เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 13658 เทพปกรณัมกรีก: ประวัติและที่มาของเทพธิดาMnemosyne
Mnemosyne
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


 เมื่อ 10 พ.ย. 09, 11:37

มาแนะนำตัวและเล่าถึงที่มาของชื่อ นามปากกา Mnemosyne และชื่อเล่น Mneme ค่ะ

เหตุมีอยู่ว่าเมื่อนานมาแล้วเคยใช้นามปากกาว่า Zephyr
ตอนเขียนนิยายเรื่องแรกลงเวปเด็กดีเมื่อม.ปลาย
ตัวเองเป็นคนที่ชอบตำนานเทพกรณัมกรีกมากๆ แล้ว Zephyr เป็นเทพเจ้าแห่งสายลมตะวันคก
สายลมที่พัดพาความอบอุ่นมาให้หลังความหนาวอันอ้างว้าง เป็นผู้ส่งสารว่าฤดูใบไม้ผลิอันสดชื่นได้มาเยี่ยมเยือนแล้ว
ด้วยเหตุนี้สกรีนเนมต่างๆของเราถึงเป็น Zephyr ตลอดมา
แต่พอจะสมัครสมาชิกบางเวป พบว่าชื่อนี้มีท่านนักเขียนใช้อยู่แล้ว
เลยต้องหาอยู่นานจนกระทั่งมาลงตัวกับ Mnemosyne นี่แหละค่ะ ที่ดูเก๋ทั้งการสะกดคำ และความหมายที่มาของชื่อ

ก่อนอื่นเลย หลายท่านคงแอบสงสัยว่าชื่อของเทพธิดา Mnemosyne นั้นออกเสียงว่าอย่างไรกันแน่ ก็จะเฉลยให้ฟังเลยค่ะ
อ่านออกเสียงกึ่งๆระหว่าง เนมอสซินี่ หรือ นีมโมซินี่นะคะ

เอาล่ะค่ะเกริ่นมาพอสมควรแล้วมาฟังเรื่องราวของเทพธิดา Mnemosyne กันดีกว่า...


รูปภาพได้มาจาก Oil painting by Dante Gabriel Rossetti, 1881. Collection of the
Delaware Art Museum, Wilmington.


บันทึกการเข้า
Mnemosyne
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 11:39

Mnemosyne เป็นเทพธิดาแห่งความทรงจำ (Goddess of Memory) เป็นเทพธิดาชั้นสูงที่คนสมัยก่อนให้ความสำคัญมากเลยทีเดียว
เหตุด้วยถือความเชื่อกันว่าสิ่งที่ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์โลกทั้งหลายนั้นก็คือความทรงจำนั่นเอง
ดัง นั้นความทรงจำจึงเป็นของขวัญล้ำค่าที่ท่าเทพธิดาประทานให้แก่มนุษย์ เธอมีหน้าที่ตั้งชื่อให้สิ่งต่างๆบนโลกนี้ ซึ่งการนี้ทำให้มนุษย์สามารถมีภาษา
มีคำพูด มีชื่อเรียก จนเกิดการสื่อสารขึ้นได้ ความทรงจำในแง่ของการระลึกถึงมนุษย์เราก็ได้มาจากท่าเทพธิดาเช่นกัน
นอกจากนี้ เนมอสซินี่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์รายแรกอีกด้วย เพราะพรสวรรค์ของเธอคือพลังความสามรถในการใช้เหตุผลนั่นเอง

เมื่อสมัยก่อนที่ภาษาเขียน ยังไม่มี การถ่ายทอดเรื่องราวความรู้เป็นการบอกเล่ากันปากต่อปากเสียมาก
กวี และนักเล่านิทานในสมัยนั้นจึงอาศัยความจำที่ดี่เป็นหลัก ยิ่งหากคนเราไม่มีความทรงจำแล้ว คนเราก็คงไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน
ความรู้ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆที่ได้รับการสั่งสมมา ถ้าไม่สามรถจดจำได้ก็คงสูญเปล่า คนเราก็คงเปรียบเสมือนแค่ทารกน้อย ไม่มีความคิดความอ่านใดๆ
หากคนเราไม่สามรถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังได้ เวลาก็คงจะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย
และหากลำดับเวลาไม่ได้ก็คงไม่สามารถแยกแยะถึงเหตุอันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลตามมา

ด้วยเหตุนี้ผู้คนในยุคโบราณจึงนับถือเนมอสซินี่มาก
เพราะพรสวรรค์ในการจดจำได้เป็นพรสวรรค์ชั้นเลิศที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์และยังทำให้คนเราสามรถเรียนรู้และสั่งสมความรู้
ก่อให้เกิดศิลปวิทยาการหลายแขนง ด้วยการที่ความทรงจำทำให้คนเราจดจำรำลึกสิ่งต่างๆได้นั่นเอง

ดั่งที่ เพลโตได้กล่าวเอาไว้ถึงคุณค่าของความทรงจำในหนังสือที่เขาแต่งถึงเรื่องราวของโสเครติสว่า

"... If you had no memory you could not even remember that you ever did enjoy pleasure, and no recollection whatever of present pleasure could remain with you ..." [Socrates to Protarchus. Plato, Philebus 21c]



ทีนี้มาถึงเรื่องราวสนุกๆกันบ้าง แน่นอนว่าเกิดเป็นเทพธิดากรีกทั้งที ที่มาที่ไปย่อมไม่ธรรมดา
เทพธิดาเนมอสซินี่เป็นบุตรีของเทพเจ้ายูเรนัสซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์แรกที่ปกครองดูแลจักรวาล
แม่ของเธอคือ Gaia หรือโลก (Mother Earth) นั่นเอง
ตามตำนาน เอกลักษณ์ของเทพธิดาเนมอสซินี่คือผมยาวสลวยสีน้ำตาลแดง (rich auburn)
รูปภาพของเธอมักจะเห็นเป็นรูปเธอสยายผมเงางามของเธออยู่อย่างในรูปนี่ล่ะค่ะ

(credit: Digital Art courtesy of Ian Marke)


บันทึกการเข้า
Mnemosyne
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 11:40

จริงๆแล้วเรื่องราวของยูเรนัสกับพระนางไกยานี่ก็สนุกใช่ย่อยแต่คงเล่าได้โดยย่อมิฉะนั้นจะกลายเป็นพงศาวดารไป
เริ่มจากที่เธอคลอดยูเรนัสออกมาเพื่อที่จะมาปกคลุมตัวเธอไว้
หากไกยาเป็นโลก ยูเรนัสก็ถือเป็นสวรรค์หรือท้องฟ้าที่ห่มคลุมตัวเธอ
ด้วยการที่ยูเรนัสทับทาบโอบเธอไว้ เธอก็ได้คลอดลูกออกมาหลายต่อหลายคน
แต่เนื่องจากมีคนทำนายไว้ว่า ลูกที่เกิดจากไกยาจะฆ่าพ่อซึ่งก็คือยูเรนัส
ยูเรนัสจึงเนรเทศลูกไปบ้าง แอบซ่อนไว้ใต้พื้นโลก(ซึ่งก็คือในร่างของไกยา)ไว้บ้าง
จนไกยาอึดอัด รวมถึงโกรธแค้นที่ลูกๆถูกพรากไปจากเธอ
เธอ จึงยุยงลูกๆให้ลุกขึ้นต่อสู้ โครนอสหนึ่งในลูกของเธอกล้าพอที่จะลงมือและฆ่ายูเรนัสได้ในที่สุด ซึ่งเขาก็ได้ขึ้นปกครองจักรวลาต่อจากพ่อ
(ตอนนี้อาจจะงงๆหน่อยเพราะอยากกล่าวแต่ย่อๆ ขออภัยด้วย หากสนใจคงต้องลองหารายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือ เทพกรณัมกรีกนะคะ)

แอบนอกเรื่องไป จริงๆแล้วอยากจะบอกแค่ว่า เนมอสซินี่ ก็เป็นหนึ่งในลูกๆเหล่านี้ จัดอยู่ในกลุ่มเทพเจ้าที่เรียกรวมๆว่า Titans น่ะค่ะ
เรื่องราวความรักรุ่นพ่อแม่จบแล้วเดี๋ยวเรามาติดตามความรักของตัวเนมอสซินี่เองบ้างดีกว่านะคะ


เรื่อง ก็มีอยู่ว่า ซูส (Zeus)เทพเจ้าแห่งสายฟ้าผู้ปกครองเขาโอลิมปัส (ที่หลายๆท่านอาจจะรู้จักกันดีจากการ์ตูนดิสนีย์เรื่องเฮอร์คิวลิส)
ได้ไปถูกใจเนมอสซินี่เข้า ท่านจึงแปลงกายเป็นชายเลี้ยงแกะไปเกี้ยวพาเนมอสซินี่ที่ภูเขา Eleuther เขตครอบครองของเธอ
(ท่าน ทั้งหลายคงจำความเจ้าชู้ของท่านซูสได้ดีที่แอบไปมีลูกไว้กับสาวๆเต็มไปหมดจน พระนางฮีร่าภรรยาตัวจริงตามกำจัดไม่หวัดไม่ไหวซึ่งแน่นอนว่าเฮอร์คิวลิสเป็น หนึ่งในนั้น พระนางถึงส่งงูพิษประทานเข้าไปให้ถึงเปลนอนของทารกน้อยยังไงล่ะคะ แต่ตำนานว่าไว้ว่าซูสได้กับเนมอสซินี่ก่อนแต่งงานกับฮีร่าแฮะ ฉะนั้นคราวนี้ว่าท่านไม่ค่อยได้เต็มปาก)

นอกจากจะถูกใจเทพธิดาผมน้ำตาลแดงของเราแล้ว ท่านซุสก็มีเหตุผลสำคัญในการเลือกเข้าหาเนมอสซินี่
กล่าวคือท่านเพิ่งเสร็จศึกกับพวก Titans และฆ่าพ่อของตัวเองคือ Cronus ได้สำเร็จ
(อย่างนี้แหละครับ กรรมตามทัน โครนอสฆ่าพ่อ ตอนนี้ก็มาถูกลูกชายฆ่า ถึงจะเป็นถึงทวยเทพบนสวรรค์ก็ต่อยังต้องสู้แย่งชิงอำนาจกันน่าดู)

ที นี้ท่านซูสเลยกังวลว่าชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของท่านจะถูกลืมเลือน ท่านจึงต้องการได้นางเนมอสซินี่เพื่อที่ลูกๆที่เกิดกับนางจะมาคอยขับขานบท เพลงสรรเสริญเยินยอถึงความยิ่งใหญ่ของท่านบนสรวงสวรรค์มิให้ใครลืมเลือน
(ฉลาดมากๆอ่ะ แต่สงสารเนมอสซินี่ ท่านเล่นรักไม่จริง หวังแต่ผล งืมๆ)
หลัง จากอยู่กินกับเทพธิดาเนมอสซินี่ของเราได้เก้าคืนท่านก็จากไป จากนั้นไม่นาน เนมอสซินี่ก็คลอดบุตรอยู่ถึงเก้าวัน วันละหนึ่งคน จนได้บุตรีทั้งหมดเก้าคนด้วยกัน คือ

Calliope, Clio, Melpomene, Euterpe, Erato, Terpsichore, Urania, Thalia, and Polymnia

บุตรีทั้งเก้านั้นรวมเรียกว่า Muse(s) ตามความเชื่อถือกันในสมัยเรเนสซองต์

Muses นี้ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ โดยพวกเธอจะคอยเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและกวี ทำให้พวกเขาจดจำตำนานต่างๆได้แม่นยำ มีพรสวรรค์ทางด้านการเขียนเรื่องราว ด้านตนตรีการเต้นรำและการแสดง มีคำกล่าวเกี่ยวกับพวกนางไว้ว่า พวกนาง

"having one mind, their hearts set upon song and their spirit free from care".

Muses ทั้งหลายนั้นเป็นพรายน้ำ (Nymphs) จึงอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำพุ (springs of Helicon and with Pieris)
พวกนางจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Pierides อีกด้วย

ตำนานยุคก่อนนั้นในระยะช่วงประมาณศตวรรษที่สองกลับกล่าวว่า Muses นั้นดั้งเดิมมีเพียงสามคือ
Aoide ("song" or "voice"), Melete ("practice" or "occasion"), and Mneme ("memory").

ตำนานความเชื่อในแต่ละยุคอาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยตามแต่เทพเจ้าที่เคารพกันมากในยุคนั้นๆ
ชื่อ เล่นของเราก็ได้มาจากหนึ่งใน Muses คือ Mneme (อ่านว่า nee-mee) นี่ล่ะค่ะ ตอนแรกว่าจะให้เป็น Meme อ่านว่าเมเม่น่ารักดี แต่พอเห็นว่ามี นีมี่ ที่เป็นเทพธิดาแห่งความจำเหมือนๆกับ เนมอสซินี่ ก็ถูกใจทันทีเลยค่ะ


รูปภาพ "Apollo and the Muses" ผลงานของ Maarten de Vos วาดขึ้นในราวศตวรรษที่สิบหก ปัจจุบันอยู่ที่
Brussels, Koninklijk Museum


บันทึกการเข้า
Mnemosyne
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 11:41

แอบนอกเรื่อง ทีนี้เรามาต่อกันดีกว่า
ตามความเชื่อที่ว่ามีเทพธิดาเก้าองค์นั้น แต่ละองค์จะเป็นองค์อุปถัมภ์ของศิลปะแขนงต่างๆดังนี้

Calliope (the 'beautiful of speech') เป็นหัวหน้าของเทพธิดาทั้งเก้าและดูแลกวีนิพนธ์แบบมหากาพย์
มหากาพย์ที่เด่นๆที่เรารู้จักกันดีก็คงหนีไม่พ้น Illiad & Odyssey หรือตำนานของกรุงทรอยนั่นเอง

Clio (the 'glorious one') เป็นเทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์

Erato (the 'amorous one') เป็นเทพธิดาแห่งกวีแห่งความรัก เนื้อเพลง และบทเพลงแต่งงาน

Euterpe (the 'well-pleasing') เป็นเทพธิดาแห่งดนตรีและกาพย์กลอน

Melpomene (the 'chanting one') เป็นเทพธิดาแห่งเรื่องราวโศกนาฎกรรม
โศกนาฎกรรมในที่นี้เป็นรูปแบบการแต่งเรื่องในสมัยกรีกที่ตัวละครไม่สมหวังในความรักพลัดพรากหรือจบลงด้วยความตายค่ะ
ที่ พออ้างอิงถึงแล้วเข้าใจได้ทันทีก็คงเป็นเรื่องประมาณโรมิโอกับจูเลียตของ เชคสเปียร์ จริงๆแล้วต้นแบบของโรมิโอกับจูเลียตมาจากตำนานกรีกโรมันนะคะ
คือความรักของ Pyramus and Thisbe ที่ Ovid รวบรวมไว้ในหนังสือเรื่อง Metamorphoses ค่ะ แหม
ว่างๆน่าจะเอามาแปลให้อ่านกันจัง เป็นตำนานรักแบบโศกนาฎกรรมอันคลาสสิกที่เราชอบมากเลยค่ะ

Polyhymnia or Polymnia (the '[singer] of many hymns เป็นเทพธิดาแห่งบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ การพูดปราศรัย (oratory)
และการโต้ตอบคำถามเสียดสี (rhetoric) ค่ะ

ต้องขอโทษด้วยที่ตรงนี้อาจจะแปลไม่ตรงนักเพราะเป็นศัพท์เฉพาะที่นึกคำไทยไม่ออก oratory
นี่ ให้นึกถึงตอนที่โรมันมีสภาสูงแล้วมีวุฒิสมาชิกขึ้นกล่าวปราศรัยโน้มน้าวขอ โหวต หรือจะนึกภาพซีซ่าร์กล่าวสุนทรพจน์ปลุกใจก็คงพอได้นะคะ
(ตอนเทคคลาส Greek Mythology อาจารย์ลุกขึ้นอ่านคำปราศรัยของโสเครติสเป็นภาษาลาตินค่ะ ขนาดฟังไม่ออกยังขนลุกเกรียวเลยค่ะ อาจารย์แกใส่อารมณ์เต็มที่ ขลังได้ใจมากๆ)

ส่วน Rhetoric อาจจะคล้ายๆโต้วาทีบ้านเราหน่อยๆแต่มีหลักเกณฑ์แน่นอนและสวยงามมากกว่า คือเป็นการใช้เหตุผลหักล้าง
ถามเสียดสียอกย้อนไปมาจนกว่าจะมีคนจนมุมกันด้วยเหตุผลน่ะค่ะ เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งมาก โสเครติสถึงกับเปิดโรงเรียนสอนเลยนะคะ
เพลโต้ก็เป็นลูกศิษย์คนนึงของท่านค่ะ และได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องราวของโสเครติสตอนมีชีวิตไว้


แหมเขียนมาถึงตรงนี้ก็อยากเล่าเรื่องการตายของโสเครติสแล้วสิ แต่คงได้เขียนกันเป็นนิยายเรื่องยาวเลยค่ะ นึกๆเปรียบเทียบเพลโต
คงคล้ายๆพระอานนท์ในพุทธศาสนาของเรากระมังคะ ที่เป็นศิษย์เอกคอยจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วมาบันทึกไว้
หากจะต่างก็คงต่างเสียแต่ว่าเพลโตแต่งคล้ายๆนิยาย คือให้โสเตรติสพูดโน่นพูดนี่
แต่ หลักการหลายๆอย่างที่โสเครติสพูดในเรื่องกลับเป็นทฤษฎีที่เพลโตคิดขึ้นเอง และไม่มีตอนที่โสเครติสยังมีชีวิตอยู่ คล้ายๆยืมปากโสเตรติสมาโปรโมทไอเดียให้น่ะค่ะ

โอ้ นอกเรื่องไปยาว กลับมาต่อกันดีว่า อีกสามองค์เอง

Terpsichore (the '[one who] delights in dance') เป็นเทพธิดาแห่งการร้องเพลงประสานเสียง (Chorus)และการเต้นรำ
อันนี้อาจแปลตรงตัวไปหน่อย ถ้าจำไม่ผิด คอรัสสมัยกรีกเป็นฝ่ายช่วยร้องเพลงเล่าเรื่องในละครต่างๆ
จะ ร้องถึงสิ่งที่ตัวละครหลักไม่ได้พูดตรงๆเช่นความในใจของพระนาง หรือเล่าท้าวความอดีต หรือแม้แต่ร้องสิ่งที่คนดูอาจจะคิดอยู่ในใจ เช่นโอ้
ช่างน่าสงสารจังเลย อะไรอย่างนี้ เป็นกลุ่มที่ คอยดำเนินเรื่องคอยเชียร์ มีอารมณ์ร่วมไปกับคนดู

Thalia (the 'blossoming one') เป็นเทพธิดาแห่งสุขนาฎกรรม (comedy) ไม่อยากเรียกว่าเรื่องตลก คงหายขลังหมด

Urania (the 'celestial one'): เป็นเทพธิดาแห่งดาราศาสตร์ค่ะ
เอ้อ จบแล้วเทพธิดาทั้งเก้า คนเขียนเหนื่อย กลัวคนอ่านจะเหนื่อยด้วยจัง

เดี๋ยวพักหายใจแล้วเราไปต่อกันด้วยเรื่องเล่าโบราณกันหน่อยดีกว่าถ้ายังไม่เบื่อ

เอารูปที่โด่งดังคือ The Death of Socrates ของ Jacques-Louis David มาฝากกันค่ะ


บันทึกการเข้า
Mnemosyne
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 11:44

นอกจากเรื่องราวของเทพธิดาและบุตรีแล้ว สมัยโบราณยังมีความเชื่อที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนมอสซินี่อีกดังนี้ค่ะ
ว่ากันว่าเมื่อคนเราตายไปนั้นวิญญาณจะข้ามผ่านไปยังยมโลก (the Underworld)และ ณ ที่นี้ วิญญาณเหล่านั้นจะต้องเลือกระหว่าง...

ประการแรกคือการดื่มน้ำจากแม่น้ำ ลีธี (Lethe) แม่น้ำแห่งการหลงลืม (forgetfulness)
ซึ่งผู้ใดได้ดื่มแล้วจะหลงลืมความหลังในชาติที่ผ่านมาหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำอันเจ็บปวด หรือเป็นบทเรียนชีวิตที่ได้เรียนรู้
หรือประการที่สองคือดื่มจากเนมอสซินี่ น้ำพุแห่งความทรงจำ

อย่างที่บอกกันไปแล้วว่านางพรายน้ำพวกนี้จะสิงสถิตย์อยู่ตามน้ำพุต่างๆ เนมอสซินี่ก็เช่นเดียวกัน
ผู้ที่เลือกดื่มจากลีธีจะลืมทุกสิ่งทุกอย่าง และได้กลับไปเกิดใหม่ณ โลกมนุษย์ เพื่อกลับไปรับบทเรียนชิวิตที่ยังต้องเรียนรู้

ส่วนผู้ที่ดื่มจากเนมอสซินี่และเลือกที่จะจดจำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทรงจำอันโหดร้ายที่ได้พบพาน
เขาเหล่านั้นจะได้ไปอยู่ยังสวน Elysian ที่ซึ่งพวกเขาจะได้พบความสงบสุขอันเป็นนิรันดร์

ความสำคัญของความทรงจำนี้เป็นที่ประจักษ์ชัด อย่างที่จะเห็นได้จากพิธีกรรมการรับเข้าเป็นผู้หยั่งรู้ (Gnostics)
โดยผู้ที่ต้องการผ่านพิธีกรรมเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้หยั่งรู้โดยสมบูรณ์จะถูกนำไปยังบ่อน้ำสองบ่อ

ที่บ่อแรก พวกเขาจะถูกสั่งให้ดื่มน้ำจากลีธี เพื่อให้ลืมเลือนทุกสิ่งจากชาติปางเก่าก่อน

จากนั้นจะนำไปดื่มน้ำจากบ่อติดกันซึ่งคือน้ำจากน้ำพุเนมอสซินี่

ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้เขาเหล่านั้นสามรถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะได้เรียนรู้จากผู้ทำนาย (oracle) ได้
พวกเขาจะถูกฝังทั้งเป็นเพื่อแยกตัวโดเดี่ยวจากภายนอกอยู่ภายในสุสานของเทพเจ้า Trophonios รอการมาของผู้ทำนาย
หากผู้ที่ต้องการเข้าเป็นผู้หยั่งรู้ผ่านการทดสอบและพบว่าพวกเขาควรค่าแก่ตำแหน่งแล้วนั้น
ความลับทั้งหมดของจักรวาลจะถูกถ่ายทอดให้พวกเขาผ่านท่านผู้ทำนาย
จากนั้นเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเดินทางจากดินแดนแห่งความตายกลับสู่โลกมนุษย์แล้วนั้น
ผู้ หยั่งรู้จะได้รับการยอมรับเป็นนักบวชชั้นสูงและได้ประทับนั่งบนอาสน์พิเศษ ที่เรียกกันว่า บัลลังก์แห่งเนมอสซีนี่ "Throne of Mnemosyne"

ณ เวลาที่ผู้หยั่งรู้ประทับนั่งบนบัลลังก์นี้แล้ว
ท่านเหล่านั้นจะได้รับอภิสิทธิ์ให้สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้จากดินแดนใต้พื้นพิภพและได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นได้ค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับประวัติและที่มาของเทพธิดาเนมอสซินี่ของเรา
ยังไงก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะสนุกสนานและได้สาระความรู้ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ
ถ้าอยากรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ โพสท์ถามได้นะคะ
ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจะมาตามตอบให้ค่า

สนใจอ่านเพิ่มเติม จะตามไปที่บล็อกก็ได้นะคะ มีลงเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าอพอลโลไว้อย่างละเอียดค่ะ
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mneme&group=10
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 20:36

เคยเล่าเรื่องเทพเจ้ากรีกไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว    อ่านได้ที่นี่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1027.0

ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไร  เชิญมาเล่าต่อนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 20:41

ไปค้นกระทู้ต่างๆที่เกี่ยวกับเทพเจ้ากรีกมาให้
http://www.reurnthai.com/index.php?action=search2

ชอบเทพเจ้ากรีก คู่นี้ค่ะ 


บันทึกการเข้า
Mnemosyne
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 พ.ย. 09, 08:16

ขอบพระคุณมากเลยค่ะ
ได้ตามไปอ่านกระทู้ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1027.0 มาแล้วนะคะ
สนุกมาก อ่านทั้งหกหน้า ตาแฉะกันไปเลย

หลายองค์เป็นเทพที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงได้อ่านผ่านหูผ่านตามาแล้วเป็นส่วนใหญ่
เผอิญเคยถูกจับเรียน Iliad  Odyssey Aeneid Metamorphoses มาครบน่ะค่ะ
ตอนนั้นเล่นเอามึนเพราะตัวละครเยอะเหลือเกิน กว่าจะเรียนจบก็ลืมไปเกินครึ่ง
ของโฮเมอร์นี่ จะออกศึกกันที ร่ายตั้งแต่แม่ทัพยันไปถึงม้าเร็ว แบบใครใส่เกราะแบบไหน ลูกใครหลานใคร
ชอบของโอวิดมากๆเพราะเป็นเหมือนนิทานเรื่องสั้นๆมากกว่า แถมหลายๆเรื่องก็ออกจะดูโรแมนติก

อ่านกระทู้ที่แนะนำให้ข้างบน อ่านไปก็ทึ่งไปค่ะที่สามารถเอาตำนานเรื่องยาวๆ แต่ละเรื่อง มาขมวดเล่าให้สั้นๆ ได้ใจความ แต่ยังคงอรรถรสไว้
ปกติตัวเองจะเริ่มเขียนทีไร ออกมาเป็นมหากาพย์ทุกที่ เพราะแต่ละตัวละครก็จะมีปูมหลังอีนุงตุงนัง
แถมบางตำนานมีความเชื่อหลายสำนัก ต่างกันในรายละเอียดอีก
ก็ต้องนั่งคอยกรองว่าจะเลือกเวอร์ชั่นไหนมาเล่า หรือจะเล่าหลายๆทางเลือกให้คนอ่านเลือกที่ชอบเอาเอง

กระทู้ที่เป็น search เปิดไม่ขึ้นค่ะ แต่คงพอลองเสิร์จคีย์เวิร์ดดูเองได้ค่ะ
ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

อาทิตย์นี้พอจะว่างเพราะมีวันหยุด Veteran's Day เดี๋ยวเอาอพอลโลมาลงต่อเลยละกันค่า
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง