เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 15
  พิมพ์  
อ่าน: 74475 ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน : ชีวิตและงาน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 10:04

วันที่ผู้คุมมาเอาตัวออกไปนั้น เมื่อม.ร.ว.นิมิตรมงคลคุกเข่าลงถวายบังคมกรมขุนชัยนาทฯหน้าห้องที่ประทับอยู่ รับสั่งถามว่าเขาจะเอานิมิตรไปไหน ทูลตอบว่า ไม่ทราบด้วยเกล้าฯ เขาไม่บอก ทรงเบือนพระพักตร์ไปอีกทางหนึ่ง คราวที่นักโทษการเมืองถูกนำไปประหารวันละสี่คนโดยไม่ให้รู้ตัวก่อนคงยังติดตรึงความรู้สึกอยู่ ทำให้มิอาจรับสั่งประการใดออกมาได้ เกรงว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะทรงได้เห็นม.ร.ว.นิมิตรมงคลในครั้งนั้น

ทัณฑสถานเกาะเต่า คือคุกที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้นอย่างรีบเร่งเพื่อรองรับนักโทษการเมืองชุดกบฏบวรเดชที่เนรเทศไปไว้ที่เกาะตะรุเตา แต่โน่นอยู่ใกล้เส้นแบ่งเขตแดนของมลายูจนเกินไปจนทำให้นักโทษการเมืองรุ่นอาวุโส4คนซื้อเรือประมงเล็กๆจากชาวบ้านหนีไปเกาะลังกาวีได้สำเร็จ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกรัฐบาลจึงได้ย้ายนักโทษการเมืองทั้งหมดห้าสิบกว่าคนมาไว้ที่เกาะเต่าในอ่าวไทยแทน

คุกที่ตะรุเตามีลักษณะเป็นทัณฑนิคม นักโทษถูกจัดให้อยู่เป็นกระต็อบเล็กๆแบบของใครของมันเป็นอาณาบริเวณโดยให่อิสระที่จะไปไหนมาไหนเพื่อจับปูจับปลากินเองได้พอสมควร หรือบางท่านเช่นหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงทดลองปลูกพืชหลายชนิดและเลี้ยงไก่ตามแนวเกษตรผสมผสาน ได้ผลดีโดยเฉพาะแตงโมที่ทรงปลูกขนาดสามารถส่งมาขายที่สตูลได้ เป็นต้นพันธุ์ของแตงโมบางเบิดรูปทรงยาว เนื้อแดงหวานกรอบที่โด่งดังในกาลต่อมา

แต่คุกที่เกาะเต่าเป็นคุกจริงๆมีรั้วรอบขอบชิดและหอปืนกล โรงขังปลูกเป็นเรือนยาวพื้นซีเมนต์คล้ายคอกหมูให้นอนรวมกันในที่แคบๆ น้ำจืดอัตคัดมากเพราะหอถังน้ำได้ถูกพายุพัดพังลงก่อนที่นักโทษการเมืองจะมาถึง ต้องขุดบ่อขึ้นแทนแต่ต้องใช้กะลาตักน้ำเอา แย่ที่สุดคือยุงที่ชุกชุมมากและเป็นพาหะของมาเลเรียซึ่งเป็นโรคร้ายในสมัยนั้น นักโทษจึงมีอาการของโรคไข้จับสั่นกันทุกคน แรกเริ่มเดิมทีนักโทษยังได้รับอนุญาติให้ออกไปหาพืชผักจับปลามาทำกินกันได้เช่นเดียวกับครั้งที่อยู่ตะรุเตา แต่เมื่อร้อยตรีพยอม เปรมเดชา พัศดีคนใหม่ถูกส่งมาแทนพัศดีเพี้ยน อนุโรจน์ ผู้อำนวยการที่พันตำรวจเอกพระกล้ากลางสมร (มงคล หงสไกร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้นเห็นว่าใจดีกับนักโทษเกินไป ประตูคุกก็ถูกปิดตาย จะเปิดออกเพื่อนำนักโทษไปทำงานโยธาเพื่อหาเรื่องให้นักโทษที่อ่อนแรงอยู่แล้วตายเร็วขึ้นเท่านั้น อาหารที่จัดให้กับนักโทษมีเพียงสองอย่าง ถ้าไม่ใช่ข้าวแดงแกงกาบกล้วยก็แกงยอดมันสลับกันทุกมื้อ

เกาะเต่าทุกวันนี้เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่มาเรียนดำน้ำดูปะการัง ไร้กลิ่นอายของนรกในครั้งนั้นโดยสิ้นเชิง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 10:07

ภาพที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน และดร.โชติ คุ้มพันธ์ ประสพเมื่อแรกไปถึงเกาะเต่านั้น เป็นภาพของเมืองนรกบนโลกมนุษย์อย่างแท้จริง นักโทษการเมืองคดีกบฏ พ.ศ.2476แทบทุกคนผอมจนมีแต่หนังหุ้มกระดูก หน้าซีดเซียว แววตาแห้งแล้งอิดโรย บางคนนั่งกอดเข่าห่มผ้าตัวสั่นสะท้าน บางคนก็ดิ้นทุรนทุราย ผ้าผ่อนหลุดรุ่ย ปากก็พร่ำเพ้อตะโกนโวยวายด้วยพิษไข้ขึ้นสมอง บางคนก็อาเจียนเปื้อนเปรอะบริเวณที่นอนอยู่ บางคนก็นั่งซึมดวงตาเหม่อลอย บางคนก็นอนขดห่มผ้าตัวสั่นราวกับลูกนก ผู้มาใหม่ทั้งสองสำนึกทันทีว่า ตนถูกส่งเข้ามาร่วมตายกับนักโทษการเมืองเหล่านี้แล้วณบัดนั้น

การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ผู้รับนโยบายจากหลวงอดุลเดชจรัสรัฐมนตรีมหาดไทยได้มีคำสั่งให้นักโทษการเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งหมด ทำงานโยธาเช่นเดียวกับนักโทษสามัญ แม้จะผิดกฎของเรือนจำที่ว่า นักโทษการเมืองถือว่าเป็นนักโทษที่มีเกียรติ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงานเยี่ยงกรรมกร ควรให้ทำงานช่วยเจ้าหน้าที่ มิฉนั้นก็งานเกี่ยวกับหนังสือหรือการบัญชี แต่คำสั่งดังกล่าวอ้างว่าการทำงานโยธาจะทำให้นักโทษการเมืองได้มีโอกาสออกกำลังกาย เป็นการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นนักโทษการเมืองจึงถูกบังคับให้ออกไปทำงานหมู่ละ 5 คนบ้าง 6 คนบ้าง เพื่อถางป่า โค่นต้นไม้ ดายหญ้า ปราบที่สำหรับทำถนน ทำไร่ถั่วไร่มัน การกลั่นแกล้งให้ทำงานหนัก กรำแดดกรำฝนในขณะที่เป็นไข้จับสั่น ตลอดจนการกีดกันมิให้ญาติได้มีโอกาสส่งเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคไปให้นั้น เป็นเสมือนการประหารชีวิตนักโทษการเมืองเหล่านั้นวิธีหนึ่งนั่นเอง

รัฐบาลหลวงพิบูลยังเห็นว่าพวกนักโทษการเมืองคือเสี้ยนหนามของตนอยู่ดีหากออกจากคุกมาได้ ควรตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการกลั่นแกล้งบีบคั้นทั้งทางร่างกายและจิตใจให้นักโทษการเมืองทั้งหลายต้องมีอันเป็นไป ตายเสียที่เกาะเต่าไปเลย

ในภาพเป็นทางเดินลาดจากชายหาดขึ้นมาสู่ประตูคุก ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเดียวที่เหลือทรากให้เห็นณจุดนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 10:18

ในช่วงระยะเวลาเพียงหกสัปดาห์หลังจากถูกบังคับให้ทำงานหนัก ชีวิตนักโทษการเมืองต้องสูญสิ้นไปบนเกาะเต่าถึงหกคน คนแรกคือ ร้อยเอกหลวงจักรโยธิน (ม.ล.บุษ อิศรางกูร) ขณะที่พิษไข้จับสั่นขึ้นสมองดิ้นทุรนทุรายพร่ำเพ้อเรียกหาแต่ลูกเมีย อาการหนักในขั้นอันตราย พระยาจินดาจักรรัตน์ ได้บริจาคยาฉีดแอตตาบรินให้หนึ่งหลอด อาการก็ไม่ทุเลาลง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ประทานยาแคมเฟอร์ให้อีกหนึ่งหลอดก็ไร้ผล หลวงจักรได้สิ้นชีวิตลงในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

พระแสงสิทธิการติดตามหลวงจักรไปเป็นคนที่สองด้วยไข้จับสั่นอีกเช่นกัน ต่อมา อ่ำ บุญไทย นักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกา “แม่น้ำโขง”ก็ได้จบ
ชีวิตลงเป็นคนที่สามด้วยโรคท้องมาน โรคนี้ได้สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่อ่ำอย่างยิ่ง เคยมีนายแพทย์เดินทางไปเกาะเต่ากับเรือเชวงศักดิ์สงครามเพื่อเจาะท้องให้อ่ำครั้งหนึ่งจนท้องยุบเป็นปกติ แต่เพียงไม่กี่วันท้องของอ่ำก็โตขึ้นอีก เมื่อไม่มีนายแพทย์จะเจาะท้องให้แล้ว อ่ำจึงใช้ตะปูซึ่งฝนกับหินจนแหลมเจาะท้องของตนเองอีกสองสามครั้ง จนติดเชื้อบาดทะยักและนำไปสู่ความสิ้นความทรมานทั้งปวง

คนที่สี่ที่สิ้นชีวิตด้วยไข้จับสั่นในเวลาไล่เลี่ยกันก็คือ สิบโทศาสตร์ คชกุล ตลอดเวลาที่ผ่านมาศาสตร์ไม่เคยมีญาติพี่น้องหรือผู้หนึ่งผู้ใดส่งเสียเขาเลย ภรรยาได้ทอดทิ้งไปในทันทีที่เขาต้องโทษจำคุก “ไทยน้อย” ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องค่ายคุมขังนักโทษการเมืองว่า   “ความเป็นอยู่ของเราในค่าย ได้มีพื้นฐานอยู่ในคติที่ว่า ตัวใครตัวมัน เพราะทุกคนเท่ากับลอยคออยู่ในห้วงมหาสมุทร อีเมตินเม็ดหนึ่งหรือควินินเม็ดหนึ่ง หมายถึงชีวิต ในที่นี้เราน่าจะอนุโมทนาแก่น้ำใจอันงดงามของ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ซึ่งช่วยทั้งยา เงินและอาหารแก่ศาสตร์ เพื่อจะประคับประคองชีวิตของเขา ไว้จนสุดความสามารถ ตลอดจนเสื้อผ้าก็พยายามว่าจ้างคนซักฟอกให้ตามสมควร แต่ในที่สุด ศาสตร์ก็ต้อง จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ”

หลังจากนั้น หลวงโจมพลล้าน อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเพชรบุรีผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารีก็มีอาการเพียบหนักด้วยพิษไข้จับสั่นขึ้นสมอง พร่ำรำพันเรียกหาลูกเมียตลอดเวลาจนสิ้นใจไปในตอนพลบค่ำวันหนึ่ง เป็นคนที่ห้า

ไม่กี่วันต่อมาเผื่อน ปุณฑนิก ก็ตายลงอย่างกะทันหันเป็นคนที่หก

ศพของนักโทษการเมืองทั้งหกถูกฝังอย่างง่ายๆบนชายป่าริมทะเลไม่ห่างไปจากคุกสักเท่าไร แม้ต่อมาภายหลังญาติพี่น้องจะมาขุดกลับไปบำเพ็ญกุศลหมดแล้ว ชาวเกาะเต่ารุ่นชรายังจำได้ดีว่าอยู่ที่ไหน แต่ทว่าบัดนี้กระแสดอลล่าร์จากนักท่องเที่ยวมันไม่เข้าใครออกใคร ป่าตรงนั้นที่ถูกครอบครองกลายเป็นสวนมะพร้าวก็เปลี่ยนไปเป็นโฮเต็ลรับฝรั่ง บาร์ริมหาดตรงที่มีรถกระบะจอดอยู่นั่นแหละที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสุสานของนักโทษการเมืองที่เอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่เกาะนี้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 10:32

สอ เสถบุตร เล่าว่าในสภาพแวดล้อมอันคับแค้น ซึ่งขาดทั้งยาและอาหารเช่นนั้น การให้ยาแก่เพื่อนซึ่ง กำลังจะตาย อาจหมายถึงความตายของตัวเองในเวลาต่อไปเมื่อหมดยา ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ยากยิ่งระหว่างมนุษยธรรมกับสัญชาติญาณของการอยู่รอด นักโทษการเมืองทุกคนต้องระวังสุขภาพ และใช้วิธีบำบัดรักษาโรคด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่เรือนจำมิได้ เหลียวแลหรือให้การบำบัดรักษาแต่อย่างใด ยาควินนิน แอตตาบริน หรืออิเมตินแต่ละเม็ดมีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคน การมียาโดยจำกัดทำให้แต่ละคนใช้วิธีบำบัดรักษาตนเองด้วยวิธีต่างๆกัน บางคนแบ่งยากินทีละน้อยแต่กินเรื่อยๆ จึงเกิดอาการชินกับยา และยาก็มีไม่มากพอที่จะบำบัดโรคซึ่งเป็นอยู่อย่างร้ายแรงให้หายขาดได้ บางคนเวลาที่เป็นน้อยอยู่ ถนอมยาไว้ไม่ยอมกิน พอเป็นมากถึงขั้นเพ้อคลั่ง ยาก็เอาไว้ไม่อยู่ เช่นในราย ของพระแสงสิทธิการ เมื่อพระแสงสิ้นชีวิตลงนั้น มียาแอตตาบรินและควินิน ซ่อนอยู่ใต้หมอนและใต้ที่นอนเป็นจำนวนมาก ส่วน สอ เสถบุตร นั้นได้ใช้วิธีที่ว่า โดยปกติจะไม่กินยาป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้าโรคไข้จับสั่น กำเริบขึ้นเมื่อใด ก็รีบกินยาอย่างเต็มที่ เพื่อให้หายจากโรคโดยเร็วที่สุด ด้วยวิธีการเช่นนี้ สอ เสถบุตร ทั้งที่ตัวเล็กบอบบางจึงรอดชีวิตจากไข้จับสั่นของเกาะเต่ามาได้

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล เองในเวลาต่อมาก็เกือบจะสูญสิ้นชีวิตด้วยพิษไข้ขึ้นสมองเช่นกันถ้าหากมิได้รับพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงจากหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระองค์ท่านได้ทรงเสียสละอย่างยิ่งโดยประทานยาฉีดซึ่งมีเหลืออยู่เพียงสองสามหลอดสุดท้ายของพระองค์เพื่อช่วยชีวิตของม.ร.ว.นิมิตรมงคลไว้

ในภาพนี้คือที่ทำการของอบต.เกาะเต่าที่สร้างทับไปบนสถานที่ที่เคยเป็นเรือนนอนของนักโทษ บริเวณใดมีทรากอิฐหักกากปูนของคุกอยู่นั้น จะเป็นที่ซึ่งทางราชการใช้เป็นหลักฐานไม่ยอมให้ผู้บุกเบิกจากเกาะพงันที่หลั่งไหลเข้ามาจับจองที่ทำกินหลังจากยกเลิกทัณฑสถานไปเข้าครอบครองได้ แต่ส่วนที่เคยเป็นอาณาบริเวณของคุกทว่าถูกทำลายหลักฐานเสียแล้ว กรมธนารักษ์ก็ยอมให้ปลูกสร้างโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวไปหมด ทุกวันนี้คนเกาะเต่าไม่อยากพูดถึงคุกตะรางในอดีต พูดทำไม เรื่องมันผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป สมัยนี้ make money กันดีกว่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 21 ธ.ค. 09, 10:40

ในระหว่างระยะเวลาแห่งความลำบากยากแค้นแสนสาหัสใกล้จะวาระสุดท้ายของทุกคนนั้นเอง วันหนึ่งก็ได้มีเครื่องบินของกองทัพอากาศมาบินทักษิณาวรรตอยู่เหนือเกาะในระยะต่ำจนนักโทษการเมืองเห็นนักบินโบกมือให้สัญญาณแสดงความยินดี ความจริงก็คือนักบินผู้ใจบุญผู้นั้นได้มาบอกใบ้ให้ทราบว่าบ้านเมืองได้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่แพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาเรื่องการสร้างนครเพชรบูรณ์ ให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ
และสร้างพุทธบุรี ที่จังหวัดสระบุรี นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และคณะรัฐมนตรีใหม่โดยทันทีได้มีมติให้ กราบบังคับทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมืองทั้งในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช พ.ศ.2481

กรมราชทัณฑ์ได้กระทำการปลดปล่อยนักโทษการเมืองจากเกาะเต่าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตนได้กลับเป็นอิสระชนอีกครั้งหนึ่ง

ภาพสุดท้ายนี้เป็นทรากฐานคอนกรีตที่เหลืออยู่ในส่วนที่เคยเป็นบ้านพักของพัศดีและผู้คุม  ชาวบ้านครอบครองมิได้จึงถูกเว้นไว้ ต่อมาพระท่านเห็นเป็นที่รกร้างก็เลยเข้าไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์  ซึ่งเจริญวัตถุขึ้นใหญ่โตพร้อมๆกับเศรฐกิจของเกาะเต่าในปัจจุบัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 23 ธ.ค. 09, 08:21

เมื่อพ้นโทษจากเกาะเต่าเพราะรัฐบาลเผด็จการหมดอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตยได้ขึ้นปกครองประเทศ อันที่จริงแม้ว่าเป็นผลที่เกิดจากปัจจัยภายนอกด้วยว่าสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงครามโลก รัฐบาลพิบูลสงครามที่ประกาศร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นไว้จำเป็นต้องสลายตัวก่อนที่ชาติจะสลายไปด้วย นายควง อภัยวงศ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่อขัดตาทัพในช่วงสุดท้ายก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้ ได้ประกาศยกเลิกบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร์ที่ห้ามมิให้มีพรรคการเมืองอื่น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการดำเนินการทางการเมือง เพื่อจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นโดยเร็ว

อดีตนักโทษการเมืองจึงได้รวมตัวกันกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดตรงข้ามกับคณะราษฎรสามารถจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแรกตามกฎหมายได้ในพ.ศ. 2488นั้นเอง ให้ชื่อว่า “พรรคก้าวหน้า” มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นเลขาธิการพรรค สมาชิกคนสำคัญๆได้แก่ นายสอ เสถบุตร นายสุวิชช์ พันธุ์เศรษฐ พระยาสุรพันธุ์เสนี พระยาโทณวณิกมนตรี  นายเลียง ไชยกาล นายบุญเท่ง ทองสว้สดิ์ เป็นต้น

พรรคก้าวหน้าได้ส่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ลงสมัคร ส.ส. เขตพระนคร ได้รับเลือกตั้งทั้งคู่ คราวนั้นอดีตนักโทษการเมืองได้คะแนนสงสารจากประชาชน ได้รับเลือกเข้าสภาหลายคน รวมไถง สุวรรณทัต และร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ที่ลงในนามของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอาทิ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลนั้นมิได้ลงสมัครด้วยเพราะตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นงานที่ต้องการความทุ่มเทเวลาให้กับพรรคมากกว่าที่จะตัวต้องการเพื่อออกไปตระเวณหาเสียง

พรรคก้าวหน้าเกิดในสภาได้แล้วก็จริง แต่แล้วจุดมุ่งหมายและพฤติกรรมทางการเมืองก็มิได้สอดคล้องกับอุดมการที่เคยคุยๆกันไว้ ประกอบกับสุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้ต่อสู้ต่อไปได้ ม.ร.ว. นิมิตรมงคลรู้สึกผิดหวัง จึงลาออกจากพรรคและหันหลังให้กับการเมืองอย่างสิ้นเชิงนับจากบัดนั้น


ต่อมาใน พ.ศ. 2493 พรรคก้าวหน้าได้ยุบรวมเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ ร่วมกับม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดำเนินการจัดตั้งขึ้น นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ยุบพรรคก้าวหน้ามารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาธิการ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 23 ธ.ค. 09, 11:12

ในช่วงหลังนี้ ชื่อของม.ร.ว.นิมิตรมงคลจะถูกเอ่ยพร้อมๆกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกท่านหนึ่งคือ ดร.โชติ คุ้มพันธ์

ท่านผู้นี้เป็นใคร
ผมได้หาข้อมูลมาให้ ส่วนหนึ่งมาจากวิกื้แต่แก้ใขที่ผิดพลาดในบางตอนแล้ว

ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี เรียนจบระดับชั้นมัธยม เข้าสมัครเป็นเสมียนกรมศุลกากร ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อาสาสมัครเข้าเป็นพลทหาร ตำแหน่งพลขับ เมื่อกลับมาแล้วรับจ้างเป็นกะลาสีในเรือ แล้วจึงไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี สถานที่เคยอาสาไปรบ จนกระทั่งเรียนจนได้ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อกลับมาแล้วได้เข้ารับราชการ โดยเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น ถูกกล่าวหาว่ากระทำตนเป็นภัยต่อคณะราษฎร์เรื่องอันใดไม่ปรากฏเลยถูกให้เนรเทศไปอยู่แม่ฮ่องสอน เมื่อทำงานที่นั่นสักพักก็ลาออกจากราชการมาเล่นการเมืองโดยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย มีสมาชิกคนสำคัญเช่น นายสอ เสถบุตร, ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ เป็นต้น

ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนประเภทที่ 1 ตามรัฐธรรมนูฐฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย หลังเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ถูกจับกุมในข้อหากบฏคิดล้มล้างรัฐบาล ได้ถูกส่งไปจำคุกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และย้ายไปจำคุกตลอดชีวิตที่เกาะเต่า ในโอกาสนั้น ดร.โชติ ได้รู้จักกับหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน นักโทษอีกคนที่เคยต้องโทษมาแล้วจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ด้วย

เมื่อพ้นโทษออกมา ได้กลับมาสู่เส้นทางทางการเมืองใหม่และร่วมตั้งพรรคก้าวหน้าและสมัครลงเลือกตั้งชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ได้รับฉายาว่า ผู้แทนคนยาก เนื่องจากเป็นผู้ที่ริเริ่มการหาเสียงด้วยโทรโข่ง ไปพบปะกับชาวบ้านด้วยการเดินหาเสียงตามบ้านเรือน  เนื่องจากไม่มีทุนรอนในการหาเสียง จึงใช้วิธีตะโกนพูดผ่านโทรโข่งบนอานรถสามล้อถีบ ท่ามกลางชุมชนตามตลาดบ้าง ตามลานวัดต่างๆ บ้าง มีคนถีบสามล้อเป็นขบวนนำ หยุดพูดที่ไหนก็ให้ ดร.โชติ ยืนสองเท้าเหยียบบนอานรถสองคันตะโกนใส่ลำโพง โดยหาเสียงแข่งกับ นายควง อภัยวงศ์ และ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งต่างก็ใช้วิธีด้วยเช่นกัน

ต่อมา เมื่อมีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคด้วย โดยการยุบของพรรคก้าวหน้าเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งแทน นายควง อภัยวงศ์ แล้วนั้น ดร.โชติ ผิดหวังอย่างรุนแรงจนได้วางมือจากการเมืองหลังจากนั้น และด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมจากโรคร้ายที่ติดมาจากเกาะเต่า ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ถึงแก่กรรมอย่างเงียบ ๆในปีนั้นเอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 11:49

อดีตนักโทษการเมืองจากเกาะเต่าที่ผมอยากจะนำมาเล่าไว้ในเรื่องราวของม.ร.ว. นิมิตรมงคล มีอีก2ท่าน

คนแรกคือสอ เสถบุตร(เศรษฐบุตร) คุณสอนั้นได้ใช้เวลาในคุกอุทิศให้แก่การค้นคว้าและเขียนพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยขึ้นตั้งแต่อยู่ที่บางขวาง ม.ร.ว. นิมิตรมงคลซึ่งเลือกอยู่ห้องเดียวกันนั้นได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือค้นคว้า หาศัพท์ ตรวจบรู๊ฟ ตลอดจนหาทางส่งต้นฉบับออกไปตีพิมพ์ด้วยการใช้ลิ้นชักกลของน้าสะอาด เอ้ย..ขอประทานโทษ คุณอาม.ร.ว.สุดใจ บรรยงกะเสนา เมื่อถูกเนรเทศไปอยู่เกาะตะรูเตา คุณสอเป็นสุขในการทำงานชิ้นนี้ขึ้นมากเพราะไม่ต้องคอยซุกซ่อนสัมภาระหลบสายตาพวกผู้คุม ตอนที่เจ้าคุณศราภัยจะหนีไปลังกาวีได้เอ่ยปากชวนคุณสอให้ไปด้วย แต่คุณสอปฏิเสธเพราะเป็นห่วงงานเขียนพจนานุกรมนี้เอง

นี่ก็นักอุดมคติตัวจริงอีกท่านหนึ่งเช่นกัน

บนปกพจนานุกรมของคุณสอ ผู้พิมพ์ต้องเปลี่ยนตัวสะกดนามสกุลเศรษฐบุตรเสียใหม่ตามรัฐนิยมของหลวงพิบูลเป็น เสถบุตร เมื่อพ้นโทษมาแล้วคุณสอพบว่าคนรู้จักท่านในนามเช่นนั้นแล้วก็เลยปล่อยเลยตามเลย มิได้แก้กลับมาใช้อย่างเก่า เสถบุตร เลยกลายเป็นสัญญลักษณ์ของท่านไป

คุณสอได้งานที่สำนักพิมพ์ศรีกรุงทันทีที่พ้นโทษ และในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. 2489 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดธนบุรี สังกัดพรรคก้าวหน้า และได้รับเลือกเข้าสภา

การเมืองไทยในเวลานั้นเรื่องใหญ่ก็คือ จะเอาประเทศชาติให้รอดพ้นจากการเป็นฝ่ายผู้แพ้สงครามได้อย่างไร พอศึกภายนอกเริ่มสงบ นักการเมืองก็หันมางัดข้อกันใหม่ การจับขั้วทางการเมืองก็พลิกผันหลายครั้ง เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 3 บรรดาอดีตนักโทษการเมืองได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมรัฐบาลด้วยหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นายเลื่อน ศราภัยวานิช หรือพระยาศราภัยพิพัฒ ผู้เคยสร้างวีรกรรมแหกคุกตะรุเตา ก็ได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีคุณสอ เสถบุตรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย

ท่านสิทธิพรทรงแจกงาน โดยตรัสกับคุณสอว่า "ฉันจะว่าเรื่องข้าว ป่าไม้เป็นเรื่องของเธอ เธอว่าของเธอไป ฉันจะไม่เกี่ยว" ครั้งหนึ่ง ผู้ที่เสนอ "สินน้ำใจ" ให้กับคุณสอเพื่อแลกกับการอนุมัติสัมปทานป่าไม้ ได้ถูกปฏิเสธว่า "ถ้าผมขายป่าไม้ให้คุณ ก็เท่ากับผมขายชาติ”

ไม่ใช่ว่าท่านรวยแล้วจึงไม่โกง เล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่งท่าน รมช. สอ ได้รับเชิญให้เป็นประธานการแข่งขันฟุตบอล และเขาขอถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะ คุณสอตอนนั้นไม่มีเงินเลย ต้องปลดนาฬิกาข้อมือให้คนช่วยเอาไปจำนำเอาเงินมาเป็นค่าถ้วยรางวัลฟุตบอล

อายุของรัฐบาลนี้สั้นนักแค่3เดือนเศษ ทหารก็ปฏิวัติเอาจอมพลป.กลับมาอีก หลังรัฐประหาร2491นี้แล้ว คุณสอก็เลิกเล่นการเมือง หันไปทำงานด้านหนังสืออย่างเดียว

สอ เสถบุตรถึงแก่กรรมเมื่อ8กันยายน2513 อายุยืนถึง66ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 11:56

รูปที่สหายร่วมชะตากรรมทั้งสองได้พบกันในยามชรา ขณะที่คุณสอได้ไปเฝ้าท่านสิทธิพรที่ฟาร์มบางเบิด ที่อำเภอบางสะพานน้อยของประจวบเกือบจะถึงจังหวัดชุมพรซึ่งท่านทรงบุกเบิกไปทำเกษตรในแนวของท่านอยู่ที่นั่น ทั้งสองได้สนทนากันอย่างถูกคอ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:38

ประวัติของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร, ๒๔๔๖-๒๕๑๓)

เคยรับราชการเป็นเจ้ากรมกองเลขานุการองคมนตรี กรมราชเลขาธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จนได้รับตำแหน่งเป็นเสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ต่อมาถูกจับในฐานร่วมกันกบฏในพระราชอาณาจักร เมื่อปี ๒๔๗๖ ภายหลังสงครามได้รับการปล่อยตัว งานเขียนจำนวนมากของเขาส่วนใหญ่เป็นการสอนภาษาอังกฤษ มีงานน้อยชิ้นที่เขาเขียนเกี่ยวกับการเมือง

สอ เสถบุตรได้ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ว่า เขาไม่พอใจในรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเฉพาะกาล เนื่องจากถวายพระราชอำนาจน้อยเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐบาลเป็น "คณาธิปไตย" แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดในบทบาทความร่วมมือของเขา นอกจากติดหลังแหจากกวาดจับโดยคณะราษฎร (สอ เสถบุตร. "กบฏเพื่ออะไร," ใน "ไทยน้อย". ค่ายคุมขังนักโทษการเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยพานิช, ๒๔๘๘, หน้า ๑๙๑-๑๙๖)

ในประวัติของสอ เสถบุตร เขียนโดยพิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของเขาที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นหลายสิบปีว่า เหตุผลในการเข้าร่วมของสามี คือ เขาหวังว่าจะได้การแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุนทรโวหารในไม่ช้า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นก่อน อนาคตของเขาที่รุ่งโรจน์ดับวูบลง เขาจึงได้ร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดช ตามคำชักชวนของหลุย คีรีวัต อย่างไม่ลังเล ด้วยการแปลคำใบปลิวแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นภาษาอังกฤษและลงมือโรเนียวด้วยตนเองในเรือพร้อมหลุยและพระยาศราภัยพิพัฒ หลังจากการพ้นโทษแล้ว เขามีแผนการรวมกลุ่มเป็นการเมืองกับชาว "น้ำเงินแท้" และเจ้านักการเมือง ต่อมาได้ตั้งพรรคก้าวหน้าร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้ผนวกรวมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา (พิมพ์วัลคุ์ เสถบุตร, ๒๕๓๗, หน้า ๑๑๗, ๑๘๕, ๑๙๖.)

หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เขาเป็นหัวหอกผู้หนึ่งในการนำข้อเรียกร้องที่ล้มเหลวของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" -ชาว "น้ำเงินแท้" เมื่อปี ๒๔๗๖ กลับมาใหม่เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตย" ตามแบบฉบับของพวกเขา ด้วยถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์ (ดูบันทึกของเขาที่เขียนลงศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ สาระคือ เขาต้องการการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ปลอดจากการทัดทานจากสถาบันการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญ)

สำหรับ พิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของสอ เสถบุตรเป็นบุตรสาวของพโยม โรจนวิภาต อดีตสายลับส่วนพระองค์ รหัส พ.๒๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงใช้สืบข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ

ที่มา : บทความเรื่อง  "การรื้อสร้าง ๒๔๗๕" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" โดย ณัฐพล ใจจริง
       
         นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"  วันที่ ๐๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๐๒

http://www.vcharkarn.com/vcafe/149473
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:55

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเคยใช้ชีวิตในเรือนจำบางขวางและที่เกาะเต่าร่วมกับ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน

ระหว่างที่อยู่ที่เรือนจำบางขวางทรงแต่งเพลง "True Blue" คือ "น้ำเงินแท้"เป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ทำนองเพลง "You Too"

We"ve been in prison for over three years,

But there"s no reason for living in fear,

We"re bright and merry, "cause we"re

Not very sad at being here for merely.

Doing our duty to Country and King,

So let be cheery make the well kin"ring,

Long live the King, We say Hoo-ray and sing,

We hope to go home pretty soon, Yes, we do.

You too, You too.

Back to Wives and Sweethearts, also true, To you,

Let"s say that we vow all of us to remain,

True Blue, And pray,

That our King be with us all life through,

Chai-Yo, "True Blue".




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:56

อ้างถึง
ประวัติของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร, ๒๔๔๖-๒๕๑๓)

เคยรับราชการเป็นเจ้ากรมกองเลขานุการองคมนตรี กรมราชเลขาธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จนได้รับตำแหน่งเป็นเสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ต่อมาถูกจับในฐานร่วมกันกบฏในพระราชอาณาจักร เมื่อปี ๒๔๗๖

ในประวัติของสอ เสถบุตร เขียนโดยพิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของเขาที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นหลายสิบปีว่า เหตุผลในการเข้าร่วมของสามี คือ เขาหวังว่าจะได้การแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุนทรโวหารในไม่ช้า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นก่อน อนาคตของเขาที่รุ่งโรจน์ดับวูบลง


คุณสอ มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง   ได้เป็นในปีไหนไม่ทราบ แต่ในปี 2475 คุณหลวงเพิ่งอายุ ๒๙ ปี เท่านั้น
บรรดาศักดิ์ จากหลวง ต่อไปก็คือคุณพระ และถึงจะได้เป็นพระยา     คนเป็นพระยานั้นโดยทั่วไปก็อายุสามสิบปลายๆ หรือสี่สิบ ถึงจะได้เป็น
คุณสอจะกระโดดข้ามจาก หลวง เป็น พระยา ได้อย่างไร  ในไม่ช้า อย่างที่บทความนี้กล่าวอ้าง โดยอ้างว่า คุณพิมพ์วัลคุ์เป็นคนเขียน อีกด้วย
ถ้าคุณพิมพ์วัลคุ์ เขียนอย่างนี้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพสามี  ก็เป็นการฉีกหน้าอุดมคติของคุณสอ อย่างแรง

นอกจากนี้เคยอ่านพบในบันทึกของพระยาอนุมานราชธน ว่า คนที่มีสิทธิ์จะได้เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร คือพระสารประเสริฐ  เพื่อนร่วมงานของท่าน  เพราะมีผลงานมากมาย มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖
ยังเข้าเค้าว่าคุณหลวงหนุ่มอายุไม่ถึงสามสิบ  จะหวังบรรดาศักดิ์นี้

ในบทความที่คุณเพ็ญชมพูทำลิ้งค์ให้อ่าน   ข้ามความจริงไปว่า ม.ร.ว. นิมิตรมงคล  ถูกข้อหาพัวพันกับคดีลอบสังหารจอมพล ป.  ไม่ใช่คดีกบฏ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 21:07

ผมขอเอาข้อเขียนของณัฐพล ใจจริงมาลงทั้งหมด ความจริงแล้วประวัติของคุณสอนี้อยู่ในเชิงอรรถของบทความเรื่อง ฝันจริงของนักอุดมคติ ของชาว"น้ำเงินแท้" ที่อ่านแล้วก็ทราบได้ว่าผู้เขียนมิได้เป็นฝ่ายน้ำเงินแท้ แม้จะเขียนดูเป็นวิชาการแต่ข้อมูลหลายจุดก็ผิดๆแบบไม่มีที่มาที่ไป ก็ไม่ทราบว่ามีเจตนาหรือไม่อย่างไร ดังเช่นที่อ้างข้อความที่พิมพ์วัลดุ์เขียนถึงประวัติสามีดังกล่าว

ประวัติของหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร, ๒๔๔๖-๒๕๑๓)

เคยรับราชการเป็นเจ้ากรมกองเลขานุการองคมนตรี กรมราชเลขาธิการในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จนได้รับตำแหน่งเป็นเสวกโท หลวงมหาสิทธิโวหาร ต่อมาถูกจับในฐานร่วมกันกบฏในพระราชอาณาจักร เมื่อปี ๒๔๗๖ ภายหลังสงครามได้รับการปล่อยตัว งานเขียนจำนวนมากของเขาส่วนใหญ่เป็นการสอนภาษาอังกฤษ มีงานน้อยชิ้นที่เขาเขียนเกี่ยวกับการเมือง

สอ เสถบุตรได้ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ว่า เขาไม่พอใจในรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทเฉพาะกาล เนื่องจากถวายพระราชอำนาจน้อยเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐบาลเป็น "คณาธิปไตย" แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดในบทบาทความร่วมมือของเขา นอกจากติดหลังแหจากกวาดจับโดยคณะราษฎร (สอ เสถบุตร. "กบฏเพื่ออะไร," ใน "ไทยน้อย". ค่ายคุมขังนักโทษการเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยพานิช, ๒๔๘๘, หน้า ๑๙๑-๑๙๖)

ในประวัติของสอ เสถบุตร เขียนโดยพิมพ์วัลดุ์ ภรรยาของเขาที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นหลายสิบปีว่า เหตุผลในการเข้าร่วมของสามี คือ เขาหวังว่าจะได้การแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุนทรโวหารในไม่ช้า แต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้เกิดขึ้นก่อน อนาคตของเขาที่รุ่งโรจน์ดับวูบลง เขาจึงได้ร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดช ตามคำชักชวนของหลุย คีรีวัต อย่างไม่ลังเล ด้วยการแปลคำใบปลิวแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นภาษาอังกฤษและลงมือโรเนียวด้วยตนเองในเรือพร้อมหลุยและพระยาศราภัยพิพัฒ หลังจากการพ้นโทษแล้ว เขามีแผนการรวมกลุ่มเป็นการเมืองกับชาว "น้ำเงินแท้" และเจ้านักการเมือง ต่อมาได้ตั้งพรรคก้าวหน้าร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้ผนวกรวมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา (พิมพ์วัลคุ์ เสถบุตร, ๒๕๓๗, หน้า ๑๑๗, ๑๘๕, ๑๙๖.)

หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ เขาเป็นหัวหอกผู้หนึ่งในการนำข้อเรียกร้องที่ล้มเหลวของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" -ชาว "น้ำเงินแท้" เมื่อปี ๒๔๗๖ กลับมาใหม่เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตย" ตามแบบฉบับของพวกเขา ด้วยถวายพระราชอำนาจคืนพระมหากษัตริย์ (ดูบันทึกของเขาที่เขียนลงศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ สาระคือ เขาต้องการการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ปลอดจากการทัดทานจากสถาบันการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญ)

สำหรับ พิมพ์วัลคุ์ ภรรยาของสอ เสถบุตรเป็นบุตรสาวของพโยม โรจนวิภาต อดีตสายลับส่วนพระองค์ รหัส พ.๒๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ทรงใช้สืบข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ
       
         นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"  วันที่ ๐๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๐๒


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 21:18

ผมมีหนังสือประวัติของคุณสอ เรียบเรียงโดยคุณพิมพ์วัลดุ์ เสถบุตรอยู่ในมือ ไม่เห็นมีตอนใดที่เธอเขียนข้อความดังกล่าว และไม่มีวี่แววว่าเธอจะเขียนอย่างนั้นไปได้ โดยเฉพาะที่บอกว่าเขียนในหนังสืออนุสรณ์งานศพสามี ณัฐพลเองก็มิได้เขียนเช่นนั้นเพียงแต่อ้างลอยๆอย่างที่เห็น  ผมขอเอาหน้าซึ่งเธอเขียนไว้ในเล่มที่ผมมี กล่าวถึงเหตุที่คุณสอลาออกจากราชการ มาเป็นนักหนังสือพิมพ์และเหตุผลที่ตกลงกระทำการที่ศาลพิเศษตัดสินว่าเป็นกบฏมาลงไว้ด้วย ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านเองในการวินิจฉัยเถิด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 21:19

1


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง