เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 7017 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๔)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 13 พ.ย. 09, 21:33

ตั้งกระทู้ใหม่   เพื่อเล่าต่อถึงชาติพันธุ์อื่นๆ   แยกออกจากจีนและแขก
ชาติพันธุ์เหล่านี้  มีเอ่ยถึงอย่างละเล็กละน้อย   ไม่ได้เป็นตัวละครสำคัญอะไร
ถ้าเป็นหนังก็เป็นตัวละครเดินผ่านฉาก ตามถนนหนทางเท่านั้นเอง
แต่ก็ทำให้มองเห็นภาพพื้นหลังสังคมสมัยก่อนอิทธิพลตะวันตกจะเข้ามา   ว่ามีใครกันบ้างรวมอาศัยกันอยู่บนแผ่นดินสยาม
*****************
วาดภาพจากฉบับหอพระสมุด ว่าภูมิศาสตร์ภาคกลางของไทย ถอยหลัง ๒๐๐ ปีย้อนกลับไป     ก็คงจะมีเมืองตั้งอยู่ห่างๆกัน     แต่พอพ้นตัวเมืองก็เป็นป่า  ไม่มีชานเมือง
คนที่อยู่นอกเมือง  อยู่กันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ  คือพวกชาวป่า   ที่เอ่ยไว้ก็คือกะเหรี่ยง ข่า ละว้า   และมีมอญอยู่ด้วย
คงจะเป็นภาคกลางทางตะวันตกของไทย ถึงมีมอญ  อาจจะอยู่สุดเขตแดนราชบุรี หรือเพชรบุรี

เมื่อขุนแผนพเนจรไปจนเจอนางบัวคลี่ ตีดาบฟ้าฟื้น     ครูแจ้งเล่าไว้ว่า

เที่ยวค้นคว้าหาของที่ต้องอย่าง                 นอนค้างไปตามตรอกซอกสิงขร
เข้าบ้านกะเหรี่ยงข่าละว้ามอญ                   สู้ซอกซอนซุกซนเที่ยวค้นไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 พ.ย. 09, 19:37

สำรวจภูมิศาสตร์ขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด     ได้ข้อสังเกตขั้นต้น ว่า ภูมิภาคในเรื่องนี้ นอกจากภาคเหนือ ที่ว่ามีศึกเชียงใหม่   ก็มีอีสานบางส่วน คือตอนชิงนางสร้อยทอง
แต่ไม่มีการเอ่ยถึงภาคตะวันออก    ตระกูลพลายไม่เคยไปแถวชลบุรี ระยอง จันทบุรี

ขุนแผนพเนจรไปพบหมื่นหาญ เจ้าพ่อท้องถิ่น   ในเรื่องบอกว่า อยู่ที่ บ้านถ้ำ     

จะกล่าวถึงนายเดชกระดูกดำ                อยู่บ้านถ้ำตั้งกองเป็นซ่องใหญ่

บ้านถ้ำอยู่ที่ไหน? ค้นกูเกิ้ลดู   เจอต.บ้านถ้ำ อยู่ที่พะเยา      ส่วนบ้านถ้ำที่มีคำอื่นประกอบด้วย มีอีกหลายแห่ง หลายจังหวัดค่ะ
ดูรูปลักษณ์ของหมื่นหาญ ออกจะคล้ายๆแสนตรีเพชรกล้า แม่ทัพเชียงใหม่

สูงเกือบสี่ศอกตากลอกโพลง                                    หนวดโง้งงอนปลายทั้งซ้ายขวา
ขอบตาแดงฉาดดังชาดตา                                        เนื้อแน่นหนังหนาดูน่ากลัว
ผมหยิกหยักศกอกเป็นขน                                        ทรหดอดทนมิใช่ชั่ว
ปลุกเสกเครื่องฝังไว้ทั้งตัว                                        เป็นปมปุ่มไปทั่วทั้งกายตน

ส่วนแสนตรีเพชรกล้า   ฝังอาวุธเอาไว้ทั้งตัว  ไม่รู้ว่าร่างกายรับได้ยังไง   ไม่ยักอักเสบขึ้นมา

ฝังเข็มเล่มทองไว้สองไหล่                                       ฝังเพชรเม็ดใหญ่ไว้แสกหน้า
ฝังก้อนเหล็กไหลไว้ในอุรา                                       ข้างหลังฝังเทียนคล้าแก้วตาแมว
เป็นโปเปาปุบปิบยิบทั้งกาย                                     ดูเรี่ยรายรอยร่องเป็นถ่องแถว
แต่เกิดมาอาวุธไม่พ่องแพว                                      ไม่มีแนวหนามขีดสักนิดเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 พ.ย. 09, 19:51

จากนั้นขุนแผนไปหาม้าคู่ใจ    เดินทางไปเสาะหาม้าดีๆ  ทางตะวันตก

ไม่ชอบตาหาต่อไปทุกวัน                    ทั้งราชบุรีสุพรรณเพชรบุรี

ทำไมถึงต้องไปทางตะวันตก     เพราะว่าม้าหลวง นั้นไปซื้อจากเมืองเทศ  (เดาว่าเป็นม้าอาหรับ) ขึ้นลงเรือที่เมืองท่าคือมะริดกับตะนาวศรี
ขุนนางที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือหลวงทรงพล กับพันภาณ    ไปตั้งกองคอยอยู่ที่มะริด   รอหลวงศรีวรข่านนั่งสำเภาไปเมืองเทศ น่าจะเป็นเปอร์เชีย
ราชทินนามศรีวรข่านก็บอกแล้วว่า เป็นขุนนางเชื้อสายตะวันออกกลาง   พูดภาษาอาหรับได้

ในตอนนี้ กวีบอกเส้นทางไว้ด้วยชัดเจน แสดงว่ามั่นอกมั่นใจในเส้นทางซื้อม้า   ที่น่าสังเกตคือ มะริดกับตะนาวศรีนั้นไม่ได้เป็นของไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒   แต่ในนี้เอ่ยถึงเหมือนยังอยู่ในราชอาณาจักรไทย

มาถึงสิงขรพักผ่อนหยุด                       ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา                 ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี
เลี้ยงม้าอยู่ศาลาบ้านแตงแง                  บันไดอิฐติดแค่คิรีศรี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 พ.ย. 09, 20:03

จบเรื่องภูมิศาสตร์   ขอกลับมาเรื่องชาติพันธุ์วรรณา

เมื่อขุนแผนพานางวันทองหนี     นอกจากเจอนายมะถ่อคนแจวเรือแล้ว  ยังผ่านมาถึงหมู่บ้านละว้า   ที่น่าสนใจคือกวีให้ภาพหมู่บ้านไว้ละเอียด  บอกวัฒนธรรมบางอย่างของละว้าไว้ด้วย
คนแต่งตอนนี้ต้องเคยเดินทางมาพบหมู่บ้านละว้า  ถึงบรรยายไว้ชัดมาก

ครั้นถึงเชิงเขาเข้าเขตไร่               เห็นรอยถางกว้างใกล้ไพรระหง
ที่ตีนเขาเหล่าบ้านละว้าวง             พาวันทองน้องตรงเข้าไร่แตง
พวกละว้าพากันปลูกมันเผือก        รั้วเรือกหลายชั้นกั้นหลายแห่ง
ที่ยอดเขาล้วนเหล่าไร่ฟักแฟง       มะเขือพริกกล้วยแห้งมะแว้งเครือ
พวกละว้าป่าเถินเดินตามกัน          สาวสาวทั้งนั้นล้วนใส่เสื้อ
ทาขมิ้นเหลืองจ้อยลอยผิวเนื้อ       เป็นชาติเชื้อชาวป่าพนาลี

ละว้าน่าจะอยู่ใกล้ๆสุพรรณ   ในเรื่องมีอีกตอนหนึ่งบอกว่า ขุนช้างตามมารบชิงนางวันทองที่จระเข้สามพัน  หมู่บ้านละว้าก็คงไม่ไกลจากแถวนั้น
ไม่มีความรู้ว่าละว้ามาจากไหน  และทุกวันนี้ยังมีเชื้อสายอยู่หรือเปล่า   ใครทราบช่วยเล่าให้ฟังด้วยจะขอบคุณมากค่ะ
                   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 พ.ย. 09, 20:07

ในเรื่อง จัดละว้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับกะเหรี่ยง  ชอบลูกปัดเป็นของกำนัล

วันทองให้ปัดผูกข้อมือ                  เป็นที่นับถือกะเหรี่ยงไร่
ยายเฒ่าได้ปัดก็ดีใจ                     แกเรียกไปสาวสาวก็กลับมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 พ.ย. 09, 20:30

ไปหาข้อมูลเรื่องละว้าจากกูเกิ้ล     แปลกใจที่พบว่าละว้าเป็นชาติพันธุ์ทางเหนือ เชียงใหม่ถึงแม่ฮ่องสอน โน่น
http://www.openbase.in.th/node/6428
ชาวละว้าเล่าวว่าชนเผ่า ของตนเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่ตั้งเป็นรัฐก่อนการเกิดของอาณาจักรล้านนา โดยกล่าวว่าความในตำนานสุวัณณะคำแดง และตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ระบุ “ ละว้า ” หรือ “ ลวะ ” ตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ และกล่าวว่าประวัติศาสตร์ของละว้าสิ้นสุดในราว พ.ศ.๑๒๐๐ ที่ขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้ต่อนางจามเทวี และปรากฎในตำนานของภาคเหนืออีกหลายฉบับที่ให้ข้อมูลและมีพิธีกรรมที่ยืนยัน ว่า “ ลวะ ” ตั้งอยู่ในท้องถิ่นนี้มาก่อนที่ชนเผ่ามอญมาตั้งที่ลำพูน และเผ่ายวนมาตั้งเมืองเชียงใหม่

เอ  ถ้างั้นละว้าที่ขุนแผนพานางวันทองไปแวะพักด้วย  เป็นละว้าไหนกัน?

ไปค้นคำว่ากะเหรี่ยง  เจอคำอธิบายในเว็บนี้
http://www.baanjomyut.com/library/hill_tribes/karieng.html

ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อพยพเข้ามาเป็นสองพวก พวกหนึ่งเข้ามาทางเหนือ กระจายไปอยู่ในท้องที่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง หนาแน่นที่สุดที่แม่ฮ่องสอน
อีกพวกหนึ่งเข้ามาจากพม่า ทางด้านพืดเขาตะนาวศรี อาศัยอยู่ตามชายแดนตั้งแต่ตอนใต้ของจังหวัดตากลงไปถึง เพชรบุรีและประจวบฯ
..........................
พวกผู้หญิงนุ่งผ้าสั้นเหนือเข่า สวมเสื้อแขนสั้นเป็นพู่ที่ปลายแขน เสื้อยาวคลุมสะโพก ที่คอคล้องห่วงทองเหลืองอันใหญ่หลายอัน สวมสร้อยเม็ดพืช และลูกประคำ มีห่วงทองเหลืองสวมรัดน่องด้วย

การแต่งกายของหญิงยางขาวคือ นุ่งผ้าฝ้ายยาวคลุมเข่า สีแดงสลับน้ำเงิน สวมเสื้อไหมสั้นๆ ท่อนบนสีขาวท่อนล่างสีแดง ประดับผมด้วยโลหะเงิน ทองเหลือง นิยมสวมกำไลเงิน หญิงชาวยางขาวงามและผิวพรรณดี

สงสัยว่าละว้าที่ขุนแผนไปเจอ     น่าจะเป็นกะเหรี่ยงเสียมากกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 พ.ย. 09, 23:04

ชาวละว้าอยู่ทางเหนือและตะวันตกของประเทศไทยครับ

เว็บฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ให้ข้อมูลไว้ว่าอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัดคือ ลำปาง อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน และแม่ฮ่องสอน

สุนทรภู่เคยไปเจอมาในนิราศสุพรรณ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นแถวบริเวณเขื่อนกระเสียว สุพรรณบุรี
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 พ.ย. 09, 09:27

เส้นทางม้านี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนถึงในนสพ. มติชน เมื่อต้นปี ครับ

วรรณคดีและเพลงดนตรี พาดพิงปราณบุรี-สามร้อยยอด

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2552

             ปราณบุรี-สามร้อยยอด-กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร ผ่านด่านสิงขร
แล้วข้ามซอกเขาไปเมืองมะริด ชายฝั่งทะเลอันดามัน
                พยานเรื่องนี้มีในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนไปซื้อม้าสีหมอก ที่เมืองเพชรบุรี

                ม้าสีหมอกเป็นม้าเทศ (อาหรับ-เปอร์เซีย) ผ่านอินเดียลงเรือมาขึ้นบกเมืองมะริด แล้วหลวงทรงพลกับพันภาณ
จากกรุงศรีอยุธยาไปซื้อมาเลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี จนขุนแผนไปเห็นก็ซื้อมาเป็นพาหนะคู่ชีพ
                เส้นทางม้าสีหมอกจากเมืองมะริด ผ่านด่านสิงขร-กุย-ปราณ-ชะอำ-เพชรบุรี มีในกลอนสภาว่า

มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด         ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า

กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา    ผ่านฉะอำถึงท่าเพชรบุรี

         สิงขรในกลอนเสภา คือ ด่านสิงขร(ประจวบคีรีขันธ์) เช่นเดียวกันเมื่อพระอภัยมณีกับศรีสุวรรณ ถูกขับ
จากกรุงรัตนา(รัตนโกสินทร์) ก็ไปทางเพชรบุรี ผ่านปราณบุรี-สามร้อยยอด-กุยบุรี ออกด่านสิงขร มีกลอนสุนทรภู่
บอกไว้ในพระอภัยมณีว่า

ออกเดินทางกลางเถื่อนให้เดือนเศษ     ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร

ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร              ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง

          ชายทะเลคลื่นลั่นสนั่นดังในที่นี้ คือชายฝั่งทะเลอันดามันที่พระอภัยมณีพบสามพราหมณ์ แล้วถูกผีเสื้อสมุทร
ฉุดลักหลับลงไปทางหมู่เกาะอันดามัน

นิทานเขาสามร้อยยอดเรื่อง ตาบ้องไล่ ยายรำพึง เป็นนิทานสัญลักษณ์การค้าสำเภาระหว่างจีนใต้(กวางสี-กวางตุ้ง-ไหหลำ)
กับเมืองท่าชายฝั่งอ่าวไทย เช่น ปราณบุรี-สามร้อยยอด-กุยบุรี ......
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 พ.ย. 09, 10:04

ขอบคุณค่ะคุณม้า และคุณ Sila  

กลับไปอ่าน "ตำนานเสภา"  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ทรงกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
"ส่วนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น   เข้าใจว่าจะเป็นตอนขุนช้างขอนางพิม   และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี"
ในพระนิพนธ์ บทเสภาตอน ๒  ทรงระบุไว้ชัดเจนว่า ตอนขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น เป็นสำนวนครูแจ้ง  ส่วนตอนซื้อม้าสีหมอก เป็นสำนวนเดิม
"แต่เรื่องซื้อม้าสีหมอก   เห็นแต่เดิมเขาว่าเป็นหลักฐานดี  ของครูแจ้งต่อใหม่สู้ไม่ได้  ข้าพเจ้าจึงเอาบทเดิมพิมพ์ขึ้น   แต่ว่า "จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ"  เป็นต้นไปจนจบตอน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 พ.ย. 09, 11:37

นอกจากทางสุพรรณแล้ว  ละว้าในฉบับหอพระสมุด  ยังมาทำไร่อยู่แถวอีสานด้วยนะคะ
เส้นทางที่นางสร้อยทองเดินทางมา จากเวียงจันทน์ถึงอยุธยา  เคยสำรวจเส้นทางกันแล้วในกระทู้(๒)
ในเรื่องบอกว่า มาถึง "ปากดง"   ก็มาถึงหมู่บ้านละว้า

ที่ชายป่าตอนนี้ยังมีบ้าน                       เพราะใกล้ด่านพวกละว้ามาทำไร่
ปลูกกล้วยอ้อยน้อยหน่าข่าตะไคร้          ตรงกอไผ่โน่นแลเห็นเรือน
ลูกเล็กเล็กยืนดูอยู่เป็นกลุ่ม                   ตรงซุ้มยายตามากันเกลื่อน
ตักน้ำท่ามาให้ไม่ต้องเตือน                   อยู่กลางเถื่อนช่างกระไรใจเขาดี
ทางริมบ้านชานรอบถึงขอบไร่               ดูเป็นเรือกสวนไสวไปจากนี่
ปลูกมะพร้าวหมากม่วงเป็นท่วงที           ต้นลิ้นจี่ส้มสูกลูกลำไย
สวนพลูดูค้างสล้างสลอน                      ที่ริมรั้วปลูกหม่อนไว้เลี้ยงไหม
ด้วยเป็นบ้านชาวป่าพนาลัย                   ต้องปลูกให้พอเพียงเลี้ยงชีวา

ตั้งข้อสังเกตว่า
๑  ป่าแถวนั้นอุดมสมบูรณ์มาก  แบบภาคกลาง     ปลูกได้ตั้งแต่กล้วย อ้อย น้อยหน่า ข่า ตะไคร้  มะพร้าว หมาก มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ลำไย
ปกติลำไยเขาปลูกกันทางเหนือ  ภาคกลางปลูกได้   แต่ไม่ออกลูกอย่างภาคเหนือ 
๒ ชาวป่าปลูกผักและผลไม้    ไม่มีการเอ่ยถึงเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าหมูหรือไก่     พวกนี้ถ้ากินเนื้อสัตว์ก็คงกินแต่ปลา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 11:05

ยังหาละว้าไม่เจอในตอนอื่น   ถ้าใครพบก็กรุณาพามาสมทบด้วย   จะขอบคุณมากค่ะ

ชาติพันธุ์วรรณา ในฉบับหอพระสมุด  ถ้าเป็นชาวบ้านในเมืองหลวง   หลายตอนทีเดียวกวีระบุเชื้อชาติไว้หลากหลาย   ไม่ได้บอกแค่ว่าเป็นชาวอยุธยา หรือไม่เรียกรวมว่าเป็นไทย
อย่างตอนที่ทหารขี้คุก ๓๕ นายลองวิชา เพื่อตามขุนแผนไปศึกเชียงใหม่     ชาวบ้านที่เบียดเสียดเข้ามาชมการแสดง  ก็มีหลายเชื้อชาติ

ไทยจีนมอญพม่าข่าลาวลื้อ                     จูงมือลูกหลานซานเข้าไป

ตอนขุนช้างกับพระไวยดำน้ำพิสูจน์  ฉากในตอนนี้คือตำหนักแพ  ถ้าเป็นกรุงเทพก็แถวท่าราชวรดิฐ

พวกชายหญิงวิ่งพรูดูดำน้ำ                             ทั้งสาวหนุ่มกลุ้มกล้ำมาหนักหนา
ผู้ใหญ่เด็กเจ๊กฝรั่งทั้งละว้า                             แขกข่ามอญลาวมี่ฉาวไป

ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด ก็เหมือนกัน

ชาวประชามาดูอยู่สลอน                               เขมรมอญพวกพม่าเสียงหวาเหวย
ญวนกะเหรี่ยงเจ๊กฝรั่งยังไม่เคย                      ไทยว่าเฮ้ยมึงกล้าก็มาดู
นางทวายอายเอียงเสียงแปร่งแปร่ง                 แมงขะแวงแฉมะราฉะมาหลู
เจ้ามอญว่าอาละกูลทิ้งปูนพลู                        ลาวบ่ฮู้บ่หันข้อยยั่นจริง

นอกจากนี้ก็มีจีนกับแขกที่คุยกันเพราะพริ้ง จนคุณ Navarat C. สงสัยว่ามันไพเราะได้ยังไง   โพสต์ตอนนี้ลงไปแล้ว

อ่านกวีเขียนถึงฉากประชาชนทีไร อย่าง ๓ ตอนที่ยกมา  สงสัยทีนั้น   ถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์   ว่าคงจะเป็นฉากจริง
ชาวกรุงเทพและธนบุรีในสมัยนั้นคงหลากหลายเชื้อชาติ   บางพวกก็เดินทางมาเองอย่างแขกและจีน  บางพวกอาจจะถูกกวาดต้อนมาหลังสงคราม อย่างลาว  หรือบางพวกก็อพยพย้ายถิ่นมา   
สังเกตว่า ในบันทึกนี้  กวีพูดถึงสำเนียงและภาษาของแต่ละชาติพันธุ์   แสดงว่าพวกเขาเห็นจะมาอยู่ในเมืองหลวงไม่นานนัก  อาจจะแค่เจนเนอเรชั่นที่ ๑ หรือ ๒ อย่างมาก   เพราะสาวทวายก็ยังพูดสำเนียงทวายอยู่  หนุ่มมอญก็ยังพูดภาษามอญ
ในยุคนั้น  สำนึกในเรื่อง "ชาติ" ยังไม่มี       แต่สำนึกในการอาศัยแผ่นดินอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  มี    และสำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ไม่รังเกียจว่าคนละชาติพันธุ์  ก็มีอยู่เช่นกัน


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 13:03

จะคิดได้ไหมคะ คุณเทาชมพู   ว่า  ย่ามละว้า  เหมือนกับย่ามกะเหรี่ยง



หลวงฤทธานนท์ รับคำฝากของขุนไกร  สั่งนายไหมให้นำจดหมายไปบอก นางศรีประจัน

เตือนเรื่องการริบราชบาตร


นายไหมรับคำแล้วอำลา                           จัดแจงย่ามละว้าคว้าหอกใหญ่
ได้มีดเหน็บหลังเก้กังไป                            ประเดี๋ยวใจเข้าป่าพนาลี

ย่ามคงทำด้วยผ้าฝ้ายเนื้อหนา  อาจจะไม่มีสีที่สดใสเหมือนกะเหรี่ยง    ขนาดใหญ่พอที่จะใส่
อาหารและเสื้อผ้า


นายไหมเป็นตนที่มีน้ำใจ  คงรู้จักขุนไกรเพื่อนของนายตัวมาก่อนด้วย
เพราะจะออกปากบอกนางทองประศรี  ก็น้ำตาคลอเสียแล้ว
แจ้งกับนางว่าอ่านหนังสือเอาก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 13:11

บ่าวไพร่ของนางทองประศรีที่บ้านกร่างก็มีสาวละว้ารับจ้างทำไร่

ถึงจะเป็นสาวบ้านป่า  เมื่อมีการหยอกเอินถึงขั้นปลำ้   สาวเธอก็สู้
ความละอายของสตรีย่อมมีอยู่ทุกเผ่าพันธุ์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 13:21

ละว้าอีกรายไม่มีชื่อ  โดน อ้ายเกิดกระดูกดำปล้น

ละว้านั้นรับจ้างเป็นรายปีกว่าจะได้เงิน


อ้ายเกิดเลยต้องไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง
ทำงานหนักกลางแดดเหมือนกันเพราะช้างตัวหนึ่ง ๆ  กินหญ้าจำนวนมหาศาล

อ้ายเกิดนั้นคนไม่ได้เรียกชื่ออีกต่อไป  เรียกว่า ไอ้ตะพุ่น แทน



คุณเทาชมพูเก็บความเกลี้ยงแล้วค่ะ   มีแถมให้เพียงเล็กน้อยเท่านี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 19:19

ย่ามละว้าเป็นยังไง ก็ไม่รู้  ได้แต่เดาว่าขึ้นชื่อว่าย่าม ก็คงคล้ายๆกันคือเป็นถุงมีหูกว้าง สำหรับคล้องไหล่ อย่างย่ามพระ
ของใช้ของละว้ามีอีกอย่าง ที่ดิฉันไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร    คือคำว่า "เสมียนละว้า"  พจนานุกรมรอยอิน ไม่ได้เก็บความหมายของคำว่า "เสมียน" ในฐานะของใช้ เอาไว้
มาจาก ระเด่นลันได ค่ะ   พรรณาเครื่องทรงระเด่นขอทานไว้ว่า

นุ่งกางเกงเข็มหลงอลงกรณ์
ผ้าทิพย์อาภรณ์พื้นขาว
เจียระบาดเสมียนละว้ามาแต่ลาว
ดูราวกับหนังแขกเมื่อแรกมี

สวมประคำดีควายตะพายย่าม
หมดจดงดงามกว่าปันหยี
กุมตระบองกันหมาจะราวี
ถือซอจรลีมาตามทาง

เจียระบาด แปลว่าผ้าคาดเอว   เสมียนละว้าแปลว่าอะไรสักอย่างที่ประกอบคำว่า ผ้าคาดเอว  จะเป็นลายผ้า หรืออะไรก็ยังเดาไม่ถูก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.173 วินาที กับ 19 คำสั่ง