เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46503 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 12 ธ.ค. 09, 21:18

เปิดกระทู้นี้ตามคำขอของคุณหลวงเล็ก

อ้างถึง
เอ... ผมว่าคุณเทาชมพูเปิดกระทู้ชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องพระอภัยมณี ก็น่าจะดีนะครับ 
ท่าทางจะสนุกเหมือนชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องขุนช้างขุนแผน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2655.msg58370;topicseen#msg58370

ยังหาพระอภัยมณีตอนปลายไม่ได้ค่ะ    ต้องขอให้คุณหลวงเริ่มต้นบรรเลงไปก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 10:16

คุณหลวงตกลงให้ดิฉันเริ่มต้นก่อน

ชาติพันธุ์วรรณาแรกในพระอภัยมณี   ขอประเดิมด้วย "พราหมณ์" 

พระอภัยมณี เริ่มต้นเรื่องด้วย "ขนบ" แบบเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ที่นิยมกัน  คือโอรสกษัตริย์ต้องจากบ้านเมืองไปเรียนวิชาในต่างถิ่น
ก่อนเรื่องนี้  แบบแผนการดำเนินเรื่องคือ  เจ้าชายทั้งหลายไปเรียนวิชากับพระฤๅษี    ก่อนเรียนและช่วงเวลาเรียน  ต้องสนุกสนานหรือลำบากลำบนยังไง ไม่มีการเอ่ยถึง
กวีจะเดินเรื่องเมื่อเจ้าชายเรียนจบแล้ว   เดินทางกลับบ้านเมือง  การผจญภัยก็เริ่มแต่นั้น
สุนทรภู่ก็จับ "ขนบ" นี้มาเหมือนกัน     ปูพื้นเรื่องในสิ่งที่คนอ่านคุ้นเคย

แต่ว่าสุนทรภู่ เขียนพระอภัยมณี เป็น "นวัตกรรม"  ดังนั้น  พระฤๅษีโยคีชีไพรทั้งหลายจึงตกอันดับไปจากความสนใจ
ครูผู้สอนวิชาของเจ้าชายในเรื่อง   ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น คือเป็น "พราหมณ์พฤฒา   ทิศาปาโมกข์"
คำบรรยายสถานที่ และลักษณะการเรียน นับว่าล้ำสมัย  คือเหมือน "คอลเลจ" เลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 10:29

อันสองท่านราชครูนั้นอยู่ตึก                จดจารึกอักขราไว้หน้าบ้าน
เป็นข้อความตามมีวิชาการ                  แสนชำนาญเลิศลบภพไตร
แม้นผู้ใดใครจะเรียนวิชามั่ง                 จงอ่านหนังสือแจ้งแถลงไข
ถ้ามีทองแสนตำลึงมาถึงใจ                  จึงจะได้ศึกษาวิชาการ


เจ้าชายที่เรียนกับพระฤๅษี  ไม่เห็นมีบอกไว้ว่าต้องเสียค่าเทอม  และค่ากินอยู่   อย่างมากก็รับใช้พระเจ้าตา เก็บผลไม้มาให้ฉัน ไปตามเรื่อง
แต่พราหมณ์แห่งหมู่บ้านจันตคาม   สอนวิชาแบบมืออาชีพ   
ในเมื่อถือว่าเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ   คอลเลจนี้ก็เข้ายากยิ่งกว่าฮาร์วาร์ด   ตั้งกำแพงค่าเล่าเรียนแพงมหาโหด   
แสดงว่าคัดเลือกนักศึกษา  ไม่ยอมให้ชาวบ้านที่ไหนมาเรียนก็ได้     
คนที่จะมีทองแสนตำลึง  ก็มีได้แต่ระดับกษัตริย์ หรืออย่างต่ำก็อภิมหาเศรษฐี   คือเป็นลูกศิษย์ที่สูงส่งมาก่อนแล้ว    จะได้ไม่เอาวิชาไปทำอะไรให้เสื่อมเสียมาถึงสถาบัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 10:59

เหตุผลหนึ่งซึ่งสุนทรภู่ใช้พราหมณ์เป็นพระอาจารย์ของเจ้าชาย คงเป็นเพราะบรรพชนของท่านก็อยู่ในตระกูล "พราหมณ์เมืองเพชร"

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ      ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป        บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช    ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวฐานศาลสถิตย์อิศวรา            เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่          แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ


จากนิราศเมืองเพชรฉบับตัวเขียน

ทั้ง ยาย และ ย่า ของสุนทรภู่ล้วนเป็น "พราหมณ์รามราช" ที่เป็น "ชาวเพชรบุรี"

พราหมณ์รามราช หมายถึงอะไร?

ในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ว่ากษัตริย์แห่งรามรัฐ (Rammaradt) อยู่ชายฝั่งโจฬมณฑล (Coromandel) ส่งพราหมณ์มากรุงศรีอยุธยาเพื่อเผยแพร่ลัทธิพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็มีพราหมณ์จากที่ต่าง ๆ เดินทางสู่สยาม โดยเฉพาะมาจากเมืองรามรัฐและพราหมณ์เหล่านี้ได้รับความยกย่องนับถือในหมู่พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าชาย พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชน (วัน วลิต แต่ง, ศ.ดร.เดวิด เค. วัยอาจ บรรณาธิการ, วนาศรี สามนเสน แปล, ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตรวจ, จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ โดยสำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๖)

   
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 11:59

เรื่องพราหมณ์รามราช ที่ว่ามีอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยูยาฉบับวันวลิต นั้น จำได้ว่ามีเรื่องเช่นนี้ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชด้วย 

เรื่องเชื้อสายของสุนทรภู่เป็นพราหมณ์  สงสัยว่าจะเป็นเชื้อสายฝ่ายมารดาของท่าน  ส่วนเชื้อสายบิดาของท่านท่านว่าเป็นชาวชองอยู่เมืองแกลง
พราหมณ์ที่เมืองเพชรบุรี  คงน่าจะเกี่ยวข้องกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชด้วย 
เพราะตำนานเมืองนครศรีธรรมราชหรือตำนานพระบรมธาตุเมืองศรีธรรมราชหรือพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช
มีข้อความกล่าวถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองเพชรบุรีก่อนจะมีกรุงศรีอยุธยา
อันที่จริงในเมืองไทยนี้มีพราหมณ์อาศัยอยู่หลายเมือง เช่นที่ ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และเพชรบุรี เป็นต้น แต่ต่อมาค่อยๆถูกกลืนไป
แม้กระทั่งพิธีกรรมพราหมณ์ที่ได้ปฏิบัติก็เลือนไปเป็นเอาพุทธกับไสยศาสตร์พื้นเมืองมาใส่ไว้มาก

ส่วนที่สุนทรภู่ให้พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณไปเรียนวิชากับพราหมณ์นั้น อาจจะเป็นอิทธิพลจากวรรณคดีพุทธศาสนาอย่างชาดก
ตัวละครเอก(เป็นโอรสกษัตริย์)มักต้องเดินทางเดินทางไปเรียนวิชาต่างๆ ที่เมืองตักศิลา
(ถ้าเทียบปัจจุบันก็คงอยู่แถวๆทางเหนือของปากีสถานติดกับอาฟกานิสถาน) หรือไม่ก็ไปที่พาราณสี

ส่วนเรื่องค่าเรียนของพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณที่แพงนักนั้น  ตีความได้แง่หนึ่งว่า 
พราหมณ์ที่สอนหวงวิชา ไม่ปรารถนาจะให้คนทั่วไปได้ร่ำเรียนวิชานี้
ต้องการคนที่สนใจมารับสืบทอดวิชาไป เห็นความสำคัญของความรู้ที่สอนให้
และสะกัดไม่ให้คนแห่มาเรียนกับพราหมณ์มากนัก  เพราะวิชานี้ต้องสอนแบบตัวต่อตัว
สอนเยอะแบบห้องบรรยายรวมในมหาวิทยาลัยสมัยนี้ไม่ได้ 
อันนี้ก็ตรงกับการสอนดนตรีไทยอยู่เหมือนกัน  จะเล่นเป็นเพลงใดก็ต้องไปต่อเพลงนั้นตัวต่อตัวกับครู
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอนวิชากันหมดกระบวนแล้ว พราหมณ์ก็มอบค่าเรียนคืนให้ด้วย
ถ้าเป็นสมัยนี้  เห็นจะมีแต่คนมั่งมีที่จะเรียนกันได้
แต่การตั้งเกณฑ์ค่าสอนอย่างนี้ ก็เป็นผลเสียคือ บางที อาจจะไม่มีใครมาสืบวิชา วิชากับครูก็เลยตายหายสูญไปด้วยกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 15:58

ขอบคุณคุณเพ็ญและคุณหลวงที่มาร่วมวง ทุ่นแรงดิฉันไปได้มาก

ก็อย่างที่คุณหลวงพูด  คือวิชาของทิศาปาโมกข์ เก็บค่าเล่าเรียนแพง ด้วยมีจุดมุ่งหมาย

"ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ                 แต่ป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา"

คือวิชานั้นมีไว้ให้ผู้สมควรจะได้เรียน     ไม่ใช่ใครก็ได้จะมาเรียน    เรียกว่าเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับการศึกษาในปัจจุบัน

จุดมุ่งหมายของวิชาปี่ ก็เป็นนวัตกรรมของการเรียนยุคจักรๆวงศ์ๆทีเดียว

ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ                         จะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน                                            ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส                                      เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ                                  จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 16:10

สองพี่น้องเดินทาง

สิบห้าวันเดินในไพรสณฑ์                 ถึงตำบลบ้านหนึ่งใหญ่นักหนา  
เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา      มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน


จากกรุงรัตนา (รัตนโกสินทร์) เดินทางมาถึงบ้านจันตคาม (เดาว่าสุนทรภู่น่าจะนึกให้อยู่ในเมืองเพชร  กรุงเทพ-เพชรบุรี ๑๒๓ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้า ๑๕ วัน เดินไปชมป่าหาอาหารไปวันละ ๘ - ๙ กิโลเมตร) อาจารย์ของพระอภัยมณีก็เป็นพราหมณ์รามราช พวกเดียวกับบรรพชนของสุนทรภู่

ฝ่ายครูเฒ่าพินทพราหมณ์รามราช        แสนสวาทรักใคร่มิได้หมอง
ให้ข้าไทใช้สอยคอยประคอง            เข้าในห้องหัดเพลงบรรเลงพิณ
แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่                ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น
แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยิน            ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง


เรียนหลักสูตรเร่งรัดอยู่ ๗ เดือนก็ได้ปริญญาดุริยางคศาสตร์บัณฑิต (สาขาเป่าขลุ่ย)

ประมาณเสร็จเจ็ดเดือนโดยวิตถาร       พระกุมารได้สมอารมณ์หวัง
สิ้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง           จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล
ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ               จะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน                ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส           เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ         จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง


แล้วอาจารย์ก็มอบอุปกรณ์ประกอบวิชาชีพพร้อมคืนค่าเล่าเรียนให้

แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง              ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง
อวยพรพลางทางหยิบธำมรงค์           คืนให้องค์กุมาราแล้วว่าพลัน
ซึ่งดนตรีตีค่าไว้ถึงแสน                  เพราะหวงแหนกำชับไว้ขับขัน
ใช่ประสงค์ตรงทรัพย์สิ่งสุวรรณ         จะป้องกันมิให้ไพร่ได้วิชา
ต่อกษัตริย์เศรษฐีที่มีทรัพย์             มาคำนับจึงได้ดังปรารถนา
จึงคืนเข้าบุรีรักษ์นครา                  ให้ชื่นจิตพระบิดาและมารดร


ท่านอาจารย์พินทพราหมณ์รามราชมีวิญญาณของความเป็นครูโดยแท้

ยิ้มกว้างๆ


                                                                  
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 16:28

ขอบคุณคุณเพ็ญและคุณหลวงที่มาร่วมวง ทุ่นแรงดิฉันไปได้มาก ยิ้มกว้างๆ

ถ้าคุณเทาชมพูไม่เริ่มก่อน  ผมก็เริ่มไม่ถูกเหมือนกัน   

สุนทรภู่เริ่มต้นเรื่องพระอภัยมณีด้วยการแสดงให้เห็นค่าของความรู้อย่างนี้  นับว่าแยบคายมาก  และเข้ากับยุคสมัยของท่านด้วย  เพราะรัชกาลที่ ๓ ก็ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องการรวบรวมความรู้ด้วยเช่นกัน

เอาเท่านี้ก่อน  รอคนที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ในกระทู้ขุนช้างขุนแผนเข้ามาร่วมวงอภิปรายให้บานปลายกว่านี้  ตอนนี้ไปอ่านพระอภัยมณีต่อก่อนครับ ยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 16:42

ตั้งข้อสังเกตเพิ่มนิดหน่อย ว่าครูพราหมณ์ของเจ้าชาย   มีมาดโก้มาก 
นอกจากอยู่ตึกหลังใหญ่  ขนาด " ภูมิฐานเคหาโอฬารึก"   ไม่ได้อยู่เรือนฝากระดานอย่างชาวบ้าน   แล้วก็ยังนั่งเอนหลังพิงเก้าอี้ในยามว่าง  ไม่นั่งกับพื้นอย่างชาวบ้านอีกด้วย
คนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓  ยังไม่นั่งเก้าอี้กัน   สะดวกกับนั่งบนพื้นมากกว่า   เฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้เป็นของหายากในบ้านช่องทั่วไป 
ไม่แน่ใจว่าเป็นจินตนาการของสุนทรภู่ หรือว่าท่านเคยเห็นพราหมณ์เมืองเพชร ญาติผู้ใหญ่ของท่านอยู่กันอย่างนั้นจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 ธ.ค. 09, 10:15

มีกลอน ๒ วรรค ที่สะท้อนวัฒนธรรมแตกต่างไปจากไทยร่วมสมัยของสุนทรภู่  คือเมื่อศรีสุวรรณถอดแหวนให้เป็นค่าเล่าเรียน
แล้วถอดแหวนวงน้อยที่ก้อยขวา                       ให้พฤฒาทดแทนคุณสนองตาพราหมณ์เฒ่าเอาสำลีประชีรอง                     ขอดประคองไว้ในผมให้สมควร

ประชี  ก็คือแผ่สำลีออก    เพื่อรองรับแหวนไว้   แล้วขอดเก็บไว้ในมุ่นมวยผม   
วัฒนธรรมอย่างนี้ไม่มีในรัตนโกสินทร์ตอนต้น     เพราะคนไทยสมัยนั้นไว้ผมสั้นติดหนังหัวทั้งหญิงและชาย     จึงขอทิ้งคำถามไว้ว่าสุนทรภู่เห็นวัฒนธรรมข้างบนนี้มาจากของจริงที่ไหน       
ท่านเคยเห็นพราหมณ์เมืองเพชร ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายย่ายายของท่านทำหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ธ.ค. 09, 11:35

อ้างถึง
แล้วถอดแหวนวงน้อยที่ก้อยขวา     ให้พฤฒาทดแทนคุณสนอง
ตาพราหมณ์เฒ่าเอาสำลีประชีรอง               ขอดประคองไว้ในผมให้สมควร

ประชี  ก็คือแผ่สำลีออก    เพื่อรองรับแหวนไว้   แล้วขอดเก็บไว้ในมุ่นมวยผม   
วัฒนธรรมอย่างนี้ไม่มีในรัตนโกสินทร์ตอนต้น     เพราะคนไทยสมัยนั้นไว้ผมสั้นติดหนังหัวทั้งหญิงและชาย     จึงขอทิ้งคำถามไว้ว่าสุนทรภู่เห็นวัฒนธรรมข้างบนนี้มาจากของจริงที่ไหน    ท่านเคยเห็นพราหมณ์เมืองเพชร ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายย่ายายของท่านทำหรือเปล่า

คิดว่า  สุนทรภู่คงเห็นจากพราหมณ์ที่กรุงเทพฯ นี่แหละครับ  เพราะธรรมเนียมพราหมณ์เมื่อได้บวชเป็นพราหมณ์โดยพิธีอุปนยายะแล้ว (จำไม่ได้ว่ามีหนังสืออะไรสักเล่ม บอกว่า พราหมณ์ไม่ได้บวชโดยพิธีอุปนยายะ แต่เป็นพิธีอย่างอื่น)  พราหมณ์นั้นจะไม่ตัดผมอีกเลย  พราหมณ์ที่เทวสถานโบสถ์ก็ยังถือธรรมเนียมเช่นนี้อยู่   พราหมณ์จึงมีผมยาวแต่ไม่ได้ปล่อยผมสยาย คงมุ่นผมเป็นมวยเอาไว้  จะปล่อยสยายก็ต่อเมื่อพราหมณ์ต้องเข้าร่วมเดินในกระบวนแห่พระศพหรือพระบรมศพเท่านั้น นัยว่าเป็นธรรมเนียมการไว้ทุกข์ของพราหมณ์มาแต่โบราณ  (ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  พราหมณ์ที่ร่วมเดินในกระบวนแห่พระโกศพระศพมาที่พระเมรุท้องสนามหลวง ก็สยายผมไว้ทุกข์เช่นกัน)  การที่พราหมณ์ไว้ผมยาวและมุ่นเป็นมวยไว้เช่นนี้  คงเป็นธรรมเนียมพราหมณ์มาแต่อินเดีย และได้ถ่ายทอดมาถึงไทยและดินแดนข้างเคียง  ซึ่งก็มีหลักฐานเป็นภาพสลักภาพวาดพราหมณ์มุ่นมวยผม

ในพุทธประวัติ หลังจากที่ได้มีการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าแล้ว  เกิดเหตุกษัตริย์เมืองต่างๆ จำนวน ๘ เมือง พากันยกทัพมาที่เมืองกุสินารา ซึ่งเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นเมืองที่ถวายพระเพลิงพระสรีระ   ด้วยหมายจะมาขอแบ่งพระอังคารพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์มัลละ ที่ปกครองเมืองกุสินารานั้น  แต่กษัตริย์ไม่ยอมแบ่งให้  เหตุการณ์ท่าจะบานปลายก็มีพราหมณ์ชื่อโทณะมาห้ามศึกเสียก่อน  โดยโทณพราหมณ์ได้เป็นคนกลางตวงพระอังคารและพระสารีริกธาตุแบ่งให้แก่กษัตริย์โดยเท่ากันทุกเมือง   ในขณะที่โทณพราหมณ์กำลังตวงแบ่งพระบรมธาตุอยู่นั้น  พราหมณ์ได้ลักหยิบเอาพระทาฒธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)องค์หนึ่งซ่อนใส่ไว้ในมวยผมของพราหมณ์หมายจะเอาไปเป็นของตนเอง  พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ทำเช่นนั้นก็เหาะลงมาเอาพระเขี้ยวแก้วที่พราหมณ์ซ่อนในมวยผมนั้นแล้วเชิญพระเขี้ยวแก้วนั้นไปไว้ในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  แสดงว่าการซ่อนสิ่งของในมวยผมของพราหมณ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยมีมานานแล้วครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ธ.ค. 09, 14:01

เยี่ยมมากค่ะ อธิบายได้ชัดเจน

จบบทบาทของพราหมณ์เฒ่าแห่งจันตคามแล้วก็จริง      สุนทรภู่ก็ไม่ทิ้งพราหมณ์อยู่ดี
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณถูกขับไล่จากเมือง  โทษฐานไปเรียนวิชาเอนเทอร์เทน และวิชา ร.ด. ไม่สมกับเป็นลูกกษัตริย์
จากนั้น สุนทรภู่ก็ปล่อยบทพราหมณ์ออกมาอีก ๓ คน  คือพราหมณ์หนุ่มชื่อโมรา สานน  และวิเชียร
พราหมณ์โมราเสกสำเภายนต์ แล่นในทะเลและขึ้นบกได้     สานนเรียกลมฝนได้  ส่วนวิเชียรยิงธนูได้ทีละ ๗ ดอก
คุณสมบัติของทั้งสาม เหมาะกับการสู้รบผจญภัย ก็เลยได้เป็นตัวละครยืนโรงไปตลอดเรื่อง  มีบทให้เล่นไม่ขาดตอน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 ธ.ค. 09, 13:53

หลังจากถูกขับออกจากวัง สองพี่น้องเดินทางกลางป่ามาเดือนเศษ ผ่านช่องสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกสู่ชายทะเลฝั่งอันดามันในพม่า (ที่ต้องเป็นฝั่งอันดามัน เพราะเหตุการณ์ต่อไปจะเกิดในทะเลอันดามันทั้งสิ้น)

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ      ออกพ้นเขตเงาไม้ไพรสิงขร  
ถึงเนินทรายชายทะเลชโลธร            ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง
ค่อยย่างเหยียบเลียบริมทะเลลึก         ถึงร่มพฤกษาไทรดังใจหวัง
ทั้งสองราล้าเหนื่อยกำลัง                 ลงหยุดนั่งนอนเล่นเย็นสบาย


ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนออกตระเวณหาม้าคู่ใจ แล้วได้ม้าสีหมอก ก็กล่าวถึงช่องสิงขร ฝูงม้าเทศมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด แล้วต้อนฝูงผ่านช่องสิงขรไปกุยบุรี, ปราณบุรี, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี มีกลอนเสภาว่า

มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด        ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา    ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี


พระอภัยมณีศรีสุวรรณพบสามพราหมณ์และผีเสื้อสมุทรก็ที่ชายทะเลฝั่งอันดามันนี้เอง

 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 ธ.ค. 09, 14:25

สุนทรภู่สร้างตัวละครพราหมณ์ทั้งสาม วิเชียร โมรา สานน ขึ้นมา  คล้ายๆกับว่าจะให้มาเป็นพี่เลี้ยงของศรีสุวรรณหลังจากที่ต้องพลัดพรากกับพระอภัยมณีแล้ว  พราหมณ์ทั้งสามมีส่วนช่วยให้ศรีสุวรรณได้พบรักกับผู้หญิง  จะบอกว่าช่วยเหลือแทบทุกอย่างก็ว่าได้  ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับพี่เลี้ยงทั้ง ๔ ของอิเหนา  ผิดกะพระอภัยมณี ไม่มีพี่เลี้ยงช่วยคิด ผจญภัยด้วยตนเองตลอดเรื่อง (แต่ก็ได้ลูกชายช่วยเหลือแทน)

พราหมณืวิเชียรที่ยิงธนูได้ทีละ ๗ ดอก นับว่าเป็นคนที่มีกำลังแขนดีเยี่ยม  เพราะถ้ากำลังแขนไม่ดีพอ ก็ไม่สามารถยิงธนูทั้ง ๗ ดอกออกจากคันธนูไปตกตามที่หมายได้

ส่วนพราหมณ์สานนเรียกลมฝนได้  ทำให้นึกถึงขงเบ้งตอนที่เรียกลมเผากองทัพเรือของโจโฉ ในเรื่องสามก๊ก  แต่ขงเบ้งไม่ได้ใช้มนตร์อะไร  เพียงแต่ขงเบ้งรู้จักดินฟ้าอากาศมากกว่าคนอื่นในเรื่องเท่านั้น

อ้างถึง
พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณถูกขับไล่จากเมือง  โทษฐานไปเรียนวิชาเอนเทอร์เทน และวิชา ร.ด. ไม่สมกับเป็นลูกกษัตริย์

กรณีศรีสุวรรณเรียนวิชากระบอง  คงไม่เหมือนวิชา ร.ด. วิชาร.ด.ไม่มีการเรียนกระบอง  แต่น่าจะเหมือนวิชาลูกเสือสำรองมากกว่า  เพราะลูกเสือสำรองใช้พลอง ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 17 ธ.ค. 09, 16:00

แผนที่แสดงตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ ในเรื่องพระอภัยมณี เสนอโดย "กาญจนาคพันธุ์" (ขุนวิจิตรมาตรา) เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.099 วินาที กับ 20 คำสั่ง