เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6028 ความหมายทางสัญลักษณ์ในการทุบทำลายประติมากรรมภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:39

เคยมีคนบอกให้ผมเขียนเรื่องการทำลายเขาพนมรุ้งโดยอาศัยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ เลยขอมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้ และผิดพลาดประการใดขออภัย ณ ที่นี้ด้วย
(ไม่ทราบว่าจะลงภาพอย่างไร...ขออภัยหากไม่มีภาพประกอบ) ยิ้ม
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:40

อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต: ความหมายทางสัญลักษณ์ในการทุบทำลาย
ประติมากรรมภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

 

                       กลุ่มมือมืดใจบาป บุกทุบทำลายปราสาทหินพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ โบราณสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของไทย ได้รับความเสียหายยับ ๑๓ จุด เผยบรรดาเศียรนาคถูกทุบตีบริเวณปาก จมูก และตา แตกยับตั้งแต่บันไดทางขึ้นจนถึงปราสาท พร้อมรูปปั้นสิงห์อีก ๒ ตัว อีกทั้งได้ทำการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ออกจากที่ตั้งเดิม สะพัดเป็นฝีมือกลุ่มคนที่ต้องการทำสนองความเชื่ออะไรบางอย่าง

                       ที่มาข้อมูล:    http://www.thaiseoboard.com/index.php?topic=28746.0
                  ที่มาภาพประกอบ:   http://hilight.kapook.com/view/24144


บทที่ ๑ อารมณ์

         ยามเช้าของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ ๒๕๕๑ เกิดเหตุสะเทือนอารมณ์ของชาวไทยทั้งชาติ จากการรับรู้ว่าขณะที่ทุกคนกำลังทำบุญปฏิบัติธรรมในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม อันเป็นวันวิสาขบูชา หนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยถูกคนร้ายบุกทุบทำลายจนยับเยิน
วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ มีการลอบเข้าไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง และทุบทำลายประติมากรรมภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ได้แก่ สะพานนาคราช ทวารบาล สิงห์ โคนนทิ และศิวลิงค์ ทั้งเคลื่อนย้ายศิวลิงค์ออกจากฐานโยนี สันนิษฐานว่าคนร้ายคงมีจำนวนไม่ต่ำว่า ๔คน (http://hilight.kapook.com/view/24144)
                 พฤติกรรมของคนร้าย โดยเฉพาะวิธีทุบทำลายประติมากรรมในตัวปราสาท เจ้าหน้าที่คาดว่าก่อนลงมือคนร้ายได้ทำพิธีกรรมคล้ายขอขมา เนื่องจากพบแก้วน้ำ ๑ ใบ และบุหรี่ที่จุดแล้ว ๓ มวน วางอยู่บริเวณดอกบัว ๘ กลีบ ของสะพานนาคราชช่วงชั้นที่ ๑ อันเป็นทางขึ้นปราสาท และที่บริเวณดอกบัว ๘ กลีบของสะพานนาคราชในช่วงชั้นที่ ๒ ซึ่งอยู่หน้าปราสาทด้านทิศตะวันออก
                     สันนิษฐานว่าเมื่อกระทำการกระทำพิธีขอขมาเสร็จสิ้น คนร้ายใช้ของแข็งทุบข้อมือทวารบาลที่อยู่หน้าประตูทางทิศใต้จนแตกหัก แล้นำมือทั้งสองข้างของทวารบาลไปทุบทำลายประติมากรรมอื่นๆ ได้แก่ ใบหน้าสิงห์ที่อยู่บันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตกของปราสาท ๒ ตัว เศียรนาคราชของราวสะพานนาคราช จากนั้นได้ทุบปาก หู เขาโคนนทิ และฐานของศิวลึงค์ที่อยู่ในปรางค์ปราสาท
                     วิธีการทุบทำลาย คนร้ายทุบทำลายจากด้านบนลงมาด้านล่าง เจ้าหน้าที่ยังสังเกตร่องรอยพบวิธีการทุบด้านซ้ายตามเข็มนาฬิกาแทบทุกตัว จากการตรวจสอบคาดว่าคนร้ายก่อเหตุช่วงเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ นาฬิกา เพราะเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจทุกอย่างยังอยู่ในสภาพปกติ (http://www.komchadluek.net/2008/05/21/x_main_a001_203464.php?news_id=203464)
      จากการทำลายดังกล่าวมีการสันนิษฐานถึงผู้กระทำ และจุดประสงค์ในการกระทำหลายประเด็น ทั้งประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และความเชื่อทางไสยศาสตร์
                   ฝ่ายที่กล่าวว่าเป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์ ตั้งข้อสังเกตว่าคนร้ายเลือกกระทำการเฉพาะประติมากรรมที่เป็นของจำลอง และพิธีกรรมที่ขอขมาดูเล็กน้อยเกินกว่าเป็นการกระทำทางไสยศาสตร์อย่างแท้จริง ดังนั้นอาจเป็นเพียงการขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางการเมืองท้องถิ่น หรืออเป็นการขัดแย้งในเรื่องร้านค้ารายรอบปราสาทหิน แม้แต่การขัดแย้งภายในส่วนราชการของกรมศิลปากรในท้องถิ่นเอง โดยกระทำให้คล้ายคลึงกับการกระทำทางไสยศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนตื่นตระหนก
มีการตั้งข้อสังเกตว่าคนร้ายสามารถเข้ากระทำการได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากปราสาทหินเขาพนมรุ้งเป็นสถานที่ที่เข้าไปกระทำการได้ยาก และการกระทำดังกล่าวมิได้ทำเพียงคนเดียว ดังนั้นการกระทำดังกล่าวอาจมีผู้มีอำนาจในท้องถิ่น หรือข้าราชการที่มีอำนาจในท้องถิ่นคอยสับสนุนอยู่เบื้องหลัง (http://www.komchadluek.net/2008/05/21/x_main_a001_203464.php?news_id=203464)
               ทางฝ่ายที่เห็นว่าเป็นการกระทำทางไสยศาสตร์ ได้วิเคราะห์ว่าการกระทำดังกล่าวคนร้ายต้องมีความรู้ทางไสยศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะได้กระทำการทำลายประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจของเทพเจ้า ซึ่งอาจกระทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ดังนั้นอาจมีกลุ่มการเมืองอยู่เบืองหลัง
ยังมีการสันนิษฐานว่ากระทำเพื่อบูชาพระราหู เนื่องจากเชื่อว่าพระราหูเกลียดชังพระนารยณ์ การทำลายพระนารายณ์จึงเป็นการบูชาพระราหู โดยการทำลายนาคราชอันเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และเคลื่อนย้านศิวลึงค์ ด้วยถือว่าบางส่วนของศิวลึงค์สื่อถึงพระนารายณ์(http://www.komchadluek.net/2008/05/21/x_main_a001_203464.php?news_id=203464)
              อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งก่อสร้าง และประติมากรรมภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่ถูกคนร้ายทำลาย รวมถึงห้วงเวลาและสถานที่คนร้ายได้เลือกกระทำการ อาจทำให้เห็นกลุ่มผู้กระทำ และจุดประสงค์ได้ชัดเจนขึ้
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:41

บทที่ ๒: อาถรรพ์

               การวิเคราะห์การกระทำของคนร้าย จะแบ่งการวิเคราะห์เป็นสองประการ ประการแรก คือ วิเคราะห์จากความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างและประติมากรรมภายในอาคาร ที่ถูกคนร้ายทำลาย ประการที่สอง วิเคราะห์ลำดับการ ห้วงเวลา และการเลือกสถานที่ในการกระทำการ เพื่อให้ทราบถึงจุดประสงค์ของคนร้าย

              ๑.   ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างและประติมากรรมาภายในที่ถูกคนร้ายทำลาย

               ปราสาทหินเขาพนมรุ้งอาจเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๓ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ผู้เป็น กษัตริย์แห่งเมืองพระนครในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยพิจารณาจากจารึกที่ค้นพบ แต่หากสันนิษฐานจากซากอาคารที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวอาจใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมก่อนการสร้างศาสนาสถานทั้งหมดก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามการสร้างปราสาทอย่างใหญ่โตดังที่เห็นในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างโดยโดยพระเจ้านเรนทราทิตย์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิทรปุระในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ผู้ปกครองแว่นแคว้นอันเป็นภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน (http://th.wikipedia.org/wiki/)  โดยสร้างขึ้นตามแนวความคิดของไศวะนิกาย ลัทธิปาศุตะ (เทพรัตนราชสุดาฯ ๒๕๒๑: ๑๕๗ – ๑๕๘)
            การสร้างอาคารต่างๆในอดีต โดยเฉพาะเทวสถานของชาวขอมมิได้สร้างเพื่อความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งก่อสร้างทั้งหมดล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ โดยรับอิทธิพลจากแนวคิดสองประการ ประการแรก คือ แนวคิดเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างโลกและจักรวาลของชาวฮินดู และประการที่สอง คือ แนวความคิดเรื่องการบูชามนุษย์ดังเทพเจ้า ดังนี้
ประการแรก ตามแนวคิดของฮินดู เชื่อว่ามนุษย์อยู่ใต้การควบคุมของจักรวาล ดังนั้นเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ มนุษย์จำเป็นต้องทำตัวสอดคล้องกับจักรวาล ด้วยเหตุนี้ชาวขอมซึ่งนับถือศาสนาฮินดู จึงจำลองสวรรค์มาไว้ยังพื้นโลกโดยอาศัยสิ่งก่อสร้าง เพื่อให้แน่ใจถึงความสอดคล้องกลมกลืนกันของโลกทั้ง ๒ เนื่องจากสรวงสวรรค์ถือเป็นภาพของจักรวาลทั้งมวลตามแนวคิดของศาสนาฮินดู (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖ : ๖๔ - ๖๕)
            ประการที่สอง ความคิดในด้านการบูชาบุคคลเสมือนเทพเจ้าหรือเทวะราชา กล่าวคือ ชาวขอมโบราณมีความเชื่อในลัทธิบูชาบุคคลดุจดังเทพเจ้า และผู้ที่จะได้รับการบูชาเช่นนี้ คือ เหล่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นผู้แบ่งภาคมาจากเหล่าทวยเทพขณะยังทรงพระชนม์อยู่ และและกลับไปรวมกับเทพเจ้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อสิ้นพระชนม์ชีพ การเข้าไปรวมเป็นหนึ่งกับพระเป็นเจ้าจะกระทำผ่านทางพราหมณ์ โดยประกอบพิธีในเทวสถานอันเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นที่ประทับของเหล่าเทพเจ้า และศูนย์กลางของจักรวาล
               จากการประกอบพิธีในเทวสถาน พระมหากษัตริย์ยามดำรงค์พระชนมายุจะมีสถานะดังเทพเจ้าที่พระองค์ได้สร้างรูปสลักไว้ตามพระลักษณะของพระองค์ หรือถวายนามตามพระนามของพระองค์ (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖ : ๔๐) เมื่อพระองค์สวรรคตดวงพระวิญญาณจะเข้าไปรวมกับรูปสลักอันประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานขนาดใหญ่ และกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖: ๔๐)
            ดังนั้นเทวสถานจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ และเทพเจ้า โดยผ่านสื่อกลาง คือ พระมหากษัตริย์ผู้เทพเจ้าบนพื้นโลก กล่าวคือ ยามดำรงค์พระชนต์ชีพอยู่ พระมหากษัตริย์จะประกอบพิธีกรรมกับเหล่าพราหมณ์ภายในเทวสถานเพื่อให้พระองค์มีสถานะดังเทพเจ้า เมื่อพระองค์สวรรคต เทวสถานอันโอ่อ่าจะเป็นที่ประทับของดวงพระวิญญาณยามที่พระองค์เสด็จรวมกับพระเป็นเจ้า (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖: ๖๙)
            ปราสาทหินเขาพนมรุ้งได้รับการสร้างโดยอาศัยความเชื่อข้างต้นเช่นกัน เห็นได้จากการที่ปราสาทประธานอันประดิษฐานศิวลึงค์ที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางของผังอาคารทั้งหมด เป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ส่วนผังอาคารรอบๆปราสาทประธานเปรียบเสมือนขุนเขาและมหาสมุทรที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ รวมทั้งการพบจารึกที่กล่าวเปรียบว่าพระเจ้านเรนทราทิตย์ผู้สร้างเทวสถาน เป็นดังพระศิวะยามดำรงค์พระชนม์ชีพอยู่ เรื่อยไปจนถึงการสร้างรูปเหมือนของพระองค์ในฉายาของรูปพระศิวะ ยามที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ๒๕๒๑: ๑๕๗ – ๑๕๘)

 

ภาพทางเข้าด้านหน้าปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki

               ด้วยเหตุดังกล่าวการทำลายสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ย่อมแสดงให้เห็นจุดประสงค์ที่จะทำลายความกลมกลืนระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ การทำลายอำนาจของเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ และทำลายอำนาจพระมหากษัตริย์ที่เป็นพระเจ้าบนพื้นโลก โดยการทำลายลัญลักษณ์ในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งสามารถอธิบายตามขั้นตอนการทำลายของคนร้ายได้ดังนี้
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:44

 ๑.๑   การขอขมาบริเวณดอกบัวแปดกลีบ   

                ก่อนลงมือกระทำการ สันนิษฐานว่าคนร้ายทำการของขมา หรือบวงสรวงบางอย่างบริเวณรูปแกะสลักดอกบัวแปดกลีบ ณ สะพานนาคราชช่วงชั้นที่ ๑ และหน้าปราสาทด้านทิศตะวันออก เนื่องจากพบพบก้นบุหรี่ ยาเส้น เงินเหรียญ ๑๐ บาท แก้วน้ำ ๑ ใบและพวงมาลัย ตกอยู่
   พื้นที่ที่แกะสลักดอกบัวแปดกลีบมีสองแห่ง ได้แก่ สะพานนาคราชช่วงชั้นที่ ๑ อันเป็นทางขึ้นปราสาท และสะพานนาคราชในช่วงชั้นที่ ๒ ซึ่งอยู่หน้าปราสาทด้านทิศตะวันออก ดอกบัวแปดกลีบอาจเป็นสัญลักษณ์ของเทพารักษ์ประจำทิศทั้ง ๘ หรืออาจหมายถึง “มณฑล” อันเป็นสัญลักษณ์ของจักวาลทั้งมวลตามแนวคิดของฮินดู
สันนิษฐานว่าบริเวณดอกบัวแปดกลีบในอดีต อาจเป็นจุดที่ใช้ประกอบพิธีกรรมบวงสรวงต่อประผู้เป็นเจ้า เนื่องจากรูปสลักนี้จะปรากฏเฉพาะทางบริเวณทางเข้าหลักของตัวปราสาท (Apiwan Aaulyapichet 2000: 22 - 24) บริเวณรูปดอกบัวแปดกลีบจึงเปรียบเสมือน “กุญแจ” ที่ใช้เพื่อเข้าไปสู่องค์พระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง กล่าวคือ แม้จะตัวบุคคลได้เข้าไปยังตัวปราสาทแล้ว หากมิได้ทำการบวงสรวง ณ บริเวณดอกบัวแปดกลีบเสียก่อน ย่อมไม่สามารถเข้าสู่โลกแห่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ได้อย่างแท้จริง เป็นเพียงแต่ก้าวเข้าไปยังสรวงสวรรค์จำลองบนโลกเท่านั้น
                   การที่คนร้ายได้เข้าไปกระทำพิธีบวงสรวงในบริเวณดังกล่าว ก่อนลงมือกระทำการ เปรียบเสมือนคนร้ายได้เข้าไปไขกุญแจ และก้าวเข้าไปสู่โลกแห่งพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง การกระทำใดๆล้วนเป็นการกระทำโดยตรงต่อเหล่าทวยเทพ มิใช่กระทำต่อร่างจำลองบนโลกมนุษย์ จึงสันนิษฐานได้ว่าการกระทำของคนร้าย อาจมิได้มีเพียงจุดประสงค์เพียงทำลายสิ่งก่อสร้าง หากแต่มีความประสงค์ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในปราสาทหินเข้าพนมรุ้งด้วย

                   ๑.๒   การทุบทำลายรูปประติมากรรมทวารบาล และสิงห์
                   หลังจากที่คนร้ายได้ทำพิธีกรรมณบริเวณรูปดอกบัว ๘ กลีบ เมื่อคนร้ายได้เข้าสู่ตัวปราสาท คนร้ายได้เริ่มการทุบประติมากรรมรูปทวารบาลประจำประตูทิศใต้ของปราสาท โดยทุบบริเวณปาก จมูก และแขนทั้ง ๒ ข้าง แตกเสียหาย ทั้งยังนำมือของทวารบาลที่แตกหักมาใช้เป็นเครื่องมือในการทุบทำลายรูปประติมากรรมอื่นๆ ได้แก่สิงห์ทวารบาล เศียรนาคราช และโคนนทิ โดยในส่วนนี้จะวิเคราะห์เฉพาะการทำลายหัตถ์ทวารบาล และปากและจมูกของสิงห์ทวารบาล
     การสร้างประติมากรรมบุคคลและสัตว์ไว้ตามเทวสถาน เป็นการสื่อให้เห็นถึงคติการจำลองจักรวาล โดยเทวสถานตัวเทวสถานเป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ การสร้างรูปประติมากรรมบุคคล และสัตว์ไว้รายรอบเทวสถาน เป็นสัญลักษณ์แทนสัตว์ในเทพนิยาย ดัง นาค สิงห์ และกุมกัณฑ์ ซึ่งอาศัยอยู่ตามเขาพระสุเมรุ (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖ : ๗๐ - ๗๑)

 

ภาพปราสาทประธานปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki

   การสร้างประติมากรรมรูปบุคคลและสัตว์ไว้ในบริเวณเทวาลัย นอกจากเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันเทพซึ่งประทับภายในเทวาลัยได้เช่นกัน
               การสร้างทวารบาล มักสร้างบริเวณทางเข้าสำคัญของศาสนาสถาน โดยทวารบาลรูปเลียนแบบมนุษย์ ในศิลปะเขมรนิยมสร้างรูปประติมากรรมเทวดาทางด้านซ้ายและรูปอสูรทางด้านขวา รูปทวารบาลอาจมีทั้งรูปประทับนั่งและรูปยื่น รูปประทับนั่งจะประดิษฐานไว้ทางเข้าด้านข้างของเทวสถาน (ทิศเหนือและทิศใต้) ขณะที่ทวารบาลยื่นจะประดิษฐานทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) และด้านหลัง (ทิศตะวันตก) ปราสาทหินเขาพนมรุ้งมีประติมากรรมทวารบาลรูปบุคคลทั้งประทับนั่งและยืน แต่ตำแหน่งในการตั้งจะตรงข้ามกับกฎเกณ์ข้างต้น (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๘๙) นอกจากการสร้างทวารบาลเลียนแบบมนุษย์แล้วอาจมีการสร้างเลียนแบบสัตว์ ดัง สิงห์ทวารบาล (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๓๐) ซึ่งสิงห์มีความหมายสื่อถึงพลังอำนาจ และการพิทักษ์รักษาศาสนาสถาน (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ๒๕๔๘: ๗๘)
   ปราสาทหินเขาพนมรุ้งมีประติมากรรมทวารบาล ได้แก่ประติมากรรมรูปสิงห์ทวารบาลที่อยู่บริเวณทางขึ้นที่เชื่อมกับสะพานนาคราชช่วงชั้นที่ ๑ (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๓๐) และประติมากรรมทวารบาลรูปบุคคลที่อยู่ภายนอกปราสาท โดยเป็นสัญลักษณ์ของบริวารพระศิวะที่คอยดูแลพระวิมานของพระองค์ (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๘๙) ดังนั้นการทำลายประติมากรรมรูปทวารบาล และรูปสิงห์ เปรียบเสมือนการทำลายอำนาจที่คอยป้องกันของเทพเจ้า
                นอกจากนี้การทำลายในส่วนใบหน้า ดังการทำลายส่วนใบหน้าของประติมากรรมรูปสิงห์ ถือเป็นเคล็ดทางไสยศาสตร์ของชาวอินเดียอย่างหนึ่งในการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเทวรูป เนื่องด้วยจมูกเป็นอวัยวะที่ทำให้ใบหน้ามีศักดิ์ศรี ทรงความงดงาม และมีอำนาจ เมื่อจมูกถูกทำลายลงใบหน้าย่อมหมดหมดราศี สิ้นความงาม และเสื่อมอำนาจ เพราะฉะนั้นเทวรูปที่ไร้จมูกคือเทวรูปที่สิ้นความศักดิ์สิทธิ์ (http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=1250)
ทั้งนี้การที่กลุ่มคนร้ายได้นำมือของทวารบาลที่ถูกทุบจนหลุด มาใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำลายประติมากรรมอื่น อาจเป็นสัญลักษณ์ว่าคนร้ายต้องการให้อำนาจที่เคยปกป้องย้อนกลับมาทำลายตัวเอง

             ๑.๓   รูปประติมากรรมโคนนทิ ถูกทุบบริเวณปาก เขา และใบหู แตกหัก


             ภายหลังทุบทำลายรูปประติมากรรมทวารบาล และสิงห์ สันนิษฐานว่าคนร้ายได้เขาไปทุบทำลายประติมากรรมรูปโคนนทิต่อ โคนนทิบางครั้งมีชื่อเรียกต่างไปว่า โคอุศุภราช เป็นโคเผือกที่เป็นพาหนะประจำของพระศิวะ  โดยบางตำนานกล่าวว่าเกิดจากพระศิวะ บางตำนานกล่าวว่าเกิดจากเทพบุตรนามว่านนทินิรมิตตนให้กลายเป็นโคเผือก เพื่อให้พระศิวะได้เสด็จประทับไปยังแห่งหนต่างๆ
                บางคัมภีร์ได้กล่าวว่า โคนนทิหรือเทพบุตรนนทินอกจากเป็นพาหนะของพระศิวะแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแห่งเทพบริวารทั้งหลายทั้งปวงของเทพพระศิวะอีก ตลอดจนปรากฏว่าได้เคยร่วมนาฏกรรมรำฟ้อนกับองค์พระศิวะ โดยรับหน้าที่ตีตะโพนคอยให้จังหวะในขณะที่องค์พระศิวะร่ายรำระบำฟ้อน
                ด้วยเหตุข้างต้นทำให้บรรดามวลมนุษย์ที่บวงสรวงบูชาพระศิวะ นิยมบวงสรวงบูชาโคนนทิด้วย โดยยกย่องให้เป็นโคพิเศษ เป็นโคศักดิ์สิทธิ์ที่เปรียบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์แห่งพระศิวะมหาเทพ ดังนั้นการที่ชาวฮินดูไม่นิยมฆ่าวัวเป็นเพราะเคารพยกย่องและบูชาโคนนทิ ซึ่งเป็นโคศักดิ์สิทธิ์สำหรับมวลมนุษย์ และตามเทวลัยหลายๆแห่งของลัทธิไศวนิกาย ปรากฏว่าได้สร้างรูปเคารพของโคนนทิไว้ (http://www.geocities.com/thaiganesh/s08.html)
             ด้วยเหตุดังกล่าวการที่คนร้ายได้เข้าทำลายรูปประติมากรรมโคนนทิบริเวณใบหน้า อันเป็นวิธีการทำให้เทวรูปเสื่อมฤทธิ์ ย่อมหมายถึงการทำลายสัญลักษณ์ของเทพเจ้าที่ได้แสดงต่อมวลมนุษย์ให้สิ้นไป และเป็นการทำลายหัวหน้าของเทพบริวารให้สิ้นอำนาจลง
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:45

 ๑.๔   ศิวลึงค์ถูกคนร้ายยกออกจากฐานโยนี  และทุบฐานถลอก ทั้งนำลงไปในรางน้ำมนต์ห่างจากฐานประมาณ ๑ เมตร   

ภาพศิวลึงค์ประดิษฐานภายในปราสาทประธาน
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki

   เมื่อคนร้ายได้ทำลายประติมากรรมรูปโคนนทิ สันนิษฐานว่าคนร้ายได้เข้าไปเคลื่อนย้ายศิวลึงค์จากฐานโยนีและทุบบริเวณฐานศิวลึงค์ ก่อนนำไปทิ้งในรางน้ำมนต์ อาจวิเคราะห์ความหมายได้ดังนี้

      ก.   การยกศิวลึงค์ออกจากฐานโยนี

   ศิวลึงค์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นตัวแทนของเทพเจ้า โดยเฉพาะในวัฒนธรรมขอมยังมีความหมายถึงบุรพกษัตริย์ด้วย อย่างไรก็ตามแม้ศิวลึงค์จะศักดิ์สิทธิ์เพียงใด การบูชาศิวลึงค์จะไม่ทำการบูชาศิวลึงค์เพียงอย่างเดียว หากต้องบูชาควบคู่กับโยนี กล่าวคือ ศิวลึงค์ที่ทำการบูชาจะต้องประดิษฐานอยู่ในฐานโยนี โดยให้ส่วนบนสุดที่โค้งมนเรียกว่า “รุทรภาค” จะอยู่พ้นฐานโยนีออกมา (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๘๘)
    การปฏิบัติดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากแนวคิดบูชาสตรีเพศ ของชาวพื้นเมืองในอินเดียก่อนที่ศาสนาฮินดูจะเข้ามา ซึ่งเมื่อเข้ามาผสมผสานกับศาสนาฮินดู เรียกว่า นิกายศากตะ ซึ่งนิกายศากตะ เกิดขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ (พิริยะ ไกรฤกษ์ ๒๕๔๔: ๑๔๒ - ๑๔๓) โดยมีความเชื่อว่า “ศักติ” อันแปลว่า พลังกระตุ้น เป็นที่มาของชีวิต ควบคุมและจัดระเบียบจักรวาล โดย “ศักติ” คือ ส่วนที่เป็นสตรีเพศที่อยู่ในเทพ มนุษย์และสัตว์ที่เป็นบุรุษเพศ ทั้งหมายรวมถึงอวัยวะเพศหญิงที่บูชาโดยพวกที่นับถือลัทธิศากตะ
   เมื่อลัทธิศากตะได้เข้ามามีบทบาทในศาสนาฮินดู พัฒนาเป็นความเชื่อในการบูชาเทพี และเชื่อว่าเทพีมีอำนาจมากทั้งเป็นพละกำลังของเทพ เทพจะทำการสร้างโลกได้ต่อเมื่อเทพีช่วย หากขาดเทพีอันเป็นส่วนหนึ่งของพลังและอำนาจของเทพแล้ว เทพจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย (ผาสุข อินทราวุธ: ๒๕๒๒: ๒๖ - ๒๗) โดยลัทธิศากตะเป็นที่เคารพบูชาในกัมพูชาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ (พิริยะ ไกรฤกษ์ ๒๕๔๔: ๑๔๒ - ๑๔๓)
   นอกจากนี้การบูชาศิวะลึงค์และโยนีโดยประดิษฐานไว้ร่วมกัน ยังแฝงแนวความคิดดังเดิมของชาวขอม คือ ชาวขอมยึดมั่นในการให้ความสำคัญของเพศหญิงและเพศชาย และผนวกเพศทั้งสองให้มีคุณลักษณะเพียงหนึ่งเดียว โดยเพศชายเรียกว่า “บา” ส่วนเพศหญิงเรียกว่า “เม” (ภูมิจิต เรืองเดช, ผู้แปล ๒๕๔๘: ๓๓)
   เมื่อทั้งสองรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วย่อมแสดงถึงความไม่ตาย และเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของมนุษย์โลก รวมถึงความสงบสุของสังคม บ้านเมือง และจักรวาล (ภูมิจิต เรืองเดช, ผู้แปล ๒๕๔๘: ๑๓๘) ภายหลังชาวขอมได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดู จึงได้ใช้ศิวะลึงค์และโยนีเป็นสัญลักษณ์ของ “บา” และ “เม” ตามลำดับ
   ด้วยเหตุดังกล่าว การยกศิวลึงค์ออกจากฐานโยนี เป็นสัญลักษณ์ของการแยกเทพออกจากเทพี ทำให้เทพหมดซึ่งอำนาจทั้งไม่อาจทำอะไรได้ และหากพิจารณาตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวขอม การแยกศิวลึงค์และโยนีออกจากกันยังหมายถึงการทำลายความเป็นอมตะ และความสงบสุขของบ้านเมือง
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:47

ข.   การทุบฐานศิวลึงค์   

                แนวคิดในการสร้างศิวลึงค์ มีพื้นฐานมาจากความเชื่อสองประการ ประการแรก มาจากความเชื่อว่าศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ประการที่สองมาจากความเชื่อลัทธิเทวราชา ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
   ประการแรก ตามแนวความคิดของศาสนาฮินดู ศิวลึงค์ เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระศิวะ ซึ่งยกย่องว่ามีความสำคัญกว่ารูปเคารพที่ทำเป็นประติมากรรมรูปมนุษย์ กล่าวคือ ศิวลึงค์จะทำการประดิษฐานอยู่เป็นประธานในเทวาลัย ขณะที่รูปเคารพจะประดิษฐานอยู่ตามมุมต่างๆในเทวาลัย โดยทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบเท่านั้น (ผาสุข อินทราวุธ ม.ป.พ.: ๖๖) โดยนิกายที่นิยมสร้างศิวลึงค์เพื่อบูชา คือ ผู้บูชาพระศิวะในนิกายปาศุปัต (พิริยะ ไกรฤกษ์ ๒๕๔๔: ๑๔๑ - ๑๔๒)
             การสร้างศิวลึงค์หากสร้างโดยมนุษย์จะเรียกว่า “มานุษ” คือ ลึงค์ที่สร้างโดยมนุษย์ ซึ่งสร้างตามหลักเกณ์ที่วางไว้ (ผาสุข อินทราวุธ: ๒๕๒๒: ๔๑) โดยส่วนล่างสุดเป็นรูปเป็นสี่เหลี่ยมเรียก พรหมภาค คือ พระพรหม อันเป็นผู้สร้าง ตอนกลางเป็นทรงแปดเหลี่ยมเรียก วิษณุภาค หมายถึงพระนารายณ์ คือ ผู้รักษา และตอนบนทรงกลมเรียก รุทรภาค หมายถึง พระศิวะ คือ ผู้ทำลาย (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๘๖ – ๑๘๗)
             บางครั้งส่วนบนสุดของลึงค์อาจแกะสลักพระพักตร์ของเทพเจ้า อาจสร้างเพียงพระพักตร์เดียวหรือหลายพระพักตร์ เรียกว่าส่วนมุขลึงค์ (ผาสุข อินทราวุธ: ๒๕๒๒: ๔๑) การสร้างศิวลึงค์ให้มี ๓ ส่วนโดยมีความหมายถึงเทพเจ้าทั้งสามองค์ หมายถึงการบูชาเทพเจ้าทั้ง ๓ ผู้เป็นหนึ่งดียวกันเรียกว่า “ตรีมูรติ” (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๘๖) อย่างไรก็ตามถือว่าศิวลึงค์เป็นตัวแทนแห่งพระศิวะโดยเฉพาะ และในกรณีของศิวลึงค์ที่ประดิษฐานภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ศิวลึงค์มีความหมายแทนองค์พระศิวะเป็นสำคัญ โดยพิจารณาจากศิลปะภายในเป็นเทวสถานซึ่งเป็นรูปแบบของลัทธิไศวนิกาย และพิจารณาจากจารึกที่กล่าวถึงการนับถือไศวนิกาย (เทพรัตนราชสุดาฯ ๒๕๒๑: ๑๕๖ – ๑๕๗)
   ประการที่สอง ในวัฒนธรรมขอมโบราณซึ่งเชื่อในลัทธิบูชาบุคคล รูปสลักต่างๆทั้งในภาพของบุคคล ตลอดจนลึงค์ที่เนื่องในลัทธินี้ อาจถูกสร้างเพื่อแทนบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว หรือสร้างเพื่อบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่  (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖: ๓๙ - ๔๐)  กล่าวคือ ในกรณีที่สร้างรูปสลักเพื่อผู้วายชนม์ ผู้สร้างจะอุทิศรูปสลักให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือของตนเอง และจะทำการปลูกฝังชีวิตให้กับรูปสลัก เมื่อบุคคลที่อุทิศรูปสลักดังกล่าวให้สิ้นชีพ โดยเชื่อว่าดวงวิญญาณจะเข้าไปสถิตรวมอยู่ในรูปสลักที่ทำเป็นรูปลักษณ์ของเทพ ดุจดั่งการเข้าไปหล่อมรวมกับพระเป็นเจ้า ดังนั้นผู้วายชนม์จะได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้า และผู้ที่มีชีวิตอยู่จะทำการบูชารูปสลักสืบไป (ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖: ๔๘ - ๔๙)
   ในกรณีที่สร้างรูปสลักแทนบุคคลยังมีชีวิตอยู่ ผู้สร้างอาจสร้างรูปสลักของเทพเจ้า ตามรูปลักษณ์ของตน หรือถวายนามรูปสลักตามชื่อของตนผสมผสานกับพระนามของเทพเจ้า เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าตนเป็นหนึ่งเดียวกับเทพ และเป็นส่วนหนึ่งของเทพที่แบ่งภาคมาบนพื้นพิภพ(ปราณี วงศ์เทศ, ผู้แปล ๒๕๔๖: ๓๙ - ๔๐)
   ด้วยเหตุนี้ความหมายในการสร้างรูปสลักของเทพเจ้า จึงมิใช่สร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเทพเจ้าตามอุดมคติแต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นเสมือนตัวแทนบุคคลที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ผู้เข้าไปสถิตรวมกับเหล่าทวยเทพนั้นๆ ตลอดจนเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ที่ยังดำรงค์พระชนม์ชีพอยู่ในฐานะของเทพเจ้าที่แบ่งภาคมาบนพิ้นพิภพ
การสร้างศิวลึงค์ในปราสาทหินเขาพนมรุ้งอาศัยความคิดดังกล่าวเช่นกัน เห็นได้จากการพบจารึกที่เปรียบเทียบผู้สร้างปราสาทหินเขาพนมรุ้ง คือ พระเจ้านเรนทราทิตย์ ว่าพระองค์ดุจดั่งพระศิวะ สร้างรูปเหมือนของพระองค์แทนพระศิวะ (เทพรัตนราชสุดาฯ ๒๕๒๑: ๑๕๗ - ๑๕๘) ตลอดจนกล่าวว่าพระองค์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับศิวะลึงค์ (เทพรัตนราชสุดาฯ ๒๕๒๑: ๑๓๖)
   ดังนั้นการที่คนร้ายได้เข้าทำลายศิวลึงค์ จึงเป็นสัญลักษณ์ในการทำลายเทพเจ้า เหล่าดวงพระวิญญาณบูรพกษัตริย์ที่รวมเป็นหนึ่งกับพระศิวะ ตลอดจนพระมหากษัตริย์ที่ยังดำรงค์พระชนม์อยู่ นอกจากนี้การทุบส่วนฐานซึ่งเป็นส่วนที่หมายถึงพระพรหมซึ่งเป็นผู้สร้าง อาจหมายถึงการทำลายอำนาจในการสร้างสรรค์ของเทพเจ้าก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:49


         
                               ค.   การนำศิวลึงค์ไปวางไว้ในรางน้ำมนต์
 
   การที่คนร้ายได้เคลื่อนย้ายศิวลึงค์ไปไว้ ณ รางน้ำมนต์ หรือท่อโสมสูตร เมื่อพิจารณาจะเห็นว่ารางน้ำมนต์แม้จะอยู่ทิศเหนือของปราสาท (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๖๔) หากแต่ตำแหน่งการวางจะอยู่ในทิศที่ต่ำกว่าตำแหน่งฐานโยนี เพราะรางน้ำมนต์ต้องรองรับน้ำจากฐานโยนีจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา กล่าวคือ นักบวชจะรดน้ำมนต์ลงบนศิวลึงค์ และน้ำดังกล่าวจะไหลไปจากฐานโยนีสู่ท่อโสมสูตรและออกไปภายนอก (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ๒๕๔๙: ๑๘๘) จึงถือว่ารางน้ำมนต์อยู่ในทิศที่ต่ำกว่า
   การนำศิวลึงค์ไปวางไว้ทิศที่ต่ำกว่าฐานโยนี พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความเชื่อการทำลายพลังอำนาจศักดิ์ของบุรุษ โดยการให้สตรีอยู่ในทิศเบื้องสูงกว่า อันเป็นผลมาจากกความเชื่อด้านเพศสภาพในศาสนาฮินดูที่มองว่าสตรีเป็นเพศที่ต่ำกว่า และมีความสกปรก (ปรีชา ช้างขวัญยืน ๒๕๔๑: ๓๗) และความเชื่อที่ว่าสรีระของสตรีมีความเกี่ยวพันกับอำนาจเหนือธรรมชาติ อาจทำลายเวทมนต์คาถาให้เสื่อมลงได้ (ปฐม หงษ์สุวรรณ ๒๕๕๐: ๒๖๓ - ๒๖๔)
   ดังนั้นหากนำสตรีไว้ในตำแหน่งที่สูงกว่าบุรุษ ย่อมทำให้เกิดความอัปมงคล และทำลายอำนาจต่างๆในตัวบุรุษ (ศ. ฐะปะนีย์ นาครทรรพ, บรรณาธิการ ๒๕๓๗: ๑๑๖ - ๑๑๗)
   ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทำการของคนร้ายเป็นการสะท้อนให้เห็นนัยยะของการทำลายอำนาจของศิวลึงค์ให้สิ้นไป มิใช่ต้องการเพียงทำร้าย และทำให้แสดงอำนาจมิได้เท่านั้น เนื่องจากการนำศิวลึงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของบุรุษเพศวางไว้ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าสัญลักษณ์ของสตรีเพศ ถือเป็นการทำลายอำนาจต่างๆของบุรุษเพศอย่างเด็ดขาด ซึ่งย่อมหมายรวมไปถึงเทพเจ้าและเหล่าบูรพกษัตริย์ที่ศิวลึงค์เป็นตัวแทนด้วย

      ๑.๕   การทำลายเศียรนาคราช

   ภายหลังจากทำลายประติมากรรมภายในปราสาท และรอบปราสาท สันนิษฐานว่าระหว่างที่คนร้ายได้ออกจากปราสาทหินเขาพนมรุ้ง คนร้ายได้ทำลายรูปสลักเศียรนาคราช  บริเวณสะพานนาคราช ช่วงชั้นที่ ๑ เศียรถูกทุบทำลายแตก ๖ ตัว เป็นของเก่าดั้งเดิม ๔ ตัวและสร้างขึ้นมาใหม่ ๒ ตัว เศียรนาคราชบริเวณสะพานนาคราช ช่วงชั้นที่ ๒ และช่วงชั้นที่ ๓ ถูกทุบทำลายแห่งละ ๓ ตัว (http://hilight.kapook.com/view/24144) โดยใช้มือของทวารบาลเป็นเครื่องมือในการทุบทำลาย
บริเวณสะพานนาคราช เป็นชาลายกพื้นอยู่ด้านหน้าโคปุระ ซึ่งเชื่อมต่อกับทางเดิน ชาลายกพื้นมีราวเป็นลำตัวพญานาค มีผังเป็นรูปกากบาท สาเหตุที่ใช้นาคในการทำรูปราวบันไดสามารถอธิบายได้ว่า  เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครองศาสนสถาน เนื่องจากตามความคิดของชาวขอมโบราณที่เชื่อว่างูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มีความเป็นอมตะ จึงอำนาจปกป้องคุ้มครองสถานที่ให้ปลอดภัยและยืนยงชั่วกาล (ภูมิจิต เรืองเดช, ผู้แปล ๒๕๔๘: ๓๔)
สะพานนาคราชเป็นสัญลักษณ์ของสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า ด้วยคนโบราณเชื่อว่าสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างโลกและสวรรค์ คือ สายรุ้งที่ทอดยาวจากฟากฟ้าลงมาสู่โลก และสายรุ้งจะถูกนำไปเปรียบกับพญานาคราช (รุ่งโรจน์ กรรมรุ่งเรือง, ๒๕๔๘: ๔๒ - ๔๓) จึงนิยมสร้างสะพานโดยใช้รูปนาคเป็นราวบันได เพื่อแสดงให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ (สุภัทรดิศ ดิศกุล, ผู้แปล ๒๕๔๖: ๑๑๓)



การทำลายเศียรนาคราช
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki

                ดังนั้นการที่คนร้ายได้เข้าทำลายสะพานนาคราชทั้งในช่วงชั้นที่ ๑ และช่วงชั้นที่ ๒ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนร้ายมีจุดประสงค์ที่จะทำลายการคุ้มครองศาสนาสถานให้หมดสิ้นไป และเสื่อมอำนาจตลอดกาล ทั้งทำลายการเชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ ตลอดจนทำลายการติดต่อระหว่างบุคคลกับเทพเจ้าให้ขาดลงไป ซึ่งตามแนวความคิดเทวราชา อาจหมายรวมถึงการติดต่อระหว่างพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมุตติเทพ กับประชาชนได้เช่นกัน
จากการวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของประติมากรรมที่คนร้ายได้เลือกทำลาย อาจแสดงให้เห็นว่าคนร้ายมีวัตถุประสงค์ทางไสยศาสตร์ โดยต้องการทำลายอำนาจของเทพเจ้า และพระมหากษัตริย์อันเป็นตัวแทนของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ให้สูญสิ้นไป รวมไปถึงทำลายเหล่าเทพบริวารที่ทำหน้าที่คุ้มครองเทพเจ้า ตลอดจนตัดขาดการเชื่อมโยงระหว่างสวรรค์กับโลก มนุษย์และเทพ ส่งผลให้ความกลมกลืนที่เคยมีอยู่หมดสิ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่บ้านเมือง โดยผู้ทำลายสิ่งต่างๆคือผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องเดิมนั้นเอง

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:50

๒.   ลำดับการ ห้วงเวลา และการเลือกสถานที่ในการกระทำการ   

                 นอกจากการทำลายสิ่งก่อสร้าง และประติมากรรมต่างๆภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้งจะสะท้อนให้เห็นจุดประสงค์ของกลุ่มคนร้าย ลำดับการทำลาย ช่วงเวลา ตลอดจนการเลือกปราสาทหินเขาพนมรุ้งในกการกระทำการยังสะท้อนให้เห็นถึงจุดประสงค์ของคนร้ายได้ดีเช่นกัน

      ๒.๑   ลำดับการกระทำการ   

                  การทำลายประติมากรรมต่างๆภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ล้วนเป็นการทำลายเป็นลำดับจากด้านซ้ายตามเข็มนาฬิกาแทบทุบตัว ซึ่งการกระทำดังกล่าว คือ การเวียนซ้าย หรือเวียนแบบอุตตรวัตร
   การเวียนรอบสิ่งต่างๆจะมีสองประเภท คือ เวียนรอบโดยเวียนให้ทางขวาแก่สิ่งที่เวียนเรียกว่า “ทักษิณาวัตร” เป็นการเวียนแบบมงคล ถือเป็นการให้เกียรติแก่สิ่งที่เวียน ทั้งยังนำความสุขความเจริญมาให้แก่สิ่งที่เวียนด้วย ส่วนการเวียนอีกประเภทหนึ่งคือการเวียนซ้ายให้แก่สิ่งที่เวียนเรียกว่า “อุตราวัตร” เป็นการเวียนแบบอัปมงคล เป็นการลบหลู่สิ่งที่เวียน หรือนำมาซึ่งความโชคร้าย ใช้ในงานอวมงคลเท่านั้น (เสฐียรโกเศศ ๒๕๓๑: ๑๔๓ - ๑๔๕)
ดังนั้นอาจบ่งให้เห็นจุดประสงค์ของผู้กระทำที่ต้องการกระทำการอันส่งผลในแง่ลบ จึงได้ลงมือกระทำการโดยใช้สัญลักษณ์ทางอวมงคล คือ การเวียนซ้ายในการกระทำการ

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:52

๒.๒   ช่วงเวลาในการกระทำการ

   คนร้ายได้เข้าทำลายปราสาทหินเขาพนมรุ้งในวันจันทร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยสันนิษฐานว่ากระทำในช่วงเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ นาฬิกา วันดังกล่าวนอกจากตรงกับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หากพิจารณาในศาสนาฮินดูแล้ว วันดังกล่าวยังเป็นวันที่ทำพิธีบูชาพระศิวะเช่นกัน
               วันที่กระทำการบูชาพระศิวะมีหลายวัน แต่วันที่คนได้กระทำการตรงกับวัน “นิตยศิวาราตรี” อันเป็นวันที่ทำการสักการะบูชาองค์พระศิวะ โดยกระทำเฉพาะในวันจันทร์ที่เป็นวันข้างขึ้นของทุก ๆ เดือนตลอดปี กล่าวคือผู้บูชาสามารถเลือกบูชาในวันใดก็ได้ตลอดทั้งปี ขอเพียงเป็นวันจันทร์ข้างขึ้นเท่านั้น (http://www.geocities.com/thaiganesh/s08.html)
            นอกจากวันที่คนร้ายกระทำการจะตรงกับวันกระทำบูชาพระศิวะแล้ว เมื่อพิจารณาในแง่โหราศาสตร์ไทย ทั้งวันและเวลาดังกล่าว คือ วันจันทร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด ตั้งแต่เวลา๐๐.๐๐ – ๒๔.๐๐ นาฬิกา ถือเป็น “เพชฌฆาตฤกษ์” (http://www.mahamodo.com)
ซึ่งฤกษ์ดังกล่าวเป็นฤกษ์ค่อนข้างร้าย จะไม่ให้ฤกษ์ดังกล่าวเพื่อกระทำกับงานมงคลเด็ดขาด แต่จะให้ฤกษ์เพื่อกระทำการเกี่ยวกับการต่อสู้เท่านั้น (ศ. ดุสิต ๒๕๔๘: ๒๖)
   ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากวันและเวลาในการกระทำการอาจสันนิษฐานได้ว่า คนร้ายมีจุดประสงค์เพื่อการทำลายโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาว่าเหตุใดที่คนร้ายได้กระทำการในวันที่เป็นวันที่ทำพิธีบูชาพระศิวะ สันนิษฐานอาจเป็นกระทำการเพื่อแสดงว่าไม่ต้องการเคารพเทพดังกล่าวอีกต่อไป
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:53

๒.๓   การเลือกสถานที่ในการกระทำการ

   การเลือกทำลายปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ทั้งที่ประเทศไทยมีปราสาทหินอีกหลายแห่ง และปราสาทหินบางแห่งมีความเก่าแก่กว่า และมีขนาดใหญ่กว่า ดังปราสาทหินพิมายเป็นต้น (ธิดา สาระยา ๒๕๔๑: ๑๓) สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากลักษณะเฉพาะของปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
               ปราสาทหินจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พบว่าจำนวน ๑ ใน ๓ มีการวางแปลนให้ตัวปราสาทหันหน้าไปทางตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ และจำนวน ๒ ใน ๑๐ จะหันหน้าหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยด้วยมุมกวาด ๘๔.๕ องศา จากทิศเหนือ (Azimuth 84.5)(http://www.muangboranjournal.com)
            ตัวปราสาทพนมรุ้งอยู่ในข่ายหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย  ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นและตก ตรงกับประตูทั้ง ๑๕ ช่อง รวมทั้งหมดมีจำนวน ๔ ครั้งต่อปี (http://www.yclsakhon.com/index.) โดยปรากฎการณ์ทั้งหมดเกิดก่อนวันวิษุวัต (Equinox) เป็นจำนวน ๑๔ วัน และหลังวันวิษุวัติ ๑๔ วัน (http://www.muangboranjournal.com)
            ทั้งนี้วัน “วิษุวัต” เป็นวันเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน โดยวันวิษุวัตเกิดขึ้นสองครั้งในหนึ่งปี คือ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม เรียกว่าวัน “วสันตวิษุวัต” (Vernal Equinox) และวันที่ ๒๓ กันยายน เรียกว่าวัน “ศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) (ไพเสริฐ ธรรมมานุธรรม ๒๕๔๘: ๓๗ - ๓๘) เมื่อรวมรอบห่างของการเกิดปรากฏการณ์แต่ละครั้งโดยนับวันวิษุวัตเป็นแกนกลางรวมเป็นเวลา ๒๙ วัน
               การวางตัวดังกล่าวอาจสันนิษฐาน ว่าเป็นการวางทิศทางเพื่อให้ดวงอาทิตย์ที่ขึ้นครั้งแรกในวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของชาวฮินดูในภาคใต้ของอินเดียได้สาดส่องเข้ามากระทบกับศิวลึงค์ภายในปราสาท
               เดือนทางจันทรคติของชาวฮินดูจะแตกต่างกับเดือนตามปฏิทินเกรเกอเลียน เนื่องจากการกำหนดเดือนในปัจจุบันจะยึดถือตามเกณฑ์สุริยคติเป็นหลัก หากเดือนทางจันทรคติ จะกำหนดจากการที่ดวงจันทร์ได้ปรากฏเต็มดวงในหมู่ดาวฤกษ์ตามแนวคิดของฮินดู หมู่ดาวฤกษ์ดังกล่าวจะมีจำนวน ๒๗ กลุ่ม แต่พระจันทร์จะปรากฎเต็มดวงเพียง ๑๒ กลุ่มเท่านั้น(ล้อม เพ็งแก้ว ๒๕๔๕: ๒๙ - ๓๑) โดยแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันประมาณ ๒๙ วันครึ่ง ซึ่งวิธีกำหนดดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในตำราโหราศาสตร์ไทยในทุกวัน (ล้อม เพ็งแก้ว ๒๕๔๕: ๔๗) วันแรกของเดือนจะมีวิธีการนับสองระบบ คือนับจากการที่พระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกภายหลังวันที่พระจันทร์เต็มดวง หรือภายหลังจากพระจันทร์ขึ้นหนึ่งค่ำ (http://www.sanskrit.org/www/Astronomy/Hindutimeeras.html) แต่ละเดือนจะแบ่งเป็น ๒ ช่วง แต่ละช่วงเรียกว่า “ปักษ์” โดยนับจากวันข้างขึ้น นับแต่ขึ้น ๑ ค่ำถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เรียกว่า “ชุณหปักษ์” หรือ “ศุกรปักษ์” และนับจากวันข้างแรมตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ ถึงแรม ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ ตามแต่ว่าเดือนดังกล่าวจะมีกี่วัน เรียกกว่า “กาฬปักษ์” (ล้อม เพ็งแก้ว ๒๕๔๕: ๔๘)
             เดือนแรกของปีตามปฏิทินจันทรคติของฮินดูจะนับที่เดือนจิตรา หรือเรียกว่า “จิตรามาศ” ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน เหตุที่นับที่เดือนจิตราเป็นเดือนแรก เนื่องจากการคำนวณเดือนทางจันทรคติจะพิจารณาเดือนทางสุริยะคติร่วมด้วย กล่าวคือ จากปฏิทินสุริยะคติ ช่วงที่ดวงอาทิตย์เข้าสู่ราษีเมษ และเป็นวันที่กลางวันกลางคืนเท่ากันครั้งแรก นับเป็นว่าเป็นวันปีใหม่เนื่องจากดวงอาทิตย์เดินทางครบรอบหนึ่งปี เดือนจิตราจะอยู่ใกล้กับช่วงดังกล่าว จึงถือว่าเดือนจิตราเป็นเดือนแรกของปี (http://en.wikipedia.org/wiki/Chaitra) โดยในแถบภาคใต้ของอินเดีย จะถือว่าวันแรกของเดือนจิตราเป็นวันขึ้นปีใหม่ เรียกว่าวัน “อูกาดี” (Ugadi) อันแปลว่าวันเริ่มต้นแห่งยุค (http://en.wikipedia.org/wiki/Ugadi)
   อย่างไรก็ตามวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากันครั้งแรก ปัจจุบันมิได้อยู่ในราษีเมษอีกต่อไปเนื่องจากการบิดผันของแกนโลก โดยวันดังกล่าวจะอยู่ในอยู่ในช่วงราษีมีน (ไพเสริฐ ธรรมมานุธรรม ๒๕๔๘: ๓๗ - ๓๘) อย่างไรก็ตามการคำนวณทางโหราศาสตร์ทางฮินดู ยังถือว่าวันดังกล่าวอยู่ในราษีเมษ กล่าวคือ ยังคงยึดตามช่วงเวลาเมื่อสองพันกว่าปีก่อนเมื่อจุดที่กลางวันและกลางคืนเท่ากันปรากฏครั้งแรกในราษีเมษ (http://prints.iiap.res.in/handle/2248/1315) แม้จะทราบถึงความแตกต่างดังกล่าวก็ตาม (http://en.wikipedia.org/wiki/Chaitra)
   จากแนวความคิดทางดาราศาสตร์ของชาวฮินดูโบราณข้างต้น และการรับวัฒนธรรมจากภาคใต้ของอินเดียของชาวเขมร (นิภัทรพร เพ็งแก้ว ๒๕๓๘: ๔๒) อาจทำให้ผู้สร้างปราสาทหินเขาพนมรุ้งนำมาใช้ในการสร้างปราสาท กล่าวคือ ผู้สร้างได้หันทิศทางไปยังทิศที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบจันทรคติของอินเดียใต้ คือ วันที่พระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกหลักจากวันที่พระจันทร์ปรากฏข้างขึ้นครั้งแรกของเดือนจิตรา
เหตุที่นับซึ่งจากวันที่พระจันทร์ปรากฏข้างขึ้นครั้งแรก สันนิษฐานจากการบันทึกของจารึกเขมรระบุวันเดือนปีโดยนับจากข้างขึ้นก่อนวันวิษุวัต(http://www.muangboranjournal.com)
            เนื่องจากวันตามระบบจันทรคติที่ใช้พระจันทร์เป็นตัวกำหนดคลาดเคลื่อนง่าย ดังนั้นผู้สร้างจึงใช้ระบบปฏิทินแบบสุริยะคติที่ใช้พระอาทิตย์เป็นตัวกำหนดที่คลาดเคลื่อนยากกว่า เข้ามาผสมผสานเพื่อการง่ายต่อการสังเกต โดยกำหนดให้วันปีใหม่ตามปฏิทินสุริยะคติอันได้แก่วันวิษุวัตเป็นแกนกลาง และให้วันที่ประอาทิตย์ขึ้นและตกตรงประตูทั้ง ๑๕ ช่องประตูของปราสาท เกิดก่อนและหลังวันดังกล่าวรวมเป็นจำนวน ๒๙ วัน อันใกล้เคียงกับจำนวนวันของเดือนตามปฏิทินจันทรคติที่มี ๒๙ วันครึ่ง ทั้งเกิดก่อนและหลังวันวิษุวัตครั้งละ ๑๔ วัน ตรงตามจำนวนปักษ์ ๒ ปักษ์ของเดือนทางจันทรคติ
   ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่าการสร้างปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ผู้สร้างต้องการสร้างปราสาทให้หันหน้าไปยังทิศทางที่รับแสงแรกของของวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ และหากนับตามแนวคิดดั้งเดิมของฮินดูที่ถือว่าวันวิษุวัตเป็นการที่พระอาทิตย์เคลื่อนที่เข้าสู่ราษีเมษ ตัวปราสาทจะหันหน้าไปในทิศที่พระอาทิตย์อยู่ในราศีมีนและภายหลังเคลื่อนเข้าสู่ราษีเมษตามลำดับ โดยช่วง ๑๔ แรกก่อนวันวิษุวัตพระอาทิตย์จะอยู่ในราศีมีน และในช่วง ๑๔ วันภายหลังวันวิษุวัต พระอาทิตย์จะอยู่ราษีเมษ
ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงทิศทางแกนหลักที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้งหันหน้า กับทิศทางการวางตัวของปราสาทอื่นๆ อาทิ ปราสาทหินพิมาย หรือปราสาทตาเหมือนธมที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ปราสาทเขาพระวิหารที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ และปราสาทนครวัดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (นงคราญ สุขสม ๒๕๔๖: ๑๒๗)
การที่ปราสาทหินต่างๆหันหน้าไปยังทิศที่แตกต่างกัน อาจสันนิษฐานได้ว่า หมายถึง “ดวง” ของปราสาทแต่ละแห่งต่างกัน กล่าวคือ ปราสาทหินเขาพนมรุ้งมี “ดวง” เหมือนบุคคลแต่ละคนที่มีดวงของตนเอง โดยผูกดวงมาจากการคำนวณจากลัคนาวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก เป็นต้น แต่ดวงของปราสาทหินแต่ละหลังอาจขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ อาทิ ตำแหน่งที่ตั้ง ชัยภูมิ และสภาพแวดล้อม เป็นต้น คล้ายกับการปลูกสร้างบ้าน ส่งผลให้ปราสาทแต่ละหลังมีแนวแกนทิศหลักของประตูทางเข้าด้านหน้าต่างกันต่างกัน

 
ภาพถ่ายทางอากาศปราสาทหินเขาพนมุร้ง
ที่มา: http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=524998

                  ดวงของปราสาทหินเขาพนมรุ้งอาจมีดวงแตกต่างกับดวงของปราสาทอื่นๆ (นงคราญ สุขสม ๒๕๔๖: ๑๒๗) ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทหินเขาพนมรุ้งอาจมีลัคนาอยู่ในราศีเมษ เนื่องจาก “ลัคนา” มีความหมายว่า “ราศีที่ปรากฏขึ้นที่ขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกในเวลาที่เจ้าชะตาเกิด” (วรกฤต ๒๕๕๐: ๑๕) ตัวปราสาทหินเขาพนมรุ้งแม้จะมีปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกตรง ๑๕ ช่องประตูปีละ ๔ ครั้ง แต่การที่พระอาทิตย์ขึ้นตรง ๑๕ ช่องประตูครั้งแรก หากถือตามแนวคิดฮินดูโบราณดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่อยู่ในราษีเมษ ดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่าปราสาทหินเขาพนมรุ้งมีลัคนาอยู่ในราศีเมษ โดยนับจากการที่พระอาทิตย์ขึ้นตรง ๑๕ ช่องประตูครั้งแรกของปีจะเกิดเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราษีเมษแล้ว
                     หากปราสาทหินเขาพนมรุ้งได้รับการก่อสร้างโดยถือว่ามีลัคนาอยู่ในราศีเมษจริง การที่คนร้ายได้เขาไปทำลายสิ่งก่อสร้างภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง อาจเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีลัคนาอยู่ในราศีเมษ
                         ทั้งพิจารณาประกอบกับการทำลายชิ้นส่วนประติมากรรมต่างๆที่ถูกทำลาย ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า ประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์ จึงอาจสันนิษฐานสืบต่อไปว่า การที่คนร้ายกระทำการต่างๆ อาจเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า คนร้ายมีวัตถุประสงค์กระทำต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงมากกว่ากระทำเฉพาะตัวบุคคล
                       เมื่อนำดวงชะตาประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้งตั้งอยู่มาพิจารณา พบว่าประเทศไทยมีลัคนาสถิตอยู่ในราษีเมษ (จำรัส ปัทมสูตร ๒๕๓๗: ๕๔๓) ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสัญลักษณ์ต่างๆในสิ่งก่อสร้าง ห้วงเวลา และสถานที่ ในการกระทำการของคนร้าย อาจสันนิษฐานได้ว่าได้ว่าคนร้ายอาจมีจุดประสงค์ทำลายเพื่อทำลายประเทศไทย ด้วยเหตุที่ว่าสัญลักษณ์ และสถานที่ต่างๆล้วนบ่งชี้ถึงประเทศไทยเป็นหลัก
                       ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงลำดับการ ห้วงเวลา และการเลือกสถานที่ในการกระทำการ อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้กระทำการมีจุดประสงค์เพื่อทำลายประเทศไทยโดยตรง
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 18:55

   
บทสรุป : อาฆาต

                     หากนำความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งก่อสร้าง และประติมากรรมาภายในที่ถูกคนร้ายทำลายมาพิจารณาร่วมกับลำดับการ ห้วงเวลา และการเลือกสถานที่ในการกระทำการ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นการกระทำการโดยหวังผลทางไสยศาสตร์ เนื่องจากพิจารณาวิธีการกระทำการของคนร้าย คนร้ายทำการทำลายอย่างเป็นระบบตามแนวคิดทางไสยศาสตร์อย่างละเอียดละออ ทั้งในด้านสิ่งของ ห้วงเวลา วิธีการ ตลอดจนสถานที่ที่เลือกกระทำการ มากกว่าการกระทำโดยสุ่มทำลาย หรือเพื่อเลียนแบบการกระทำทางไสยศาสตร์ให้ประชาชนตื่นกลัว
                    เมื่อวิเคราะห์ได้ว่าคนร้ายกระทำการตามแนวคิดทางไสยศาสตร์ จากข้อสันนิษฐานถึงจุดประสงค์ในการกระทำระหว่างการกระทำเพื่อหวังผลทางการเมือง กับการบูชาพระราหู สันนิฐานว่าการกระทำของคนร้ายคงมีจุดมุ่งหมายหวังผลทางการเมืองให้อีกฝ่ายล่มจม มากกว่าการบูชาพระราหู เนื่องจากประติมากรรมที่ถูกทำลาย มิใช่ประติมากรรมที่สร้างขึ้นมาในบริบทบูชาพระนารายณ์ซึ่งเป็นศัตรูกับพระราหู
                   ในทางตรงกันข้าม ประติมากรรมต่างๆภายในปราสาทหินเขาพนมรุ้งสร้างขึ้นมาในบริบทการบูชาพระศิวะ รวมไปถึงบูชาบูรพกษัตริย์ที่เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระศิวะ และกษัตริย์ที่ยังดำรงค์พระชนม์อยู่ซึ่งได้แบ่งภาคมาจากพระเป็นเจ้า นอกจากนี้ในภาพรวมสิ่งก่อสร้างและประติมากรรมทั้งหมดยังเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุขและเจริญของประเทศ ดังนั้นการทำลายดังกล่าวย่อมไม่ใช่การกระทำเพื่อบูชาพระราหูแต่อย่างใด หากกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อทำลายประเทศใดประเทศหนึ่งและทำลายเทพบนพื้นพิภพของประเทศนั้นๆ
                   สุดท้ายเมื่อพิจารณา “ดวง” ของปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่อาจมีลัคนาอยู่ในราศีเมษอันตรงกับลัคนาของดวงเมืองไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการที่คนร้ายเลือกทำลายปราสาทหินเขาพนมรุ้งในการทำลายเพราะปราสาทดังกล่าวเชื่อมโยงกับประเทศไทย ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าประเทศที่คนร้ายมีจุดมุ่งหมายจะทำลาย คือ ประเทศไทย
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงตัวคนร้าย คำถามที่ว่าบุคคลใดที่อาฆาตประเทศไทย ต้องการให้ประเทศไทยล่มจมถึงเพียงนี้ ประชาชนชาวทุกคนคงต้องพิจารณาด้วยตนเอง เนื่องจากระยะเวลาผ่านไปหนึ่งปี (เขียนเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒) หาได้มีการจับกุมคนร้ายแต่อย่างใดไม่ รวมถึงจากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าคนร้ายมีจุดประสงค์ทางไสยศาสตร์ แต่พิสูจน์ไสยศาสตร์จะมีจริงหรือไม่ และผลจากการกระทำทางไสยศาสตร์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และทุกวันนี้ประเทศไทยล่มจมหรือไม่ ประชาชนชาวไทยทุกคนคงต้องพิจารณาด้วยตนเองเช่นกัน
                   ทุกสิ่งทุกอย่าง...คงมีแต่คนไทยเท่านั้นที่ให้คำตอบได้


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 19:02

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นรอง

กมเลศวร ภัตตาจารย์. ศาสนาพราหมณ์ในอาณาขอม. แปลจาก Les Religions Brahmaniques dans
             l’ Ancien Cambodge apres l’ Epigraphie et l’ lconographie, โดย สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ..
             กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิฆเณศ.
กฤษณา พรพิบูลย์, “ความเชื่อ ศาสนา และศิลปะ,” เอกสารประกอบวิชาการสอนวิชา ป. ๓๔๕.
ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในไทย สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๐.
จำรัส ปัทมสูตร. วิทยาศาสตร์โหร: หลักความจริงทางดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ คนศาสตร์
               ธรรมชาติศึกษา และอุตุนิยมวิทยา. กรุงเทพฯ: เนติกุลการพิมพ์, ๒๕๓๗.
เซเดล์, ยอร์ช. เมืองพระนคร นครวัด นครธม. แปลจาก ANGKOR: An introduction,
           โดย ปรานี วงษ์เทศ.กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖.
ธิดา สารยา. นำเที่ยวปราสาทหินพิมาย. กรุงเทพฯ: สีดา, ๒๕๔๑.
นงคราญ สุขสม. “Unseen พนมรุ้ง,” ศิลปวัฒนธรรม: Art and Culture Magazine, ๒๔ (กันยายน,
           ๒๕๔๖) ๑๒๓ – ๑๒๗.
นุด นาราง. อองโกร์ นครน้ำ แหล่งกำเนิดอารยธรรมขแมร์. แปลจาก Kingdom of Cambodia:
           Nation – Religion – King. โดย ภูมิจิต เรืองเดช.บุรีรัมย์: โรงพิมพ์วินัย, ๒๕๔๘.
ปฐม หงษ์สุวรรณ. กาลครั้งหนึ่ง: ว่าด้วยตำนานกับวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง
             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐.
ปรานี วงษ์เทศ. เพศ และวัฒนธรรม: Gender and Culture.กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๔.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. สตรีในคัมภีร์ตะวันออก. กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์
             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี
             มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๒.
ผาสุข อินทราวุธ. ศาสนาฮินดูและประติมาณวิทยา. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย
            ศิลปากร, ๒๕๒๐.
พิริยะ ไกรฤกษ์. อารยธรรมไทย : พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม ๑ ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษ
           ที่ ๑๙. กรุงเทพ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๔๔.
ไพเสริฐ ธรรมมานุธรรม. ดาราศาสตร์ทั่วไป :  Astronomy. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง,
         ๒๕๔๘.
ไพเสริฐ ธรรมมานุธรรม. ดาราศาสตร์ทั่วไป (ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในชีวิตประจำวัน) :
         Grneral Astronomy. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๘.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย: ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์
           ศิลปะ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘.
ล้อม เพ็งแก้ว. ดาวประจำเมืองนคร. กรุงเทพฯ: สายธาร, ๒๕๔๕.
วรกฤต [สุวรรณี อุดมผล]. “ภูมิปัญญาในโหราศาสตร์,” วรรณวิทัศน์, ๗ (พฤศจิกายน, ๒๕๕๐)
        ๕ – ๓๘.
วรลักษณ์ พับบรรจง. คัมภีร์กำเนิดจักรวาลศาสตร์แห่งชีวิต. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ๒๕๔๕
วิไลเลขา ถาวรธนสาร และคณะ. พื้นฐานวัฒนธรรมไทย : Foundation of Thai Culture.
       กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๙.
ศ. ดุสิต [นามแฝง]. ขุมทรัพย์โหร. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘.
ศ. ฐะปะนีย์ นาครทรรพ. สุนทรภู่รอบรู้วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัทบพิธการพิมพ์, ๒๕๔๘.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.. ประวัติย่อศิลปะชวา ขอม. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๑๕.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว.. ปราสาทเขาพนมรุ้ง : ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย.
        กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๙
เสถียรโกเศศ [พระยาอนุมานราชธน] . ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต: การตาย. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง,
        ๒๕๒๑.

วิทยานิพนธ์

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. “ตำราดาว : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ :"Tamradao" a Thai astrological text : an
            anlytical study.”  วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๘. (อัดสำเนา)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง: The inscriptions
   found at Prasad Bnam Run (Prasat Phnom Rung).”วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ
   การศึกษาตามหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิต
   วิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๒๑. (อัดสำเนา)

ภาษาอังกฤษ

Apiwan Adulyapichet. Prasat Phnom Rung. Bangkok: Seeda, 2000.
Eleanor Mannikka, Angkor Wat: Time, Space, Kingship, Honolulu: University
              of Hawaii Press, 1996.


เว็ปไซด์

www.agalico.com/board/archive/index.php/t-18054.html - 10k -
http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=1250
http://www.geocities.com/thaiganesh/s08.html
http://hilight.kapook.com/view/24144
http://www.hindu-festivals.com/calendar.html
http://www.komchadluek.net/2008/05/21/x_main_a001_203464.php?news_id=203464
http://www.mahamodo.com
http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=160
http://www.phibul14-16.com/index.php?mo=3&art=144260
http://prints.iiap.res.in/handle/2248/1315
http://prints.iiap.res.in/handle/2248/3153
http://www.sanskrit.org/www/Astronomy/Hindutimeeras.html
http://www.thaiseoboard.com/index.php?topic=28746.0
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://en.wikipedia.org/wiki/Chaitra
http://en.wikipedia.org/wiki/Panchangam
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=524998
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538667652
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538640782
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=6

บันทึกการเข้า
pansa
อสุรผัด
*
ตอบ: 27



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 22:00

ขอบคุณที่เอามาให้อ่าน เพราะถ้าปล่อยเงียบไปคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสนใจหาความกระจ่าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ได้สูญเสียไปคือ ประติมากรรมเก่าที่ได้ถูกทำลายไปจริง ๆ เพราะความเชื่อของผู้กระทำ

เดี๋ยวว่าง ๆ จะอ่านให้ละเอียดถี่ด้วนอีกที
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.146 วินาที กับ 19 คำสั่ง