เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 33316 รุ้ง จิตเกษม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 19 พ.ย. 09, 10:46

แยกกระทู้มาจาก     

 http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3025.0

ถ้าหากว่าจะวิจารณ์ "เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ" ในเชิงวรรณกรรม   อย่างแรกที่ต้องลืมไปเลย  คือ เรื่องนี้มีพื้นฐานอยู่บนชีวิตจริงของม.ร.ว. นิมิตรมงคล
ถ้าจะจำข้อนี้  แล้วเอามาโยงเข้ากับหนังสือ  ก็คือวิจารณ์ว่า เรื่องนี้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ ในรูปของนวนิยาย อย่างไรบ้าง
คิดว่าคงมีคนกล่าวถึงในด้านนี้กันมากแล้ว   คือไปมุ่งข้อเท็จจริงที่สะท้อนอยู่ในนวนิยาย   ไม่ว่าความจริงทางยุคสมัย  หรือว่าความจริงในความรู้สึกนึกคิดของรุ้ง

เพื่อไม่ให้สับสนกัน  ดิฉันขอแยกกระทู้   
ส่วนท่านที่สนใจเรื่องนี้ในฐานะบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์    ก็เชิญแลกเปลี่ยนความเห็นกันต่อไปในกระทู้เดิมค่ะ
แต่กระทู้นี้ มอง "ความฝันของนักอุดมคติ" ในฐานะงานสร้างสรรค์ของนักประพันธ์   ว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
จึงแยกห้องมาสู่ห้อง "ชั้นเรียนวรรณกรรม"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 10:52

จากกระทู้เดิม
************************
ขอแนะนำให้ผู้อ่านเรือนไทย รู้จักชายหนุ่มชื่อ รุ้ง จิตเกษม   ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 
รุ้งเป็นปัญญาชนหัวกระทิของสยาม     เพราะเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง จบปริญญา B.Sc. F.G.S. จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
ถ้าหากว่ายังนึกไม่ออกว่ารุ้งเปรื่องปราดอย่างไร  ก็ลองสมมุติว่า ถ้าเป็นปี ๒๕๕๒  รุ้งก็จบปริญญาเอกจากอังกฤษละค่ะ

รุ้งเข้ารับราชการที่กระทรวงธรรมการ(กระทรวงศึกษาธิการ)  ในยุคที่ถือว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง" ต้องถือว่าอนาคตของเขารุ่งโรจน์อยู่มาก
ถ้าหากว่ารุ้งจะก้มหน้าก้มตาทำงานไป โดยไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง    รุ้งก็คงไต่ระดับได้ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ  บั้นปลายชีวิตราชการ คงจะได้เป็นอธิบดีเป็นอย่างน้อย จากวิชาความรู้ที่มี
แต่ความผันผวนในชีวิตของเขา เกิดขึ้น เพราะสำนึกที่มีต่อบ้านเมือง   รุ้งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะราษฎร์  ก็ลาออกจากราชการ    ต่อมาเมื่อมีกบฏบวรเดชเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๖  รุ้งแค่ไปขึ้นเวทีปราศรัยคัดค้านนโยบายรัฐบาล     ก็ถูกตำรวจจับ และถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต   แต่ได้ลดโทษลงมาเรื่อยๆจนเหลือแค่ ๔ ปีครึ่งก็เป็นอิสระ

ชีวิตของรุ้งก็ผันแปรไปหมดสิ้น  แม้ว่าเป็นอิสระออกจากคุกแล้ว      กลายเป็นว่ารุ้งสูญเสียทุกอย่าง  เริ่มต้นชีวิตอย่างมือเปล่า   
เสียคนรัก  เสียสถานภาพในสังคม  แม้แต่อนาคตก็ดูมืดมนและว่างเปล่า
แต่อย่างหนึ่งที่รุ้งไม่เสีย คือความฝันและอุดมคติ
*******************
ความรักครั้งแรกของรุ้ง เริ่มขึ้นกับหญิงสาวสวยชื่อ"สมส่วน"   เธอเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล   เป็น"ไฮโซ" ตัวจริงของสังคมสยาม
ความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ อ่านแล้วนึกถึงชีวิตรักของคนดังหลายๆคู่  ที่ฝ่ายชายฟันฝ่าขวากหนามจนกระทั่งชนะใจดอกฟ้า

แต่เมื่อชีวิตรุ้งผันแปร  ชะตาตก   สมส่วนก็ไปพบรักกับชายอื่น   จนถึงขั้นจะแต่งงานกัน    แต่วิวาห์ต้องยกเลิกเพราะเธอเกิดป่วยเป็นวัณโรค  เป็นโรคร้ายไม่มีทางรักษาหาย พอๆกับมะเร็งในยุคนี้
รุ้งได้รับอิสระ  ทันกลับมาเยี่ยมไข้และดูใจสมส่วน  เขาให้อภัย เฝ้าไข้ดูแลเธออย่างดี จนกระทั่งเธอจากไป

ความรักครั้งแรกของรุ้ง อ่านแล้วรู้สึกว่ารุ้งเป็น "นักฝันที่มีอุดมคติ" ในทุกเรื่อง ตั้งแต่ความรัก   ไปจนการงาน และการดำเนินชีวิต
ความรักของรุ้งเริ่มต้นแบบพระเอกวรรณคดีไทย   คือตกหลุมรักทันทีเมื่อแรกเห็นดวงหน้าแสนสวยของหญิงสาว     ความสวยเป็นสิ่งดึงดูดใจเต็มร้อย    ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยเหตุผลอื่น

" พอได้เห็นเธอ   ถ่านแห่งความรักในอกของเขาก็ถูกจุดเป็นไฟฉับพลันเหมือนสายฟ้าแลบ"

อดนึกสงสารรุ้งไม่ได้ ว่ารักผู้หญิงโดยไม่ได้คิดเลยว่าเธอเป็นคนยังไง   นิสัยใจคอเป็นยังไงก็ไม่รู้   จะไปกันได้ไหมก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้นก็เสี่ยงกับอกหักได้ง่าย
แต่นึกอีกที  นี่ก็คือความรู้สึกของพระรามเมื่อสบตากับนางสีดา  อิเหนาเมื่อเห็นบุษบา   พลายแก้วเห็นนางพิม  โรมิโอเห็นจูเลียต   ฯลฯ   ก็ไม่เห็นพระเอกพวกนี้จะอกหักสักคน    รุ้งก็คงเชื่อมั่นแบบเดียวกันละมัง

ผู้ประพันธ์ไม่ได้บอกว่ารุ้งเป็นคนหล่อ  ในฉากแรกเมื่อเขาพ้นโทษ   บอกแต่ว่า "รูปร่างค่อนข้างสูง ลีบเล็ก ผอมบาง คิ้วตก  หน้าแห้งคล้ายคนอดอาหารและอดนอน" 
นักโทษที่ผ่านความตรากตรำมาสี่ปีครึ่ง คงจะหาความหล่อได้ยาก   แต่เมื่อเขายังเป็นดาวเด่นในกระทรวงธรรมการ   บุคลิกของนักเรียนนอกจากอังกฤษยังเป็น"ออร่า" อยู่ทั่วร่าง   ท่วงทีของรุ้งสง่างามดุจเจ้าชายในเทพนิยาย  เมื่อเขาเดินเข้าไปแนะนำตัวและขอเต้นรำกับสมส่วนในงานราตรี    ไม่ต้องรอให้ใครแนะนำ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 10:55

การวิจารณ์วรรณกรรม ถือว่า ตัวละครเป็นหลักสำคัญของนวนิยาย เรื่องสั้นและบทละคร   ตัวละครที่ดี ไม่ใช่ตัวละครที่ประกอบคุณงามความดี ไม่มีที่ติ    แต่เป็นตัวละครที่สร้างได้ลึก มีมิติ จนดูเหมือนมีชีวิตจิตใจ    จะดีหรือจะชั่ว จะเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ก็ไม่สำคัญ     
แต่ตัวละครยิ่งใหญ่นั้นจะซับซ้อน มีนิสัยหลายด้านในตัว ให้คนอ่านสัมผัสได้เหมือนเป็นคนจริงๆ      เพราะความลึกนี่เองทำให้คนอ่านจะรู้สึกรัก หรือเกลียด หรือเวทนา หรือเอ็นดู ก็แล้วแต่   
ยิ่งตัวละครมีความลึกในตัวมาก    ความรู้สึกของคนอ่านก็ยิ่งซับซ้อนตามไปด้วย  เช่นทั้งรักทั้งเกลียด   ทั้งเอ็นดูทั้งรำคาญ  ทั้งชอบและไม่ชอบฯลฯ

เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคล พารุ้งออกมาให้รู้จัก   อย่างแรกคือไม่ต้องไปพะวงว่ารุ้งคือตัวผู้ประพันธ์หรือมิใช่    ข้อนี้การวิจารณ์วรรณกรรมไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ     ตัวละครแม้มีพื้นฐานมาจากคนจริงๆคนไหนก็ตาม  แต่เมื่อเขาเป็นตัวละคร  เขาก็มีชีวิตจิตใจของเขาเอง

ด้วยเหตุนี้  จึงต้องอารัมภบทเสียยาว เพื่อจะบอกว่าผู้ประพันธ์สร้างรุ้งได้ละเอียดลออดี   จนทั้งๆมองรุ้ง  เห็นหลายๆอย่างแง่บวก ก็ไม่วายเห็นในแง่ลบ ในหลายเรื่องด้วยกัน

ที่สำคัญก็คือ เมื่อแยกรุ้ง จิตเกษม ออกจากม.ร.ว.นิมิตรมงคลให้เห็นชัดเจนแล้ว   ผู้วิจารณ์ก็จะสะดวกใจว่า กำลังวิจารณ์ตัวละคร     ไม่ได้วิจารณ์ตัวม.ร.ว. นิมิตรมงคล
อันอาจจะก่อความลำบากใจแก่บุคคลจริงๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่านได้  ถ้าหากเหมารวมกันไปว่า รุ้ง คือ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล   
เพราะถึงจะมีแรงบันดาลใจมากมายอย่างไรก็ตาม  เราก็ไม่ถือว่าตัวละครในนิยาย คือตัวจริงของบุคคลผู้เป็นที่ก่อกำเนิด  แยกไม่ออกจากกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 11:26

ฉากแรกของเรื่อง เริ่มที่วันพ้นโทษของรุ้ง จิตเกษม   เขานั่งอยู่ตรงหน้าผู้อำนวยการเรือนจำบางขวางด้วยท่าทีเรียบร้อยสำรวม      การบรรยายรูปร่างหน้าตาภายนอกของเขา  ค่อนข้างธรรมดา    ผู้เขียนไม่ได้เน้นความสำคัญ จากการบรรยายตาหูจมูกปาก  หรือรูปร่าง 
แต่ความโดดเด่นของรุ้ง จิตเกษม อยู่ที่ " ภายใน"   
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล    แนะนำรุ้งให้คนอ่านรู้จัก   ด้วยลีลาภาษาง่ายๆ ชัดเจน แต่ "ไม่ธรรมดา" เลยทีเดียว
เป็นการแนะนำความ "ไม่ธรรมดา" ของผู้ชายคนนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

" หน้าแห้งคล้ายคนอดอาหารและอดนอน    แต่สีหน้าเขาบอกชัดลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า  สิ่งที่เขาอดจริงๆ คือความพอใจ

เราจะไม่เห็นชั้นเชิงภาษาแบบนี้ ในนิยายโดยมาก  ที่มักบรรยายตัวละครไว้เพียงชั้นเดียว แค่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 11:45

ถูกแล้วครับ

ความฝันของนักอุดมคติ เป็นนิยาย คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า ความฝันของรุ้งจะเกิดได้จริงก็แต่ในเมืองในนิยาย เมืองที่นิมิตรขึ้นมาเท่านั้น

คนอย่างรุ้ง เก่งเกินไป ตรงเกินไป ดีเกินไป เกินไปเสียจนเป็นคนที่ "ปัญญาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด"....กระนั้นหรือ?

เราต้องหาคำตอบตรงนี้

การที่คนทุกวันนี้ ทิ้ง หรือไม่เคยมีอุดมคติ อาจจะเป็นเพราะเห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เพื่อหาความสุข ความสำเร็จ

เราควรมีคำตอบว่า อุดมคติยังเป็นสิ่งจำเป็นในคุณสมบัติของพลเมืองในยุคปัจจุบันหรือไม่

หรือเข็มทิศที่จะชี้นำเยาวชนของรุ้ง ใช้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 12:06

นวนิยายไทยน้อยเรื่องมาก ที่จะตั้งคำถามให้คนอ่านคิดว่า คนเราเกิดมาเพื่ออะไร 
ส่วนใหญ่ ถ้าเจอคำถามนี้ คนไทยจำนวนมากจะอึ้ง แล้วตอบ-บางทีก็ด้วยน้ำเสียงไม่มั่นใจ   ว่า- เกิดมาใช้บุญใช้กรรม

น้อยคนนักจะรู้สึกว่าคำถามนี้  คือการกระตุ้นสำนึกว่า เกิดมาชาติหนึ่ง นอกจากใช้บุญใช้กรรมอันเป็นเรื่องส่วนตัวของเราโดยเฉพาะแล้ว
ที่ยืนเล็กๆของเราในโลก ที่ไม่ซ้ำบนที่ยืนของใครอื่น      เรามีบทบาท และมีส่วนทำอะไรให้โลก หรือย่อลงมาก็คือสังคมที่ล้อมรอบเรา  ได้รับอานิสงส์จากการเกิดมาของเราบ้างไหม

หรือว่า ขอเพียงแค่เกิดมา ใช้เวลากี่สิบปีก็ตาม หายใจไปแต่ละวัน  เลี้ยงชีพไปแต่ละวัน   พยายามทำตัวให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม แบบพลเมืองดีของชาติ    เพื่อจะได้รับผลดีสะท้อนกลับมาสู่ชีวิต ในฐานะสาธุชน
พอแก่ชราถึงวัยแล้ว ก็ละสังขารไปสู่สุคติ     
หลังจากนั้นนอกจากลูกหลานทำบุญครบรอบปีให้แล้ว  คนภายนอกก็คงไม่มีใครจดจำได้อีก

ชีวิตพลเมืองดีเหล่านี้  อาจจะสุข และสบายกว่าคนอย่างรุ้ง จิตเกษม  หลายเท่า    แต่ในเมื่อรุ้ง ไม่ใช่คนแบบนั้น   ถึงเขาไม่สุข และไม่สบาย แต่เขาก็มีชีวิตยั่งยืนมา  ให้เราได้ทำความรู้จักจนถึงวันนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 12:13

ในฉากแรกของเรื่อง  รุ้งพูดสั้นมาก   ประโยคแรกที่เราได้ยินเขาพูด คือเขาบอกชื่อและนามสกุล
"รุ้ง จิตเกษมขอรับ"
ต่อมาคือ
"ผมขอบใจรัฐบาลมาก"
ต่อคำบอกเล่าว่าเขาถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ
เมื่อผู้อำนวยการเรือนจำชี้แจง ร่ายยาวเสียกว่าครึ่งหน้ากระดาษ   รุ้งก็ตอบเพียงว่า
" กระผมเข้าใจดีแล้วขอรับ"
หลังจากนั้น ผอ. ก็ให้โอวาทต่อไปอีกครึ่งหน้า   ได้คำตอบว่า
" กระผมขอบพระคุณ"

๔ ประโยคสั้นๆของรุ้ง ตรงข้ามกับโอวาทยาวเหยียดน้ำไหลไฟดับของผู้อำนวยการ      บอกให้เรารู้ได้โดยผู้เขียนไม่ต้องมาอธิบายซ้ำ ว่า สองคนนี้  ใครมีความลึกในความคิด และความเข้าใจ มากกว่ากัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 18:46

อิสรภาพของนักโทษบางขวางคดีกบฎอย่างรุ้งเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลมีความมั่นใจแล้วว่า
“รัฐบาลมั่นคงมาก รัฐบาลปล่อยพวกคุณ ก็เพราะไม่กลัวว่าจะเกิดกบฏอีก”

แม้ว่าสันติบาลไม่เห็นด้วยเลย คนพวกนี้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

 “มันพยายามเกลี้ยกล่อมหาพวกพ้องคิดโค่นล้มรัฐบาลอยู่เสมอ”

สิ่งที่นายตำรวจประเภทนี้มีความคิดในหัวสมองก็คือ

“เราต้องช่วยกันป้องกันผู้นำของพวกเรา ถ้าท่านปลอดภัย ไทยทั้งชาติก็จะเป็นสุข”

ก็เป็นความจริงอยู่บ้าง คนที่ยังไม่อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษในครั้งนี้ บางคนได้พูดกับรุ้งว่า รุ้งคงจะไม่เป็นเช่นพวกที่ออกไปแล้วหายหัวไปเลย หวังว่ารุ้งคงจะเป็นลูกผู้ชายจริง ไม่เหมือนคนอื่น เมื่อถามว่าจะให้ทำอย่างไร

“กู้เกียรติน่ะสิครับ  จะทำอะไรก็ได้แล้วแต่โอกาสและน้ำใจ………….”

ซึ่งรุ้งก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ การที่รุ้งถูกมองว่าเป็นนักการเมืองทำให้รุ้งต้องเสวยเคราะห์กรรมมาโดยตลอด ในยุคนั้น “ นักการเมืองที่ไม่พูดคล้อยตามรัฐบาลก็คือกบฏ  และกบฏที่กลับใจก็คือคนทรยศต่อตนเอง”

สิ่งที่รุ้งเห็นประจักษ์ก็คือ ความรักชาติของคนทั้งสองฝ่าย ก็คือดวามรักตนเองทั้งสิ้น สิ่งล่อใจให้คนพวกนี้ทำงานเพื่อชาติ รวมทั้งงานกบฏก็คือ รางวัลความชอบและชื่อเสียง เมื่อเขามั่งคั่งสุขสบายก็คือชาติเจริญ เมื่อเขาลำบากหรือต้องติดคุก เขาก็ว่าชาติกำลังมีภัย

สันดานนักการเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยน อันนี้รุ้งไม่ได้ว่า ผมว่าเอง
บันทึกการเข้า
kaew48
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 19:53

เข้ามาอ่านกระทู้นี้ด้วยความสนใจค่ะ
บันทึกการเข้า
kaew48
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 20:00

อุดมคติเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ ในยุคนี้ไม่รู้จักค่ะ

มันให้ผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะต้องฝืนสัญชาตญาณของมนุษย์ค่อนข้างมาก

ยิ่งในยุคทุนนิยม อุดมคติเป้นอุปสรรคต่อการทำมาหากินอย่างมาก

ดิฉันเคยอ่านเรื่องนี้ ในช่วงปี 2517 ซึ่งตอนนั้นยังไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก ถ้าได้มีโอกาสอ่านอีกสักครั้ง

คงจะดี ....
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 20:35

อ้างถึง
อุดมคติ....ให้ผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะต้องฝืนสัญชาตญาณของมนุษย์ค่อนข้างมาก

ยิ่งในยุคทุนนิยม อุดมคติเป้นอุปสรรคต่อการทำมาหากินอย่างมาก


สังคมทุกวันนี้อยู่ได้เพราะไม่ใช่ทุกคนคิดอย่างที่ว่านะครับ
ยังมีผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นอีกมากมาย แม้เขาเหล่านั้นอาจจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีผลกำไร

ถ้าจะวัดความสำเร็จในชีวิตที่ความสุขกายสบายใจ  นับไม่ถ้วนเลยนะครับที่จะหาคนที่ถึงจุดนี้
แต่ถ้านับที่จำนวนเงินในธนาคาร ก็ไม่แน่นะครับว่าเศรษฐีมหาเศรษฐีจะมีความสุขที่จะต้องระวังรักษาตัวเลขให้เท่าเดิม หรือให้เพิ่มขึ้นได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 20:36

ก่อนที่รุ้งจะทำอะไรลงไปที่เรียกว่าเป็นกบฏนั้น รุ้งพิจารณาว่าทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน ถ้าชาติเผชิญอุปสรรคไม่อาจอยู่ในหนทางที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ลูกหญิงลูกชายของชาติจะดูดายแล้วโทษว่าเป็นเคราะห์กรรมของชาติเองกระนั้นหรือ

“ถ้าคนอย่างรุ้งก็ทอดทิ้งนิ่งดูดาย จะหวังให้ใครเล่าเป็นผู้ออกกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังใจ?”

นั่นเป็นแนวคิดแบบนักการเมือง เมื่ออยู่ในคุก วิญญาณของนักวิทยาศาสตร์ก็คืนกลับมา เมื่อรุ้งถามตนเองว่า
“อนาคตของเรา อยู่ในมือของเราจริงหรือ”

รุ้งหาคำตอบได้เองว่า ธรรมชาติยังมีอำนาจเหนือมนุษย์อยู่ เช่นความร้อน ความหนาว ความชื้น ที่บังคับให้มนุษย์ดัดแปลงตนเอง ยิ่งกว่านั้น คือสิ่งแวดล้อม กล่าวโดยสรุป มนุษย์ย่อมมีชีวิตภายใต้อำนาจของสิ่งแวดล้อม

ความวิเวกในบางขวางได้นำปัญญามาสู่รุ้งว่า การที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกบฏคือความเขลา รัฐบาลใดก็ตามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโจราธิราช รักชาติหรือล้างชาติ เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนหรือตนเองก็ดี ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเหล่านั้นจะตั้งตนขึ้นมาได้โดยปราศจากอิทธิพลอื่น ที่เรียกว่าอำนาจของสิ่งแวดล้อม

สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณายาสิทธิราชก็ด้วยอำนาจกระแสนิยมของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อาจต้านทานได้ เป็นประเทศสุดท้ายที่ยังไม่ทันลงตัวยุโรปก็เกิดลัทธิฟัสซิสม์ขึ้น และไม่ช้าไม่นานก็ระบาดฝังใจคนหนุ่มทั่วโลก แพร่มาถึงเมืองไทยขนาดมีผู้เห็นรัศมีพวยพุ่งออกมาจากท่านผู้นำเข้าให้แล้วเหมือนกัน

แม้หากว่าฝ่ายกบฏจะชนะ และรุ้งเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของนักการเมืองฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช แต่การจัดระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องล้มเหลวอยู่ดีภายใต้สิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความขัดข้องนานัปการ

รุ้งไม่ได้พูดว่า ในระบอบประชาธิปไตย คนหยอดบัตรเป็นเช่นไร ก็ได้รัฐบาลเช่นนั้น ประชาชนคือสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งในการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศนั้นๆ
ผมพูดเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 พ.ย. 09, 20:49

ถ้ารุ้งยังมีชีวิตต่อมาจนถึงวันนี้   เขาจะเป็นสุขกับสยามในวันนี้ ขึ้นบ้างหรือยัง?
คำถามนี้ ถามลอยๆค่ะ    มันแวบขึ้นมาเมื่ออ่านข้อความนี้

อ้างถึง
สังคมทุกวันนี้อยู่ได้เพราะไม่ใช่ทุกคนคิดอย่างที่ว่านะครับ
ยังมีผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นอีกมากมาย แม้เขาเหล่านั้นอาจจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีผลกำไร

รุ้งเป็นคนพูดน้อยกว่าคิด   บทที่ ๒ จึงมีความคิดยาวเหยียดของรุ้ง เป็นตัวเดินเรื่อง    แต่มีบทพูดอยู่ประโยคเดียว

สี่ปีครึ่งในบางขวางไม่ได้ผ่านไปอย่างซึมเซา มีแต่รอเวลาได้รับอิสรภาพ   รุ้งใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์อย่างปัญญาชนอยู่ตลอดเวลา
ในที่สุดเขาก็รู้สึกว่า  แม้ปฏิวัติมาหลายปีแล้ว สยามก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง   ต่อให้การสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกบฏบวรเดชจะพลิกผัน    ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นฝ่ายชนะ
เขาก็ยังไม่เชื่อว่าสยามจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยไปได้
เพราะตอนนั้นระบอบการเมืองที่ฉายแสงขึ้นมาแทน  คือฟาสซิสม์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 พ.ย. 09, 06:56

รุ้ง เป็นคนที่บรรจุความรู้สึกนึกคิดไว้ในตัวตนมากมาย ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานมาจากด้านวิทยาศาสตร์ เขาพูดออกมาแต่ละครั้ง คนฟังมักจะอ้าปากค้าง

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่รู้กี่สิบครั้ง อ่านครั้งแรกจำไม่ได้ว่าเมื่อไร เจอบทที่๒เข้าไปก็เลิกแล้ว ตอนนั้นบ้าอ่านของป.อินทปาลิต (ท่านผู้นี้น่าจะเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับม.ร.ว. นิมิตรมงคล แต่ชิงออกมาเสียก่อนจะได้เป็นนายทหาร พล นิกร กิมหงวนของท่านมีคุณูปการต่อการอ่านหนังสือแตกของผมมาก) คิดว่าอ่านความฝันของนักอุดมคติจบเล่มตอนชั้นมัธยม๓ แต่ก็ข้ามๆตอนที่เข้าใจยากไปเยอะ

ม.ร.ว. นิมิตรมงคลเป็นนักเขียนประเภทหมอหนังสือ คือจะให้ยาคนไข้แต่รู้ว่ายานั้น ถึงจะมีประโยชน์แต่รสชาดมันขม จึงต้องเคลือบน้ำตาลไว้ทีละชั้นๆ หลอกให้ผู้ชอบรสหวานกินเสพย์เข้าไปก่อน และรสขมจะมีโอกาสได้ซึมซาบ นักเขียนรู้ดีว่ารสขมล้วนๆ ภาษาหนังสือเขาเรียกว่าตำรา คนไข้หนักเท่านั้นที่จำเป็นต้องเสพย์

มาอ่านทั้งเรื่องโดยไม่ข้ามหน้าใดเลยก็ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วมั้ง แต่กระนั้น คำคมของรุ้งที่ผมชอบจะเป็นประเภท “ความรักเบิกบานในความลับ เบิกบานออกในอาการกึ่งปกปิด และร่วงโรยในอาการเปิดเผย” ตอนนั้นก็มีภาคปฏิบัติให้เทียบเคียงกันด้วย เลยซึ้งใจมาก ยังดีกว่าตอนอยู่มัธยมต้นนิดนึง ตอนนั้นชอบที่รุ้งตอบอุไรวรรณ “ทำไมผู้ชายจึงชอบเดินตามผู้หญิง-ก็ ผู้หญิงชอบเดินหนีเรา”

อ่านอีกทีเมื่อเป็นนิสิตแก่พรรษา ชอบบทวิพากษ์ด้านการเมืองของรุ้ง อย่างเช่น “ลัทธิของกษัตริย์โบราณและลัทธิของกษัตริย์ไม่สวมมงกุฏอย่างฮิตเลอร์(บุคคลร่วมสมัยของรุ้ง)คือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย ลัทธิประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็นกันในยุโรปบางประเทศ(รวมถึงเมืองไทยร่วมสมัยของคนอ่านตอนนั้น ที่เจอทั้งสองเด้ง อย่างแรกด้วย) คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก และการปกครองแบบคอมมูนิสต์ในรัสเซีย (ที่มีผู้นำเสนอทางเลือกนี้เข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว) คือการกดขี่คนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกรโดยหัวหน้ากรรมกร”
และนั่นเป็นที่มาของการเสนอยาขมที่สุดของรุ้งต่อผู้อ่าน คือระบบการปกครองทีใช้วิธีการเช่นเดียวกับองคาพยพ สมองของมนุษย์ไม่เคยสั่งการให้สังหารจุลินทรีย์ที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์นั้นเลย มีแต่เยียวยาจนสุดความสามารถหากมีอะไรผิดปกติไป รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลของประชาชนก็น่าจะกระทำเช่นรัฐบาลแห่งองคาพยพของมนุษย์นั้น

มันช่างเป็นอาหารสมองของวงสนทนาเมื่อยามเราหาเรื่องซีเรียสๆมาถกเถียงกัน เปล่า ไม่มีใครคิดจะปฏิวัติโลกให้เป็นอย่างที่รุ้งชี้หรอก ตอนนั้นเราเพียงแต่คิดว่า เมื่อไหร่ทหารไทยจะเลิกอยากเป็นนายกรัฐมนตรีเสียที
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 พ.ย. 09, 10:18

อ้างถึง
“ความรักเบิกบานในความลับ เบิกบานออกในอาการกึ่งปกปิด และร่วงโรยในอาการเปิดเผย”

-ขอประทานโทษ ขอแก้ที่ผิดครับ ที่จริงแล้วต้องเป็น

ความรักย่อมงอกงามในความลับ เบิกบานออกในอาการกึ่งปกปิด และร่วงโรยลงในอาการเปิดเผย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง