เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 7099 จิตรกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 10 ธ.ค. 09, 19:29

                  เวลาคนไทยไปเที่ยวเมืองกวางตุ้ง หรือซัวเถา เรามักจะออกอุทานว่า “อ้า...มั่งชั่งเหมือนที่บ้านอั๊วจิงๆ” แต่ถ้าเราไปไกลหน่อยคือซูโจว หางโจว หรือไปปักกิ่งโน้นเลย เราอาจจะออกอุทานว่าทำไมมันดูไม่เหมือนเลยแหะ มูลเหตุมาจากตระกูลช่างที่ต่างกัน แต่เนื่องจากช่วงนี้ผมยุ่งและยังอ่านหนังสือที่ซื้อมาไม่จบ จึงขออนุญาตนำรายงานเก่าที่เคยทำสมัยอยู่มหาวิทยาลัยลัยมาตัดตอนเล่าสู่กันฟัง ผิดไปประการใดขออภัยด้วย และห้ามนำไปมาอ้างอิง ใครนำไปอ้างอิงผมจะงอน (ทำได้แค่นี้แหละ) เนื่องจากตอนนี้อยู่เมืองจีน มีข้อมูลมากมายมหาศาลให้อ่าน ถ้าจะเขียนลงไปคงได้เยอะกว่านี้ ขอให้ผู้อ่านถือว่าเป็นการเล่าสู่กันฟังเฉยๆ เอาละนะเรื่องมีอยู่ว่า...
                  ภาคเหนือและภาคใต้ของจีนจะแบ่งโดยใช้แม่น้ำแยงซี ภาษาจีนกลางเรียกว่าฉางเจียง (长江:Chang Jinag) ความแต่ต่างระหว่างอาคารทางภาคเหนือและภาคใต้ของจีนสังเกตได้ไม่ยาก สังเกตได้จากการประดับตบแต่งหลังคา ซึ่งคราวที่แล้วได้กล่าวไป อีกประการสังเกตได้จากโครงสร้างหลังคาที่แตกต่างกัน
                     สำหรับโครงสร้างหลังคาที่นิยมใช้ในจีนภาคเหนือ ใช้เป็นโครงสร้างแบบเสาดั้งและคานเป็นระบบโครงสร้างแบบคานลดระดับ (THE BEAM – IN – TIERO STRUCTURAL SYSTEM) โดยโครงสร้างดังกล่าวนี้นอกจะเป็นที่นิยมในบ้านของผู้คนทั่วไปในภาคเหนือแล้ว ยังสามารถพบตามอาคารขนาดใหญ่ ดังวัดหรือวังทั่วไปในประเทศจีน (TSINGHUA UNIVERSITY 1990: 5) ซึ่งวัสดุที่ใช้จะทำจากไม้เนื้อแข็ง ออกแบบมาตามลักษณะของความจำเป็นในการถ่ายน้ำหนักของโครงสร้าง ผนวกกับรูปทรงของหลังคามีลักษณะเป็นโครงคานสามเหลี่ยมที่วางเชื่อมช่วงเสา ตามแนวลึกของอาคาร ประกอบขึ้นจากคานหน้าตัดสี่เหลี่ยมที่มีความยาวลดลงเมื่อสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงสันหลังคา หรือ “คานลดระดับ” คานนี้จะแบ่งเป็นชั้น ๆ  และใช้โครงสร้างทางตั้งมารับที่เรียกว่า  “เสาดั้ง” โดยการใช้เสาดั้งหลายตัวถ่ายน้ำหนักต่อเนื่องกันเป็นช่วง ๆ  และเสาดั้งนี้จะรับแปกลมขนาดใหญ่ที่พาดวางตามยาวของอาคารด้วย และจะวางเรียงสูงขึ้นเป็นระยะประกอบกันเป็นรูปหลังคาจั่ว   
                    แปกลมที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดตรงสันหลังจะถูกพิจารณาว่า เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างหลังคา   ซึ่งจะสังเกตได้ว่า เป็นแปเพียงตัวเดียวในโครงสร้างหลังคาที่มีการตกแต่งเขียนลายอย่างสวยงาม จากนั้นก็วางไม้กลอนที่เป็นแผ่นแบนขวางแปกลม เป็นระยะที่ค่อนข้างถี่มากเท่าขนาดของกระเบื้องกาบกล้วยแล้วจึงปูกระเบื้องหลังคา การถ่ายน้ำหนักของหลังคาทั้งหมดจะถูกถ่ายจากแปกลมนี้ลงสู่เสาดั้ง สู่คาน และสู่โครงสร้างหลักของอาคารต่อไป ซึ่งลักษณะของโครงสร้างเช่นนี้จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นหลังคาที่ตรงได้ (ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างหลังคาของไทยที่จะต้องทำจันทันให้โค้ง เพื่อให้ได้เส้นหลังคาที่โค้ง) ส่วนของหลังคาที่เป็นปีกนกจะมีการทำเต้ารับชายคายื่นออกมาจากเสา  ซึ่งโครงสร้างนี้จะประกอบเข้ากันด้วยระบบถอดประกอบ โดยการบากและทำเดือยเช่นเดียวกับโครงสร้างอาคาร  (รุ่ง สุจินันท์กุล ๒๕๔๒: ๑๒๑)
               ส่วนระบบค้ำยันในอาคารโดยทั่วไปแล้ว จะมีอยู่ ๓ ประเภท ได้แก่ ค้ำยันที่อยู่บนเสาภายในอาคาร หรือส่วนโครงสร้างหลังคาภายในอาคาร, ค้ำยันที่อยู่ภายใต้ชายคา และค้ำยันที่รองรับตรงมุมของหลังคา (รุ่ง สุจินันท์กุล ๒๕๔๒: ๑๑๒) ซึ่งการค้ำยันของอาคารจีนจะมีลักษณะโครงสร้างที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมจีน คือ มีโครงสร้าง “โตว่กง” (斗拱:DOU GONG) หมายถึงค้ำยันหูช้างที่ยื่นออกมาจากผนังหรือโครงสร้างของอาคาร (รุ่ง สุจินันท์กุล ๒๕๔๒: ๒๕๐) (ดูรายละเอียดในภาคผนวก ง.) โดยภาคเหนือจะใช้ “โตว่กัง” เป็นหลักในการรับน้ำหนักของอาคาร (เศรษฐพงษ์ จงสงวน, สัมภาษณ์) ดังนั้นเมื่อดูไปดูมาแล้วจะให้ความรู้สึกราวกับดูตัวต่อขนาดยักษ์ (ซึ่งจริงๆแล้วก็คือตัวต่อยักษ์จริงๆ)
               ในส่วนของโครงสร้างหลังคาของจีนทางตอนใต้นิยมใช้ระบบเสาและคานรัด (THE COLUMN AND TIEBEAM STRUCTURAL SYSTEM) ระบบนี้เสาจะถูกวางเรียงไปตามทางลึกของอาคาร โดยมีการเว้นระยะห่างของเสาเท่ากัน และจะไม่มีการวางคานพาดผ่านเสาเหล่านี้ แต่จะวางแปกลมไว้บนยอดของเสาแทน และระบบของโครงสร้างหลังคาจะถูกสร้างจากการใช้คานรัดที่วางทะลุสอดผ่านเสาเพื่อเชื่อเสาทั้งหมดเข้าด้วยกันซึ่งคานนี้จะถูกวางเป็นชั้นๆลดหลั่นไปถึงยอดหลังคา
                   ตัวอาคารจะสร้างขึ้นจากการนำแถวของเสาในลักษณะดังกล่าว มาวางประกอบเรียงกันไปตามแนวยาว และเชื่อมต่อกันเข้าด้วยโครงรัดรอย ค้ำยัน และแปกลม ในทิศทางตามยาวของอาคารเนื่องจากน้ำหนักของหลังคามีที่สัมพันธ์โดยตรงกับจันทัน และแปกลมซึ่งรองรับด้วยเสาและฐานราก ทำให้เสาและคานรัดรอยของโครงสร้าง โดยโครงสร้างระบบนี้ใช้ไม้น้อยกว่าประเภทอื่น ขนาดของเสาและคานรัดนี้จะขึ้นอยู่กับความลึกของอาคาร อาคารที่มีความลึกมากจะต้องใช้เสาในแถวมากและจะส่งผลถึงความสูงของอาคารและจำนวนชั้นของคานรัดเพิ่มขึ้นด้วย ระบบโครงสร้างนี้จะนิยมใช้กับอาคารทั่วไปของในบริเวณพื้นที่ทางใต้ของจีน  และอาจพบในอาคารขนาดใหญ่ทางใต้บางแห่ง (TSINGHUA UNIVERSITY 1990: 6)
               อย่างไรก็ตามแม้จีนตอนใต้จะมีลักษณะการตบแต่ง และลักษณะโครงสร้างของหลังคาซึ่งร่วมกันดังที่กล่าวมา แต่ยังมีการแตกต่างออกไปเฉพาะตามลักษณะของสกุลช่างแต่ละกลุ่มภาษา ซึ่งในบริเวณกวางตุ้งและฟูเจี้ยน หรือจะชี้ให้ชัดไปเลย คือ ในส่วนโครงสร้างแบบสกุลช่างแต้จิ๋ว - ฮกเกี้ยนผิดจากโครงสร้างที่ใช้ระบบเสาและคานรัดทางภาคใต้ส่วนอื่นๆ กล่าวคือ โครงหลังคาเป็นแบบโครงสร้างยกขื่อ โครงสร้างแบบนี้จะประกอบด้วยเสารับขื่อที่จะตั้งรับอกไก่และแป ส่วนใหญ่จะซ้อนขื่อสามชั้น (เศรษฐพงษ์ จงสงวน ๒๕๔๗: ๕) ซึ่งบ้านโซ่วเฮงไท่จะเป็นแบบดังกล่าว
                  นอกจากนี้โครงสร้างอาคารจะแตกต่างกันไปแล้ว ภาพจิตรกรรมที่ตบแต่งในแต่ละส่วนจะแตกต่างกันไปอีก รวมไปถึงการสลักเสลาอาคารประดับ ซึ่งไว้คราวหน้าผมจะเล่าให้ฟังขอตัวไปทำการบ้านก่อน
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 10 ธ.ค. 09, 19:35

บรรณานุกรม
เอกสารชั้นรอง

หนังสือ

เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สถาปัตยกรรมบ้านจีนแต้จิ๋ว และแก้ซิ้ง. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง
   “แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่” จัดโดย ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปะศาสตร์
   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ อาศรมสยาม – จีนวิทยา และบมจ. ซี พี. เซเว่นอีเลฟเว่น,
   ๒๕๔๗.   

เอกสารอื่นๆ

รุ่ง สุจินันท์สกุล. “การศึกษาเพื่อเสนอแนวคิดในการอนุรักษ์ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯที่สร้างขึ้นช่วง
   สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕.” วิทยานิพนธ์ปริญญาสถมปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต
   สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๔๒. (อัดสำเนา)

เอกสารภาษาต่างประเทศ

TAMURA, EILEEN. CHINA: UNDERSTANDING IT PAST. HONOLULU : UNIVERSITY OF
   HAWAII PRESS,

สัมภาษณ์

เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สัมภาษณ์. ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐.
เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สัมภาษณ์. ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐.
เศรษฐพงษ์ จงสงวน. สัมภาษณ์. ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐.
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 14 ธ.ค. 09, 10:56

ยังฟังดูยากๆนิดหน่อย เพราะไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านนี้ แต่ก็ต้องขอขอบคุณที่นำข้อมูลมาให้อ่านกัน
ขอลงภาพประกอบเล็กน้อยครับ


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 18:55

ขอบพระคุณที่นำรูปมาลงประกอบให้นะครับ อย่างนี้แหละครับโครงสร้างแบบสกุลช่างหมินหนาน
สิ่งพิเศษของช่างหมินหนานจะอยู่ที่การแกสลักครับ ไม่ใช่แกะแบบธรรมดา แต่จะเป็นลายซับซ้อนประหนึ่งเป็นงานทอก็"ม่ปาน
หากนึกไม่ออกขอให้ไปดูที่บานประตูวัดสุทัศน์บานเก่าที่ถูกไฟไหม้ได้นะครับ แบบนั้นแหละ (ไม่ทราบว่าช่างไทยได้รับอิทธิพลหรือเปล่า)
อย่างภาพที่เราเห็นนี้เป็นแบบเกาะแบบธรรมดา หากอยากดูความอลังการจริงๆให้ไปดูที่พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระที่นั่งองค์ดังกล่าวเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นแบบสกุลช่างหมินหนานแบบสมบูรณ์ที่สุดในไทย
ทั้งนี้ ขอแทรกเกร็ดไว้เล็กน้อย พระที่นั่งองค์นี้หากไปหาทั่วทั้งแผ่นดินจีนจะไม่พบอาคารใดมีความคล้ายคลึง แต่หากไปดูแทบสิงคโปร์ มาเลย์เซีย อินโดนิเซีย จะพบคล้ายๆ หรืออาจพบพิมพ์เดียวกัน
เนื่องจากองค์พระที่นั่งสร้างแบบอาคารกงสี (นึกไม่ออกขอให้นึกถึงอาคารสมาคมชาวจีนในไทย) ของชาวจีนโพ้นทะเลในแถบดังกล่าว ซึ่งเป็นอาคารแบบฝรั่งนิดๆ จีนมากหน่อย
แต่รวมความแล้วก็ถือว่าสวยสง่า
รูปแบบดังกล่าวนี้เองที่ส่งอิทธิพลมายังพระที่นั่งเวหาศจำรูญของเรา
ส่วนพระที่นั่งของเราจะสวยกว่าหรือไม่ก็ไม่อาจกล่าวได้ เพราะยังไม่มีโอกาสไปเที่ยวแทบนั้น ไว้ไปเมื่อไรจะมาเล่าสู่กันฟัง
(ใครลงรูปได้ลงให้ด้วยนะครับ ผมลงไม่เป็น ถ้าเป็นได้ส่งวิธีลงรูปให้ด้วย เพราะผมกับวิทยาการปัจจุบันเป็นยาขมหม้อโตครับ)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง