เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 30575 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 24 พ.ย. 09, 16:25

ทิ้งไปหลายวัน  วันนี้ได้ฤกษ์มาเล่าต่อแล้วครับ

รุ่งขึ้นเช้า พลายยงกับไพร่พลทหารกรุงศรีอยุธยาทั้งห้าร้อยที่อาสาไปรบ ก็จัดแจงแต่งตัวเตรียมตัวออกรบ 
เมื่อได้เวลาเคลื่อนพลก็ลั่นฆ้องโห่เอาชัย เคลื่อนพลออกจากเมือง 
พวกจีนเมืองตังจิ๋วต่างพากันมามุงดูพวกทหารไทยพร้อมทั้งร้องอวยพรให้ได้ชัยชนะแก่ข้าศึก

ฝ่ายงวนบุนเจ๋งกับจาหลีบุนที่ยกทัพมาตั้งค่ายล้อมเมืองตังจิ๋วไว้ เมื่อได้เห็นทัพไพร่พลยกออกมาจากเมืองตังจิ๋ว
ก็รีบแต่งไพร่พลอาวุธครบมือ จำนวนเจ็ดพันคนไปประจัญหน้ากับทัพพลายยง

เมื่อทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน  ก็มีการประทะคารมกันเล็กน้อยก่อนจะลงมือสู้รบ 
โดยฝ่ายงวนบุนเจ๋งร้องถามไปก่อนว่า พวกไทยเหล่านี้มาแต่ไหน ตัวแม่ทัพชื่ออะไร
และไพร่พลเอามาเท่านี้คง "จะพามาจิ้มฟันมั่นแม่นแท้"   ฝ่ายพลายยงได้ยินเขาร้องถามเช่นนั้นแล้วตอบไปว่า 
ท่านไม่รุ้จักเราจงดูเอาไว้ เรามาแต่กรุงศรีอยุธยา เป็นหลานพลายแก้ว ลูกพลายงาม ชื่อพลายยง เป็นทหารใหญ่ในกรุงศรีอยุธยานั้น
เดิมเจ้าเมืองตังจิ๋วเป็นเมืองขึ้นแก้กรุงปักกิ่ง  ท่านยกทัพมาล้อมเมืองเขาไว้เยี่ยงนี้ไม่เกรงกลัวอำนาจพระเจ้ากรุงปักกิ่ง
เมืองตังจิวเห็นว่ากรุงปักกิ่งนั้นไกลนัก เมืองตังจิ๋วจึงได้ส่งสารไปกรุงไทยให้ยกทัพมาช่วยปราบพวกเจ้า
ถึงพวกเราจะมาแค่ห้าร้อยก็มีฤทธิ์มาก และว่า "ถ้ากลัวตายให้เตี่ยมาเชี้ยกู   หาไม่หัวสูจะขาดสิ้น  จะย่อยยับเป็นระดับทั้งแผ่นดิน   ตัวตีนหัวขาดเพราะฟาดฟัน"

งวนบุนเจ๋งก็โต้ว่า นี่ไม่ใช่กงการอะไรของท่าน พวกจีนกับจีนรบกัน เจ้าเมืองตังจิ๋วเป็นคนชั่ว ไม่เกรงกลัวเราผู้เป็นเมืองใหญ่ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้น  จึงได้ยกทัพมาล้อมเมือง
เช่นนี้หาได้เป้นเหตุเกี่ยวข้องกับไทยไม่ แล้วก็ว่า "มิตายเพราะมือกูก็ดูเอา  จะเจ้าไปใช้กวาดตึกพลัน" จากนั้นก็สั่งให้จาหลีบุนขับม้าเข้ารบกับพลายยงและให้ไพร่พลของตนเข้าตีพวกไทยทันที

ด้านพวกไทย ก่อนจะรบกับพวกจีนเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋ง  ก็หยอกล้อกับพวกจีนเหล่านั้นดังนี้ (ติดจะทะลึ่งอยู่บ้าง)

"ทั้งห้าร้อยตัวกลั่นมั่นคง      โห่ส่งเยาะเล่นไม่เว้นตัว
หลกก้นเลิกผ้าฮ้าของพ่อ      จะมาต่อสู้ไทยอ้ายหัวตะกั่ว
ถึงมึงล้อมกูไว้กูไม่กลัว         ยิงหัวตุ๊ดตู่ของกูยาว
พวกทัพอ้ายมุ่ยถึงเจ็ดพัน      อายย่าหัวสั่นยิงฟันขาว
แลเห้นของไทยมันใหญ่ยาว   ด่าฉาวอิไนติกำพู้
ฉวยได้ปืนสั้นลั่นยิงตึง          พวกไทยยืนขึงเป็นหมู่หมู่
แหวกผ้าไพล่ขาออกให้ดู       อ้ายเจ๊กกรูเกรียวเข้าเหล่าอาแป๊ะ"

จากนั้นก้เป็นการบรรยายการรบ วึ่งพวกไทยแม้จะถูกพวกจีนเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋งยิงฟันแทงอย่างไรก็ไม่เข้าไม่มีบาดแผล 
แต่พวกจีนถูกพวกไทยแทงฟันกลับตายเกลื่อนกลาดสมรภูมิ

ฝ่ายพลายยงต่อสู้กับจาหลีบุน ถูกจาหลีบุนฟันด้วยง้าวสามทีไม่เป็นไร แต่พลายยงฟันง้าวถูกจาหลีบุนคอขาดตกม้าตาย  งวนบุนเจ๋งเห้นน้องของตนเสียท่าแก่ข้าศึกก็เข้ามาสู้กับพลายยงแต่ก็ถูกพลายยงเสกรัตคดมัดตัวเอาไว้ได้  พวกจีนเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋งเห้นนายตนถูกจับก็เสียกระบวนทัพ ถูกพวกไทยจับเป็นเชลยได้เอาเชือกผูกคอมา  เมื่อได้ชัยชนะและตามเชลยได้หมดแล้ว พลายยงก็ให้ไพร่พลเลิกทัพกลับเข้าเมืองตังจิ๋ว.

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 25 พ.ย. 09, 09:00

กวีที่แต่งตอนนี้คงตั้งใจจะให้พลายยงเป็นพระเอก   รบเก่งแบบเดียวกับพ่อและปู่     คงไม่ได้นึกถึงลูกชายนางศรีมาลาที่มาปราบพลายยงได้ทีหลัง
สำนวนภาษาในตอนนี้  หนักกว่าครูแจ้งเสียอีก   เดาว่าเป็นกวีชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕
ถ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชำระ    อาจจะทรงแต่งเสียใหม่แทน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 25 พ.ย. 09, 09:30

เห็นด้วยกับความเห็นของคุณเทาชมพู

พลายยงคงจะเป็นพระเอกเฉพาะตอนนี้เท่านั้น  หลังจากตอนนี้ไปแล้ว พลายยงจะกลายเป็นผู้ร้าย  เพราะนางสร้อยฟ้ายุให้พลายยงให้ไปฆ่านางศรีมาลา เพื่อชำระแค้นในอดีต พลายยงจึงส่งแสนคำอินพาพรรคพวกไปบุกฆ่านางศรีมาลาที่บ้าน โชคดี กุมารทองและโหงพรายช่วยป้องกันนางศรีมาลาไว้ได้  จึงไม่ถูกแสนคำอินและพวกฆ่าตาย แต่นางศรีมาลาก็ถูกฟันเป็นแผลฉกรรจ์ตกน้ำลอยไปติดท่าหน้าวัดเรไร  จากนั้น พลายยงกับนางสร้อยฟ้าก็รีบเดินทางพร้อมไพร่พลของตนกลับเชียงใหม่ในคืนที่เกิดเหตุนั้นทันที   และก็กลายเป็นเหตุให้พลายเพชรพลายบัวต้องเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่เพื่อไปแก้แค้นให้นางศรีมาลา กลายเป็นสงครามพี่น้องต่างมารดาอีกยาว และไม่จบด้วย  ลักษณะเรื่องคล้ายๆ กับพระอภัยมณีตอนปลายที่ต่อจากฉบับหอสมุดแห่งชาติ ไม่ทราบว่าได้อิทธิพลแก่กันหรือเปล่า?

ส่วนที่ว่าสำนวนภาษาในตอนนี้  หนักกว่าครูแจ้งเสียอีก   เดาว่าเป็นกวีชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕
ถ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชำระ    อาจจะทรงแต่งเสียใหม่แทน

คนแต่งคงเป็นเช่นที่คุณเทาชมพูเสนอ   และคงเป็นสำนวนนอกวัง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพิจารณาแล้ว จึงไม่ทรงชำระเสภาภาคปลายต่อ   เพราะไม่เช่นนั้นคงมีภาคปลายตั้งแต่สมัยของพระองค์แล้ว  และพระองค์คงไม่ทรงพระนิพนธ์ใหม่ให้เสียเวลาหรอกครับ  เพราะนั่นเท่ากับเป็นเสภาของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งคงต้องตราหน้าปกว่า  เป็นเสภาของพระองค์ทรงพระนิพนธ์ แทนที่จะว่าเป็นฉบับหอพระสมุดฯชำระ จะกลายเป็นว่าพระองค์จะพลอยทรงถูกครหายิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ยิ่งขึ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 25 พ.ย. 09, 09:44

อ้างถึง
พระองค์คงไม่ทรงพระนิพนธ์ใหม่ให้เสียเวลาหรอกครับ  เพราะนั่นเท่ากับเป็นเสภาของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งคงต้องตราหน้าปกว่า  เป็นเสภาของพระองค์ทรงพระนิพนธ์ แทนที่จะว่าเป็นฉบับหอพระสมุดฯชำระ จะกลายเป็นว่าพระองค์จะพลอยทรงถูกครหายิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ยิ่งขึ้น

เข้าใจความเห็นของคุณหลวง     แต่ขอค้านนิดหน่อยว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็นิพนธ์บางตอนในฉบับหอพระสมุดเหมือนกัน   ทรงเล่าไว้เองว่า

"แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด   ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด

ส่วนเรื่องพลายยง  สมเด็จฯท่านสรุปไว้สั้นๆว่า
" ตอนต่อไปนั้น  คือตอนพลายยงไปเมืองจีนก็ดี    ตอนพลายเพชรพลายบัวก็ดี    เห็นไม่มีสาระในทางวรรณคดี จึงไม่พิมพ์"
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 26 พ.ย. 09, 08:12

ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า "แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด    ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด" ตรงข้อความที่เน้น  แสดงว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ทรงพระนิพนธ์เสภาตอนดังกล่าวเพียงลำพังพระองค์ ต้องมีผู้อื่นที่อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณร่วมแต่งเสภาตอนนี้ด้วย  แต่จะเป็นใครนั้น  ยังไม่มีข้อมูลพอที่จะสันนิษฐานได้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 26 พ.ย. 09, 08:42

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านก็นิพนธ์บางตอนในฉบับหอพระสมุดเหมือนกัน   ทรงเล่าไว้เองว่า

"แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด   ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด

ตรงนี้มีข้อมูลจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านทรงพระนิพนธ์เสภาตอนนี้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงตั้งพระทัยให้มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมฝรั่งสมัยวิกตอเรียอยู่ด้วย คือแหม่มสมัยนั้นเวลามีเหตุทำให้ตกใจแล้วมักเป็นลมล้มพับไปทุกที   คุณชายคึกฤทธิ์ท่านว่าวัฒนธรรมสมัยวิกตอเรียนี้แพร่เข้ามาในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เสภาตอนนี้จึงเป็นเสมือนดัชนีบอกเวลาในการแต่งเรื่องอยู่ด้วย

เมื่อพลายงามเข้าไปในห้องนางศรีมาลา เห็นนางหลับอยู่ด้วยฤทธิ์ของมนตร์สะกด จึงคลายมนตร์ แล้วกระไอให้เสียง

ครานั้นศรีมาลานารี                   รู้สึกสมประดีได้ยินเสียง
ลืมตาเห็นชายอยู่ปลายเตียง          เจ้ามองเมียงจำได้ว่าพลายงาม
นึกสำคัญในจิตคิดว่าฝัน              ไม่หวาดหวั่นยิ้มแล้วก็ทักถาม
นึกอย่างไรใจกล้าเข้ามาตาม         จะเกิดความงามหน้าพากันอาย
เจ้าพลายได้ฟังเข้านั่งอิง              นางรู้ว่าคนจริงมิ่งขวัญหาย
ตกใจเพียงจะดิ้นสิ้นใจตาย           ร้องว้ายแล้วก็ซบสลบไป

นางศรีมาลาก็ได้เป็นฝรั่งสมใจนึกตรงนี้เอง

 ยิ้มเท่ห์




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 26 พ.ย. 09, 11:42

พอมาถึงบทอัศจรรย์ของพลายงามกับศรีมาลา คุณชายคึกฤทธิ์สารภาพว่าไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพหรือไม่ แต่รู้สึกว่าเข้าที ตอนที่เปรียบเทียบว่าพลังความรักของหนุ่มสาวรุนแรงดุจดังพลังธรรมชาติอื่น ๆ

ทั้งหนุ่มสาวคราวแรกภิรมย์รัก           ไม่ประจักษ์เสน่หามาแต่ก่อน
กำเริบรักเหลือทนทุรนร้อน               พอร่วมหมอนก็เห็นเป็นอัศจรรย์
เหมือนเกิดพายุกล้ามาเป็นคลื่น          ครืนครืนฟ้าร้องก้องสนั่น
พอฟ้าแลบแปลบเปรี้ยงลงทันควัน       สะเทือนลั่นดินฟ้าจลาจล
นทีตีฟองนองฝั่งฝา                      ท้องฟ้าโปรยปรายด้วยสายฝน
โลกธาตุหวาดไหวในกมล                ทั้งสองคนรสรักประจักษ์ใจ


ความจริงบทรักตอนนี้ของสองหนุ่มสาวมีฉบับของครูแจ้งด้วย แต่ไม่ผ่านการเซนเซอร์จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 26 พ.ย. 09, 13:02

เล่าเสภาพลายยงอาสาไปรบที่เมืองตังจิ๋วต่อครับ

เมื่อพวกทหารไทยกลับเข้าในเมืองตังจิ๋ว ด้วยความหิวโซจากการสู้รบจึงเข้ายิ้อแย่งสินค้าที่พวกจีนค้าขายเอามากินเป็นที่วุ่นวายไปทั้งตลาด  (ฉากตอนนี้คล้ายกับตอนที่พวกพระท้ายน้ำวซึ่งถูกเชียงใหม่ อาละวาดที่กาดกลางเมือง) ฝ่ายพวกจีนเมืองตังจิ๋วทราบว่าพวกไทยที่ออกไปรบได้ชัยชนะก็โห่ร้องรับด้วยความดีใจเอาสิ่งของมาให้ทหารไทยมากมาย  พลายยงพาทหารไทยทั้งห้าร้อยเข้าไปที่ตึกเจ้าเมืองตังจิ๋ว  แล้วพลายยงก็รายงานการสู้รบกับพวกเมืองอ้ายมุ่ยกุยตั๋งให้เจ้าเมืองฟังว่า

"ไปรบทัพจับงวนบุนเจ๋งมา    กับจีนไพร่ได้ห้าหกสิบคน
แต่พื้นตายก่ายกันยับนับห้าพัน   เหลือนั้นแตกไปในไพรสณฑ์
ฟันจาหลีบุนหมุนวายชนม์     เป็นน้องตนของงวนบุนเจ๋งมา"

จอจิหลังเจ้าเมืองได้ฟังดังนั้นก็ดีใจเข้ากอดจูบพลายยง  เมื่อเหลือบไปเห้นงวนบุนเจ๋งที่พลายยงจับมัดมาก็โกรธฉวยง้าวจะฟันคอให้ตายแต่ก็ยั้งไว้  แล้วให้พลายยงเอางวนบุนเจ๋งไปสอบสวนเอาความจริงก่อนเฆี่ยนแล้วส่งตัวไปเมืองไทยเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกันแก่พวกจีนทั้งหลาย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 27 พ.ย. 09, 08:59

คุณเพ็ญชมพูอ้างถึงข้อมูลจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เสภาตอนพลายงามได้นางศรีมาลาด้วยพระองค์เอง ข้อมูลนี้ตรงกับที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระกวีนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๓๑ ความว่า

" เมื่อเสด็จพ่อทรงตรวจสอบเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  เพื่อจะพิมพ์ใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงเห็นว่าตอนพลายงามได้นางศรีมาลานั้น  เนื้อความไม่สมเหตุสมผลและกลอนในตอนนั้นก็ไม่ดีสมกับที่จะพิมพ์ขึ้นใหม่  ทั้งได้พบอีกฉบับหนึ่งที่มีผู้แก้ในตอนนี้ไว้แล้ว  แต่เผอิญสมุดขาด  ไม่จบความ  เสด็จพ่อจึงทรงแต่งขึ้นใหม่ทั้งตอนดังต่อไปนี้และตรัสว่า เสภาเขาไม่บอกตัวคนแต่งกันไว้  ถ้าใครอ่านก็เป็นรู้ได้เองว่าสำนวนของใคร  ฉบับนี้ก็จะรู้ได้ว่าเป็นสำนวนคนสมัยใหม่  เพราะผู้หญิงตกใจแล้วเป็นลม (faint) อย่างฝรั่ง? "

แต่ทั้งคำอธิบายหม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล และคำอธิบายม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช เป็นข้อมูลของคนอื่น  ย่อมไม่หนักแน่นเท่าคำของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งได้ทรงเป็นผู้ชำระเสภานี้เองที่ว่า  "แต่หนังสือบทนี้ได้มา ฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา   ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอสมุด    ไปจนถึงบทพลายงามชมดง  จึงต่อบทของครูแจ้งไปตลอด"  และในพระนิพนธ์ว่าด้วยการชำระหนังสือเสภา ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ในตอนท้ายของพระนิพนธ์นี้ มีข้อความว่า

" การตรวจชำระหนังสือเสภาฉะบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้  ตั้งแต่แรกชำระจนเวลาพิมพ์  พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา กับ ข้าพเจ้า  ได้ช่วยกันทำมากว่า ๒ ปี ...."

นั่นเท่ากับยืนยันว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงชำระเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนร่วมกับพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา 

คำถามต่อมาคือ พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ได้ร่วมทรงพระนิพนธ์เสภาตอนพลายงามได้นางศรีมาลาหรือไม่ ? ตรงนี้มีความเป็นไปได้อยู่มาก  ด้วยเหตุผลดังนี้

๑.พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ทรงพระปรีชาด้านวรรณคดีเพราะทรงได้รับการศึกษาภาษาไทยตามแบบเก่า  ประกอบกับเคยทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนอยู่เสมอ  เคยทรงได้รับรางวัลที่ ๑ ในการแต่งโคลงกระทู้ประกวดของหนังสือวชิรญาณหลายครั้ง  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้ทรงพระนิพนธ์คำฉํนท์สดุดีสังเวยในพระราชพิธีฉัตรมงคล ลาที่ ๒ รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้านายพระองค์นี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงพระนิพนธ์ในพระประวัติพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  แล้วสามารถหาอ่านได้ 

๒.พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ในขณะที่ทรงร่วมชำระเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นทรงดำรงตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุด  เกือบจะพร้อมกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ  ด้วยรัชกาลที่ ๖ มีพระราชปรารภกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า เลขานุการหอพระสมุดฯ แต่เดิมนั้นอนูโลมเอาบรรณารักษ์คนเก่าของหอพระสมุดมาเป็น แต่ทำการไม่เรียบร้อยจนต้องเปลี่ยนใหม่  จึงมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ หาคนมาเป็นเลขานุการคนใหม่ที่มีคุณสมบัติสมตำแหน่งจริงๆ  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  มาเป็นเลขานุการด้วยทรงรู้จักและเคยทรงใช้พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  เป็นเลขานุการในสมัยที่ทรงรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยมาแต่ต้น  พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ได้ทรงเป็นเลขานุการหอพระสมุดฯ เป็นเวลา ๑๔ ปี ได้ทรงตรวจชำระต้นฉบับและทรงจัดการพิมพ์หนังสือมากถึง ๕๐๙ เรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือเสภาขุนช้างขุนแผน

๓.ในช่วงปี ๒๔๕๘ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดฯ สืบต่อจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ แม้ว่าพระภารกิจราชการจะน้อยลง แต่ก็ยังต้องทรงราชการอื่นในตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษาราชการอยู่  ฉะนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คงจะมีพระภารกิจอื่น  นอกจากการทรงเป็นสภานายกฯ ซึ่งต้องทรงแบ่งเวลาไปทำราชการอื่นด้วย  การที่ทรงพระนิพนธ์และทรงชำระเสภาขุนช้างขุนแผน น่าจะทรงทำได้ไม่เต็มที่ ภาระน่าจะตกแก่พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  ผู้เป็นเลขานุการเป็นส่วนใหญ่  สมเด็จกรมพระยาดำรงอาจจะทรงตรวจแก้ไขและทรงกำกับการชำระ.

พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  เป็นเจ้านายที่ทรงมีส่วนอย่างยิ่งในการชำระเสภาขุนช้างขุนแผนและวรรณคดีอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่หอพระสมุดพิมพ์เผยแพร่  แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบและมักยกเรื่องการชำระวรรณคดีตลอดจนหนังสือต่างๆ ของหอพระสมุดให้เป็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเสียทั้งหมด  เลยกลายเป็นว่าทั้งผิดและชอบในการชำระเสภาก็พลอยเป็นของพระองค์ไปเสียทั้งสิ้น.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 27 พ.ย. 09, 09:44

น่าทึ่งการศึกษาค้นคว้าของคุณทั้งสองคน  ทำให้ต้องไปหาพระประวัติกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา มาเติมในกระทู้นี้
พบเพียงสั้นๆว่า  พระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายกัลยาณประวัติ (พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๗๐)พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลี่ยมใหญ่ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นต้นสกุล กัลยาณะวงศ์   
นอกจากตำแหน่งในหอพระสมุด    ทรงเป็นบรรณาธิการคนแรกของหนังสือเทศาภิบาล     บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณ,หนังสือเทศาภิบาล,บรรณาธิการจดหมายเหตุความทรงจำ, ไกลบ้าน  และ วัดราชาธิวาส

พระนิพนธ์ที่สำคัญคือหนังสืออลินจิตต์คำฉันท์,คำฉันท์สดุดีสังเวยพระราชพิธีฉัตรมงคล,และโคลงกระทู้ที่ได้รางวัล
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 27 พ.ย. 09, 10:37

มีเกร็ดเกี่ยวกับพิธีแต่งงานของพลายงามกับศรีมาลา จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองว่า

บทเดิมพอขุนแผนพลายงามขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร พระพิจิตรก็ให้นิมนต์พระมาทำพิธีแต่งงานพลายงามกับนางศรีมาลา ทำให้เข้าใจว่าได้ขอร้องตกลงกันไว้แต่ก่อนนั้นแล้ว  บทที่แต่งประชัน เขาแต่งให้พลายงามไปเห็นนางศรีมาลาแล้วมีความรักใคร่ จึงลอบเข้าหา เห็นว่าที่เข้าแก้เป็นเช่นนี้ถูกต้องสมต้นสมปลาย เพราะเมื่อกองทัพกลับ สมเด็จพระพันวษาทรงตั้งพลายงามเป็นจมื่นไวย แล้วมีรับสั่งให้แต่งงานกับนางศรีมาลา ขุนช้างมาช่วยงานจึงเกิดวิวาทกัน ก็ถ้าแต่งงานที่เมืองพิจิตรแล้ว ทำไมจะมาแต่งงานกันใหม่อีก

ถึงคำขุนแผนกราบทูลในบทเดิมก็ว่า

เมื่อไปทัพได้กับศรีมาลา        ลูกพระยาพิจิตรบุรี    
แต่รักใคร่ยังมิได้ทำงานการ    เขาผ่อนผันนัดงานมาเดือนสี่


เห็นว่าเรื่องที่ถูกควรเป็นอย่างที่แต่งในบทประชัน  


เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีกวีแต่งหลายท่าน บางทีการต่อเรื่องก็สับสนอลหม่านเช่นนี้แล

 ยิ้มกว้างๆ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 27 พ.ย. 09, 11:13

เรื่องที่ทรงแต่งให้ศรีมาลาตกใจแล้วเป็นลมอย่างฝรั่งสมัยวิกตอเรีย คงเนื่องด้วยทรงสังเกตว่ามีหลายตอนก็ทำเช่นนั้น

มีพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราอ่านกันทุกวันนี้ ไม่ได้แต่งแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทั้งหมด  บทที่แต่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ก็มีหลายตอน ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในตัวความที่กล่าวในเรื่องเสภานั้น จะยกตัวอย่างเช่นตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม ในตอนที่ ๗ เล่ม ๑ นี้ 

กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว  ในเสภาว่า "คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า  ยกทองของพระยาละครให้"  ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒  ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น  รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล

ต่อมาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง  ก็สังเกตได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒  ด้วยชมเรือนขุนช้างว่า "เครื่องแก้วแพรวพรรณอยู่ก่ายกอง  ฉากสองชั้นม่านมุลี่มี"  เพราะเล่นเครื่องแก้วกันเมื่อในรัชกาลที่ ๒

ส่วนตอนที่รู้ได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น  เช่นตอนทำศพนางวันทอง  มีกล่าวว่า

นายแจ้งก็มาเล่นต้นปรบไก่       ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า       
รำแต้แก้ไขกับยายมา            เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป
     

นายแจ้งนี้คือเสภาชั้นหลัง  ที่มีอายุอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕  เป็นคนต้นเพลงที่ดี มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓  จึงรู้ว่าเสภาตอนนี้แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ 


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 27 พ.ย. 09, 11:23

พระประวัติพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา
- ประสูติเมื่อ 25 กันยายน 2414 พระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ
- 2434 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดบรมนิวาส
- 2431 แรกทรงรับราชการในกรมปลัดทัพบก กรมยุทธนาธิการ ต่อมาเป็นนายร้อยตรี  เลขานุการของผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (สมเด้จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
- ต่อมา เป็นนายเวรหนังสือ  แล้วเป็นนายร้อยเอก  ผู้ช่วยนายเวรใหญ่  แล้วเป็นนายเวรใหญ่
- 2435 เป็นนายเวรหนังสือลับกระทรวงมหาดไทย  (เป็นปีเดียวกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงได้ทรงย้ายจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติย้ายจากกรมยุทธนาธิการมารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย)
- เป็นเลขานุการ แล้วเป็นปลัดกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ต่อมาเป็นกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ  จากนั้นเป็นเลขานุการอีก แล้วเลื่อนเป็นปลัดกรมฝ่ายพลำภังค์
- 2442 เป็นปลัดบัญชี  2451 เป็นเลขานุการอีกครั้งหนึ่ง แล้วเป็นข้าหลวงตรวจการ กรมสรรพากรนอก
- 2453 เป็นเลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ (ไม่ใช่เป็นเลขานุการหอพระสมุดฯ ในปีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นสภานายกหอพระสมุดฯ เมื่อ 2458 ขออภัยในความผิดพลาดของข้อมูล)
- 2456 รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ สถาปนาเป็น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา  และรับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี
- 2462 - 2463 เริ่มทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นประสาทพิการ ทำให้ทรงหลงลืมและทรงมึนตึงไม่เฉียบแหลมเหมือนเช่นแต่ก่อน
- 2466 พระอาการอันเกิดแต่พระโรคดังกล่าวหนักขึ้น รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทรงออกจากตำแหน่งเลขานุการหอพระสมุดวชิรญาณ และให้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญจนพระชนมายุ  รวมเวลาราชการของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ๓๕ ปี (แบ่งเป็นราชการกรมยุทธนาธิการ ๔ ปี กระทรวงมหาดไทย ๑๗ ปี หอพระสมุดวชิรญาณ ๑๔ ปี โดย ๓๕ ปีเป็นช่วงที่ทรงรับราชการอยู่กับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ)
- ประชวรพระวาโย สิ้นพระชนม์ ณ วังถนนเจริญกรุง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2470 เวลา 11.30 น. พระชันษาได้ 56 ปี เชิญหีบพระศพไปบรรจุ ณ วัดส้มเกลี้ยง ในวันที่ 19 พ.ค. ศกเดียวกัน
- ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพพร้อมกับพระศพพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาส เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2473 ณ พระเมรุ วัดเบญมบพิตรดุสิตวนาราม โดยรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงพระศพ เวลา 17.30 น. ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุพระศพพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติด้วย
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 27 พ.ย. 09, 11:44

กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว  ในเสภาว่า "คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า  ยกทองของพระยาละครให้"  ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒  ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น  รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล

ตรงนี้ต้องอธิบายนิดหนึ่งว่า พระยาละคร ในที่นี้ หมายถึง ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  สมัยก่อนคนทั่วไปมักเรียกเมืองนครศรีธรรมราชกันสั้นๆ ว่า เมืองนคร หรือเมืองละคอน ซึ่งเป็นภาษาปากที่พูดเพี้ยนไปจากว่า นคร นั่นเอง  เมืองนครศรีธรรมราชมีศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้ายกมาแต่โบราณ  นัยว่าจะได้ทอผ้ายกนี้ส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการที่กรุงเทพฯ ด้วยในสมัยก่อน  ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ เสด็จลงไปทรงจัดการปกครองที่หัวเมืองนครศรีธรรมราชใหม่ โดยทรงชำระตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ด้วย ด้วยเหตุว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเดิมนั้นเพิ่งถึงแก่พิราลัย  และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ นั้นมีพระมารดาเป็นธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชด้วย

ส่วนที่ว่า พระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น  รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล ขอเวลาไปตรวจเอกสารก่อนครับ  ตอนนี้ไม่มีข้อมูล ยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 30 พ.ย. 09, 09:13

เล่าเสภาพลายยงอาสาไปรบที่เมืองจีนต่อครับ

พลายยงเอาตัวงวนบุนเจ๋งไปสอบสวนเอาเหตุที่งวนบุนเจ๋งยกทัพมาล้อมเมืองตังจิ๋ว  งวนบุนเจ๋งให้การว่า ที่ยกทัพมาล้อมเมืองตังจิ๋วไม่ได้หมายมุ่งเอาทรัพย์สมบัติ แต่ด้วยความแค้นเคืองที่ตนเองเป็นลูกขุนนางผู้ใหญ่  เจ้าจอจิหลังเจ้าเมืองตังจิ๋วกลับไม่เคารพนับถือตน  จึงได้ยกทัพหมายจะมาฆ่าจอจิหลังเท่านั้น มิได้คิดจะก่อกบฏต่อพระเจ้ากรุงปักกิ่งและกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด  ฝ่ายจอจิหลังได้ฟังคำให้การของงวนบุนเจ๋งดังนั้นก็พูดขึ้นว่า ให้งวนบุนเจ๋งเลือกเอาว่าเจ้าจะอยู่ร่วมแผ่นดินกันหรือจะให้ส่งตัวไปฆ่าที่เมืองไทย
งวนบุนเจ๋งตอบว่า ให้ส่งตนเองไปฆ่าที่เมืองไทยไม่ของ้อจอจิหลัง จอจิหลังได้ฟังก็โกรธสั่งให้ตำรวจในเฆี่ยนงวนบุนเจ๋งด้วยหวาย  งวนบุนเจ๋งถูกเฆี่ยนแต่ก็ไม่ร้องกลับกัดฟันตาเขียวร้องด่าจอจิหลังไปว่า ลำพังตัวจอจิหลังไหนเลยจะได้ตัวตนเองมา นี่เพราะไปขอพวกไทยมาช่วยรบสู้ต่างหาก มิฉะนั้นคงได้จิกหางหนูจอจิหลังลากถูในฐานะเชลยศึก

จอจิหลังได้ฟังก็สั่งให้เอางวนบุนเจ๋งไปจำใส่ใต้ดาดฟ้าสำเภา  แล้วสั่งให้จัดสำเภาขนข้าวของให้พลายยงสารพัดเป็นเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา   และยังได้ลูกสาว คือนางเวสิว ให้เป็นเมียพลายยงด้วย  เจ้าพนักงานจีนก็รีบไปจัดสิ่งของลงสำเภาทันที

จอจิหลังมาแจ้งแก่ภรรยาเรื่องที่ส่งนางเวสิวลูกสาวตนไปเป็นคู่ครองพลายยง  นางสีจุหลีงิวได้ฟังจอจิหลังแจ้งดังนั้นก็มาพูดกับลูกสาวด้วยความอาลัยไม่อยากให้ลูกสาวไปกับพลายยง นางคร่ำครวญต่างๆนานา  ส่วนนางเวสิวก็ว่า ตนเองนั้นยังเด็กไม่รู้ประสีประสา อายุเพิ่งได้สิบสี่ปี ธรรมเนียมการกินนอนอันใดก็ยังไม่เข้าใจ ลุกจะขอผัดผ่อนเลื่อนการเดินทางไปเป้นฤดูมรสุมหน้าเพื่อเรียนรู้ธรรมเนียมให้พร้อมเสียก่อน

นางสีจุหลีงิวว่า

...ลูกเอ๋ยมิเคยจำเคยนา       เจ้าจะว่าไปไยกับกินนอน
ถ้าได้ประสบพบพลายยง   จะหลงไปด้วยรสสโมสร
แล้วจะลืมบิดาแลมารดร    กินนอนใครบ่ห่อนจะสอนกัน
คงรู้ในการประเวณี           อันสิ่งนี้โบราณท่านสาปสรร
ย่อมรู้ทั่วเป็นผัวเป็นเมียกัน แต่อนันตชาติสืบสืบมา
เจ้าพลายยงฤทธิเรืองกู้เมืองไว้  จับงวนบุนเจ๋งได้ไม่เข่นฆ่า
ไปแทนคุณชาวไทยในอยุธยา    ว่าแล้วจัดแจงแต่งลุกพลัน...

ว่าแล้วก้แต่งตัวให้นางเวสิว จากนั้นพานางเวสิวมาขึ้นเกี้ยวหามไปส่งพลายยงที่สำเภาที่จอดรออยู่  พอได้เวลาก็ถอนสมอชักใบสำเภาออกเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา  เมื่ออกเดินทางนางเวสิวและข้ารับใช้ของนางก็ร้องไห้อาลัยอยู่อื้ออึง  พลายยงก็ไม่รู้จะปลอบดยนประการใด แต่ก็คิดว่า

"อันเวสิวเขาให้มาเป็นคู่    จะสมสู่ร่วมรักหาควรไม่
ถ้าถวายเจ้าฟ้าพาราไทย    จะได้เกียรติยศปรากฏจริง"


สำเภาใช้เวลาเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา ๑ เดือน (เอ! ตอนไปบอกว่าเดินทางไป ๑๕ วัน แต่ขากลับทำไมเดินทางนานเป็นเท่าตัว) เมื่อมาถึงพลายยงก็รีบเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อกราบบังคมทูลราชการทัพที่เมืองตังจิ๋วและทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องบรรณาการและถวายนางเวสิวเป็นข้าบริจาริกา

แต่สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิรับสั่งว่า

"กูไม่ต้องการลูกหลานเจ๊ก      เป็นเมืองเล็กน้อยนักหาควรไม่
เอ็งไปได้ยากลำบากใจ          ก็ยกให้เลี้ยงอยู่เป็นคู่ครอง"

แล้วก็มีพระราชดำรัสสรรเสริญพลายยงว่าเก่งกล้าหาญไม่มีใครเทียม แล้วพระราชทานเครื่องยศแต่งตั้งให้เป็นที่เจ้าเชียงอินทร์(เจ้าเมืองเชียงใหม่) ทรงพระนามว่า พระเจ้าสมมติวงศ์ ขึ้นไปปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเจ้าประเทศราช

พลายยงกราบถวายบังคมลาออกมาจากที่ แล้วก็ให้บ่าวไพร่ช่วยกันขนของไปที่วังแขกเมือง เมื่อถึงวังแขกเมือง พลายยงก็เล่าเรื่องที่ไปรบที่เมืองตังจิ๋วให้นางสร้อยฟ้ามารดาฟัง พร้อมกันนั้นพลายยงก็แนะนำให้นางสร้อยฟ้ารู้จักกับนางเวสิวที่เจ้าเมืองตังจิ๋วมอบให้เป็นเมียมา

นางสร้อยฟ้าก้รับขวัญพลายยงและนางเวสิวลูกสะใภ้ว่า

"เป็นบุญเจ้าทั้งสองเคยครองกัน    อย่าโศกศัลย์เสียใจเลยลูกยา
เจ้าไร้ยาติขาดมิตรมาเมืองนี้   ชนนีจะรักให้นักหนา
อุตส่าห์รักษาตัวกลัวนินทา    สิ่งใดชั่วช้าอย่าได้ทำ
ตัวแม่นี้ก็แก่เกือบชรา       เหมือนหนึ่งเข้าป่าเมื่อจวนค่ำ
เงินทองมีเท่าไรมิได้อำ    ก็นึกคร่ำว่าจะปลูกให้ลูกยา
แม้นตายหมายฝากซึ่งซากผี     เมื่อโรคมีเจ็บไข้ได้รักษา
จงอยู่กินด้วยกันอย่าฉันทา       ว่าแล้วลุกมานั่งหอกลาง"

จากนั้นนางสร้อยฟ้าก็สั่งให้บ่าวไพร่ช่วยกันจัดห้องหับให้นางเวสิว

เอาเท่านี้ก่อน.

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 20 คำสั่ง