บทความเรื่อง
"สุนทรภู่เคยไปลังกาหรือ?" ไมเคิล ไรท์ เขียน
ลงในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๔๘ หน้า ๗๖ - ๘๑
ความโดยสรุป มีดังนี้
"เราไม่มีหลัก(Proof) เลยว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา, แต่เรามีพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ที่ชวนให้สงสัยว่าท่านอาจจะเคยเดินทางไปลังกา, และถ้าไปจริงก็น่าจะออกไปพร้อมคณะสมณทูตที่รัชกาลที่ ๒ ทรงส่งไปในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ หากท่านไม่ได้ไปเอง, สุนทรภู่จะต้องเคยคบหาคณะสมณทูตนี้, สนทนากับท่านอย่างสนิทสนม, และอ่านรายงานของท่านทุกชิ้น, ซึ่งบางชิ้นอาจจะหายสาบสูญไปเหลือให้เห็นในปัจจุบัน หลักฐานพยานเท่าที่ผมรวบรวมได้มีอยู่สามกองใหญ่,คือ ๑.ชีวประวัติสุนทรภู่, ๒.รายงานของสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ และ ๓.หลักฐานระหว่างบรรทัดในพระอภัยมณี..."
๑.
หลักฐานจากชีวประวัติสุนทรภู่๑.๑ สุนทรภู่มีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี
๑.๒ สุนทรภู่เกิดและโตในฐานะชาววังหลัง
๑.๓ สุนทรภู่เกิดเมื่อปี ๒๓๒๙ ดังนั้นในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ ท่านมีอายุเกือบ ๓๐ ปี ถือว่าเป็นผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์แล้ว
๑.๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระอธิบายว่า ในรัชกาลที่ ๒ เกิดกรณีกบฏ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการก่อกบฏครั้งนั้น ท่านจึงหลบไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งว่าท่านไปหลบอยู่ในถ้ำเมืองเพชรบุรี ก็น่าจะเป็นไปได้ ในคราวเดียวกันนั้น รัชกาลที่ ๒ มีรับสั่งให้แต่งคณะสมณทูตไปลังกา ซึ่งเป้นที่ทราบกันดีว่า รัชกาลที่ ๒ โปรดสุนทรภู่มาก หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้สุนทรภู่พ้นอันตรายจากคดีกบฏ (ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต) วิธีช่วยสุนทรภู่ที่ง่ายที่สุด คือ ทำให้สุนทรภู่ล่องหนไปสักระยะ เช่น ให้ลงเรือไปกับคณะสมณทูตที่ไปลังกาโดยไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งไมเคิล ไรท์ว่า เราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นไปได้ไหม?
หลักฐานข้างต้นไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ แต่แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ ซึ่งรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะสมณทูตไปลังกานั้น สุนทรภู่เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะไปเป็นทูต เหมาะทั้งด้านอายุและฐานะทางสังคม ไมเคิล ไรท์ เน้นว่า อย่าลืมว่าคนที่มีเชื้อพราหมณ์สมัยก่อน ไม่ได้เป็นเฉพาะพราหมณ์พระราชพิธีเพียงเท่านั้น หากยังได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะตำแหน่งทูตที่ติดต่อกับโลกฮินดู-พุทธ เช่นอินเดียและลังกา
๒.หลักฐานในรายงานสมณทูต
๒.๑ ในปี ๒๓๕๘-๒๓๕๙ มีข่าวมาถึงเมืองไทยว่า อังกฤษได้ยึดเกาะลังกาทั้หมดและถอดกษัตริย์ลังกาออก รัชกาลที่ -จึงมีรับสั่งให้สมณทูตออกไปนมัสการบูชาเจติยสถาน ฉละอาจจะให้สอดแนมดูว่าอังกฤษว่ามีนโยบายอย่างไรต่อรัฐพุทธศาสนา
๒.๒ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้วังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ทรงรับพระธุระเป็นแม่งานจัดการคน การเดินทาง และเสบียง ให้แก่สมณทูตที่จะไปลังกาครั้งนั้น
๒.๓ คณะสมณทูตที่ไปลังกาคราวนี้ มี พระภิกษุ สามเณร ๙ รูป ฆราวาส ๓๖ คน ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่เลย
๒.๔ คณะสมณทูตลงเรือออกเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช จำพรรษาที่นั่นแล้วนั่งช้างไปที่ปากน้ำตรัง ลงเรือค้าช้างที่เกาะลิบง แล้วเรือนั้นแล่นไปทางทิศเหนือผ่านเกาะถลางและหมู่เกาะชายฝั่งทะเลอันดามัน จากนั้นจึงแล่นเฉียงไปทางตะวันตกข้ามอ่าวเบงกอลผ่านหมู่เกาะนิโคบาร์ (นาควารี) ถึงท่าเรืออินเดียใต้ ที่เมืองมะหมุดบันดัด (ตามสำเนียงชาวมุสลิม ซึ่งโปรตุเกส เรียกว่า Porto Novo (ท่าใหม่) ทมิฬ เรียกว่า ปะรังกิเปฏไฏ (ตลาดฝรั่ง)) เมื่อเรือขายช้างแล้ว คณะสมณทูตเดินทางทางบกไปถึงถนนพระรามลงเรือข้ามฟากไปเกาะลังกาแล้วเดินเท้าต่อไปผ่านเมืองอนุราธปุระ สู่เมืองแคนดี เมืองหลวง
๒.๕ รายงานสมณทูตไม่ได้ระบุการเดินทางขากลับ แต่คณะสมณทูตเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ๒๓๖๑ ซึ่งคนที่ไปลังกาครั้งนั้นทั้งพระภิกษุและฆราวาสต่างได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์และบรรดาศักดิ์ ซึ่งไม่มีชื่อสุนทรภู่
หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าสุนทรภู่ไปลังกากับคระสมณทูต ทั้งนี้ สมัยก่อนตำแหน่งบรรดาศักดิ์และราชทินนามเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สุนทรภู่อาจจะไปลังกาในชื่อบรรดาศักดิ์อื่น เช่น ขุนทรงอักษร หรือ หมื่นไกร (คุมดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) น่าสนใจคือ แม่งานที่จัดการการเดินทางของสมณทูตครั้งนี้คือวังหลัง (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์) ซึ่งสุนทรภู่เคยเป็นข้าหลวงในพระองค์ นอกจากนั้น รายงานของสมณทูตไปพ้องกับภูมิศาสตร์ในพระอภัยมณี ตั้งแต่ ฝั่งทะเลตะวันตกของอุษาคเนย์ หมู่เกาะในทะเลอันดามัน หมู่เกาะนาควารี ชายฝั่งอินเดียตะวันออก และเกาะลังกา
๓ หลักฐานในพระอภัยมณี
๓.๑ ทิศทางหมู่เกาะต่างๆ ในอ่าเบงกอลกับในเรื่องพระอภัยมณี ไมเคิล ไรท์แนะนำอ่านจากหนังสือ "สุนทรภู่เกิดวังหลัง ผู้ดี"บางกอก"ฯ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ส่วนไมเคิล ไรท์ นำเสนอเพียงประเด็นเดียวคือ พระอภัยมณีตอนที่เลิกทัพเรือว่า
พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก ออกเส้นนอก
แหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเซียง เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา
แหลมเรียว คือ หมู่เกาะ Riao สุดปลายแหลมมลายู ถ้ารบกันที่อ่าวไทย จะต้องให้เจ๊กจีนแล่นเรืออ้อมแหลมเรียวทำไม คงมีแต่จากทะเลอันดามันที่ต้องอ้อมแหลมนี้กับเมืองจีน สุนทรภู่จะไม่รู้ภูมิศาสตร์ได้อย่างไร
๓.๒ ไมเคิล ไรท ยกตัวอย่างกลอน ๓ บทในพระอภัยมณี ซึ่งกล่าวถึงทิวทัศน์ทะเล พายุในทะเล และแสงพรายทะเล แล้วเสนอว่า สุนทรภู่น่าจะได้จินตนาการเอาเอง แต่ท่านน่าจะได้ประสบมาแก่ตัวจึงสามารถบรรยายภาพทะเลได้ละเอียดมาสู่คนอ่าน
ในความส่งท้าย ไมเคิล ไรท์ ว่าพระอภัยมณีเป็นนิทาน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ สุนทรภู่ไม่จำเป็นต้องออกไปลังกากับคณะสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็ได้ แต่เชื่อว่าท่านน่าจะเคยออกทะเลหลวงเป็นแน่ ที่ไมเคิล ไรท์เสนอว่าไปกับสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ นั้นเป็นความสะดวกตามหลักฐานแวดล้อมที่ชวนให้เชื่อเช่นนั้น
(จบ)
เชิญอภิปรายกันได้ครับ
