เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 33351 รุ้ง จิตเกษม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 13:40

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับที่ให้คะแนนยกที่1ผ่าน

ความเชื่อของรุ้งที่ว่า" มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง      ถ้าหากเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขา ไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย" ตัวแทนของรุ้งก็ยังไม่เห็นว่า ความเชื่อดังกล่าวจะขัดแย้งกับพุทธวัจนะตรงไหน

พระพุทธเจ้าทรงจำแนกมนุษย์ไว้ตามระดับสติปัญญา โดยการเปรียบเทียบกับบัวในสระถึง4ระดับ ได้แก่บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำ และบัวใต้โคลนตม อันนี้ทรงหมายเฉพาะสติปัญญาที่จะเข้าใจธรรมะขั้นปรมัต บัวพ้นน้ำได้แก่พระอรหันตสาวกทั้งหลายที่เข้าใจธรรมะที่พระองค์ทรงชี้แนะ และนำไปปฏิบัติจนหลุดพ้นได้ด้วยตนเองแล้ว บัวปริ่มน้ำและบัวใต้น้ำคือพวกที่ตื่นแล้ว และเข้าใจธรรมะมากขึ้นตามลำดับ ส่วนบัวใต้โคลนตมคือพวกที่ปฏิเสธ ไม่เชื่อ ไม่สนใจ ไม่ฟัง ไปจนถึงขนาดไม่รับรู้ดีชั่วอะไรทั้งสิ้น

ในโลกนี้ พวกบัวที่พ้นโคลนตมขึ้นมาได้ก็ยังมีน้อยนิดจนนับเป็นเปอร์เซนต์ไม่ได้ เมื่อเปรียบกับประชากรทั้งหมด ในเมืองไทยที่อ้างว่าเป็นเมืองพุทธก็เถอะ จะหาบุคคลที่มีวัตรปฏิบัติเป็นพุทธแท้สักกี่เปอร์เซนต์ คนส่วนใหญ่มักจะชอบไหว้ผี ไหว้สิ่งประหลาดเพื่อขอหวย พวกหนึ่งที่เข้าวัดไหว้พระก็เพื่อจะหนีความทุกข์ หวังว่าทำบุญแล้ว กุศลจะส่งผลตอบแทนให้พ้นทุกข์ด้วยความร่ำรวย คิดว่ามีเงินแล้วจะมีความสุข พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเช่นนั้น ท่านสอนให้รู้จักทุกข์ สอนให้รู้ว่าทุกข์เกิดเพราะเหตุใด สอนว่าทุกข์ดับเพราะเหตุใด และสอนว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อสร้างเหตุให้ทุกข์นั้นดับไปอย่างชั่วนิรันดร์ คำสอนนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นธรรมะแท้ๆเรียกว่าอริยสัจจ์ 4 มนุษย์เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะนี้ของพระพุทธองค์นี้แล้ว มีความเข้าใจ ใกล้จะเข้าใจ ยังไม่เข้าใจ สนใจ ไม่สนใจ อย่างไร รวมจำแนกได้เป็น 4 ระดับดังกล่าวแล้ว

บัวทั้ง4ระดับ จึงไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติในทางโลกๆของมนุษย์เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทักษะ (skills)  หรือฝีมือ (talent) ในด้านคุณธรรม (merit) อาจเกี่ยวบ้าง แต่มนุษย์ที่มีคุณธรรมสูง ทว่าฟังธรรมะเรื่องอริยสัจจ์แล้วสั่นหัวไม่เอาก็มีมากมายนับไม่ถ้วน พวกที่เก่งกาจในทางโลก เป็นคนดีศรีสังคม เป็นเจ้าของรางวัลโนเบล มีผลงานเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันนับอนันต์ แต่ด้วยความไม่รู้(ที่เรียกว่าอวิชชา)ไม่เข้าใจในอริยสัจจ์ พวกนี้ก็จะกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เผชิญกับความทุกข์แบบที่คนดีๆจะต้องเจอะเจอ ทำงานต่อสู้เพื่อผู้อื่นต่อไปอีกกี่ภพกี่ชาติไม่รู้จักจบจักสิ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 13:55

 
อ้างถึง
"มนุษย์ทุกคนย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง      ถ้าหากเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขา ไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย"


คุณสมบัติชั้นเลิศที่ว่า   รุ้งหมายถึงอะไรคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 20:14

คำถามสั้นๆ แต่ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่านทั้งบริบท

“มนุษย์ทุกคน” รุ้งพูดช้าๆ “ย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าเขามิใช่คนเด่นก็ด้วยเหตุคุณสมบัติของเขาไม่ต้องกับความนิยมของชนแห่งสังคมตามกาลสมัย เฉพาะสมัยนี้ผู้ที่เขานิยมกันว่ามีคุณสมบัติสูงสุด กับมีคุณสมบัติต่ำสุดนั้นคล้ายกันมากที่สุด ผู้ร้ายใจฉกรรจ์กับตำรวจผู้สามารถ คนจรจัดกับนักปราชญ์ หรือคนมีบาปหนากับพระอรหันต์ เหล่านี้อาณาเขตของจิตใจอยู่ติดกัน คนอย่างพี่เธอคงเห็นแล้วว่าเป็นกบฏที่อาจเป็นรัฐมนตรี และเป็นขอทานที่อาจกลายเป็นเศรษฐี ฐานะของพี่ในปัจจุบันนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำทุกทาง และเกณฑ์สูงเป็นเพียงความฝัน…..”

รุ้งหมายถึงคุณสมบัติทั่วๆไปกระมังครับ ไม่ว่าจะเป็นทักษะ (skills)  ฝีมือ (talent)  หรือคุณธรรม (merit) และอื่นๆ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือรวมกัน  ดังนั้นพวกบัวใต้น้ำใต้โคลนตมก็อาจมีคุณสมบัติชั้นเลิศเช่นนี้ได้  ลองมาดูตัวอย่างของรุ้งกัน

ผู้ร้ายใจฉกรรจ์กับตำรวจผู้สามารถ
คุณสมบัติที่ว่าอาจจะเป็นดังที่ภาษานวนิยายเรียกว่า “ใจเพชร” เอาไปทำเป็นพระเอก หรือผู้ร้ายก็ได้ทั้งคู่

คนจรจัดกับนักปราชญ์ พวกนี้อาจมีคุณสมบัติทางสมองชั้นเลิศที่ล้ำหน้าคนทั้งปวงไปจนพูดให้เขาฟังไม่รู้เรื่อง หากเป็นเช่นนั้น ถึงเป็นนักปราชญ์ก็จะกลายเป็นคนจรจัดเอาได้ง่ายๆ

 
คนมีบาปหนากับพระอรหันต์ ผมยกตัวอย่างกรณีย์องคุลีมาลก็แล้วกัน ท่านมีพื้นฐานจิตใจดีมาก่อนแต่ถูกอาจารย์หลอกให้ไปฆ่าคน จึงไม่ถึงกับอยู่ใต้โคลนตมเพราะได้ฟังธรรมะจากพระโอษฐ์ก็ยอมรับฟัง ชั่วขณะจิตที่เข้าใจ ก็เข้าถึงการเป็นอรหันต์ ตัดเวรตัดกรรมทั้งหมด (แต่พระองคุลิมาลยังคงต้องรับผลวิบากจากการฆ่าเขาอยู่นะครับ ท่านไปไหนก็ถูกขว้างปาบาดเจ็บสาหัสตลอด สุดท้ายโดนโจรทุบจนแหลกเหลวทั้งร่างจึงได้นิพพาน)

ในบริบทนี้รุ้งไม่ได้คุยถึงการวัดความเหมาะสมในการจัดคนในรัฐอุดมคตินะครับ แต่กำลังโน้มน้าวความคิดของเด็กสาวผู้หนึ่ง ไม่ให้มาหลงรักตน ให้ยอมรับรักอีกบุรุษหนึ่งจะดีกว่า ตัวอย่างที่กล่าวมาจึงฟังเหมือนรุ้งประชดๆตนเองชอบกล
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 20:34

ขอบคุณสำหรับวิสัชนาค่ะ     

ดิฉันเห็นด้วยว่ารุ้งกำลังกล่อมสมทรงให้รับรักผ่อง อย่ามาหลงรักเขา    บางทีคำพูดของรุ้งอาจหมายความว่า ผ่องเองก็มีอะไรดีไม่แพ้เขาเหมือนกัน

ความคิดของดิฉันแตกแขนงไปอีกทางหนึ่งหลังโพสต์คำถามแล้ว   แต่ยังไม่ตอบเอง  รอว่าคุณ N.C. จะเห็นว่าอะไร 

มนุษย์ทุกคน” รุ้งพูดช้าๆ “ย่อมมีคุณสมบัติชั้นเลิศประจำตัวมิทางใดก็ทางหนึ่ง
ทำให้นึกเลยไปถึงโครงการศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ   ทรงเลือกช่างศิลปาชีพจากเด็กยากจนที่สุดในหมู่บ้านต่างๆ  ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีหัวทางช่าง    เพราะทรงเชื่อว่าคนไทยมีศิลปะอยู่ในสายเลือด สามารถฝึกฝนได้

แล้วก็เป็นความจริง    เด็กพวกนี้ ผลิตงานช่างที่งดงามเชิงศิลป์ออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 20:50

เล่าเรื่อง ต่อ
อุไรวรรณเล่นเปียโนให้สามีและลูกฟังเสมอ     อำนวยผู้แวะมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆก็ได้ฟังด้วย    เขาสนทนากับรุ้งเรื่องดนตรี
ซึ่งรุ้งเชื่อว่า กวีมักเป็นผู้ไม่รู้รสดนตรี   
เมื่อรุ้งนำไปคำนึงก็เห็นมีคำไขอยู่ในชีววิทยา     ซึ่งปรากฏว่ามนุษย์บางพวกคิดด้วยวิธีนึกเห็นภาพ      และบางพวกคิดด้วยวิธีนึกได้ยินเสียง    พวกแรกนั้นถ้าใครเล่าเรื่องให้เขาฟัง    เขาต้องนึกเห็นภาพตามคำเล่านั้นได้   มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจเลย   แต่พวกหลังต้องนึกได้ยินเสียง    พวกหลังนี้ที่มีประสาทไวอย่างสูงสุด  ก็คือนักดนตรี     และพวกแรกที่มีประสาทไวก็คือพวกนักประพันธ์และกวี (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ หน้า ๑๑๕)

ความคิดของรุ้งนี้ ดิฉันได้แต่ตีความแบบนี้

สมมุติใครบรรยายเรื่องทะเลให้สุนทรภู่ฟัง โดยท่านไม่เคยไป   ท่านก็จะแปรจินตนาการออกมาเป็นภาพ  บรรยายออกมาเป็นกลอน  (อย่างที่หาอ่านได้ในกระทู้ชาติพันธุ์วรรณาในพระอภัยมณี)
แต่ถ้าใครบรรยายเรื่องทะเลให้ครูเอื้อ สุนทรสนานฟัง   โดยท่านไม่เคยไป   ท่านก็จะแปรจินตนาการออกมาเป็นทำนองเพลง "พรานทะเล"
รุ้งเห็นว่า ประสาทของครูเอื้อ ไวกว่าสุนทรภู่    ส่วนอำนวยถามว่า
" ทำไมคุณถึงเห็นว่าการได้ยินเสียง เป็นประสาทที่ไวกว่าเห็นด้วยตา    และสอง  มีหลักการอะไรที่ทำให้เชื่อตามนั้นได้"

รุ้งก็คงจะตอบผ่านตัวแทนของเขา      ยิงฟันยิ้ม
ส่วนดิฉัน ยังไม่เชื่อรุ้งในข้อนี้  แต่ยินดีจะเปลี่ยนความคิด  ถ้ามีเหตุผลมากพอ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 21:07

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ คุณสมบัติชั้นเลิศนี้สามารถสร้างให้เลิศยิ่งๆขึ้นไปได้อีกถ้าถูกสอน ถูกฝึกอบรมอย่างถูกวิธีในขณะที่เด็กกำลังพัฒนาขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติที่จะเป็นทางที่เขาจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆในการทำมาหาเลี้ยงชีพในอนาคต

เด็กในโครงการศิลปาชีพเป็นตัวอย่างที่ดี หากคนมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนเรียนรู้ฝึกฝนนั้น ก็จะตั้งมั่นมีสมาธิ ผลงานที่ได้ก็จะเป็นผลงานที่ดีขึ้นๆ รัฐควรจะน้อมเกล้าฯเอาสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าทรงริเริ่มไว้ ไปต่อยอดขยายผล แต่ต้องทำอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเงินและการตลาดด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 07 ม.ค. 10, 22:05

"เพราะดนตรีเป็นภาษาสวรรค์ ส่วนถ้อยคำและโคลงฉันท์เป็นเพียงภาษามนุษย์"

ตรงนี้ตัวแทนของรุ้งขอมั่วเอาคำของอุไรวรรณที่กล่าวตอบรุ้ง ว่าทำไมความสามารถในทางประพันธ์จึงเป็นเหตุขัดขวางให้รู้รสดนตรี เพลงที่มีความไพเราะห์ด้วยตัวของมันเอง ถ้าใส่เนื้อร้องลงไปเมื่อไร ก็เป็นการทำลายคุณค่าเมื่อนั้น

ตรงนี้ผมเห็นใจอุไรวรรณนะครับ นักดนตรีมีโสตสัมผัสที่ละเอียดอ่อนไม่เหมือนใคร มิฉะนั้นบีโธเฟนจะแต่งซิมโฟนีหมายเลข9ยามที่หูหนวกสนิทได้หรือ นักดนตรีฟังเพลงหนี่งแล้ว บางคนจะหลับตาเห็นไปทั่วท้องฟ้ามหาสมุทรสุดจักรวาล แต่พอกวีเอาเนื้อร้องไปลงบรรยายชมจันทร์ แม้จะซาบซึ้งตรึงจิตเพียงใด ก็เท่ากับไปล้อมกรอบมโนภาพของเขาไว้แค่นั้นเอง เขาย่อมไม่ชอบแน่

ส่วนรุ้งน่ะ เออออห่อหมกไปด้วยเพราะเห็นมีคำไขอยู่ในชีววิทยาที่รุ้งศึกษาผ่านตา ตามเนื้อความที่ท่านอาจารย์ยกมา ตัวแทนของรุ้งไม่ทราบหรอกครับว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตอนเรียนชั้นมัธยมก็สอบวิชาชีววิทยาตก แต่ถ้าถามหลักการว่าทำไมจึงเชื่อ ไม่ทราบว่าที่วิสัชนาไว้ข้างบนจะพอรับได้หรือเปล่า

ส่วนในเรื่องสมมตินั้น ถ้ามีคนบรรยายเล่าเรื่องทะเลเรื่องเดียวกัน พร้อมกัน ให้คนสองคนฟัง คนหนึ่งเป็นกวี อีกคนหนึ่งเป็นคีตกวี เป็นทะเลอันตาร์กติก ไม่เคยไปเคยเห็นด้วยกันทั้งคู่ แต่ผลิตผลงานจากความบรรดาลใจมาเสนอผู้ชมจนได้ เราเสพย์แล้วก็ต้องให้ค่าก่อนซีครับ ว่าของใครโดนใจ รู้สึกหนาวเหน็บขึ้นมากว่ากัน

ผมว่ารุ้งคงไม่กล้าลงความเห็น ไม่ว่าจะโดยหลักชีววิทยาหรือหลักใดก็ตาม ว่าครูเอื้อประสาทไวกว่าสุนทรภู่ เพราะครูเอื้อเป็นนักดนตรี สุนทรภู่เป็นกวี ต้วแทนของรุ้งคงไม่ต้องให้ปากคำในเรื่องนี้นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 10 ม.ค. 10, 22:14

ข้อนี้คงจะมองต่างมุมจากคุณอุไรวรรณ เสียหน่อยว่า
ทั้งดนตรีและกวีนิพนธ์  จะว่าเป็นภาษาของมนุษย์  ทั้งสองอย่างก็เป็นภาษามนุษย์  เพราะมนุษย์สร้างขึ้นทั้งสองอย่าง   ไม่ใช่อะไรที่ลอยลงมาจากท้องฟ้า หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ถ้าถือว่าเป็นภาษาสวรรค์ ก็คงจะอนุโลมได้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นกันทั้งคู่   เพราะมนุษย์ที่จะแต่งได้ คือคนที่เราเรียกกันว่ามีพรสวรรค์    ไม่ใช่ใครอยากแต่งก็แต่งได้   หรือเรียนจบหลักสูตรก็ทำได้ เหมือนเรียนวิชาชีพ
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของตัวแทนคุณรุ้ง ก็มีน้ำหนัก หนักแน่นเอาการ

คำถามจากคนอ่าน ต่อคุณรุ้ง อีกข้อคือ
ที่คุณรุ้งเห็นว่า  "รัฐมนตรีควรเป็นอินโทรเวอร์ท    ส่วนข้าราชการประจำ   เราต้องใช้พวกเอกซ์โทรเวอร์ท (หน้า ๑๕๖)"
วันเวลาก็ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน      ความคิดนี้ยังใช้ได้สำหรับการเมืองทุกวันนี้หรือเปล่า ว่า มันควรจะเป็นเช่นนั้น ถึงจะมีอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 06:44

ตามอ่านการสนทนาของคุณ Navarat. C . ใน คคห ๘๑ และ คคห ๘๒ ของคุณเทาชมพู
ประทับใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 09:10

อ้างถึง
ตามอ่านการสนทนาของคุณ Navarat. C . ใน คคห ๘๑ และ คคห ๘๒ ของคุณเทาชมพู
ประทับใจ
ขอบคุณค่ะ  อายจัง อายจัง อายจัง

คุณวันดีหายไปหลายวันนะคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 10:21

สวัสดีครับท่านทั้งสอง ขอบพระคุณที่เห็นว่ามีสาระประโยชน์นะครับ

อ้างถึง
ข้อนี้คงจะมองต่างมุมจากคุณอุไรวรรณ เสียหน่อยว่า
ทั้งดนตรีและ กวีนิพนธ์  จะว่าเป็นภาษาของมนุษย์  ทั้งสองอย่างก็เป็นภาษามนุษย์  เพราะมนุษย์สร้างขึ้นทั้งสองอย่าง   ไม่ใช่อะไรที่ลอยลงมาจากท้องฟ้า หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ถ้าถือว่าเป็นภาษาสวรรค์ ก็คงจะอนุโลมได้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นกันทั้งคู่   เพราะมนุษย์ที่จะแต่งได้ คือคนที่เราเรียกกันว่ามีพรสวรรค์    ไม่ใช่ใครอยากแต่งก็แต่งได้   หรือเรียนจบหลักสูตรก็ทำได้ เหมือนเรียนวิชาชีพ

ตรงนี้ ตัวแทนของรุ้งเห็นด้วยครับ ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์สร้างมันขึ้นมาทั้งคู่ เป็นเพียงสำบัดสำนวนเท่านั้นที่กล่าวว่า "เพราะดนตรีเป็นภาษาสวรรค์ ส่วนถ้อยคำและโคลงฉันท์เป็นเพียงภาษามนุษย์"  และเกิดจากรสนิยมของคนกล่าวเองด้วย  เรื่องรสนิยม คนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งโลก ไม่มีใครถูกใครผิดกว่าใคร มันไม่ใช่เรื่องของความดีหรือความชั่วที่ต้องชี้กันให้ขาด

คำร้องกับดนตรีที่เสริมกันก็มีถม ยกตัวอย่าง
ผมขอยกบทพระราชนิพนธ์ สยามานุสติ  ของล้นเกล้าฯ ร.6
“หากสยามยังอยู๋ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
…..ฯลฯ ..”

ถ้าอ่านเป็นทำนองเสนาะของโคลงสี่สุภาพ
เราจะได้อารมณ์หนึ่ง

พอฟังทำนองดนตรีที่แต่งโดยครูนารถ ถาวรบุตร บรรเลงโดยวงโยธวาฑิต
ก็ได้อีกอารมณ์หนึ่ง

ครั้นทุกคนร่วมเปล่งเสียงร้องเนื้อนั้นตามวงดนตรีไปด้วย
ก็จะได้อีกอารมณ์หนึ่งที่แตกต่างออกไปโดยชัดเจน
และเป็นชนิดอารมณ์ตรงกับจุดมุงหมายด้วย

รู้สึกเหมือนผมไหมครับ ถ้าเป็นเช่นนั้นเพลงนี้ไม่ว่าภาษาสวรรค์หรือภาษามนุษย์  ก็คงจะอนุโลมได้ว่าทั้งสองอย่างก็เป็นกันทั้งคู่ ดังที่ท่านอาจารย์ว่า


และในฐานะที่เป็นตัวของผมเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ใด ผมลองศึกษาตนเองในเรื่องนี้ดู อยากจะขอแสดงเป็นทัศนะเฉยๆ

ผมจำได้ว่า เวลาที่ผมได้ยินเพลงอะไรก็ตามเป็นครั้งแรก แล้วนึกชอบ ผมจะนึกทำนองได้ก่อนเนื้อร้อง โดยเฉพาะท่อนที่โดนใจ เนื้อร้องนั้นแม้จะดูเหมือนจำได้พร้อมๆกัน แต่ถ้าดูละเอียดลงไป จะเห็นว่าทำนองจะมาก่อนเสมอ

ไม่ทราบว่าคนอื่นๆจะเป็นเหมือนผมหรือเปล่า อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ และไม่ว่าจะสรุปเช่นไร ก็คงไม่ได้หมายความว่า ใครแน่กว่าใครด้วย

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 10:24

อ้างถึง
คำถามจากคนอ่าน ต่อคุณรุ้ง อีกข้อคือ
ที่คุณรุ้งเห็นว่า  "รัฐมนตรีควรเป็นอินโทรเวอร์ท    ส่วนข้าราชการประจำ   เราต้องใช้พวกเอกซ์โทรเวอร์ท (หน้า ๑๕๖)"
วัน เวลาก็ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน      ความคิดนี้ยังใช้ได้สำหรับการเมืองทุกวันนี้หรือเปล่า ว่า มันควรจะเป็นเช่นนั้น ถึงจะมีอนาคตดีกว่าที่เป็นอยู่


ตัวแทนของรุ้งไปเปิดที่รุ้งเขียนไว้แล้วคัดเอามาว่า

 “พวกอินโทรเวอร์ททำงานเพื่ออุดมคติ เมื่อเห็นผลงานที่ตนทำก็ชื่นใจ จึงพยายามทำผลงานให้ได้ดีที่สุด ส่วนพวกเอกซ์โทรเวอร์ท ทำงานเพื่อความสรรเสริญ เขาจึงพยายามแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ รวมความว่าคนทั้งสองประเภทชอบทำงาน และแสวงหางานที่ตนถนัดที่สุด

เมื่อคำจำกัดความเป็นเช่นนั้นรัฐมนตรีควรเป็นอินโทรเวอร์ท    ส่วนข้าราชการประจำ   เราต้องใช้พวกเอกซ์โทรเวอร์ทก็น่าจะเป็นเช่นนั้นตามความคิดแบบอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในยุคโน้นหรือยุคปัจจุบัน

แต่ในความเป็นจริงพวกอินโทรเวอร์ทจะผ่านการเลือกตั้งเข้ามาในสภายากกว่าเอกซ์โทรเวอร์ท เพราะธรรมชาติในการหาเสียงจะกำหนดพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ในเวทีการเมืองพวกอินโทรเวอร์ทเปอร์เซน์สูงๆ(ทุกคนมีคุณสมบัติที่ผสมกันระหว่างอินโทรเวอร์ทและเอกซ์โทรเวอร์ท) แม้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้ ก็มีโอกาสแย่งชิงโควต้าให้พรรคเลือกขึ้นมาเป็นรัฐมนตรียากมาก เพราะไม่ชอบการแข่งขันเท่าไหร่ ถ้าเขาไม่เอาเทียบไปเชิญมาให้เป็นเพราะเห็นคุณสมบัติอันเอกอุ พวกนี้จะรับบทเป็นนักวิชาการ นักวางแผน หรือคิดร่างกฏหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเสนอเข้าสู่สภา พวกที่เด่นดังในพรรคจะเป็นพวกเอกซ์โทรเวอร์ท พวกนี้ชอบเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ อยากมีตำแหน่งหน้าตา ยอมทนแรงเสียดทานเพื่อให้ถึงตำแหน่งสูงๆ ประชาชนทำได้เพียงภาวนาให้พวกเขาเหล่านั้นมีเปอร์เซนต์ของอินโทรเวอร์ทสูงๆหน่อยแม้ว่าจะไม่มากเท่าตัวเอกซ์โทรเวอร์ทก็ตาม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 11:11

จะอินโทรเวิร์ทหรือเอกซโทรเวิร์ท  ถ้าหากว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น   และต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตน   ก็ทำงานได้ดีทั้งนั้นค่ะ
ความคิดของรุ้ง ดีอยู่อย่างหนึ่งคือเขานำเสนอชัดเจนว่า...นี่คือความคิดของเขา   ไม่ได้ผูกขาดว่าข้อเท็จจริงต้องเป็นอย่างนั้น  ใครก็แย้งไม่ได้
เป็นนิยายของไทยน้อยเล่มที่อ่านแล้วต้องคิด  ไม่ใช่คิดตาม แต่คิดแย้ง  เพื่อนำไปสู่การรับรู้ ทบทวนและแตกแขนงความคิดให้กว้างออกไป
********************
เล่าเรื่องต่อ
 
รุ้งเป็นที่รู้จักในวงการหนังสือพิมพ์อย่างเงียบๆ แต่กว้างขวาง    เพราะเขาไม่ประสงค์จะทำตัวเป็นจุดเด่น     ถึงกระนั้นความคิดของเขาก็แพร่หลาย ในฐานะปัญญาชนคนสำคัญของสยาม
ผู้อ่านชาวต่างประเทศเขียนมาหารุ้งอย่างสม่ำเสมอ    หลายคนแสดงความทึ่งและยอมรับนับถือคนไทยที่มีความคิดกว้างขวางระดับสากล
อำนวยก็นำลงในหนังสือพิมพ์ "ผดุงวิทยา ใหม่" อย่างภาคภูมิใจ

รุ้งมองเห็นการกลับคืนอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม     เช่นเดียวกับมองเห็นความคิดของนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ หลังสงคราม ที่กระตือรือร้นต่อความคิดใหม่ๆทางการเมือง
หลังสงคราม เผด็จการฟาสซิสม์ ดับสูญไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ของฮิตเลอร์และฝ่ายอักษะ     แต่ระบอบการปกครองใหม่ที่ฉายแสงขึ้นมาในเอเชีย คือระบอบคอมมิวนิสม์
บางอย่าง คล้ายความคิดของรุ้ง    คือมุ่งหวังให้ประชาชนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความแข็งแกร่งของรัฐ     ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว อย่างระบบทุนนิยม

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 12:58

ขอประทานโทษครับถ้าเข้ามาขัดจังหวะ ไม่ทราบว่าท่านผู้ประพันธ์ภาค2จะวางแนวไปให้รุ้งถูกสันติบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์จับเข้ากรุข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกหรือเปล่า ตัวแทนของรุ้งจึงขอทำหน้าที่ปกป้องรุ้งไว้ก่อน

รุ้ง ไม่นิยมระบอบคอมมิวนิสม์ เขากล่าวว่า “ลัทธิคอมมิวนิสม์คือการกดขี่ชนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกร โดยหัวหน้ากรรมกร

บางอย่างอาจคล้ายความคิดของรุ้ง    คือมุ่งหวังให้ประชาชนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความแข็งแกร่งของรัฐ     ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่รัฐคอมมิวนิสม์จะเป็นรัฐในอุดมคติไม่ได้ถ้าต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิวัติล้มล้างชนชั้น เอาไปกำจัด หรือเข้าค่ายกักกันสัมมนาอย่างทารุณให้ยอมรับแนวความคิดของหัวหน้าคอมมิวนิสต์

การทำงานเพราะถูกบังคับนั้น ไม่มีทางบรรลุผลได้ จึงเห็นได้ว่ารัฐที่เป็นคอมมิวนิสม์ทั้งหลายจึงหนีความล่มสลายด้วยการยอมให้ประชาชนสร้างผลผลิตด้วยแรงจูงใจ ตรงนี้ก็ล่อแหลมกับผลที่จะตามมาไม่ต่างกับประเทศทุนนิยม พวกเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นในประเทศคอมมิวนิสต์มากมาย ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากมาเฟียเก่า หรือมีเสันสายเป็นบุคคลสำคัญในชนชั้นปกครองที่คอร์รัปชั่น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยากจน เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงขึ้นในสังคมเหมือนเดิม

รัฐในอุดมคติของรุ้งมิได้ปฏิวัติสังคมด้วยอำนาจปืน แต่เป็นการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (คำๆนี้ทันสมัยในยุคของรุ้ง แต่เดี๋ยวนี้ฟังดูเหมือนอะไรสักอย่างที่มันปลอมๆ เช่นพวกพลาสติกทั้งหลายเป็นต้น)

วิทยาศาสตร์ในแนวคิดของรู้งดูคล้ายจะเป็นอารยะธรรมใหม่ ที่เกิดขึ้นหลังหายนะที่นักการเมืองบ้าอำนาจทำให้สังคมล้มสลายไปแล้ว มนุษยชาติจำเป็นต้องแสวงหาระบอบการปกครองที่ดีกว่าแล้วมาปิ๊งเอากับกระบวนการบริหารจัดการขององคาพยพในร่างกายมนุษย์ แต่การบริหารจัดการสังคมจะต้องใช้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในการคัดเลือกประชากรว่าใครเหมาะจะทำหน้าที่อะไร ซึ่งเขาจะเต็มใจกระทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อสิ่งตอบแทนที่เขาพอใจและภูมิใจ

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้จะจำแนกมนุษย์ตั้งแต่เป็นทารก ว่าเหมาะที่จะทำหน้าที่ส่วนไหนในอวัยวะของสังคม แล้วหล่อหลอมด้วยการศึกษา ฝึกหัดให้เขาเป็นเอตะทักคะในทางนั้น เมื่อถึงวัยก็จัดหางานให้ ฟังดูห่างไกลฝีมือมนุษย์  แต่สมัยนี้น่าเชื่อว่าถ้าเอากันจริงๆ ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ในอนาคตคงจะเป็นตัวช่วยมนุษย์ได้มาก

แต่ถึงอย่างไรรัฐในอุดมคติใดๆก็เกิดขึ้นไม่ได้ หากกิเลศของมนุษย์ยังหนาอยู่  ถึงจุดนี้ต้องยอมแพ้ เพราะแม้แต่หมู่สงฆ์ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านยังกำจัดกิเลศพระไม่ได้หมดทุกองค์

แต่จะหาว่าเป็นความคิดที่เพ้อฝันก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรตำหนิรุ้ง อันที่จริงระบอบการปกครองทุกอย่างในโลกนี้ คนที่คิดขึ้นมาล้วนแต่เป็นนักอุดมคติทั้งนั้น ทุกคนเล็งผลเลิศที่มองความสุขความเจริญของสังคม ไม่ได้คิดจะให้ใครถูกใครเอาเปรียบ แต่ที่ไม่บรรลุจุดหมายตามอุดมการณ์ที่วางไว้ ก็เพราะกิเลสมนุษย์เป็นตัวแปรทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 11 ม.ค. 10, 13:19

อ้างถึง
ขอประทานโทษครับถ้าเข้ามาขัดจังหวะ ไม่ทราบว่าท่านผู้ประพันธ์ภาค2จะวางแนวไปให้รุ้งถูกสันติบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์จับเข้ากรุข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกหรือเปล่า ตัวแทนของรุ้งจึงขอทำหน้าที่ปกป้องรุ้งไว้ก่อน
คุณตัวแทนรุ้งเห็นดิฉันเป็นครูไหวใจร้ายไปได้    ใครจะยอมให้พระเอกเข้าคุกได้ลงคอ       ในภาค 2 รุ้งแค่เฉียดๆพอให้คนอ่านได้ลุ้นระทึกเท่านั้น

มีคุณตัวแทนเข้ามาเล่าต่อก็ทำให้คนแต่งสบายไป 8 อย่าง  ไม่ต้องเขียนอะไรมาก
*****************
ชีวิตครอบครัวเล็กๆของรุ้ง เป็นไปอย่างผาสุก       ความสุขจากภรรยาและลูกชายที่เติบโตขึ้นจากเด็กทารก มาเป็นเด็กนักเรียนอนุบาล     ช่างพูดและช่างซักถาม ทำให้รุ้งมีความสุขมาก   
เขารู้สึกราวกับเห็นภาพเขาเมื่อวัยเยาว์ หลอมรวมกับภาพวัยเยาว์ของอุไรวรรณ  กลายมาเป็นเด็กชาย...

กำลังจะตั้งชื่อให้รุ้งจูเนียร์     นึกไม่ออก    คุณตัวแทนรุ้งพอจะช่วยได้ไหมคะ
เรื่องจะได้เดินถึงกบฏสันติภาพเสียที
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 19 คำสั่ง