ถ้าผมพอจะช่วยอะไรได้ ผมยินดีเสมอครับ
ทั้งนี้เมื่อพูดถึงเรื่องอักษรพู่กันจีน หากจะไปวัดราชโอรส และถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังมา ผมอยากให้ลองพิจารณาตัวอักษรสักนิด จะเห็นว่าอักษรที่ใช้ประดับอาคารแต่ละจุดจะมีลักษณะแตกต่างกัน โดยเฉพาะตัวอักษรจีนที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาพนัง
ความแตกต่างดังกล่าว เกิดจากความจงใจของผู้เขียน คือ ดร. เจี๋ยชิ่ง อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาจีนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสงค์ให้อักษรจีนที่ปรากฏในการบูรณะภาพจิตรกรรมวัดราชโอรส เป็นตัวอย่างแก่อนุชนชาวไทยรุ่นต่อๆของการใช้อักษรจีนซึ่งมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบใช้ในพื้นที่ต่างกัน
ตัวอย่างของการใช้อักษรที่แตกต่างกัน ตัวอย่างดังภาพจิตรกรรมด้านหลังพระประธาน ซึ่งได้รับการเขียนใหม่ จะมีพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นภาษาจีน โดยพระนามของพระองค์คือ “แต้ฮก” หรือ ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เจิ้งฟู่” (郑福: Zheng Fu) โดย “แต้” เป็นแซ่ที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีได้รับสืบทอดมาจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่วน “ฮก” เป็นพระนามของพระองค์ มีความหมายว่า “ความสุข บุญวาสนา” ทั้งนี้พระมหากษัตริย์ไทยในตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง เรื่อยมาจนรัชกาลที่ ๔ (หรือรัชกาลที่ ๕ เพราะผมยังไม่พบพระนาม) มีพระนามเป็นภาษาจีนทุกพระองค์
พระนามที่ใช้ มิใช่ภาษาจีนเลียนแบบเสียงภาษาไทย ซึ่งไม่มีความหมายอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ปัจจุบันจะใช้อักษรจีนแต่ละตัวเลียนเสีบงภาษาไทย โดยให้อักษรที่ใช้สื่อความหมายไปในทางมงคล แต่โดยรวมทั้งชื่อแล้วไม่มีความหมายในภาษาจีน เพราะเป็นการเลียนเสียงพยางค์
แต่เป็นพระนามดังกล่าวภาษาจีนซึ่งมีความหมายแท้ๆ การที่มีพระนามเป็นภาษาจีนอาจเป็นเพราะต้องการใช้ติดต่อทำการค้ากับทางจีน ซึ่งผมของลงรายพระนามไว้ ณ ที่นี้ โดยใช้คำอ่านเป็นภาษาจีนกลาง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามว่า “เจิ้งฮั่ว” (郑华: Zheng Hua) แปลว่า แสงรุ่งโรจน์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามว่า “เจิ้งโฟ่” (郑佛: Zheng Fo)แปลว่า พระพุทธเจ้า
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า “เจิ้งฟู่”(郑福:Zheng Fu) แปลว่าความสุข บุญวาสนา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า “เจิ้งหมิง” (郑明: Zheng Ming)แปลว่า แสงสว่าง
(ที่มา:http://www.weefish.com/ask/%E6%B3%B0%E5%9B%BD%E5%9B%BD%E7%8E%8B)
เดิมช่างเขียนเขียนเป็นอักษรพระนามย่อของพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน แต่เจ้าอาวาสได้มาตรวจและได้ให้ความเห็นว่า วัดราชโอรสเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรเป็นพระนามของพระองค์มากกว่า
ดังนี้ ดร.เจี๋ยชิ่ง ได้เข้ามาเขียนอักษรจีนเพื่อประดับจิตรกรรมฝาผนัง จึงได้เขียนพระนามของพระพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาจีน
ตัวอักษรจีนที่ได้เขียนนั้นเป็นลักษณะตัว “จ้วนซู่” (篆书:Zhuan Shu) ซึ่งเป็นตัวอักษรที่พัฒนาในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦: Qin) เป็นการใช้ลักษณะอักษรแบบขีดเส้นแทนอักษรภาพ อักษรลักษณะดังกล่าว ต่อมานิยมใช้กับตราประทับต่างๆ
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เนื่องจากการเขียนพระนามเป็นเหมือนดังการลงตราพระราชลัญจรของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดร.เจี๋ยชิ่ง จึงเลือกใช้อักษรที่ใช้กับตราประทับในการเขียนพระนาม
ขณะเดียวกันการเขียนอักษรในตำแหน่งอื่นๆของภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถได้ใช้ลักษณะต่างออกไปอีก โดยมีการใช้ทั้งอักษรแบบ “ข่ายซู่” (楷书: Kai Shu) หรือ ตัวอักษรแบบบรรจง และตัวอักษรแบบ “เฉาซู่” (草书: Kai Shu) หรือตัวอักษรแบบหวัด ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่วาด
แต่ทั้งนี้ส่วนดังกล่าวผมขอไม่อธิบายนะครับ เพราะจำไม่ได้ว่าอยู่ส่วนใดบ้าง หาถ่ายรูปมา และผมพอจะอธิบายได้จะลองค้นคว้าดูครับ
(เรื่องกลอนขอติดไว้เช่นกัน เพราะว่าจำไม่ได้ว่าใช้ตัวอักษรแบบใด)
