เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15
  พิมพ์  
อ่าน: 74473 ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 21:20

2


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 21:22

3


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 21:28

4


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 08:00

คราวนี้มาดู “เจ้านักการเมือง”ที่คุณณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นศัพท์เรียกในบทความของตนนั้นบ้าง
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ชึ่งผมจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาด ชีวิตของท่านยิ่งกว่านิยาย และท่านก็เป็นพระเอกในโลกแห่งความจริงเสียด้วย

ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ กับหม่อมสุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2426  เมื่อเจริญชันษาขึ้นถึงวัยอันสมควรก็ถูกส่งไปทรงศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงอุดมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ที่ Harrow School อันมีชื่อเสียงและ City and Guild's Technical College, University of London ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล

พ.ศ. 2444 หลังจากเสด็จกลับมายังประเทศไทยแล้วได้เข้ารับราชการเป็นเลขานุการของที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างนั้นทรงพัฒนาวิธีการเขียนชวเลขไทยประกวดได้รับรางวัลที่ 1 จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ด้วยเหตุที่ทรงมีความรู้ดีเรื่องเครื่องจักรกลจึงได้รับการโยกย้ายไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น กระทรวงการคลัง เพื่อกำกับดูแลการจัดสร้างและดำเนินงานโรงงานใหม่ เมื่องานสำเร็จลงก็ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ดำเนินการปรับปรุงเครื่องทำเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดทรงย้ายกลับไปเป็นอธิบดีกรมฝิ่น ทรงปรับปรุงระบบการจำหน่ายจนกรมฝิ่นสามารถทำรายได้ให้แก่ราชการมากถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด

ในช่วงสมัยกีฬาฟุตบอลกำลังเฟืองฟูทั่วพระนครนั้น ม.จ.สิทธิพร ทรงเล่นฟุตบอลร่วมกับชาวยุโรป อยู่ที่ราชกรีฑาสโมสร เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติสยามและทีมชาวอังกฤษในเมืองไทยขึ้นเป็นครั้งแรก หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลปรากฏว่าทีมสยามที่ทรงเป็นกัปตันชนะ 2 - 1  ม.จ.สิทธิพร จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอุปนายกสมาคมคนแรกของคณะฟุตบอลแห่งสยาม (ปัจจุบัน คือสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ)

รับราชการอยู่ยี่สิบปี ม.จ.สิทธิพรก็กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เสด็จจากกรุงเทพฯ พร้อมครอบครัวอันประกอบด้วยหม่อมศรีพรหมาชายา ม.ร.ว.อนุพร บุตรชายอายุ 3 ขวบครึ่ง ม.ร.ว.เพ็ญศรี บุตรีอายุ 9 เดือน คนรับใช้ 2 คน มุ่งหน้าอย่างมาดมั่นสู่บางเบิด ตำบลชายทะเลเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 08:02

การตัดสินพระทัยดังนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ชอบทำงานประจำประเภท นั่งโต๊ะ ที่สำคัญ ทรงมองการณ์ไกลว่าต่อไประบบราชการไม่อาจจะขยายตำแหน่งได้เพียงพอที่จะรองรับคนใหม่ได้ ในอนาคตคนรุ่นหลังจำเป็นต้องหาอาชีพใหม่ ทรงเลือกอาชีพเกษตรกรรมเตรียมไว้ให้บุตรธิดาของท่าน ด้วยทรงเห็นว่ากสิกรรมมีโอกาสเหลือเฟือ เป็นอาชีพที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครนอกจากตนเอง

ทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า
"เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2463 บังเอิญข้าราชการกรมใหญ่กรมหนึ่งสมัครใจโดยลำพังที่จะสละตำแหน่งสูงโดยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เพื่อจะได้ไปประกอบการกสิกรรมตามแบบสมัยใหม่ ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนโดยมากเห็นว่าเป็นการกระทำของคนที่ไม่บ้าก็บอ นั่นคือข้าพเจ้าเอง ทั้งนี้ เพราะข้าพเจ้าบังเอิญได้ภรรยาที่เป็นเจ้าของที่ดินชายทะเลแห่งหนึ่งเป็นที่ถูกใจเป็นอย่างยิ่ง และบังเอิญภรรยาก็เห็นพ้องด้วย ซึ่งเป็นที่แปลกใจของเพื่อนฝูงไม่น้อย เพราะการทิ้งกรุงเทพฯแดนสวรรค์ หอบลูกเล็กๆ สองคนไปอยู่ที่ๆ ห่างไกลหมอดูเสมือนเป็นการกระทำที่ไม่บ้าก็บอ"

ผมนึกถึงรุ้ง พระเอกใน “ความฝันของนักอุดมคติ” ของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ตอนที่ตัดสินใจทิ้งการเป็นดาวดวงเด่นในกระทรวงธรรมการ ลาออกเพื่อจะกลับไปทำนาที่ลพบุรีบ้านเกิดเสียจริงๆ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลถูกวิจารณ์ว่าฝันมากไปหน่อยกระมัง ไปเอาความคิดที่ไหนมาว่านักเรียนนอกอยากจะไปทำนา ก็สงสัยเอามาจากท่านสิทธิพรนี้เอง


"ในระหว่างการติเตียนการลาออกของข้าพเจ้า ได้มีเจ้านายบางพระองค์ที่ชมเชยว่าเป็นการก้าวหน้าโดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก ซึ่งทรงคุ้นเคยกับพวกข้าพเจ้า เพราะบังเอิญพี่ชายของข้าพเจ้าสองคนได้เคยเป็นพระอภิบาลเมื่อเสด็จไปศึกษาในประเทศอังกฤษ ทั้งภรรยาของข้าพเจ้าก็บังเอิญเป็นข้าหลวงเดิมคนหนึ่งด้วย ฉะนั้นต่อมาอีก 3 ปี เมื่อบังเอิญเสวยราชสมบัติเป็นพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแวะดูกิจการที่ฟาร์มบางเบิดในระหว่างการประพาสทางทะเล มีความสนพระราชหฤทัยในกิจการที่ได้กระทำอยู่ด้วยเครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเกษตร"

แม้ว่าดั้งเดิมที่นั่นสภาพปฐพีวิทยาจะเป็นดินปนทรายไม่เหมาะสมกับเกษตรจนไม่มีชาวบ้านมาตั้งรกรากทำไร่ทำสวน  แต่ฟาร์มบางเบิดได้รับการพัฒนาด้วยวิชาการเกษตรแผนใหม่จนก้าวหน้าที่สุดในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ใช้รถแทรกเตอร์ทำการเกษตรเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได ใช้ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชหมุนเวียน ต่างกับการปลูกพืชที่ดอนแบบชาวบ้านในยุคนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกไร่เลื่อนลอยปีละครั้ง ในสวนผักของหม่อมเจ้าสิทธิพรนั้น มีการปลูกมะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก  ทรงปลูกแตงโมพันธุ์ต่างประเทศที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา ควบคู่ไปกับแตงไทย ข้าวโพด ถั่วลิสง เลี้ยงไก่เล็กฮอร์นขาวพันธุ์แท้ เลี้ยงหมูพันธุ์ยอร์คเชีย นำมาแปรรูปทำแฮมเอง นอกจากนั้น ยังเป็นฟาร์มแห่งแรกที่ทดลองผลิตยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียที่บ่มด้วยความร้อน และ ส่วนหม่อมของท่านก็เป็นสตรีเหล็กนอกจากเลี้ยงดูให้การศึกษาบุตรธิดา ยังเคียงข้างท่านในกิจการ ด้วยการเป็นผู้จดบันทึกการปฏิบัติทดลองต่างๆและทำบัญชีควบคุมการเงิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 08:15

ดังนั้น...เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ราคาข้าวลดลงมาก รัฐบาลของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นถึงเวลาที่จะต้องสนใจ และส่งเสริมพืชไร่อื่นๆนอกจากข้าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกม.จ.สิทธิพร กฤดากร กลับมารับราชการเพื่อปรับปรุงกรมกสิกรรมให้ดำเนินงานตามนโยบายใหม่ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้เดียวที่มีประสบการณ์ในการปลูกพืชไร่มากว่า10 ปีเศษ  ม.จ.สิทธิพรทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรมและทรงให้เริ่มตั้งสถานีทดลองพืชดอนขึ้น 3 แห่งโดยทันที ภาคเหนือที่แม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ที่คอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทรงเลือกหัวหน้าสถานีทดลองซึ่งทั้งสามท่านต่อมาก็คือพระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงอิงคศรีกสิการ และหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้มีฉายาร่วมกันว่าสามเสือแห่งเกษตร บูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนนั่นเอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 08:25

แต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ผันแปรในปีต่อมาทำให้ม.จ.สิทธิพร ผู้ดำรงตนอย่างสมถะต้องกลายเป็นหนึ่งในจำนวน 54 คนที่ถูกจับด้วยข้อหากบฏด้วย เนื่องจาก พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร หัวหน้าฝ่ายกบฏซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ทรงขอให้ท่านเข้าร่วมด้วย ท่านจึงเสด็จขึ้นไปโคราชและตามทัพลงมา สั่งสอนอบรมประชาธิปไตยให้แก่ราษฎรจนตลอดทาง ศาลพิเศษจึงตัดสินจำคุกท่านตลอดชีวิต ทรงโดนจองจำในเรือนจำบางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า รวมเวลาแล้วนานกว่า 11 ปี แต่ระหว่างที่ทรงต้องโทษอยู่ ทรงเป็นที่รักและเคารพของทุกคน ก็ไม่มีใครเคยเห็นว่าทรงอยู่เฉยจากตำรับตำราและงานเกษตรที่ทรงรัก ทรงเป็นสุภาพบุรุษที่เสียสละด้วยพระทัยงามแก่เพื่อนนักโทษด้วยกันหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งที่ทรงฉีดยาแสนแพงและหาได้อย่างยากยิ่งในระหว่างสงครามซึ่งหม่อมของท่านจัดซื้อส่งมาถวายด้วยความยากลำบากสองสามหลอดสุดท้ายที่ทรงเหลืออยู่ให้ม.ร.ว.นิมิตรมงคลเพื่อยื้อชีวิตไว้ได้สำเร็จ

หลังจากได้รับอิสระภาพจากเกาะเต่า และขบวนรถไฟซึ่งนำอดีตนักโทษการเมืองจากสุราษฎร์กลับเข้ากรุงเทพได้แวะจอดที่สถานีบางเบิด ทรงพาร่างอันผ่ายผอมลงไปพบกับครอบครัวที่มายืนรอรับอยู่ที่นั่น และทรงโบกพระหัตถ์อำลาเพื่อนอดีตนักโทษจนลับสายตา ก่อนจะกลับไปไร่ที่หม่อมศรีพรหมายังอดทนทำอยู่ตามคำขอร้องและส่งกำลังใจของท่านให้จากคุก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 08:36

ขณะนั้นทรงมีพระชันษา 61 ปีแล้ว แต่ก็ยังโปรดที่จะทำการเกษตรที่บางเบิดต่อไป บัดนี้ความสนพระทัยยังได้ขยายขอบเขตไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเกษตรกรด้วย ทรงเขียนความคิดเห็นโต้แย้งรัฐบาลเกี่ยวกับผลผลิตข้าวลงในหนังสือพิมพ์ และทรงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในนามของพรรคก้าวหน้าได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงอันท่วมท้น รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงทูลขอให้ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ทรงตอบรับ และทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตามเงื่อนไขของรัฐบาลยุคนั้นด้วย

ทรงบันทึกถึงแนวทางจัดตั้งทางการเมืองครั้งนี้ไว้ว่า

"….นายควง อภัยวงศ์ ระมัดระวังไม่ให้มี "ประชาธิปไตยจอมปลอม" เกิดขึ้นอีกได้ ในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาจึงได้ร่วมมือกับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ภายใต้กรมพระชัยนาทฯ องค์ประธานอย่างใกล้ชิดและเลือกเฟ้นเอาข้าราชการที่ช่ำชองในการงานสาขาต่าง ๆ ประกอบกับ พ่อค้าวาณิชที่มีชื่อเสียง และไม่มีข้าราชการประจำหรือสมาชิกพรรคของนายควงสักคนเดียว ฉะนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งกันใหม่แล้วรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงประกอบด้วย ส.ส. ที่ราษฎรเลือกตั้งกับสมาชิกแต่งตั้งที่เป็นอิสระ ปราศจากอิทธิพลของรัฐบาลทั้งสิ้น จึงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย คือ ไม่ใช่ประชาธิปไตย "จอมปลอม"..."

ตรงนี้ที่คุณณัฐพล ใจจริงเห็นต่างว่าเป็นคณะรัฐมนตรีที่ประกอบไปด้วยเชื้อพระวงศ์ ขุนนางระบอบเก่า และ “ชาวน้ำเงินแท้” อย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อน คุณณัฐพลพยายามบอกท่านผู้อ่านว่านี่คือฝันจริงของชาวน้ำเงินแท้ที่ขึ้นมาพยายามลบล้างคุณความดีของคณะราษฎร์ และมุ่งหมายที่จะถวายพระราชอำนาจคืนแก่พระมหากษัตริย์ (ซึ่งผมคิดว่าคุณณัฐพลเขียนอย่างนั้นก็ถูกอยู่บ้าง แต่ไม่จริงเสียกว่า50%)

มีตำนานเล่าว่า ม.จ.สิทธิพรทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บางเบิด ดังนั้นเมื่อตอบรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการท่านจึงไปเฝ้าพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ว่าจำเป็นต้องเข้ามาประทับในกรุง แต่ท่านไม่มีบ้านอยู่ พอดีว่าได้สังเกตเห็นว่ามีเรือนหลังหนึ่งข้างประตูวังยังว่าง ๆ อยู่ จึงมีพระประสงค์จะขออาศัยที่นั่น พระองค์ธานีฯ ทรงค้านว่าเรือนหลังเล็กเช่นนั้นดูจะไม่สมพระเกียรติของรัฐมนตรี หม่อมเจ้าสิทธิพรจึงทูลว่า "เรือนหลังนี้ก็ดีถมเถไปแล้ว...หม่อมฉันอยู่ในคุกยังอยู่ได้"

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดตั้งคณะกรรมการข้าวนานาชาติ (International Rice Commission - IRC) ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนข้าว ม.จ.สิทธิพรได้ทรงรับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศไทยและได้ทรงรับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการระหว่าง พ.ศ. 2492-2495

ใน พ.ศ. 2503 ทรงชราภาพเกินกว่าจะตรากตรำและบุตรธิดาไม่ประสงค์จะสืบงานต่อดังที่ทรงคาดหวังแต่ต้น จึงทรงขายฟาร์มบางเบิดให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่กระทรวงเกษตรตอบปฏิเสธไม่รับซื้อไว้เป็นสถานีทดลองเพราะไม่มีงบประมาณ ทรงนำเงินมาซื้อที่ดินขนาดย่อมลงเหมาะแก่กำลังที่หัวหินแล้วดำเนินการทดลองการเกษตรต่อ ได้ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรีนำองุ่นมาร่วมทดลองปลูกเป็นครั้งแรกๆที่ไร่บ้านเขาน้อยของท่าน ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ทำให้ต่อมาประเทศไทยสามารถปลูกองุ่นเพื่อการค้าได้สำเร็จ
 
พ.ศ. 2510 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ดีของม.จ.สิทธิพร ด้วยมีสองสถาบันพร้อมใจกันยกย่องท่าน หนึ่งคือ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขากสิกรรมและสัตวบาลแก่ท่านในเดือนกรกฎาคม และสอง มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ถวายรางวัลด้านบริการสาธารณะ สาขาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่แก่ท่านเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปีนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 25 ธ.ค. 09, 08:43

แม้ความผันผวนทางการเมืองจะทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพรไม่อาจทรงงานตามอุดมการณ์ในตำแหน่งรัฐมนตรีได้นาน แต่บทบาทของท่านในการพัฒนาเกษตรกรรมและเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ใน พ.ศ. 2512 ทรงริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมือง ชื่อ พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา เพื่อรวบรวมนักวิชาการที่มีอุดมการณ์เข้าด้วยกัน ทรงนิพนธ์บทความโต้แย้งรัฐบาล คัดค้านนโยบายการส่งออกข้าวด้วยการเก็บค่าพรีเมี่ยม อันเป็นมูลเหตุสำคัญให้ชาวนาถูกกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม จนสุดท้ายรัฐบาลต่อมาก็เห็นด้วยที่จะเลิกพรีเมียมข้าวหรือภาษีขาออกที่ดูเหมือนจะเรียกเก็บจากพ่อค้าก็จริง แต่ที่แท้ความเดือดร้อนอยู่ที่ชาวนา
เรื่องการตั้งกำแพงภาษีเพื่อทั้งขาเข้าและขาออกนี้ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงใน “ความฝันของนักอุดมคติ” ที่พิมพ์ก่อนหน้าการรณรงค์ในครั้งสำคัญนี้กว่าสิบปีเหมือนกัน

"เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"

ประโยคทองนี้ถือเป็นวาทะสำคัญ ของม.จ.สิทธิพร ในระหว่างที่ทรงประกาศเรียกร้องมาตรการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกร โดยมุ่งหวังให้สามารถผลิตอาหารพึ่งตนเองได้ไม่ต้องซื้อเขา ก็จะหลุดพ้นจากความยากจน ไม่ถูกนายทุนเงินกู้เอาเปรียบ ประเทศชาติก็จะมีอนาคตที่มั่นคงได้อันจะเป็นประโยชน์สูงสุด ทรงตอกย้ำความสำคัญเรื่องให้การศึกษาแก่เกษตรกร เงิน 1 แสนบาทอันเป็นส่วนหนึ่งของรางวัลแมกไซไซทรงหมดไปกับโครงการอบรมลูกหลานชาวไร่ชาวนา และ โครงการนาสาธิต ที่ทรงลงมือทำด้วยตนเองโดยตลอด จนความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนโครงการอบรมลูกหลานชาวนาของม.จ.สิทธิพรด้วย และต่อมาได้ทรงพระกรุณานำไปต่อยอดในโครงการพระราชดำริต่างๆอีกมากมาย

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ทรงงานหนักจนกระทั่งชราภาพสังขารแบกรับไม่ไหว ทรงถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2514 สิริชันษายืนยาวถึง 88 ปี

เพื่อสืบทอดมรดกอุดมการณ์ของม.จ.สิทธิพร และเพื่อให้มีสิ่งน้อมใจอนุชนให้รำลึกถึงท่านผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสถานีวิจัยและอนุสรณ์สถานขึ้นบนพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฟาร์มบางเบิด โดยได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งชื่อสถานีวิจัยแห่งนี้เฉลิมพระนามของท่านว่า สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 27 ธ.ค. 09, 19:11

หนังสือพิมพ์ “กสิกร” ได้จัดทำโดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (ผู้เป็นทั้งเจ้าของ และบรรณาธิการในตัว) และคณะ อาทิ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ, ม.ล. ต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา, พระยาเทพศาสตร์สถิตย์, หลวงอิงคศรีกสิการ, ศรีพรหมากฤดากร ณ อยุธยา, หลวงช่วงเกษตรศิลปการ ความน่าสนใจของหนังสือพิมพ์ “กสิกร” นอกจากจะเป็นบันทึกสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางด้านวิทยาการการเกษตรแล้ว ยังมีบทบรรณาธิการของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้ซึ่งเป็น “บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่”


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 22:22

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน มิได้ได้เข้าสู่วงการเมืองอย่างจริงจัง เพราะการที่ได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับวิถีการเมือง ก็รู้สึกผิดหวังแล้ว ถ้าจะเป็นนักการเมืองก็จำต้องปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับคนหมู่ใหญ่ให้ได้ จึงจะมีโอกาสทำงานร่วมกับเขาได้ ดังนั้นอุดมการณ์ถึงจะมีอยู่แต่ก็ต้องเอาวางไว้บนหิ้งบ้างหากหวังผลทางการเมือง การรวมตัวของพรรคก้าวหน้ากับพรรคประชาธิปัตย์ภายหลังจากเข้าสภาแล้ว จึงเป็นเหตุให้ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ม.ร.ว.นิมิตรมงคลอาศัยอยู่กับคุณอา ม.ร.ว. สุดใจ บรรยงกะเสนา ญาติห่างๆที่รักม.ร.ว.นิมิตรมงคลเหมือนลูกจริงๆ รับสอนภาษาอังกฤษเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองโดยไม่ต้องรบกวนผู้ใด ลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นนายทหารอากาศรุ่นน้อง นอกจากนั้น ยังได้ตั้งสำนักพิมพ์ เขียนหนังสือออกขาย

หนังสือเล่มแรกคือ “ชีวิต(ร)แห่งการกบฏ2ครั้ง” เป็นสารคดีที่บันทึกเหตุการณ์จริงๆที่ทำให้ผู้เขียนต้องโทษกบฏ ข้อเท็จจริงที่นำมาเปิดเผยถือเป็นการฉีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งผู้ชนะเป็นฝ่ายเขียนเอาไว้ ยุคหนึ่งประชาชนเชื่อว่ามีเหตุการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบ้านเมืองแล้วรัฐบาลใช้ความเด็ดเดี่ยวแก้ปัญหาได้เด็ดขาด 18ชีวิตที่ถูกประหาร แม้จะดูโหดร้าย แต่ก็สมควรแล้วที่จะแลกกับความสงบสุขของบ้านเมือง เพื่อให้ชาติก้าวเจริญรุดหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกัน ม.ร.ว.นิมิตรมงคลชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ร้ายแรงทั้งหลายแหล่นั้นรัฐเป็นผู้กระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียวเพื่อเก็บฝ่ายที่คิดเห็นตรงข้าม เพื่อกรุยทางให้แก่การเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบของนายกรัฐมนตรีในมาดท่านผู้นำ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 22:23

เล่มที่2ที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคลผลิตออกมาคือ “ความฝันของนักอุดมคติ” โครงร่างของนวนิยายเรื่องนี้ผูกขึ้นระหว่างอยู่ในคุกและเป็นเหตูให้ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะเต่า เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วจึงได้เรียบเรียงขึ้นใหม่

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น2เล่ม ตอนที่1ออกมาแล้วก็ขายดีเกินคาด ตอนที่2จึงออกต่อมาอย่างรวดเร็ว คงเพราะเป็นหนังสือแห่ง “ยุคเสรีภาพ”แต่ฉีกแนวจากหนังสือที่บรรดาอดีตนักการเมืองเขียนออกมาจนเต็มตลาด บางเล่มแม้จะเป็นสารคดีแต่ก็พรรณาท่วงทำนองจนถูกกล่าวหาว่าเป็นนวนิยาย “ความฝันของนักอุดมคติ” ซึ่งประกาศตนว่าเป็นนวนิยาย แต่ผู้อ่านกลับเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและชิวิตของตนลงในบทบาทของพระเอกที่มีนามกรว่า รุ้ง จิตเกษม

ความเชื่ออันนี้เลยเถิดไปจนครั้งหนึ่ง มีการจะสร้างหนังไทยฟอร์มใหญ่ชื่อ “นักโทษประหาร2482”  มีฉากปรากฏตัวตนของม.ร.ว.นิมิตรมงคลประกอบอยู่ด้วย ผู้แต่งบทเอาตอนสุดท้ายในความฝันของนักอุดมคติไปแปลงใหม่ เป็นว่า ม.ร.ว.นิมิตรมงคล(หลังจากอกหัก)กำลังจะเดินทางไปรักษาแผลหัวใจที่อยุธยา แต่ยังอุตส่าห์เป็นห่วงงาน ไปตรวจบรู๊ฟหนังสือของตนที่โรงพิมพ์ก่อน ครั้นย่ำรุ่งได้เวลาจะไป อุไรวรรณ นางเอกในหนังสือก็ตามเอากุหลาบแดงช่อใหญ่ไปง้องอนท่ามกลางสายฝนพรำๆ คุณชายคะคุณชายขาดิฉันพูดผิดไปอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นฉากดราม่าอันน่าสะเทือนใจอยู่เพราะพระเอกใจแข็งชะมัด ถืออุดมคติยิ่งกว่าความรัก หลังจากร่ำลากันเปียกโชกไม่รู้ว่าน้ำตาหรือน้ำฝนแล้ว พอจะเดินทาง รัอยตำรวจเอกแสวงก็แสดงตนออกมาจับกุมตัวทันที บีบหัวใจคนดูซะแหลกเหลว

ผมได้อ่านบทภาพยนต์นี้แล้วก็งงๆอยู่ว่าจะดีเร้อะ เอาเรื่องจริงกับนิยายมาปนกันเละเทะจนคนดูแยกแยะไม่ออกไปทั้งเรื่อง พอดีทางทายาทจอมพลป.เขาขู่เสียงเข้มว่าถ้าขืนสร้างขึ้นจะมาฟ้องศาล ผู้สร้างก็ถอดใจยอมระงับโครงการณ์ไปโดยดี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 22:27

“ความฝันของนักอุดมคติ” เป็นความฝันของ รุ้ง จิตเกษม โมเดลทางการเมืองที่รุ้งเห็นว่าน่าจะแก้ข้อบกพร่องของลัทธิต่างๆที่รุ้งยังไม่พอใจ เพราะ
 “ ลัทธิของกษัตริย์โบราณหรือลัทธิของกษัตริย์ไม่สวมมงกุฏอย่างฮิตเลอร์ คือการกดขี่คนส่วนมากโดยคนส่วนน้อย ลัทธิประชาธิปไตยอย่างที่เราได้เห็นในยุโรปบางประเทศ คือการกดขี่คนส่วนน้อยโดยคนส่วนมาก และการปกครองตามลัทธิคอมมูนิสต์ในรัสเซีย  คือการกดขี่คนทุกชั้นที่มิใช่กรรมกรโดยหัวหน้ากรรมกร”
ดังนั้นรุ้ง ผู้เป็นนักชีววิทยาได้เสนอทฤษฎีขึ้นใหม่โดยเอาธรรมชาติขององคาพยพ ที่ร่างกายๆหนึ่งประกอบด้วยชีวิตเล็กๆที่เรียกว่าจุลินทรีย์(เชลล์)นับแสนล้าน รวมกลุ่มกันเป็นอวัยวะ มีหน้าที่ต่างๆ แต่ทำงานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ทั้งส่วนที่เป็นผู้สั่งการ และส่วนปฏิบัติการ ระบบองคาพยพไม่เคยทำร้ายเชลล์ใดๆในร่างกายเลย ตรงข้าม หากเกิดบกพร่องหรือบาดเจ็บจากปัจจัยภายนอก เชลล์สั่งการในสมองจะสั่งเชลล์ปฏิบัติการอื่นๆให้ไปช่วยเยียวยาจนสุดความสามารถ รัฐบาลของประชาชาติในอุดมคติควรมีธรรมชาติเช่นเดียวกับองคาพยพ ประชาชนแต่ละคนคือเซลล์แต่ละเซลล์ ทว่าในระบอบการบริหารปกครองนี้ต้องมีขบวนการที่จะแยกแยะว่าประชาชนคนหนึ่งๆนั้น ควรจะสังกัดอยู่กับหน่วยไหน ทำหน้าที่อะไรในสังคม แต่ละหน้าที่จะต้องได้นับการยอมรับนับถือเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่หน่วยสั่งการหรือปฏิบัติการ หากประชาชนคนหนึ่งคนใดบกพร่อง สังคมจะต้องช่วยกันเยียวยาให้กลับมาทำประโยชน์ได้อีก ไม่ใช่นำไปจำคุกหรือประหารชีวิตเหมือนรัฐบาลที่เป็นอยู่ในประเทศต่างๆทั้งโลก

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ รุ้งก็เสนอวิธีการคัดเลือกว่าใครควรจะทำหน้าที่อะไรด้วยการวัดผลตั้งแต่เกิดและจำเริญวัยว่าคนๆนั้น น่าจะทำงานที่ใช้กำลังและสมองในสัดส่วนอย่างไร หลังจากนั้น รัฐจะมีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกงานอาชีพและจัดงานที่เหมาะสมให้ วิธีทันสมัยในยุคของรุ้งคือวิธีการทางจิตวิทยาที่มีแบบทดสอบสามารถระบุได้ว่า คนๆนี้เป็นประเภทอินโทรเวิร์ตหรือเอกซ์โทรเวิร์ต แม้ว่าจะยังไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด แต่เชื่อว่าถ้ารัฐเห็นด้วยและทุ่มทำการวิจัย รัฐบาลในอนาคตก็อาจจะจำแนกพลเมืองและหัดแต่ละคนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหน้าที่ที่เขาจะต้องทำร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นคนกวาดถนน คนขับรถเมล์ ทหาร วิศวกร แพทย์ หรือนักบริหาร ฯลฯ เขาทั้งหลายจะต้องมีความทัดเทียมกันในสังคม เหมือนอวัยวะหลายแหล่ที่หากขาดอะไรไป ชีวิตนั้นก็จะพิการหรืออยู่ไม่ได้ ดังนั้นทุกส่วนในร่างกายจึงได้รับการจัดสรรเลือดไปหล่อเลี้ยงในปริมาณที่พอเพียงเท่าๆกัน

ความคิดความฝันดังกล่าวของรุ้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความคิดความฝันที่ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล “นิมิต”เห็นระหว่างใช้ความว่างในคุกให้เป็นประโยชน์ (และเป็นเหตุให้หนังสือเล่มนี้ครั้งหนึ่งได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนิมิตร) ถ้าจะว่าห่างไกลจากความเป็นจริงในโลกก็ใช่ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ “อุตมรัฐ(Utopia)” ของเซอร์โทมัส มอร์แล้ว ความคิดความฝันของม.ร.ว.นิมิตรมงคลโมเดลนี้ยังมีเปอร์เซนต์ของความเป็นไปได้มากกว่าด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามบุคคลทั้งสองก็คงมิได้หวังว่ารัฐบาลประเทศที่ตนถือบัตรประชาชนอยู่จะยอมรับความคิดนั้นไปปฏิบัติ แต่ก็อยากจะจารึกความคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมไว้
 
ผมนึกถึงตอนเป็นนิสิตสถาปัตย์เริ่มต้นเรียนวิชาออกแบบใหม่ๆ ครั้งหนึ่งอาจารย์ได้ให้งาน sketch design ซึ่งต้องทำวันเดียวให้เสร็จส่งภายในเย็นวันนั้น เป็นบ้านที่จะสร้างบนโลกพระจันทร์  ครูบาอาจารย์ท่านเพียงต้องการฝึกสมองให้นิสิตระเบิดกรอบเก่าๆที่ติดตาอยู่ออกไปสู่จินตนาการที่กว้าง ไกล ล้ำลึกโดยไร้ขอบเขต ผลงานของนิสิตวันนั้นดูแล้วก็ได้เฮกัน คงบ้าแน่ถ้าใครจะสร้างขึ้นจริงๆในโลกมนุษย์ แต่ทุกคนก็มีเหตุผลน่าฟังว่าคิดมาได้อย่างไร ทำไมจึงออกแบบเช่นนั้น ไม่ได้ไร้สาระเลยทีเดียว รัฐในอุดมคติของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ใช้เวลาเป็นปีๆในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่สัปปายะสถานของมนุษย ด้วยจินตนาการไร้ขอบเขตเช่นกัน แม้ว่าโมเดลที่นำเสนอจะดีเกินกว่าที่สังคมโลกจะนำไปปฏิบัติได้ก็ตาม ก็น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง ใครเลยจะรู้ ถึงยุคที่มนุษย์จะไปสร้างบ้านบนดวงจันทร์เมื่อไร แนวทางปฏิบัติที่จะสร้างรัฐในอุดมคติของม.ร.ว.นิมิตรมงคลอาจจะเป็นไปได้แล้วเช่นนั้น
 
งานของม.ร.ว.นิมิตรมงคลทั้งหมดร่างต้นฉบับขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ผิดธรรมชาติของนักเรียนเก่าโรงเรียนนายร้อยผู้ที่ไม่เดยเป็นนักเรียนนอกแต่อ้อนแต่ออกอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าเป็นเพราะ ม.ร.ว.นิมิตรมงคลคงพยายามคิดเป็นสากล แม้จะมุ่งหวังให้เป็นเข็มทิศของอนุชนไทยก็ตาม หากยังมีอายุยืนยาวต่อไป ม.ร.ว.นิมิตรมงคลอาจจะเสนอ A Dream of An Idealist ออกสู่ตลาดหนังสือได้เองโดยไม่ต้องรอยาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งคนอังกฤษที่อ่านภาษาไทยมาค้นพบและนำไปแปลเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 22:31

เรื่องที่3 เขียนเป็นบทละครพูด ชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Emerald Cleavage”  ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริผู้แปลเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า “รอยร้าวของมรกต” ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนด้วยดินสอเก็บไว้นานมาก อาจารย์ชาญวิทย์อ่านแล้วเกิดศรัทธาปสาทะ แปลแล้วยังให้สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิมพ์จำหน่ายเผยแพร่ในปี 2523 ด้วย

ดอกเตอร์เดวิด สไมท์ผู้แปลความฝันของนักอุดมคติ ยกย่องวรรณกรรมชิ้นนี้มาก นอกจากจะทึ่งในความสามารถด้านภาษาที่คนอังกฤษอย่างท่านไม่กล้าแตะต้องแก้ใขต้นฉบับแล้ว เนื้อหายังสะท้อนจริยธรรมและความเป็นสุภาพบุรุษในจิตใจของผู้แต่งอย่างชัดเจน

เนื้อเรื่องของละครเป็นเหตุการณ์ในบ้านของนักการเมืองสมัยนั้นผู้ประสพความสำเร็จทั้งตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางการเงิน และความรัก มีภรรยาทั้งสวยทั้งฉลาด มีเพื่อนแท้ที่เก่งและจริงใจ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้เป็นภรรยาของเหยื่อทางการเมืองผู้จะถูกกำจัดคนหนึ่งเกิดฮึดสู้ อาศัยไพ่เหนือที่กำความลับในอดีตของท่านรัฐมนตรี หากเปิดเผยออกมาเมื่อไหร่อาจติดคุกและสูญเสียครอบครัวตนที่รัก และผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ธรรมดาเสียด้วยในการเสนอข้อแลกเปลี่ยนกับการที่ท่านรัฐมนตรีจะต้องปล่อยสามีของตน

เรื่องดำเนินต่อไปอย่างน่าติดตาม และจบอย่างพลิกมุม ถ้าผมเล่าไปก็จะเสียของหมด เผยนิดเดียวว่าชื่อเรื่องรอยร้าวของมรกตแสดงถึงธรรมชาติแท้ของอัญมณีที่ทรงคุณค่าและราคาชนิดนี้ ทุกเม็ดจะต้องมีรอยร้าว เช่นเดียวกับคนเราไม่ว่ายากดีมีจน จะหาที่ไร้ตำหนิเลยนั้นไม่มี ขึ้นอยู่กับว่า ถ้าเรื่องมันเป็นอดีตไปแล้วจะให้อภัยกันได้หรือไม่

คงไม่ต้องบอกว่าม.ร.ว.นิมิตรมงคลจบเรื่องนี้ด้วยการให้อภัย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 28 ธ.ค. 09, 22:33

พิมพ์ครั้งแรก


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง