เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 22377 คาถา เย ธัมมา ฯ
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


 เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 21:46

คาถา เย ธัมมา ฯ
ที่ว่ากันว่าเป็นคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ
เอวํ วาที มหาสมโณ ฯ


ขอเรียนถามท่านผู้รู้ว่าที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และฉันทลักษณ์ของบาลีต้องเป็นอย่างไรครับ เพราะเท่าที่พบ มีการสะกดแตกต่างกัน
ขอบพระคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 22:11

ระหว่างเฝ้ารอท่านผู้รู้ภาษาบาลี มาวินิจฉัยการสะกดไวยากรณ์ที่ถูกต้อง
ของคาถา เย ธัมมา ฯ (คาถาหัวใจพระพุทธศาสนา)

จึงขอเสริมข้อมูลไปพลางนะครับ



เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา   ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
เตสํ เหตํ ตถาคโต     พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ   และความดับของธรรมเหล่านั้น
เอวํ วาที มหาสมโณ   พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้


คาถาบาทที่หนึ่ง มีความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
ก็หมายถึง ทุกข์ ซึ่งป็น ผล อันเกิดจาก เหตุ ดังกล่าว

คาถาบาทที่สอง มีความว่า พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น
นี่ก็คือเรื่อง สมุทัย ซึ่ง เหตุ (แห่งทุกข์) เป็นอริยสัจข้อที่สอง

คาถาบาทสาม มีความว่า และความดับของธรรมเหล่านั้น
ก็คือพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่อง นิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) อันเป็น ผล ที่เกิดจาก มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันเป็นทางนำไปสู่ (เหตุ) ความดับทุกข์ในที่สุด

ส่วนคาถาบาทสุดท้าย ความว่า พระมหาสมณะมีวาทะไว้อย่างนี้
ก็คือ พระพุทธองค์ได้ ตรัสสั่งสอนไว้เช่นนี้
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 22:14

ข้อมูลเสริมด้านประวัติ



เป็นธรรมะที่พระอัสสชิเถระแสดงแก่อุปติสสปริพาชก (พระสารีบุตร) หลังจากได้ฟังธรรมบทนี้ พระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เรื่องมีดังนี้

ท่านพระสารีบุตรเถระ เดิมชื่อว่า อุปติสสะ บิดาชื่อว่าวังคันตะพราหมณ์ มารดาชื่อว่านางสารีพราหมณี บิดาเป็นนายบ้านตำบลนาลกะหรือนาลันทา เพราะเป็นบุตรของนางสารีจึงได้นามว่า สารีบุตร ท่านเกิดในตำบลบ้านนาลกะหรือนาลันทา ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ เมื่อท่านเข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว เพื่อนสพรหมจารี (ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในที่นี้หมายเอาภิกษุ) พากันเรียกท่านว่า พระสารีบุตร ทั้งนั้น ตระกูลพราหมณ์ของบิดาอุปติสสมาณพ เป็นตระกูลที่ร่ำรวย สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว และได้เป็นเพื่อน ที่ชอบพอรักใคร่กันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นบุตรแห่งตระกูลที่ร่ำรวยเหมือนกัน เพราะว่าตระกูลทั้งสองนั้นเป็นเพื่อนกัน มีการติดต่อผูกพันกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพ ได้ไปเที่ยวดูเขาเล่นมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเป็นประจำ ขณะกำลังชมดูอยู่นั้นก็เกิดความร่าเริงในเวลาถึงบทสนุก เกิดความสลดใจ ในเวลาถึงบทเศร้า ถึงตอนชอบใจก็ให้รางวัลนักแสดงด้วย วันหนึ่งมาณพ ๒ สหายนั้นชวนกันไปดูมหรสพเหมือนวันก่อน ๆ แต่ว่าไม่เกิดความสนุกสนานร่าเริงอะไรเลย คนที่กำลังแสดงอยู่นั้นอีกไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็จะต้องตายกันไปหมด เมื่อมีความคิดตรงกันอย่างนั้น จึงได้พากันไปบวชเป็นลูกศิษย์ในสำนักของสัญชัยปริพาชก และได้เรียนความรู้จากอาจารย์จนหมดสิ้น จนอาจารย์ได้ให้ช่วยสั่งสอน ศิษย์คนอื่นในสำนักนั้นด้วย แต่สองสหายนั้นยังไม่พอใจกับความรู้เพียงนั้น จึงได้ตกลงทำกติกานัดหมายกันว่าจะออกแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมเครื่องหลุดพ้น จากกิเลสต่าง ๆ อันได้แก่พระนิพพานอีกต่อไป และถ้าใครพบโมกขธรรมก่อนขอให้กลับมาบอกแก่กัน

สมัยนั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนมหาชนยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์และประทับอยู่ ที่พระมหาเวฬุวันมหาวิหาร วันหนึ่งท่านพระอัสสชิผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ ผู้ที่พระบรมศาสดาทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนา ได้กลับมาเฝ้า ในตอนเช้าท่านก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกเดินไปพบท่านในระหว่างทางก็เกิดความเลื่อมใส ในจริยาวัตรของท่าน และได้ถามถึงครูอาจารย์พร้อมกับขอร้องให้แสดงธรรมให้ฟังด้วย ท่านพระอัสสชิได้แสดงธรรมมีใจความย่อ ๆ ว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้" อุปติสสปริพาชก ได้ฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุโสดาบัน แล้วกลับไปบอกข่าวเพื่อนโกลิตะ และแสดงธรรมให้ฟังตามที่ได้ฟังมาจนโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม เหมือนกัน จึงชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นไปลาอาจารย์สัญชัยแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาต ให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ทั้งสองคน ครั้นบวชแล้วภิกษุทั้งหลายพากันเรียกท่านว่า สารีบุตร และ โมคคัลลานะ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 22:37

ตัวอย่างวิธีการสะกด และวางไวยากรณ์ ที่แตกต่างกันครับ

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ
เอวํ วาที มหาสมโณ ฯ


เย ธมฺมา เหตุ ปพฺพวา
เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ
เอวํ วาที มหาสมฺโณ ฯ


รบกวนท่านผู้รู้ด้วยนะครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 22:58

สวัสดีครับคุณ Bhanumet

อันนี้เป็นความที่ผมเคยค้นจาก พระไตรปิฎก ท่านวางการสะกดไว้ดังนี้ครับ

คาถาในพระไตรปิฏก: มหาวรรค ภาค ๑  มหาขันธ์ 
เรื่องสาริปุตตโมคคลานวัตถุ

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตุ ํ ตถาคโต อาห
เตสญฺจ โย นิโรโธ
เอวํ วาที มหาสมโณติ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 23:04

คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า

“สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน ๒๕๐ คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก ๒๕๐ คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง ๓ ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก ๒๕๐ คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ที่มา: พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค ๔ ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม ๔, ๒๕๓๙, หน้า ๒๑๗
        ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): ชื่อจารึก - จารึกเยธมฺมาฯ  ( http://www.sac.or.th/jaruk/ )
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 ธ.ค. 09, 00:18

ขอบพระคุณ คุณ Hotacunus มากครับ

คาถาในพระไตรปิฏก : มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธ์
เรื่องสาริปุตตโมคคลานวัตถุ

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตุํ ตถาคโต อาห
เตสญฺจ โย นิโรโธ
เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ

(โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๕๒๕, พ.ศ. ๒๕๓๓,
พ.ศ. ๒๕๓๖)
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคต ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับของธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้)



ผมเข้าไปอ่านตามลิงค์ ฐานข้อมูลจารึกฯ ที่คุณ Hotacunus ให้ไว้
ได้อ่านจารึกเยธมฺมาฯ ทั้ง ๑๒ หลัก และจารึกอื่นๆ ที่จารึกคาถาเย ธัมมา ฯ
ปรากฏว่าจารึกไว้แตกต่างกัน

คงต้องยึดพระไตรปิฎกเป็นหลัก
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 ธ.ค. 09, 02:50

ได้มาจากกระทู้ที่ไปตั้งในพันทิปครับ
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8625164/K8625164.html#5
   
ความคิดเห็นที่ 5    [แจ้งลบ] 

เย ...ไวยากรณ์จะเข้าคู่กับ เตสัง
แปลว่า อันใด...อันนั้น
เย ธัมมา

จากคุณ    : ภูริ
เขียนเมื่อ    : 6 ธ.ค. 52 18:56:41 A:67.228.166.109 X: TicketID:215661
   
ความคิดเห็นที่ 6    [แจ้งลบ] 

เย ...ไวยากรณ์จะเข้าคู่กับ เตสัง
แปลว่า อันใด...อันนั้น
เย ธัมมา = ธรรมอันใด
เหตุ + ปภวา (แปลว่า ต้นเค้า แหล่ง)
สมาสกันได้ เหตุปฺปภวา = เกิดแต่เหตุ
-----------
เตสัง เหตุง (ไม่น่าเป็น เหตัง) = เหตุอันนั้น
ตถาคโต = พระตถาคต
ตามของเดิมจะเป็นอย่างนี้
เป็นตามเซ้นส์ในภาษาบาลีครับ
บางทีคำกริยาซึ่งปกติจะอยู่ท้ายประโยค
จะสามารถไว้ในฐานะที่เข้าใจได้
เหมือนภาษาญี่ปุ่นคำกริยาก็อยู่ท้ายประโยค
บางทีผู้พูดกล่าวยังไม่จบประโยค
ผู้ฟังก็สามารถเข้าใจได้
แต่พอภาษาถอดข้ามมาไทยบางที
หลังๆจะเติมคำกริยาว่า
อาหะ (=กล่าว ) เข้าไปให้ได้ใจความครับ
ตามที่สละสลวยของความคล้องจองจะไม่มีคำนี้
-----------
ที่เหลือปกติครับ

จากคุณ    : ภูริ
เขียนเมื่อ    : 6 ธ.ค. 52 18:57:58 A:67.228.166.109 X: TicketID:215661
   
ความคิดเห็นที่ 7    [แจ้งลบ] 

พึ่งสังเกตเห็นในคห4มีจบท้ายด้วย "ติ"
มาจากคำว่า อิติ แปลว่าดังนี้
เป็นการพ่วงจบท้ายอีกหน่อยของผู้ที่ยกคาถานี้มาแสดงฯ

จากคุณ    : ภูริ
เขียนเมื่อ    : 6 ธ.ค. 52 19:06:17 A:67.228.166.109 X: TicketID:215661
   
   
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ธ.ค. 09, 15:07

เพิ่มเติม   
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8625164/K8625164.html#9

ความคิดเห็นที่ 9    [ถูกใจ] [แจ้งลบ] 

เรียนถามคุณ ภูริ เพิ่มเติมครับ

แล้ว หลัง " นิโรโธ " ต้องมี " จ " หรือไม่ครับ

" เตสญฺจ โย นิโรโธ "     (พระไตรปิฏก : มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธ์ เรื่อง สาริปุตตโมคคลานวัตถุ)

หรือ

" เตสญฺจ โย นิโรโธ จ "     (เห็นใช้ลักษณะนี้หลายแห่ง)

ขอบพระคุณครับ

จากคุณ    : เจ้าคุณแม่ทัพ [FriendFlock]
เขียนเมื่อ    : 7 ธ.ค. 52 02:43:40 [แก้ไข]
   
ความคิดเห็นที่ 10    [แจ้งลบ] 

เคยท่องๆอยู่เป็นแบบมี จ
พึ่งทราบแบบไม่มี จ อยู่ด้วย
ถ้าว่าตามไวยากรณ์ จ ที่แปลว่าและ
เช่น เอ และ บี
นิยมใช้ ในรูปแบบ เอ จ บี จ
มากกว่าในรูปแบบ เอ จ บี ครับ
(แบบหลังตามไวยากรณ์ใช้ได้แต่นิยมน้อยกว่า)
ตามคาถา คือ
(เตสัง + จ) ควบเป็น เตสัญจ โย นิโรโธ จ
ไม่ทราบเรื่องฉันท์นัก
จากเท่าที่สังเกตลองนับแต่ละบาทดูได้
บาทแรก 8พยางค์ +บาทสอง8พยางค์
ไม่เท่ากับ บาทสาม8พยางค์(เมื่อมี จ ด้วย) + บาทสี่9พยางค์
คาดเดาว่าทำให้นักฉันท์ลักษณ์
จึงตัด จ ออกไป ให้รวมได้พยางค์เท่ากัน
ส่วนพระสารีบุตรผู้มีจิตใจที่มีความตั้งมั่น
ขณะฟังเนื้อธรรมตามคาถาพระอัสสชิจนจบ
และเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นได้
คงไม่มัวมาสงสัยอย่างนักฉันท์ลักษณ์กระมังครับ ยิ้ม

จากคุณ    : ภูริ
เขียนเมื่อ    : 7 ธ.ค. 52 07:07:05 A:67.228.166.109 X: TicketID:215661
   
   
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 13:36

ผมได้เมลไปถามคุณ luanglek  และท่านได้กรุณาตอบกลับมา
ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์  จึงได้ขออนุญาตเพื่อนำมาลงให้ได้อ่านโดยทั่วกันครับ



" ผมได้อ่านกระทู้ดังกล่าวที่คุณได้แนะนำแล้วก่อนหน้าที่คุณจะส่งเมลืมาถึงผม  ก็เห็นว่ามีคนตอบให้แล้ว  คุณคงได้ข้อมูลพอสมควรแล้ว

หากผมจะเพิ่มเติมอันใด คงต้องขอเวลาไปค้นเพิ่มเพื่อให้ได้ข้อลึกเข้าไปอีก  แต่เท่าพอจะกล่าวได้ตอนนี้

คาถานี้เป็นปัตยาวัตฉันท์กลายๆ ที่ว่าเป็นฉันท์กลายๆ เพราะฉันทลักษณ์ไม่ตรงกลับปัตยาวัตฉันท์เสียทีเดียว  เข้าใจว่าเป็นการผูกฉันท์ขึ้นอย่างปฏิภาณกวี  เน้นที่ความมากกว่าฉันทลักษณ์ ลักษณะเช่นนี้พบในบรรดาคาถาต่างๆ ในพระไตรปิฎก  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องการเน้นที่เนื้อความที่ชัดเจน มิใช่เน้นที่ความสละสลวยสวยงามในเชิงฉันทลักษณ์  แต่ถ้าเป็นคาถาในช่วงหลังพุทธกาลมา  ลักษณะครุลหุฉันท์ในคาถาจะเคร่งครัดกันมาก  และนิยมผูกสมาสสนธิศัพท์ ใช้รูปศัพท์บางคำเพื่อให้เอื้อต่อฉันทลักษณ์ ซึ่งบางทีก็ทำให้คนที่พอรู้บาลีระดับต้นและกลางแปลผิดพลาดหรือไม่เข้าใจความหมายได้

คาถา เย ธมฺมา นี้

ได้ลองตรวจดู ในภาษาสันสกฤต เขาเขียนอย่างนี้

เย ธรฺมา เหตุปฺรภวา
เหตุ ํ เตษำ ตถาคตะ หฺยวทตฺ
เตษำ จ โย นิโรธ
เอวํ วาที มหาศฺรมณะ

เวลาแปลก็แปลเหมือนกับคาถา เย ธมฺมา ในภาษาบาลี
ส่วนภาษาบาลีในศรีลังกา เขียนด้วยอักษรสิงหล เขียนว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา
เตสํ เหตุ ํ ตถาคโต อาห
เตสญฺจ โย นิโรโธ
เอวํ วาที มหาสมโณ ฯ

ในบรรทัดที่2 นั้น เข้าใจว่าเดิมคงไม่มีคำว่า อาห  เพราะถึงไม่ใส่ อาห เวลาแปลก็ต้องเติมเข้ามาอยู่แล้ว  การเติม อาห เวลาแปล เป็นที่ทราบกันของคนเรียนบาลีอยู่แล้ว

ในบรรทัดที่ 3  จ ที่หลังคำว่า นิโรโธ  ถ้า จ แปลว่า และ ทั้ง ๒ ตัว แล้ว มี จ ตัวเดียวก็พอ แต่ ถ้า จ  ๒ ตัวนี้มีความหมายอย่างอื่นในทางไวยากรณ์อาจจะต้องมี ๒ ตัว ตัดทิ้งไม่ได้  แต่เท่าที่เคยเรียนมา จำได้ว่า มี จ ๒ ตัว

ในบรรทัดที่ 4  ติ หลังคำว่า มหาสมโณ ไม่จำเป็นต้องเติมเข้ามา  แต่ถึงเติมเข้ามาก็ไม่นับเข้าเป็นคำในฉันทลักษณ์  ถ้าจะมีคำว่า ติ ซึ่งย่อมาจาก อิติ ที่แปลว่า ว่า หรือ ดังนี้  ควรจะมีเนื้อความประกอบคาถานี้  ว่าใครเป็นคนกล่าวคาถานี้  แต่ถ้ากล่าวลอยๆ ไม่มี ติ ก็ไม่น่าจะผิดครับ

ผมตอบแต่เท่านี้  อันที่จริง มีพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ ที่มีพระบรมราชาธิบายขยายความเรื่องคาถาเย ธมฺมาอยู่ด้วย  คุณน่าจะหามาอ่านด้วยเพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น "
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 16:47

คุณ luanglek ได้กรุณาส่งเมลมาชี้แจงเพิ่มเติมครับ
เป็นประโยชน์มากจริงๆ
ถ้าจะกล่าวเป็นอติพจน์ก็คือ ทำให้รู้แจ้งแทงตลอดเลยจริงๆ
  ยิงฟันยิ้ม

ตอบตามที่สัญญาไว้ครับ

" คาถา เย  ธัมมา ที่ผมเคยแนะนำให้คุร(สงวนนาม)ไปอ่านในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ นั้น ผมขออภัยด้วย ที่ตริงเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เรื่อง พระปรารภเรื่องแปลจตุราริยสัจ  ในพระนิพนธ์นี้ มีตอนหนึ่งกล่าวถึง คาถา เย ธัมมา ความนั้นว่า (ผมคัดมาให้อ่านทั้งตอน)

...ทีนี้จะว่าด้วยอริยสัจจกถาที่โบราณบัณฑิตได้จัดตั้งไว้แต่ในอโศกรัชกาล  นับแต่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานล่วงไปได้ ๒๒๒ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าอโศกเปนมหิศราธิบดีดำรงรัชยสมบัติ  ณ เมืองปาตลีบุตรมัธยมประเทศ  มีพระเดชแผ่พ่านไปในสากลชมพูทวีปทั้งปวง  มีพระราชศรัทธาอุสาหะใหญ่หลวง  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้สร้างอารามวิหารเจดีย์เปนที่สักการบูชาแปดหมื่นสี่พันทั่วพระราชอาณาเขตร  บรรจุพระสารีริกธาตุของพระศาสดา  แล้วแกะอักษรเปนรูปตรากดแผ่นดิน  บรรจุไว้ในภายในพระเจดีย์  ความในอักษรทั้งปวงนั้นแสดงอริยสัจสี่โดยย่อสังเขปด้วยคาถาอันเดียวว่า  เย ธมฺมา ธรรมทั้งหลายใด  เหตุปฺปภวา  มีความเกิดทั่วพร้อมเปนเหตุ  นี่แสดงทุกขสัจในบาทที่ต้น ฯ  เตสํ  เหตุ ตถาคโต  อวจ  พระตถาคตได้กล่าวแล้วซึ่งเหตุของธรรมทั้งหลายนั้น  นี่แสดงสมุทัยสัจด้วยบาทที่สอง ฯ เตสํ จ โย นิโรโธ   ก็ความดับอย่างไรของธรรมทั้งหลายนั้น  นี่แสดงนิโรธสัจด้วยบาทที่สาม ฯ เอวํ วาที มหาสมณ อย่างนี้วาทะท่านมหาสมณะ  นี่แสดงมรรคสัจด้วยบาทที่มี่ ฯ ...


ข้อความในพระนิพนธ์นี้มีที่ผิดอยู่ คือ คาถา เย ธมฺมา นี้ แสดงอริยสัจเพียง ๓ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ ไม่มีมรรค  ทำไมถึงไม่มีมรรค เหตุผลนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ไว้ในปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉทที่ ๑๖ อัครสาวกบรรพชาปริวรรต ความว่า

...พระมหาเถระ (พระอัสสชิ) จึงกล่าวพระคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เป็นอาทิ อรรถาธิบายความว่า  ธรรมทั้งหลายใดๆ ย่อมไหลมาแต่เหตุทั้งสิ้น  เมื่อเหตุดับแล้ว  ธรรมทั้งปวงนั้นก็ดับสูญตาม  สมเด็จพระมหาสมณะมีพระพุทธฎีกาตรัสดังนี้  แท้จริงพระเป็นเจ้ากล่าวคาถาโดยสังเขปเท่านี้  แสดงซึ่งพระอริยสัจธรรมทั้ง ๓ แต่มรรคสัจมิได้แสดงเหตุสรุปอยู่ในนิโรธอริยสัจนั้น  เมื่ออุปดิสปริพาชก (พระสารีบุตร) ได้สดับแต่พระคาถาสองบาทในเบื้องต้น  ก็บรรลุพระโสดาปัตติผลประดับด้วยนัยพันหนึ่ง  จึ่งกำหนดซึ่งเหตุว่าธรรมวิเศษยิ่งขึ้นไปยังมิอาจได้ตรัสรู้ในกาลบัดนี้  จึงกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าอย่าแสดงธรรมยิ่งขึ้นไปเลย  จงหยุดแต่เท่านี้  สมเด็จพระพุทธมุนีผู้เป็นบรมครูของเราเสด็จอยู่ในที่ใด  ดูกรปริพาชก  สมเด็จพระบรมครูเสด็จอยู่ในพระเวฬุวนาราม...

เหตุที่แสดงแต่อริยสัจ ๓ ประการเท่านั้น เพราะต้องการให้อุปติสสะไปฟังมรรค ๘ ที่เหลือจากพระพุทธเจ้า  และมรรคนั้นจะเป็นแรงจูงใจให้อุปติสสะขวนขวายที่ได้ไปฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรงจนบรรลุอรหัตผล

คาถา เย ธมฺมา แปลโดยพยัญชนะได้ว่า

ธมฺมา อันว่าธรรมทั้งหลาย เย เหล่าใด เหตุปฺปภวา  มีกำเนิดมาแต่เหตุ   (อันนี้หมายถึงทุกข์)
เหตุ อันว่าเหตุ เตสํ แห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ตถาคโต พระตถาคต ( อาห  ได้กล่าวแล้ว)  (อันนี้แสดงสมุทัย)
นิโรโธ อันว่าความดับ โย อันใด  เตสญฺจ แห่งธรรมทั้งหลายนั้นด้วย 
มหาสมโณ อันว่าสมเด็จพระมหาสมณะ  (อาห ได้กล่าวแล้ว) วาที ซึ่งวาทะ หรือคำสอน  เอวํ ด้วยประการดังนี้

(ตกลง จ มีตัวเดียว พอไม่ต้องมี อีก จ หลังนิโรโธ )ครับ ... "
บันทึกการเข้า
hug0_boss
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 11 มิ.ย. 11, 10:42

เย ธมมา เหตุปปะภะวา  เตสัง เหตุง ตถาคโต
เตสัญจ โย นิโรโธ จ    เอวัง วาที มหาสมโณฯ
เป็นประโยค ยะ ตะ นะครับ แยกได้ดังนี้นะครับ

(เย ธัมมา) อันว่า ธรรมทั้งหลายเหล่าใด  (เหตุปปะภะวา) มีเหตุเป็นแดนเกิดก่อน (คือ เกิดจากเหตุนั่นเอง) (จ) ด้วย
(โย นิโรโธ) อันว่า ความดับใด (เตสัง ธรรมานัง)แห่งธรรมทั้งหลาย เหล่านั้น (จ) ด้วย
(ตถาคโต) อันว่า พระตถาคต (อาห) ตรัส (เหตุง)ซึ่งเหตุ (เตสัง ธรรมานัง)แห่งธรรมทั้งหลาย เหล่านั้นด้วย
(อาห)ตรัส (ตัง นิโรธัง) ซึ่งความดับนั้นด้วย
(มหาสมโณ) อันว่าพระมหาสมณะ (วาที) เป็นผู้มีปกติกล่าว (เอวัง) อย่างนี้

ค่อยข้างจะสับสนนะครับ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลี เพราะประโยคนี้มี ยะ ตะ ถึงสองตัวด้วยกัน

ส่วยตัวนี้คือ เหตุง ต้องเป็น เหตุง นะครับ ศัพท์เดิม คือ เหตุ ลงทุติยาวิภัติ จึงต้องผันเป็น เหตุง แปลว่า ซึ่งเหตุครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง