เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 74560 ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 09:49

ครั้งที่สองวันที่9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481  ลี บุญตา ผู้เป็นลูกจ้างอิสานในบ้านพักนายทหารใของหลวงพิบูลมา7ปีแล้ว ได้เงินเดือนแต่แรก6บาทจนสุดท้ายได้25บาท ในคำให้การกล่าวว่าหลวงพิบูลเป็นคนใจดี ไม่เคยดุด่าว่าตนเลย วันที่เกิดเหตุนั้นตนเมา เอาปืนที่พลขับรถของรัฐมนตรีกลาโหมวางในรถที่เตรียมจะไปงานที่กระทรวง หลวงพิบูลกำลังแต่งตัวอยู่ นายลีก็จู่โจมเข้าไปในห้องแต่ยิงถูกพื้นทะลุลงมาห้องรับแขก (ผมสงสัยว่าหลวงพิบูลคงนั่งยองๆผูกหูกระต่ายอยู่มั้ง วิถีกระสุนจึงลงต่ำถึงขนาดนั้น) พอถูกยิงนัดแรก หลวงพิบูลก็ร้องว่า”ตาลียิง” พวกท.ส.ข้างล่างก็วิ่งขึ้นบรรไดมา หลวงพิบูลวิ่งไปห้องภรรยา นายลีก็ยิงตามไปอีกนัด นัดนี้ถูกขอบกระจกโต๊ะเครื่องแป้ง ท.ส.ตามขึ้นไปทันตอนที่หลวงพิบูลวิ่งหนีออกมาจากห้องนอนภรรยาโดยมีนายลีตามมาในระยะ1เมตร  ตั้งท่าจะยิงอีกแต่เข้าล็อคของท.ส.ที่ปัดมือและชกหน้าโดยพลัน ตามด้วยรายการรุมยำเล็กน้อยก่อนจะส่งตำรวจ ส่วนหลวงพิบูลและภรรยาก็แต่งตัวต่อเพื่อไปงานราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลูกน้องสมุนบริวารมารู้ข่าวก็ตอนที่หนังสือพิมพ์พาดหัวในวันรุ่งขึ้นแล้ว ต่างก็อึงมี่สรรเสริญบุญของนายและชื่นชมความกล้าหาญที่ไม่แสดงออกใดๆให้ผิดสังเกตุทั้งๆที่ผ่านเหตุการณ์ที่คอขาดบาดตายมาหยกๆ

ลี บุญตาปฏิเสธว่ามิได้มีผู้ใดจ้างวานตน ที่ทำไปเพราะความเมาอย่างเดียว แต่ไม่มีรายงานว่าตำรวจสอบสวนถึงเหตุจูงใจลึกๆหรือไม่ว่า ตัวเป็นคนทำสวนทำไมวันนั้นรีบเมาแต่หัววัน แล้วเกิดอยากจะยิงนายใจดีผู้มีพระคุณขึ้นมาถึงขนาดโขมยปืนในรถนายแล้วบุกขึ้นไปยิงถึงห้องนอน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 09:54

และครั้งที่สาม เกิดขึ้นเพียง10วันให้หลัง คือในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกันเวลาประมาณ16น. หลวงพิบูลและครอบครัว รวมทั้งนายทหารอื่นๆรวม8คนได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน (ตอนบ่ายสี่โมง? เด็กๆหิวแย่) หลังจากทานของหวานแล้วทุกคนรู้สึกผิดปกติ จนรู้สึกว่าได้ถูกวางยาพิษ  จึงรีบพากันไปล้างท้องที่โรงพยาบาลทหาร ที่พญาไท

การถูกวางยาพิษนี้สภากาแฟวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเองฝ่ายของหลวงพิบูลก็เขียนโต้ว่า พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในเกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า
"ในไม่ช้าก็มีข่าวว่ามีผู้พยายามจะปลงชีพหลวงพิบูลฯ อีก คราวนี้โดยการวางยาพิษ และปรากฏว่าภรรยาก็ถูกยาพิษด้วย ผู้เขียนไปเยี่ยม และได้พบในห้องนอนที่โรงพยาบาลทหารบก ดูท่านทั้งสองไม่สบายอย่างมากนอนครางอยู่เรื่อย จึงไม่เป็นของแปลกที่เมื่อหายสบายดีแล้ว ท่านทั้งสองจะไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างใดนอกบ้านเลยอยู่เป็นเวลาชั่วขณะหนึ่ง"

ข้อความข้างบนขัดกับคำแถลงของทางราชการที่ออกในวันที่11ธันวาคม2481ว่า นายแพทย์กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่1 พญาไทได้จัดการรักษาพยาบาลบุคคลทั้งหมดทันท่วงที หลวงพิบูลและขุนรณนภากาศมีอาการมากหน่อย คนอื่นๆพอประมาณ เมื่อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีก็ทุเลาลงพ้นอันตราย แพทย์ให้กลับบ้านได้ทุกคนในค่ำวันนั้น

ก็ไม่ทราบว่าพระองค์จุลเสด็จไปเยี่ยมตอนไหนในช่วงเย็นวันนั้น คนไข้ที่มีอาการขนาดอยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่ชั่วโมงหมอก็ให้กลับบ้านได้นั้น ชายชาติทหารจะนอนร้องครวญครางแข่งกับภรรยาให้แขกไกลตัวผู้มาเยี่ยมได้เห็นได้ยินกระนั้นเชียวหรือ อนึ่ง ถ้าคนไข้สำคัญระดับนั้นเพิ่งถูกพยายามจะฆ่าโดยการวางยาพิษ กำลังนอนร้องโอดโอยอยู่ หมอและองครักษ์ทั้งหลายจะยอมให้ใครที่ไม่ใช่ครอบครัวญาติสนิทเข้าไปเยี่ยมถึงภายในห้องนอนได้อย่างไร

และเรื่องที่แปลกกว่าก็คือ เรื่องนี้นางแม่ครัวคนหนึ่งในบ้านรับกับตำรวจว่าเป็นผู้กระทำการวางยาพิษจริง แต่ตำรวจกันตัวเป็นพยานเพราะนางได้ซัดทอด ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์ว่าเป็นผู้จ้างวาน เอาสารหนูมามอบให้วางยาหลวงพิบูล นางแม่ครัวไม่โดนโทษอะไรเลยแต่ณเณร ต้องโทษประหาร


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 02 ธ.ค. 09, 14:05

เข้ามาร่วมอ่าน และติดตามผลงาน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 08:59

ขอบคุณครับ

ต่อ


ครั้นถึงวันที่15 ธันวาคม 2481 คือไม่กี่วันหลังจากนั้น สภาก็โหวตให้หลวงพิบูลเป็นนายกรัฐมนตรี

บังเอิญในช่วงเวลาดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยพระชนนี พระพี่นาง และพระอนุชาได้เสด็จจากสวิตเซอร์แลนด์มาประทับในประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีกำหนด3เดือน โดยมีพระองค์เจ้าอาทิตยาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นผู้ถวายงานเป็นหลักแทนรัฐบาลที่ตอนนั้นกำลังมีปัญหา เพราะเหตุการณ์ยุ่งๆทางการเมืองที่ระดมกันเกิดในช่วงนั้นด้วย แม้ประชาชนจะเทความสนใจไปอยู่ที่องค์ยุวกษัตริย์ในวัยเพียง13พระชนษา มิค่อยให้ความสนใจข่าวเล็กที่ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ว่า ตำรวจสันติบาลได้ระดมพลเข้าตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยต่างๆจำนวนมาก แทบจะทุกวัน เพื่อหาเบาะแสกลุ่มที่ตั้งตนเป็นศัตรูต่อท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีข่าวว่าคนโน้นถูกจับ คนนี้ถูกจับ ซึ่งหลายคนเป็นบุคคลสำคัญของบ้านเมือง

ครั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อในวันที่ 1 มกราคม 2482 ประชาชนจึงเริ่มตกใจเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่ทรงรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แทบทุกงานก็ทรงถูกจับเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ด้วยในทันที


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 09:09

รัฐบาลแถลงว่าผู้ที่ถูกจับครั้งนี้ 51คน ล้วนต้องสงสัยว่าพยายามฆ่าบุคคลสำคัญและก่อการกบฏ กระทรวงยุติธรรมได้เสนอพรบ.ศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีนี้เข้าสู่สภาและได้รับความเห็นชอบ

นับเป็นการปฏิบัติภารกิจแรกของรัฐบาลหลวงพิบูล คือการกำจัดศัตรูทางการเมืองให้สิ้นทราก เป้าหมายคือคู่แข่งคนสำคัญพันเอกพระยาทรงสุรเดชและผู้สนับสนุนในสภา ตลอดจนนายทหารลูกศิษย์ลูกหานอกสภา  การจับกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นการขู่เจ้านายองค์อื่นๆกับพวกที่แสดงตนอย่างเด่นชัดว่าไม่ใช่พวกของหลวงพิบูลให้สยบเกรงกลัว หลังเกิดกบฏบวรเดช รัฐใช้วิธีการตั้งสายลับขึ้นมามากมายเพื่อเฝ้าติดตามสอดแนมบุคคลเหล่านี้ แล้วรายงานมายังสันติบาล ซึ่งคราวนั้นอยู่ใต้การบัญชาการของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ว่ามีใครเข้าไปพบหาบ้าง ครั้นได้รับคำสั่งจากนายให้จับผู้ที่พยายามลอบฆ่าหลวงพิบูลให้ได้ ก็เหวี่ยงแหจับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายมาก่อนให้มากที่สุด แล้วจึงค่อยผูกเรื่อง กุมตัวผู้ที่เคยเข้าไปพบเหยื่อเหล่านั้นมาซักถาม แล้วก็ข่มขู่หรือว่าจ้างให้เป็นพยานปรักปรำเหยื่อเหล่านั้นจนตั้งเป็นสำนวนฟ้องได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 09:11

ข้อความในหนังสือคำพิพากษาศาลพิเศษ เป็นหลักฐานแห่งความอัปยศอดสูของขบวนการยุติธรรมสมัยนั้น ความเห็นของศาลที่กล่าวแทรกอยู่เป็นระยะๆเพื่ออธิบายตรรกะต่างๆ ล้วนสะท้อนความเห็นของคนฝ่ายปกครอง ที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเมื่อแกไม่ใช่พวกฉัน ฉันก็ไม่มีวันจะเชื่อแก ศาลเลือกที่จะเชื่อคำให้การของพยานเท็จที่อัยการผู้เป็นโจทก์นำมาแถลง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นระดับกเฬวรากแม้พูดโกหกไม่แนบเนียนศาลก็เชื่อและมั่นใจถึงขนาดบันทึกไว้ประจานตนในภายหลัง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า?

ดังที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลว่าไว้ จากกระแสนิยมของโลกที่เปลี่ยนไป และระบาดมาถึงประเทศไทย ประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับชาติในยุคนั้น เท่ากับการได้คนเก่งมาเป็นผู้นำเสียแล้ว ชาติต้องการเผด็จการเพื่อยุติความขัดแย้งและนำพาทุกคนในชาติไปสู่จุดหมายเดียวกัน(ที่หวังว่าจะเป็นความรุ่งเรือง) เมื่อมุสโสลินีและฮิตเลอร์ได้สร้างตัวอย่างให้เห็นในยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม ไทยก็ควรจะเอาอย่างนั้นบ้าง และใครเล่าจะเหมาะสมเท่ากับหลวงพิบูล ดังนั้น จำเลยในศาลเหล่านี้จึงเป็นแค่เสี้ยนหนามที่ควรกำจัดทิ้ง พวกที่ไม่เห็นด้วยนี้เป็นภัยต่อชาติ เมื่อภารกิจแล้วเสร็จ รัฐมีความภูมิใจถึงขนาดที่ตีพิมพ์หนังสือคำพิพากษาศาลพิเศษออกมา แม้จำนวนมากก็ไม่พอจำหน่ายจ่ายแจก กระแสสังคมส่วนหนึ่งสะใจและสมน้ำหน้ากบฏพวกนี้ ผู้ไม่เห็นด้วยก็ได้แต่หุบปากนิ่ง

ตำรวจไทยได้กลายเป็นเกสตาโปไปเสียแล้ว เมืองไทยยุคนั้นไม่มีใครไม่กลัวหลวงอดุลเดชจรัสผู้มีฉายาว่านายพลตาดุ ท่านผู้นี้จะเล่นบทผู้ร้ายให้เพื่อนเล่นบทพระเอกอ่อนนอกแข็งใน นิ่มนวล มีเสน่ห์ ไม่ช้าหลวงพิบูลก็สามารถรวมชาติได้เป็นหนึ่งเดียวดัวยการเป็นผู้นำชาติไทยเข้ารบกับฝรั่งเศสในอินโดจีน ซึ่งยุติลงตอนนั้นด้วยการได้ดินแดนที่นักล่าอาณานิคมยึดไปจากสยามในสมัยรัชกาลที่ห้าคืน เมืองไทยพ.ศ.นั้นผู้ใดเล่าจะมีบุญญาธิการเท่าท่าน นายกรัฐมนตรี ผู้สถาปนาตนเองจากพลตรีขึ้นเป็นจอมพล จอมพลหลวงพิบูลสงคราม



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 10:10

ครั้นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อในวันที่ 1 มกราคม 2482 ประชาชนจึงเริ่มตกใจเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่ทรงรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แทบทุกงานก็ทรงถูกจับเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ด้วยในทันที

รายละเอียดจากคำบอกเล่าของหลายท่านตั้งแต่ทรงถูกจับ ถูกถอดฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จนถึงวันปล่อยตัวและกลับคืนสู่ฐานันดรศักดิ์และพระอิสริยยศเดิม เรียบเรียงโดยคุณรอยใบลาน

เมื่อ “เจ้านาย” ถูกตัดสินประหารชีวิต ในสมัยประชาธิปไตย
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=504722


ณ เรือนจำกลางบางขวาง เช้าวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๖

เจ้าหน้าที่เรือนจำ นับแต่ชั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์จนถึงชั้นผู้คุม และเจ้าหน้าที่ผู้ใหญฝ่ายตำรวจได้เข้ามาในแดนหก กราบทูลเชิญเสด็จในกรมฯ ให้พ้นจากการคุมขัง กลับเป็นอิสรภาพแต่บัดนั้น

เสด็จในกรมทรงฉลองพระองค์แบบสากลสีครีมอ่อน ไทดำ รองพระบาทสีน้ำตาล พระองค์ได้เสด็จมาหน้าห้องพวกเราทุกคน รับสั่งอำลาและประทานพระหัตถ์ลอดช่องกรงมาให้พวกเราทุกคนจับ ดวงพระเนตรและพระพักตร์กอร์ปด้วยความอาลัย และมีพระทัยสงสารพวกเรามาก แก่พวกเด็ก ๆ บางคน เสด็จในกรมฯรับสั่งเบา ๆ

"จงอดทนต่อไป...คงไม่ช้านัก..."

และแก่ห้องนายโชติ คุ้มพันธ์ กับห้องม.ร.ว นิมิตรมงคล ซึ่งว่างอยู่โดยที่เจ้าของห้องทั้งสองถูกเนรเทศไปไว้เกาะ  เสด็จในกรมฯได้ทอดพระเนตรมองอยู่ครู่หนึ่ง และโบกพระหัตถ์พร้อมด้วยอุทานว่า

 "ลาก่อน นิมิตร ลาก่อนโชติ"

และพระองค์ก็ลงจากตึกขังไป ทิ้งพวกเราไว้ในความโสมนัส และเศร้าวังเวงใจอย่างบอกไม่ถูก


จากหนังสือ "ทมิฬ" โดย ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต) ๑ ในนักโทษการเมืองครั้งนั้น

 เศร้า
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 23:09

ขอบคุณที่เข้ามาช่วยนำเรื่องเสนอครับ

ผมเริ่มประเด็นที่จะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักเหยื่อการเมืองทั้งหลายว่าหลวงพิบูลและหลวงอดุลเห็นพวกเขาว่าเป็นศัตรูได้อย่างไร

ก็ขอเริ่มต้นที่กรมขุนชัยนาทฯเลยก็แล้วกัน ผมจะว่าไปพร้อมกับนำความเห็นของศาลในการพิพากษามาลงประกบไปด้วยทีละหน้า

อัยการศาลพิเศษผู้เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องแยกเป็นคดีๆ คดีนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นจำเลยที่1 นายเพิ่ม เผื่อนพิภพ เป็นจำเลยที่2 ทั้งคู่ต้องหาว่าสมคบกัน และมีผู้อื่นร่วมด้วยที่จะล้มล้างรัฐบาล

นายเพิ่มนั้นเป็นคนขับรถของกรมขุนชัยนาท ตำรวจจับนายเพิ่มมาแล้วใช้เพทุบายต่างๆให้นายเพิ่มปรักปรำผู้มีพระคุณ เมื่อนายเพิ่มมาขอกลับคำให้การในศาลอ้างว่าถูกพนักงานสอบสวนข่มขู่ แต่ศาลไม่รับฟัง (ตอนท้ายจะมีสำนวนของศาลเรื่องของนายเพิ่มตอนดังกล่าวนี้)



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 23:10

กรมขุนชัยนาทนเรนทรเมื่อทรงเกษียณจากราชการแล้ว เพราะมิทรงฝักไฝ่ทางการเมืองจึงโปรดเสด็จต่างจังหวัดบ่อยๆ ทรงชอบบันทึกภาพนิ่งและภาพยนต์ทางด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา  เมื่อหม่อมเจ้าสนิธประยูรศักดิ์พระโอรสจะทรงทำวิทยานิพนธ์ส่งมหาวิทยาลัยซูริค ทรงแนะนำให้ทำเรื่องชาวละว้า ทางเหนือของไทย และเสด็จนำพระโอรสขึ้นไปเชียงใหม่หลายครั้ง และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ ก็พาหม่อมเจ้าสนิธประยูรศักดิ์ขึ้นไปเหนืออีก โดยจะเสด็จไปแพร่และน่าน แต่เมื่อถึงที่แพร่ทรงทราบว่าถนนขาดจึงเปลี่ยนพระทัยเสด็จเชียงใหม่อีก เมื่อส่งพระโอรสแล้ว ก็เสด็จมาเยี่ยมม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ลำปาง ซึ่งสันติบาลตามไปทูลเชิญให้กลับกรุงเทพในทันที

สันติบาลพยายามปะติดปะต่อ ว่าเสด็จไปพบกับพระยาทรงสุรเดชที่อำเภอเชียงดาว เพื่อปรึกษากันเรื่องยึดอำนาจการปกครองคืน ให้พระปกเกล้ากลับมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินดังเดิม(แทนในหลวงอานันท์ที่เสมือนหลานแท้ๆของพระองค์???)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 23:14

พยานโจทก์ที่ศาลให้น้ำหนักมากที่สุดคือนายอุ๊ เป็นคนขับรถของเจ้าคุณท่านหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นเพื่อนกับนายเพิ่ม (ซึ่งนายเพิ่มปฏิเสธว่าเพียงพูดคุยกันแค่2ครั้ง เมื่อนายอุ๊ขับรถให้นายมาเฝ้าเสด็จในกรมที่วังเท่านั้น) นายอุ๊ให้การว่านายเพิ่มบอกกับตนว่าได้รับหน้าที่จากกรมขุนชัยนาทให้หาพวกกรรมกรรถยนต์ที่เป็นนักเลงหัวไม้และไว้ใจได้ให้มากๆ เพื่อนำมาใช้เป็นกำลังพาหนะในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายอุ๊อ้างว่านายเพิ่มนำตนเข้าเฝ้าก็ทรงบอกกับนายอุ๊ว่าดีแล้ว ขอบใจขอให้ถือว่าร่วมมือกันกู้ชาติ นายอุ๊จึงไปเล่าให้นายวัน ซึ่งเป็นตำรวจยามของรัฐสภา(และเป็นสายลับให้สันติบาลคอยรายงานพฤติกรรมของนักการเมือง)ฟัง นายวันก็ไปรายงานให้ขุนศรีศรากร(นายตำรวจสันติบาล)ทราบ นายอุ๊ยังให้การอีกว่า ต่อมานายเพิ่มมาบอกว่ากรมขุนชัยนาทจะเสด็จไปชวาเพื่อเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ เพื่อขอทุนมาดำเนินการ และจะเลยไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่อังกฤษเพื่อจะอัญเชิญให้กลับมาครองราชย์หากดำเนินการสำเร็จด้วย (เสด็จไปจริงและโดยเปิดเผยเมื่อปี2479)
 
ครั้นเสด็จกลับมาก็มีรับสั่งให้นายเพิ่มมาถามนายอุ๊ว่าหาพวกกรรมกรได้กี่คนแล้ว เพราะรอช้าไม่ได้ หลวงพิบูลกำลังจะขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการ พระองค์จะรีบขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อเร่งให้พระยาทรงลงมือดำเนินการโดยเร็ว นายอุ๊ ก็พานายวัน และนายสวัสดิ์มาเฝ้า ทรงประทานเงินให้คนละ100บาทเป็นค่าดำเนินการ ทรงนินทาว่าร้ายรัฐบาลต่างๆนาๆฯลฯ ให้คนพวกนี้ฟังด้วย

นายวัน นายสวัสดิ์ก็มาให้การทำนองเดียวกันนี้ มีกระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียงมาให้การว่ารู้จักกับนายเพิ่ม นายเพิ่มเล่าให้ฟังว่ากรมขุนชัยนาทรับสั่งกับตนว่า พระปกเกล้า ต่อไปจะเป็นพระเวียนเกล้า ซึ่งพยานเข้าใจว่าพระปกเกล้าจะเวียนกลับมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก

ทั้งเสด็จนายกรมและนายเพิ่มปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จักและพูดจาหรือให้เงินอะไรกับคนเหล่านี้ แต่ศาลหาได้เชื่อจำเลยทั้งสองไม่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 23:17

ทรงรับว่าในประมาณเดือนตุลาคม ได้เสด็จไปอำเภอเชียงดาวและได้แวะตลาดเพื่อจะถ่ายรูปพวกมูเซอร์ ได้เห็นรถยนต์หลายคันจอดอยู่ก่อนและทรงทราบว่าเป็นรถของพระยาทรงแต่ก็มิได้ใส่พระทัย และไม่พบเห็นตัวพระยาทรงที่นั่น อัยการเบิกตัวคนขับรถของเจ้าแก้วนวรัฐที่ให้ยืมรถในวันนั้น คนขับรถก็ให้การตรงกันทั้งหมดเว้นแต่ตนเองไม่ทราบว่าเมื่อเสด็จลงจากรถเข้าไปในตลาดแล้วจะทรงพบผู้ใดบ้าง เช่นเดียวกับสัสดีอำเภอ พยานโจทก์อีกคนหนึ่งที่ให้การสอดคล้องว่าเห็นบุคคลทั้งสอง แต่ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าทั้งคู่จะพบกันหรือไม่เพราะตนขึ้นไปบนอำเภอก่อน มีพยานคนเดียวคืออดีตทหารเก่าชื่อนายตัน ที่เห็นพระยาทรงสุรเดชที่ตลาดก็จำได้ พระยาทรงกำลังคุยกับชายคนหนึ่งซึ่งตนไม่รู้จัก ทราบทีหลังเมื่อเห็นรูปในหนังสือพิมพ์ที่พนักงานสอบสวนมาให้ดู และมาเห็นเมื่อกำลังเบิกความในศาลนี้ว่าคือกรมขุนชัยนาทเรนทร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 23:21

แต่ในที่สุดศาลก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าเสด็จในกรมทรงดั้นด้นไปถึงเชียงใหม่ เพื่อวางแผนการณ์ล้มล้างรัฐบาลในตลาดสดของอำเภอเชียงดาวนั้นเอง

เรื่องนี้ถ้าเอาไปทำหนังไทย ก็จะเป็นหนังตลกปัญญาอ่อนสมบูรณ์แบบ ผู้ร้ายเป็นถึงโอรสพระเจ้าแผ่นดิน คิดจะแก้แค้นพระเอกด้วยการจะยึดอำนาจรัฐคืนโดยคบคิดกับคนขับรถของตน ให้ระดมพลอยู่กว่าปีได้ไพร่พลระดับทหารเลวมาตั้ง3-4คนจ่ายค่าจ้างคนละ100บาท เสร็จสรรพก็นัดไปวางแผนปฏิบัติการกับหัวหน้าผู้ร้ายอีกคนหนึ่ง โดยอุตส่าห์ดั้นด้นขึ้นไปถึงเชียงใหม่ แล้วต่างคนต่างนั่งรถคันโก้ไปจอดเป็นขบวนอยู่ที่ตลาดบ้านนอกอย่างที่เชียงดาวแล้วประชุมกันกลางตลาดมันซะเลย ไม่เกรงแม้แต่จะตกเป็นเป้าสายตาของชาวบ้านลูกเด็กเล็กแดงหรือจะเข้าหูสายสืบของรัฐ จนทำให้เสียท่าถูกรายงานให้พระเอกจับได้ นำตัวไปขึ้นศาลจนศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยความกรุณาพระเอกก็ลดโทษให้ตั้งเยอะ เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต เท่ากับคนขับรถคู่ใจเท่านั้นเอง



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 03 ธ.ค. 09, 23:50

อนึ่ง คดีนี้อัยการได้นำพยานเอกสารที่ไปค้นมาได้จากในวังของท่าน และศาลก็นำมาอ่านประกอบคำพิพากษาอย่างยืดยาวทุกถ้อยกระทงความ เป็นจดหมายของสมเด็จพระราชปิตุจฉา(อาของในหลวง) เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร ที่เสด็จไปรักษาพระองค์ที่อังกฤษแล้วเล่าเรื่องต่างๆมาถึงเสด็จในกรมผู้เสมือนพี่น้องร่วมพระอุทรของพระองค์ ผมอ่านแล้วเห็นว่ามีสาระทางการเมืองอยู่นิดเดียวว่า สมเด็จพระปกเกล้าทรงอยากให้ในหลวงอานันท์ทรงย้ายจากสวิตเซอร์แลนด์ไปเรียนพับบลิกสกูลในอังกฤษเพราะที่สวิตเซอร์แลนด์มีผู้ห้อมล้อมมากไปแล้ว พระราชชนนีก็ทรงเห็นด้วย แต่ไม่ทรงสามารถพูดให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเห็นชอบได้ ทางนี้เอะอะก็จะเรียกตัวมาเก็บที่เมืองไทย เพราะไม่อยากให้ในหลวงติดต่อกับพระปกเกล้า มีเท่านี้จริงๆไม่ทราบว่าศาลเอามาอ่านทำไม

จึงอาจคิดได้ว่านี่เป็นบทสะท้อนความคิดของรัฐบาลชุดนี้ให้ชัดลงไปว่าไม่ต้องการให้ใครทั้งสิ้นติดต่อกับกลุ่มอำนาจเก่า การที่ศาลยกมาข้อนึงว่าเสด็จในกรมเสด็จไปเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ และพระปกเกล้า(จึงอาจเชื่อได้ว่า……)  ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่ทำให้ทรงต้องติดคุกติดตะราง ประเด็นอื่นๆเป็นเพียงเรื่องโกหกที่แต่งขึ้นมาให้รู้ๆกันให้ทั่วว่าฉันหาเรื่องเอาแกเข้าคุกได้นะจะบอกให้ เท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 07:05

นายเพิ่ม เผื่อนพิภพ เป็นตัวประกอบที่จำเป็นต้องนำมาประกอบฉาก เพราะมิฉะนั้นก็ไม่ทราบว่าจะเอาใครมาได้ยินที่เสด็จในกรมท่านบ่นรัฐบาล นายเพิ่มเป็นคนมีการศึกษาต่ำ ผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมดเมื่อถูกจับ ตำรวจห้ามเยี่ยมห้ามประกัน ศาลพิเศษไม่อนุญาตให้จำเลยมีทนาย จึงน่าเชื่อมากว่านายเพิ่มจะถูกขู่ถูกเค้นให้พูดว่านายพูดอะไรให้ได้ยินบ้าง นายเพิ่มนั้นอยู่มานานจนเงินเดือน40บาทแต่ตอนหลังลดลงเหลือ30บาท ท่านก็คงอธิบายให้นายเพิ่มฟังตรงๆว่าท่านถูกลดเงินที่เคยได้รับจากหลวง ตำรวจก็เอาตรงนี้มาแต่งถ้อยความใหม่ว่าท่านมีความแค้นพระทัย บางทีท่านทรงนั่งรถยนต์ไปตกหลุมตกบ่อแล้วอาจจะทรงบ่นดังๆว่ารัฐไม่มีเงินมาทำนุบำรุงถนนหนทางเพราะไปซื้ออาวุธหมด นายเพิ่มก็อาจจะพูดตรงนี้ตำรวจก็แต่งเสริมไปว่า ท่านตำหนิรัฐบาล เรื่องที่ผมยกให้ฟังนี้เพราะเสด็จในกรมท่านก็ทรงยอมรับว่าอาจจะเคยพูดเช่นนั้นแต่โจทก์ยกมาห้วนไปจึงทำให้มองว่าท่านไม่พอพระทัยรัฐบาล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 04 ธ.ค. 09, 07:23

นายเพิ่มกล้าหาญมาก ที่กลับคำให้การในศาลทั้งที่ไม่มีทนายแนะนำ อย่าลืมว่าในขณะให้การว่าถูกทั้งขู่บังคับ ทั้งติดสินบนว่าจะให้งานทำใหม่ดีๆเป็นการฉีกหน้าขุนประสงค์สิทธิการ ตำรวจหัวหน้าเจ้าพนักงานสอบสวน นายเพิ่มไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อกลับเข้าตารางไปแล้ววันนั้นตนจะเจอกับอะไร นายเพิ่มยอมแลกกับการที่จะถูกกันตัวเป็นพยานในชั้นสอบสวน และยอมแลกการรับโทษน้อยหรือปล่อยตัวในชั้นศาลกับสำนึกผิดชอบชั่วดี ขอแก้ใขคำให้การที่กลายเป็นปรักปรำนาย ยอมที่จะหลุดก็หลุดด้วยกันติดคุกก็ติดด้วยกัน คนอย่างนายเพิ่มถือว่าเป็นคนที่มีอุดมคติน่านับถืออย่างยิ่งคนหนึ่ง


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.098 วินาที กับ 19 คำสั่ง