เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 21546 เพราะเหตุใด ทำไม คณะราษจึงต้องจับตัวทูลกระหม่อมบริพัตรด้วยครับ ในปี 2475
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 26 มิ.ย. 20, 18:18

จาก FB ของคุณปัณณพัทธิ์ คำนึง

บทพระนิพนธ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา
เจ้านายที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ ที่คณะราษฏร์ เข้ากุมพระองค์ ทูลกระหม่อมบริพัตร และทรงพระชมน์อยู่ในปัจจุบัน

“ที่เขียนนี้อยากจะให้ใครๆ ที่อ่านนำนิสัยการกระทำที่ดีเลิศของพระยาประดิพัทธ์ มาเทียบกับคนที่ชื่อ วรรณ ชูถิ่น (ที่เอาปืนจี้อกทูลกระหม่อมบริพัตร) และพวกคณะราษฎร์ที่ได้ไปเรียนต่างประเทศ ด้วยทุนของหลวง (เงินของพระเจ้าแผ่นดิน)

เรื่องพระยาประดิพัทธ ที่มีเกี่ยวกับพ่อ (ทูลกระหม่อมบริพัตร) ตอนอยู่ที่บันดุง เจ้าคุณยังอยู่เป็นเพื่อนพ่อ ฉันชอบฟังเจ้าคุณเล่าเรื่อง และท่านก็ชอบเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาเลย ท่านเล่าว่า พวกตระกูลของท่านเป็นจีนแท้ๆ ทำเหมืองแร่อยู่ที่ระนอง ตัวท่านรับราชการมา ๓ รัชกาล ได้เป็นพระยา ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง ท่านได้ใกล้ชิดทูลกระหม่อมบริพัตรและเจ้านายอีกหลายพระองค์ ท่านมาประทับใจและศรัทธาในพระองค์ของทูลกระหม่อมบริพัตร เนื่องจากเห็นผลงานและพระนิสัยที่ดี ตรง ล้ำเลิศด้วยปัญญา และเมตตา

ตอนพ่อมีอำนาจวาสนา มีตำแหน่งในราชการ ฉันยังเด็กมาก แต่ก็จำได้ว่า เรามีงานทำบุญ มีเทศน์ที่วังบ่อย ทุกครั้งคนทุกระดับยศและอาชีพจะมากันเต็มตำหนักใหญ่ไม่ต้องเชิญ พวกมาประจำทุกชนิดงานก็มีมาก ใครมีลูกหลานจะแต่งงาน จะหมั้น จะเกิด ก็มาให้ที่วังเป็นเจ้าภาพ นั่นคือเวลาที่พ่อมีบุญวาสนา

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พวกคณะราษฎร์เอารถถังบุก ยิงปืนประจำรถถัง จนตำหนักใหญ่เป็นรูกระสุน ปลดอาวุธทหารเฝ้าวัง บุกไปที่ตำหนักน้ำ พอพ่อลงมาจากห้องบรรทมก็เอาปืนสี่ห้ากระบอกพร้อมหอกปลายปืนจี้พา ไปตำหนักใหญ่ ฉันรักและห่วงพ่อก็เดินเคียงข้างท่านไปตลอด แต่ฉันยังตัวเล็ก และทุกคนก็เครียดจัด ไม่มีใครสังเกตเห็นฉันสักคน จึงได้เห็นเหตุการณ์ตลอด

ไปถึงตำหนักใหญ่ มีนายทหารคนหนึ่งใช้ปืนยาวจ่อจี้ที่อกของพ่อ พ่อมองเห็นหน้าเขาแล้วจำได้ พ่อว่า "มึงก็เป็นพวกเขาด้วยรึ อ้ายวรรณ เอาสิวะ มึงยิงกูเลย!" แล้วพ่อก็เอามือของท่านฉีกเสื้อที่ท่านใส่อยู่ขาดตลอดแล้วยืดอกพร้อมจ้องตาคนที่ชื่อ "อ้ายวรรณ" แปลก... "อ้ายวรรณ" หน้าแดงจัด เหงื่อแตกทั้งหน้า ลอดปลายปืนลงชี้พื้นแล้วกลับหน้าซีดมากๆ ก้มหน้านิ่ง

เด็จย่า (กรมหลวงทิพยรัตน์) เล่าประวัติของ "อ้ายวรรณ" ว่า ตอนพ่อเสด็จต่างจังหวัด ไม่รู้จังหวัดไหนฉันจำไม่ได้ ท่านไปวัด พระที่วัดบอกพ่อว่า มีเด็กคนหนึ่งพ่อแม่ตาย ท่านเลี้ยงให้เรียน แล้วมันฉลาดจริงๆ อยากให้พ่ออุปการะ พ่อพามาเรียนที่กรุงเทพฯ ส่งโรงเรียนทหาร ส่งเรียนต่างประเทศ กลับมาทำราชการ เก่ง พ่อชุบเลี้ยงตั้งแต่เล็กจนทำราชการได้เป็นคุณพระ

คณะราษฎร์เอาพ่อไปขังใต้ถุนพระที่นั่งอนันต์ฯ ท่านแม่ หม่อมแม่ อ้อนวอนตามไป “จะตายก็ขอตายด้วยกัน” ที่คุมขังไม่มีห้องน้ำ มีแต่อ่างล้างหน้า โถอุจจาระ ต้องขอผ้าจากวังบางขุนพรมไปกั้นเป็นฉาก อาหารที่ทางวังส่ง พวกทหารใช้หอกปลายปืนกวนกระจุยกระจาย อ้างว่าต้องค้น เกรงจะมีอาวุธซ่อนมา ก่อนพวกคณะราษฎร์จะเอาพ่อไปขัง พ่อมอบหน้าที่ให้เด็จย่า (กรมหลวงทิพยรัตน์) ควบคุมดูแลคนในวังและท่านฝากพวกเราลูกๆ ไว้กับเด็จย่า

พวกคณะราษฎร์หัวรุนแรง จบมาจากฝรั่งเศส หัวสมองเห่อบวมไปด้วย “ปฏิวัติฝรั่งเศส” (French Revolution) จะเอาพ่อไปยิงเป้าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ให้เหตุผลกันว่า อ้ายคนคนนี้ (ทูลกระหม่อบริพัตร) เอาไว้ไม่ได้ มันเก่ง แข็ง พวกทหารบกทหารเรือเชื่อมือมันมาก ถ้ามันคิดโค่นเรา เราก็แพ้ แต่เจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯ ไม่ยอม ท่านว่า "พวกเราคณะราษฎร์ได้ไปสาบานในโบสถ์วัดพระแก้วมรกตว่า จะทำปฏิวัติโดยไม่ให้เลือดตกยางออก ใครจะฆ่าทูลกระหม่อมบริพัตรต้องข้ามศพกูสองคนไปก่อน"

ตอนนั้นทั้งสองเจ้าคุณยังกุมอำนาจทางทหารไว้ ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแผน พ่อต้องเขียนยกวังบางขุนพรมเป็นของรัฐ และพ่อต้องออกไปจากประเทศไทย ห้ามกลับมาชั่วชีวิต ตลอดเวลาที่พ่อถูกขัง พวกคนที่เคยมาเป็นแขกประจำ ไม่ว่าจะมีอะไรพากันหายหน้ากันไป มีแต่เจ้าคุณประดิพัทธ์ มาเยี่ยมเราทุกวัน และก็ร้องไห้สงสารพ่อมาก เจ้าคุณบอกเด็จย่าว่า จะต้องเข้าหาพ่อให้ได้ แต่ย่าว่ามันจะไม่ดีสำหรับทั้งตัวเจ้าคุณและทูลกระหม่อม จะเกิดภัยทั้งสองคน

ในที่สุดพวกเขาปล่อยพ่อ ท่านแม่ และหม่อมแม่ออกมากลับวัง หลวงประดิษฐ์ มาแจกหนังสือเดินทางพร้อมลายเซ็น เราก็เตรียมตัวกันจะออกจากประเทศ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปไหน เจ้าคุณประดิพัทธ์ มาหอบกระเป๋าเดินทางมา หอบลูกชายรุ่นๆ มาด้วย ร้องไห้กันทั่วหน้า เจ้าคุณว่า "ขอตามเสด็จ จะพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง "พ่อว่าทางคณะราษฎร์ประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย

ท่านเจ้าคุณตอบว่า "พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต พ่อว่าเจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง เจ้าคุณประดิพัทธ์ท่านตอบว่า "ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จ แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ"

เราไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง บนภูเขา อากาศดี สบายมาก การต้อนรับก็เป็นแบบเหมือนญาติสนิทกัน แต่ปีนังใกล้เมืองไทย ไปมาสะดวก เป็นที่นิยมของคนไทย ทุกครั้งที่รถเข้าเรือเข้า จะมีคนไทยมา พวกอยากมาดูสำหรับเอากลับไปลือคุยกัน พวกนักข่าว และพวกรับจ้างให้มาฆ่าพ่อของเรา

ครั้งหนึ่งพ่อพาเรานั่งรถไฟลงไปในเมือง ขากลับขึ้นมา มีผู้ชายตัวดำล่ำมานั่งตรงข้ามพ่อในรถไฟฟ้าและจ้องหน้า ฉันได้ยินผู้ใหญ่พูดกันว่า มีการจ้างคนมาฆ่าพ่อ ฉันเลยนึกกลัวพ่อจะถูกฆ่า เพราะดูที่กระเป๋ากางเกงของเขาคล้ายจะมีปืน ฉันก็เลยลุกไปนั่งตักพ่อ เอาตัวบังไม่ให้เขามองพ่อ พอถึงสถานีบนภูเขาเราก็ลง รีบเดินกลับบ้าน ฉันเห็นคนนั้นยืนมองตามเราอยู่ห่างๆ เพราะตามสถานีจะมีเจ้าหน้าที่แลตำรวจ เราขอให้เขาดูแลให้ แต่พ่อไม่สบายใจ เราก็ไม่สบายใจ พ่อเลยตัดสินพระทัยย้ายไปอยู่บันดุง เมืองที่รัชกาลที่ ๕ เคยโปรดและสมัยนั้นไม่ค่อยมีคนไทยไปเกาะชวา บันดุงไกลจากจาร์กาต้า สมัยนั้นมีถนนดีมากจากจาร์กาต้าผ่าน Poejak ไปบันดุง มีโรงแรมเล็ก สะอาด อาหารอร่อย มีเครื่องบิน KLM บินระหว่างจาร์กาต้ากับบันดุง

ในที่สุดทูลกระหม่อมบริพัตรก็ได้พบและอยู่ที่ที่เย็นสบาย สะดวก และสงบร่มเย็น ปลอดภัยจริงๆ เราเริ่มก็อยู่บ้านเช่า ปีแรกก็ยากจนกัน เพราะคณะราษฎร์ไม่อนุญาตให้ทางเมืองไทยส่งเงินของพ่อไปให้พ่อ เราไม่มีคนใช้ เราก็จัดระบบกันเช่นนี้ เด็จย่า (กรมหลวงทิพยรัตน์) พ่อ ท่านแม่ และเจ้าคุณประดิพัทธ์ห้ามทำงานบ้าน ส่วนพี่ห้าองค์และหม่อมแม่จัดเวรกันเป็น ๓ ชุด ชุดละ ๒ คน ผลัดกัน ชุดหนึ่งไปจ่ายกับข้าว อีกชุดทำกับข้าว อีกชุดทำความสะอาดบ้าน หมุนเวียน น้องชายกับฉันยังเล็กอยู่ก็วิ่งรับใช้ทั่วไป กุรับใช้ดูแลพ่อของกุ และบางครั้งก็มาช่วยยกของหนักๆบางวันก็ช่วยพ่อตัดต้นไม้

น้องชายของฉันเรียนภาษาดัทช์ (Dutch) 6 เดือน (จากไม่รู้เลยสักคำ) ก็เข้าโรงเรียนฝรั่งใกล้บ้าน เดินไปเดินกลับ อยู่บ้านก็ทำการบ้านและวิ่งรับใช้ทั่วไป ท่านเจ้าคุณแนะนำปรึกษากับพ่อว่า อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องรวบรวมเข้าทุนกิจการอะไรที่ทำรายได้สักอย่าง พอดีทางเมืองไทยเกิดอนุมัติให้ส่งเงินของพ่อมาให้บ้าง พ่อมีเพื่อนแล้วเป็นคนดัทช์ ออสเตรียน เยอรมัน และอเมริกัน ก็ปรึกษากัน

วันหนึ่งพ่อกับฉันเดินเล่นผ่านร้านและเอเย่นต์ขายจักรยาน พ่อว่าใครๆ แนะให้พ่อเข้าหุ้นกับบริษัทขายรถยนต์ แต่ดูแล้ว คนที่นี่ขี้เหนียว ถึงรวย มีรถยนต์ ถ้าจะไปไหนที่พอถีบจักรยานไปไหว ก็เก็บรถยนต์ไว้ในโรงรถ ใครจะมีตำแหน่งสูงแค่ไหนก็ใช้จักรยาน คนจนก็ใช้จักรยาน พอดีเจ้าของกิจการเดินออกมา เห็นพ่อเข้าก็จำได้ว่าเป็น Prins van Siam (เจ้าฟ้าแห่งสยาม) เขาเชิญพ่อเข้าไปคุยในออฟฟิศ ต่อมาพ่อก็ลงทุนกับเขา และทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีกันมาตลอดชีวิต “

หมายเหตุ :

๑. จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมหมื่นนครสวรรค์วรพินิจ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และอภิรัฐมนตรี

๒. เจ้าคุณพหล คือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

๓. เจ้าคุณทรง คือ พันเอก พระยาทรงสุรเดช

๔.พระยาประดิพัทธภูบาลเป็นบุตรของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอ ซิม ก๊อง) ชื่อเดิม คอ ยู่ เหล ณ ระนอง เกิดที่เกาะปีนัง จบการศึกษาเนติบัณฑิตอังกฤษ เริ่มรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตลอนดอน รับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ที่หลวงสุนทรโกษา ได้ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕)และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก รู้ภาษาอังกฤษ มลายู และภาษาจีน เมื่อครั้งมีกรณีพิพาทฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๓๖ ทางราชการให้ท่านเป็นอัยการฟ้องคดีพระยอดเมืองขวาง เมื่อครั้งตรังกานู ยังเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย ได้อยู่ในคณะข้าหลวงฝ่ายไทย เมื่อครั้งกลันตัน ยังเป็นของไทย ได้เป็นผู้ไปฟังราชการ ณ เมืองสิงคโปร์ สมัยรัชกาลที่ ๖ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง สหพันธรัฐมลายา ได้เป็นพระยาประดิพัทธภูบาล สิ้นชีวิตสมัยรัชกาลที่ ๙ อายุ ๙๖ ปี

๕. หลวงประดิษฐ์ คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์

๖.วรรณ หรือ วัน ชูถิ่น (พระประศาสน์พิทยายุทธ) นักเรียนทุนเยอรมัน

๗. นายสง่า ณ ระนอง หรือ กุ อายุราว ๒๐ ปี บุตรพระยาประดิพัทธภูบาล

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.naranong.net/history03.html

พระรูปพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา (อินทุรัตนา บริพัตร) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และหม่อมสมพันธ์ บริพัตร ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2465 ในปี พ.ศ. 2496 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนาได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับร้อยเอกสมหวัง สารสาส ปัจจุบันมีพระชันษา 95 ปี
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 29 มิ.ย. 20, 13:13

ข้อความที่อาจารย์จำได้ว่าใครพูดนั้น
ผมงี้ Save เก็บไว้ในมือถือเลยครับ ตั้งแต่คราวกระทู้ชะตากรรมของสี่เสือคณะราษฎรนั่นเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 29 มิ.ย. 20, 16:22

ู^


บันทึกการเข้า
นายโสรัจ ช่อชูวงศ์
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 23 มี.ค. 21, 18:59

ใคร่ขอทราบว่าทูลกระหม่อมบริพัตร เสด็จเชียงใหม่กี่ครั้ง และเมื่อวันที่เท่าใด (ข้อมูลเท่าที่หาได้ เสด็จเดือนกรกฎาคม 2464 แต่ไม่มีวันที่) ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 23 มี.ค. 21, 19:30

ไม่ทราบวันที่ที่เสด็จไปถึงเชียงใหม่ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 20 คำสั่ง