เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 33350 รุ้ง จิตเกษม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 21:23

ขออนุญาตอาจารย์ให้ผมกลับไปคุยกับคุณม้าหน่อยครับ

อ้างถึง
โลกในอุดมคติที่รุ้งฝันถึงนั้นห่างไกลกว่าโลกความเป็นจริงมากนัก ผมยังผิดหวังในตัวรุ้งอยู่บ้างว่าน่าจะนำเสนอแนวทางที่ใกล้ตัวมากกว่านี้ แต่เมื่อทบทวนดูอีกครั้ง รุ้งก็บอกเราอยู่โดยนัยแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และควรจะต้องแก้ด้วยวิธีใด

รุ้งเป็นนักชีววิทยา พื้นฐานความรู้ของเขาก็น่าจะจำกัดอยู่ตรงนั้น ความที่เป็นนักเรียนนอกที่เอาไหน จึงได้มีโอกาสได้อ่านตำหรับตำราภาษาอังกฤษมากอยู่ แม้ประสพการณ์ในชีวิตจริงของโลกภายนอกเมื่อมองออกไปจากคุก เขาจะเห็นปัญหามากมาย เรียบเรียงไว้ได้หลายบทและเป็นเนื้อหาที่เข้มข้นตอนหนึ่งของความฝันของนักอุดมคติ เริ่มต้นด้วย “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องแก้ที่นิสัยนักการเมือง…..ฯลฯ” ปัญหาเหล่านั้นบางปัญหา รัฐต่างๆในโลกก็พยายามหาทางแก้ใขอยู่แล้ว เช่นในเริ่องของกำแพงภาษีที่รุ้งบอกว่า “รัฐบาลชอบกั้นกำแพงภาษีเพราะรัฐบาลเป็นผู้เก็บภาษี ราคาข้าวที่ขายแพงมิได้เป็นกำไรมาเข้ากระเป๋าชาวนา แต่ชาวนาต้องถูกเก็บภาษีทุกคราวที่ซื้อสินค้าต่างประเทศมาใช้” ปัญหาที่รุ้งยกขึ้นมามิใช่ลำพังชาติหนึ่งจะแก้ไขได้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มประชาชาติยุโรป และอาเซียน จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งก็เพื่อแก้กำแพงภาษีที่รุ้งโวยไว้ตั้งแต่พ.ศ.โน้น

ดังนั้นบุคคลๆหนึ่งเช่นรุ้งคงไม่มีความสามารถพอที่จะนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาขั้นรายละเอียด เพราะแต่ละบริบทมันยากและปัญหาก็พันกันไปหมด นอกจากความคิดรวบยอด(Concept)ของรัฐในอุดมคติหรืออุตมรัฐที่ได้รับแรงบรรดาลใจจากความรู้ด้านชีววิทยาเรื่ององคาพยพของมนุษย์ที่สว่างไสวในความคิดของเขาขณะอยู่ในท่ามกลางวิเวกของคุกบางขวาง  เป็นภาพ “นามธรรม(Abstract)”ที่รุ้งเขียนด้วยตัวอักษร ไม่ใช่ด้วยภู่กันผสมสี อาจเข้าใจยากหน่อย แต่ก็น่าสนใจที่จะรับฟังและคิดตาม ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี รุ้งก็มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย ก่อนที่จะไปถึงการแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงทั้งหลายแหล่ได้ รุ้งสรุปว่า ทุกชาติควรตกลงกันในนโยบายศึกษาในทางที่เห็นว่ามนุษย์ทั้งโลกนี้เป็นพวกเดียวกัน ศัตรูของเราคืออุปสรรคที่ขัดขวางมิให้เรารวมกันได้……..นโยบายการศึกษาทำนองนี้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการจัดการให้มีภาษากลางขึ้นสำหรับใช้ทั่วโลก

ในสมัยของรุ้ง อย่างน้อยก็มี3-4 ภาษาที่แข่งขันกันเป็นภาษากลางของโลก ผมโตทันที่หนังสือเดินทางของไทยยังต้องเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่สะกดชื่อด้วยภาษาอังกฤษ เดี๋ยวนี้ทั่วโลกยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางแล้ว(ด้วยอิทธิพลของฮอลิวู๊ด) แต่ระบบการศึกษาของไทยก็ยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านเท่าไรนัก นักการเมืองการศึกษาของเรามักจะชี้แจงว่าเพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ไม่ยักอายที่คนไทย(ที่ไม่ใช่นักเรียนนอก)พูดสู้เขาบนเวทีนานาชาติไม่ได้เลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 21:45

เมื่อล่วงศตวรรษที่ 21 ไปสักครึ่ง   ภาษากลางของโลกอาจจะเป็นภาษาจีนก็ได้ค่ะ

อย่างไรก็ดี รุ้งก็มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย ก่อนที่จะไปถึงการแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงทั้งหลายแหล่ได้ รุ้งสรุปว่า ทุกชาติควรตกลงกันในนโยบายศึกษาในทางที่เห็นว่ามนุษย์ทั้งโลกนี้เป็นพวกเดียวกัน ศัตรูของเราคืออุปสรรคที่ขัดขวางมิให้เรารวมกันได้……..นโยบายการศึกษาทำนองนี้ จะต้องเริ่มต้นด้วยการจัดการให้มีภาษากลางขึ้นสำหรับใช้ทั่วโลก

หนังฮอลลีวู้ด เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่เจาะทะลุกำแพงภาษาได้ผล ในศตวรรษที่ 20  ทำให้หนุ่มสาวทั่วโลกเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แม้ว่าแบบงูๆปลาๆ  เพื่อจะได้เข้าใจวัฒนธรรมอเมริกันได้
วัฒนธรรมอเมริกันจึงกลายเป็นวัฒนธรรมโลก

ส่วนศตวรรษที่ 21 สื่อกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต  เข้าถึงคนได้มากกว่าหนังโรงและทีวี   เรียนรู้ที่จะสื่อกันเป็นคำๆ โดยไม่ต้องผูกประโยค
แต่ปัญหาต่างๆก็ยังไม่เห็นว่าจะมีทางแก้ได้   มีแต่ว่า ประเทศที่ใหญ่กว่า จะดูดกลืนวัฒนธรรมของประเทศที่เล็กกว่า  จนเป็นระบบอาณานิคมใหม่ในโลกไร้พรมแดน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 22:03

ค่อยๆรวบรวมว่า มีอะไรบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับรุ้ง
เจอเข้าเรื่องหนึ่ง

รุ้งไม่ปรารถนาที่จะรับราชการอีก    เขาได้ลาออกเมื่อก่อนกบฏ เพราะไม่เลื่อมใสในนโยบายการศึกษาของรัฐบาล    และไม่มีทางใดที่ความเห็นของเขาจะได้รับการเอาใจใส่     เขาไม่สามารถทำงานในวิธีที่เขาไม่เลื่อมใส    และจะเป็นการน่าละอาย    ถ้าเขายอมเลิกล้มความเห็นเดิมเสีย   โดยเห็นได้ง่ายๆว่าต้องการเงิน

พ่อคู้ณ   ไม่นึกบ้างหรือว่าเงินที่ส่งคุณไปเรียนเมืองนอกน่ะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวของคุณ   นึกบ้างหรือเปล่าว่าเป็นหนี้ประเทศชาติอยู่
และ 
ทำไมคุณถึงเอาความคิดของตัวเอง เป็นเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของสยาม ยังงั้นด้วยล่ะ     ไม่คิดบ้างหรือว่า วิธีที่คุณเลื่อมใส อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้  ในเมื่อเป็นความคิดของคุณคนเดียว
วิธีคิดของรุ้ง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าการมองโลกของรุ้ง ในหลายๆเรื่องเหมือนฟิล์มเนกาตีฟ    มี ๒ สีให้เลือกเท่านั้นคือถ้ามันไม่ขาว ก็ต้องเป็นดำ
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 22:43

กลับมาแล้วครับอาจารย์

อ้างถึง
แต่อุไรวรรณปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ควรใช้คำว่า "พิลึก" น่าจะตรง มากกว่าคำว่า "แปลก"

ผมจำไม่ได้ว่าผมอ่านความฝันของนักอุดมคติกี่ครั้ง แต่ผมอ่านมาถึงตอนนี้ทีไร ผมจะรู้สึกผิดหวังในตัวอุไรวรรณอย่างแรง ยิ่งตอนสมัยอยู่ในวัยที่บูชาความรักเป็นเรื่องจริงจังรุนแรง ผมก็แย่พอๆกับรุ้ง "รุ้งเสียใจในความผิดหวัง แต่เขาเศร้าใจยิ่งกว่านั้นที่ได้เห็นอุไรวรรณผู้เป็นเทวรูปบนแท่นบูชาแห่งหัวใจของเขาต้องตกลงมาจากแท่น"

แต่ไม่ทราบนะ ผมว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของทั้งชายและหญิงประเภทศิลปินที่จะมีความคิดความเห็น บางทีก็ยากที่จะเข้าใจเช่นนี้ได้ เมื่ออารมณ์วูบขึ้นมาก็ปล่อยคำคิดคำพูดแบบกลอนพาไป คล้ายๆจะเพื่อความสะใจอะไรสักอย่างไม่ได้เตรียมคำพูดไว้ก่อนหรอก ครั้นพอมีสติทบทวนตนเองขึ้นมาได้ก็เสียใจ ต้องตามไปแก้  บางทีอีกฝ่ายหนึ่งก็เลือดศิลปินขึ้นหน้ามาบ้าง โกรธกันไปเลยก็มี

นี่ไงครับ

"แคนเตอร์ที่รัก" อุไรวรรณเขียนจดหมายมาถึงรุ้งในวันรุ่งขึ้น
"ดิฉันเสียใจที่พูดผิดพลาดไปหลายประการ เมื่อคิดทบทวนแล้วจึงเห็นว่าเหตุผลของคุณล้วนถูกต้อง มาหาดิฉันนะคะ    
ของคุณ"

คำตอบของนักอุดมคติเช่นรุ้ง แทนที่จะดึงเกมไว้สักหน่อย ให้เวลาความคิดมันตกตะกอนสักนิดก็ไม่ได้ รีบตอบจดหมายปฏิเสธอย่างหวานนอกแข็งใน ตัดสวาทขาดรอนกันไปเลย

แต่ดูสำนวนจดหมายของทั้งสองคนแล้ว โอกาสที่จะมี Return Match เป็นไปได้สูง

แต่อย่างที่ผมว่าไว้แหละครับ  
เผอิญสันติบาลมาตัดบทเสียก่อน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 22:49

กลับมาอีกที อาจารย์ก็ไปเสียไกลแล้ว
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 22:58

น่าสังเกตว่าผู้เขียนได้บอกใบ้ให้ผู้อ่านได้เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว  ยิงฟันยิ้ม

คำว่า "นักอุดมคติ" ก็เรียกได้ว่าสุดขั้วอยู่แล้ว นี่ยังเป็น "ความฝัน" เสียอีก

บางที "ความฝันของนักอุดมคติ" อาจจะไม่ได้เป็นของรุ้งคนเดียว

อาจจะเป็นของอุไรวรรณอีกคนหนึ่งด้วย  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 07:47

เออ...ครับ   ผมไม่เคยคิดมาก่อนแม้น้อยเลยว่าประเด็นที่รุ้งลาออกจากราชการครั้งนั้นจะเป็นความบกพร่องที่อาจทำให้เขาหลุดจากสถานะของการเป็นนักอุดมคติ

ประการแรก รุ้งเป็นนักเรียนทุนคิงส์ เงื่อนไขของการรับทุนก็เพียงแต่ต้องกลับมาทำงานในประเทศ อย่างน้อยจำนวนปีที่ทำต้องเท่ากับจำนวนปีที่ใช้ทุนไป แต่ไม่จำเป็นว่าต้องรับราชการ

คือท่านเห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใด เราก็สามารถใช้ความรู้ทำงานหนัก  เพื่อตนเอง เพื่อสังคม และเพื่อประเทศชาติได้ ผมเองแน่วแน่แก่ใจตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยว่าผมจะไม่รับราชการอย่างเด็ดขาด ทุกวันนี้ก็ยังมั่นใจว่าคิดไม่ผิด ผมก็ทำตามประโยคข้างบนนั้นแหละ ผลงานอาจจะเท่าๆกับเพื่อนที่เป็นข้าราชการบางคน แต่เขามีเหรียญตราติดหน้าอก บางคนมีสายสะพายแถม ซึ่งผมไม่มีแต่ผมมีอิสระมากกว่าพวกเขา ไม่ต้องทนทำงานในวิธีที่ผมไม่เลื่อมใส ดังเช่นเพื่อนข้าราชการหลายคนที่ไม่โชคดีเท่ากลุ่มแรกเพราะเจอเจ้านายที่ไปด้วยกันไม่ได้เลยทั้งความคิดและความประพฤติ พวกนี้เลยเอาดีไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องอกหักออกมาหางานใหม่ ที่แย่ที่สุดก็คือพวกข้าราชการทั้งหลายจะไม่มีทางทราบเลยว่าเขาจะไปเจอเจ้านายประเภทที่ว่าตอนไหน ถ้าเจอตอนซีต่ำๆก็พอออกไปตั้งตัวใหม่ทัน บางคนเจอตอนเป็นอธิบดีก็ยังมีให้เห็นออกบ่อยไป พวกนี้ดวงไม่ดีจริง

ผมจึงไม่เห็นแปลกที่รุ้งจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาล ที่คณะราษฏร์เข้ามารื้อระบบเดิมในช่วงนั้น จนทนไม่ได้ต้องลาออกไปทั้งๆที่ก่อนหน้าเขาเป็นดาราดวงเด่นของกระทรวงธรรมการ และทางราชการก็ให้เขาลาออกไปโดยดีไม่มีเบี้ยปรับอะไร ความตั้งใจของรุ้งคือจะกลับไปทำนาและใช้เวลาว่างทดลองวิทยาศาสตร์

ตรงนี้คนอ่านบางคนจะเห็นว่าเพ้อฝันอีก เพราะผู้เขียนใช้คำว่าทำนาอันทำให้มองเห็นภาพคนที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่อย่าลืมนะครับ รุ้งจบวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยามา ถ้าใช้คำสมัยนี้ว่า รุ้งจะไปเป็นเกษตรกรที่นำเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมที่ตนศึกษามาไปปรับปรุงการปลูกข้าวในนาของเขาเองให้ได้ผลผลิตปีละสองครั้งก่อน โดยมีความหวังว่าจะปลูกได้ถึงสามครั้ง หากผลการทดสอบเป็นผลสำเร็จ รุ้งจะเปิดสาธิตให้เพื่อนชาวนาลพบุรีผู้สนใจทำตามต่อไป เขาหวังว่าสักวันหนึ่งชาวนาในเมืองไทยคงจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง ถ้าขยายความดังนี้แล้วผู้อ่านคงจะเข้าใจรุ้งขึ้นบ้างกระมัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 08:59

อ้างถึง
ผมว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของทั้งชายและหญิงประเภทศิลปินที่จะมีความคิดความเห็น บางทีก็ยากที่จะเข้าใจเช่นนี้ได้ เมื่ออารมณ์วูบขึ้นมาก็ปล่อยคำคิดคำพูดแบบกลอนพาไป คล้ายๆจะเพื่อความสะใจอะไรสักอย่างไม่ได้เตรียมคำพูดไว้ก่อนหรอก ครั้นพอมีสติทบทวนตนเองขึ้นมาได้ก็เสียใจ ต้องตามไปแก้  บางทีอีกฝ่ายหนึ่งก็เลือดศิลปินขึ้นหน้ามาบ้าง โกรธกันไปเลยก็มี

รุ้งกับอุไรวรรณก็พอกัน ในด้านเป็นนักฝันและนักอุดมคติ       ถ้าหากว่ามีภาค ๒ รุ้งรอดจากสันติบาลกลับมาบ้านได้     ก็คงจะได้สานความฝันต่อด้วยกัน
แต่ก็จะไม่แปลกใจ  ถ้าหนุ่มสาวคู่นี้จะไปกันไม่รอด     รุ้งยังมีตรรกะรองรับการกระทำของเขา  แต่อุไรวรรณนั้นไม่มีเลย    เธอขึ้นลงวูบไหวเหมือนยอดคลื่นในทะเล   ไร้ทิศทางเสียด้วย

ฉากรุ้งขอแต่งงานแล้วอุไรวรรณปฏิเสธด้วยอุดมคติเลื่อนลอย  ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งของชีวิต โนรี ในเรื่อง "หลายชีวิต"ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ชีวิตโนรี มีบางตอนอิงมาจากชีวิตของ "ยาขอบ"
ฉากนี้โนรีเอาเรื่องที่เขาแต่งเป็นเรื่องแรกไปให้คุณเล็ก ดอกฟ้าธิดาเจ้าของบ้านที่เขาอาศัยอยู่ ได้อ่าน  เพราะเธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือเหมือนเขา
คุณเล็กอ่านแล้ว ซาบซึ้งกับเรื่องของเขามาก   เธอก็พูดถ้อยคำจับใจ  ว่าเธออยากแต่งงานกับนักประพันธ์ ผู้มีสำนวนโวหารไพเราะ สามารถกล่อมคนได้ทั้งเมือง       โนรีฟังแล้ว ก็ได้ "แรงใจและไฟฝัน" จากวาจานั้นขึ้นมาอีกมาก
แต่สิ่งที่โนรีไม่รู้  แต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รู้ และอธิบายให้คนอ่านฟัง คือคุณเล็กพูดไปยังงั้นเอง  พูดเพราะอยากได้ยินคำพูดลึกซึ้งจับใจออกจากปากตัวเอง   แต่พูดแล้วก็ลืมทันที ไม่ได้หวนกลับไปคิดอีก
เพราะอีกไม่นานต่อมาคุณเล็กก็แต่งงานไปกับหนุ่มลูกผู้ดี คู่ควรกับเธอ   ซึ่งไม่ได้มีคุณสมบัตินักประพันธ์ตรงไหนเลย
โนรีก็อกหักไปตามระเบียบ

ถ้าเป็นน้าสะอาด จะบอกรุ้งว่า อย่าไปคืนดีกับอุไรวรรณเลย   ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ช่วยเสริมความฝันให้รุ้ง  แต่ถ้าเสริมยอดขายแอสไพรินละก็ไม่แน่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 09:50

โชคดีของผู้อ่านอย่างผมที่ไม่มีภาค2

อ้างถึง
วิธีคิดของรุ้ง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าการมองโลกของรุ้ง ในหลายๆเรื่องเหมือนฟิล์มเนกาตีฟ    มี ๒ สีให้เลือกเท่านั้นคือถ้ามันไม่ขาว ก็ต้องเป็นดำ

ด้วยความเคารพ การเสนอความคิดเห็นหนักๆในนวนิยายเช่นนี้ ผู้เขียนจึงต้องสร้างรุ้งให้เป็นคนแบบนั้น อันที่จริงภาพNegativeมันไม่ได้มีเฉพาะขาวกับคำ มันมีเทาอ่อนเทาแก่ด้วย แต่รุ้งก็จัดว่าเป็นขาว-ดำประเภทHigh Contrast เสียอีก บางความคิดเห็นอาจจะมองว่าไม่มีสีเทาเอาเสียเลย

แต่คนประเภทนี้เราจะพบบ่อยๆในหมู่นักวิชาการไม่ใช่หรือครับ พวกนี้แล้วจะ No Compromise ความเห็นทางวิชาการที่ดังได้มักจะเป็นความเห็นที่สุดโต่ง ขัดแย้งหรือสวนกระแส ไม่แคร์ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การโต้เถียงทางด้านวิชาการบนเวทีจึงประนีประนอมไม่ได้เหมือนกัน ใครเห็นขาวก็ต้องพิสูจน์ว่ามันขาว ดำก็ต้องพิสูจน์ว่าดำ

อย่างไรก็ตามความเห็นของรุ้งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับผู้อ่าน หนังสือความฝันของนักอุดมคติเป็นหนังสือที่ย่อความมาให้ได้เนื้อหาเชิงคุณภาพยากที่สุด เพราะแทบทุกหน้าจะอัดไว้ด้วยสาระ ความบันเทิงที่แทรกไว้เป็นเนื้อเรื่องเท่านั้นที่ย่อความได้ แต่ก็งั้นๆเมื่อเทียบกับประเด็นที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอแต่ถูกการย่อความตัดออกไปหมด เพื่อไปให้เป็นลอกความ

ดังนั้นถ้าอ่านในอีกอารมณ์หนึ่งอาจเห็นว่า ข้อบกพร่องของรุ้งแม้จะมีอยู่บ้างตามปกติเช่นบุคคลทั่วไป แต่สิ่งที่รุ้งได้แสดงออก ก็น่าจะได้รับความเห็นใจ เขามุ่งมั่นปฏิบัติความคิดที่ไตร่ตรองแล้วของตนโดยสุจริตใจ และมิได้เป็นภัยต่อสังคมหรือต่อผู้ใด เพื่อความสำเร็จที่ไม่ได้ถือตัวเงินเป็นเครื่องวัด เขาจึงมิใช่นักวิชาการธรรมดา และมิใช่นักฝัน

นักคิดที่ปฏิบัติเช่นรุ้งเรียกว่านักอุดมคติ  และเป็นผู้ที่อุไรวรรณกล่าวในประโยคแตกหักว่า “…..โลกของคุณเป็นโลกแห่งความฝัน ตัวคุณเป็นนักอุดมคติ คำสาธยายของคุณ ก็คือความฝันของนักอุดมคติคนหนึ่งเท่านั้น ……..”


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 10:03

แต่คนประเภทนี้เราจะพบบ่อยๆในหมู่นักวิชาการไม่ใช่หรือครับ พวกนี้แล้วจะ No Compromise ความเห็นทางวิชาการที่ดังได้มักจะเป็นความเห็นที่สุดโต่ง ขัดแย้งหรือสวนกระแส ไม่แคร์ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การโต้เถียงทางด้านวิชาการบนเวทีจึงประนีประนอมไม่ได้เหมือนกัน ใครเห็นขาวก็ต้องพิสูจน์ว่ามันขาว ดำก็ต้องพิสูจน์ว่าดำ

ไม่จริงทุกเวที และไม่จริงทุกสาขาหรอกค่ะ
อย่างน้อยในสาขาอักษรศาสตร์ที่ดิฉันอยู่มา ก็ไม่ได้นับพวกนี้ว่าดัง      นักวิชาการอักษรศาสตร์เปิดกว้างต่อความขัดแย้ง ไม่ฟันธงอะไรลงไปชนิดไม่แคร์ใคร  แต่จะเสนอความคิดให้แย้งได้  แลกเปลี่ยนกันได้   เปิดรับความคิดใหม่ได้
ตรงกันข้าม พวกที่สุดโต่งเช่นนี้มักเป็นดาวตก วูบเดียวหาย   

รุ้งเป็นนักอุดมคติ ในตัวของเขา    แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในสายตาคนอื่น  เขาจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากนักอุดมคติ
อย่างหนึ่ง เมื่อติดตามความคิดของรุ้งไป   ดิฉันถามตัวเองว่ารุ้งสนใจพุทธศาสนาหรือเปล่า    บางทีทฤษฎีที่เขาอ่านของฝรั่งแล้วเอามาใคร่ครวญตามแบบของเขา  อาจตอบได้ด้วยพุทธธรรม ให้เขาหาคำตอบได้
ในเรื่องนี้ อ่านแล้ว อดคิดไม่ได้ว่ารุ้งยังหาคำตอบไม่ได้แม้แต่กับตัวเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 10:14

ต่อความเห็น 36 ของคุณ N.C.

สังคมไทยสมัยของรุ้งคือสังคมยุค 2475-82   ชาวนายังมีข้าวในนา ปลาในน้ำ  เกษตรกรรมยังไม่ต้องการแผนใหม่  เพราะที่เป็นอยู่ก็อุดมสมบูรณ์แล้ว
รุ้งเองก็ไม่คิดจะกลับไปทำไร่ทำนา  เขาบอกเองว่าไร่นาพ่อแม่ก็ขายไปแล้ว     เขาอยากไปค้าขายมากกว่า
สภาพสังคมของรุ้งคนละยุคกับสังคมของคุณ N.C. นะคะ  พื้นฐานความรู้ของรุ้ง เหมาะจะอยู่ในเมืองหลวงมากกว่าชนบท
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 11:24

อ้างถึง
ไม่จริงทุกเวที และไม่จริงทุกสาขาหรอกค่ะ
อย่างน้อยในสาขาอักษรศาสตร์ที่ดิฉันอยู่มา ก็ไม่ได้นับพวกนี้ว่าดัง      นักวิชาการอักษรศาสตร์เปิดกว้างต่อความขัดแย้ง ไม่ฟันธงอะไรลงไปชนิดไม่แคร์ใคร  แต่จะเสนอความคิดให้แย้งได้  แลกเปลี่ยนกันได้   เปิดรับความคิดใหม่ได้
ตรงกันข้าม พวกที่สุดโต่งเช่นนี้มักเป็นดาวตก วูบเดียวหาย   



นักวิชาการ ไม่ว่าสาขาใด ย่อมใจกว้างต่อความขัดแย้ง(ทางวิชาการ)เสมอ การมีข้อขัดแย้งถือ้เป็นความงอกงามทางวิชาการ คนที่ได้ประโยชน์คือคนฟัง ผมยอมรับว่าไม่ใช่คนในแวดวงอักษรศาสตร์ และยอมรับว่านักวิชาการทางด้านอักษรศาสตร์มีข้อขัดแย้งน้อยมาก แต่จำได้ครั้งหนึ่งมีการเสนอขึ้นมาว่า การใช้คำศัพท์เรียกพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคนั้นผิด เพราะแปลแล้วความหมายซ้ำซ้อน เพราะคำว่าทางและมารคคือสิ่งเดียวกัน ผู้เสนอๆให้ใช้คำว่า เสด็จพระราชดำเนินชลมารค

ข้อเสนอดังกล่าวมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างมากมาย ผมก็ติดตามเฉพาะในสยามรัฐนะครับ คนที่บอกว่าดีแล้วก็อ้างเหตุผลถึงความสละสลวยของภาษา ทางวรรณคดีนั้น ประโยคๆหนึ่งอาจจะใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อนได้เสมอ หากทำให้ไพเราะห์ขึ้น ผมก็ลุ้นอยู่ว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตน่าจะหาทางออกที่เป็นกลางได้ ดังเช่นเอากาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งที่ว่า “พระเสด็จโดยแดนชล” มาใช้ คำว่าพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารค ฟังดูดีกว่าพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินชลมารคเป็นไหนๆ แต่เรื่องนี้ผู้เสนอชนะ

เอาอีกคำหนึ่งครับ สี่แยกที่นนทบุรี สะกดว่าแครายหรือแคลายครับ ราชบัณฑิตว่าเป็นชื่อต้นไม้ชื่อแคลาย ชาวบ้านว่าต้นเป็นยังไงหนอเกิดมาไม่เคยเห็น เห็นแต่ตอนที่ย่านนั้นเป็นถนนเล็กๆ ปลูกต้นแคเรียงรายไปตลอดทาง เรื่องนี้นักอักษรศาสตร์เสนอขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่มีใครยอมหักใคร ทุกวันนี้ก็ตามใจ ใครอยากเขียนอย่างไรก็เขียนไป

ส่วนพวกที่สุดโต่ง ดังอยู่วูบเดียวหายส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น แต่ที่ไม่หายก็แจ้งเกิดไปเลย คนที่เสนอว่าหลักศิลาจารึกหลักที่1 มิได้ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงแต่ทำในสมัยรัชกาลที่4 โดยอ้างหลักฐานหลายอย่างแม้ส่วนใหญ่จะเป็นด้านโบราณคดีแต่ก็ซ้อนทับกับอักษรศาสตร์ด้วย เป็นตัวอย่าง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 11:27


อ้างถึง
สังคมไทยสมัยของรุ้งคือสังคมยุค 2475-82   ชาวนายังมีข้าวในนา ปลาในน้ำ  เกษตรกรรมยังไม่ต้องการแผนใหม่  เพราะที่เป็นอยู่ก็อุดมสมบูรณ์แล้ว

จริงหรือครับ ที่ว่ายุคนั้นชาวนาไม่ต้องการอะไร เพราะสมบูรณ์แล้ว ผมเกิดหลังยุคนั้นมาก แต่ยังพอได้เห็นกระต็อบ ฝาโหว่ หลังคามุงจากของชาวนา เด็กๆไม่ค่อยมีผ้าผ่อนจะนุ่ง โรงเรียนไม่มีให้ไป แต่คงจับปูจับปลาเก่งอยู่ละ

ที่ชาวนาไทยดีขึ้นในทุกวันนี้มิได้เป็นความสำเร็จ(ส่วนหนึ่ง)ของกรมวิชาการเกษตรหรือครับ เรามีพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรค หรือมีคุณภาพสูงเช่นเช่นข้าวหอมมะลิอันเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และเราแข่งขันในตลาดข้าวกับคู่แข่งอย่างพม่าและเวียตนามได้

อ้างถึง
รุ้งเองก็ไม่คิดจะกลับไปทำไร่ทำนา  เขาบอกเองว่าไร่นาพ่อแม่ก็ขายไปแล้ว     เขาอยากไปค้าขายมากกว่า


ในตอนแรกๆของเรื่อง ที่รุ้งลาออกจากกระทรวงธรรมการใหม่ๆ เขาตั้งใจจะไปทำนาตามที่ผมท้าวความไปถึงครับ แต่เพราะนิสัยเป็นอย่างนั้นแหละ จึงไถลไปปราศัยที่โคราช เลยต้องติดคุก

เมื่อออกจากคุกแล้วก็เป็นอย่างที่อาจารย์ว่า เลยหันเหความคิดไปอยากค้าขาย

อ้างถึง
สภาพสังคมของรุ้งคนละยุคกับสังคมของคุณ N.C. นะคะ  พื้นฐานความรู้ของรุ้ง เหมาะจะอยู่ในเมืองหลวงมากกว่าชนบท

ผมเห็นด้วยครับ น่าเสียดายจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 12:29

อ้างถึง
จริงหรือครับ ที่ว่ายุคนั้นชาวนาไม่ต้องการอะไร เพราะสมบูรณ์แล้ว ผมเกิดหลังยุคนั้นมาก แต่ยังพอได้เห็นกระต็อบ ฝาโหว่ หลังคามุงจากของชาวนา เด็กๆไม่ค่อยมีผ้าผ่อนจะนุ่ง โรงเรียนไม่มีให้ไป แต่คงจับปูจับปลาเก่งอยู่ละ

ตรงนี้ละโดนใจพอดี   
คนยุคเรา ถูกล้างสมองตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับต่างๆ  ตั้งแต่ฉบับที่ 1  ปี 2500 ให้เชื่อว่าการอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ  คือยากจน และด้อยพัฒนา   ตามความคิดของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องอยู่อย่างสิ้นเปลืองทรัพยากรโลก
เขาไม่รู้ว่า คนไทยยุคกระต๊อบ อยู่กันอย่างเศรษฐกิจพอเพียง   ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมเท่าตึกติดแอร์มานานแล้ว
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คือการอยู่กินแบบไทย  เงินไม่มีติดบ้าน   เขาก็มีกุ้งหอยปูปลาให้จับกิน  มากกว่าเราทุกวันนี้เสียอีก
ชาวบ้านแถวบางปะอินยังงมกุ้งก้ามกรามเกาะที่เสาเรือน กินได้ฟรีนะคะ   เดี๋ยวนี้เศรษฐียังหากุ้งก้ามกรามกินได้ยากเลย
เด็กๆที่วิ่งแก้ผ้าสมัยก่อน เขาก็เรียนรู้วิชาทำมาหากินตามแบบของเขา   เมื่อโตเป็นวัยรุ่น เขาก็ทำงานได้แล้ว    สมัยนี้จบปริญญาตรียังหาเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยจะได้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 13:35

อาจารย์ครับ

ผมก็มีความรู้สึกนึกคิดในเรื่องนี้เหมือนอาจารย์นั่นแหละครับ ในข้อความของผมที่ล้อมกรอบนั่น ผมก็นึกถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยขั้นมูลฐานที่มนุษย์อย่างชาวนาจะต้องอยู่อย่างมีคุณภาพในขณะที่คนอาชีพอื่นๆเขาบริโภคทรัพยากรส่วนรวมกันแบบไปยั้งเขาไม่อยู่ และมันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดโลกไว้
ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบ คนอื่นเขาจัดการให้ประเทศชาติของเราอยู่ในระบบระบอบนี้  เราก็ต้องดำรงชีวิตของเราต่อไปโดยทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เรื่องอดีตคือเรื่องที่ผ่านไปแล้วเอากลับมาแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงป่วยการที่จะไปวิตกวิจารณ์เกินกว่าเหตุ
 
และผมว่ามันคนละเรื่องกันที่เศรษฐกิจพอเพียงจะปฏิเสธเทคโนโลยี่ เพราะเทคโนโลยี่เองมันมีหลายระดับให้เลือกใช้ กุ้งก้ามกรามที่อาจารย์ว่า สมัยเรายังเด็กๆมีชุกชุม แล้วช่วงที่จบมหาวิทยาลัยมาแล้วอยู่ๆมันหายไปหมดทำท่าจะสูญพันธุ์ เหตุเพราะโรงงานอุตสาหกรรมและน้ำทิ้งจากครัวเรือนที่ขยายตัวอย่างไร้แผนทำให้น้ำในแม่น้ำเป็นพิษแถวปากอ่าว กุ้งซึ่งวางไข่ในน้ำกร่อย ฟักเป็นตัวแล้วจะว่ายทวนน้ำไปโตขนาด3ตัวกิโลแถวอยุธยาก็ถูกตัดวงจรชีวิต เทคโนโลยี่ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแล้วนำไปปล่อยในย่านน้ำสะอาด เดี๋ยวนี้เรามีกุ้งกามกรามที่โตในธรรมชาติ ชาวบ้านจับมากิน มาขายได้ ผมเคยเห็นที่เขาจับได้เหนือเขื่อนทางเหนือ เห็นแล้วตกใจตัวใหญ่อย่างกับล็อบสเตอร์มีสีเขียวตะไคร่ติดเปลือกอยู่เต็ม ไม่กล้าซื้อมากิน นี่คือส่วนดีของมัน



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง