เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 30546 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๓)
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 11 พ.ย. 09, 15:50

เสภาขุนช้างขุนแผน  ตอนที่ ๓๗

-  ตำราข้าไม่ถึงขี้ผึ้งฝรั่ง    ที่เปื่อยพังน้ำฝาดแลดีเหลือ
เข้าลูกเบญกานีสีเสียดเจือ   เรียกเนื้อให้ชิดติดกระชับ

-  ตำราหมอฝรั่งชั่งสัประดน    ของเขาฝนไว้ทาเป็นยาฝี
ถ้าแลแผลพุพองเป็นหนองดี     ฤาจะลองดูสักทีเจ้าสร้อยฟ้า

(คัดมาให้ดูเท่านี้ คัดมากเดี๋ยวเขาว่าเอา)
มีเรื่องขี้ผึ้งฝรั่ง  แสดงว่าเสภาตอนนี้น่าจะแต่งสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พร้อมกับเป็นหมอช่วยรักษาคนด้วยยาแบบใหม่ คนแต่งเลยเอามาใส่ไว้ในเสภา ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 11 พ.ย. 09, 16:03

อ้างถึง
อ. เขียนว่าตลกปัจจุบัน คือ ตลกลาว และ ไม่ได้เขียนถึง เพศที่สาม ที่ปรากฏเป็นตัวตลก
ทั้งในหนัง ในละครมากมาย
           ในขุนช้างขุนแผน คงไม่มีตัวสมทบ หรือตัวประกอบ ที่เป็นเพศที่สาม ?

ฉบับหอพระสมุด  ที่อ่านมายังไม่เคยเจอเพศที่สามค่ะ    เพิ่งมาเห็นจากที่คุณหลวงเล็กโพสต์เล่าถึงประวัติพลายจันทร์ พ่อของขุนแผน  ว่าพอบวชเณรก็ได้เรื่อง   ถูกเณรรุ่นพี่เกี้ยวเข้าให้ เพราะรูปหล่อถูกใจ

พิศพลางย่างเหย่าเข้าในห้อง            ร้องพ่อนั่นจันหนูจ๋า
มาพูดเล่นเปนไรไฉนนา                   เภสัชเพลาก็มีกิน
เสียแรงเรียกน้อยหรือดื้อเสียได้          ชะใจพ่อหนูจันไม่ผันผิน
ฉันนี้รักนักหนาเท่าฟ้าดิน                  จนสุดสิ้นชีวิตไม่คิดคลาย
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2935.45

แปลกใจมาก  เพราะเพิ่งเคยเจอวรรณคดีไทยที่พูดถึงเรื่อง "สวาท" หรือรักร่วมเพศชายกับชายอย่างเต็มปากก็ในเรื่องนี้ละค่ะ
ในฉบับหอพระสมุด  ยังไม่เจอ  เจอแต่หญิงกับหญิง กล่าวไว้ประปราย  
เห็นจะต้องขอแรงคุณเพ็ญชมพูช่วยหาให้ที   เผื่อหลงหูหลงตาดิฉันไปอีก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 11 พ.ย. 09, 16:09

ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่เสี่ยงกองเซนเซอร์เข้ามาตอบผมนะครับ แถมมีรูปประกอบอีกต่างหากดูเป็นวิชาการอย่างยิ่งยวด

ผมนั้น  พอเห็นลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร เครื่องรางของขุนช้างที่คุณเพ็ญเอามาบอกใบ้ ก็เข้าใจได้ทันทีว่า ใครมีอยู่กับตัวต้องหนังเหนียว ยิงไม่ออกฟันไม่เข้าแน่  ก็เลยพลอยเดาเลยไป โบราณก็คงจะมีความเชื่อว่าคนที่มีกระหำไขว้ จะอยู่ยงคงกระพันด้วย

ตกลงน่าจะหมายความว่า อ้ายเกิด ผัวอีคำด่าง คงกระพัน (เพราะมี) กระหำไขว้ไข่ดันเป็นทองแดง
คือมีเครื่องรางสดๆนี้อยู่ในตัวถึง2อย่าง เรียกว่าดับเบิ้ลเหนียวว่างั้นเถอะ

 คงไม่ใช่อ้ายเกิดมีความสามารถพิเศษในการจับหำตัวเองไขว้แล้วดันไข่ขึ้นไป1เม็ด  อีก1เม็ดทิ้งไว้ให้เป็นไข่ทองแดง  จึงมีคิวได้รับเลือกไปในงานบู๊นี้นะผมว่า
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 08:32

หามิได้ครับ คุณ NAVARAT.C  ข้อความที่มีรูปประกอบเรื่องไข่ทองแดงไม่ใช่ข้อความของผม

เรื่องลูกไข่ดันทองแดงกำแพงเพชร เคยอ่านหนังสืออยุธยายศยิ่งฟ้า : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ของคุณสุจิตต์  วงษ์เทศ  กล่าวถึงชายชาวกรุงศรีอยุธยานิยมฝังก้อนโลหะอะไรบางอย่างไว้แถวๆอวัยวะเพศ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน เรื่องอย่างนี้ ถ้าจำไม่ผิด หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือกาญจนาคพันธ์ก็เคยเล่าไว้เหมือนกัน  การฝังโลหะตามร่างกายด้วยเชื่อถือว่าจะช่วยให้คงกระพัน คงเป็นที่นิยมของชายในดินแดนแถบนี้สมัยก่อน  เพราะเคยได้ยินว่า ทางล้านนาก็มี ทางเขมรก็มี (ดูในบันทึกของโจวตากวน)

เรื่องเล่นสวาท นอกจากเสภาประวัติพลายจันทร์ที่ได้เล่าไว้ในกระทู้ ๑ แล้ว ก็มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในส่วนกฎพระสงฆ์ (ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑)ด้วย แต่จำไม่ได้ว่าข้อไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 08:49

คนที่ตอบข้อข้องใจของคุณ Navarat C. พร้อมภาพอนาโตมี่วิชาการ จนไม่มีช่องทางให้เวบมาสเตอร์เซนเซอร์  คือจอมยุทธอีกคนของเรือนไทย  ชื่อ คุณ SILA ค่ะ

คุณหลวงเล็กบอกว่า
อ้างถึง
เรื่องเล่นสวาท นอกจากเสภาประวัติพลายจันทร์ที่ได้เล่าไว้ในกระทู้ ๑ แล้ว ก็มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในส่วนกฎพระสงฆ์ (ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑)ด้วย แต่จำไม่ได้ว่าข้อไหน


สนใจกฎหมายตราสามดวงและกฎพระสงฆ์    คุณหลวงเล็กจำได้ไหมคะว่าเอ่ยไว้ทำนองไหน

ขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด  ไม่มีชายกับชาย   มีแต่บทขุนช้าง ออกไปในทาง molest ขุนแผน นิดหน่อย  แต่ดูเจตนาแล้ว น่าจะเป็นประจบประแจงเอาตัวรอด  มากกว่ารู้สึกจริงจัง
กวีเขียนตอนนี้เป็นเรื่องตลกของขุนช้าง  อยู่ในตอน ๑๔ ค่ะ

อีพ่อเนื้อหอมทูลกระหม่อมแก้ว                             เขาว่าพ่อตายแล้วกลับมาได้
บุญญาธิการพ่อชาญชัย                                      เครื่องในของพ่องามดังดอกบัว
เข้าเลิกผ้าคว้าไขว่จะขอจูบ                                  เอามือลูบโน่นนี่มาขยี้หัว
หอมเป็นกระแจะปนเห็นพ้นตัว                              เขาก็ชวนกันหัวอยู่งันงัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 09:21

        บทความของ อ.นิธิ เรื่องตัวตลก ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่คุณเพ็ญชมพูกล่าวถึง อ่านแล้วเห็นว่า
อ.นิธิ เขียนถึงตัวตลกไม่ครบ ครับ
         อ. เขียนว่าตลกปัจจุบัน คือ ตลกลาว และ ไม่ได้เขียนถึง เพศที่สาม ที่ปรากฏเป็นตัวตลก
ทั้งในหนัง ในละครมากมาย

เพศที่สามปัจจุบันปรากฏเป็นเรื่องตลก แต่ในสมัยก่อนเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว

ชื่อที่ใช้เรียกเพศที่สามคือ กะเทย หรือ บัณเฑาะก์ หรือถ้าให้ทันสมัยหน่อยก็เป็น เกย์, ทอม, ดี้  ในสมัยก่อนรักร่วมเพศระหว่างชายกับชายเรียกว่า เล่นสวาท ถ้าเป็นหญิงกับหญิงเรียกว่า เล่นเพื่อน

เรื่องของรักร่วมเพศมีมานานแล้วมีหลักฐานตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี ค.ศ.๑๖๓๔ นายโยส สเคาเต็น อดีตเจ้าหน้าที่การค้าของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาถูกลงโทษประหารชีวิตโดยรัฐบาลของเนเธอร์แลนด์ที่เมืองปัตตาเวียในข้อหาว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรงในสังคมตะวันตก นายสเคาเต็นยอมรับสารภาพและอ้างว่าได้รับแบบอย่างพฤติกรรมรักร่วมเพศมาจากคนในกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรม "เล่นสวาท" มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากประชุมประกาศในรัชกาลที่ ๔ ที่ได้บันทึกถึงความประพฤติของพระภิกษุด้วยข้อความที่ว่า

...บางจำพวกเป็นคนเกียจคร้าน กลัวจะเกณฑ์ให้ราชการ หลบลี้หนีเข้าบวชเป็นภิกษุ สามเณร อาศัยพึ่งพระศาสนาเลี้ยงชีวิต แล้วประพฤติอนาจารทุจริตต่างๆ จนถึงเล่นสวาทเป็นปาราชิกก็มีอยู่โดยมาก...

สำหรับพฤติกรรม "เล่นเพื่อน" มีการประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลข้อที่ ๑๒๔ กล่าวถึงโทษของการกระทำความผิดดังกล่าวไว้ดังนี้

อนึ่งสนมกำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกัน ทำดุจชายเป็นชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักคอประจานรอบพระราชวัง ที่หนึ่งให้เอาเป็นชาวสตึง ที่หนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ในส่วนที่ ๖ ว่าด้วยความผิดที่กระทำอนาจาร หมวดที่ ๑ ความผิดฐานกระทำอนาจารเกี่ยวกับสาธารณะ มาตรา ๑๒๔ กล่าวว่า

ผู้ใดกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือกระทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษติดคุกตั้งแต่ ๓ เดือนขึ้นไป จนถึง ๓ ปี แลให้ปรับตั้งแต่ ๕๐ บาทขึ้นไปถึง ๕๐๐ บาทด้วยอิกโสด ๑

แม้ว่าในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพศที่สามและพฤติกรรมรักร่วมเพศไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย เป็นเรื่องที่ต้องปิด ๆ บัง ๆ แต่ก็มีบันทึกไว้ในรูปของวรรณกรรมบ้าง ที่โด่งดังมากเห็นจะได้แก่เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ ของคุณสุวรรณในสมัยรัชกาลที่ ๓

ดีที่บุคคลในเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถ้าอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ให้เสียวสันหลังแทน

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 09:32

อาจารย์ครับ ยังค่อยๆ ตามอ่าน ค่อยๆ ค้น แล้วคว้า ตอนนี้เป็น องคต ครับ
 
       อ่านลีลาขุนช้างต้อนรับการกลับมาของขุนแผนแล้วจั๊ก(กะ)จี้ พิกล

       
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 10:01

ใน พระไอยการลักษณะพยาน ของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตรามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและได้รับการตรวจชำระแก้ไขในรัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงคนที่ไม่ควรให้เป็นพยานในศาลจำนวน ๓๓ จำพวก สองจำพวกในนั้น คือ กระเทย และ บันเดาะ (เขียนตามต้นฉบับ) แสดงว่า กะเทยกับบัณเฑาะก์ เป็นคนละพวกกัน แล้วต่างกันอย่างไร คำสองคำนี้มีที่มาต่างกัน

กะเทย เป็นคำที่ไทยยืมเขมรมาใช้ คำเดิมคือ “เขฺทีย” อ่านว่า เขฺตย (ขฺเตย) ดร. บรรจบ พันธุเมธา ท่านเขียนคำนี้เป็นภาษาไทยว่า กระเทย เหมือนในกฎหมายตราสามดวง แต่ไฉนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕  และ ๒๕๔๒ เก็บเฉพาะ กะเทย ไว้ ตามพจนานุกรมดังกล่าว กะเทย หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาตรงข้ามกับเพศของตนเอง; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลำไยกะเทย. (อะหม ว่า เทย) ถ้ายึดถือคำนิยามของราชบัณฑิตยสถานอย่างเคร่งครัด คำว่า กะเทย หมายถึงทั้งชายและหญิงก็ได้ผู้ที่มีบุคลิกภาพตรงข้ามกับเพศของตน

ส่วนคำว่า บัณเฑาะก์ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ปณฺฑก  คำนี้มีรายละเอียดเขียนถึงในคัมภีร์ สารัตถสังคหะ  ตอนว่า “ปณฺฑกาน วิภาวนกถา” (ความว่าด้วยบัณเฑาะก์) แบ่งเป็น ๕ จำพวก  ดังนี้

๑. โอปักกมิปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่ถูกตอน

๒. อาสิตตปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดบังเกิดควมกำหนัดยินดี มีความกระวนกระวายขึ้นแล้วแลเอาปากคาบซึ่งนิมิตต์แห่งบุรุษทั้งหลายอื่น ดูดกินซึ่งอสุจิจึงระงับดับความกระวนกระวาย

๓. อุสุยยปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดแล เห็นซึ่งการอัชฌาจารแห่งบุคคลทั้งหลายอื่นแล้ว บังเกิดมีความริษยาขึ้นมา ความกระวนกระวายของคนนั้น ก็พลอยระงับดับลงในกาลเมื่อแลเห็นนั้น

4. นปุ สกปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดหมอิตถีภาวรูปบ่มิได้ หาบุรุษภาวรูปบ่มิได้ ในปฏิสนธิกาลม บังเกิดมิได้เป็นหญิงเป็นชาย เพศหญิงชายนั้นหาปรากฎไม่ หรือ “ผู้ไม่มีเพศแต่กำเนิด

๕. อุภโตพยัญชนกปัณเฑาะก์ คือ มีสองเพศ จะเป็นหญิงก็ได้ จะเป็นชายก็ได้ มีด้วยกันทั้งสองเพศ  จะทำการรักกับชาย ปุริสนิมิตต์เพศชายก็หายไป จะทำการรักกับหญิง อิตถีนิมิตต์เพศก็หายไป

ความเห็นในเรื่องจำพวกบัณเฑาะก์ในคัมภีร์ สมันตปาสาทิกา แตกต่างไปจาก สารัตถสังคหะ เล็กน้อย จำพวกที่ ๕ ข้างต้น ถูกแทนที่ด้วย ปักขปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่เป็นบัณเฑาะก์เฉพาะปักข์ เมื่อถึงข้างขึ้นเป็นเพศชาย เมื่อถึงข้างแรมเป็นเพศหญิง


เรื่องที่ว่าไม่ให้กะเทยและบัณเฑาะก์เป็นพยานในศาลนั้น มาจากคติความเชื่อว่า คนที่จะเป็นพยานได้ต้องไม่ใช่คนบาป แต่ในทางพุทธศาสนาดังเช่นที่กล่าวไว้ใน ไตรภูมิพระร่วง คนที่เกิดเป็นกะเทยเนื่องจากผลกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน ๆ คือ เป็นชายที่ผิดเมียผู้อื่น หลังจากไปตกนรกปีนต้นงิ้วแล้ว ยังต้องไปเกิดเป็นกะเทยอีก ๑,๐๐๐ ชาติ จึงจะพ้นกรรม ดังนั้นจึงถือว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์และควรเชื่อถือ

ข้อมูลจากหนังสือภาษาอัชฌาไศรย ภาคชายคาภาษาไทย เรื่อง กะเทย / บัณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ  โดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร
http://gotoknow.org/blog/thaikm/151017



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 11:10

กฎพระสงฆ์ ข้อที่ ๑๐ (ขอตัดเฉพะตอนที่กล่าวถึง ลูกสวาท)

...ลางเหล่าเหนชายเดกลูกข้าราชการ อาณาประชาราษฎร รูปร่างหมดหน้า ก็พูดจาเกลี้ยกล่อมชักชวนไปไว้แล้วกอดจูบหลับนอนเคล้าคลึงไปไหนเอาไปด้วย  แต่งตัวเด็กโอ่อวดประกวดกัน  เรียกว่าลูกสวาศ ลูกสุดใจ ศรียะตราหนึ่งรัด ยานัตก็มีบ้าง  ช่วงชิงกันหึงษาพยาบาทจนเกิดวิวาทตีรันกันตาย  ด้วยไม้กระบองซั่น  พิจารณาได้ตัวมารับเปนสัตย  ได้ไม้กระบองซั่นเปนหลายอัน...

คัดมาจากกฎพระสงฆ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔ จ.ศ. ๑๒๓๙ อักขรวิธีอาจจะต่างจากในกฎหมายตราสามดวงบ้าง เพราะขณะที่พิมพ์นี้ไม่มีกฎหมายตราสามดวงอยู่กับตัว 

เรื่องลูกสวาทที่เป็นคดีโด่งดังมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวขานกันมาก คือ กรณีหม่อมไกรสร หรือ กรมหลวงรักษรณเรศ ถูกกล่าวหาว่าพระองค์มีสัมพันธ์สวาทกับชายที่เป็นตัวละครของพระองค์  รายละเอียดน่าหาอ่านพอได้ไม่ยากนัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 12:01

ขอเลี้ยวออกนอกซอยจีนและแขกไปหน่อย  ตามไกด์ทั้ง ๓ คนที่นำทาง

กรณีหม่อมไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ เคยพูดกันมาบ้างในเรือนไทย ๓ ปีก่อนค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1614.90

ยังมีคำถามว่า ท่านเล่นสวาทจริงหรือ  หรือว่าท่านเป็นชายแท้ที่หลงรักกระเทย     
ถ้าเป็นสมัยนี้  ก็อาจเทียบว่า  ผู้ชายที่หลงใหลน้องปอย น่าจะเป็นชายแท้มากกว่าเกย์

คำเรียกลูกสวาทว่า "ศรียะตรา" (สียะตรา) เป็นไปได้ ว่ามีบททำนองนี้อยู่ในเรื่องอิเหนา   เป็นที่มาของคำนี้
เห็นพฤติกรรมที่ระเด่นมนตรีทำกับเด็กน้อยอย่างสียะตรา  สมมุติว่าเป็นบุษบา  (ตอนอิเหนาเข้าเมืองดาหา)  อ่านแล้วก็ตะขิดตะขวงใจ     ถ้าคุณเพ็ญชมพูหาเจอ  ก็ขอตัวอย่างด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 13:31

กรณีของหม่อมไกรสร  เรื่องที่ถูกกล่าวว่ามีความสัมพันธ์สวาทกับตัวละครของพระองค์ นัยว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เสริมเข้ามาสมทบกับข้อกล่าวหาว่าทรงคิดก่อการกบฏ จำไม่ได้ว่าได้อ่านจากเอกสารอะไร เขียนเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องนี้ ว่าเรียกเอาตัวละครของพระองค์มาให้การด้วย ซึ่งตัวละครที่เรียกมาให้การก็ให้การตรงกัน  ในคำตัดสินโทษของหม่อมไกรสรจึงรวมเอาโทษเรื่องที่ทรงเล่นสวาทมาด้วย เหตุเพราะพฤติกรรมที่เสื่อมพระเกียรติแห่งพระบรมราชวงศ์   อันที่จริงกรมหลวงรักษรณเรศ เป็นเจ้านายที่รัชกาลที่ ๓ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาก จึงได้ทรงมอบหมายให้ทรงกำกับดูแลกรมสังฆการี และกรมวัง  ถ้าอ่านในหมายรับสั่งสมัยรัชกาลที่ ๓ บางฉบับ จะได้เห็นข้อความลงท้ายว่า หากผู้รับรับสั่งมีข้อสงสัยในการปฏิบัติประการใด ให้กราบทูลถามกรมหลวง(รักษรณเรศ) เรื่องหม่อมไกรสร ขออนุญาตยุติแต่เท่านี้  แต่หากผู้ใดจะเสริมก็ได้นะครับ

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีเรื่องพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งต้องอธิกรณ์ว่า เล่นสวาท กรมสังฆการีสอบสวนได้ความจริง พระราชาคณะรูปนั้นต้องลาสึก

ถ้าเป็นเรื่องอิเหนา  คงจะเป็นตอนนี้กระมังครับ

เมื่อนั้น                      ระเด่นมนตรีเกษมศานต์
กอดประทับรับขวัญพระกุมาร    แสนสำราญภิรมย์ชมเชย
พาไปให้บรรทมบนแท่นทอง    เอนแอบแนบประคองเคียงเขนย
เสสรวลชวนพลอดกอดก่ายเกย   พระชื่นเชยชมต่างนางบุษบา

ครั้นพระกุมารหลับสนิท     พระโอบอุ้มจุมพิตขนิษฐา
โลมเล้าลูบไล้ไปมา         สำคัญว่าบุษบานารี
พิศพักตร์พักตร์ผ่องดังเดือนฉาย  พิศทรงทรงทรงคล้ายนางโฉมศรี
พิศปรางเหมือนปรางพระบุตรี    รัศมีสีเนื้อละกลกัน
ทั้งโอษฐ์องค์ขนงเนตรนาสา    ละม้ายแม้นบุษบาทุกสิ่งสรรพ์
พระกอดจูบลูบไล้เกี้ยวพัน        จนบรรทมหลับสนิทไป ฯ

เอาเท่านี้ คัดมาก เดี๋ยวเขาจะว่าเอา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 14:17

ผมเพิ่งกลับเข้าบ้านมา กระทู้ก็ว่ากันไปไกลแล้ว ขอตั้งตัวเก็บไก่เข้าเล้าก่อน ปล่อยไว้ตั้งแต่เมื่อวาน
ขออภัยคุณหลวงเล็กและคุณSilaด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 14:28

คำอธิษฐาน ๑๒ ข้อของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่าคะ

1. ขออย่าให้เป็นคนชิดเจ้าคุณผู้ใหญ่...
2. ขออย่าเป็นคนใช้เจ้าพระยานครฯ
3. ขออย่าเป็นคนต้มน้ำร้อนพระยาศรี
4. ขออย่าเป็นมโหรีพระยาโคราช
5. ขออย่าเป็นสวาสดิ์พระองค์ชุมสาย 
6. ขออย่าเป็นฝีพายเจ้าฟ้าอาภรณ์
7. ขออย่าเป็นละครของแม่น้อยบ้า
8. ขออย่าให้รู้ชะตาเหมือนอาจารย์เซ่ง
9. ขออย่าเป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก
10. อย่าให้เป็นดอกไม้เจ้าคุณวัง
12. ขออย่าเป็นระฆังวัดบวรฯ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 14:50

อิเหนากับสียะตรา ผลงานคุณจักรพันธุ์ โปษยกฤต

พระบุตรายังงามถึงเพียงนี้   พระบุตรีจะงามสักเพียงไหน
ชมพลางทางชำเลืองแลไป  ดูทีท้าวไทเห็นโกรธา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 15:04

คำอธิษฐาน ๑๒ ข้อของคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่าคะ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานอธิบายไว้ในหนังสือคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก ว่า คำอธิษฐานนี้กรมหลวงประจักรศิลปาคมทรงจำไว้ได้จดประทานมา มีความหมายดังนี้

๑. "ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่"
คือ คนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว

๒. "ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร"
คือ คนใช้ของเจ้าพระนคร(น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือเป็นต้น

๓. "ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี"
คือ คนต้มน้ำร้อนของพระยาศรีสหเทพ(เพ็ง) อธิบายว่า เพราะพระยาศรีฯนั้นแขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้

๔. "ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช"
อธิบายว่า พระยานครราชสีมาครั้งนั้น อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่ในกรุงเทพฯ มีแต่พวกข่าและลาวเชลยก็เอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน

๕. "ขออย่าให้เป็นสวาดิของพระองค์ชุมสาย"
คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม อธิบายว่า ถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหน คนนั้นมักถูกจำโซ่ตรวนในเวลาใช้ไม่ได้ดังพระหฤทัย


๖. "ขออย่างให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์"
อธิบายว่า ฝีพายเรือที่นั่งของเจ้าฟ้าอาภรณ์นั้น ต้องขานยาวถี่กว่าเรือลำไหนๆหมด

๗. "ขออย่างให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า"
คือละครของน้อย ธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) อธิบายว่า ละครโรงอื่นๆเขาเล่นเอาเงินโรง แต่ละครของน้อยคนนั้นถึงใครจะให้เพียงข้าวปลา หรือที่สุดจนกะปิหอมกระเทียมก็รับเล่น ได้อะไรก็เอาสิ่งนั้นมาแจกเป็นบำเหน็จแก่ตัวละคร

๘. "ขออย่างให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง"
อธิบายว่า นายเซ่งคนนั้นเป็นหมอดู ใครไปให้ดูก็มักทายว่าดวงชาตาดี จะถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง ได้เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็พากันหลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชาตาลงที่สุดนายเซ่งต้องถูกลงพระราชอาญา

๙. "ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก"
อธิบายว่า ท่านผู้หญิงฟักคนนั้นชอบเล่นเบี้ย มีอุบายนอกรีตอย่างหนึ่ง เวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ย มักทำกิริยาให้นายบ่อนมัวหลงดูที่ตัวท่ายผู้หญิงฟัก จนเป็นช่องให้พรรคพวกลักเปิดโปดูได้ กล่าวกันว่าเป็นนักเลงรวยด้วยอุบายอันนั้น

๑๐. "ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย"
คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก อธิบายว่า เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียวไม่รู้จักเปลี่ยน

๑๑. "ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง"
คือ เจ้าจอมมารดาตานีรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาฯ(บุนนาค) และเป็นเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ อธิบายว่า เจ้าคุณวังเป็นช่างดอกไม้ ฝีมือดีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ใครจะมีการงานก็มักไปขอดอกไม้ที่เจ้าคุณวัง เจ้าคุณวังต้องร้อยดอกไม้ช่วยงานเขาไม่ขาด จนดอกไม้ในสวนเจ้าคุณวังถูกเด็ดไม่มีโอกาสที่จะบานได้กับต้น

๑๒. "ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ"
อธิบายว่า ระฆังวัดอื่นๆโดยปรกติตีแต่เวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำ วันละ ๒ เวลา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ โปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาอาณัติสงฆ์ในการอย่างอื่น เช่นตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เช้าค่ำเป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศในสมัยนั้นจึงต้องตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ





 



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง