เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 17638 สนุกนิ์นึก ต้นและจบ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 01 ธ.ค. 09, 18:36

สืบเนื่องจากกระทู้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1616.0
ที่สนทนากันเมื่อ ๔ ปีก่อน

ดิฉันพบ"สนุกนิ์นึก" ที่ตัวเองเขียนต่อจนจบ จากพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ที่ทรงค้างเอาไว้ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๒๙
ส่วนที่แต่งต่อตอนจบ  แต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙  เมื่อมีประชุมทางวิชาการ ๑๐๐ ปีนวนิยายไทย  ระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคม-๑ สิงหาคม ๒๕๒๙  ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร 
จุดมุ่งหมายก็คือเพื่อจะดูว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยายกันแน่
ได้วิเคราะห์เอาไว้ท้ายเอกสารเมื่อเขียนต่อเรื่องนี้จนจบแล้ว   ถ้ามีสมาชิกอยากอ่านก็จะนำมาลงให้ภายหลัง

สนุกนิ์นึก ลงในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๙  ผู้แต่งคือพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคคณางค์  กรมหลวงพิชิตปรีชากร
เรื่องนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นของวรรณกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในยุคแรก แม้ว่ารูปแบบการเขียนยังเป็นแบบเก่า คือเล่าติดต่อกันไปเหมือน สามก๊ก และ ราชาธิราช ไม่มีการใช้เครื่องหมายคำพูด หรือการขึ้นบรรทัดใหม่เมื่อมีบทสนทนา ฯลฯ อย่างวิธีการเขียนนิยายปัจจุบัน แต่แนวคิดนั้นได้รับแนวตะวันตก คือแนวสัจนิยม (realism) มาอย่างเห็นได้ชัด

เนื้อเรื่องของ สนุกนึก บรรยายถึงพระสงฆ์หนุ่มๆ ๔ รูปพูดคุยกันว่าเมื่อสึกแล้วจะออกไปประกอบอาชีพต่างๆกัน เช่นทำราชการ และค้าขาย ผู้ที่ยังลังเลไม่สึกก็มีอุบาสิกาเตรียมมาจัดการให้สึกเพื่อจะเอาไปเป็นลูกเขย ข้อสำคัญคือฉากในเรื่องระบุว่าเป็นวัดบวรนิเวศ

ข้อนี้เอง เมื่อลงตีพิมพ์ก็เกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้น เพราะคนอ่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงเนื่องจากคนไทยยังไม่คุ้นกับกลวิธีการแต่งแบบสมจริงเช่นนี้ กลายเป็นเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆจนสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะนั้นทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศเดือดร้อนพระทัยว่าทำให้วัดมัวหมอง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกริ้วและกล่าวโทษกรมหลวงพิชิตปรีชากรพอประมาณแล้วก็ทรงไกล่เกลี่ยให้เรื่องยุติลงเพียงแค่นั้น เป็นอันว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯก็ไม่ติดพระทัยจะกล่าวถึงเรื่องนี้อีก ส่วน สนุกนิ์นึก ก็ค้างอยู่เพียงตอนแรก ทิ้งปัญหาไว้ให้นักวิชาการถกเถียงกันว่าเรื่องนี้เป็นนวนิยายหรือเรื่องสั้นกันแน่ และยังไม่มีคำตอบตายตัวมาจนปัจจุบัน

เพราะเหตุนี้ สนุกนิ์นึก จึงไม่จบ หลังจากนั้นแม้ไม่มีเหตุการณ์อื้อฉาวใดๆเกิดขึ้นอีก วชิรญาณวิเศษยังออกตีพิมพ์อยู่จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๓๗ เรื่องสั้นแนวอื่นแพร่หลายสืบต่อมาไม่ขาดสาย แต่เรื่องทำนองเดียวกับ สนุกนึก ไม่ได้ปรากฏออกมาอีกเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ธ.ค. 09, 18:41

เรื่อง สนุกนิ์นึก
พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าคคณางค์  กรมหลวงพิชิตปรีชากร


วันหนึ่งมีพระสงฆ์หนุ่ม ๔ รูป นั่งสนทนากันอยู่คั่นบันได น่าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศน์ ก่อนเวลาลงพระอุโบสถ พอเด็กมาบอกกับพระองค์ ๑ ว่า คุณแม่อินกลับมาแล้ว พระองค์นั้นตอบว่า เออ แล้วเด็กก็ไป
พระองค์ ๑ จึ่งถามว่า คุณสมบุญจะสึกเมื่อไร กำหนดแล้วฤายัง
พระสมบุญจึ่งตอบว่า ยังไม่แน่คอยโยมอินอยู่ พรุ่งนี้จะไปปฤกษาแกดูจึ่งจะตกลงได้ ก็คุณล่ะจะออกวันสิบสองค่ำนี้แน่ฤๅ สึกแล้วจะไปเข้าที่ไหน ทำอะไรบอกกันบ้างสินะ ผมเองนี่ยังลังเลที่สุด ไม่รู้ว่าเข้าที่ไหน
พระเข็มจึงตอบว่า คุณก็เหมือนกันและไปไหนไม่พ้นหละ อีก ๖ วัน ก็แต่งตัวแห่เสด็จฟ้อไปเมื่อวานซืนนี้อีก ผมก็ต้องขอสัญยามั่งน่ะเผื่อถูกดีไก่ฎีกาเข้าบ้าง และเป็นที่พึ่งบ้างนาขอรับ คุณเหลงอย่างไร ยิ้มไปทีเดียวกริ่มใจที่ได้เปรียบเพื่อน มะรืนนี้ละก็ ฮึฮึ อย่านะขอรับ เขาว่าถ้าใจยังไม่ขาดละยังเป็นปาราชิกได้นะขอรับ คุณพระครูท่านว่าอย่างนั้น จริง ๆ นะ
พระเหลงจึ่งว่า พูดอะไรอย่างนั้นผมนะเหลาสิตหลอก ว่าแต่คุณอีกจะลืมกัน ทำไมกับผมคนค้าขายมันก็ได้แค่พอกิน มีแต่ผมจะพึ่งคุณ เปนถ้อยร้อยความสาระพัด เอามาเรามาสบถกันเสียต่อหน้าพระก็ยังเอา ยังไรท่านเข็ม คนสมบุญว่าอย่างไรละ ฮะ เอา แหมละ
สบถไม่สบถมันก็เหมือนกัน คนที่มีใจซื่อถือสัตย์ด้วยกัน รักกันแล้วมันไม่ต้องสบถดอก (นี่ เปนคำพระสมบุญแลพูดต่อไปว่า) ที่จริงการรักกัน ชอบกันช่วยกันนี้เป็นประโยชน์มากเหมือนกับเกลียวเหนียวกว่าด้ายเส้น เรารู้จักเห็นใจกันทั้งนั้น ถ้าสึกหาออกไป ภายน่ามีทุกข์ศุขอย่างไร พอช่วยกันได้ต้องช่วยกันทั้ง ๔ คนเรานี้หละนะขอรับ
ดี ดี เอา เอา พร้อมกันว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ธ.ค. 09, 18:44

พอถึงเวลาลงโบสถ์ ก็พากันไปสวดในพระอุโบสถ คำพูดที่เล่ามาข้างต้นนี้  ผู้อ่านคงเข้าใจว่า พระสงฆ์ทั้ง ๔ คนนี้ จะสึกพรรษาเดียวพร้อมกัน แสดงเข้าใจกันว่าพระทรัพย์เปนคนอยู่ในกรมพระตำรวจ พระเข็มเปนเสมียนความ พระเหลงเปนลูกจีน แต่พระสมบุญนั้นได้ความแต่ว่าอาไศรยแม่อิน แต่ไม่รู้ว่าเปนคนอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องอธิบายกันน้อยหนึ่ง พระสมบุญนี้เป็นบุตรคนมีตระกูลแต่ตกยาก ด้วยติดมากับมารดาซึ่งต้องออกมาจากตระกูล แต่พระสมบุญยังเล็ก ๆ อยู่ มาบวชเณรอยู่วัด มารดาตายไปก็เปนคนสิ้นญาติที่อุปถัมภ์ แต่ญาติฝ่ายบิดานั้นไม่รู้จัก  ฤๅเขาทำไม่รู้จัก
แม่อินเปนหญิงม่ายที่มั่งมีมาก เปนอุบาสิกาอยู่ในวัด มีความรักความประพฤติและสติปัญญาพระสมบุญจึงรับอุปฐากมาจนได้อุปสมบท แม่อินมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อแม่จันอายุได้ 16 ปี แม่อินจึงคิดอ่านในการที่พระสมบุญจะสึก และจะรับไว้ที่บ้าน ความเปนดังนี้

ส่วนพระสมบุญ มีความรู้สึกตัวแต่ว่าเขารักเหมือนลูกเหมือนเต้า ใจก็ยังลังเลไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไร อยากเปนคนดี คนวิเสศ มียศ มีทรัพย์ มีชื่อ ที่สุดก็เพียงเสมอน่าพี่น้องที่ชั้นเดียวกัน แต่ทำอย่างไรถึงจะได้อย่างนั้น นั่นแหละเปนความยากที่หนักที่ติดตัว ก็ตัวคนเดียวทุนรอนและที่สนับสนุนก็ไม่มีหลักถานอันใด และแม่อินก็เปนแต่มีทรัพย์ มีทรัพย์อย่างเดียวไม่มีอื่น ถึงเขาจะรักอย่างไร ก็ใครเล่าเปนอย่างพระสมบุญ ที่มุ่งหมายว่าเขาจะทุ่มเทให้สักเพียงใด เพราะอย่างนั้นจึงไม่อยากสึก ด้วยเหนแท้แน่แก่ใจว่า ผ้ากาษาวพัตรเปนที่พึ่งของคนยาก ถึงไม่ทำให้ดีก็ไม่ทำให้ฉิบหายไม่ดิ้นขวนขวาย แล้วไม่มีทุกข์ เปนที่พักที่ตั้งตัวของผู้แรกจะตั้งตัวดังนี้ แต่แม่อินก็มาพูดจาชักชวนอยากจะให้สึกไม่อาจขัด ประการหนึ่งพวกพ้องเพื่อนฝูงก็จะสึกไปหมดพร้อมกัน นั่นแหละความดูตาม ๆ กัน มันก็แรงกล้าพาให้สึกกับเขาบ้างตามนิไสยของคนหนุ่ม ๆ ครั้นพูดไปกันเมื่อหัวค่ำกลับมานอนนึก ๆ ก็รำคาญ ด้วยไม่รู้สึกไปทำไม ใคร ๆ เขาก็มีที่หมายทางเดิร แต่ตัวคนเดียวไม่มีที่มุ่งหมายแห่งช่องใดช่องทางที่จะทำนั้นก็มีถมไป แต่ทำอย่างไรถึงจะดี ๆ ยิ่งกว่าทางอื่น นั้นแลเปนเครื่องรำคาญใจอย่างยิ่งด้วย ด้วยเปนสิ่งจะได้เสียโดยเรว  อยู่แล้วก็นอนตรองอยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 21:09

พระเข็มมาหา พระสมบุญก็ยกเอาปั้นน้ำชาหมากพลูมาตั้งแล้วก็ชวนพูดด้วยความร้อนใจว่า คุณ ๆ บัดนี้ผมมีความทุกข์หนัก ด้วยเรื่องราวของผมเปนอย่างไรคุณก็รู้อยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ผมจะสึกออกไป คนอย่างผมนี้จะทำอย่างไรอะไรจึงจะดีเปนที่ตั้งตัวสืบไป
พระเข็มจึงว่า ฮา คุณถามความที่ง่ายใคร ๆ ก็ตอบคุณได้ทุกคน แต่เปนข้อความที่คุณจะฟังเอาเปนแน่ไม่ได้สักคน คุณถามไปร้อยคนก็ร้อยอย่าง ผมรู้ที่จะตักเตือนอย่างไร ถ้าจะตอบให้เปนประโยชน์จริงแก่คุณ ๆ ก็ว่าจะเหมือนกับไม่ตอบอีกนะแหละ
เอาเถิดขอรับ เอาเถิดขอรับ พระสมบุญเตือนและพูดต่อไปว่า ผมไม่ว่าคำเดียวถ้าถูกถ้าจริงแล้วก็ดีเสียกว่าคุณตอบผมสักสามวันอีก
พระเข็มยิ้มแล้วจึ่งตอบว่า ถ้าคุณเห็นดังนั้นละผมจะตอบคำเดียวว่า ตามแต่ใจคุณเท่านั้นและขอรับ
อา พระสมบุญคราง ก็สั้นแท้สั้นจริงและกว้างจริงด้วย ผมอยากจะให้แคบเข้าอีกสักหน่อย ขออีกทีเถอะขอรับ
พระเข็มจึ่งว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะกลับคำพูดใหม่ว่า วิชาใด ๆ ย่อมเปนของดีแท้หลายอย่างแต่ความรักของผู้เรียนแลผู้ใช้เปนสำคัญ ถ้ารักจริงเรียนจริงก็ใช้เปนประโยชน์จริงตามคำบุราณว่า คนรู้ ร็ให้จริงถึงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล ความข้อนี้เปนความจริงแท้ ถ้าคุณปรารถนาดีคงได้ดี ผมเห็นอย่างนี้แล แต่เรายังเปนเด็กกันสอนกันยังไม่ได้ เพียรไปด้วยกันก็คงจะได้เห็นหน้ากันต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 21:10

พระสมบุญว่า เอาเปนใช้ได้ตามคุณว่า แต่ตัวคุณเอง จะรักวิชาสิ่งใดจะเดินทางไหนละขอรับ
พระเข็มตอบว่า อ้าว คำถามของคุณเปนอย่างอื่นไปละ เดิมคุณถามถึงตัวคุณ เดี๋ยวนี้ถามถึงผมผิดกันมาก คุณกับผมคนละคน ผมก็คนละอย่าง ส่วนผมเหนง่ายคือผมเดินทางเรียนกฎหมายอยู่ คุณก็รู้จักแล้วผมไม่เหนว่าวิชาใดจะดีกว่า และผมรักสุดใจจึงจับเรียน
เวลานั้นพอพระทรัพย์และพระเหลงมาถึงเข้าพร้อมกัน เหนพระเข็มพูดจาท่าทางปลาดจึงถามว่า พูดอะไรกัน
พระเข็มก็เล่าให้ฟ้ง
พระทรัพย์ก็ขัดคอขึ้นว่า คุณสมบุญอย่าเชื่อเอาพระเข็มนะ ไม่ได้เรื่องดอก อ้ายวิชากฎหมายนั่นแหละ บ๊ะแขนอย่างนี้เอามือทุบพื้นดังกระเทือนไปทั้งกุฏิ ฮะ แขนอย่างนี้ไปเรียนกฎหมายละไม่มีใครไปทัพละ เรียนอะไรไม่เรียน ๆ หลอกเขากิน ….. (เรื่องคงมีต่อไป)

จบพระนิพนธ์ของกรมหลวงพิชิตปรีชากรเพียงเท่านี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 21:14

ต่อไปนี้ คือส่วนที่ดิฉันแต่งต่อ

              พระเข็มจึงตอบว่า อย่าว่ากัน   ถ้าเพื่อนฝูงเกิดเป็นถ้อยร้อยความขึ้นมา   มีผมอยู่ยังพอช่วยกันได้    เหมือนอย่างเมื่อก่อนลงโบสถ์    ยังพูดว่าจะรักกันช่วยกันเหมือนด้ายเกลียวนั่นปะไร     พระเข็มเกรงว่าพระเหลงจะโกรธ จึงปลอบว่า  คุณทรัพย์พูดเล่นดอก    จะทำมาหากินอะไรย่อมต้องอาศัยพึงพากันทั้งนั้น     ผมสึกออกไปค้าขาย  ถึงได้เงินทอง     หากถูกปล้นสะดมหรือถูกคนฉ้อโกง  ต้องมาพึ่งคุณทรัพย์และคุณเข็มวันยังค่ำ      พระสมบุญเห็นเพื่อนมีทางเดินสอดคล้องต้องกันดี    ยิ่งเกิดความกลุ้มใจ   บอกว่า ผมเองสิยากจน  อยากจะได้ดี  มียศมีทรัพย์เทียมพี่น้อง   เป็นอันอับจนเสียแล้ว     พระเหลงจึงแนะว่า ทำราชการเสียเป็นไร   จะได้เป็นขุนนาง   พระสมบุญจึงว่า จะกราบกรานเข้าช่องทางขุนนางคนไหนก็ไม่รู้จัก   เห็นจะไม่สะดวกลำบากต่างๆนานา
   ความจริง พระสมบุญเป็นคนมีสติปัญญาดี    แต่ว่าไม่รู้จักช่องทางดิ้นรนขวนขวาย   เคยแต่อยู่วัดมาตั้งแต่ยังเด็ก   บวชเป็นเณรแล้วก็เป็นพระ    ไม่รู้เรื่องหนทางทำมาหากินอย่างเพื่อนๆเขา   คิดแล้วก็วิตก   ตกลงใจไม่ถูก    จนเพื่อนๆลากลับไปกุฏิแล้วยังคิดไม่ตก
      วันรุ่งขึ้น แม่อินมาหาพระสมบุญ    ได้พูดจากันสักพัก   แม่อินชวนให้สึก   พระสมบุญอิดเอื้อนไม่อยากไป    แม่อินเห็นพระสมบุญยังไม่ปลงใจ   จึงแย้มความสำคัญให้รู้ว่า  ฉันมีลูกอยู่คนเดียวเป็นหญิง    อยากให้เป็นฝั่งเป็นฝาเสียให้หมดห่วง     พระสมบุญรู้ความนัยว่าเขาจะยกลูกสาวให้ พร้อมทรัพย์สินเรือกสวนไร่นา   ก็ดีใจเป็นล้นพ้น   จึงรับปากว่าอาตมาบวชสิ้นพรรษานี้จะสึกไปตอบแทนผู้มีพระคุณ      เมื่อสิ้นพรรษา   พระสมบุญก็สึกพร้อมพระเหลง  พระเข็ม  และพระทรัพย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 21:17

      พระสมบุญสึกแล้วได้แต่งงานอยู่กินกับแม่จัน   ถึงมีทรัพย์อยู่แล้ว   แต่อยากได้ยศ    จึงเข้าเป็นเสมียนในกระทรวงวัง   วิ่งเต้นทางญาติแม่อินช่วยฝากให้    หมายใจว่าจะได้เป็นขุนนางในวันหนึ่ง     ทิดสมบุญเป็นผู้ดีตกยาก   โตมากับวัด  ไม่เคยทำสวน   ไม่เคยทำมาหากิน   จึงไม่รู้จักวิธีทำมาหากินเพิ่มพูนเงินทอง    เป็นเสมียนก็ไม่ขวนขวายอย่างใด   รอแต่บุญวาสนา    หลายปีเข้าก็ไม่เห็นได้ยศตำแหน่งอย่างไร   ฐานะทางบ้านก็ด้อยลง  เพราะมีแต่เรื่องต้องใช้เงิน   ไม่รู้จักหาเงิน
        แม่จันไม่ได้รักใคร่ทิดสมบุญ    ขัดแม่ไม่ได้จึงจำใจต้องแต่งงานอยู่กินกัน    หลายปีเข้า  เห็นว่าไม่มีอะไรดีขึ้น    ต่อมาแม่อินตายลงไป   แม่จันจึงกลับไปผูกสมัครรักใคร่กับนายคล้ายคนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน    นายสมบุญหาจับได้ไม่     อยู่มาวันหนึ่งแม่จันจึงทิ้งผัวเก่าไปหาผัวใหม่เสีย    นายสมบุญเสียใจเสียดายเมีย     ไปตามหาแม่จันถึงบ้านนายคล้าย    เขาก็พากันโห่ร้องไล่ทุบตีว่าเป็นขโมยเข้ามาลักเงินทองในบ้านเขา     เขามัดอกแอ่นจับตัวส่งกองพระตำรวจ    นายสมบุญร้องขออย่างไรก็ไม่เป็นผล    แม่จันกลับไปเข้าข้างผัวใหม่ ปรักปรำผัวเก่าว่าเป็นโจร
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 07:39

สนุกค่ะอาจารย์  ตามอ่านนะคะ  เรื่องราวยังเป็นปัจจุบันอย่างยิ่ง  และคาดว่าในอนาคตคงยังไม่ต่างจากนี้นัก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 09:58

สนใจการวิเคราะห์ท้ายเอกสารค่ะ



สนุกนิ์นึก  ระบุว่าเป็น นวนิยาย 
กรมหลวงพิชิตปรีชากรสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อรับเวรบรรณาธิการได้เขียน "แจ้งความ" ไว้ว่า

"จึงได้จัดเรื่องสนุกนิ์นึก   ลองแต่งเลียนสำนวนหนังสืออังกฤษส่งมา  แต่เปนเรื่องยืดยาวสักหน่อย
ตามแต่จะลงงได้เพียงใดก็แล้วแต่จะยุติเพียงนั้น"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 10:10

พระราชหัตถเลขา ( ฉบับที่ ๒) กราบทูล เสด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ แลกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

ความว่า

"หนังสือวชิรญาณในวิกนั้น  หม่อมฉันอยู่ที่บางปอินมีการค้างมาก   หาได้อ่านไม่จนกลับมายังกรุงเทพฯ
ถ้าได้อ่านคงจะได้ว่ากันแต่ก่อนแล้ว      ครั้นทราบว่าเป็นเหตุให้ทรงพระวิตกมากก็มีความร้อนใจนัก
ด้วยทรงพระชราแล้วจะไม่ทรงสบาย     จะเปนอันตรายใหญ่หลวงกับหม่อมฉันผู้ได้มีความนับถือว่าเปนที่
สักการบูชาอันยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในพระพุทธศาสนาอย่าง ๑     เปนใหญ่ยิ่งอยู่ในพระบรมราชวงษ์อย่าง ๑
จึงมีความขัดเคืองกรมหลวงพิชิตมาก"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 10:23

อีกส่วนหนึ่งของพระราชหัตถเลขา


"หม่อมฉันยอมยกโทษถวาย     แต่มีความเสียใจอยู่มากด้วยกรมหลวงพิชิตก็มิใช่คนอื่น  เปนคนบวช
วัดบวรนิเวศ   ได้ยกย่องเปนถึงเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่     มาเปนคนไม่คิดหยั่งน่าหลังให้รอบคอบ 
ทำเหตุให้คนที่ไม่ทราบความจริงเปนที่ยินร้ายแก่วัดดังนี้เปนการไม่ควรเลย


แต่บัดนี้เธอก็รู้โทษผิดแลการที่ผิดก็ปรากฏกับคนทั้งปวงมาแล้ว   ก็เหนจะเปนอันล้างมณมณพิลในวัด
กลับเปนโทษแก่ตัวผู้แต่งที่จะต้องติเตียนมากเหมือนกับได้รับบาปทันตาเห็นอยู่แล้ว  ก็ตกลงเปนความ
ปราถนาเปนยุติได้เพียงเท่านี้"



                                       ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

                                                   สยามินทร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 10:31

เมื่อไปถึงตำรวจ    ขุนตำรวจตรีที่สอบสวนนายสมบุญ  จำได้ว่าเป็นนายสมบุญ   จึงถามว่า จำฉันได้ไหม  เคยบวชอยู่ด้วยกันที่วัดบวรนิเวศอย่างไรเล่า    เหตุไรพ่อจึงเป็นโจรไปฉะนี้    นายสมบุญเห็นเข้า จำได้ว่าเป็นพระทรัพย์   บัดนี้เป็นขุนตำรวจไปแล้ว    ดีใจจนน้ำตาไหล   เข้าจับมือเล่าความจริงให้ฟัง   ขุนตำรวจทรัพย์จึงว่า อย่ากลัวไปเลย    เคยสัญญากันไว้ว่ามีทุกข์สุขอย่างไรจะไม่ทิ้งกัน     ถ้าทางเจ้าทรัพย์เขาฟ้องร้องขึ้นศาล  จะไปร้องขอทนายเข็มมาช่วย     ถึงตอนนี้  ผู้อ่านคงจะทราบได้ว่า พระเข็มสึกออกไปเป็นเสมียนความ   ได้พากเพียรจนบัดนี้เป็นทนายความมีชื่อเสียง
   ระหว่างที่นายสมบุญถูกขังอยู่  ได้รับความลำบากมาก   ข่าวแพร่ออกไป  วันหนึ่งเศรษฐีผู้หนึ่งมาหาด้วยตนเอง    นำข้าวปลาอาหารมาให้   นายสมบุญจำไม่ได้    เศรษฐีผู้นั้นจึงบอกว่า อ้าว จำฉันไม่ได้หรือ    ฉันเคยบวชพร้อมพ่ออย่างไรเล่า    เคยชวนให้สบถกันว่าต่อไปจะไม่ทิ้งกัน    ฉันรู้ข่าวว่าพ่อได้รับความลำบากจึงมาช่วยเหลือ     คนผู้นี้คือพระเหลง   เมื่อสึกออกไปได้ไปค้าขาย จนมั่งมีเงินทองขึ้น
   เมื่อคดีถึงศาล  ทนายความเข็มรับว่าความช่วยแก้นายสมบุญออกมาได้   ชี้แจงกับศาลว่านายสมบุญกับแม่จันอยู่กินเป็นผัวเมียกันมาหลายปี   มีพยานรู้เห็นหลายคน    ต่อมาแม่จันหนีไปอยู่กับชู้    นายสมบุญไปตามเมียกลับ   จึงถูกกลั่นแกล้งว่าไปลักของของเขา    แท้จริงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น   ศาลได้ฟังความแล้วว่าเป็นเรื่องจริง   จึงตัดสินให้นายสมบุญพ้นโทษไป
   เมื่อนายสมบุญพ้นเคราะห์แล้ว   นายเหล็งเศรษฐีช่วยรับตัวไปพักอยู่ด้วยที่บ้าน   มิได้มีความรังเกียจ   นายสมบุญอยู่ได้สักเจ็ดวัน ก็ลากลับมาอยู่บ้านตนเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 10:36

วันหนึ่ง ขุนตำรวจทรัพย์ ทนายความเข็ม นายเหลงเศรษฐี พากันมาทำบุญที่วัดบวรนิเวศ   นายเหลงเศรษฐีเดินผ่านโบสถ์  ชี้มือให้เพื่อนดูว่า จำได้ไหม  เมื่อครั้งบวช   เคยอาศัยตีนบันไดโบสถ์พูดคุยกันบ่อยๆ     ทนายความเข็มว่าจำได้ซิ    ไม่นึกว่าที่เคยพูดเล่นกลับเป็นจริง    นึกแล้วให้ขอบใจที่ยังคบกันได้ยืนยาวจนบัดนี้     ได้พึ่งพาอาศัยกันเสมอ      ขณะพูดกันอยู่นั้น  พระรูปหนึ่งลงบันไดโบสถ์มา   ทั้งสามเห็นก็ลงนั่งไหว้     นายเหลงเศรษฐีพูดกับพระว่า มาวันนี้ตั้งใจว่าจะนำอาหารมาถวายท่าน    ท่านอยู่อย่างนี้เป็นสุขดีหรือไร
   พระรูปนั้นคือพระสมบุญนั่นเอง     เมื่อพ้นโทษคราวนั้นกลับมาอยู่บ้านไม่กี่วัน   ใคร่ครวญความเป็นไปในโลก    เกิดความเบื่อหน่าย   เห็นว่าเหตุทั้งหมดนี้เกิดเพราะตนเองสึกออกมาแต่แรก    หากอยู่เป็นคฤหัสถ์ต่อไป ย่อมมีเรื่องเดือดร้อน รบกวนใจไม่มีที่สิ้นสุด    คิดตกจึงหวนกลับมาบวชอีก   บวชอยู่หลายปีได้รับความสบายใจไม่มีทุกข์    จึงคิดว่าจะไม่สึกอีกจนตาย
   เมื่อได้ยินเพื่อนถาม  พระสมบุญก็ตอบว่า  อาตมาเห็นจะตายในผ้าเหลือง     เมื่อครั้งก่อนสึกออกไป  ดิ้นรนหาทุกข์ใส่ตัว    บัดนี้ไม่ดิ้นรนก็ไม่มีทุกข์    ได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมมาตลอดแต่ครั้งเป็นเณร    จริงอย่างที่โยมเข็มเคยกล่าวว่า  “ความรู้รู้ให้จริงถึงสิ่งเดียว    แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล”    อาตมารู้หนังสือเป็นเสมียนกระทรวงก็รู้หลวมๆ   เอาดีไม่ได้   บัดนี้ศึกษาพระปริยัติธรรม   เห็นจะเดินทางวัดไปจนตาย    ส่วนพวกโยมเลือกทางโลก   ขอให้ประพฤติปฏิบัติดี    มีความสุขความเจริญดังที่ตั้งใจไว้แต่ครั้งเคยบวชด้วยกัน    ทั้งสามก็รับพร้อมกันว่า  สาธุ  ท่านเลือกทางชอบแล้ว    เรื่องก็จบลงเพียงนี้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 11:22

การที่เกิดเรื่องหลังพระนิพนธ์ สนุกนิ์นึก ได้เผยแพร่ออกไป  น่าเป็นเพราะการแต่งเรื่องอ่านเล่นโดยใช้ฉากเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง 
ทำให้คนอ่านในสมัยนั้นเข้าใจว่า เรื่องที่แต่งนั้นเป็นเรื่องจริงไปด้วย 
เรื่องอย่างนี้อาจจะใหม่สำหรับคนไทยสมัยนั้นที่เพิ่งเกิดมีหนังสือพิมพ์แพร่หลายได้นานนัก
ในช่วงต้น  คนอาจจะเคยชินกับการอ่านรายงานข่าว ที่เกิดในสถานที่จริง
หรืออาจจะชินกับอ่านเรื่องแต่งที่ไม่ระบุชื่อสถานที่ หรือหากระบุก็เป็นแต่ชื่อสถานที่ที่สมมติขึ้น
เมื่อมีการเอาเรื่องแต่งมาใช้ฉากสถานที่จริงที่มีคนรู้จักมากและที่สำคัญ เป็นสถานที่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องบางเรื่องเสียด้วย
คนอ่านก็อาจจะเข้าใจว่าคนแต่งอาจจะเอาเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาเขียน 

อนึ่ง ถ้าหากกรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงใช้ฉากเป็นวัดอื่นที่ไม่ใช่วัดบวรนิเวศ และไม่ใช่วัดที่คนทั่วไปรู้จัก
เช่น เป็นวัดต่างจังหวัดไกลๆ หรือวัดเล็กๆ ที่ไม่ใช่วัดหลวง และไม่เป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ผู้ใหญ่
มาเป็นฉากของเรื่องแต่งนี้ บางทีก็อาจจะไม่เกิดเรื่อง หรือมีเรื่องแต่คงไม่หนักหนาก็ได้กระมัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 11:39

เข้าใจอย่างเดียวกันกับคุณหลวงค่ะ

อย่าว่าแต่สมัยโน้นเลย  แม้แต่สมัยนี้ก็เถอะ   ลองหนังหรือทีวี สร้างเหตุการณ์สมมุติ แต่อิงชื่อสถานที่จริง เช่นสถานศึกษาดังๆสักแห่ง  แล้วสร้างตัวละครให้เป็นนักศึกษา แต่พฤติกรรมเป็นผู้ร้าย ฆ่าข่มขืนเพื่อนร่วมคณะด้วยกัน
เชื่อว่าผู้ใหญ่ในสถาบันนั้นก็ต้องออกมาทักท้วง  ว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อสถาบันการศึกษา  ยอมไม่ได้   คงจะเกิดเรื่องถึงขั้นถูกระงับฉาย  หรือออนแอร์ไม่ได้แน่นอน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง