เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 74476 ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 10:36

บางท่านได้กล่าวไว้ว่า พ.ศ. 2482 ปีมหาอุบาทว์ของไทย เพราะมี 9 เดือนเท่านั้น ก่อนถึงวันที่ 1 เมษายน 2482 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบเก่าของไทยครั้งสุดท้าย พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดินภายใต้อาณัติของรัฐบาล ก็ลงชื่อในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481(หรือนับอย่างใหม่เป็นปี 2482) ให้อำนาจพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แต่งตั้งทั้งผู้พิพากษาของศาลพิเศษ และอัยการประจำศาลผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ ซึ่งท่านก็ตั้งเพื่อนฝูงลูกน้องของท่านเข้ามาทั้งสองคณะ เมื่อหมดเวลาในการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง คนสองกลุ่มนี้จะควงแขนกันไปเสวนาฮาเฮต่อในสโมสรต่อหน้านักโทษที่รอถูกนำตัวกลับไปคุมขัง

และศาลนี้ก็แปลกดีที่จำเลยไม่มีสิทธิ์ตั้งทนายเข้าต่อสู้คดีได้ ผิดหลักนิติธรรมสำหรับประเทศซึ่งประกาศตนว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภานิติบัญญัติ และอยู่ในภาวะปกติที่ไม่มีสงครามหรือการจลาจลอย่างยิ่ง แต่สมัยนั้นไม่ยักกะมีใครกล้าหือ แม้แต่จิ้งจกก็คงมิกล้าร้องทัก

ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล นักโทษที่ถูกจับกุมมาและถูกตั้งข้อหารวม51คนได้ถูกนำมาขังรวมกันที่เรือนจำลหุโทษ ทำให้มีโอกาสพูดคุยสอบถามว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นต้นเหตุให้ใครมารับกรรมครั้งนี้ไปด้วย ในครั้งแรกก็โทษกันไปโทษกันมาระหว่างมิตรกับมิตร พ่อกับลูก ส่วนใหญ่เห็นหน้าค่าตาผู้ที่ถูกฟ้องรวมว่าร่วมกันกระทำความผิดแล้ว ก็งงอยู่ว่าตนไปรู้จักเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร

ในที่สุดก็เข้าใจ และปลงใจว่าตนเป็นเพียงเหยื่อของผู้มีอำนาจ หมาป่าที่ขย้ำลูกแกะไม่ใช่เป็นเพราะลูกแกะกระทำความผิดต่อหมาป่า แต่เป็นเพราะตัวเป็นภักษาหาร ผู้บังเอิญมิได้ระวังว่าหมาป่าซุ่มรออยู่ตรงนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 10:59

หลังจากพิจารณาคดีอยู่สักสิบเดือน ศาลพิเศษก็พิพากษาคดีทั้งหมด คำพิพากษาศาลพิเศษฉบับนี้ รัฐบาลลงทุนตีพิมพ์ออกมาเองเพื่อบำบัดความสงสัยของประชาชนว่ามันจะอะไรกันขนาดนั้น อยู่ๆก็มีการกวาดจับ มีการตั้งศาลพิเศษแล้วก็เงียบหาย อยู่ๆก็เป็นข่าวอันน่าตระหนกว่ามีการประหารชีวิตกันถึง18ศพ กบฏในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชยังไม่ฆ่าแกงอะไรกันถึงขนาดนั้น

เนื้อความในหนังสือดังกล่าว ผู้อ่านที่เป็นกลางและไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรเลยก็อาจคล้อยตามได้ง่ายเพราะเห็นว่ามีพยานเยอะแยะมาให้การในศาล ผูกโยงกันไปผูกโยงกันมาสลับซับซ้อนเป็นขบวนการใหญ่ และมีจำเลยจำนวนหนึ่งที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดให้ปล่อยตัวไปด้วย ดังนั้น พวกที่ศาลลงโทษก็คงจะยุติธรรมสาสมดีแล้ว สำหรับพวกที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างตาบอดหูดับนั้นไม่ต้องพูดถึง ต่างแซ่ซ้องกฤษดานุภาพของท่านผู้นำกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ ครอบครัวจำเลยผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายแทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้ บางคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปเลยเพื่อแสดงให้ชัดๆว่า ฉันไม่ใช่พวกนั้นนะจ๊ะ ท่านทั้งหลาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:04

ผมขอนำ คำพิพากษาศาลพิเศษในฉบับดังกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวกับม.ร.ว. นิมิตรมงคลมานำเสนอในรูปแบบเดิม เพื่อมิให้เป็นที่สงสัยว่าผมได้ปรุงแต่งอะไรลงไปเพิ่มเติมหรือไม่

(หมายเหตุ) ที่ศาลบอกว่าจำเลยยอมรับหลักฐานของโจทก์ว่าความจริงนั้น คือเฉพาะรับว่าเคยต้องโทษในคดีกบฏมาก่อน

1


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:09

2


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:10

3


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:12

4


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:14

5


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:20

ท่านผู้อ่าน ได้พิเคราะห์คำพิพากษาดังกล่าวแล้ว คิดเห็นประการใดย่อมเป็นสิทธิ์ของท่าน ผมตลกไม่ออกอยู่อย่างเดียว ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกฟ้องว่ามีการกระทำเป็นคอมมูนิสต์ แต่ศาลพิพากษาว่า  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลมีความผิดที่กล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคอมมูนิสต์ ฯลฯ

ต่อไปนี้เป็นท่อนที่สำคัญที่สุดของคำพิพากษาคดีกบฏครั้งนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:25

2


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:26

3


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 11:34

ต่อไป ผมจะพยายามตามหาร่องรอยผู้ที่โดนตัดสินประหารชีวิตทั้ง21คน(ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต3คน) ว่าเป็นใคร แล้วทำไมจึงมาต้องมาโดนประหารในครั้งนี้ เผื่อจะเป็นข้อมูลที่ฝากไว้สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสืบไป

ขอเวลาหน่อยนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 12:03

เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ   ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ ดูเหมือนจะยังอยู่ในเงามืด   นักวิชาการหยิบยกมาวิเคราะห์กันน้อย

อ่านคำพิพากษาแล้ว  รู้สึกว่าเขามองม.ร.ว.นิมิตรมงคล ว่า เป็นปัญญาชนหัวแข็ง  ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แล้วยังแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอีก
นอกจากนี้ความเป็นเชื้อพระวงศ์ของท่าน ก็ทำให้ลงความเห็นได้ว่า เป็นพวกเจ้า  ซึ่งเป็นอำนาจเก่าที่จะต้องล้างให้สิ้นซาก
ส่วนเหตุผลข้ออ้างอะไรนั้นก็แล้วแต่จะอ้าง  คำสรุปกับคำให้การแทบจะเป็นคนละเรื่องกันเลย

ดิฉันเคยได้ยินชื่อบางท่าน  เช่นคุณยันต์ วินิจนัยภาค    แต่ไม่รู้รายละเอียดมากกว่านี้
ส่วนกรรมการ  จำได้แต่ว่าพระยาศรีวิกรมาทิตย์ เป็นบิดาของท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชตภาคย์  และคุณเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์   สามีคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 15:42

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน มีปฏิกริยาอย่างไรหลังจากฟังคำพิพากษาจบ

เชื่อไหมว่า ท่านหัวเราะ

 เศร้า

พอศาลอ่านคำพิพากษาจบ ข้าพเจ้าก็หัวเราะขึ้น ข้าพเจ้าไม่ใช่คนที่หัวเราะบ่อย ๆ นาน ๆ ข้าพเจ้าจึงจะรู้สึกรื่นเริงหรือขบขันพอที่จะหัวเราะ คำพิพากษาของศาลพิเศษนี้เป็นเรื่องน่าขบขัน มันเป็นเรื่องที่ผู้พิพากษาแกล้งเขียนใส่ร้ายจำเลย แม้แต่ในกระทงความผิดที่หลักฐานของโจทก์อ่อนไป ศาลช่วยสอดข้อความเพิ่มเติมให้ โดยข้อความนั้นไม่ปรากฎอยู่ในสำนวน และศาลช่วยแปลเจตนาของจำเลยให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ นอกเหนือไปจากข้อความที่โจทก์นำพยานมาสืบ กล่าวโดยสรุปว่าแทนที่ศาลจะเป็นผู้รักษาความยุติธรรม ศาลกับโจทก์ได้ร่วมมื่อกันเขียนคำพิพากษา เลือกเอาแต่ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าจำเลยเป็นกบฏจริง

ตอนหนึ่งจากหนังสือ ชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง

ขออนุญาตนำเพลง "เธอผู้เสียสละ" แต่งโดย  ศักดิ์สิทธิ เชื้อกลาง (เศก ศักดิ์สิทธิ์) แห่งวงคุรุชน มาประกอบบรรยากาศของการตัดสินคดีครั้งนี้ 

รุ่งเช้าวันหนึ่งแจ่มใส               
เธอพาดวงใจของเธอก้าวมา
แผ่วเบาเหมือนดังลมพา
เธอเริ่มแสวงหาในสิ่งที่ควร

เธอยังใหม่ในศึกษา
ได้ปรารถนาศึกษาโซ่ตรวน
ผูกมัดรัดตรึงทุกส่วน
จนเธอผันผวนในสังคม

เธอได้พบสิ่งใหม่
ที่ชูใจให้ชื่นชม
สลัดทุกข์อันแสนเศร้าตรม
หลุดหายไปในชีวี

แสงเจิดจ้าผ่องใส
ชูผู้นำชัยเรืองรองทั่วไป
เธอมีความสุขใจ
มวลชนพ้นภัยอยู่สุขชื่นบาน

และเธอก็ถูกกล่าวหา
เป็นกบฏชั่วช้าคิดคดการณ์ไกล
กบฏหรือคือผู้นำชัย
เข่นฆ่าโพยภัยหมดสิ้นดินทอง


เนื้อหาของเพลงอาจไม่ตรงกับเรื่องนี้ทั้งหมด แต่ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน อาจถือได้ว่าเป็นนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยชีวิต ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ในขณะที่ตัวจริงของท่านคือนักอุดมคติผู้ปรารถนาสร้างเข็มทิศชี้ทางเดินไปสู่อนาคตที่รุ่งเรืองแห่งชีวิตของอนุชน

 ยิ้ม



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 01 ธ.ค. 09, 12:26

สิ่งที่ยากที่สุดในการวิจารณ์ คือคุณชายนิมิตรมงคล ได้บรรยายรายละเอียดและความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ในตัวของรุ้งอย่างละเอียดลออ  จนคนอ่านหลับตาวาดภาพตัวละคร ก็เห็นหน้าผู้เขียนลอยขึ้นมา

บางทีก็ทำให้หลงทางไปได้  ว่าสิ่งใดที่รุ้งเป็น ก็คือผู้ประพันธ์เป็น   ทั้งๆรุ้งก็คือตัวของเขา   มิใช่ตัวม.ร.ว.นิมิตรมงคล ในชื่อแฝง
ดิฉันจะพยายามแยกข้อนี้ออกมาให้ได้   มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า การวิจารณ์นวนิยาย กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิจารณ์ชีวิตส่วนตัวของผู้ประพันธ์

รุ้ง จิตเกษม แห่งความฝันของนักอุดมคติ กับ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ผู้ประพันธ์ อาจเป็นคนละคนกันในกรอบใหญ่ แต่ในบางสถานการณ์ทั้งสองคือคน ๆ เดียวกัน

นี่คือความคิดของ รุ้ง จิตเกษม หรือ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ

ชาติไทยได้สร้างบุตรวันละหลายร้อยหลายพันคน บุตรของชาติไทย บางคนต่อไปจะเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาด เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักปราชญ์ เขาได้ศึกษาได้เห็นได้คิดแล้วเกิดความคิดในทางก้าวหน้า แต่ถ้าการปกครองยังคงเป็นแบบสิทธิ์ขาด ใช้อำนาจกดขี่ปรปักษ์ของรัฐบาล ความคิดในทางก้าวหน้าจะไม่ได้รับโอกาสปฏิบัติตามควร

ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจถ้าบุคคลผู้เดียวต้องถูกจับถูกจำคุกหรือถูกยิงเป้า ความตายของบุคคลก็อุปมาดังความระเหยเป็นไอของน้ำหนึ่งหยดในทะเล ชาติไทยจะขาดประโยชน์อันควรได้จากรุ้งไปนิดเดียว แต่หลายนิดรวมกันเข้าก็กลายเป็นมากได้ รัฐบาลของผู้นำแห่งประเทศไทยได้จับกุมปรปักษ์ของตนไปทำทารุณกรรมจำนวนมากขึ้นทุกที รัฐบาลอาจไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการตัดทอนโอกาสแห่งความเจริญของชาติ ด้วยมีอคติ รัก โลภ โกรธ หลง มากำบังปัญญา

รุ้งอำลาผู้อ่านไปสู่ความตาย ภาวนาอยู่อย่างเดียวว่าขอให้ชาติไทยพ้นจากยุคทมิฬโดยเร็ว


อีกไม่นานน้ำหนึ่งหยดในทะเลนี้ ก็จะถึงเวลาระเหยไปรวมเป็นก้อนเมฆ รอเวลาโปรยลงมาเป็นสายฝนให้ความชุ่มชื้นแก่มหาชน

 เศร้า
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 09:46

ขอบพระคุณครับ

เพื่อให้ภาพประวัติศาสตร์ชัดเจนสำหรับผู้อ่านบางท่าน ผมขอเล่าเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมในยุคนั้น เพื่อการศึกษาชีวประวัติของม.ร.ว.นิมิตรมงคลในลำดับต่อไป

ก่อนเกิดการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ หลวงพิบูลถูกปองร้ายหลายครั้ง แม้คนจะคลางแคลงใจว่าจริงหรือจัดฉากขึ้นเพื่อนำมาเป็นข้ออ้าง แต่อย่างน้อย เหตุที่เกิดหลังการปราบกบฏบวรเดชสำเร็จหมาดๆนั้น หลวงพิบูลโดนลูกปืนขนาดหัวกระโหลกมีรอยถากของกระสุนจริงๆ แต่เพราะยังไม่ถึงที่ตายจึงรอดไปได้

ผู้ที่ยิงคือ พุ่ม ทับสายทอง เป็นนักเลงสุพรรณบุรี ชอบดื่มเหล้าเมายา ใครอยากจะให้ตีหัวใครก็ขอเหล้าขวดเดียวแล้วจะตีหัวหรือชกหน้าให้ก็ได้ ชายผู้นี้ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะใช้ปืนยิงหลวงพิบูล ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ขณะนั่งรถกลับหลังการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างทหารเหล่าต่างๆ  หลวงพิบูลรอดตายอย่างปาฏิหาริย์เพราะเผอิญก้มศรีษะลงจัดกระบี่ กระสุนพุ่งเข้าหลังต้นคอ ถากกระโหลกไปออกแก้มซ้าย มือปืนถูกจับได้ทันควัน

พุ่ม ทับสายทองให้การกับตำรวจและศาลว่า ต้องการแก้แค้นที่น้องชายถูกตำรวจยิงตาย ด้วยความเข้าใจผิดว่าหลวงพิบูลเป็นนายของตำรวจทั้งหมด และสุดท้ายศาลตัดสินให้จำคุก16 ปี  ฐานพยายามฆ่า แต่สภากาแฟก็วิจารณ์กันแหลกว่าน่าจะเป็นคนนั้นคนนี้บงการให้ฆ่า


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 20 คำสั่ง