เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 74559 ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 08:23

ในบรรดาผู้ที่ได้รับอิสระภาพครั้งนั้น ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเป็นคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่มิได้ยื่นแสดงความจำนงจะขอกลับเข้ารับราชการอีกตามที่หลวงพิบูลแผ่บารมีมาเอื้อเฟื้อ   เนื่องด้วยมีกฏห้ามผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกรับราชการแต่หลวงพิบูล(ในขณะนั้นยังเป็นแค่รัฐมนตรีกลาโหม)รับปากเหล่านักโทษที่เข้ารับการอบรมว่าจะช่วยได้ จึงถูกตราหน้าทันทีว่า”เอ็งไม่ใช่พวกข้า”

ม.ร.ว.นิมิตรมงคลไม่ประสงค์จะรับราชการเพราะอยากจะทำการค้า ได้ลองเข้าไปฝึกงานในบริษัทของชาวอินเดียระยะสั้นๆก็ถอยออกมาเพราะรู้ว่าตนทำอย่างนั้นไม่ได้ (ตรงนี้ม.ร.ว.นิมิตรมงคลน่าจะได้เรียนรู้สันดานดิบของพ่อค้าได้เร็วกว่ารุ้ง จิตเกษมหลายเดือน) งานอาชีพที่ทำและปรากฎเป็นหลักฐานคือ ได้เรียบเรียงบทวิชาการพื้นฐานการเมืองการปกครองที่เคยลักลอบส่งต้นฉบับออกมาจากในคุก และได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารบางฉบับโดยอาศัยชื่อม.ร.ว. ทรงสุจริต นวรัตน พี่ชาย เป็นผู้เขียน หนังสือนั้นให้ชื่อว่า “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ”

เหตุผลที่ทำตอนนั้นก็เพราะว่าในระหว่างการอบรม หลวงพิบูลได้มาแสดงปาฐกถาตอนหนึ่งบอกว่า ถ้าตนได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะยกเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้การเมืองและจัดตั้งพรรค(นอกจากคณะราษฎร์)ขึ้นได้  ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเห็นว่าน่าจะเป็น(นโยบายการค้า)ที่ดีถ้าได้เตรียมหนังสือไว้ล่วงหน้า สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจจะซื้อหาได้ทันทีเมื่อโอกาสนั้นมาถึง แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น เมื่อหลวงพิบูลเป็นนายกแล้ววันหนึ่งสันติบาลได้ระดมพลเข้าค้นสำนักพิมพ์ทุกแห่งที่หมายหัวไว้ และได้พบหนังสือ“พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ”รอการจัดจำหน่ายอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์ถูกเชิญตัวไปสอบสวน แม้ว่าจะมิได้กระทำผิดกฏหมาย(เพราะยังมิได้เผยแพร่)หนังสือทั้งหมดก็ถูกยึดแล้วนำไปเผาทำลายเสียสิ้น แต่บังเอิญนายตำรวจบางท่านได้เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวและลูกหลานผู้รับมรดกเห็นคุณค่าจึงนำมาให้ห้องสมุด “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” จึงถูกค้นพบและได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ในวาระครบ๑๐๐ปีชาตกาลของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 09:07


เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลรู้ได้โดยทันทีว่า หลวงพิบูลมิได้มีความจริงใจในคำพูดของตนเลย  ประกอบกับเมื่อออกมาจากคุกแล้วจึงได้พบว่า สถานะการณ์ของโลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปมาก กระแสชาตินิยมภายใต้ผู้นำอย่างฮิตเลอร์กำลังเปลี่ยนสถานภาพของเยอรมันจากผู้แพ้สงคราม หนี้สินล้นพ้นตัว มาเป็นมหาอำนาจใหม่ที่ผู้ชนะยังไม่อยากสบตา ความนิยมในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จฝากความเชื่อไว้กับความสามารถของท่านผู้นำคนเดียวนั้น มหาชนในเมืองไทยก็รับมาหลงใหลได้ปลื้มกับเขาเหมือนกัน ถึงขนาดมีผู้เห็นรัศมีพวยพุ่งออกจากหลวงพิบูลจนทนไม่ได้ต้องทรุดตัวลงกราบต่อหน้าเพื่อนข้าราชการด้วยกันจนถึงกับทุกคนขนลุกซู่ และหลวงพิบูลเองขวยเขินไปด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเห็นว่าตนคงไม่อาจต้านกระแสคลั่งไคล้ในตัวท่านผู้นำได้ด้วยการเขียนหนังสือให้ความรู้ด้านการเมืองที่ถูกต้องอีกต่อไป การพายเรือลำน้อยสวนกระแสน้ำบ้าคลั่งเป็นความบ้าหาใช่อุดมคติไม่ เพื่อรักษาสถานภาพของตนมิให้ต้องกลับไปติดคุกอีก จึงตัดสินใจวางปากกาชั่วคราว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 12:15

การเมืองไทยตอนนั้นกำลังเข้มข้นเข้ามาใกล้ฉากสุดท้ายของคณะราษฎร์ ซึ่งเป็นไปมิใช่ด้วยการกระทำของพวกเจ้า แต่เป็นพวกผู้ก่อการด้วยกันเอง

คณะปฏิวัติกลุ่มทหารบก ซึ่งมีฉายาว่า  4 ทหารเสือ  ประกอบด้วย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระทรงสุรเดช พันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ พันโทพระประศาสตร์พิยายุทธ ทั้งสี่ท่านนี้ถือว่า ถือว่าเคียงบ่าเคียงไหล่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันมา แต่หลังจากทำการปฏิวัติเรียบร้อยแล้วได้เกิดแตกแยกกัน แม้จะด้วยเรื่องความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง แต่ในที่สุดก็กลับกลายเป็นศัตรูคู่ฆาตกันไป เปิดโอกาสให้นายทหารหนุ่มรุ่นน้องที่เลื่อนยศจากพันโทขึ้นมาเป็นพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ดาวรุ่งดวงใหม่ได้ฉวยเอาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปเป็นทุนการเมือง และพอเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงสองครั้งในระยะห่างกันไม่นาน ก็ได้ใช้ กลวิธีในสภา ผลักดันให้พระยาพหลฯ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาใหม่(ตอนนั้นใช้ทั้งแต่งตั้งและเลือกตั้งทางอ้อม) ส่วนมากผู้ที่เข้าสภามาใหม่ก็เป็นกลุ่มสนับสนุนพันเอกหลวงพิบูลสงครามๆจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้พ่ายเกมการเมืองครั้งนี้ได้รับตำแหน่งปลอบใจให้เป็น “เชรษฐบุรุษ” ซึ่งเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ไม่มีความหมายความหมายทางการเมืองแต่อย่างใด หลังจากถูกผลักดันให้กลับไปอยู่กับบ้านไม่นาน ท่านก็ล้มป่วยเป็นโรคอัมพาต แต่ดำรงสังขารอยู่นานจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 อายุได้เพียง 66 ปี 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 12:19

 พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์  อีกหนึ่งในสี่เสืออดีตผู้บังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ที่เป็นกองกำลังเดียวที่นำอาวุธออกมาก่อการปฏิวัติในวันที่24มิถุนายน 2475  ท่านผู้นี้ถูกหลวงพิบูลเรียกไปกล่าวหาซึ่งๆหน้าว่า มีใจร่วมกับพวกกบฏบวรเดช โดยมีหลักฐานว่าระหว่างเป็นรัฐมนตรีเกษตราธิการ ได้รับอดีตนักโทษการเมืองชื่อพันโทพระเทวัญอำนวยเดชเข้าทำงานที่กรมสหกรณ์ และ ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เข้าทำงานที่กรมชลประทาน ซึ่งท่านก็แก้ว่าท่านก็ทำไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ให้รับผู้พ้นโทษกรณีนี้ได้และท่านก็มิได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับบุคคลทั้งสอง แต่อีกข้อกล่าวหาหนึ่งนั้นหนักหน่อยที่ท่านยอมรับว่าท่านยังเป็นเพื่อนของพระยาทรงสุรเดชอยู่ แม้จะไม่ได้ร่วมมือทางการเมืองอะไรกัน แต่เมื่อถูกหลวงพิบูลหมายหัวเช่นนั้น ท่านก็ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่มลายูของอังกฤษโดยสันติบาลเปิดไฟเขียวผ่านตลอดให้เดินทางข้ามแดนไปได้ ทั้งที่ตอนหายไปรัฐบาลตั้งค่าตัวไว้ถึง 1 หมื่นบาท 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 12:21

พันโทพระประศาสตร์พิยายุทธผู้นำรถถังบุกวังบางขุนพรหมเข้าไปจับกุมตัวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นตัวประกัน สี่เสือท่านสุดท้ายที่หลวงพิบูลหมายหัวว่าฝักไฝ่กับพระยาทรงเช่นกัน ท่านผู้นี้โชคดีกว่าเล็กน้อยที่พระยาพหลทราบเข้าก่อนก็รีบแต่งตั้งให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลินที่บังเอิญตำแหน่งว่าอยู่ ดีกว่าถูกเนรเทศเช่นคนอื่น แต่ท่านก็ไม่ได้โชคดีมากมายเพราะไม่นานยุโรปก็เข้าสู่ภาวะสงคราม เยอรมันได้ยากแค้นลงจนที่สุดเบอร์ลินแตกแก่กองทัพแดงของรัสเซีย ท่านต้องระหกระเหินไปผจญความหนาวตกระกำลำบากแสนสาหัสอยู่ที่ไซบีเรียหลายปีก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตวัยสุดท้ายอย่างสงบในเมืองไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 12:34

พันเอกพระทรงสุรเดชดูเหมือนจะเป็นเป้าแท้จริงเมื่ออำนาจอยู่ในมือหลวงพิบูล ทั้งที่มิได้ควบคุมกำลังทหารส่วนใหญ่ ท่านถูกจู่โจมแบบสายฟ้าแลบและกุมตัวไปปล่อยที่ชายแดนเขมรในทันที แต่ลูกน้อง นายทหารลูกศิษย์ลูกหาถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฎพระยาทรงกันระนาว

หลวงพิบูลในตอนนั้นมีอธิบดีกรมตำรวจ พันเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)เป็นมือขวาออกสืบเสาะแสวงหาผู้ที่อาจเป็นภัยต่อท่านผู้นำทั่วทุกซอกทุกมุม สงสัยใครนิดเดียวก็จับกุมมาไว้เลย ยังไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา รอให้แต่งเรื่องผูกโยงให้เกี่ยวข้องกันได้ก่อนค่อยสั่งฟ้องก็ได้

น่าประหลาดที่ผู้ถูกจับกุมในคดีกบฎพระยาทรงนี้ บุคคลที่ควรจะอยู่กันคนละขั้วกับกลุ่มการเมืองของพระยาทรงสุรเดช  เช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุน(พระยา)ชัยนาทนเรนทร หรือม.ร.ว.นิมิตรมงคล ก็โดนเหวี่ยงแหไปติดคุกติดตะรางร่วมกับเขาด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 15:22

เมื่อตัดสินใจที่จะเลิกกระทำตัวให้ถูกผู้มีอำนาจเพ่งเล็งว่าเป็นศัตรู ม.ร.ว. นิมิตรมงคลก็สมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมชลประทาน ตำแหน่งนายช่างไปสำรวจคลองไผ่พระ จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี่เอง วันหนึ่งขณะที่นอนซมอยู่บนเรือเป็ดด้วยพิษไข้ ตำรวจทั้งหมวดพร้อมอาวุธครบมือได้บุกเข้าไปเชิญตัวไปพบนายของตนที่กรุงเทพ แต่เมื่อสุดปลายทางที่โรงพักพระราชวัง แทนที่จะได้พบนายของพวกตำรวจและได้รู้ว่าตนถูกจับด้วยเรื่องอันใด กลับได้พบเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ประทับอยู่ในห้องขังของโรงพักอยู่แล้ว และตำรวจก็ห้ามมิให้พูดกัน

ในพระรูปข้างล่าง เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระพี่นาง พระอนุชา ในคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2481  ทรงฉายร่วมกับเสด็จลุงรังสิต กรมขุนชัยนาทนเรทร ซึ่งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่องค์เดียวที่มิได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศเพราะพระองค์มิได้มีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองใดๆในทั้งสมัยก่อนและหลังการปฎิวัติ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนคือในมกราคม สันติบาลก็ไปเชิญเสด็จระหว่างทรงงานอยู่ทางภาคเหนือ จากลำปางมาขังไว้รอการตั้งข้อหาเพื่อจะเอาโทษพระองค์ท่านให้ได้


บันทึกการเข้า
Agonath
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 16:51

เข้ามาหาความรู้เพิ่มเติมครับ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 28 พ.ย. 09, 23:27

ขอบคุณคุณAgonathมากครับ ที่เข้ามาส่งสัญญาณให้มีกำลังใจเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจแล้วให้อ่านกันต่อไป
บางที อยู่ในเวปแค่ไม่กี่คนนี้ก็เหงานะครับ เขียนอะไรไปไม่รู้ว่าผู้อ่านคิดอะไรอยู่

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 29 พ.ย. 09, 00:16

เข้ามาลงชื่อว่ายังติดตามอ่านอยู่อย่างต่อเนื่องครับ

ทุกวันนี้ยังมีคนมองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี ๒๔๗๕ ในลักษณะที่เป็นเอกภาพ หากแต่มองแตกต่างกันไป

หลายคนเห็นคณะราษฎร์เป็นผู้ชิงอำนาจเพียงเพื่อต้องการอำนาจนั้นไว้เอง บางคนก็มองคณะราษฎร์เป็นวีรบุรุษ หรือเผลอๆจะเป็นนักบุญหรือเทพเจ้าเข้าไปนั่น

แต่ในความเป็นจริง หลักฐานร่วมสมัยล้วนบ่งชี้ว่า บุคคลในคณะราษฎร์นี้มีความมุ่งหมายส่วนตัวที่แตกต่างกันไป ถึง "แสวงจุดร่วม" คือล้มล้างระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เรื่องราวหลังจากนั้นคือการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่างกัน เรื่องที่น่าเศร้าคือ ผู้ชนะในเกมที่โหดเหี้ยมนี้มักไม่ใช่ผู้นำที่นักอุดมคติใฝ่หา

ผ่านไปเกือบแปดสิบปี ภาพอย่างนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ผมยังนึกไม่ออกว่าจะหลีกเลี่ยงเกมการแย่งชิงอำนาจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นได้อย่างไร ในเมื่อกลุ่มที่มาประกอบเข้าด้วยกันนี้มีอุดมการณ์(หรือไร้อุดมการณ์) อย่างที่แตกต่างกันเหลือเกิน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 29 พ.ย. 09, 08:45

ขอบคุณคุณCrazyHOrseที่เข้ามาช่วยร่วมวงสนทนาให้ออกรสชาดมากขึ้นนะครับ

ความเห็นที่คุณกล่าวมา ผมก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน
ผมเชื่อว่าผู้ก่อการของคณะราษฎร์มีอุดมการณ์ และเมื่อมีจังหวะก็มิอาจรอได้ ไม่สามารถสรรหาความลงตัวทั้งหมดเสียก่อนที่จะลงมือเสี่ยงชีวิตเข้าเปลี่ยนแปลงประเทศชาติ ดังนั้น ปัญหาจึงเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ผมยังมีทัศนคติที่ดีต่อพวกผู้ก่อการเหล่านั้นว่า ท่านแย่งอำนาจขนาดจะเข่นฆ่าเอาเป็นเอาตายเพราะแย่งกันรักชาติ และก็คิดว่า "You must love it my own way" จนกลายเป็นใครที่ไม่ใช่พวกฉัน แกก็ไม่รักชาติ ไม่ควรอยู่ร่วมแผ่นดินกันต่อไปอีก
อย่างน้อยอุดมการณ์เช่นนี้ยังมีในนักการเมืองไทยมาจนถึงพ.ศ.๒๕๐๐ จะเห็นได้ว่านักการเมืองระดับผู้นำ แม้กระทั่งจอมพล ป.เองก็มิได้แสวงหาความร่ำรวยอย่างบ้าคลั่งจากอำนาจที่มีล้นฟ้านั้น จริงอยู่พวกระดับลูกน้องบางคนจะแอบเอาอำนาจของนายไปสร้างความร่ำรวยให้แก่ตระกูล แต่ผู้ก่อการระดับผู้นำทุกท่านมีชีวิตในบั้นปลายอย่างสามัญ เพราะท่านไม่ได้มุ่งสะสมอะไรไว้เพื่อตนเองเลย

ไม่เหมือนนักการเมืองสมัยต่อมาจากนั้นที่พ่อค้าเริ่มเข้ามาผสมโรง เริ่มจากเข้ามาชี้ช่องให้ รับจัดทำให้ และในที่สุดก็หลุดเข้ามาเล่นการเมืองเองได้ พวกนี้มีไม่มีอุดมการณ์อะไรเลยนอกจากหลักการว่าลงทุนแล้วต้องได้กำไร ยิ่งกำไรมากเท่าไรยิ่งเก่ง ยิ่งดี คอร์รัปชั่นเมืองไทยที่เมื่อก่อนคือการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็กลายเป็นเกมโปลิศจับโขมยกระจอกๆที่เด็กๆเล่นกัน ผู้ใหญ่ในสภาเขาจะเล่นเกมระดับพันล้าน หมื่นล้านกันแบบเสรีประชาธิปไตยเต็มสูบ

การแย่งอำนาจระหว่างทหารกับทหารในยุคต้น ได้กลายเป็นระหว่างทหารกับพ่อค้า การฟอร์มรัฐบาลเหมือนกายกรรมต่อตัว ใครอยู่บนอยู่ล่างต่อๆกันขึ้นไปให้ตัวยอดสอยดาว สอยมาแล้วแบ่งให้คนล่างๆลงตัวก็อยู่ได้ประเดี๋ยวหนึ่ง ถ้าไม่ลงตัวตรงไหน หรือใครขยับหน่อยนึงก็พังครืนลง แล้วเกมตะเกียกตะกายต่อตัวไปสอยดาวก็จะเริ่มขึ้นใหม่

นักอุดมคติ.......เล่นการเมืองไม่ได้อยู่แล้ว แต่นักการเมืองที่มีอุดมคติบ้างน่าจะพอมี เป็นความหวังริบหรี่ของประชาชนที่เขาหลอกว่าเป็นเจ้าของประเทศ ในการที่จะได้รับการกระจายความอยู่ดีมีสุขจากภาษีอากรที่รัฐเก็บเขาไปอย่างเป็นธรรมมากขึ้น มิใช่ไปตุงอยู่ในห้องลับในบ้านของนักการเมืองฝ่ายเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 29 พ.ย. 09, 09:34

เข้ามาบอกว่ายังติดตามอ่านอยู่สม่ำเสมอค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 29 พ.ย. 09, 13:43

เช่นเดียวกับคุณเทาชมพู ติดตามชีวิตและผลงานของ ลูกหลานหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ นวรัตน อยู่เสมอ

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 29 พ.ย. 09, 20:53

ขอบพระคุณท่านทั้งสองมากครับ
หากตรงไหนที่ท่านอยากจะทักท้วงหรือเสริมแต่งอะไร กรุณาเข้ามาได้เลยนะครับ อย่าได้รีรอ

วันนี้ผมออกไปต่างจังหวัดมาทั้งวัน ขอพักสักคืนหนึ่งก่อน แล้วจะกลับมาต่อครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 08:10

ตำรวจสมัยนั้นมีอำนาจกักขังผู้ต้องหาได้ไม่เกิน๑๕วัน แต่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลโดนขังอยู่๒เดือนจึงถูกนำตัวไปสันติบาลเพื่อสอบสวน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องต้นฉบับของนวนิยายที่เขียนขึ้นมาบ้าง บันทึกรายวันส่วนตัวบ้าง เอกสารเหล่านี้ตำรวจไปค้นมาได้จากบ้านพักในกรุงเทพ และจดหมายของม.ร.ว.นิมิตรมงคลฉบับหนึ่งที่มีไปถวายพระองค์เจ้าศิริรัตน์บุษบง พระธิดาพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงชุบเลี้ยงม.ร.ว.นิมิตรมงคลมาตั้งแต่อายุ๙ขวบ ให้เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยจากชั้นประถมจนจบเป็นนายทหาร เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองพระองค์ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียโดยไม่มีโอกาสนิวัติคืนประเทศไทย เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคลพ้นโทษใหม่ๆทราบว่าพระองค์หญิงขณะนั้นประทับอยู่ในกรุงเทพ จึงมีจดหมายไปถวาย นอกจากจะทูลสารทุกข์สุขดิบของตนแล้ว อย่างได้เล่าเรื่องการทำดิกชันนารีในคุกที่ตนมีส่วนร่วมและชักชวนให้พระองค์หญิงทรงอุดหนุนสอ เศรษฐบุตร(ซึ่งยังคงถูกจำขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง)ด้วย ในตอนท้ายเขียนว่า “เมื่อเกล้าฯออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระดังนี้แล้ว โอกาสที่จะนำตัวออกรองฉลองบาทก็คงมีบ้าง” ซึ่งเป็นการแสดงกตเวฑิตาต่อผู้มีพระคุณ ที่จะได้รับใช้ในการงานอย่างธรรมดาที่สุด แต่สันติบาลกลับขีดเส้นแดงไว้ว่านี่คือหลักฐานของการหาโอกาสที่จะก่อการกบฏ ท่านลองดูภาพข้างล่างที่พระองค์หญิงใหญ่(ขวา)ทรงถ่ายกับพระบิดาที่บันดุง ผู้หญิงในวัยยี่สิบเศษลักษณะนั้นหรือที่จะกบฏต่อรัฐบาล แต่จะอธิบายเช่นไรก็หาเป็นประโยชน์ไม่

ดังนั้นไม่กี่วันจึงได้รับทราบข้อหาว่าได้สมคบกับนายพันโทพระสิทธิเรืองเดชพล มือขวาของพระยาทรงสุรเดช ผู้ที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยแต่ไม่เคยได้พบกันอีกเลยหลังจากเรียนจบ และคนอื่นๆอีกสี่ห้าคนที่รู้จักแต่ชื่อบ้าง ไม่เคยได้ยินบ้าง กล่าวชักชวนผู้คนตระเตรียมสะสมกำลังคิดประทุษร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล และสำหรับม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้เขียนบทประพันธ์ส่งเสริมลัทธิคอมมูนิสต์ และเขียนบทประพันธ์กล่าววาจาติเตียนรัฐบาล ขอให้ศาลลงโทษเป็นพิเศษฐานต้องโทษมาแล้วแต่ไม่เข็ดหลาบ

การที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลโดนจับเพราะถูกเขาตีตราไว้ที่หน้าว่าเป็นฝ่ายขวาจัดคนก็พอทำความเข้าใจได้ตั้งแต่เห็นคำนำชื่อที่พ่อให้มาแต่เกิด แต่ถูกจับแล้วยัดข้อหาว่าเป็นซ้ายจัดนี้ แสดงภูมิปัญญาและวุฒิภาวะของนายตำรวจสันติบาลเจ้าของคดี คนทั้งปวงอาจดูเป็นเรื่องตลกแต่ความเป็นจริงไม่ตลก ผมบอกล่วงหน้าไว้ก่อนเลยว่าคดีนี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกศาลพิเศษตัดสินจำคุกตลอดชีวิต


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 19 คำสั่ง