เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 46667 ชาติพันธุ์วรรณา ใน พระอภัยมณี
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 ธ.ค. 09, 16:29

แผนที่นี้ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เมืองผลึกถูกย้ายตำแหน่งลงมา


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ธ.ค. 09, 09:38

เชื่อหรือไม่ - Believe It or Not!

พระอภัยมณีเองก็เป็นพราหมณ์

ขออนุญาตเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ชื่อ ปทกุสลมาณวชาดก ตอนต้นของนิทานชาดกเรื่องนี้คล้ายกับชีวิตของพระอภัยมณีตอนที่มีความสัมพันธ์กับนางผีเสื้อสมุทรจนมีสินสมุทร และได้บุตรชายคนนี้พาหนีจากแม่

ในเรื่องนี้ พระอภัยมณี คือ พราหมณ์  นางผีเสื้อสมุทร คือ ยักษิณี  และสินสมุทร คือ พระโพธิสัตว์

มีเรื่องราวเป็นเช่นนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระอัครมเหสีของพระองค์ประพฤตินอกใจ เมื่อพระราชาตรัสถามก็สบถสาบานว่า ถ้าหม่อมฉันประพฤตินอกใจพระองค์ ขอให้หม่อมฉันเป็นยักษิณีมีหน้าเหมือนม้า.

ต่อจากนั้น พระนางได้สิ้นพระชนม์ เกิดเป็นยักษิณีมีหน้าเหมือนม้า ที่เชิงเขาแห่งหนึ่งอยู่ในคูหา จับมนุษย์ที่สัญจรไปมาในดงใหญ่ ในทางที่ไปจากต้นดงถึงปลายดง เคี้ยวกินเป็นอาหาร ได้ยินว่านางยักษิณีนั้นไปบำเรอท้าวเวสวัณอยู่ ๓ ปี ได้รับพรให้เคี้ยวกินมนุษย์ได้ในที่ยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๕ โยชน์.

อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์รูปงามคนหนึ่งเป็นผู้มั่งคั่งมีโภคทรัพย์มาก แวดล้อมไปด้วยมนุษย์จำนวนมาก เดินมาทางนั้น นางยักษิณีเห็นดังนั้นก็มีความยินดีจึงวิ่งไป พวกมนุษย์ผู้เป็นบริวารพากันหนีไปหมด นางยักษิณีวิ่งเร็วอย่างลม จับพราหมณ์ได้แล้วให้นอนบนหลังไปคูหา เมื่อได้ถูกต้องกับบุรุษเข้าก็เกิดสิเนหาในพราหมณ์นั้นด้วยกิเลส จึงมิได้เคี้ยวกินเขาเอาไว้เป็นสามีของตน แล้วทั้ง ๒ ต่างก็อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีตั้งแต่นั้นมา นางยักษิณีก็เที่ยวจับมนุษย์ถือเอาผ้า ข้าวสารและน้ำมันเป็นต้น มาปรุงเป็นอาหารมีรสเลิศต่างๆ ให้สามี ตนเองเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ เวลาที่นางจะไปไหนนางได้เอาหินแผ่นใหญ่ปิดประตูถ้ำก่อนแล้วจึงไป เพราะกลัวพราหมณ์จะหนี

เมื่อเขา ๒ คนอยู่กันอย่างปรีดาปราโมทย์เช่นนี้ พระโพธิสัตว์เคลื่อนจากฐานะที่พระองค์เกิด มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางยักษิณีนั้น เพราะอาศัยพราหมณ์ พอล่วงไปได้ ๑๐ เดือน นางยักษิณีก็คลอดบุตร นางได้มีความสิเนหาในบุตรและพราหมณ์มาก ได้เลี้ยงดูคนทั้งสองเป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อบุตรเจริญวัยแล้ว นางยักษิณีได้ให้บุตรเข้าไปภายในถ้ำพร้อมกับบิดาแล้วปิดประตูเสีย

ครั้นวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์รู้ว่านางยักษิณีนั้นไปแล้ว จึงได้เอาศิลาออกพาบิดาไปข้างนอก นางยักษิณีมาถามว่า ใครเอาศิลาออก เมื่อพระโพธิสัตว์ตอบว่า ฉันเอาออกจ้ะแม่ ฉันไม่สามารถนั่งอยู่ในที่มืด นางก็มิได้ว่าอะไรเพราะรักบุตร.

อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ถามบิดาว่า พ่อจ๋า เหตุไรหน้าของแม่ฉันจึงไม่เหมือนหน้าของพ่อ. พราหมณ์ผู้เป็นบิดากล่าวว่า ลูกรัก แม่ของเจ้าเป็นยักษิณีที่กินเนื้อมนุษย์ เราสองพ่อลูกนี้เป็นมนุษย์. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พ่อจ๋า ถ้าเช่นนั้นเราจะอยู่ในที่นี้ทำไม ไปเถิดพ่อ เราไปแดนมนุษย์กันเถิด. พราหมณ์ผู้เป็นบิดากล่าวว่า ลูกรัก ถ้าเราหนีแม่ของเจ้าก็จักฆ่าเราทั้งสองเสีย พระโพธิสัตว์พูดเอาใจบิดาว่า อย่ากลัวเลยพ่อ ฉันรับภาระพาพ่อไปให้ถึงแดนมนุษย์.

ครั้นวันรุ่งขึ้น เมื่อมารดาไปแล้วได้พาบิดาหนี นางยักษิณีกลับมาไม่เห็นคนทั้งสองนั้น จึงวิ่งไปเร็วอย่างลม จับคนทั้งสองนั้นได้แล้วกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านหนีทำไม ท่านอยู่ที่นี้ขาดแคลนอะไรหรือ? เมื่อพราหมณ์กล่าวว่า น้องรัก เธออย่าโกรธพี่เลย ลูกของเธอพาพี่หนีดังนี้ นางก็มิได้ว่าอะไรแก่เขา เพราะความสิเนหาในบุตร ปลอบโยนคนทั้งสองให้เบาใจแล้วพาไปยังที่อยู่ของตน. ในวันที่ ๓ นางยักษิณีก็ได้นำคนทั้งสองซึ่งหนีไปอยู่อย่างนั้นกลับมาอีก.

พระโพธิสัตว์คิดว่า แม่ของเราคงจะมีที่ที่เป็นเขตกำหนดไว้ ทำอย่างไรเราจึงจะถามถึงแดนที่อยู่ในอาณาเขตของแม่นี้ได้ เมื่อถามได้เราจักหนีไปให้เลยเขตแดนนั้น. วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์กอดมารดานั่งลง ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง แล้วกล่าวว่า แม่จ๋า ธรรมดาของที่เป็นของแม่ย่อมตกอยู่แก่พวกลูก ขอแม่ได้โปรดบอกเขตกำหนดพื้นดินที่เป็นของแม่แก่ฉัน นางยักษิณีบอกที่ซึ่งยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๕ โยชน์ มีภูเขาเป็นต้นเป็นเครื่องหมายในทิศทั้งปวงแก่บุตร แล้วกล่าวว่า ลูกรัก เจ้าจงกำหนดที่นี้ซึ่งมีอยู่เพียงเท่านี้ไว้

ครั้นล่วงไปได้สองสามวัน เมื่อมารดาไปดงแล้ว พระโพธิสัตว์ได้แบกบิดาขึ้นคอวิ่งไปโดยเร็วอย่างลม ตามสัญญาที่มารดาให้ไว้ ถึงฝั่งแม่น้ำอันเป็นเขตกำหนด นางยักษิณีกลับมาเมื่อไม่เห็นคนทั้งสอง ก็ออกติดตาม พระโพธิสัตว์พาบิดาไปถึงกลางแม่น้ำ นางยักษิณีไปยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ รู้ว่าคนทั้งสองล่วงเลยเขตแดนของตนไปแล้ว จึงยืนอยู่ที่นั้นเอง วิงวอนบุตรและสามีว่า ลูกรัก เจ้าจงพาพ่อกลับมา แม่มีความผิดอะไรหรือ? อะไร ๆ ไม่สมบูรณ์แก่พวกท่าน เพราะอาศัยเราหรือ? กลับมาเถิด ผัวรัก ดังนี้.

ลำดับนั้น พราหมณ์ได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว นางยักษิณีวิงวอนบุตรว่า ลูกรัก เจ้าอย่าได้ทำอย่างนี้ เจ้าจงกลับมาเถิด. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า แม่ ฉันและพ่อเป็นมนุษย์ แม่เป็นยักษิณี ฉันไม่อาจอยู่ในสำนักของแม่ได้ตลอดกาล ฉะนั้น ฉันกับพ่อจักไม่กลับ. นางยักษิณีถามว่า เจ้าจักไม่กลับหรือลูกรัก. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ใช่ ลูกจะไม่กลับดอกแม่ นางยักษิณีกล่าวว่า ลูกรัก ถ้าเจ้าจักไม่กลับก็ตามเถิด ขึ้นชื่อว่าชีวิตในโลกนี้เป็นของยาก คนที่ไม่รู้ศิลปวิทยาไม่อาจที่จะดำรงชีพอยู่ได้ แม่รู้วิชาอย่างหนึ่งชื่อจินดามณี ด้วยอานุภาพของวิชานี้อาจที่จะติดตามรอยเท้าของผู้ที่หายไปแล้วสิ้น ๑๒ ปีเป็นที่สุด วิชานี้จักเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตเจ้า ลูกรัก เจ้าจงเรียนมนต์อันหาค่ามิได้นี้ไว้ ว่าดังนั้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ถูกความทุกข์เห็นปานนั้นครอบงำ นางก็ได้สอนมนต์ให้ด้วยความรักลูก.

พระโพธิสัตว์ยืนอยู่ในแม่น้ำนั่นเอง ไหว้มารดาแล้วประณมมือเรียนมนต์ ครั้นเรียนได้แล้วได้ไหว้มารดาอีก แล้วกล่าวว่า แม่ ขอแม่จงไปเถิด นางยักษิณีกล่าวว่า ลูกรัก เมื่อเจ้าและพ่อของเจ้าไม่กลับ ชีวิตของแม่ก็จักไม่มี แล้วกล่าวคาถาว่า :-

ลูกรัก เจ้าจงมาหาแม่ จงกลับไปอยู่กับแม่เถิด อย่าทำให้แม่ไม่มีที่พึ่งเลย เมื่อแม่ไม่ได้เห็นลูกก็ต้องตายในวันนี้.

ครั้นกล่าวแล้ว นางยักษิณีได้ทุบหน้าอกของตนเอง ทันใดนั้น หทัยของนางได้แตกทำลาย เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร นางตายแล้วล้มลงไปในที่นั้นนั่นเอง. ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ทราบว่ามารดาตาย จึงเรียกบิดาไปใกล้มารดาแล้วทำเชิงตะกอนเผาศพมารดา

http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka500.php?s=432

สุนทรภู่คงเคยได้ยินหรือเคยอ่านนิทานชาดกเรื่องนี้บ้างแล้วนำมาผูกเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสามคน พ่อ แม่ ลูก

พระอภัยมณีก็เคยเป็นพราหมณ์ก็ด้วยหลักฐานดังนี้แล

 ยิงฟันยิ้ม







บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 09:34

อ้างถึง
กรณีศรีสุวรรณเรียนวิชากระบอง  คงไม่เหมือนวิชา ร.ด. วิชาร.ด.ไม่มีการเรียนกระบอง  แต่น่าจะเหมือนวิชาลูกเสือสำรองมากกว่า  เพราะลูกเสือสำรองใช้พลอง


ท้าวสุทัศน์ ประณามวิชากระบี่กระบองของลูกชายตามนี้ค่ะ

อันวิชาอาวุธแลโล่เขน                    ชอบแต่เกณฑ์ศึกเสือเชื้อทหาร
ก็เลยเทียบกับร.ด.

กำลังอยากได้ตัวอย่างจากภูมิศาสตร์สุนทรภู่อยู่พอดี  คุณเพ็ญชมพูก็เอามาลงให้ ยิ้มกว้างๆ
ดูจากแผนที่ที่สุจิตต์ ทำไว้  ยังไม่เชื่อว่า กรุงรัตนา คือรัตนโกสินทร์       เพราะอ่านจากที่สุนทรภู่บรรยาย เชื่อว่าท่านไม่มีภาพของกรุงเทพอยู่ในใจ    ผิดกับกรุงกุเรปันของอิเหนาที่จำลองกรุงเทพมาชัดๆ
ลองอ่านคำบรรยายกรุงรัตนา นะคะ

อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์                      ภูเขาโขดเป็นกำแพงบูรีศรี
เมืองหลวงทั้งอยุธยาและกรุงเทพ   ไม่มีภูเขาล้อมรอบ      มีแต่แม่น้ำ
นอกจากนี้ สังเกตว่า เมื่อพระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกจากกรุงรัตนาไปเรียนหนังสือ   เดินป่าฝ่าดงไปตลอดทาง   ไม่มีเส้นทางน้ำเลย
ทั้งๆตอนที่สุนทรภู่ออกจากกรุงเทพ ไม่ว่าไปเมืองแกลงหรือพระประธม  เดินทางทางน้ำทั้งนั้น
กรุงรัตนาเห็นทีจะเป็นที่ดอน  มีภูเขาล้อม

เจ้าชายสององค์  ตอนออกจากเมืองไปเรียนหนังสือ ระบุว่าออกไปทางทิศบูรพา    แสดงว่าเมืองอยู่ทางตะวันตก  เพราะถ้ากรุงรัตนาอยู่ที่กรุงเทพ จะออกไปจากเมือง ไปเพชรบุรี หรือไปด่านสิงขรก็ตาม   ต้องไปทางตะวันตก ไม่ใช่ตะวันออก

เลยสงสัยว่ากรุงรัตนาในใจสุนทรภู่  โลเคชั่น น่าจะเป็นเมืองกาญจนบุรี   มากกว่ากรุงเทพ ค่ะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 11:21

มีเรื่องเล่ากันมาว่า (๑)ก่อนที่สุนทรภู่จะเขียนเรื่องพระอภัยมณีเป็นนิทานกลอนเรื่องยาวนี้ เคยเขียนเป็นบทละครมาก่อนตามการขอร้องจากเจ้าเมืองเพชรบุรีที่ต้องการให้มีละครเล่นในจวน โดยเขียนตั้งแต่ตอนต้นไปจบลงตอนผีเสื้อสมุทรพาพระอภัยไปไว้ในถ้ำ

ชื่อตัวละครและพล็อตของเรื่อง สุนทรภู่ก็เอามาจากชื่อเพื่อนที่เมืองเพชรสองคนคือนายแก้วและนายทอง นายแก้วมีความสามารถในการเป่าปี่ ส่วนนายทองเก่งทางกระบี่กระบอง ครั้งหนึ่งมีงานเลี้ยง เพื่อนของนายแก้วและนายทอง ๓ คนคือ นายหลาย นายสาย และนายเพชร มาร่วมงานด้วย เมื่อเสร็จงานเลี้ยงทั้งหมดได้พากันออกเรือซึ่งเป็นของนายหลายไปเที่ยวกัน เผอิญเกิดพายุพัดเรือล่ม นายแก้วหายสาบสูญไปในทะเล ส่วนคนอื่นรอดชีวิต

นายแก้ว คือ พระอภัยมณี  นายทอง คือ ศรีสุวรรณ นายหลาย คือ โมรา นายสาย คือ สานน และนายเพชร คือ วิเชียร

ส่วน กรุงรัตนา ก็คือ เมืองเพชรบุรี(๒)

(๑) เป็นคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เมืองเพชร กาญจนาภรณ์ เขียนไว้ในเรื่อง ที่มาของเรื่องพระอภัยมณี วิทยาสาร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓๖ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๖

(๒) รัตนา กับ เพชร มีความหมายนัยเดียวกัน    อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์   ภูเขาโขดเป็นกำแพงบูรีศรี  ที่บรรยายถึงเมืองรัตนาในนิทานคำกลอน ก็มาจากคำบรรยายกรุงรัตนาในบทละคร นั่นเอง


เชื่อหรือไม่ - Believe It or Not!

ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 13:06

อ่านต้นเค้าเรื่องพระอภัยมณีที่คุณเพ็ญชมพูนำมาเล่า  เป็นลักษณะคำบอกเล่าสืบต่อกันมา อาจจะเป็นเรื่องที่มีเค้าความเป็นจริงอยู่บ้าง  แต่ถ้าจะให้พิสูจน์เห็นจะคว้าน้ำเหลวล่ะกระมัง   จริงๆ ในนิราศเมืองเพชรบุรีที่สุนทรภู่แต่งนั้น สุนทรภู่ได้เล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่สุนทรภู่ออกมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี  ซึ่งไม่รู้แน่ว่าเป็นเวลานานเท่าใด  แต่ก็นานพอที่จะให้เวลาสุนทรภู่ทำความรู้จักสาวเมืองเพชรบุรีได้หลายคนทีเดียว.

เรื่องเมืองรัตนา  เข้าใจว่า  สุนทรภู่คงเอามาจากความจริงและจินตนาการมาผสมกัน   ทิศทางบางทีก็ต้องเอาโดยอนุมาน กรุงรัตนาอาจจะเป็นเมืองเพชรบุรีผสมกับกรุงเทพฯก็เป็นได้กระมัง

สงสัยเรื่องหนึ่ง  คำว่า "พราหมณ์" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ท่านใช้ในบริบทหลากหลายมากทีเดียว  จะบอกว่า พราหมณ์  หมายเอาเฉพาะชนชาติที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องเสียทีเดียว  ที่สำคัญ คนไทยสมัยนั้น เอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งว่าใครเป็นพราหมณ์ ใครเป็นแขก อย่างไร ?? ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 14:40

ถ้าจับเค้าประวัติสุนทรภู่เกี่ยวกับเมืองเพชร  มีกระทู้เก่า นิราศเมืองเพชร ให้หาอ่านได้
ในนั้นบอกให้รู้ว่า รู้จักเมืองเพชรมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่    สร้างตำนานกับสาวๆไว้หลายคน ขนาดพาหนีไปอยู่ในถ้ำด้วยกันก็ยังมี
อ้างถึง
คำว่า "พราหมณ์" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  ท่านใช้ในบริบทหลากหลายมากทีเดียว  จะบอกว่า พราหมณ์  หมายเอาเฉพาะชนชาติที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องเสียทีเดียว 
ช่วยขยายความหน่อยได้ไหมคะ

จะรู้ว่าใครเป็นพราหมณ์  น่ะหรือคะ?
ไม่รู้ว่าพราหมณ์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่งตัวยังไง   ถ้านุ่งขาวห่มขาวก็คงดูออกมาแต่ไกล   แต่ถ้าแต่งเหมือนชาวชมพูทวีปทั่วไปเพียงแต่อยู่ในวรรณะพราหมณ์  คงต้องทำความรู้จักมักคุ้นกันก่อนถึงจะรู้ 
ถ้าวงศ์ญาติฝ่ายย่ายายของสุนทรภู่เป็นเชื้อพราหมณ์รามราช   ก็ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่  มีศาลเทวาลัย   คงจะมีผู้ชายไว้ผมยาวเกล้ามวย  แต่งตัวตามถิ่นฐานดั้งเดิม  พูดภาษาฮินดูบ้างละมั้ง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 15:14

สุนทรภู่ใช้เมืองเพชรเป็นโลเคชั่นสำหรับกรุงรัตนาตั้งแต่ยังเป็นบทละครจนมาเป็นนิทานคำกลอนเสียแล้ว  คงจะเสียดายโลเคชั่นของกรุงเทพเมืองฟ้าอมร ดังนั้นเมืองที่สองที่ระบุถึงในเรื่องพระอภัยมณีจึงเป็นกรุงเทพเต็มอัตรา

ตอนศรีสุวรรณกับสามพราหมณ์ตามหาพระอภัยมณี จนไปในเมืองรมจักร นายด่านพาชมเมือง

พราหมณ์หัวเราะรับคำที่ร่ำสั่ง                       พลางชมวังนิเวศน์ประเทศสถาน
งามปราสาทผาดเยี่ยมโพยมมาน                   ชัชวาลแก้วเก้าวะวาวตา
มีบ้านช่องสองแถวแนวถนน                        ทั้งผู้คนคึกคักกันนักหนา
มีโรงรถคชไกรไอยรา                              สนามหน้าจักรวรรดิ์ที่หัดพล
ที่ท้ายวังตั้งล้วนแต่ตึกกว้าน                        บ้างนั่งร้านสองแถวแนวถนน
นายด่านพาผ่านตลาดต้องหลีกคน                  ประชาชนซื้อหาพูดจากัน


วังนิเวศน์ประเทศสถาน งามปราสาทผาดเยี่ยมโพยมมาน ชัชวาลแก้วเก้าวะวาวตา คือ พระบรมมหาราชวังแน่นอน

ต่อไปขอให้ชมภาพข้างล่าง นำเที่ยวโดยคุณพิพัฒน์ ขออนุญาตคัดมาลงไว้

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1871.msg35280#msg35280

ประเพณีหัดแถวทหารนี่ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ ผมไม่เคยเจอก่อนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยเจอว่าสนามหน้าจักรวรรดิ์ ซึ่งก็คือสนามไชย อย่างในรูปนี้ เคยเอามาใช้เป็นที่ฝึกทหาร นอกจากในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า

ตรงมุมซ้ายบน ก็คือบ้านช่องสองแถวแนวถนน
ตรงกลางคอร์ทในเขตรั้วล้อมก็ โรงรถคชไกรไอยรา  
ที่นี่ต่อมากลายเป็นราบ ๔ ทหารรักษาพระองค์ที่รับผิดชอบพระราชฐานโดยตรง น ณ ปากน้ำ เคยบอกว่าเป็นโรงม้าแซง ก็ดูเข้าเค้ากันดี


สุดท้ายตลาดท้ายวังก็เห็นทีจะเป็นตลาดท่าเตียนนั่นเอง

 ยิ้มเท่ห์






บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 15:38

อ้างถึง
ถ้าวงศ์ญาติฝ่ายย่ายายของสุนทรภู่เป็นเชื้อพราหมณ์รามราช   ก็ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่  มีศาลเทวาลัย   คงจะมีผู้ชายไว้ผมยาวเกล้ามวย  แต่งตัวตามถิ่นฐานดั้งเดิม  พูดภาษาฮินดูบ้างละมั้ง

ที่เพชรบุรี อย่าว่าแต่เทวาลัยเลยครับ  กระทั่งเสาชิงช้าก็มี  แต่เดี๋ยวนี้หาดูไม่ได้แล้ว  คงเหลือชื่อสถานที่ เช่นวัดสนามพราหมณ์ ที่พอจะยืนยันว่ามีพราหมณ์ที่เพชรบุรีมาก่อน  

แต่ข้อที่ว่า  ผู้ชายที่มีเชื้อพราหมณ์ไว้ผมยาวนั้น เข้าใจว่าคงจะเป็นเฉพาะพราหมณ์ที่เป็นนักบวชหรือพราหมณ์ที่ประกอบพิธี  ส่วนที่มีเชื้อสายแต่ไม่ได้บวชพรตเป็นพราหมณ์ก็คงไว้ผมสั้นอย่างไทย  (อันนี้ไม่แน่ใจนัก  แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น) อันที่จริงคนที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ที่อินเดียคงไม่ได้แต่งกายแปลกกว่าคนในวรรณะอื่น  (ยกเว้นนักบวชที่มีเครื่องแต่งกายเป็นสัญลักษณ์)  บางทีถ้าเดินตามท้องถนนอาจจะดูไม่ออกว่าใครอยู่วรรณะไหน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะด้วย  พราหมณ์เองไม่ใช่ว่าจะมีฐานะดีเสมอกันทั้งหมด   พราหมณ์ที่ยากจนเป็นขอทานอย่างชูชกก็มีเหมือนกัน

ในหนังสือนางนพมาศ กล่าวถึงการจำแนกชนชาติต่างๆเอาไว้ มีการจำแนกพวกพราหมณ์แต่ละภาษาไว้ด้วย

...พราหมณ์วัยธึกภาษา๑  พราหมณ์เวรำมะเหศรภาษา๑ พราหมณ์อะวะดารภาษา๑ พราหมณ์บรมเทสันตรีภาษา๑ พราหมณ์พญารีภาษา๑ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา๑ พราหมณ์พาราณสีภาษา๑ พราหมณ์อรรคีคณเวศภาษา๑...

อันนี้แสดงจะว่า พราหมณ์ที่อยู่ในเมืองไทยน่ามีหลายกลุ่ม  คนสมัยก่อนท่านจึงเอาภาษาที่ใช้สื่อสารของพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเกณฑ์ในจำแนกกลุ่มพราหมณ์ใช่หรือไม่  

เมื่อเป็นดังนั้น  พราหมณ์  นอกจากจะหมายผู้ที่เป็นนักบวชนุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล  (จะถือพรหมจรรย์ด้วยหรือไม่ก็ตาม) น่าจะหมายถึงชนต่างเชื้อชาติที่ใช้ภาษากลุ่มหนึ่งที่ไช่ภาษาไทย  (สมัยก่อนโอการแช่งน้ำ  ที่พราหมณ์อ่านในการถือน้ำ เรียกว่า โองการแช่งน้ำภาษาพราหมณ์ ทั้งๆที่ความจริงเป็นภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษณคฤนถ์บ้าง อักษรทมิฬบ้าง  คนไทยโดยมากอ่านไม่ออกเลยว่าเป็นภาษาพราหมณ์ไป หนักเข้าก็ว่าเป็นภาษสันสกฤตก็มี  แล้วก็มีการแต่งโองการแช่งน้ำร้อยแก้วเป็นภาษาไทยขึ้นให้อาลักษณ์อ่านคู่กันในเวลาถือน้ำ)  
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 15:52

อ้างถึง
ประเพณีหัดแถวทหารนี่ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ ผมไม่เคยเจอก่อนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยเจอว่าสนามหน้าจักรวรรดิ์ ซึ่งก็คือสนามไชย อย่างในรูปนี้ เคยเอามาใช้เป็นที่ฝึกทหาร นอกจากในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า

สนามหน้าจักรวรรดิ  เป็นชื่อในความทรงจำของคนในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  และคุ้นเคยกับท้องสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ปราสาท  ซึ่งเป็นที่ใช้ฝึกทหารสมัยกรุงเก่า และแห่สระสนาน ตลอดจนการอื่นๆอีกมาก   พอมาสมัยรัตนโกสินทร์คนที่อพยพมาแต่กรุงเก่าก็เอาชื่อสถานที่ในพระนครศรีอยุธยามาใช้เรียกชื่อสถานที่ในพระนครที่กรุงเทพฯด้วย  ไม่ใช่มีแต่ที่สนามจักรวรรดิ  ยังมีที่อื่นๆอีก เช่น คลองมหานาค วัดพระศรี(รัตนศาสดาราม) เป็นต้น   ชื่อที่เรียกว่า ท้องสนามไชย นั้น รัชกาลที่ ๔ เพิ่งทรงออกประกาศให้เรียกเมื่อ ๒๓๙๘ พร้อมกับประกาศให้เรียกทุ่งพระเมรุว่า ท้องสนามหลวง มีประกาศยืนยันได้ แต่ก่อนนั้นเข้าใจว่าไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 08:16

คุณหลวงเล็ก ความคิดเห็นที่ ๒๒

ในหนังสือนางนพมาศ กล่าวถึงการจำแนกชนชาติต่างๆเอาไว้ มีการจำแนกพวกพราหมณ์แต่ละภาษาไว้ด้วย

...พราหมณ์วัยธึกภาษา๑  พราหมณ์เวรำมะเหศรภาษา๑ พราหมณ์อะวะดารภาษา๑ พราหมณ์บรมเทสันตรีภาษา๑ พราหมณ์พญารีภาษา๑ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา๑ พราหมณ์พาราณสีภาษา๑ พราหมณ์อรรคีคณเวศภาษา๑...

อันนี้แสดงจะว่า พราหมณ์ที่อยู่ในเมืองไทยน่ามีหลายกลุ่ม  คนสมัยก่อนท่านจึงเอาภาษาที่ใช้สื่อสารของพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเกณฑ์ในจำแนกกลุ่มพราหมณ์ใช่หรือไม่


ชนชาติที่นางนพมาศเรียกว่า พราหมณ์ นี้ ดูเหมือนจะจำกัดว่ามาจากชมพูทวีป โดยเฉพาะอินเดียตอนเหนือ นับถือศาสนาฮินดู  ส่วนชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามมักเรียกว่า แขก

ในหนังสือเล่มเดียวกับที่คุณหลวงเล็กอ้าง ต่อจากพราหมณ์ภาษา

แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมห่นภาษา ๑ แขกสุหนี่ภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤกษภาษา ๑

ส่วนพวกที่มาจากยุโรปและอเมริกาเรียกว่า ฝรั่ง

ฝรั่งเศสภาษา ๑ ฝรั่งวิลันดาภาษา ๑ ฝรั่งอังกฤษภาษา ๑ ฝรั่งพุทะเกตภาษา ๑ ฝรั่งมะริกันภาษา ๑ ฝรั่งอิศบันหยอดภาษา ๑ ฝรั่งการะหนี่ภาษา ๑ ฝรั่งสี่ส้องภาษา ๑

พุทะเกต = โปรตุเกส  อิศบันหยอด = สเปน  ส่วนการะหนี่และสี่ส้อง นี่ชาติไหนหนอ

 ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 09:09

มาช่วยเดา
การะหนี่  = Germany
สี่ส้อง  ยังนึกไม่ออก
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 09:16

พอคุณเพ็ญชมพูพูดถึงพราหมณ์อินเดียเหนือ  ทำให้นึกถึงเอกสารในสมัยรัชกาลที่ ๓ ชิ้นหนึ่ง  ชื่อว่า คำให้การพราหมณ์อัจจุตนันนำ  เอกสารชิ้นนี้เคยพิมพ์หลายครั้ง ครั้งหลังๆ เปลี่ยนชื่อเป็น  เมืองพาราณสี   เป็นบันทึกคำสอบถามพราหมณ์ชื่ออัจจุตนันนำเกี่ยวกับเรื่องเมืองอินเดีย  พราหมณ์คนดังกล่าวเดินทางมาจากเมืองพาราณสีมาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย   พวกกรมการหัวเมืองปักษ์ใต้จึงเชิญพราหมณ์มาให้การเกี่ยวกับเมืองอินเดียแล้วจดส่งมาที่กรุงเทพฯ  ถ้าใครได้อ่านจะรู้ว่า คนไทยสมัยก่อนมีความรู้เกี่ยวกับอินเดียจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก   ในขณะเรื่องอินเดียที่เป็นปัจจุบันแทบไม่รู้เลย  เรื่องที่คนสอบถามจากพราหมณ์ผ่านล่ามแขกจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมที่อินเดียในเวลานั้น  แต่คงเป็นเพราะการสื่อความที่เข้าใจไปคนละทางเลยทำให้คำให้การดังกล่าวดูไม่น่าเชื่อถือ  คล้ายกับว่าพราหมณ์ที่ให้การเป็นพราหมณ์ที่ไม่ค่อยมีความรู้  

แต่ พราหมณ์พฤฒิบาศภาษา  เห็นท่าจะไม่ใช่พราหมณ์อินเดียเหนือเป็นแน่  คงเป็นพราหมณ์ไทยหรือเชื้อเขมร  ที่รู้วิชาจับช้างคชกรรม  แต่แปลกว่าทำไมเอาไปรวมกับพราหมณ์อินเดียเหนือ   ส่วนพราหมณ์ชาติภาษาที่เหลืออาจจะมีพวกพราหมณ์อินใต้บ้างกระมังครับ

เรื่องชนชาติต่างๆ ที่นางนพมาศจำแนกนี้  คงต้องไปอ่านหนังสือภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ ๓ เล่ม/ชุด ของกาญจนาคพันธุ์ เพิ่มเติมแล้วล่ะครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 09:25

อ้างถึง
มาช่วยเดา
การะหนี่  = Germany
สี่ส้อง  ยังนึกไม่ออก

ช่วยเดาด้วยคนครับ สี่ส้อง นี่เป็นพวกฝรั่ง Saxon ได้ไหมครับ ฮืม ยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 09:28

         ฝรั่งเกาะลูซอน หมายถึงฝรั่งที่อยู่เมืองมะนิลา ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะลูซอน,
เกาะลูซอน เรา ออกเสียงเป็น สีส่อง แล้วเพี้ยนเป็น สี่ส้อง

จาก  guru.sanook.com/dictionary/search/ฝรั่งสี่ส้อง/  ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 22 ธ.ค. 09, 11:29

พวกเรือแตกที่ติดตามพระอภัยมณีจากเกาะแก้วพิสดารมาช่วยราชการที่เมืองผลึก และแล้วก็ถึงเวลากลับบ้าน

พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก                    ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง
ไปกึงตั๋งกังจิ๋วจุนติ๋วเชียง                        เข้าลัดเลี่ยงอ้ายมุ้ยแล่นฉุยมา
ข้างพวกแขกแยกเยื้องเข้าเมืองเทศ            อรุมเขตคุ้มสุหรัดปัตนา
ไปปะหังปังกะเราะเกาะชวา                       มะละกากะเลหวังตรังกะนู

วิลันดามาแหลมโล้บ้านข้าม                     เข้าคุ้งฉลามแหลมเงาะเกาะราหู
อัดแจจามข้ามหน้ามลายู                        พวกญวนอยู่เวียดนามก็ข้ามไป
ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี           เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย
กบิลพัสดุ์โรมพัสดุ์ถัดถัดไป                      เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์

ข้างพวกไทยได้ลมก็แล่นรี่                      เข้ากรุงศรีอยุธยาภาษาสยาม
พม่ามอญย้อนเข้าอ่าวภุกาม                     ฝรั่งข้ามฝากเข้าอ่าวเยียระมัน
ที่บางเหล่าก็เข้าอ่าววิลาส                       เมืองมะงาดมะงาดามะงาสวรรค์
ข้ามเกาะเชามาลีกะปิตัน                        หาพงศ์พันธุ์พวกพ้องพี่น้องตัว


พวกแขกไปบ้านเมืองที่นับถืออิสลาม  ขอให้สังเกตชื่อบ้านเมืองของพวกพราหมณ์ส่วนมากเป็นชื่อเมืองในอินเดียมีในพระไตรปิฎกที่คนไทยสมัยก่อนคุ้นเคย

และ เยียระมันของสุนทรภู่ก็คือ เยอรมัน นั่นเอง

 ยิ้ม



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 19 คำสั่ง