เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 33332 รุ้ง จิตเกษม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 25 พ.ย. 09, 09:34

รุ้ง ไม่ใช่ผู้เชื่อถือในทฤษฎีการเมืองทฤษฎีใดแน่นแฟ้น   แต่เขาเอาทุกทฤษฎีที่ได้อ่าน มาใคร่ครวญ   จนมองเห็นจุดดีและจุดด้อยของทฤษฎีพวกนั้น     
เมื่อสังเคราะห์ออกมาได้แล้ว  รุ้งจึงสรุปความคิดของตัวเอง   เรียกได้ว่าเป็นการตกผลึกทางความคิด

อะไรคือผลึกความคิดของรุ้ง
อย่างแรกคือ  รุ้งเห็นว่า "รัฐบาลย่อมเกิดขึ้นและจะเป็นแบบใด ก็สุดแต่อำนาจของสิ่งแวดล้อม"
คำขยายก็คือ โลกสมัยนั้น ประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่ในประเทศตะวันตก     ความนิยมระบอบนี้ลุกลามมาถึงประเทศไทย    ดุจเดียวกับการลุกลามของโรคระบาด   เหลือกำลังที่ประเทศไทยจะต้านทานได้
จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี  ๒๔๗๕ ขึ้น

แต่ไทยยังไม่ทันจัดการปกครองประชาธิปไตยให้เข้ารูปได้สำเร็จ  ก็เกิดกระแสใหม่ในยุโรป คือการปกครองแบบฟัสซิสม์    ระบอบนี้เข้าสิงสถิตย์ในใจคนหนุ่มรุ่นใหม่    เกิดความนิยมระบบท่านผู้นำเด็ดขาดแบบฮิตเลอร์
ในประเทศไทย   ผู้นำประเทศคือหลวงพิบูลสงคราม  เป็นคนหนุ่มเช่นเดียวกัน   ก็รับอิทธิพลบุคลิกภาพของฮิตเลอร์ไว้  เป็นเหตุให้นิยมการปกครองลัทธิฟัสซิสม์ไปโดยปริยาย   และได้นำลัทธินี้เข้ามาปกครองประเทศในตอนนั้นด้วย

รุ้งเห็นว่า คนหนุ่มยุคเขา "เป็นหนุ่มในรุ่นที่ชาติต่างๆกำลังมีการปฏิวัติทางการปกครอง  ระเบียบต่างๆถูกรื้อถอน ถูกแก้ไข  (พวก)เขาเกิดและเติบโตขึ้นในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง   เมื่อเขาเป็นหนุ่มแล้ว   ได้เห็นปาฏิหาริย์อันน่าพิศวงของฮิตเลอร์  จึงรับเอาฮิตเลอร์มาเป็นวีรบุรุษ    จิตใจคนหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความแข่งขัน  ความเร็ว ความเด่น ความดัง และความกดขี่คนอื่น.."

ถ้าอาศัยการวิเคราะห์ของรุ้งเป็นหลัก   เราก็คงพอจะเข้าใจว่า เหตุใดประเทศไทยที่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยหลักการว่าจะดึงอำนาจจากระบอบกษัตริย์มาสู่ประชาชน  เหมือนนานาอารยะประเทศในยุโรป
จึงเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จ  มีการปราบปรามกบฏบวรเดชอย่างรุนแรง   และยืดเยื้อมาจนถึงการตัดสินประหารและจำคุกบุคคลสำคัญของประเทศอีกมากมาย
ไม่เว้นแม้แต่พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
โดยไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้านอำนาจของนายกรัฐมนตรี  ที่ผ่านทาง "ศาลพิเศษ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 25 พ.ย. 09, 15:02

รุ้งเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆในสังคมไทย ที่กำลังผันผวนจากการเมืองช่วง ๒๔๘๑    อิสรภาพที่เขาได้รับ  ไม่ได้ทำให้เขาปลอดภัยทั้งจากสายตาของสันติบาล และปลอดภัยจาก "ความยากไร้" ที่รออยู่
เป็นโศกนาฏกรรมเล็กๆที่ลึกซึ้ง เมื่อเรานึกถึงว่า บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในยุคที่คนไทยค่อนประเทศยังจบการเรียนภาคบังคับแค่ประถมต้น      ประสบปัญหาว่าไม่รู้จะทำงานอะไร   
สยามไม่มีงานที่เหมาะสมรออยู่สำหรับปัญญาชนอย่างรุ้ง

จริงอยู่ว่า หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม แสดงความใจกว้าง  ชักชวนนักโทษการเมืองทั้งหลายให้กลับเข้ารับราชการได้
แต่รุ้งปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดทบทวนเลย   
เราก็คงมองออกว่าเหตุผลของเขาคืออะไร    ถ้าเขากลับเข้ารับราชการ   เขาก็ต้องจำนนอยู่ใต้อำนาจและบุญคุณของรัฐมนตรีกลาโหม      สิ่งนี้นักอุดมคติของรุ้งไม่อาจจะจำทนได้

แต่เส้นทางอื่นๆ ก็ทำให้รุ้งเคว้งคว้างหนักขึ้น    เขาตัดสินใจจะหันอาชีพไปทำงานกับเอกชน    เลือกที่จะทำงานกับห้างขายเครื่องเขียน  เป็นแนวทางที่เขาจะเริ่มกิจการขายเครื่องเขียนของตัวเองในอนาคต
แทนที่จะไปทำงานในบริษัทอู่บางกอกของฝรั่ง  ผ่อง  เพื่อนของเขาก็เลยได้งานนี้ไปแทน   ผลออกมาว่าเป็นงานมีรายได้ตอบแทนดี น่าพอใจ
ผิดกับห้างขายเครื่องเขียนของนายห้างชาวอินเดีย   ที่รุ้งไปทำงานด้วย   นายห้างไม่ค่อยอยากจะรับคนมีความรู้สูงเกินไปอย่างรุ้ง    รุ้งจึงแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการยอมทดลองงานให้นายจ้างเห็นฝีมือ  โดยไม่เรียกร้องเงินเดือน

เรื่องนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้รุ้งเรียนรู้ว่า  ความใจกว้างและยุติธรรมที่แสดงออกกับคนใจแคบและเอาเปรียบคนอื่น    ย่อมจบลงด้วยความล้มเหลวของฝ่ายใจกว้าง

อ่านมาถึงตอนนี้แล้วก็พยายามวิเคราะห์ว่า นอกเหนือจากความเค็มและงกของนายห้างแขก   เราจะมองเห็นสัจธรรมอะไรได้บ้าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 01 ธ.ค. 09, 10:16

รุ้งเข้าทำงานเป็นเสมียนห้างเครื่องเขียนของนายซัลวาล   ทำงานด้านเอกสารและสัญญาอย่างขยันขันแข็ง  และทำได้เรียบร้อยไม่มีที่ติ   อยู่ ๖ เดือน เหมือนนักศึกษาฝึกงาน   โดยไม่ได้เงินเดือน
ครบ ๖ เดือน  นายห้างให้เงินเดือนในอัตราเสมียนทั่วไปคือ ๓๐ บาท     ไม่ใช่ในอัตราของผู้ชำนาญด้านเอกสารสัญญา ตามความรู้ของรุ้ง  ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า ๘๐ บาท ( อัตรานี้ก็ถือว่าต่ำสุดแล้วสำหรับปัญญาชนอย่างรุ้ง)
คือถ้าตกลงก็ทำงานต่อไปได้  ไม่ตกลงก็เชิญออกไป
ห้างนี้ พนักงานได้เงินเดือนต่ำกว่าราชการ และห้างอื่นๆมาก    แม้แต่สมุหบัญชี ก็ได้เงินเดือนแค่ ๗๐ บาท   กำไรจากการค้าขายประมาณ ๙๐%  เข้ากระเป๋านายห้างชาวอินเดีย   
นายห้างมีชั้นเชิงทางการค้าสูง  รู้วิธีกอบโกยกำไรจากลูกค้าได้ด้วยระบบเงินผ่อน และกดเงินเดือนพนักงาน
หลังจากรุ้งเรียนรู้เล่ห์เหลี่ยมการค้าเหล่านี้แล้ว   เขาก็ตัดสินใจว่าไม่ควรจะทำธุรกิจเครื่องเขียนอย่างที่เคยหวังไว้อีกต่อไป
เขาไม่เหมาะจะเป็นพ่อค้า 

เมื่ออ่านแล้ว   ก็ได้ความคิดว่า
๑  วิธีการตั้งเงินเดือนของนายห้างอินเดีย ไม่ได้แปลกอะไรเลย  ราชการเองก็ตั้งเงินเดือนคล้ายๆกัน    คือถึงแม้คุณจบปริญญาเอกมา
แต่ถ้าได้ตำแหน่งที่รับคนจบแค่  ม. ๖  ต่อให้คุณทำงานด้วยสติปัญญาและความรับผิดชอบของปัญญาชนปริญญาเอก    ราชการก็ให้เงินเดือนตั้งต้นสำหรับม. ๖ อยู่ดี   
หรือแม้แต่บริษัทห้างร้านก็เถอะ   ต่อให้คนสมัครเข้าทำงานจบปริญญาตรี  แต่ไปสมัครเป็นคนทำความสะอาด   บริษัทก็ตั้งเงินเดือนอัตราคนงาน     ไม่ได้ปรับเงินเดือนให้เท่ากับปริญญา

๒  การเรียนรู้เล่ห์เหลี่ยมการค้าของนายห้าง  ที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและลูกค้า  ทำให้รุ้งท้อใจว่าตำราและทฤษฎีที่เขาเรียนมา ใช้ในทางปฏิบัติไม่ได้   ถ้าเขาจะเป็นพ่อค้าที่สุจริตอย่างที่ตั้งใจไว้  เขาก็ต้องพ่ายแพ้พ่อค้าอย่างนายห้างอยู่วันยังค่ำ

อ่านแล้ว ก็รู้สึกเป็นส่วนตัวว่า รุ้งดูจะไม่เห็นทางเลือกที่ ๓ คือการปรับตัวเองให้ลดทฤษฎีลงมาบ้าง  และยังรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อลูกค้าเท่าที่จะทำได้
ดังนั้นรุ้งก็ต้องอำลาอุดมคติที่จะเป็นพ่อค้าที่ซื่อสัตย์  ไว้เพียงแค่นี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 11:33

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านไปแล้ว ก็เห็นใจรุ้งที่เขารู้สึกมืดมน อับจนหนทาง ไม่ว่าจะไปทางราชการ หรือค้าขาย เขาก็ไปไม่ได้สักทางเดียว
เหตุผลของรุ้ง ก็มี  ไม่ใช่ว่าไม่มี   เป็นเหตุผลที่อ่านแล้ว ถึงบางคนอาจไม่เห็นด้วยเพราะไม่ใช่นักอุดมคติอย่างรุ้ง แต่ก็คงยอมรับว่า นี่คือตัวตนของนักอุดมคติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้  ถ้าเปลี่ยนแปลง เขาก็หมดความเป็นตัวของตัวเอง

รุ้งเป็นคนสุภาพพอจะยอมรับว่าเป็นความผิดของตนเอง   การปฏิเสธความหวังดีของรัฐมนตรีกลาโหม   การสมัครงาน  และการลาออกจากบริษัทสยามเครื่องเขียนเหล่านี้ ไม่มีใครบังคับให้เขาทำ    มันเป็นผลให้เขานอนสะอื้นด้วยความวิตกถึงชีวิตอนาคต    แต่เขาไม่มีทางหลีกเลี่ยง     หากว่าชีวิตจะย้อนหลังใหม่ได้   รุ้งก็คงเลือกปฏิบัติอย่างเดิมนั่นเอง    เพราะมีสิ่งที่ทรงพลานุภาพใหญ่ยิ่งที่ได้ห้ามเขาไม่ให้รับราชการ และไม่ให้ค้าขาย    สิ่งทรงพลานุภาพนี้คือ "ความรู้สึกผิดชอบ"  ซึ่งมนุษย์ผู้เจริญด้วยธรรมทุกคนต้องเทิดทูนเคารพ

อ่านแล้วนึกถึงคำพูดนี้ค่ะ
“Responsibility is the price of greatness.”
 Winston Churchill
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 11:35

จากเรื่องงาน   ม.ร.ว.นิมิตรมงคล  สร้างชีวิตของรุ้งให้พบความรักครั้งที่สองหลังจากสมส่วนเสียชีวิตไปแล้ว     การพบรักครั้งใหม่นี้ก็เหมือนพระเอกนางเอกในวรรณคดีอีก   คือเป็นรักแรกพบ

รุ้งขึ้นรถราง  เกิดเหตุฉุกเฉินเล็กๆเมื่อหญิงจีนที่วิ่งตามรถรางมาเพื่อจะขึ้นให้ทัน  ส่งลูกน้อยขึ้นรถได้ แต่ตัวเองกลับโดดขึ้นมาไม่ทัน   ทำให้รุ้งซึ่งเอื้อเฟื้อ  รับเด็กมาจากวงแขนแม่  ต้องกลายเป็นพี่เลี้ยงจำเป็น อุ้มเด็กไว้ทั้งๆไม่รู้ว่าเป็นใคร หรือจะคืนให้แม่ได้อย่างไร
หญิงสาวคนหนึ่งขยับที่ให้เขานั่ง    เมื่อรุ้งเห็นเธอเข้า...

มันเป็นเหตุการณ์ซึ่งไม่มีใครสังเกต   เป็นเหตุการณ์อันเล็กน้อยซึ่งมีความสำคัญใหญ่หลวง   เป็นเหตุการณ์ที่เคยทำให้มาร์ค แอนโตนี  เอาความเป็นจักรพรรดิแห่งโรม ไปบูชาแทบบาทคลีโอพัตรา    นั่นคือเหตุการณ์เมื่อกระแสไฟฟ้าจากดวงตาคู่หนึ่งแล่นไปยังดวงตาอีกคู่หนึ่ง    รุ้งเกิดความงงงันและลืมตน เหมือนคนถูกสะกดดวงจิต    ในเมื่อสายตาของเขาเผอิญแลไปสบสายตาของสุภาพสตรีผู้ขยับที่นั่งให้แก่เขา     เขาทรุดตัวลงนั่ง อ่อนเปลี้ยสิ้นกำลัง    เพิ่งรู้สึกว่าเข้ามาอยู่ภายในเขตอำนาจของกระแสแม่เหล็กที่แรงที่สุดในโลก   
 
อ่าน "เมืองนิมิตร ความฝันของนักอุดมคติ" มาถึงตรงนี้  ก็นึกถึงโคลงของคริสโตเฟอร์ มาร์โลว์  กวีร่วมสมัยของเชคสเปียร์ ขึ้นมาทันที
 
  It lies not in our power to love or hate,
For will in us is overruled by fate.
When two are stripped, long ere the course begin,
We wish that one should love, the other win;

And one especially do we affect
Of two gold ingots, like in each respect:
The reason no man knows; let it suffice
What we behold is censured by our eyes.
Where both deliberate, the love is slight:
Who ever loved, that loved not at first sight?

Christopher Marlowe 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 05 ธ.ค. 09, 14:56

ขออภัยหากจะขัดจังหวะความรักครั้งที่2ของรุ้งสักนิด


สิ่งที่คนอย่างรุ้งไม่เข้าใจเลยคือการค้าและวิธีการหากำไร รุ้งก็อยากรวย อยากมีเงินมีทอง เพราะจะเอาเงินนั้นไปต่อยอดในการทดลองหาผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ต่อไป นั่นรุ้งกำลังพูดถึง research&developmentที่ผู้ประกอบการดีๆเขาลงทุนทำกันเพื่อหาสินค้าใหม่ๆมาสนองความต้องการของมนุษย์

คำว่า มาสนองความต้องการของมนุษย์ กับ มาสนองความต้องการของตลาด ก็จะแสดงความต่างชั้นของอุดมคติแล้ว เห็นไหมครับ

รุ้ง เมื่อพ้นโทษมาก็ทำจดหมายใช้ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานในการส่งจดหมายเหวี่ยงไปเพื่อสมัครงาน และมีบริษัทอเมริกันสนใจจะว่าจ้างโดยไม่สนใจคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ แต่รุ้งก็เอาโอกาสนั้นไปแลกกับผ่องเพื่อนรักที่ได้จดหมายตอบรับจากนายห้างขายเครื่องเขียนชาวอินเดีย เพราะปรารถนาจะเข้าไปเรียนรู้วิธีการค้าขายของเขา

ความเข้าใจของรุ้ง “พ่อค้าที่ดี…หมายถึง ผู้สามารถดำเนินการก้าวหน้า โดยอาศัยความรู้ ศาสตร์กับความสามารถในศิลปะ และประกอบการโดยสุจริต”
แต่บังเอิ้ญ บังเอิญที่รุ้งไปฝึกงานกับคนเลว รุ้งจึงสรุปว่า “ความซื่อตรงเป็นนโยบายที่ดีเยี่ยมนั้น เป็นความจริงในตำรา แต่ไม่มีใครเอามาใช้”

“แต่ความรู้ในการไปเป็นลูกจ้างแขกทำให้เขาเห็นว่า การค้าขายคือความพยายามที่จะโกงและเอาเปรียบซึ่งกันและกันในเวลาที่สินค้าเปลี่ยนมือ และพ่อค้าก็คือผู้ชำนาญในการนี้ มันช่างผิดกันไกลกับหลักการที่เขาได้ศึกษา”

“เงินคือเสนียดแห่งอำนาจ…เสนียดแห่งอำนาจเมื่อวิเคราะห์ลงไปอีกชั้นหนึ่งก็คือกำไร ซึ่งแปลว่าความได้เปรียบ เขาเตะเราได้หนึ่งครั้ง แต่เราเตะเขาได้สองครั้งก็เรียกว่ามีกำไร”

กระนั้นก็ดีสิ่งที่รุ้งสรุป “แม้จะยอมรับว่าอาจเกิดเพราะความเผอิญหรือเป็นด้วยหูตาสั้น หรือมีอุปาทานอยู่ในใจ …..เขาเชื่อว่าเขาไม่เคยพบพ่อค้าคนใดที่ดำเนินการค้าโดยสุจริตอย่างแท้จริงสักรายเดียว”

ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่รุ้งท้าทายให้ผู้อ่านเถียงเขา แต่คนที่จะเถียงได้ก็คือคนที่ปฏิบัติมาแล้ว ที่จะบอกรุ้งว่า พ่อค้าก็มีอุดมคติได้และพอใจในความสำเร็จของอาชีพตน โดยไม่ต้องเอาเปรียบ คดโกงคู่ค้าหรือลูกค้าก็มีนะครับ

ยิ่งมีคนเถียงตรงนี้มากเท่าไร รุ้งคงยิ่งดีใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 11:16

การวิจารณ์รุ้ง มีข้อที่ทำให้ลำบากใจอยู่อย่างหนึ่ง คือม.ร.ว.นิมิตรมงคล ได้ผสมผสานประสบการณ์และทัศนะของท่านลงในชีวิตของรุ้ง อยู่มาก    จนคนอ่านทั่วไปที่ไม่รู้จักม.ร.ว. นิมิตรมงคล อาจแยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือท่านและส่วนไหนคือรุ้ง
จะวิจารณ์พฤติกรรมของรุ้ง ก็จะกลายเป็นวิจารณ์พฤติกรรมของผู้แต่ง ไปโดยปริยาย 
ดิฉันจึงได้แยกกระทู้นี้ออกมา  เพื่อให้เห็นชัดๆว่า อะไรที่จะกล่าวถึงในกระทู้นี้ คือกล่าวถึงรุ้ง  ไม่ใช่พาดพิงถึงผู้แต่ง

ในเมื่อคุณ N.C. ชี้ทางให้มีคนเถียงรุ้งได้    ดิฉันก็จะทำให้คุณรุ้งเธอดีใจ ด้วยการเถียงหลายข้อ   ไม่ใช่ข้อเดียว

๑  นักอุดมคติอย่างรุ้ง ทำให้เห็นว่า เขาเป็น idealist แบบเต็มร้อย  ยึดมั่นในทฤษฎี  แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติ  รุ้งก็ไม่มีความสามารถจะนำมาประยุกต์ หรือปรับใช้ในเวลาปฏิบัติได้
รุ้งจะไม่เฉลียวใจเลยหรือว่า ไม่มีทฤษฎีใดที่สมบูรณ์   แม้แต่นักชีววิทยาทั้งหลายก็ต้องเอาความรู้ในตำรามาทดลองกันในห้องแล็บ ครั้งแล้วครั้งเล่า  เพื่ออาจจะเกิดผลที่แตกต่างกันไป   นำไปสู่การสรุปทฤษฎีใหม่
ดังนั้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การค้ามากมายที่เขาอ่าน บรรยายไว้เป็นหน้าๆ  ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้ารุ้งไม่รู้จักปรับใช้ให้เหมาะสม

๒ รุ้งไปทำงานอยู่แค่ ๖ เดือนในบริษัทเดียว  เจอนายเลวๆคนเดียว   แต่รุ้งก็สรุปเหมารวมไปหมดทั้งสังคมธุรกิจ ว่าไม่มีพ่อค้าคนไหนที่สุจริต  ทำให้เขารู้ตัวว่าเขาไม่เหมาะสมจะค้าขาย  ถ้าเขายังยึดหลักการค้าขายอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ไม่เป็นการด่วนสรุปไปหน่อยหรือ   เหมือนการทดลองกับหนูตัวเดียว  แล้วสรุปว่าหนูทุกตัวต้องเป็นแบบเดียวกัน

พ่อค้าแม่ค้าที่ซื่อตรงต่อผู้บริโภค  ยังไงก็ต้องมีในสังคม    เพราะถ้าทุกคนพร้อมใจกันคดโกงหมด  ในที่สุดก็ต้องโกงกันเอง    แล้วก็จะล้มกันหมดทุกคน  จะเหลือใครรอดมามั่งมีศรีสุขอยู่ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 11:29

มีคำคมอยู่ประโยคหนึ่ง ว่า
Learning is best when put into practice.
คือการเรียนวิชา มีไว้เพื่อนำมาปฏิบัติ 
เรียนเพื่ออ่าน เพื่อท่องจำไว้ให้ใครๆฟัง   หรือเพื่อสะสมตำราไว้ในตู้ เฉยๆ ไม่ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดี    เรียนแล้วต้องใช้ได้
น่าแปลกว่า บัณฑิตทางชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน  ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเอาวิชานั้นมาใช้ทำมาหากินอย่างไร
ถ้าสยามไม่มีเอกชนที่รับนักชีววิทยามาทำงานโดยตรง      วิชาอื่นๆที่รุ้งเองรู้อย่างดี เช่นภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์เบื้องต้น   หรือแม้แต่คำนวณชั้นสูง   จะช่วยให้เขาหางานทำไม่ได้เลยหรือ
อย่างน้อยรับเป็น tutor คือครูสอนตามบ้าน  ก็คงจะมีรายได้ประจำ มากน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

ถ้าไปหางานในห้างร้านใหม่สักแห่ง    อาศัยพื้นฐานภาษาอังกฤษเขียนโต้ตอบการสั่งสินค้าจากเมืองนอกได้     เขาก็คงหางานทำได้ 
เจ้าของห้างจะเอาเปรียบลูกค้ายังไง ก็ต้องวางใจเป็นอุเบกขา   เพราะอยู่นอกขอบเขตที่รุ้งจะยื่นมือไปจัดการได้
สิ่งหนึ่งที่นายจ้างทั้งหลายต้องการตรงกัน ไม่ว่านายจ้างดีหรือนายจ้างเลว  คือพนักงานที่ขยันและซื่อสัตย์     ถึงนายจ้างเลวจะกดเงินเดือน ก็ไม่ไล่ออก ให้ต้องตกงาน    ส่วนนายจ้างดีจะตอบแทนให้ตามสมควรหลังจากอยู่กันยาวมาระยะหนึ่งแล้ว

แต่คนที่คิดอย่างนี้  ก็เป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไป  ไม่ใช่นักอุดมคติที่มีความฝันจะเห็นสังคมดีขึ้น อย่างรุ้ง

ถ้ารุ้งเกิดในสมัยนี้  เขาอาจจะมีทางออกที่ดีกว่ายุคของเขา  อย่างน้อยเขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลได้กว้างขวางมาก แทบไม่มีขอบเขตจำกัด
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 11:59

หากรุ้งเพียงผิดหวังเรื่องการค้าขายมาจากห้างขายเครื่องเขียน รุ้งก็ยังมีทางออกอื่นๆอีกมาก ยังมีคนต้องการใช้ความสามารถของรุ้งอยู่ อย่างน้อยอู่บางกอกหรือธุกิจใกล้เคียงกันก็คงจะยินดีที่จะอ้าแขนรับ

เรื่องนี้รุ้งเองแสดงความผิดหวังกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และเจาะจงว่าระบบการค้าขายของสยามนั้นยิ่งแย่ หมายความว่าสิ่งที่รุ้งผิดหวังนั้นไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องความคดโกงของห้างค่าเครื่องเขียนนี้ แต่เห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบเศรษกิจโดยรวมนั้นทีเดียว ข้อนี้ตรงกับความเห็นของคนจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน ที่มองเห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบทุนนิยมที่ใช้อยู่ ยิ่งเมื่อใช้ในชาติที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลเป็นอย่างดีแล้ว เท่ากับเปิดช่องให้คนจำนวนหนึ่งสูบเลือดสูบเนื้อเอาเปรียบคนอื่นๆได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ข้อนี้ทำให้รุ้งรังเกียจที่จะเข้าไปคลุกคลีเป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้อีก จะเป็นผู้กดขี่ หรือผู้ถูกกดขี่ก็ไม่เอาทั้งนั้นครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 12:23

อ้างถึง
เรื่องนี้รุ้งเองแสดงความผิดหวังกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และเจาะจงว่าระบบการค้าขายของสยามนั้นยิ่งแย่ หมายความว่าสิ่งที่รุ้งผิดหวังนั้นไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องความคดโกงของห้างค่าเครื่องเขียนนี้ แต่เห็นความไม่ชอบมาพากลของระบบเศรษกิจโดยรวมนั้นทีเดียว

มาต่อความคิดเห็น

ยังสงสัยอยู่ว่ารุ้งมองเห็นความบกพร่องของเศรษฐกิจทุนนิยม แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา 
หรือว่ารุ้งผิดหวังจากการทำงานกับนายจ้างเลวๆ  เลยท้อใจกับการค้าขาย ว่ายังไงก็ไม่พ้นคนพวกนี้

สมมุติว่ารุ้งเห็นอย่างที่คุณม้าวิจารณ์มา      คนอย่างรุ้งไม่ต่อยอดไปถึงทางออกของทุนนิยมหรือคะ
เพราะการรู้ปัญหา เป็นเรื่องที่เห็นไม่ยากนัก   แต่การแก้ปัญหานี่สิ   ยากกว่า
เช่นเราก็รู้ว่าในหน่วยงานภาครัฐ มักจะมีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ   แต่ใครสักคนจะมองเห็นการวางระบบป้องกันหรือไม่ ว่าจะทำอย่างไร
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 13:37

ระบบเศรษฐกิจที่ดีต้องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของสังคมมนุษย์ได้ ระบบทุนนิยมได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าสอดคล้องกับ "สันดาน" ของมนุษย์มากกว่าสังคมนิยม

น่าเสียดายที่รุ้งไม่มีโอกาสได้เห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไม่เห็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในชาติที่อ้างตัวเป็นคอมมูนิสต์อย่างจีน รุ้งอาจจะผิดหวังว่ายูโทเปียของตนนั้นอาจไม่ใช่โลกที่จะเกิดขึ้นจริงได้

แต่หากรุ้งได้อยู่เห็นการโจมตีค่าเงินบาทของเฮ็ดจ์ฟันด์จนเกิดความล่มสลายของระบบการเงินของประเทศไทยลุกลามเป็นพิษต้มยำกุ้งไปทั่วโลก มีคนจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว หรือถึงกับต้องสังเวยชีวิตให้กับความบ้าคลั่งของระบบทุนนิยมที่ไร้การควบคุมอย่างพอเพียงเช่นนี้ รุ้งอาจจะพูดว่า "เห็นไหมล่ะ นี่ไม่ใช่อย่างที่กันว่าดอกหรือ"

ระบบทุนนิยมนั้นขับดันโดย "ความโลภ" หรือถ้าจะพูดให้สวยก็ต้องว่าเป็น "ความอยากได้ใคร่ดี" ของมนุษย์ โดยกลไกนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ข้อหนึ่งที่สำคัญคือ "ศัตรูของระบบทุนนิยม คือนักทุนนิยมที่ประสบความสำเร็จแล้ว" เพราะโดยระบบนี้ ผู้มีทุนสามารถใช้กำลังทุนในการกีดกันคู่แข่งออกไปได้ ในประเทศที่เจริญแล้ว จะต้องมีกฎหมายป้องกันปัญหานี้ว่า อย่างที่เรียกกันว่า "การป้องกันการผูกขาด" อย่างที่ในอเมริกาเรียกว่า Antitrust Lawsuit ในขณะที่ประเทศ "กำลัง" พัฒนาบางประเทศ นอกจากไม่มีการควบคุมป้องกันการผูกขาดอย่างเข้มแข็ง นักการเมืองยังสุมหัวกับพ่อค้าให้สัมปทานผูกขาดโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันอย่างที่กำลังเป็นข่าวให้เห็นกันทุกวันนี้ ข้อนี้แหละที่ผมเห็นว่านี่คือเรื่องเดียวกับที่รุ้งได้เจอ และถอดใจ หันหลังให้กับระบบการทำการค้าของสยามในเวลานั้นครับ

โลกในอุดมคติที่รุ้งฝันถึงนั้นห่างไกลกว่าโลกความเป็นจริงมากนัก ผมยังผิดหวังในตัวรุ้งอยู่บ้างว่าน่าจะนำเสนอแนวทางที่ใกล้ตัวมากกว่านี้ แต่เมื่อทบทวนดูอีกครั้ง รุ้งก็บอกเราอยู่โดยนัยแล้วว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และควรจะต้องแก้ด้วยวิธีใด

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกเมื่อผู้มีอำนาจในเวลานั้นจะตั้งข้อหากบฏให้กับรุ้ง เพราะรุ้งเป็นกบฏจริงๆ แต่วิธีกบฏของรุ้งนั้นไม่ใช่การถือปืนเข้ายึดกุมอำนาจโดยตรง รุ้งได้กล่าวเอาไว้ว่า

"สิ่งที่เรียกว่ารัฐบาลนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบกษัตริยาธิราชหรือแบบโจราธิราช เป็นรัฐบาลรักชาติหรือรัฐบาลล้างชาติ เป็นรัฐบาลเพื่อประชาชนหรือเพื่อตนเองก็ดีอมิใช่ว่าคณะรัฐบาลตั้งตัวเขาขึ้นเป็นรัฐบาลโดยปราศจากอิทธิพลอื่น ความคิดเหล่านี้เป็นความจริงเพียงด้านเดียว ถ้าจะกล่าวให้มีส่วนถูกมากที่สุดก็ต้องว่า รัฐบาลย่อมเกิดขึ้น และจะเป็นแบบใดนั้นก็สุดแต่อำนาจแห่งสิ่งแวดล้อม"

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น จะยั่งยืนได้เมื่อเกิดขึ้นจากคนส่วนมากในสังคม ไม่ใช่คนแค่หยิบมือเดียว และต้องเกิดขึ้นโดยปัญญา ไม่ใช่ความโง่เขลา

หกเจ็บสิบปีผ่านไป เรายังไปได้ไม่ไกลเลย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 16:21

อ้างถึง
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ได้ผสมผสานประสบการณ์และทัศนะของท่านลงในชีวิตของรุ้ง อยู่มาก    จนคนอ่านทั่วไปที่ไม่รู้จักม.ร.ว. นิมิตรมงคล อาจแยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือท่านและส่วนไหนคือรุ้ง จะวิจารณ์พฤติกรรมของรุ้ง ก็จะกลายเป็นวิจารณ์พฤติกรรมของผู้แต่ง ไปโดยปริยาย


ผมมีโอกาสศึกษาชีวิตของคนสองคนนี้ แม้จะไม่ได้พบตัวตนเป็นๆทั้งคู่เพราะคนหนึ่งเป็นตัวละครในนิยาย แต่อีกคนหนึ่งนั้นผมเกิดช้าไปหน่อย แต่เรียกว่าได้ข้อมูลเพียบ จากคนที่รู้จักท่านดีหลายคนด้วยกัน สามารถยืนยันได้ว่าความรู้สึกนึกคิดของคนทั้งสองคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน รุ้งเป็นนักอุดมคติ จะเป็นจริงได้ก็ในโลกแห่งอุดมคติเท่านั้น ส่วนคนที่สร้างรุ้งขึ้นมา เป็นคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และพยายามที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขท่ามกลางความเป็นจริงที่เป็นไปในขณะนั้น

อ้างถึง
น่าแปลกว่า บัณฑิตทางชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน  ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะเอาวิชานั้นมาใช้ทำมาหากินอย่างไร
ถ้าสยามไม่มีเอกชนที่รับนักชีววิทยามาทำงานโดยตรง      วิชาอื่นๆที่รุ้งเองรู้อย่างดี เช่นภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์เบื้องต้น   หรือแม้แต่คำนวณชั้นสูง   จะช่วยให้เขาหางานทำไม่ได้เลยหรือ อย่างน้อยรับเป็น tutor คือครูสอนตามบ้าน  ก็คงจะมีรายได้ประจำ มากน้อยก็พอเลี้ยงตัวได้

ในความเป็นจริงที่บุคคลทั้งสองมีชีวิตร่วมสมัยกัน ไม่มีค่อยจะมีเอกชนทั้งบริษัทและบุคคลที่ไหนกล้ารับพวกกบฏที่เพิ่งจะพ้นโทษออกมาใหม่ๆให้ทำงาน นายทหารที่ปฏิเสธความเอื้อเฟื้อของรัฐมนตรีกลาโหมที่จะช่วยเหลือให้กลับเข้ารับราชการ หลายคนได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดและทำการค้าขายเลี้ยงชีพ จำนวนหนึ่งในนั้นสันติบาลตามไปยัดข้อหาให้กลับมาติดคุกในคดีกบฏพระยาทรงอีก สามคนตายขณะถูกจับกุมอย่างมีเงื่อนงำ  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลนั้นหลังจากที่หนังสือตำรารัฐศาสตร์"พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ"ที่ตนเขียนถูกยึดจากโรงพิมพ์ไปเผา ก็ต้องยอมงอไม่ยอมหัก หันกลับไปสมัครงานแบบไม่มีเส้นที่กรมชลประทานประกาศรับสมัครทั่วไป กระนั้น เรื่องก็ยังถูกส่งขึ้นไปให้พันเอกพระยาฤทธิ์อาคเนย์รัฐมนตรีเกษตรขณะนั้นอนุมัติพร้อมกับของอดีตนักการเมืองอีกคนที่สมัครเข้ากรมสหกรณ์

ต่อมาพระยาฤทธิ์อาคเนย์ถูกกล่าวหาโดยตรงด้วยวาจาจากหลวงพิบูลว่าเอาใจช่วยอดีตกบฏซึ่งท่านตกใจมาก ท่านตอบว่าทำไปเพราะเห็นแก่มนุษยธรรมและเห็นว่าหลวงพิบูลก็ยังทำเป็นตัวอย่าง เรื่องเดียวกันนี้มีพยานเท็จไปปรักปรำในศาลพิเศษว่าม.ร.ว.นิมิตรมงคลไปบ้านพระยาฤทธิ์อาคเนย์เพื่อของานทำที่กรมชลประทาน ครั้นถูกซักว่าเคยเห็นหรือรู้จักกันที่ไหนเมื่อไหร่ พยานกลับลังเลแล้วบอกว่าความจริงแล้วไม่ได้เห็นแต่ได้ยินมา ม.ร.ว.นิมิตรมงคลรับว่าไปสมัครทำงานที่กรมชลประทานจริงแต่ไม่รู้จักหรือเคยพบพระยาฤทธิ์อาคเนย์เลย ความจริงก็ทำงานนี้ได้สักเดือนหนึ่งกระมังก่อนที่สันติบาลจะตามไปจับตัวมาจากอยุธยา แสดงว่าการให้งานแก่อดีตกบฏ เป็นเรื่องที่อาจคอขาดบาดตายได้

จากสิ่งแวดล้อมดังกล่าวคงทำให้รุ้งไม่มีทางเลือกมากนัก แต่หลังจากเลิกคิดเป็นพ่อค้า ได้ฝากความหวังไว้กับการเขีบนหนังสือขายแต่สันติบาลก็ยึดจากโรงพิมพ์ไปอีก รุ้งก็มิได้ทำตัวไม่ให้ถูกผู้มีอำนาจเพ่งเล็งเพราะไม่อยากติดคุกอีกด้วยการยอมไปเป็นลูกจ้างทางราชการเช่นม.ร.ว.นิมิตรมงคล แต่ได้ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าเพราะอุดมคติในเรื่องของความรักเป็นเหตุ เผอิญสันติบาลมาตัดบทเสียอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 16:35

เงื่อนไขและข้อจำกัดของกบฏการเมืองที่คุณ N.C. อธิบายมา  ไม่ได้อยู่ในหนังสือ "ความฝันของนักอุดมคติ"  เพราะฉะนั้นผู้วิจารณ์ก็ไม่อาจทราบข้อนี้ได้ว่า รุ้งถูกจำกัดเส้นทางถึงขนาดนั้น
เอาเป็นว่า ถอนคำวิจารณ์ ค่ะ

ก็นับว่านายห้างชาวอินเดีย   กล้าหาญมาก หรือไม่ก็ดวงดีมาก  ที่รับรุ้งทำงานอยู่ตั้ง ๖ เดือน   โดยไม่มีสันติบาลคนไหนไปรบกวนแกเลย
หรือว่าสันติบาลแอบไปสอบสวนแล้ว   นายห้างตอบว่าทำงานฟรีๆไม่ได้เงินเดือน    สันติบาลก็เลยไม่ว่าอะไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 19:13

ในหนังสือ จดหมายสมัครงานของรุ้งได้รับการตอบสนองจากนายห้างอเมริกัน ซึ่งเสนอเงินเดือนน่าสนใจมากสำหรับผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ แต่นักอุดมคติอย่างรุ้งก็ขอแลกกับผ่องเพื่อนรักที่บางขวาง อดีตนายทหารที่จบจากเวสต์พ้อยต์แต่ได้จดหมายตอบรับจากนายห้างชาวอินเดีย เพราะห้างนี้ขายเครื่องเขียนที่รุ้งสนใจอยากจะทำการค้าเรื่องดังกล่าว

คนต่างชาติคงจะไม่ใช่เป้าหมายของสันติบาลเรื่องการเมืองในประเทศ การจ้างอดีตนักโทษการเมืองอันที่จริงก็ไม่ผิดกฏหมายไทยในขณะนั้น ซึ่งห้ามผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกรับราชการ หรือดำเนินอาชีพครู อย่างอื่นไม่ว่าคนต่างชาติจึงไม่คิดจะกลัว หรืออาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์ว่าก็ได้ครับ

อย่างไรก็ตาม คนอย่างรุ้งก็ใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมมนุษย์นานไปหน่อยตั้ง6เดือนกว่าจะตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำ อันนี้ต่างหากที่ทำให้รุ้งเป็นคนประหลาดในสายตาของตัวละครอื่นๆ(รวมทั้งผู้อ่านด้วย) แต่นั่นผู้เขียนกำลังบอกว่านั่นหละ คนอย่างรุ้งละ

ซึ่งจะสมบทกับตอนตัดรักหักสวาทกับอุไรวรรณในตอนท้ายให้พิศวงกันอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 08 ธ.ค. 09, 20:15

6 เดือนอาจจะนานไปหน่อยสำหรับการทำงานฟรีๆ  ความจริงสัก 3 เดือนก็เหลือทนแล้ว
แต่เรื่องที่ไม่เห็นด้วย คือ รุ้งใช้ประสบการณ์กับนายจ้างคนเดียว มาตัดสินการค้าขายทั้งสยาม ว่าไม่สุจริต
รุ้งน่าจะนึกถึงบริษัทฝรั่งที่ผ่องทำงานอยู่บ้าง  ว่าพนักงานก็ได้เงินเดือนควรแก่อัตภาพ

ส่วนความรักครั้งที่สองของรุ้งกับอุไรวรรณ     ดิฉันว่าสองคนแปลกพอกัน
เมื่อมีผู้พิมพ์หนังสือตกลงจะพิมพ์หนังสือของเขา ด้วยราคางาม พอที่รุ้งจะเปลี่ยนฐานะเป็นคนมีอันจะกินในพริบตา    เขาก็ไปขอแต่งงานกับอุไรวรรณ เพราะถือว่าเขามีรายได้พอจะเลี้ยงภรรยาได้
แต่อุไรวรรณปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ควรใช้คำว่า "พิลึก" น่าจะตรง มากกว่าคำว่า "แปลก"

"เป็นความตั้งใจของดิฉันมานานแล้วที่จะแต่งงานกับคนจนที่เฉลียวฉลาด   และมีอัธยาศัยดีอย่างคุณ   มันจะเป็นวิสามัญที่ทำให้ใครๆพูดถึงไม่มีวันจบ    เดี๋ยวนี้คุณไม่ใช่คนจนเสียแล้ว   ลักษณะที่จะให้ความรักของเราเป็นวิสามัญก็หมดไป    ดิฉันเสียใจที่เป็นเช่นนี้ "

"การแต่งงานคือการทำสัญญาแลกเปลี่ยนประโยชน์     ดิฉันจะไม่ทำสัญญากับคนที่ให้อะไรดิฉันไม่ได้เลย    ดิฉันเป็นคนมั่งมีคนหนึ่ง  ดิฉันไม่ต้องการเงินอีก   แต่โดยที่ดิฉันเป็นผู้หญิง  ย่อมมีโอกาสน้อยที่จะแสวงหาชื่อเสียงเกียรติคุณ    ดิฉันจะแต่งงานกับคนที่สามารถทำให้ดิฉันมีชื่อเสียงเกียรติคุณ"

" ดิฉันกำลังคอยให้คุณเป็นมหาบุรุษ   แล้วมาขอแต่งงานกับดิฉันอีกครั้ง""


ถ้าดิฉันเป็นรุ้ง นอกจากไม่อ้อนวอนอุไรวรรณให้เปลี่ยนใจแล้ว    จะรีบกล่าวคำลาเธอ เสียก่อนเธอจะเปลี่ยนใจกลับมาตกลงแต่งงานด้วย
เธอคงอยากแต่งงานกับ Don Quixote มากกว่ารุ้ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง