เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3944 ตรุษจีนแล้ว เชิญแม่นางLinmouมาให้ประวัติตรุษจีน
ด.เด็ก
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 26 ม.ค. 01, 02:24

เซียะ เซียะ หนี่...
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 16:31

เทศกาลตรุษจีน(Chun jie)

วันตรุษจีนตรงกับวันที่ ๑ เดือนอ้าย ตามจันทรคติจีน ซึ่งคนจีนโบราณเรียก “ปีใหม่” (ซินเหนียน) หรือ “ซินเจิง” (เดือนอ้ายครั้งใหม่) ซึ่งวันที่ ๑ เดือนอ้ายถูกกำหนดให้เป็นวันแรกของปีเป็นครั้งแรกตาม “ไท่ชูลี่” (ปฏิทินแรกเริ่มสุด) ที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น(พ.ศ. ๔๐๕ - ๔๕๘) โดยรัฐบาลใยยุคพระเจ้าฮั่นอู่ตี้เอง ร้อยพันปีผ่านไป กับพัฒนาการของระบอบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง ได้ทำให้วันแรกของปีตามกฎหมายนี้ได้รวมเอาเทศกาลและประเพณีประจำเทศกาลอื่นๆเข้ามาด้วย จนกลายเป็นเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อันแสนจะสลับซับซ้อนยุ่งยากมากมายขึ้นมา
รูปแบบประเพณีตรุษจีนในปัจจุบันนี้ได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง(พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๒) ในยุคนั้น เทศกาลตรุษจีนได้กลายเป็นเทศกาลที่เริ่มต้นจากวันที่ ๒๔ เดือน ๑๒ ถึง วันที่ ๑๕ เดือนอ้าย อันเป็นวันเทศกาลเหยวียนเซียว(Yuan xiao jie) รวมเป็นวันเทศกาลที่ยาวนานประมาณหนึ่งเดือน เทศกาลตรุษจีนจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนตามความเคยชิน อันได้แก่ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เดือนอ้าย จนถึงวันสิ้นปี(ฉูซี) , ตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนอ้าย ถึงวันที่ ๗ เดือนอ้าย และสุดท้ายคือ เทศกาลเหยวียนเซียว

๑. จากวันที่ ๒๔ เดือน ๑๒ - วันสิ้นปี(ฉูซี)
วันที่ ๒๔ เดือน ๑๒ คือวันไหว้เทพเจ้าแห่งเตา หรือจะให้เร็วกว่านั้น ก็คือนับตั้งแต่วันที่ ๘ เดือน ๑๒ อันเป็นวันรับประทานโจ๊ก ๘ อย่าง(ล่าปาโจว : ข้าวต้มที่ต้มกับพืชนานาชนิด เช่น ถั่ว ผลจ้อ ข้าว เม็ดบัว เป็นต้น) คือการเปิดม่านแห่งเทศกาลตรุษจีน
วันที่ ๒๔ เดือน ๑– สมัยราชวงศ์ซ่งเรียกว่าเทศกาลผลัดปี ในวันนี้จะมีกิจกรรมดังนี้
1. มอมเหล้าเทพเจ้าแห่งเตา
ตามที่เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ ว่าในวันนี้เทพเจ้าแห่งเตาจะกลับขึ้นสู่สวรรค์ ๑ วัน รายงานเรื่องความดีเลวในโลกมนุษย์ เพื่อให้เง็กเซียนตัดสินลงโทษและปูนบำเหน็จ ดังนั้นผู้คนจึงมักจะเอากากเหล้าเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งเตา ทำให้เทพเจ้าแห่งเตาเมากลับสวรรค์ จะได้พูดถึงเลวร้ายให้น้อยๆหน่อย และรายงานเรื่องดีงามให้มากๆหน่อย บางตำราก็ว่าเอาขนมเข่งเซ่นไหว้ เพราะขนมเข่งเหนียว เทพเจ้าแห่งเตาจะได้ขนมติดปากพูดไม่ออก หรือไม่ก็เพราะขนมอร่อย เลยมัวแต่กิน ไม่มีเวลาพูด
2. จุดไฟไล่ความอัปมงคล
ในคืนวันนี้ ผู้คนทุกครัวเรือนจะพากันจุดไฟที่ใต้เตียงเพื่อขับไล่ความว่างเปล่ามือดสลัวอันเป็นสิ่งอัปมงคล และเพื่อต้อนรับสิ่งที่เป็นมงคล
3. ทำพิธีสวดมนต์
ในคืนวันนี้ จะมีการเชิญนักบวชมาทำพิธีสวดมนต์ เผากระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อเป็นอธิษฐานถึงความปรารถนาในการ “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่”
4. ทำความสะอาดบ้าน
จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนจนสะอาดเอี่ยมในวันนี้

วันสุดท้ายของเดือน ๑๒ โบราณกล่าวว่าเป็น “วันที่จันทร์อับแสงและปีสิ้นสุด” ดังนั้นจึงขนานนามว่า “ซุ่ยฉู” (ขจัดปี) และก็เป็นวันอำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วย คนโบราณหวังว่าวันนี้จะสามารถขจัดขับไล่ปิศาจแห่งโรคภัย(โบราณเชื่อว่า เมื่อผลัดปี เทพประจำตัวก็จะเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันเทพองค์เก่าที่ดูจะกลายเป็นผีร้ายไปเสียแล้วย้อนมาทำร้าย และต้อนรับเทพองค์ใหม่ จึงมีพิธีนี้ขึ้น) และนำมาซึ่งปีใหม่อันเป็นมงคลและได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงได้ขนานนามวันนี้ว่า ฉูเยี่ย(คืนแห่งการขจัด) , ฉูซี(คืนแห่งการขจัด) ,  ฉูรื่อ(วันแห่งการขจัด)
คืนฉูซี ถือเป็นคืนพิเศษที่ควบถึงสองปี ในคืนนี้จะมีกิจกรรมมากมาย ซึ่งมีจุดประสงค์อยู่ที่ ส่งท้ายปีเก่าและความอัปมงคลทั้งหลายและต้อนรับปีใหม่รวมทั้งสิ่งอันเป็นสิริมงคลทั้งหลายทั้งสิ้น เช่น พิธีขับไล่ปิศาจแห่งโรคระบาด , ติดกลอนคู่บนแผ่นกระดาษสีแดงตรงสองข้างขอบประตู , ตื่นตลอดคืนเพื่อต้อนรับปีใหม่
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 16:42

๒. ประเพณีเหยวียนต้าน(Yuan dan) หรือวันตรุษจีน
จากคืนฉูซีถึงเหยวียนต้าน(วันที่ ๑ เดือนอ้าย) ต่างต้องจุดประทัด หลังจากที่มีการค้นพบดินประสิวในสมัยราชวงศ์ซ่งแล้ว ประทัดจะทำจากกระดาษสีแดง เมื่อจุดแล้ว กระดาษสีแดงจะกระจายไปทั่ว แสดงความเป็นมงคล เมื่อเสียงประทัดดังขึ้น ไม่เพียงสามารถขับไล่ความอัปมงคล ทั้งยังเพิ่มบรรยากาศอันครึกครื้นแก่เทศกาลตรุษจีน กิจกรรมในวันนี้มี
๑. เยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูง
ในเช้าวันที่ ๑ เดือนอ้าย บรรดาผู้คนจะพากันสวมชุดใหม่ และแลกคำอวยพรกันระหว่างมิตรสหายและเพื่อนบ้าน เรียกว่า “ป้ายเหนียน” หรือ “ป้ายเจี๋ย”(ทักทายกันในวันปีใหม่)
๒. ติดยันต์ท้อ
คือการติดกลอนคู่อันมีข้อความเป็นมงคลที่เขียนลงบนกระดาษสีแดงลงบนสองข้างขอบประตู หรือติดรูปเทพเจ้าแห่งประตู เพื่อขับไล่ปิศาจร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ เรียกว่า “ยันต์ท้อ” (ถาวฝู : คนจีนเชื่อว่าไม้ท้อสามารถขจัดขับไล่ปิศาจได้)
๓. ดื่มสุราถูซู
สุราถูซูเป็นสุราที่หมักจากยาจีน ๘ ชนิด มีสรรพคุณในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ดื่มเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลำดับในการดื่มจะไม่เหมือนกับในปัจจุบัน โดยจะให้ผู้อ่อนวัยสุดดื่มก่อน เพราะเชื่อว่า ผู้ที่อายุน้อยที่สุดยิ่งจำเป็นต้องเติบโต ดังนั้นจึงควรดื่มก่อน ผู้สูงวัยดื่มมากไปทอนสุขภาพ แถมปีใหม่มีแต่แก่ลง จึงดื่มหลังสุด
๔.รับประทานอู่ซินผาน
เป็นการเอาผักที่มีรสจัดเช่น หอม กระเทียม กุยช่าย เป็นต้นหลายๆชนิดมารวมกันแล้วรับประทาน เพื่อเอาความหมายว่าต้อนรับสิ่งใหม่ๆ(พ้องเสียงกับคำว่า “ซิน” ที่แปลว่า “ใหม่”  แต่เขียนต่างกัน ตัว “ซิน” ของอู่ซินผาน แปลว่ารสจัด) จึงตั้งชื่อว่า “อู่ซินผาน” เพราะหากแปลเฉพาะเสียงอ่าน จะได้ว่า “จานที่รองรับสิ่งใหม่ๆนานาชนิด”
๕. รับประทานบะหมี่อายุยืนที่เส้นยาวเหยียด

สำหรับการให้เงินแก่ผู้เยาว์ในวันตรุษจีน ในตำราเล่มที่เปิดอ่านไม่มีกล่าวถึง แต่พอจะบอกได้ว่า เมื่อก่อนผู้ใหญ่จะวางไว้ใต้หมอนตอนเด็กหลับในคืนฉูซี เพื่อว่าเมื่อตื่นมาในวันปีใหม่ เด็กๆก็จะดีใจที่เห็นเงินปีใหม่ อันจะเป็นสิริมงคล
สำหรับข้อถือสาในวันตรุษจีน ก็มี
 ห้ามพูดคำอัปมงคล
 ห้ามกวาดบ้านเพราะกลัวว่าจะกวาดสิ่งมงคลออกไป
 ห้ามจุดไฟทำอาหารซึ่งในสมัยก่อนจะห้ามติดต่อกันหลายวัน(จึงต้องมีการเตรียมทำอาหารล่วงหน้าอย่างมโหฬารอยู่หลายวัน) ปัจจุบันห้ามแค่วันตรุษจีนวันเดียว
นอกจากนี้ ในวันตรุษจีนจะมีการกินปลากัน เพื่อจะได้มีความหมายว่า “มีเหลือกินเหลือใช้ทุกปี” เพราะคำว่า “ปลา” (อวี๋) จะอ่านออกเสียงเหมือนคำว่า “เหลือ” (อวี๋)

ส่วนอันนี้เป็นนิทาน
ว่ากันว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว จะมีสัตว์ร้ายตัวหนึ่งนามว่า “เหนียน”(ปี) ออกอาละวาดไล่กินคนทุกปี แต่มาวันหนึ่ง ตอนที่เหนียนโผล่มา ดูเหมือนจะบังเอิญมีคนตากผ้าแดงอยู่ เหนียนเห็นก็กลัว และมีเสียงปล้องไผ่ระเบิดขึ้น เหนียนก็กลัวอีก ส่วนเรื่องไฟ จำไม่ได้แล้วว่ามายังไง แต่เอาเป็นว่า ผู้คนได้เห็นแล้วว่า สัตว์ร้ายเหนียนกลัว “สีแดง เสียงดัง และไฟ” ดังนั้น ในวันตรุษจีนจึงมีการจุดประทัด และติดกลอดคู่ที่เขียนลงบนกระดาษสีแดงที่ข้างขอบประตู เพราะประทัดมีทั้งเสียงดังและสะเก็ ดไฟ ส่วนกลอนคู่ก็เขียนลงบนกระดาษสีแดงที่เหนียนกลัว จากนั้น เหนียนจึงไม่กล้ามาทำร้ายผู้คนอีกเลย

ส่วนที่เหลือ คือ วันที่ ๑๕ เดือนอ้าย เทศกาลจุดโคมไฟ ค่อยมาต่อค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 17:19

เอ้า - เสี่ยวเอ้อ ยกจานปลาหิมะนึ่งซีอิ๊ว ชิงเจินเสวี่ยะอวี๋ มาเสิฟได้ ขอเชิญทุกท่านรับประทานปลาครับ เหนียนเหนียนโหย่วอวี๋ ทุกปีจะได้มีกินเหลือกินเหลือใช้
เทศกาลโคม หยวนเซียว คือ 15 วันหลังตรุษจีน เมืองไทยเรียก ง่วนเซียว ซึ่งเป็นชื่อซีอิ้วยี่ห้อหนึ่งด้วย (อ้อ- ไม่ใช่ครับ ซี้อิ้วนั้นยี่ห้อง่วนเชียง) รายละเอียดรอคุณหลินมาเล่าต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 17:51

ขอย้ายจากกระทู้คุณ ด.เด็กมาที่นี่จะตรงกว่าค่ะ



ขอส่งความสุขปีใหม่จีนให้คนไทยเชื้อสายจีนหรือไม่ใช่จีนทุกคนค่ะ

เมื่อเช้ามืด ตื่นขึ้นมาเพราะเสียงประทัดเปรี้ยงปร้างจากบ้านใกล้เคียง

รถติดกันแน่นบนทางด่วน คนออกต่างจังหวัดกันเยอะ

เห็นตามหน้าร้านค้าตั้งเครื่องเซ่นไหว้ แต่ปีนี้ดูน้อย อาหารการกินไม่กี่อย่าง

เศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนแถวบ้านเลยเหงาๆ ไม่ค่อยกระตือรือร้นกันเท่าไร
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW311x004.gif'>
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 22:54

ก็ ขอให้มีความสุขกันทั่วหน้า กินขนมเข่ง ขนมเทียนกันให้อร่อยนะครับ
ว่าแต่เอ บรรพบุรุษผม (คนจีนเนี่ย)
ติดนิสัย แป๊ะเจี๊ย ยัดใต้โต๊ะ บนโต๊ะมาแต่โบราณจริง ๆ แฮะ แม้แต่เทพก็ยังติดสินบนเค้าไปหมดเนี่ย
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 ม.ค. 01, 12:12

คำตอบสุดท้าย เทศกาลโคมไฟ

๓. เทศกาลเหยวียนเซียว
วันที่ ๑๐ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือวัน “ลี่ชุน” หรือ “ย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ
วันที่ ๑๕ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือวันเทศกาลเหยวียนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟ หากเรียกตามลัทธิเต๋า ก็คือ “เทศกาลซ่างเหยวียน” คาดว่าเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น สมัยราชวงศ์ถัง(พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐) จะจัดให้มีเทศกาลนี้ ๓ วันติดต่อกัน มาถึงสมัยต้นราชวงศ์ซ่ง ก็ยืดออกเป็น ๕ วันติดต่อกัน ความหมายสำคัญของเทศกาลนี้ก็คือการขอพรให้ได้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์
ประเพณีนี้คาดว่าวิวัฒนาการมาจากการที่ชาวนาถากวัชพืชบนที่นามารวมกันเผา แล้วเริ่มต้นหว่านไถ ทำการเพาะปลูกครั้งใหม่ ประเพณีการแห่โคมมังกรในเทศกาลเหยวียนเซียวก็เป็นการยืนยันถึงการขอพรให้เก็บเกี่ยวได้ผลดีเช่นกัน อีกประการคือการจุดไฟเพื่อขับไล่โรคระบาด ทำให้ประเพณีจุดโคมได้แฝงความหมายของการขับไล่สิ่งอัปมงคลด้วย
ในสมัยราชวงศ์ถัง ในวันประเพณีเหยวียนเซียว ทางการจะสั่งยกเลิกข้อห้ามอันเคร่งครัดต่างๆภายในนครหลวง แล้วให้มีการแขวนโคมไฟตามวัดวาอารามและถนนหนทางไปทั่ว ทั้งยังสร้างร่างร้านร้อยฉื่อ(ประมาณ ๒๒ เมตร) เพื่อให้ประชาชนแต่งกายงดงามออกมาเที่ยวกันได้อย่างเต็มที่
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง บรรดาฮ่องเต้ดูเหมือนจะโปรดปรานการเล่นเทศกาลโคมไฟเป็นพิเศษ นับแต่ปฐมฮ่องเต้เจ้าควงอิ้นลงมาต่างก็เคยเป็นประธานจัดเทศการโคมไฟกันทุกองค์ ทั้งยังยืดเวลาจาก ๓ วันในราชวงศ์ถังออกเป็น ๕ วันด้วย
ในเทศกาลเหยวียนเซียวจะมีโคมไฟสารพัดแบบ เช่น โคมไข่มุก(เอาไข่มุก ๕ สีมาร้อยเป็นตาข่าย แล้วมีพู่ระย้าห้อยลงมา , โคมไร้กระดูก(คาดว่าเป็นโคมที่เอาเมล็ดข้าวใส่ถุงผ้าทำเป็นเชื้อไฟ ตัวโคมทำด้วยกระจก ผู้ใดทราบรายละเอียดมากว่านี้ช่วยอธิบายด้วยเถิด เพราะข้าเจ้าก็ไม่เคยเห็นเช่นกัน) , โคมหนังแพะ(คล้ายหนังตะลุง) , โคมม้าวิ่ง(เป็นโคมที่ตัดรูปคนขี่มามาแปะ ติดล้อ แล้วนำไปวางบนราง โคมจะวิ่งไปตามรางเพราะแรงดันอากาศจากภายในโคม) เป็นต้น ซึ่งบนโคมไฟเหล่านี้จะวาดคน , สัตว์ และดอกไม้(คงจะภาพทิวทัศน์ต่างๆด้วย)เอาไว้อย่างงดงาม บางโคมก็มีเขียนปริศนาคำทายพร้อมคำเฉลยที่ถูกปิดเอาไว้ด้วย(ดูเหมือนจะเริ่มมีในยุคราชวงศ์ซ่ง) และในวันเทศกาลเหยวียนเซียว ผู้คนจะพากันออกไปเที่ยวชมโคมไฟกันอย่างคับคั่ง
การเชิดสิงโตในเทศกาลเหยวียนเซียวมีวัตถุประสงค์ในการขับไล่โรคระบาดเช่นกัน การเชิดของทางเหนือกับทางใต้จะแตกต่างกัน ของทางเหนือ จะเป็นการสู้กันระหว่างสิงโตกับสิงโต ของทางใต้ จะเป็นการสู้กันระหว่างสิงโตกับคน
ในมณฑลหูเป่ยบางพื้นที่ ชายหนุ่มจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงแล้วออกมาร้องเพลงเด็ดใบชา ส่วนผู้หญิงจะแต่งกายเป็นสาวชาวนาออกมาแสดงการปักกล้า ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต่างแสดงความหมายปลูกฝังให้รักและขยันทำงาน ทั้งยังแฝงการขอพรให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
ในเทศกาลเหยวียนเซียวจะมีการกิน “ทังเหยวียน” ซึ่งคล้ายขนมบัวลอยลูกใหญ่สอดไส้(ไส้งาดำอร่อยมาก ชอบกินค่ะ ) เรียกอีกชื่อว่า “ฝูทังจึ” เข้าใจว่าจะร่วมกันกินทั้งครอบครัวเพื่อให้มีความหมายว่ารักใคร่กลมเกลียวกัน
เนื่องจากคำว่า “เติง”(โคมไฟ) และคำว่า “ติง”(ชายที่บรรลุนิติภาวะ)ออกเสียงคล้ายกัน(ความเขียนก็คล้ายกันด้วย) ดังนั้นจึงได้มีประเพณีมอบโคมไฟ หรือขโมยโคมไฟเพื่อเป็นเคล็ดให้ได้บุตรชายกันมาแต่โบราณ คนในสมัยซ่งเชื่อว่า โคมไฟในวันที่ ๑๕ เดือนอ้าย สามารถทำให้คนมีบุตรชายได้ หากสามีภรรยาไปขโมยโคมไฟบ้านคนอื่นด้วยกัน แล้วมาวางไว้ใต้เตียง จะตั้งครรภ์ภายในเดือนนั้น
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 ม.ค. 01, 16:22

รู้สึกขนมบัวลอยลูกใหญ่นี่ เมืองไทยจะเรียกขนมอี๋ ใช่ไหม?
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 ม.ค. 01, 19:46

ขนมอี๋เม็ดเล็กนะ คุณนิลฯ กินตั้งกะเล็กจนโต ไม่มีไส้อีกต่างหาก แป้งต้มดีๆนี่เอง เลยชอบไข่นกกระทาที่ใส่มาด้วยกันมากกว่า แหะๆ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ม.ค. 01, 01:12

ชอบอ่านมากค่ะ คุณ Linmou ขอบคุณมากนะคะที่อุตส่าห์มาแบ่งปันความรู้  วันหลังแวะมาอีกนะคะ  แปะที่นี่ไม่หายไปไหนค่ะ  แล้วกระทู้ก็ก็ไม่แออัดตกจอเร็วเหมือนที่อื่นด้วยค่ะ  จะได้เก็บไว้อ่านกันนานๆ
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ม.ค. 01, 07:26

ขอบคุณพวงร้อยมากค่ะที่เข้ามาอ่าน
ไม่ค่อยกล้าลงเพราะมันไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศเรือนไทยเท่าไหร่น่ะค่ะ
เกรงใจ
เลยมักจะกระจายกันลงแถวห้องสมุดกับมองอดีตมากกว่า
แต่ยังไง ก็ต้องลงเรื่องของ คังซี เฉียนหลง ยงเจิ้งให้ทันก่อนกลับบ้านแน่ๆล่ะค่ะ ตอนนี้กำลังไล่เก็บคำถามเก่าๆอยู่
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ม.ค. 01, 14:24

คุณเทาฯใจดีออกค่ะ  ขนาดเปิดร้านกาแฟให้คุยกันเรื่องฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ได้  จะเปิดมุมนำ้ชามาคุยกันเรื่องจีนๆนี่  คิดว่าคงไม่มีปัญหาหรอกนะคะ  
ใช่มั้ยคะคุณเทาฯ  ว่าไปแล้ว จีนไทยก็ใช่ไกลกันเท่าไหร่  มีความพัวพันเกี่ยวเน่ืองทางประวัติศาสตร์ต่อกันไม่น้อย  
ดิฉันเองมีหน้าภาษาจีนที่บันทึกเกี่ยวกับการระเบิดซุปเป้อรโนวา  ของเนบิวล่าดาวปู อยู่ ในปี คศ ๑๐๒๔  เดี๋ยวยังไงอยากจะแปะให้ดูน่ะค่ะ  
นี่เป็นบันทึกเกี่ยวกับซุปเป้อร์โนวาที่เก่าแก่ที่สุด  และมีประโยชน์ทางดาราศาสตร์มาก  เห็นมั้ยคะ  อะไรๆมันก็เกี่ยวพันกันได้อย่างคาดไม่ถึง  
รู้ไว้ใช่ว่าหรอกค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง