เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 33256 รุ้ง จิตเกษม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 22:09

ผ่องยังคงไม่เห็นด้วย  แต่รุ้งกับผ่องก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้กันอีก    รุ้งยังคงสังเกตเหตุการณ์บ้านเมืองต่อไปอย่างสงบ

พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งบัดนี้เลื่อนขึ้นเป็นจอมพล  ปกครองประเทศให้สงบราบคาบลงได้อย่างรวดเร็ว     โจรผู้ร้ายที่เคยก่อกวนเมืองอยู่เมื่อปีก่อน  ถูกจับเข้าคุกตะรางกันระนาว เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายปราบปรามพวกนักเลงอันธพาล    แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ร้าย แต่มีพฤติกรรมที่เห็นว่าไม่เป็นที่ไว้ใจในสังคม   ก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย

นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่น   กฎหมายปรามการค้าประเวณี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ
ในยุคนี้เองที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (ปี พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2509) เกิดขึ้นมา   มุ่งไปในทางสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศชาติอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   
เน้นทางด้านสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า, ประปา, ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"
เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานความเจริญ   ไฟฟ้า ประปา ถนน ไปถึงหมู่บ้านไหน   หมู่บ้านนั้นก็จะเจริญขึ้นมาทันตาเห็น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 27 ม.ค. 10, 11:12

"ความเจริญ" หรือ "ประเทศพัฒนา" ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ คือความเจริญทางวัตถุ    ส่วนชีวิตแบบไทยๆในชนบทที่เรียบง่าย  มีกินมีใช้เท่าที่จำเป็น   ถูกมองว่าเป็นความ "ด้อยพัฒนา"
รากเหง้าเดิมของความเป็นอยู่แบบไทย ก็เริ่มถูกถอนไปทีละอย่างสองอย่าง   ที่เห็นชัดในเมืองหลวงคือ ไม่เห็นความสำคัญของการสัญจรทางน้ำอีกต่อไป 
แต่เห็นความสำคัญของทางบก 
รถเข้ามาแทนเรือ   ถนนจึงเข้ามาแทนคลอง   ทำให้มีการถมคลองตัดถนนกันมากมายในรัฐบาลชุดนี้ 
คลองต่างๆในกรุงเทพ ลดขนาดลงไปเป็นคูน้ำริมถนน  แล้วก็ลดลงไปอีกเป็นท่อระบายน้ำ 
ถนนต่างๆเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการหายไปของคลอง   

คนไทยถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น  เพื่อจะมีรายได้มากขึ้น     เมื่อมีเงินมากขึ้นก็คือฐานะดีขึ้น 
เมื่อฐานะดีขึ้นก็จะเขยิบตัวเอง   จับจ่ายใช้สอย ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้น    ปลูกบ้านใหญ่ขึ้น
รัฐบาลจึงมีคำขวัญออกมาว่า
" งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข"

รุ้งเป็นคนนอกศาสนาเงิน   
เขาเห็นด้วยกับเลนินว่า "เงินคือเสนียดแห่งอำนาจ"    แต่เขาก็ ไม่เลื่อมใสในลัทธิของคาร์ล มาร์คที่ต้องการจะล้มกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 27 ม.ค. 10, 21:16

กฎหมายข้อที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์เป็นที่จดจำมากที่สุด คือมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ  ฉบับที่ใช้กันอยู่ในยุคนั้น
มาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจสั่งการได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม   เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจข้อนี้ ในการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หลายเรื่องด้วยกัน  

เช่นสมัยนั้นมีการลอบวางเพลิงกันบ่อยๆ  ถ้าเป็นก่อนตรุษจีนก็เพื่อล้างหนี้   ที่พบกันบ่อยๆคือวางเพลิงเพื่อขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เช่า   เรียกว่า "เผาไล่ที่"   เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าชดเชยในการรื้อถอน  
การเผาไล่ที่ เกิดบ่อยเพราะเมืองหลวงเริ่มมีผู้คนอยู่อาศัยมากขึ้น     เนื้อที่ก็เริ่มเป็นเงินเป็นทอง  ทำให้เจ้าของที่อยากขาย หรือปลูกตึกแถวให้เช่า เป็นรายได้ดีกว่าให้เช่าที่ดินอย่างเดียว
ไฟไหม้แต่ละครั้ง  ผู้คนเสียชีวิต  สูญเสียบ้านเรือน  ทรัพย์สินเสียหาย หมดเนื้อหมดตัว  มีผลไปถึงอาชีพการงาน  รวมแล้วแต่ละครั้งก็เสียหายหลายล้านบาท  
จอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจว่าจะต้องยุติความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในชีวิตของประชาชนให้ได้ ด้วยวิธีเฉียบขาด ไม่ให้กล้าทำกันอีกต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 27 ม.ค. 10, 21:38

จึงสั่งบทลงโทษขั้นประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าผู้ต้องหาคดีเพลิงไหม้ ถึง 4 คดีในเวลาเพียง 2 เดือน

 คดีแรกวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ตำบลบางยี่เรือ
คดีที่ 2 วันที่ 8 พฤศจิกายน เพลิงไหม้ที่ตลาดพลูมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท 
คดีต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน เพลิงไหม้โรงเลื่อยจักรบ้วนเฮงหลง ตำบลวัดพระยาไกร
และในวันที่ 19 ธันวาคมปีเดียวกัน เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเกือบ 300 หลังคาเรือนที่ตลาดท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
ครั้งสุดท้ายนี้ เสียหายอย่างใหญ่หลวงกว่าทุกครั้ง 
จอมพลสฤษดิ์  เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบัญชาการดับไฟและสอบสวนผู้ต้องหาด้วยตนเอง   และมีคำสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาทันที ณ ที่เกิดเหตุนั้นเอง

ความเด็ดขาดข้อนี้ ก็ทำให้การลอบวางเพลิง ชะงักงัน และหายไปจากสังคม  ไฟไหม้ในที่ต่างๆก็ลดน้อยลง    ประชาชนระมัดระวังตัวมากขึ้นเมื่อเกี่ยวกับเรื่องฟืนไฟในครัวเรือน     
พร้อมกับเริ่มรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

รุ้งไม่ได้คัดค้านการลงโทษประหารชีวิต   เพราะโทษของผู้ก่อให้เกิดไฟไหม้โดยเฉพาะลอบวางเพลิง  ก็เลวร้ายจริง   แต่เขาอยากจะให้แน่ใจว่า ผู้ต้องหานั้นผิดจริง   ไม่ใช่แพะรับบาป
การไม่ผ่านขั้นตอนของการสอบสวน และฟ้องศาล   ซึ่งทำให้ผู้ต้องหามีโอกาสพิสูจน์ตัวเองได้ตามขั้นตอนอย่างยุติธรรม
อาจทำให้ผิดพลาด  ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารได้
รุ้งไม่อยากให้ฝันร้ายเมื่อปี ๒๔๘๒  ตามมาหลอกหลอนผู้คนในยุคนี้อีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 29 ม.ค. 10, 11:43

กฎหมายอีกข้อหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ นำมาใช้อย่างเอาจริงเอาจัง คือ"พระราชบัญญัติ ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495" ซึ่งมีมาตั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
กฎหมายข้อนี้ถูกนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 17   เพื่อปราบปรามผู้มีความเห็นไปในทางสังคมนิยม      

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  อำนาจของสหรัฐอเมริกาแผ่ขยายมาทางเอเชีย แปซิฟิค    แนวคิดของอเมริกาคือทุนนิยม ตรงข้ามกับสังคมนิยมที่พัฒนาขึ้นมาในจีนแผ่นดินใหญ่  
ไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก รับความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศมาจากอเมริกา    ก็มีนโยบายต่อต้านสังคมนิยม หรือเรียกว่าระบอบคอมมิวนิสม์  อย่างเต็มกำลัง

กระแสความเกลียดชังและกลัวคอมมิวนิสต์ ถูกปลุกให้แผ่ขยายไปในประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพ    คนทั่วไปกลัวคอมมิวนิสต์ เหมือนกลัวยักษ์มาร   ทั้งๆก็ไม่เข้าใจกันนักว่าคอมมิวนิสต์คืออะไรกันแน่
รู้กันแต่ว่าถ้าคอมมิวนิสต์เข้าครองประเทศ    ประชาชนจะถูกยึดทรัพย์สินไปเป็นส่วนกลาง   พระสงฆ์องค์เจ้าจะถูกปราบปราม  ไม่มีวัด  ไม่มีศาสนา   พ่อแม่ลูกจะต้องแยกกัน  เพราะคอมมิวนิสต์ไม่สอนให้เคารพนับถือพ่อแม่    แต่ให้ถือรัฐเป็นหลัก
ประชาชนมองเห็นคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคม     คนส่วนใหญ่จึงไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ที่มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

คนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียน หากเขียนหนังสือหรือบทความลงหนังสือพิมพ์   ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล   หรือมีการกระทำที่ทำให้สงสัยว่าฝักใฝ่สังคมนิยม  ก็จะเจอมาตรา 17 คือถูกจับกุมคุมขังเพื่อการสอบสวน เป็นระยะยาวไม่มีกำหนด
เช่น
อุทธรณ์ พลกุล  อิศรา อมันตกุล   กรุณา กุศลาศัย จิตร ภูมิศักดิ์  แคล้ว นรปติ, ทองใบ ทองเปาด์ อุดม ศรีสุวรรณ ทวีป วรดิลก  สุพจน์ ด่านตระกูล และ พระมหามนัส จิตตธัมโม วัดมหาธาตุ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 29 ม.ค. 10, 14:11

นอกจากนี้    รัฐบาลยังสั่งให้ตำรวจปิดหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายสิบแห่ง  ที่ลงข่าวหรือบทความโจมตีรัฐบาล หรือสนับสนุนความเป็นสังคมนิยม
รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน  เพื่อป้องกันคนไทยเชื้อสายจีน ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสม์ ผ่านทางตำราและสิ่งพิมพ์ภาษาจีน

เพื่อป้องกันการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วง    รัฐบาลออกประกาศคณะปฏิวัติล้มเลิกกฎหมายแรงงานทั้งหมดกับห้ามการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานอย่างเด็ดขาด
ความเข้มงวดเรื่องการเมือง  ยังแผ่ขยายไปถึงมหาวิทยาลัย  มีคำสั่ง "ห้าม" นิสิตนักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด   ถือว่าเป็นเยาวชน มีหน้าที่เรียนก็เรียนไปให้จบ    
นอกจากนี้ เยาวชนยังอ่อนประสบการณ์และความคิด  อาจถูกชักจูงให้ไขว้เขวไปได้
หากทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่นออกค่าย  เล่นกีฬา  ดนตรี  หรือสร้างชมรมอะไรก็ได้  ที่ไม่เกี่ยวกับการออกความเห็นทางการเมือง  ก็ทำได้ไม่จำกัด  
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ห้ามปราม  สนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้มีกิจกรรมยามว่างจากการเรียน
ความบันเทิงทางวิทยุ  โทรทัศน์   เพลง  ละคร   ผู้อยู่ในวงการบันเทิงทำได้ตามสบาย   เว้นแต่จะต้องไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง

รุ้ง ไม่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสม์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว     บทความในหนังสือพิมพ์ผดุงวิทยาใหม่ เน้นข้อนี้อยู่เสมอ    แต่รุ้งก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลายอย่างของจอมพลสฤษดิ์   โดยเฉพาะการใช้มาตรา 17 พร่ำเพรื่อเกินไป
เขาเขียนบทความท้วงติงการกระทำของนายกรัฐมนตรี  โดยเฉพาะเรื่องส่งเพื่อนร่วมอาชีพของเขาเข้าเรือนจำลาดยาว   โดยไม่มีกำหนดออก
รุ้งอยากให้มีการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม   ให้เป็นไปตามคัลลองคลองธรรม    ถ้าคนพวกนี้ผิด  ก็ขอให้มีความผิดปรากฏอย่างชัดเจน  ประชาชนตรวจสอบให้หายข้องใจได้

"รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศ   ได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที    รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ   ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา"
รุ้งเขียนข้อความนี้ลงในผดุงวิทยา   เมื่อกลับมาจากไปเยี่ยมเพื่อนร่วมอาชีพของเขาที่ลาดยาว

วันรุ่งขึ้นเมื่อบทความนี้ตีพิมพ์   บ่ายวันนั้นเอง รุ้งก็ได้รับเกียรติไปพบรองอธิบดีตำรวจ ด้วยการมาเชิญถึงบ้าน จากนายตำรวจระดับพันตำรวจเอก
เพื่อจะถูกแจ้งข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 29 ม.ค. 10, 14:17

intermission


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 31 ม.ค. 10, 10:49

มาลงชื่อว่ายังรอติดตามชีวิตของรุ้งอยู่ต่อไปครับ

น่าคิดว่านักคิดรุ่นรุ้ง ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในยุค 2516-2519 นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 31 ม.ค. 10, 12:44

          พักและรออ่านต่อ ครับ

            รุ้งจูเนียร์ยังไม่ออกโรง เลยได้แต่คาดเดาเรื่องล่วงหน้า วาดไว้แบบว่าในรุ่นลูกนี้ รุ้งซึ่งขัดแย้งกับ
สังคมที่บกพร่อง กลับต้องมาเกิดความขัดแย้งกับลูกชายของตนเอง อาจเพราะความเข้าใจผิด ความคิดต่าง
หรือช่องว่างระหว่างวัยและประสบการณ์
            จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่ชักนำให้พ่อลูกได้เปิดใจ ทำความเข้าใจกัน จนในที่สุดรุ้งจูเนียร์
ยอมรับนับถือพ่อเป็นวีรบุรุษของตน ทำให้รุ้งเรืองรองด้วยความสุขครั้งสุดท้ายในชีวิตก่อนที่จะเลือนหายไปจาก
ฟากฟ้า
            จบแบบเศร้าๆ อีกแล้วครับ

รุ้งสองสาย สายบนเริ่มจาง สายล่างยังสดใส


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 20:59

นิยายการเมืองเรื่องนี้เขียนตามความสบายของผู้เขียน   ไม่เข้ากฎเข้าเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น   
เพราะฉะนั้นจะจบตามใจคนเขียน หรือตามใจคนอ่าน
ก็เป็นไปได้เท่าๆกันค่ะ
**********************
" คุณคงจำผมไม่ได้  แต่ผมจำคุณได้ดีเสมอ  คุณรุ้ง" รองอธิบดีตำรวจเป็นฝ่ายทักรุ้งก่อน   ด้วยน้ำเสียงกันเอง
รุ้งนึกหน้าอีกฝ่ายไม่ออก   เขาได้แต่พึมพำขอโทษตามมารยาท
" เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒  ผมคือร้อยตำรวจเอกที่ไปจับคุณ  ก่อนคุณจะเดินทางไปต่างจังหวัดยังไงล่ะ   ผมแนะนำให้คุณสารภาพเสียดีๆ   อาจได้รับความกรุณาลดโทษลงมาเป็นจำคุกสักสิบปี  อย่างมากก็จำคุกตลอดชีวิต   แต่คุณก็ไม่เชื่อผม   คุณพูดอยู่คำเดียวว่า  ผมไม่มีความผิด" 
รุ้งนึกออกแล้ว    ร้อยตำรวจเอกแสวง ซึ่งบัดนี้เป็นนายพลตำรวจแล้วนั่นเอง
" คุณโชคดีนะคุณรุ้ง  ที่ได้รับอิสรภาพหลังไปอยู่ตะรุเตาไม่กี่ปี      ผมเสียดายจริงๆว่าคุณอาจไม่โชคดีเท่าคราวก่อน     คราวนี้คุณก็กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์อีก"
" ผมไม่ได้กระทำการอะไรทั้งสิ้น   ผมไม่เห็นด้วยกับลัทธินี้  ผมแสดงความคิดผมชัดเจนในคอลัมน์ของผม"
" ผมอ่าน"
รองอธิบดีตำรวจชี้ไปที่แฟ้มสีดำขนาดใหญ่บนโต๊ะ     เขาเปิดให้ดู  รุ้งเห็นบทความของเขาตัดจากหนังสือพิมพ์ เรียงซ้อนกันอยู่จนเต็มแฟ้ม
" ผมติดตามอ่านคอลัมน์ของคุณมาหลายปี" นายตำรวจพูดต่อไป เมื่อรุ้งไม่มีท่าทีว่าจะพูด " ขอสารภาพว่าผมติดคอลัมน์ของคุณเลยเทียวละ  วันไหนไม่ได้อ่าน เหมือนขาดกาแฟตอนเช้า     คุณเป็นคนมีความรอบรู้ดีมาก   ผมได้ความรู้จากคอลัมน์คุณเยอะ"
รุ้งตัดสินใจว่าจะไม่กล่าวคำขอบคุณ   เขาไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะมาไม้ไหน
" น่าเสียดาย" รองอธิบดีตำรวจพูดต่อไป  ไม่รู้สึกรู้สมว่าเขาพูดอยู่ฝ่ายเดียว " คุณเขียนอะไรได้มากมาย  อยากเขียนอะไรก็เขียนไป ไม่มีใครว่า ทำไมจะต้องเขียนโจมตีท่านจอมพลด้วย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 21:06

" ผมไม่ได้โจมตีท่านจอมพล    ผมเขียนบนสิทธิพื้นฐานของประชาชน ที่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นต่อการปกครอง  ตามระบอบประชาธิปไตย"
" คุณไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะไปละเมิดการปกครอง ตามธรรมนูญของราชอาณาจักร     นี่พูดกันอย่างหัวหมอ   แต่ถ้าพูดแบบทั่วๆไป คุณก็ทำตัวเป็นคอมมิวนิสต์"
" ผมไม่ได้เป็น"
" ผมก็เห็นปฏิเสธกันทุกคน  แต่ก็ไม่เห็นรอดจากถูกยิงเป้าไปได้"

นายตำรวจหมายถึง การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร
ผู้ถูกประหารคนแรกคือ นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 ที่ท้องสนามหลวง
ตามมาด้วยการยิงเป้า นายทองพันธ์ สุทธมาศ และนายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504
ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2505 จอมพลสฤษดิ์ลงนามสั่งยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

รุ้งไม่แปลกใจเลยถ้าผู้ถูกประหารต่อไป คือรุ้ง จิตเกษม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 21:20

" คุณรุ้ง" รองอธิบดีตำรวจพูดต่อไป ด้วยน้ำเสียงผ่อนปรนลงกว่าเดิม " ผมเสียดายฝีมือและมันสมองคุณจริงๆ   เอาละ  ผมอาจจะยอมเชื่อว่าคุณไม่ได้คิดร้ายต่อรัฐบาล   ถ้าหากว่าคุณกลับตัวกลับใจ อย่ากระทำการให้ผมต้องส่งคุณเข้าบางขวางอีก"
" กลับตัวกลับใจของคุณ หมายถึงอะไรครับ" รุ้งถาม
" หมายถึงว่าคุณจะต้องงดเขียนคอลัมน์นี้ไปเลย    คุณจะไปเขียนตำรับตำราสอนภาษาอังกฤษหรือชีววิทยาก็ได้  ผมไม่ว่า   คุณก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัว    ภรรยาคุณสวยและเป็นผู้ดี   ลูกคุณก็เป็นเด็กเรียนเก่ง    สองคนนี้ถ้าขาดหัวหน้าครอบครัวไป เขาจะลำบาก"

นายตำรวจใหญ่กำลังใช้จิตวิทยากับเขา  รุ้งดูออก      เขารู้สึกสลดใจที่อีกครั้งหนึ่ง เขาจำต้องสยบให้อำนาจของมนุษย์ตัวใหญ่ต่อมนุษย์เล็กๆอย่างเขา    เพื่อเห็นแก่ภรรยาและลูกที่เป็นจุดอ่อนของผู้ชายทุกคน
" ถ้าหากว่าผมงดเขียนคอลัมน์   คุณจะปล่อยผมกลับไปหาลูกเมียงั้นหรือครับ"
" ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น   คุณเขียนเล่นงานท่านจอมพลไว้ไม่น้อย   ผมปล่อยให้คุณลอยนวลไปง่ายๆผมก็โดนท่านเล่นงานแทนน่ะสิ    เอาอย่างนี้    ข้อเขียนของคุณมีคนอ่านมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ   มันคงจะเป็นการดีมิใช่น้อย ถ้าหากว่าคุณจะทำความเข้าใจกับนโยบายรัฐบาล   แล้วเขียนในสิ่งที่ถูกต้อง"
" ทุกอย่างที่ผมเขียนลงไป  ผมพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง   ถ้าผมไม่เชื่อในสิ่งที่ผมเขียน  ผมก็เขียนไม่ได้"
" ความถูกต้องคืออะไร  ไม่มีใครรู้    สิ่งที่ถูกต้องสำหรับคุณอาจจะผิดในสายตาคนอื่นก็ได้    อย่างน้อยคุณก็รู้แล้วว่า  มันผิดในสายตารัฐบาล"
" ผมเชื่อว่าความถูกต้องมีอยู่ในตัวของมันเอง     คนจะบิดเบือนไปยังไง ก็ลบล้างไม่ได้  อะไรที่ดี มันก็คือดี   อะไรที่ชั่ว ถึงคุณว่ามันดี มันก็ชั่วอยู่นั้นเอง"
รุ้งเริ่มลืมที่จะเก็บปากเก็บคำ     ส่วนนายตำรวจก็ดูเหมือนจะลืมไปเช่นกันว่า เขาไม่ต้องการคนโต้แย้ง   ดูเหมือนเขาจะเพลิดเพลินที่จะต่อปากต่อคำด้วยซ้ำ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 21:38

เขียนมาถึงตรงนี้ ต้องหยุดพัก เพราะไม่แน่ใจ
ย้อนกลับไปอ่าน เมืองนิมิตร     ว่ารุ้งพูดถึง "ความจริง" ไว้อย่างไรบ้าง  ก็พบเขาพูดสั้นๆไว้ว่า
"ในโลกนี้ไม่มีข้อใดเลยที่จริงเด็ดขาด"คำขยายคือ
" การที่สมส่วนจะตายภายในหนึ่งเดือน จึงไม่ใช่ความเชื่อของรุ้งว่า จะจริงตามนั้นเด็ดขาด"

ทีนี้  การที่สมส่วนถูกแพทย์ทำนายอาการโรคว่าเธอจะอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งเดือน   มันไม่ใช่ความจริงอย่างที่ปรัชญาเรียกว่า truth    แต่เป็นการคาดคะเนจาก fact  คือข้อเท็จจริง
ว่าคนป่วยหนักขนาดนี้ เท่าๆที่ดูกันมาก็ตายภายใน ๑ เดือนทั้งนั้น  ร่างกายทรุดโทรมเกินกว่าจะทรงต่อไปได้
แต่การคาดคะเน ย่อมคลาดเคลื่อนได้     กำลังใจอาจทำให้คนป่วยมีชีวิตยืนยาวกว่านั้นอีก

คำถามคือ รุ้งเชื่อว่า "ในโลกนี้ไม่มีข้อใดเลยที่จริงเด็ดขาด"  ทางปรัชญานั้น ความจริง -เท็จ  กับความถูก-ผิด มันเกี่ยวโยงกันอยู่
ถ้าเราเชื่อว่ามีความจริงที่เที่ยงแท้แน่นอน  อย่างที่เรียกว่า Ultimate truth  ก็หมายความว่า มีอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่ผันแปรไปตามค่านิยมและความคิดเห็น
ดังนั้น ความถูกและผิด   ก็ย่อมมีได้เหมือนกัน    ไม่ใช่แค่ความคิดเห็นที่ผันแปรไปตามตัวแปรต่างๆ

คำถามคือรุ้งเชื่อไหมว่าความจริง มีจริง  ความถูกผิดก็มีจริง    หรือเห็นว่า โลกนี้ไม่มีศีลธรรมหรือคุณธรรม   ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นเรื่องของทีใครทีมัน
อย่างที่แสดงไว้ในเรื่อง รอยร้าวของมรกต?
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 00:45

อ้างถึง
คำถามคือรุ้งเชื่อไหมว่าความจริง มีจริง  ความถูกผิดก็มีจริง    หรือเห็นว่า โลกนี้ไม่มีศีลธรรมหรือคุณธรรม   ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นเรื่องของทีใครทีมัน
อย่างที่แสดงไว้ในเรื่อง รอยร้าวของมรกต?

ด้วยความเคารพ ได้โอกาสตัวแทนของรุ้งที่จะออกโรงอีกแล้ว

ข้อความในความฝันของนักอุดมคติตอนนี้มีอยู่ว่า  โลกนี้ไม่มีความจริงข้อใดเลยที่จริงเด็ดขาด การที่สมส่วนจะตายภายในหนึ่งเดือนจึงไม่ใช่ความเชื่อของรุ้งว่า จะเป็นจริงตามนั้นเด็ดขาด   มีเพียงเท่านี้เท่านั้นเอง

ไม่มีข้อเขียนตอนไหนให้ตีความได้ว่า รุ้งจะมีความเห็นเลยเถิดไปจนไม่เชื่อว่าความจริง มีจริง  ความถูกผิดก็มีจริง    

คนที่มีความคิดอย่างนั้นจะเป็นนักอุดมคติได้อย่างไร คงเป็นได้แค่นักตรรกวาทีอย่างวาชศรพในกามนิต-วาสิฏฐีเท่านั้น

หรือเห็นว่า โลกนี้ไม่มีศีลธรรมหรือคุณธรรม   ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นเรื่องของทีใครทีมัน อย่างที่แสดงไว้ในเรื่อง รอยร้าวของมรกต

รอยร้าวของมรกตเป็นบทละครสั้นๆ ที่มีตัวแสดงไม่กี่คน แต่ละคนมีพื้นฐานอุปนิสัยใจคอ และพฤติกรรมดีชั่วต่างๆกัน ข้อความที่ตัวละครพูดถกเถียงกัน สะท้อนความคิดเห็นของมนุษย์ทั้งสองด้าน และแสดงให้เห็นว่า ธาตุแท้ของคนทุกคนย่อมเคยทำผิดทางคุณธรรมหรือศีลธรรมมาบ้างไม่มากก็น้อย เปรียบได้กับมรกต ถึงจะเป็นอัญมณีล้ำค่าแต่ทุกเม็ดจะมีตำหนิ(รอยร้าว) แต่ถ้าคุณยังเห็นคุณค่าของมัน และรักที่จะสวมใส่มันไว้ประดับตัว คุณก็จะต้องลืมเรื่องตำหนิของมันเสียด้วย บทสรุปมีอยู่เท่านั้นจริงๆ และถ้ามองให้ลึกสักนิด เรื่องรอยร้าวของมรกตนี้ ได้สะท้อนคุณธรรมของการรู้จักให้อภัยของผู้ประพันธ์  ที่เข้าใจคนประเภทที่เคยกระทำต่อตนอย่างแสนสาหัสถึงธรรมชาติของคนเหล่านั้น แม้เลวแสนเลวก็ยังควรได้รับการให้อภัย

ถ้ารุ้งได้อ่านบทละครเรื่องนี้ เขาคงจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าถ้าถึงทีเขา เขาอาจจะยอมทำชั่วเพื่อแลกกับเงินหรือการที่จะได้อะไร รุ้งเป็นนักอุดมคติ ตัวละครในรอยร้าวของมรกตไม่มีใครเป็นนักอุดมคติสักคนเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 09:18

ขอบคุณคุณตัวแทนรุ้งค่ะ ยิ้มกว้างๆ
ดิฉันจะได้เล่าเรื่องต่อได้   ไม่ต้องย้อนกลับไปแก้ไขคำพูดของรุ้ง
***********************************
" ผมไม่ใช่นักปรัชญาอย่างคุณ  คุณรุ้ง" รองอธิบดีตำรวจพูดต่อไป " แต่ผมก็เชื่อว่าผมมองเห็นความจริงหลายอย่างที่คุณมองไม่เห็น     คุณยังฝังหัวอยู่กับอุดมคติของคุณอย่างโงหัวไม่ขึ้น    นั่นก็ไม่ว่ากัน  ถ้าคุณไม่ทำสิ่งใดให้กระทบนายของผม    
คุณเชื่อในระบอบการปกครองที่ไม่มีจริง  และเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย   อย่างน้อยในชั่วชีวิตเราสองคน ต่อให้ชั่วชีวิตของคนรุ่นลูกเราด้วย  เมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยหรอกคุณ    
การปกครองที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย  ที่จริงก็คือระบอบรัฐสภา   มีคนถูกเลือกจากวิธีเลือกตั้งทั่วประเทศเข้ามานั่งในสภา  จากนั้นพวกเขาจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ   มันถึงไปไม่รอดเลยสักครั้ง    
รัฐบาลก็รับมือกับผู้แทนไม่ไหว เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ทำอะไรพวกนี้ได้   จากนั้นบ้านเมืองก็วุ่นวาย    
คนที่จัดการปัญหานี้ได้คือผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด    พอจะกล้าประกาศว่าท่านไม่เอาระบอบรัฐสภา     ท่านขอบริหารบ้านเมืองตามที่สมควรเอง    เกิดอะไรขึ้นท่านไม่โทษคนอื่น  
ท่านพูดว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"  คุณก็เคยได้ยินท่านประกาศไม่ใช่หรือ"

" ผมได้ยิน   แต่ผมไม่ทราบว่าท่านจะรับผิดชอบครบถ้วนได้อย่างไร   บ้านเมืองไม่ใช่ของท่านคนเดียว"

รองอธิบดีตำรวจอึ้งอยู่เป็นครู่   ก่อนจะตอบว่า
" ประเทศไทยไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าผู้นำที่เอาคนไทยไว้อยู่      รู้จักจัดการกับคนเกะกะนอกแถว   เพื่อคนสุจริตส่วนใหญ่จะได้โล่งอก นอนตาหลับ ทำมาหากินได้อย่างสบายใจ          ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน    คุณไม่เห็นหรือว่าเดี๋ยวนี้  แถวบ้านคุณไม่มีขโมยเล็กขโมยน้อย   ไม่ต้องกลัวไฟไหม้เท่าเมื่อก่อน      เพราะพวกที่เป็นภัยต่อสังคม ท่านกวาดไปขังไว้หมด     คุณคิดว่าคนไทยต้องการอะไรมากกว่านี้"
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง