัน                        หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว


วิลาส = อังกฤษ
ชื่ออื่นๆเดาไม่ออกเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 12:45

อ่านเรื่องนี้ มองเห็นความสนใจของสุนทรภู่ ต่อชาติตะวันตก      น่าจะเป็นแนวโน้มใหม่ที่เข้ามาในตอนปลายของรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔
กลิ่นอายวรรณคดีโบราณมีอยู่ในตอนเริ่มแรก คือพระโอรสไปเรียนวิชา กลับมาบ้านเมือง
แต่บรรยากาศทางทะเล ที่มีตั้งแต่พระอภัยหนีนางผีเสื้อ  เป็นของใหม่ทีเดียว     ตั้งคำถามไว้อีกข้อหนึ่งว่า สุนทรภู่น่าจะเคยเดินทางทางทะเล มากกว่าแค่ออกปากอ่าวไปเมืองแกลง   อาจจะเคยท่องเที่ยวไปถึงอันดามันด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 13:45

วิลาส = อังกฤษ
ชื่ออื่นๆเดาไม่ออกเลยค่ะ

ขออนุญาตแก้ไขคำว่า วิลาส เป็น วิลาศ ตามพจนานุกรม

วิลาด, วิลาศ ว. ที่เป็นของยุโรป (เป็นคําที่ชาวอินเดียในสมัยก่อนเรียกชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวอังกฤษ) เช่น สาคูวิลาด เหล็กวิลาด ผ้าวิลาศ. (เปอร์เซีย wilayat).

เชามาลี = ชวาบาหลี ?

ไมเคิล ไรท เคยตั้งข้อสงสัยว่าสุนทรภู่จะเคยไปลังกาพร้อมพระสงฆ์เมื่อรัชกาลที่ ๒ ส่งสมณทูตไปลังกา โดยอาศัยเรือพ่อค้าช้างที่ท่าเรือเมืองตรัง แล่นลัดตัดทะเลอันดามันไปอินเดียแล้วเข้าลังกา เลยเป็นเหตุให้แต่งพระอภัยมณีได้สมจริง ไม่ว่าเรื่องคลื่นลมในทะเลอันดามัน, เรือปืนของฝรั่ง, และภูมิประเทศเมืองลังกาของนางละเวงวันฬา, ฯลฯ

 อายจัง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 14:50

อาจจะโดยสารไปกับกัปตันเรือสินค้าในรัชกาลที่ ๓  เมื่อท่านพ้นจากราชการแล้วก็ได้ค่ะ   ไม่จำเป็นต้องไปกับพระสงฆ์
สังเกตจากรำพันพิลาป

แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ        ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา        แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี

ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัจศิล           ใส่เพชรนิลแนมประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี                     ชาวบุรีขี่รถบทจรฯ

แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด             ท่าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย        แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์

พื้นม่วงตองทองช้ำยำมะหวาด        ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม               เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา

จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร           ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา             ไปมังกล่าฝาหรั่งระวังตระเวณ

กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว        ตลบเลี้ยวแลวิ่งดั่งจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน     เวียนตระเวณไปมาทั้งตาปีฯ

๏ เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก        พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี                  ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา

ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง        ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา                     วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย

แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ                  คนซื้อร้องเรียกหาจึ่งมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขมาย                ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ

นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น        เป็นสวนอินทผาลัมทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล        ห้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง

ถึงขวบปีมีจั่นทำขวัญต้น                  แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง                ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย

บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง        ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย        บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์ฯ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 15:29

อ้างถึง
ไมเคิล ไรท เคยตั้งข้อสงสัยว่าสุนทรภู่จะเคยไปลังกาพร้อมพระสงฆ์เมื่อรัชกาลที่ ๒ ส่งสมณทูตไปลังกา โดยอาศัยเรือพ่อค้าช้างที่ท่าเรือเมืองตรัง แล่นลัดตัดทะเลอันดามันไปอินเดียแล้วเข้าลังกา เลยเป็นเหตุให้แต่งพระอภัยมณีได้สมจริง ไม่ว่าเรื่องคลื่นลมในทะเลอันดามัน, เรือปืนของฝรั่ง, และภูมิประเทศเมืองลังกาของนางละเวงวันฬา, ฯลฯ

ผมจำบทความเรื่องนี้ของคุณไมเคิล  ไรท  ได้ ลงในศิลปวัฒนธรรม  เมื่อราวปี ๒๕๔๗-๔๘  คุณไมค์เขียนได้พิสดารมาก มีหลักฐานแวดล้อมมาเทียบเคียงพอให้เชื่อตามได้  แต่ถ้าใครเคยอ่านบทความก่อนหน้าที่คุณไมค์จะเขียนบทความนี้  จะพอจับทางแนวคิดเรื่องที่คุณไมค์เอามาวิเคราะห์เป็นแนวคิดสุนทรภู่เคยไปลังกาได้  ก่อนหน้าที่คุรจะเขียนบทความเรื่องดังกล่าว  คุณไมค์เคยเขียนบทความเล่าเรื่องที่มีนักวิชาการชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเชคสเปียร์  อาจจะเป็นชาวอิตาลี(ซึ่งมีชื่อเป็นอย่างอื่นอยู่ก่อน-ซึ่งผมจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร) ที่ต่อมาหลบลี้หนีภัยการเมืองจากอิตาลีไปอยู่ที่อังกฤษ  โดยเปลี่ยนชื่อสวมรอยคนที่ชื่อเชคสเปียร์ซึ่งตายไปแต่ไม่มีคนรู้  และมีเจ้านายราชวงศ์อังกฤษหรือผู้มีอำนาจที่อังกฤษคอยช่วยเหลือ  โดยนักวิชาการชาวตะวันตกท่านนี้มีเอกสารหลักฐานยืนยันค่อนข้างหนักแน่นทีเดียว   คุณไมค์เก็บความจากบทความนักวิชาการชาวตะวันตกมาเล่าอีกที  จากนั้น ต่อมาอีกประมาณ ๒ ปี คุณไมค์จึงเขียนบทความนี้ (อาจจะเขียนไว้นานแล้วพร้อมๆกับบทความเรื่องเชคสเปียร์เป็นชาวอิตาลี  แต่ยังไม่ได้เอาลงพิมพ์เผยแพร่)    แนวคิดที่คุณไมค์เสนอนั้นมีบางส่วนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้  และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง  ถ้ามีโอกาสจะเอาบทความนี้มาเล่าอีกทีดีกว่า  เดี๋ยวไปหาต้นฉบับบทความก่อนครับ ยิ้มเท่ห์


บางทีสุนทรภู่ไม่ต้องไปถึงลังกาก็ได้  สุนทรภู่ก็สามารถเขียนพระอภัยมณีได้เสมือนไปลังกาเอง  เพราะตอนสุนทรภู่บวชท่านน่าจะได้สนทนากับพระที่เคยไปลังกาในฐานะสมณทูต  กับสุนทรภู่ก็น่าจะรู้เรื่องแผนที่แผนทางและเรื่องเกี่ยวกับลังกาในระหว่างรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๒ มากพอสมควร  เพราะท่านทำงานเอกสารราชการมากมาย  แค่ตลอดรัชกาลที่ ๒ ก็เหลือเฟือแล้ว   ถ้าสุนทรภู่เคยไปลังกาจริง  ทำไมในรำพันพิลาปท่านไม่เอ่ยถึงไว้บ้างทั้งที่น่าจะเป็นการเดินทางที่ท่านน่าจะประทับใจมาก  เพราะคณะสมณทูตที่ไปลังกาแต่ละครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแทบทั้งนั้น  หรือว่าท่านไม่อยากจดจารเอาไว้  (แต่ทีใครทำให้ท่านเจ็บใจระหว่างเดินทางไปเยี่ยมพ่อที่เมืองแกลงท่านทั้งจดทั้งแช่งไว้ในนิราศเสร็จสรรพ) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 15:37

อ้างถึง
ฝรั่งเกาะลูซอน หมายถึงฝรั่งที่อยู่เมืองมะนิลา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะลูซอน,
เกาะลูซอน เรา ออกเสียงเป็น สีส่อง แล้วเพี้ยนเป็น สี่ส้อง

จาก  guru.sanook.com/dictionary/search/ฝรั่งสี่ส้อง/  ครับ

ถ้าฝรั่งสี่ส้องเป็นฝรั่งที่อยู่เกาะลูซอน ในฟิลิปปินส์ปัจจุบัน  ก็น่าสงสัยอยู่ว่า  ในสมัยอยุธยามีเอกสารกล่าวถึง รถที่ใช้ในพระราชสำนักอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า  รถยางโลสง  ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องการพระศพสมเด็จพระรูป  คำว่ารถยางโลสงนี้  มีท่านผู้รู้ท่านหนึ่งตีความว่า  หมายถึงรถที่มีล้อทำด้วยยาง(พารา?)มาแต่เกาะลูซอน  โลสง กับลูซอนก็ฟังใกล้เคียงกันอยู่ น่ารับฟังอยู่  ฉะนั้นที่ว่า สี่ส้อง เพี้ยนมาจาก สีส่อง ซึ่งต้นเดิมคือ ลูซอน  ก็น่าสงสัยอยู่  จะเป็นที่ชื่ออื่นได้หรือไม่  ลังเล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 16:06

ฝรั่งที่เคยมีอิทธิพลในประวัติศาสตร์ของเกาะลูซอน คือสเปน   ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16  เคยตั้งชื่อลูซอนว่า Nueva Castilla  หรือ the New Castile.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 23 ธ.ค. 09, 09:43

ถ้าสุนทรภู่เคยไปลังกาจริง  ทำไมในรำพันพิลาปท่านไม่เอ่ยถึงไว้บ้างทั้งที่น่าจะเป็นการเดินทางที่ท่านน่าจะประทับใจมาก  เพราะคณะสมณทูตที่ไปลังกาแต่ละครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแทบทั้งนั้น

การเดินทางของคณะสมณทูตครั้งนี้ จะลำบากยากเข็ญประการใด ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีบันทึกไว้ดังนี้

บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  มีอิสระมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้ แลคณะเหนือจะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง สมเด็จพระวันรัตน์จัดได้พระวัดราชบุรณะ ๕ รูป คือพระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑ พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑ พระเซ่งรูป ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์สมณฑูตไทยจะออกไปลังกาถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๑ รูปด้วยกัน

เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีจอ ฉศก พ.ศ. ๒๓๗๕ โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัตถ์  แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับ เทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เป็นของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุ แลพระเจดีย์ฐานในลังกาทวีป แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือบาตร ฝาแลเชิงประดับมุก ถลกบาตรสักหลาดแดง ไตรแพรปักสี ย่ามหักทองขวางเป็นของพระราชทานพระสังฆนายก พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุ ณ เมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี แลมีสมณสาสน์ของสมเด็จพระสังฆราชไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง โปรดให้หมื่นไกรกรมการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นไวยาวัจกรสมณฑูต แลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย

สมณทูตลงเรือกรมอาสาจามไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ถูกลมว่าวพัดกล้าคลื่นใหญ่ เรือไปชำรุดเสียที่ปากน้ำเมืองชุมพร พระยาชุมพรจัดเรือส่งไปเมืองไชยา พระยาไชยาจัดเรือส่งต่อไป ถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ไม่ทันฤดูลมที่จะใช้ใบไปลังกาทวีป สมณทูตจึงต้องค้างอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๑๑ เดือนในระหว่างนั้นพระวลิตรภิกษุกับพระศาสนวงศ์พระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์ไทยยังค้างอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ถวายพระพรลาว่าจะกลับไปบ้านเมืองกับสมณทูตไทย เมื่อได้พระราชทานอนุญาตแล้ว ก็ตามออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่อออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้วพระวลิตรภิกษุกับพระรัตนปาละ พระหิธายะ ที่มาบวชในกรุงเทพฯ ไปประพฤติตัวไม่เรียบร้อยต่างๆ  พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นว่า ถ้าให้พระลังกา ๓ รูปนั้น ไปกับพระสงฆ์สมณทูตไทย เกรงจะไปเกิดเหตุการณ์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงจัดส่งไปเกาะหมากทั้ง ๓ รูป ให้กลับไปบ้านเมืองของตนตามอำเภอใจ คงให้ไปกับพระสงฆ์ไทยแต่พระศาสนวงศ์รูปเดียว แต่เมื่อไปขึ้นบกในอินเดียแล้ว พระศาสนวงศ์ก็หลบหายไปอีก

พระสงฆ์สมณทูตไทยไปบกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปลงเรือที่เมืองตรัง ได้ออกเรือเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ.๒๓๕๘ ไปกับเรือที่บรรทุกช้างไปขายในอินเดีย พระยานครศรีธรรมราชมีจดหมายไปถึงสังฆนาเกนนายห้างพราหมณ์อยู่ ณ เมืองบำบุดบำดัด ซึ่งเป็นคนชอบกับเจ้าพระยานครได้เคยรับซื้อช้างกันมาเสมอทุกปี ครั้นเรือไปถึงเมืองบำบุดบำดัด สังฆนาเกนได้ทราบความในหนังสือเจ้าพระยานครแล้ว ก็ช่วยเป็นธุระรับรองพระสงฆ์สมณทูต แลให้เที่ยวหาจ้างคนนำทางที่จะไปลังกา พระสงฆ์ต้องคอยท่าอยู่อีกเดือนหนึ่ง จึงได้บลิมแขกต้นหนคน ๑ เคยมาค้าขายที่เมืองตรัง พูดไทยได้ เป็นล่ามแลนำทางไป ต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแลเครื่องบริขารของพระราชทานนั้นบลิมก็รับไปด้วย เรียกค่าจ้างเป็นเงิน ๑๘๐ รูเปียออกเดินทางไปจากเมืองบำบุดบำบัด เมื่อ ณ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ไป ๗๖ วันถึงท่า ข้ามไปเกาะลังกา บลิมจ้างเรือไปส่ง ไปวัน ๑ ถึงเกาะลังกา ขึ้นเดินไปจากท่าเรืออีก ๓ วัน ถึงเมืองอนุราธบุรี เมื่อ ณ วันเดือน ๘ บุรพาสาธขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวดอัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙ พักอยู่เมืองอนุราธบุรี ๓ วัน กุมารสิยูมซึ่งเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองอนุราธบุรีนั้น จัดคนนำทางส่งต่อไปเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี เดินทางไปได้ ๑๖ วัน ถึงคลองน้ำชื่อว่า วาลุกคงคา เมื่อ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้นค่ำ ๑ ขุนนางเมืองสิงขัณฑทราบว่า พระสงฆ์ไทยไปถึงคลองวาลุกคงคา จึงแต่งให้พันนายบ้านราษฎรออกมาปฏิบัติ ทำปะรำคาดผ้าขาวให้พักอาศัยอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้น ๒ ค่ำ พระสงฆ์สามเณรราษฏรชาวลังกาชายหญิงออกมารับสมณทูตไทย แห่เข้าไปเมืองสิงขัณฑ ให้ไปอยู่วันบุปผาราม

เวลานั้นอังกฤษพึ่งได้เกาะลังกาเป็นเมืองขึ้นใหม่ ๆ  เจ้าเมืองอังกฤษกำลังเอาใจชาวลังกา ให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะเบียดเบียนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ชาวลังกาเคยได้รับนิตยภัตจตุปัจจัยมาแต่เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬปกครองอย่างไรก็คงให้อย่างนั้น พระสงฆ์ไทยก็ได้รับความอุปการะเหมือนกับพระสงฆ์ชาวลังกาด้วยทุกอย่าง ฝ่ายพระสังฆนายกพระอนุนายกชาวสิงหฬ ก็ช่วยทำนุบำรุงพาสมณทูตไทยไปหาเจ้าเมืองอังกฤษ ขอลูกกุญแจมาไขเปิดพระทันตธาตุมนเทียรแลเชิญพระทันตธาตุออกไปให้นมัสการ แล้วพาไปนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ ได้ไปเที่ยวนมัสการพระเจดียฐานที่สำคัญทุกแห่ง สมณทูตไทยอยู่ในลังกาทวีป ๑๒ เดือน จึงลาพระสังฆนายก พระอนุนายกกลับมา

พระสังฆนายก พระอนุนายก ประชุมพร้อมกันทำสมณสาสน์ตอบให้สมณทูตไทยถือเข้ามาถึงสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑  ในสมณสาสน์นั้นว่า พระสังฆนายก พระอนุนายกได้ช่วยทำนุบำรุงพระสงฆ์ไทยตั้งแต่ไปจนกลับมา มีความผาสุกทุกองค์ จัดได้พระเจดีย์แก้วผลึกสูง ๘ นิ้วบรรจุพระบรมธาตุ ๕ พระองค์ พระพุทธรูปกาไหล่ทองคำ หน้าตัก ๕ นิ้วองค์หนึ่ง ฉลองพระเนตรองค์หนึ่ง ถวายเข้ามาในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแลจัดให้พระเจดีย์กาไหล่ทองคำองค์หนึ่งสูง ๑๒ นิ้ว บรรจุพระบรมธาตุ ๓ พระองค์แว่นตาศิลาอันหนึ่งถวายสมเด็จพระสังฆราช

อนึ่งเมื่อสมณทูตไทยกลับมาคราวนั้น ได้หน่อพระมหาโพธิเมืองอนุราธบุรีเข้ามาด้วย ๖ ต้น พระสงฆ์ไทยออกจากเมืองสิงขัณฑ ณ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู นพศก พ.ศ. ๒๓๖๐ ขุนนางอังกฤษที่เป็นเจ้าเมืองกลัมพูเอาเป็นธุระฝากเรือลูกค้ามาส่งที่เมืองบำบุดบำดัด แล้วสังฆนาเกนเศรษฐีเสียค่าระวางให้เรือกำปั่นลูกค้ามาส่งที่เมืองเกาะหมาก ขึ้นพักอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ๔ เดือน พระยานครศรีธรรมราชทราบว่า พระสงฆ์ซึ่งไปลังกากลับมาถึงเมืองเกาะหมากแล้วจึงแต่งเรือไปรับแลจัดส่งเข้ามา ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อเดือน ๙ แรมค่ำ ๑ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พ.ศ.๒๓๖๑ แลต้นพระมหาโพธิที่ได้มานั้น พระอาจารย์เทพขอเอาไปปลูกไว้ที่เมืองกลันตันต้นหนึ่ง เจ้าพระยานครขอเอาไปปลูกที่เมืองนครสองต้น ได้เข้ามาถวายสามต้น โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง วัดสระเกศต้นหนึ่ง แล้วทรงตั้งพระอาจารย์ดีเป็นที่พระคัมภีรปรีชา ตั้งพระอาจารย์เทพเป็นที่พระปัญญาวิสารเถร พระห่วงนั้นทรงเห็นว่าได้เรียนหนังสือรู้ภาษามคธมาก ได้ช่วยเป็นล่ามโต้ตอบกับชาวลังกา ไม่เสียรัดเสียเปรียบ เป็นคนฉลาดไหวพริบดีจึงทรงตั้งให้เป็นพระวิสุทธินี เป็นพระราชาคณะทั้ง ๓ รูป พระสงฆ์ที่ได้เป็นสมณทูตไปลังกานอกจากนั้น พระราชทานไตรปีแลนิตยภัตต่อมา เดือนละ ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ทุกรูป



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 23 ธ.ค. 09, 11:33

จาก รำพันพิลาป   สุนทรภู่น่าจะเคยโดยสารเรือไปถึงมะละกา แล้วข้ามไปที่ชวา
แต่ในการบรรยาย เป็นเส้นทางจากชวามามะละกา  ตามรอยอิเหนา

แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม
ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา
วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ

จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว
ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ
ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม

ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน
ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม
จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา

เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปทั้งตึก
แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวียะดา
ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาครฯ

๏ แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่
จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน
ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา

เกาะวังกัลพังหา   สุนทรภู่ก็น่าจะเคยไปเห็นด้วยตัวเอง มากกว่าจะฟังคนมาเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่ง
มีการเก็บรายละเอียดของฉาก  เช่น เรื่องน้ำขึ้น เรื่องผลไม้ชนิดต่างๆ   เหมือนเป็นประสบการณ์โดยตรง

แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง
ไปชมละเมาะเกาะวังกัลพังหา
เกิดในน้ำดำนิลดั่งศิลา
เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน

ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ
เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชลาฝูงนาคิน
ขึ้นมากินเกยนอนชะอ้อนเนิน

ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึ่งรอบ
เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน
เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล

จริงนะจ๊ะจะเก็บทั้งกัลพังหา
เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอี้แก้แลรอบขอบคีริน
ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง

สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด
ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง
เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา

จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น
ก้าแฝ่ฝิ่นสินธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา
แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กรายฯ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 09:27

บทความเรื่อง "สุนทรภู่เคยไปลังกาหรือ?" ไมเคิล  ไรท์ เขียน
ลงในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๔๘  หน้า ๗๖ - ๘๑
ความโดยสรุป มีดังนี้

"เราไม่มีหลัก(Proof) เลยว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา, แต่เรามีพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ที่ชวนให้สงสัยว่าท่านอาจจะเคยเดินทางไปลังกา,  และถ้าไปจริงก็น่าจะออกไปพร้อมคณะสมณทูตที่รัชกาลที่ ๒ ทรงส่งไปในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙   หากท่านไม่ได้ไปเอง, สุนทรภู่จะต้องเคยคบหาคณะสมณทูตนี้, สนทนากับท่านอย่างสนิทสนม, และอ่านรายงานของท่านทุกชิ้น, ซึ่งบางชิ้นอาจจะหายสาบสูญไปเหลือให้เห็นในปัจจุบัน  หลักฐานพยานเท่าที่ผมรวบรวมได้มีอยู่สามกองใหญ่,คือ ๑.ชีวประวัติสุนทรภู่, ๒.รายงานของสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ และ ๓.หลักฐานระหว่างบรรทัดในพระอภัยมณี..."

๑.หลักฐานจากชีวประวัติสุนทรภู่
๑.๑  สุนทรภู่มีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี 
๑.๒  สุนทรภู่เกิดและโตในฐานะชาววังหลัง
๑.๓  สุนทรภู่เกิดเมื่อปี ๒๓๒๙  ดังนั้นในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ ท่านมีอายุเกือบ ๓๐ ปี ถือว่าเป็นผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์แล้ว
๑.๔  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ  สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น  ท่านจึงหลบไปชั่วระยะหนึ่ง  ซึ่งว่าท่านไปหลบอยู่ในถ้ำเมืองเพชรบุรี ก็น่าจะเป็นไปได้  ในคราวเดียวกันนั้น  รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้แต่งคณะสมณทูตไปลังกา  ซึ่งเป้นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก  หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้สุนทรภู่พ้นอันตรายจากคดีกบฏ (ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต)  วิธีช่วยสุนทรภู่ที่ง่ายที่สุด คือ ทำให้สุนทรภู่ล่องหนไปสักระยะ  เช่น ให้ลงเรือไปกับคณะสมณทูตที่ไปลังกาโดยไม่เปิดเผยชื่อ  ซึ่งไมเคิล  ไรท์ว่า เราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นไปได้ไหม?

หลักฐานข้างต้นไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ แต่แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ ซึ่งรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสมณทูตไปลังกานั้น  สุนทรภู่เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะไปเป็นทูต เหมาะทั้งด้านอายุและฐานะทางสังคม  ไมเคิล  ไรท์ เน้นว่า อย่าลืมว่าคนที่มีเชื้อพราหมณ์สมัยก่อน ไม่ได้เป็นเฉพาะพราหมณ์พระราชพิธีเพียงเท่านั้น  หากยังได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะตำแหน่งทูตที่ติดต่อกับโลกฮินดู-พุทธ เช่นอินเดียและลังกา


๒.หลักฐานในรายงานสมณทูต
๒.๑ ในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ มีข่าวมาถึงเมืองไทยว่า อังกฤษได้ยึดเกาะลังกาทั้หมดและถอดกษัตริย์ลังกาออก  รัชกาลที่ -จึงมีรับสั่งให้สมณทูตออกไปนมัสการบูชาเจติยสถาน ฉละอาจจะให้สอดแนมดูว่าอังกฤษว่ามีนโยบายอย่างไรต่อรัฐพุทธศาสนา
๒.๒ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้วังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ทรงรับพระธุระเป็นแม่งานจัดการคน การเดินทาง และเสบียง ให้แก่สมณทูตที่จะไปลังกาครั้งนั้น
๒.๓ คณะสมณทูตที่ไปลังกาคราวนี้ มี พระภิกษุ สามเณร ๙ รูป ฆราวาส ๓๖ คน ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่เลย
๒.๔ คณะสมณทูตลงเรือออกเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช จำพรรษาที่นั่นแล้วนั่งช้างไปที่ปากน้ำตรัง ลงเรือค้าช้างที่เกาะลิบง  แล้วเรือนั้นแล่นไปทางทิศเหนือผ่านเกาะถลางและหมู่เกาะชายฝั่งทะเลอันดามัน  จากนั้นจึงแล่นเฉียงไปทางตะวันตกข้ามอ่าวเบงกอลผ่านหมู่เกาะนิโคบาร์ (นาควารี) ถึงท่าเรืออินเดียใต้ ที่เมืองมะหมุดบันดัด (ตามสำเนียงชาวมุสลิม ซึ่งโปรตุเกส เรียกว่า Porto Novo (ท่าใหม่) ทมิฬ เรียกว่า ปะรังกิเปฏไฏ (ตลาดฝรั่ง)) เมื่อเรือขายช้างแล้ว  คณะสมณทูตเดินทางทางบกไปถึงถนนพระรามลงเรือข้ามฟากไปเกาะลังกาแล้วเดินเท้าต่อไปผ่านเมืองอนุราธปุระ สู่เมืองแคนดี เมืองหลวง
๒.๕ รายงานสมณทูตไม่ได้ระบุการเดินทางขากลับ  แต่คณะสมณทูตเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๖๑  ซึ่งคนที่ไปลังกาครั้งนั้นทั้งพระภิกษุและฆราวาสต่างได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์และบรรดาศักดิ์ ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่

หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าสุนทรภู่ไปลังกากับคระสมณทูต  ทั้งนี้ สมัยก่อนตำแหน่งบรรดาศักดิ์และราชทินนามเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  สุนทรภู่อาจจะไปลังกาในชื่อบรรดาศักดิ์อื่น เช่น ขุนทรงอักษร หรือ หมื่นไกร (คุมดอกไม้เงินดอกไม้ทอง)  น่าสนใจคือ แม่งานที่จัดการการเดินทางของสมณทูตครั้งนี้คือวังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ซึ่งสุนทรภู่เคยเป็นข้าหลวงในพระองค์  นอกจากนั้น  รายงานของสมณทูตไปพ้องกับภูมิศาสตร์ในพระอภัยมณี ตั้งแต่ ฝั่งทะเลตะวันตกของอุษาคเนย์ หมู่เกาะในทะเลอันดามัน หมู่เกาะนาควารี ชายฝั่งอินเดียตะวันออก  และเกาะลังกา

๓ หลักฐานในพระอภัยมณี
๓.๑ ทิศทางหมู่เกาะต่างๆ ในอ่าเบงกอลกับในเรื่องพระอภัยมณี ไมเคิล  ไรท์แนะนำอ่านจากหนังสือ "สุนทรภู่เกิดวังหลัง   ผู้ดี"บางกอก"ฯ ของสุจิตต์  วงษ์เทศ  ส่วนไมเคิล  ไรท์ นำเสนอเพียงประเด็นเดียวคือ  พระอภัยมณีตอนที่เลิกทัพเรือว่า

พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก   ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเซียง        เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา

แหลมเรียว  คือ หมู่เกาะ Riao  สุดปลายแหลมมลายู ถ้ารบกันที่อ่าวไทย จะต้องให้เจ๊กจีนแล่นเรืออ้อมแหลมเรียวทำไม คงมีแต่จากทะเลอันดามันที่ต้องอ้อมแหลมนี้กับเมืองจีน  สุนทรภู่จะไม่รู้ภูมิศาสตร์ได้อย่างไร

๓.๒ ไมเคิล  ไรท ยกตัวอย่างกลอน ๓ บทในพระอภัยมณี ซึ่งกล่าวถึงทิวทัศน์ทะเล พายุในทะเล และแสงพรายทะเล  แล้วเสนอว่า สุนทรภู่น่าจะได้จินตนาการเอาเอง  แต่ท่านน่าจะได้ประสบมาแก่ตัวจึงสามารถบรรยายภาพทะเลได้ละเอียดมาสู่คนอ่าน

ในความส่งท้าย  ไมเคิล  ไรท์ ว่าพระอภัยมณีเป็นนิทาน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์  สุนทรภู่ไม่จำเป็นต้องออกไปลังกากับคณะสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็ได้  แต่เชื่อว่าท่านน่าจะเคยออกทะเลหลวงเป็นแน่  ที่ไมเคิล  ไรท์เสนอว่าไปกับสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ นั้นเป็นความสะดวกตามหลักฐานแวดล้อมที่ชวนให้เชื่อเช่นนั้น
 (จบ)



เชิญอภิปรายกันได้ครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 13:28


เมืองมะหมุดบันดัด (ตามสำเนียงชาวมุสลิม ซึ่งโปรตุเกส เรียกว่า Porto Novo (ท่าใหม่) ทมิฬ เรียกว่า ปะรังกิเปฏไฏ (ตลาดฝรั่ง)

ปะรังกิเปฏไฏ =  Parangipettai = ตลาดฝรั่ง (ในภาษาทมิฬ Pettai = ตลาด  parangis = ฝรั่ง หรือ ชาวยุโรป)

ฝรั่งของไทยกับของทมิฬอินเดียน่าจะมีที่มาเดียวกัน

ทำไมเราถึงเรียกชาวยุโรปว่า "ฝรั่ง"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1670.0

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 13:41

อ้างถึง
เราไม่มีหลัก(Proof) เลยว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา, แต่เรามีพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ที่ชวนให้สงสัยว่าท่านอาจจะเคยเดินทางไปลังกา,  และถ้าไปจริงก็น่าจะออกไปพร้อมคณะสมณทูตที่รัชกาลที่ ๒ ทรงส่งไปในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙  

ยังมองไม่เห็นหลักฐานที่สนับสนุนสมมุติฐานพวกนี้ค่ะ


อ้างถึง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ  สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น  


กบฏในรัชกาลที่ ๒  เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒  หลังรัชกาลที่ ๑ สวรรคตเพียง ๓ วัน คือกบฎเจ้าฟ้าเหม็น (กรมขุนกษัตรานุชิต)
ส่วนสมณทูตไปลังกา เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๘   ห่างไปอีก ๖ ปี     นานเกินกว่าจะเอามาเกี่ยวข้องกันแล้ว

เหตุใหญ่อีกครั้ง  ไม่ใช่กบฏ  เมื่อพ.ศ. 2359 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(บุญศรี)เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ  ถูกข้อกล่าวหาถึงขั้นต้องปาราชิก     ผู้สอบสวนคือกรมหมื่นรักษ์รณเรศและกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   จากนั้นมีบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่า

ไกรสรพระเสด็จได้       สึกชี
กรมหมื่นเจษฎาบดี       เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี        ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้      แม่นแม่น เมืองทมิฬ

ผู้ต้องสงสัยคือ กรมหมื่นศรีสุเรนทร ผู้เป็นศิษย์ของสมเด็จฯ   ถึงขั้นถูกจับคุมขัง และสิ้นพระชนม์ในที่ขังนั้นเอง

ดิฉันไม่ทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เรื่องไหนว่า สุนทรภู่ถูกกล่าวหารวมไปด้วย      แต่อย่างไรก็ตาม  สมณทูตเดินทางพ.ศ. ๒๓๕๘  เหตุนี้เกิดพ.ศ.  ๒๓๕๙
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 13:58

ดิฉันไม่ทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เรื่องไหนว่า สุนทรภู่ถูกกล่าวหารวมไปด้วย

พระนิพนธ์ตอนนี้มีอยู่ว่า

เรื่องประวัติสุนทรภู่ ตอนจะเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ นั้น  มีคำเล่ากันมาว่า  เมื่อคราวเกิดทิ้งบัตรสนเท่ห์กันชุกชุมใน พ.ศ. ๒๓๕๙ ที่กรมหมื่นศรีสุเรนทรต้องถูกชำระนั้น  สุนทรภู่ก็ถูกสงสัยว่าเป็นผู้แต่งหนังสือทิ้งด้วยคนหนึ่ง  ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี  ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมืองยังเป็นหนุ่มคะนองว่า  ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร  ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน  แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว  บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง 

 ยิ้ม

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 15:33

บทความของคุณไมเคิล ไรท์  เข้าใจว่าคงจะเขียนด้วยข้อมูลความทรงจำคลับคล้ายคลับคลาจากการอ่านหนังสือบางเล่ม  ทำให้มีช่องให้โต้แย้งได้มาก  อนึ่ง  อยากให้สังเกตว่า  คุณไมเคิล  ไรท์  ก็เขียนแบบเซฟตนเอง ไม่ฟันธงเสียทีเดียวว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา

สำหรับผม ขอตั้งข้อสังเกตบางประเด็นในบทความของคุณไมเคิล  ไรท์ ดังนี้

1.
อ้างถึง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ  สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น  ท่านจึงหลบไปชั่วระยะหนึ่ง  ซึ่งว่าท่านไปหลบอยู่ในถ้ำเมืองเพชรบุรี ก็น่าจะเป็นไปได้  ในคราวเดียวกันนั้น  รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้แต่งคณะสมณทูตไปลังกา  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก  หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้สุนทรภู่พ้นอันตรายจากคดีกบฏ (ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต)  วิธีช่วยสุนทรภู่ที่ง่ายที่สุด คือ ทำให้สุนทรภู่ล่องหนไปสักระยะ  เช่น ให้ลงเรือไปกับคณะสมณทูตที่ไปลังกาโดยไม่เปิดเผยชื่อ  ซึ่งไมเคิล  ไรท์ว่า เราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นไปได้ไหม?

ตรงนี้  เราทราบจากพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่า ในรัชกาลนี้มีการก่อกบฏครั้งสำคัญ คือกบฏเจ้าฟ้าเหม็น  เมื่อ ๒๓๕๒ ก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์เป็นอย่างไร คงทราบกันอยู่  ส่วนกบฏอื่นๆ ในรัชกาลนี้ มีเหมือนกัน แต่เป็นกบฏตามหัวเมืองปลายพระราชอาณาเขต   นอกจากนี้ก็มี กรณีอั้งยี่กำเริบที่เมืองสมุทรสาคร  ซึ่งสุนทรภู่คงไม่น่าจะเกี่ยวข้องได้   จริงอยู่ว่ารัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก แต่ถ้าสุนทรภู่ถูกหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับผู้ก่อการกบฏไม่ว่าครั้งไหน  รัชกาลที่ ๒ ต้องมีรับสั่งให้สอบสวนเป็นการด่วน  คงไม่ทรงปล่อยไว้ให้ทรงระแวงพระทัย  เพราะกรณีกบฏถือเป็นภัยต่อพระราชบัลลังก์และพระราชวงศ์โดยตรง   ทั้งสุนทรภู่เป็นผู้ได้เฝ้าใกล้ชิดด้วย ยิ่งต้องรีบชำระ   ถ้าผิดจริงก็คงไม่ทรงปล่อยสุนทรภู่ไว้  ถึงสุนทรภู่จะเป็นกวีที่โปรดอย่างไร  เพราะถ้าเป็นอันตรายแก่พระองค์จะรักษาไว้ทำไมมี  การเอาสุนทรภู่ไปลังกา นั่นเท่ากับเอาสุนทรภู่ไปเผชิญโชคกับความตาย  ถ้าใครอ่านจดหมายเหตุสมณทูตออกไปลังกาในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งพิมพ์ในเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แล้วจะทราบว่า  แค่คณะสมณทูตเดินทางยังไม่ถึงเมืองนครศรีธรรมราช  เรือก็แตก ต้องอดข้าวปลากันหลายวัน กว่าจะมีคนมาช่วย ก็ทุกข์กันสาหัส 

๒.
อ้างถึง
รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้วังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ทรงรับพระธุระเป็นแม่งานจัดการคน การเดินทาง และเสบียง ให้แก่สมณทูตที่จะไปลังกาครั้งนั้น และ คณะสมณทูตที่ไปลังกาคราวนี้ มี พระภิกษุ สามเณร ๙ รูป ฆราวาส ๓๖ คน ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่เลย  และ น่าสนใจคือ แม่งานที่จัดการการเดินทางของสมณทูตครั้งนี้คือวังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ซึ่งสุนทรภู่เคยเป็นข้าหลวงในพระองค์ 

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่มีเจ้านายที่ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) และพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ก็มิได้ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)  ที่รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ทรงจัดการเรื่องคณะสมณทูตไปลังกา  น่าจะเป็นเพราะพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ทรงมีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  โดยเจ้าจอมมารดาของพระองค์เป็นเชื้อสายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช  อีกทั้งทรงกำกับดูแลราชการหัวเมืองปักษ์ใต้อยู่  การที่ได้ทรงรับจัดการครั้งนี้ก็เป็นพระธุระโดยตรงของพระองค์อยู่แล้ว  ส่วนสุนทรภู่จะเคยเป็นข้าหลวงในพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ หรือไม่นั้น  คิดว่า ไม่น่าจะใช่  สุนทรภู่เคยรับราชการในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์  พระโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข   หลังจากที่พระองค์เจ้าปฐมวงศ์สิ้นพระชนม์แล้ว  สุนทรภู่อาจจะย้ายมาเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๒ ในสมัยที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประทับที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี  เมื่อรัชกาลที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่จึงได้ย้ายมาทำการวังหลวงในฐานะข้าหลวงเก่าในพระองค์

๓.
อ้างถึง
คนที่มีเชื้อพราหมณ์สมัยก่อน ไม่ได้เป็นเฉพาะพราหมณ์พระราชพิธีเพียงเท่านั้น  หากยังได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะตำแหน่งทูตที่ติดต่อกับโลกฮินดู-พุทธ เช่นอินเดียและลังกา

เรื่องตั้งพราหมณ์เป็นทูต  เคยอ่านเจอแต่ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น  ส่วนเอกสารอื่นๆ ไม่เคยมีการระบุว่า ตั้งพราหมณ์เป็นทูต  ถึงสุนทรภู่มีเชื้อสายพราหมณ์ ก็น่าสงสัยว่าท่านเองทราบหรือได้ร่ำเรียนสืบทอดความรู้จากพราหมณ์บรรพบุรุษมาเพียงใด  การที่ท่านมีเชื้อพรหมณ์เมืองเพชรบุรี คงไม่ได้หมายความว่า ท่านจะรู้ทุกเรื่องของพราหมณ์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 17:25

อ้างถึง
ความข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในนิราศเมืองเพชรบุรี  ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓  กล่าวความย้อนขึ้นไปถึงเมืองยังเป็นหนุ่มคะนองว่า  ได้เคยหนีออกไปอยู่เมืองเพชร  ไปซุ่มซ่อนนอนอยู่ในถ้ำเขาหลวงหลายวัน  แล้วไปอาศัยอยู่กับหม่อมบุนนาคในกรมพระราชวังหลัง  ซึ่งออกไปตั้งทำนาอยู่ที่เมืองเพชรเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว  บางทีจะหนีไปในคราวที่ถูกสงสัยว่าแต่งหนังสือทิ้ง 

นิราศเมืองเพชร
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2258.0
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 20 คำสั่ง