เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 33310 รุ้ง จิตเกษม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 21 ม.ค. 10, 16:07

รุ้งไม่ต้องรอดูอยู่นานนัก    เขาสัมผัสความไม่ชอบมากลได้หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน  เมื่อจู่ๆบ้านเมืองเกิดเหตุร้ายถี่ขึ้นผิดปกติ
บ้านเมืองเริ่มตกอยู่ในความเดือดร้อนวุ่นวายมากขึ้นเป็นลำดับ  นักเลงอันธพาลไม่รู้ว่ามาจากไหน   ออกมาป่วนเมืองราวกับไม่มีตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่
ประชาชนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน รักษาความปลอดภัยกันเอาเอง  เพราะตำรวจไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

ในที่สุด ความเดือดร้อนก็ระเบิดออก    ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคือทหาร   ถึงขั้นไปกล่าวโจมตีที่ท้องสนามหลวง    ไม่มีเวที ก็เอาลังสบู่มายืนตะโกน โจมตีรัฐบาลและตำรวจที่ปล่อยให้บ้านเมืองระส่ำระสาย
ตำรวจก็โต้ตอบกลับเช่นกัน กลายเป็นการแลกวาจากันเผ็ดร้อน  วันต่อวัน  มีประชาชนไปมุงดู สนับสนุนกันหนาแน่น
รุ้งเดินไปฟังเรื่องที่กล่าวโจมตีกันด้วย ในบางครั้ง     เมื่อฟังความเดือดร้อนของประชาชน เขานึกถึงถ้อยคำของเขาขึ้นมาอีกครั้ง

"ถ้าหากว่ารัฐบาลใดได้ตั้งขึ้นโดยประชาชน และเพื่อประชาชนจริงแล้ว     รัฐบาลเช่นนั้นย่อมจะไม่กดขี่ข่มเหงราษฎรแม้แต่คนเดียว   และทั้งไม่ทอดทิ้งราษฎรที่ประสบภัย  โดยไม่ให้การช่วยเหลือแม้แต่คนเดียว    อย่างนี้จึงจะนับว่าเป็นการปกครองตนเองแท้"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 24 ม.ค. 10, 18:55

เข้ามาเรียนว่าผมมิได้หายไปไหน เฝ้าติดตามอยู่ทุกวันเลยครับ
ที่มิได้เข้ามาก็เพราะกลัวผิดจังหวะการสร้างสรรจินตนาการ

เชิญท่านอาจารย์ต่อเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 24 ม.ค. 10, 19:34

กระทู้นี้จะเดินหรือหยุดเดิน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดิฉันคนเดียวค่ะ
แต่ขึ้นกับ
๑  คนอ่านที่คอยกระตุ้นให้เขียนต่อ  เช่น คุณ Sila
๒  คนอ่านที่มาช่วยออกความคิดเห็น   มาเพิ่ม มาคาดคะเน     มาเพิ่มเติมข้อมูล  มาติมาชม  อย่างเช่นคุณม้า คุณวันดี กับอีกหลายท่าน
และ...
๓  คุณตัวแทนรุ้ง   ที่จะเป็นคนถือหางเสือเรือภาค ๒  นี้   ให้แล่นไปได้จนถึงฝั่ง   ไม่ออกนอกเส้นทางและไม่ชนหินโสโครกเข้าเสียก่อน
เพราะรุ้ง จิตเกษมภาค ๒  ไม่ใช่สิทธิ์ของเทาชมพูจะกำหนดบทบาทได้ตามใจชอบ   ต้องดูความถูกต้องเหมาะสมด้วย

เรื่องที่ยังตัดสินใจไม่ได้ตอนนี้  คือ
๑  ในเมื่อรุ้งจูเนียร์ยังไม่มีชื่อจริงสักที   ทั้งๆสคริปต์บทบาทในช่วง ๑๔ ตุลา ๑๖   ก็ร้อนๆอยู่ในมือแล้ว   ดิฉันก็จะอยากให้มีคนเสนอชื่อมาก็แล้วกัน
ใครเข้ามาแจมกระทู้นี้ อยากให้พระเอกใหม่ลูกชายพระเอกเก่าชื่ออะไร  อาจช่วยเพิ่มจากที่คุณศิลาเสนอไว้ด้วยนะคะ  แล้วจะขอคุณตัวแทนตัดสินว่าชื่อไหนถูกใจ
๒  คุณม้าเปรยๆว่าชะตากรรมของรุ้ง อาจไม่รอดจากถูกจับกุมคุมขังในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์      ท่าทีจะอยากให้มีบทแบบนี้  เพื่อดูว่ารุ้งจะแสดงอุดมคติอะไรออกมา
ดิฉันก็ยังสองจิตสองใจอยู่   อยากฟังคำตัดสินจากคุณตัวแทนรุ้ง
ถ้ารุ้งเดินเข้าคุกอีกครั้งบทบาทก็จะเข้มข้นขึ้น   แต่ไม่เข้า ก็จะโชคดีกว่า   และคนอ่านที่ใจอ่อน ก็จะไม่ต้องร้องไห้กันกระจองอแง   ต้องแถมทิชชูเวลาอ่าน อีกด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 24 ม.ค. 10, 20:23

ขออธิบายนอกเรื่องหน่อยนะคะ
กำลังสร้างสมมุติฐานว่า อุดมคติของรุ้ง นอกจากเป็นอุดมคติแล้ว ยังเป็นสัจธรรมทางการเมืองด้วย
มีหลายข้อที่นำมาประยุกต์ ใช้วิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงต่างๆได้
กำลังสำรวจดูว่า ตอนไหนบ้างที่จะดึงออกมาได้
**********************
ความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับทหาร ลุกลามไปถึงขั้นว่า ทหารยกกำลังมาล้อมสถานีตำรวจ   เกิดปะทะกัน แต่ก็ไม่ร้ายแรงถึงกับกลายเป็นจลาจล
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิร้อน ก็ดำเนินไป เดือนแล้วเดือนเล่า   ไม่มีการเลือกตั้งใหม่อย่างที่รัฐบาลสัญญาไว้  พรรคเสรีมนังศิลาซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเสียงข้างมากอยู่
ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาระงับสถานการณ์ได้   

จนกระทั่งถึงกลางเดือนกันยายน   พลอ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ออกแถลงการณ์ในนามกองทัพ   ขอให้นายกรัฐมนตรี และอธิบดีตำรวจลาออก
ในเมื่อพล อ.สฤษดิ์ เป็นผบ.ทบ. ถือว่าเป็นข้าราชการ  อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี  มาทำอย่างนี้   ก็มีส.ส.พรรครัฐบาลเสนอให้จอมพล ป. ปลดผบ.ทบ.ออกจากตำแหน่ง   รวมทั้งนายทหารระดับสูงอื่นๆที่ร่วมแถลงการณ์ด้วย
ยังไม่ทันว่านายกรัฐมนตรีจะปลด ผบ.ทบ.    พล อ.สฤษดิ์ก็ชิงทำรัฐประหารเสียก่อนในวันต่อมา

*****
จากวิกิพีเดีย
 
รูปปั้นนูนต่ำชีวประวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ณ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ที่จังหวัดขอนแก่น แสดงภาพเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2500การรัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของ กองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา ได้นำกำลังกระทำยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "เข้าตีรังแตน" โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลี้ภัยออกนอกประเทศ  โดยขับรถออกจากกรุงเทพ  ไปทางตะวันออก มีผู้ติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ
แล้วออกนอกประเทศไทยไปที่เขมร  ก่อนจะเดินทางไปพำนักอยู่ในญี่ปุ่น  ใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่น จนถึงแก่กรรม

สยาม ที่รุ้งเฝ้ารออยู่ ก็เปลี่ยนยุคการเมืองอีกครั้ง    จากยุคจอมพล ป. มาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์   มีจอมพล ถนอม กิตติขจร คั่นอยู่เพียงช่วงสั้นๆ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 10:25

       ติดตามอ่านเรื่องราวของรุ้งแล้วนึกถึงบทละครเพลง Man of La Mancha ครับ
       รุ้งเป็น Miguel de Cervantes ที่ถูกจับเข้าคุกแล้วจัดการแสดงละครจากบทประพันธ์
ที่เขาเขียนขึ้นที่มีเพลง The Impossible Dream ซึ่ง Don Quixote de la Mancha
ร้องประกาศยืนยันความคิด อุดมการณ์ ความฝันอันมุ่งมั่นแม้ไม่อาจเป็นจริงของเขา

        ขอแสดงตอนจบตามความเห็นเป็นอย่างนี้ครับ

   ๑. รุ้งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง อาจจะจากการปราบปรามการชุมนุมหรือการจับกุม
จนกระทั่งอยู่ในภาวะไม่รู้ตัว คงอยู่ในเมืองนิมิตรของตัวเองตลอดไป ไม่ตื่นมารับรู้ความเสื่อม
ความบกพร่องของโลกภายนอกอีกแล้ว

   ๒. เหมือนกับบทละคร Man of La Mancha คือรุ้งถูกจับกุมอีก และเขายังคง
เขียนหนังสือและบทความแสดงจุดยืน-แนวคิดที่มั่นคงเช่นเดิม เพื่อนร่วมเรือนจำเข้าใจและ
ยอมรับในความคิดอุดมคติของเขาแม้ว่าจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้จริง เรื่องจบลงเมื่อเจ้าหน้าที่
มานำตัวรุ้งที่มีสุขภาพทรุดโทรมเต็มทีด้วยโรคภัยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างดีพอ ไปขึ้นศาลฟังคำตัดสิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 10:31

 ร้องไห้



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 12:24

เศร้ามาก  ขอพักฟังความเห็นของคนอื่นๆ

ขอตั้งคำถามว่า ทำไมนักอุดมคติในวรรณกรรมทั้งหลาย ถึงต้องพบจุดจบน่าเศร้ากัน ราวกับเป็นสูตรสำเร็จ
จะฉีกแนวให้นักอุดมคติอยู่ดีมีสุขในตอนจบ ไม่ได้หรือ?
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 16:25

อ้างถึง
ทำไมนักอุดมคติในวรรณกรรมทั้งหลาย ถึงต้องพบจุดจบน่าเศร้ากัน ราวกับเป็นสูตรสำเร็จ
จะฉีกแนวให้นักอุดมคติอยู่ดีมีสุขในตอนจบ ไม่ได้หรือ?

ในวรรณกรรมนั้นผมไม่ทราบ เข้าใจว่านักประพันธ์ต่างก็ต้องการให้เรื่องราวที่ตนประพันธ์โดนใจผู้อ่านแรงๆ จะได้ซาบซึ้งตรึงใจกันไปอย่างนานแสนนาน โดยจบอย่างสุขสมทั้งตัวละครทั้งคนอ่าน (ซึ่งใครๆก็อยากให้เป็นเช่นนั้น) แต่มันจะแนบเนียนจนผู้อ่านไม่รู้สึกสะดุดใจขึ้นมาว่ามันจะเป็นเทพนิยายไปหน่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักประพันธ์  ถ้าเก่งก็จะปูพื้นเรื่องอย่างสมจริง ชวนติดตามจนวางไม่ลง แล้วเลือกหักมุมไปจบได้อย่างที่คนอ่านคาดไม่ถึง

ผมทราบแต่ว่าในความเป็นจริง ชีวิตของคนมีทั้งสุขทั้งทุกข์ ความสุขก็ป็นสิ่งชั่วคราว ความทุกข์ก็เป็นสิ่งชั่วคราว อะไรจะมาจะไป จะอยู่นานอยู่สั้น เลือกไม่ได้ และที่สำคัญ จังหวะที่คนๆนั้นปิดฉากของตน เขาหรือเธออยู่ระหว่างช่วงไหนของกราฟชีวิต ดัชนีความสุขกำลังแสดงค่าเป็นบวก หรือลบ

ความสุขหรือความทุกข์ของรุ้ง หากรอดจากความตายในภาคหนึ่งมาได้ ก็คงจะไม่เที่ยงอยู่อย่างนั้นตลอดเล่ม สุขที่ได้แต่งงานกับอุไรวรรณ และมีลูกชายน่ารักอย่างที่หวัง แต่โตขึ้นมาหน่อยอาจจะแสดงความน่าเกลียดที่รุ้งไม่ชอบและเป็นทุกข์ขึ้นมาก็ได้ อ้อ ขอประทานโทษครับ ลืมไปว่าท่านอาจารย์รอจะเปิดตัวให้เขาออกมามีบทตอนช่วง14ตุลา ถ้าอย่างนั้นทุกข์หนักๆของรุ้งอาจจะต้องรอจนถึงตอนนั้น

แต่ ถ้าไม่อยากให้รุ้งจมปลักอยู่ในห้วงทุกข์จนทั้งผู้แต่งและผู้อ่านจะรับไม่ได้ ก็ต้องลองดูแบบฉบับนักอุดมคติของท่านสิทธิพร แต่ตอนจบท่านก็เศร้านิดๆนะครับ บางเบิดที่ทรงมานะบุกเบิกหวังจะให้เป็นอาชีพของลูก แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเอาด้วยสักคน ลูกชายส่งมาเรียนที่วชิราวุธพอจบมหาวิทยาลัยแล้วเลือกเป็นนายธนาคารดีกว่า ในที่สุดก็ต้องขายทรัพย์สินทั้งหมดให้จอมพลสฤษดิ์ไป

ถ้าไม่ชอบแนวลูกทุ่ง ก็มีแบบฉบับของท่านสศษอีกคนหนึ่ง อันนี้ใกล้บทบาทของรุ้งตอนสองหน่อย คือทั้งเขียนทั้งวิจารณ์ มั่นคงในจุดยืนของตนดีโดยไม่สนใจใครจะด่าเอาบ้าง หรือเอาไปกักบริเวณจนสมใจอยาก แต่ถ้าท่านไม่เป็นคนอย่างนั้นก็ไม่ดังอีกนั่นแหละ เดี๋ยวจะเหมือนนักอุดมคติส่วนใหญ่ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานของตนไป โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆแม้กระทั่งความเด่นความดัง

อ้อ ยังมีนักอุดมคติให้เลือกอีกหนึ่งแบบนะครับ คือประเภทนักบวช จะเอาแบบฉบับอย่างท่านเจ้าคุณนรฯก็ได้ นั่นคือสุดยอดของนักอุดมคติที่ต้องการบวชถวายพระราชกุศลแด่ล้นเกล้าฯผู้ทรงมีอุปการคุณแก่ตน  คือแทนที่จะจบแบบให้พิการหรือตายก็ให้รุ้งหันหลังให้โลกที่มีแต่ภาระให้ต้องแบก ต้องทำไม่รู้จักจบจักสิ้น ให้พระเอกคิดได้จึงละทิ้งความปรารถนาในทางโลกเสีย แล้วมุ่งปฏิบัติแสวงหาในทางธรรม ที่มีวันจบภารกิจในชาตินี้ได้

นักบวชที่ประกาศตนเป็นพระแต่มิได้มุ่งสู่โลกุตตระ ชอบเทศน์ชอบวิจารณ์การบ้านการเมืองก็มี แต่รุ้งอย่าเอาดีทางนี้เลยนะครับ ผ้าเหลืองจะร้อนจะรุ่ม เดี๋ยวโยมแห่กันมาด่าหน้ากุฏิจะเป็นทุกข์หนักเข้าไปอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 16:35

ดิฉันเขียนตอนจบแบบโศกนาฏกรรมไม่เก่ง    แต่จบแบบสุขนาฏกรรมก็อาจจะมีสีสันแปลกแยก ไม่กลมกลืนกับชีวิตพระเอก   ที่เป็นสีสันขรึมมาแต่แรก   
ค่อยๆเขียนไปก็รู้เองละค่ะ

ในภาคนี้ รุ้งกลายเป็น life observer  เป็นผู้เฝ้ามองชีวิตว่าจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทางไหน  แล้วได้คำตอบบางคำตอบมาสำหรับชีวิต
และการเมืองไทย

แต่ที่อยากให้มีสีสันมากกว่านี้คือคุณรุ้งจูเนียร์   อุบไว้ก่อน  ยังไม่บอกว่าเป็นยังไง

ว่าแต่คุณตัวแทนรุ้ง จะให้รุ้งเดินเข้าคุกอีกครั้งในยุคจอมพลสฤษดิ์ไหมคะ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 16:45

ขอเลี้ยวออกนอกเรื่องหน่อย
โลกมักประทับความเข้าใจผิดๆ ให้ศิลปินและนักอุดมคติเสมอ    บางทีก็กลายเป็นตรายาง ที่ไม่ได้ประทับแค่ตัวคน แต่ประทับดะไปถึงคนร่วมอาชีพของเขาด้วย
เช่นเชื่อว่านักประพันธ์มักจะไส้แห้ง      จิตรกร จะโด่งดังในอัจฉริยภาพก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว   ตอนมีชีวิตอยู่ไม่มีใครเข้าถึงพรสวรรค์ของเขา 

ชีวิตตกอับของแวนโกะ ก็เลยมีแต่คนยกมาเอ่ยซ้ำซาก    คนนอกเลยไม่ค่อยรู้ว่าปิกัสโซนั้นรวยไม่รู้เรื่อง
สำหรับนักประพันธ์ไทย  เราก็จดจำกันแต่ความอาภัพของยาขอบ   มีกี่คนที่รู้ว่าก.สุรางคนางค์เขียนนิยายจนส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้
เซอร์วอลเตอร์ สก๊อต เขียนจนรวย  ซอมเมอร์เซท มอห์ม อยู่ริเวียร่าไม่รู้กี่สิบปี   ไม่รวยจริงอยู่ไม่ได้ 
ผลงานของท่านเหล่านี้ ก็ไม่เห็นว่าจะตกต่ำลงเพราะขายได้เงิน

นักอุดมคติ  จะอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพในบั้นปลายชีวิตไม่ได้เชียวหรือ      โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุดมคติไปเป็นนักธุรกิจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 17:40

ทิ้งคำถามไว้สำหรับผู้สนใจจะตอบ ทุกท่านค่ะ
กลับมาที่เรื่องของรุ้ง
*******************
การสิ้นสุดของยุคจอมพล ป. และการเริ่มยุคจอมพลสฤษดิ์  ถ้าถามว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร   รุ้งมองเห็นว่าประชาชนจำนวนมากเบื่อหน่ายสภาพการเมืองแบบเดิม มาจนถึงจุดที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ตัวเร่งให้ถึงจุดจบ  นอกจากการเลือกตั้งสกปรกแล้ว  ก็ยังมีวีรบุรุษคนใหม่ก้าวขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผย
เป็นตัวเลือกให้ประชาชนเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง    เพราะก่อนหน้านี้  ไม่มีคนหน้าใหม่คนไหนที่พวกเขาจะหวังได้

จอมพลสฤษดิ์เป็นคนมีวาทะคมคาย ประทับใจด้วยคำพูดหนักแน่นและให้ความหวังในสิ่งที่ดีกว่า
เช่นในการปราศรัยกับประชาชน ทางวิทยุยานเกราะ  เขาก็ทิ้งท้ายว่า
"พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

ผ่องฟังวิทยุรายการเดียวกับรุ้ง    เมื่อเขามาหารุ้งที่บ้าน  เขาก็เอ่ยปากชมเชยด้วยความปลาบปลื้ม
" ไม่เคยได้ยินใครพูดได้สั้นๆ แต่น่าเลื่อมใสเท่านี้"
รุ้งเคยเห็นบุญญาธิการของจอมพล ป. มาก่อน  ตั้งแต่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ   ตกไป แล้วก้าวกลับขึ้นมาอีก
คราวนี้เขาก็มองเห็นบุญญาธิการแบบเดียวกันฉาบเรืองรองอยู่ทั่วร่างบุรุษร่างใหญ่คนใหม่ 

บ้านเมืองสงบราบคาบลงอย่างรวดเร็ว   อาชญากรรมต่างๆหายไป    ตำรวจกลับเข้าสู่ที่ทางของตัวเอง  เมื่อพล ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศไปอีกคน
ถนนทุกสายมุ่งไปสู่พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอาการศิโรราบ

รุ้งก็ยังเฝ้ามองผู้นำคนใหม่อย่างเงียบขรึม  พร้อมกับถามตัวเองว่า สยามได้เขยิบเข้ามาใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้น   หรือว่ากระเถิบห่างออกไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 18:32

ความชื่นชมของประชาชนพุ่งสูงขึ้น  เมื่อพบว่าหลังจากยึดอำนาจ  พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี    แต่ตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่จนเสร็จเรียบร้อย
ในตอนนี้ รุ้งก็เกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
สยามมีการเลือกตั้งที่ไม่สกปรกอย่างคราวก่อน    มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือน     บางที ประชาธิปไตยจะมาถึงปวงชนเสียที

แต่ความหวังก็สะดุดหยุดลง

เพราะเมื่อเสร็จเลือกตั้ง  ก็เปลี่ยนตัวนายกฯอีกครั้ง   พลโทถนอม กิตติขจร ผู้ที่พลเอกสฤษดิ์ ไว้เนื้อเชื่อใจ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501

หนึ่งปี นับแต่นิสิตและประชาชนเดินขบวน   อำนาจเก่าหมดไป  อำนาจใหม่ก็เข้ามา   แต่ก็เอาเถิด  รุ้งยังมีความหวังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง   
คืออยู่กับสภาผู้แทนราษฎร  ตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 22:00

ในปี 2501   เกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างนายกรัฐมนตรีและส.ส. ในสภา     ไม่ได้แย้งกันในเรื่องอุดมการณ์   แต่ด้วยผลประโยชน์ที่ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเรียกร้อง    
ในเงื่อนไขว่าถ้าไม่ได้ตามต้องการ ก็จะไม่ยกมือสนับสนุนรัฐบาลอีก   หมายความว่าพ.ร.บ.หลายฉบับ ก็จะไม่ผ่านสภา

รุ้งเฝ้ามองด้วยความหดหู่
นี่หรือตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย      เขาไม่สำนึกเลยว่า ชาติคือประชาชน  การรับใช้ประเทศชาติ  ก็คือรับใช้ประชาชน
เขากลับยอมตัวกับปีศาจ ที่ชื่อว่า ผลประโยชน์ส่วนตัว

อีกครั้งหนึ่งที่รุ้งมองเห็นว่า แม้แต่ผู้แทนของสภาในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่อาจทำให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นจริงขึ้นมาได้
หากว่าขาดสิ่งที่รุ้งเรียกว่า "ความรู้สึกผิดชอบ" หรือ มโนธรรม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 25 ม.ค. 10, 22:17

เขียนเองอ่านเองอยู่พักใหญ่   ระหว่างไปค้นข้อมูลมาเรียบเรียง และวิเคราะห์  ก็เกิดความรู้สึกคุ้นๆยังไงไม่รู้
- ความขัดแย้งระหว่างทหารกับตำรวจ
- ประชาชนเดือดร้อน  บ้านเมืองระส่ำระสาย  ตำรวจวางเฉย
- ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล สร้างเงื่อนไขต่อรองว่า ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์ตามต้องการ ก็จะไม่ยกมือให้รัฐบาล  เป็นผลให้รัฐบาลแพ้โหวตได้
มันเหมือนละครที่เล่นกันซ้ำแล้วซ้ำอีก  บทเวทีเดิม      ไม่รู้ว่าจะย้อนกลับมาเล่นอีกเป็นรอบที่เท่าไร
*****************
พลโทถนอม กิตติขจร ไม่ยอมรับเงื่อนไขของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถจะระงับเหตุให้สงบลงได้   
จึงมีอัศวินม้าขาว เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ อย่างทันใจ ทันเหตุการณ์

วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นายกรัฐมนตรีประกาศลาออก คืนเดียวกันนั้น  พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง
คราวนี้ อ้างความมั่นคงของประเทศ ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม   เมื่อยึดอำนาจ  คำสั่งแรกของคณะปฏิวัติคือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง
ส.ส.ทั้งหมดไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน   เป็นผู้ก่อปัญหาหรือไม่ก่อปัญหาก็ตาม ก็ละลายไปในสภาพเดียวกัน  คือหมดบทบาท ไม่มีตัวตนบนเวทีอีกต่อไป

พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   ไม่มีสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญ   ปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ  ด้วยคำพูด ซึ่งเป็นที่จดจำกันมาต่อจากนั้นอีกยาวนาน
"ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

ผ่องชื่นชมนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาก    เขาบอกว่า
" ดีแล้ว  บ้านเมืองจะได้สงบเสียที    เราต้องการผู้นำที่มือแข็งๆหน่อย   จะได้ไม่มีใครกล้าทำให้ชาติยุ่งเหยิงอีก"
" เรายังต้องการ ' ผู้นำ' อีกคนหรือ ผ่อง" รุ้งย้อนถาม
ผ่องเพิ่งเข้าใจว่าเพื่อนหมายถึงอะไร     เขาหน้าแดง เมื่อหวนนึกถึงอดีตตอนหนุ่ม   แต่ก็ตอบว่า
" คนละคนกัน   คงไม่เหมือนกัน      ประเทศไหนๆ ยังไงก็ต้องมีผู้นำอยู่ดี"
" ประชาธิปไตยล่ะ ผ่อง?"
" ประชาธิปไตย" ผ่องทวนคำ " ถ้ามีประชาธิปไตย แล้วบ้านเมืองยุ่งยาก     ก็อย่ามีเสียดีกว่า"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 26 ม.ค. 10, 21:55

  " จริงอยู่ยังไม่มีการปกครองประเทศใดที่น่าพอใจ "รุ้งตอบช้าๆ"   ลัทธิของกษัตริย์โบราณคือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย   ลัทธิประชาธิปไตยที่เราเห็นในยุโรปบางประเทศ คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก     การปกครองตามลัทธิคอมมูนิสม์ในรัสเซีย   ก็คือการกดขี่คนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกร  โดยหัวหน้ากรรมกร  แต่ในเมื่อสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมุ่งหวังจะเป็นประชาธิปไตย   เราจะไม่มุ่งหน้าไปทางนั้นจนกว่าจะได้คำตอบที่น่าพอใจหรอกหรือ"
ผ่องตอบเสียงขุ่นหน่อยๆ
" ก็ดูสิ   ยี่สิบหกปีเข้าไปแล้ว     ไม่เห็นมีท่าทีว่าจะเป็นได้   เลือกผู้แทนเข้ามา    แทนที่จะเป็นตัวแทนประชาชน ก็กลายเป็นว่ามากอบโกย เอาเข้ากระเป๋าตัวเองกับพวกพ้อง   ประชาชนยังอดแห้งอดแล้งเหมือนเดิม     อย่างนี้ เราหาผู้นำดีๆสักคนมาทะนุบำรุงประชาชน   ไม่ดีกว่าหรือ"
" ดีกว่าแน่นอน  ถ้าหากว่าเป็นไปได้"
" หมายความว่าอย่างไร" ผ่องถามอย่างสงสัย
" คิดหรือว่าคนที่ได้หีบสมบัติทั้งใบมาครอบครองด้วยตัวเอง  เขาจะแจกจ่ายเงินทองในนั้นไปให้คนทั้งหมู่บ้านจนเกลี้ยงหีบ    อย่างดีเขาก็แบ่งเศษให้เล็กๆน้อยๆ   หรือมิฉะนั้น  ก็ไม่ให้เลย  และไม่ยอมให้ใครคัดค้านเขาได้ด้วย"
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.149 วินาที กับ 19 คำสั่ง