เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 15506 คำว่า สยามประเทศ
prasit
อสุรผัด
*
ตอบ: 35


 เมื่อ 08 พ.ย. 09, 03:16

สยามประเทศ เริ่มใช้คำนี้เมื่อรัชสมัยใด พ.ศ ใด ใคร่ขอรู้ จักขอบคุณ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 พ.ย. 09, 12:24

คำว่า "สยามประเทศ" ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว  ทางเอกสารของไทยเราเอง คำ สามเทสะ หรือ สยามเทสะ ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบแล้ว มีปรากฏอยู่ในหนังสือ "รัตนพิมพวงศ์" หรือตำนานพระแก้วมรกต ซึ่งพระพรหมราชปัญญาแห่งกรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัยแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งในหนังสือนั้นใช้ปนกันทั้งรูป สาม และ สฺยาม

หนังสือ "ชินกาลมาลีปกรณ์" อันเป็นวิทยานิพนธ์ทางประวัติพุทธศาสนาในล้านนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง, ซึ่งภิกษุรัตนปัญญาแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๙ ก็ได้กล่าวชัดเจนว่าในยุค พ.ศ. ๑๗๐๐-๑๘๐๐ นั้น สยามเทสะ คือบริเวณสุโขทัย, คำแปลจากภาษาบาลี ดังนี้

"นับจำเดิมแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานมาถึงศักราชได้ ๑๗๙๘  มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า โรจนราช ได้เสวย์ราชย์ในกรุงสุโขทัย ณ สยามประเทศ (สยามเทเส) ในชมพูทวีปนี้"............

ในคำนำลักษณะพระธรรมศาสตร์ ของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรัชกาลที่ ๑ ได้ให้รวบรวมสะสางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ นั้น เรียกเมืองไทยทั้งหมดว่า สยามประเทศ (ในภาคบาลีใช้สามเทส) และเรียกภาษาไทยว่า สยามภาษา (ในภาคบาลีใช้ สามภาสา)

"สยาม" ในคำสมาสอื่น ๆ นอกจากสยามประเทศ  ยังมีอีกหลายคำเช่น สยามรัฐ  สยามมินทร์  พระสยามเทวาธิราช สยามสมาคม  มีอีกคำหนึ่งอาจจะไม่มีใครเคยได้ยินคือ "สยามโลกัคคราช" คำ ๆ นี้หมายความว่าอย่างไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จิตร ภูมิศักดิ์ เล่าไว้ดังนี้

"(รัชกาลที่ ๔) ครั้นได้ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ก็เริ่มใช้คำ สยาม เป็นชื่อราชอาณาจักรไทยในการติดต่อกับต่างประเทศ. ได้หล่อรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้นเป็นตัวแทนวิญญาณของเทวดาผู้รักษาราชบัลลังก์สยาม. พระองค์เองก็ใช้นามในภาษาละตินว่า Rex Siamen Sium. ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้คิดดวงตราหรือพระราชลัญจกรขึ้นดวงหนึ่งสำหรับประทับพระราชสาส์นไปยังราชสำนักจีนโดยเฉพาะ ในดวงตรานั้นมีอักษรเขียนว่า สยามโลกัคคราช (สยาม+โลก+อัคค+ราช = ผู้เป็นใหญ่แห่งแผ่นดินสยาม). คำว่า สยามโลกัคคราช นี้เป็นคำที่เกิดจาการเลียนเสียงภาษาจีนที่ออกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า  เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง ซึ่งแปลว่า เจ้าแห่งประเทศเสี้ยมหลอ. สยามโลกัคค นั้นถ่ายเสียงออกมาจาก เสี้ยมหลอก๊ก, ส่วน อ๋อง นั้น แปลเป็นบาลีว่า ราช. (แต่ตราดวงนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ใช้ เพราะเลิกประเพณีจิ้มก้องราชสำนักจีนไปเสีย, อิทธิพลของประเทศทุนนิยมล่าเมืองขึ้นตะวันตกเข้ามาครอบครองบริเวณนี้แทนอิทธิพลของจีนเสียแล้ว)."

ข้อมูลจากหนังสือ  "ความเป็นมาของคำ สยาม, ขอม, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ"  โดย จิตร ภูมิศักดิ์
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 00:28

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าในบทต้นๆ
ของหนังสืออ้างอิงที่คุณเพ็ญชมพูใช้
เขจาจะเล่าว่าคำว่าคนไทยไม่ได้รู้จักคำว่า "สยาม"

แต่เป็นคำที่คนฮอลันดาใช้เรียกเมืองสยาม
ที่เป็นแบบนี้... เพราะ 1. เวลามันผ่านไปนานแล้ว
2. คนอยุธยา-รัตนโกสินทร์อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มอื่น...
ในขณะที่คนล้านนา(อย่างคนแต่งรัตนพิมพวงศ์)
หรือคนฮอลันดา ยังเห็นคนพวกนี้เป็นสยามอยู่...


ผมว่าเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย แต่พวกเราไม่ค่อยได้ใส่ใจกัน คือ...
พระจมเกล้าท่านไป "เอาสยาม" มาจากไหน ถึงทรงนำคำนี้มาเรียกชื่อสยามประเทศ ?
หรือท่านจะไปเที่ยวนครวัดมาแล้ว ฮืม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 09:54

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าในบทต้น ๆ
ของหนังสืออ้างอิงที่คุณเพ็ญชมพูใช้
เขาจะเล่าว่าคำว่าคนไทยไม่ได้รู้จักคำว่า "สยาม"

แต่เป็นคำที่คนฮอลันดาใช้เรียกเมืองสยาม

ที่เป็นแบบนี้... เพราะ 1. เวลามันผ่านไปนานแล้ว
2. คนอยุธยา-รัตนโกสินทร์อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มอื่น...
ในขณะที่คนล้านนา(อย่างคนแต่งรัตนพิมพวงศ์)
หรือคนฮอลันดา ยังเห็นคนพวกนี้เป็นสยามอยู่...

เท่าที่อ่านดู เรื่องนี้อยู่ในบทท้าย ๆ ของภาคหนึ่ง พื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์

บทที่ ๑๖ ที่มาและความหมายของสยามตามความเห็นในอดีต

จิตร ภูมิศักดิ์ อ้างข้อความจากหนังสือ "ราชอาณาจักรสยาม" ของ เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพระนารายณ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๙-๒๒๓๑ (de La Loubere, Du Royaume de Siam, Tome I, Amsterdum, 1691, pp. 15-17.  ภาษาไทยดู จดหมายเหตุลาลูแบร์, กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแปล, ฉบับพิมพ์คุรุสภา ๒๕๐๕, เล่ม ๑ หน้า ๒๓-๒๕.)

ชื่อ เซียม (siam) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวเซียม คำนี้เป็นคำหนึ่งในบรรดาคำที่พวกโปรตุเกสในอินเดียใช้กัน, และก็เป็นคำที่ยากจะค้นหารากเหง้าที่มาของมันได้  พวกโปรตุเกสใช้คำนี้เป็นชื่อเรียกชนชาติ มิใช่เป็นชื่อราชอาณาจักร.....อนึ่งใครก็ตามที่เข้าใจภาษาโปรตุเกสย่อมรู้ดีว่า รูปคำที่โปรตุเกสเขียนคำนี้เป็น Siam บ้างและ Siao บ้างนั้น เป็นคำเดียวกัน  และถ้าจะเอาคำโปรตุเกสนี้มาอ่านออกเสียงตามอักขรวิธีของฝรั่งเศสเราแล้วก็ต้องออกเสียงว่า ซียอง (Sions) มิใช่เซียม (Siams); เช่นเดียวกัน เมื่อเขียนเป็นภาษาละติน ก็เรียกชนชาตินี้ว่า ซิโอเน (Siones)

ชื่อจริงของชาวเซียมแปลว่า ฟรองซ์

ชาวเซียมนั้นเรียกตัวเองว่า ไท (Tai), หมายความว่า อิสระ, ตามความหมายของคำในภาษาของเขาซึ่งยังมีความหมายเช่นนั้นมาจนทุกวันนี้  ชาวเซียมมีความภูมิใจที่ใช้คำนี้เช่นเดียวกันกับบรรรพบุรุษของเราซึ่งใช้นามว่า ฟรองซ์ (Franc) เมื่อได้กอบกู้อิสระภาพของชาวกอลให้หลุดพ้นจากอำนาจครอบครองของโรมันมาได้  ผู้ที่รู้ภาษามอญ (Pegu) ยืนยันว่าคำ เซียม ในภาษามอญนั้นแปลว่า อิสระ ถ้าเช่นนั้นบางทีคงจะเป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสยืมคำนี้มาจากภาษามอญ, น่าจะเป็นว่าได้รู้จักชาวเซียมโดยผ่านชาวมอญอีกที   แต่อย่างไรก็ดี นาวารเรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรจีน (Traitez Historique du Royaume de la Chine) บทที่ ๑ ตอนที่ ๕ ว่า ชื่อ เซียม, ซึ่งนายนาวาเรตเขียน เซียน (Sian) นั้น, มาจากคำสองคำคือ เซียนหลอ (Sian-lo), แต่หาได้อธิบายไว้ไม่ว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายว่ากระไร, ทั้งก็มิได้บอกไว้ว่าเป็นคำภาษาอะไร, ชวนให้เราเข้าใจว่า นายนาวาเรตถือว่า คำทั้งสองนั้นเป็นภาษาจีน...


ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายที่มาของคำว่า Siam ไว้ในเชิงอรรถ โดยย้ำว่า ฝรั่งชาติแรกที่ใช้คำ ๆ นี้เรียก่คนไทยคือ โปรตุเกส หาใช่ ฮอลันดา ไม่

Siam อันเป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกไทยน้อยพวกเราทุกวันนี้ ฝรั่งได้คำนี้ไปโดยผ่านชาวมลายูซึ่งเรียกไทยว่า เซียม. พวกโปรตุเกสมารู้จักคำนี้ก่อน ต่อมาก็เป็นเดนมาร์ค, ฮอลันดา และฝรั่งเศส ซึ่งก็ออกเสียง เซียม ทั้งนั้น. อังกฤษเป็นพวกมาทีหลัง เห็นทีจะไม่รู้ว่า Siam นั้นประสงค์จะให้ออกเสียง เซียม หรือมิฉะนั้นก็ออกเสียงไม่ถนัดปาก จึงเอาไปอ่านเป็น ไซเอิม หรือ ไซแอม แปลกพวกออกไป.

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 10:29

ที่ ลาลูแบร์ กล่าวว่า คนไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเรียกตัวเองว่า ไท ไม่ใช่ เซียม หรือ สยาม นั้น เป็นความจริงในระดับคนรากหญ้าเท่านั้น สำหรับคนชั้นสูงได้แก่ชนชั้นปกครองและนักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้ใช้คำ ๆ นี้เรียกตนเองมานานแล้วดังหลักฐานใน # ๑ โดยเฉพาะในวงการพระพุทธศาสนา

บทที่ ๑๗ สยาม-ความเป็นมาในภาษาไทย

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายไว้ว่า

ชื่อที่ชนต่างชาติเรียกคนไทว่า ซาม-เซียม นั้น ปรากฏขึ้นในภาษาไทยทางวงการนักปราชญ์ภาษาบาลีก่อน คือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า สาม หรือ สฺยาม

ในยุคโบราณ ภาษาบาลีเป็นภาษาต่างประเทศที่นักศึกษาจะต้องเรียนเป็นภาษาเอก ทั้งในประเทศไทย, มอญ, พม่า, ลาว (รวมทั้งกัมพูชาในยุค พ.ศ. ๑๙๐๐ ลงมา) ศูนย์กลางของภาษาบาลีในยุคโบราณคือ ลังกา  ภิกษุไทย-มอญ-พม่าล้วนไปศึกษาธรรมวินัยจากที่นั่นจนเกิดนิกายพุทธศาสนาที่เป็นแบบลังกาขึ้นในบริเวณมอญ-พม่า-ไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐

วงการภาษาบาลีของลังกานั้น เรียกเมืองไทยว่า สฺยาม หรือ สาม การติดต่อระหว่างไทยกับลังกาในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวที่ไทยส่งพระอุบาลีออกไปตั้งนิกายสยามวงศ์ เมื่อพ.ศ. ๒๒๙๕ นั้น สาส์นติดต่อซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีทั้งสองฝ่ายก็ใช้คำ สยาม และสาม ระคนกัน

ในสมัยสุโขทัย มีภิกษุสงฆ์ของไทยทั้งในล้านนาและสุโขทัยไปศึกาพระธรรมวินัยในลังกามาก เป็นต้นว่าทางสุโขทัยก็มีพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาทวีป หลานของพ่อขุนผาเมือง ทำให้เข้าใจว่าวงการบาลีของลังกาจะได้เรียกคนไทยว่า สาม-สยาม มาแล้วแต่ครั้งนั้น หรือแม้ก่อนหน้านั้น

ภาษาบาลีนั้นเป็นภาษาต่างประเทศ เมื่อวงการพุทธศาสนาไทยใช้ภาษาบาลี การจะพูดถึงเมืองไทยก็ย่อมต้องใช้คำของบาลีที่ใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปทั้งในลังกาและที่อื่น จึงเชื่อว่าพวกนักปราชญ์ภาษาบาลีของเมืองไทย, ทั้งล้านนาและสุโขทัย, น่าจะรับเอาคำ สยาม หรือ สาม มาจากบาลีลังกาอีกทอดหนึ่งมากกว่าจะคิดขึ้นเองในประเทศนี้

ในบที่ ๘ ได้เคยกล่าวแล้วว่า สามเทสะ เป็นชื่อบาลีที่ใช้เรียกดินแดนเหนือปากแม่น้ำปิงขึ้นไป, คือบริเวณอาณาจักรหริภุญชัย, เมื่อราว พ.ศ. ๑๕๐๐-๑๕๕๐, ซึ่งในระยะเดียวกันนั้นเอง เราได้พบ สฺยำ-สฺยามฺ ในจารึกจามปา. และก่อนหน้านั้นขึ้นไปจนถึงใน พ.ศ. ๑๑๘๒ เราก็ได้พบชื่อ สฺยำ ในจารึกเขมรสมัยก่อนนครหลวง. ยุคนั้น สามเทสะ หรือ สยามเทสะ ใช้อยู่ในบริเวณล้านนาเท่านั้น ยังไม่คลุมลงมาถึงแคว้นละโว้ทางใต้.

ตกมาถึงสมัยสุโขทัย ศูนย์กลางอำนาจของไทยภาคเหนือกระจายออกเป็นนครรัฐขนาดเล็กหลายนครรัฐ เช่น เชียงใหม่, เชียงแสน, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน, พลัว (ปัว) ฯลฯ. อำนาจทางการเมืองที่รวมศูนย์ที่สุดและกว้างขวางที่สุดคือ สุโขทัย. ซึ่งยังมิได้รวมถึงแคว้นละโว้. คำว่า สามเทสะ หรือ สยามเทสะ จึงเคลื่อนลงมาหมายถึงกรุงสุโขทัยหรืออาณาจักรสุโขทัย. ระยะนี้เองที่จีนเรียกสุโขทัยว่า ประเทศเซียน, ซึ่งก็หมายถึง สฺยาม.

สามเทสะ หรือ สยามเทสะ ใช้หมายถึงสุโขทัยอยู่ไม่นานก็เลื่อนความหมายลงมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา. เมื่อกรุงศรีอยุธยาเกิดเป็นศูนย์กลางขึ้นในแคว้นละโว้เดิมใน พ.ศ. ๑๘๙๓ และได้ยึดครองเอาอาณาจักรสุโขทัยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐, คำว่า สยาม ก็เลื่อนลงมาหมายคลุมหมดทั้งสุโขทัยและศรีอยุธยา, และมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว.

เมื่อศูนย์กลางของสยามเลื่อนมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว, ทางอยุธยาก็เลยผูกขาดคำว่า สยาม เสียเลย ว่าจะต้องหมายความเพียงในขอบเขตอาณาจักรศรีอยุธยาเท่านั้น. พวกคนไทยในภาคเหนือ ในเขตแคว้นลำพูน-เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็น สามเทสะ มาแต่อดีตนั้น ถูกกีดกันออกไปนอกวงนอกชื่อ, ไม่ยอมเรียก สยาม หากเรียกว่า ยวน (คือไทยโยนก-ไตโยน) ในลิลิตยวนพ่าย มีโคลงบอกไว้ท้ายเรื่องบทหนึ่งว่า :

สยามกวนยวนพ่ายแพ้  ศักดยา......

ในที่นี้ สยาม คืออาณาจักรศรีอยุธยา คือ คนไทยใต้, ส่วนยวนคือคนไทยพายัพ หรือ ไตโยน (ไทยโยนก). ชื่อ ยวนพ่าย ก็หมายถึงชาวยวนหรือไทยโยนกนี้เอง.

ในระยะ พ.ศ. ๑๙๕๐ ลงมา ไทยเราเริ่มได้ติดต่อกับประเทศทางยุโรป เริ่มต้นด้วย โปรตุเกส, เดนมาร์ก ต่อมาก็ฮอลันดา, ฝรั่งเศส และอังกฤษ. ฝรั่งเหล่านั้นคืบคลานผ่านอินเดีย, พม่า-มอญ และชวา-มลายู เข้ามายังไทยแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงพากันเรียกคนไทยอยุธยาว่า เซียม (Siam) ตามคำของชนชาติต่าง ๆ ในบริเวณนี้. ขณะเดียวกันก็ถือเอาคำ เซียม (Siam) เป็นชื่อเรียกอาณาจักรศรีอยุธยาไปด้วย. (อังกฤษเป็นพวกมาทีหลัง เห็นทีจะไม่รู้ว่า Siam นั้นประสงค์จะให้ออกเสียง เซียม หรือมิฉะนั้นก็ออกเสียงไม่ถนัดปาก จึงเอาไปอ่านเป็น ไซเอิม หรือ ไซแอม แปลกพวกออกไป)  แต่แม้ว่าพวกฝรั่งที่เข้าติดต่อค้าขายจะเรียกอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาว่า Siam, ทางไทยก็ยังไม่สนใจที่จะใช้นาม สยาม หรือ สามเทสะ เป็นชื่อประเทศในการติดต่อต่างประเทศ. ยังคงเรียกตัวเองวา กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา หรืออะไรที่ยืดยาวทำนองนั้น โดยมีชื่อ ศรีอยุธยา อยู่ข้างใน. เช่นใน "พระราชสาส์นและราชมงคลประณามการ" ของพระเอกาทศรถซึ่งมีส่ง "ไปถึงทองฝิหลิบพระยาประตุการ" (Don Philippe แห่งโปรตุเกส) เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๖๑, เรียกประเทศทั้งสองว่า :

"แผ่นดินเมืองประตุการแลแผ่นดินกรุงพระมหานครทวารวดีศรีอยุธยา."

(จาก การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรถ, ขจร สุขพานิช, วารสารศิลปากร ปีที่ ๔ เล่ม ๔, มกราคม ๒๕๐๔)

คำ สยาม ที่ใช้เป็นชื่อเรียกอาณาจักรทั้งหมด โดยใช้เป็นทางการอย่างเด็ดขาด แทนคำว่า กรุงเทพมหานครฯ นั้น มาเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๔.  หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว คำ สยาม ก็ใช้เป็นชื่อของราชอาณาจักรไทยเรื่อยมา. รัชกาลที่ ๕ เมื่อลงพระนามก็มักใช้คำว่า สยามมินทร์ (ผู้เป็นใหญ่แห่งสยาม) แต่ถึงอย่างไรก็ตามความหมายของคำว่า สยาม ก็ยังคับแคบอยู่เพียงบรรดาหัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยามเท่านั้น ส่วนเมืองที่เป็นประเทศราชอย่างประเทศเชียงใหม่, หรือเมืองที่เป็นนครรัฐ อย่างนครลำพูน ยังมีฐานะเป็นเมืองของท้าวพระยาสามนตราช มิได้รวมอยู่ในความหมายของคำ สยาม, หากรวมอยู่ในเขตอิทธิพลทางการเมืองของสยาม.

ข้อนี้จะเห็นได้ชัดจากเอกสารทางราชการเก่า ๆ ในยุคนั้นเช่นในสำเนาร่างประกาศตั้งกงสุลเมืองสิงคโปร์ สมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๖ ดังนี้ :

"สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์นี้ และเป็นเจ้าเป็นใหญ่ครอบครองพระราชอาณาจักรสยามราษฎร แวดล้อมด้วยนานาประเทศราชชนบทต่าง ๆ ทุกทิศ คือ ลาวโยน ลาวเฉียง ในทิศพายัพแลอุดร ลาวกาวแต่ทิศอีสานจนบูรพ์ กัมโพชาเขมรแต่บูรพ์จนอาคเนย์ เมืองมลายูเป็นอันมากแต่ทิศทักษิณจนหรดี แลบ้านเมืองของกะเหรี่ยงบางเหล่าแต่ทิศปจิมจนพายัพและข่าซองและชาติต่าง ๆ อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก...."

จะเห็นว่า ข้อความสีแดงนั้น คือการพรรณนาถึงพวกเมืองขึ้น ดังมีรายการต่อไปอีกยืดยาว. ดูตามนี้แล้ว บริเวณที่เรียกว่าสยามแท้ ๆ (Siam proper) คือบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น นอกนั้นออกไปคือ ประเทศราชชนบทต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองทางการเมืองของสยาม.




บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 พ.ย. 09, 11:49

เรื่องนี้ครูไม่ได้สอน เลยเดาเตรียมไว้ว่า สมัยต้นอยุยา ซึ่งผิด ฮ ฮิ
มานิต
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 11:09

ผมว่าเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย แต่พวกเราไม่ค่อยได้ใส่ใจกัน คือ...
พระจอมเกล้าท่านไป "เอาสยาม" มาจากไหน ถึงทรงนำคำนี้มาเรียกชื่อสยามประเทศ ?
หรือท่านจะไปเที่ยวนครวัดมาแล้ว ฮืม

รัชกาลที่ ๔ ท่านทรงเอาคำว่า สยาม มาจากไหน คำตอบข้างบนคงให้ความกระจ่างบ้างไม่มากก็น้อย เหลือประเด็นสุดท้ายที่คุณติบอปุจฉามา

หรือท่านจะไปเที่ยวนครวัดมาแล้ว

วิสัชนา

รัชกาลที่ ๔ ไม่เคยทรงพระราชดำเนินไปประพาสนครวัด เพียงแต่ทรงมีพระราชบัญชาให้ขุนนางไทยที่เมืองพระตะบองสำรวจปราสาทนครวัด เพื่อการรื้อถอนเข้ามาไว้ในเขตสยามชั้นใน แผนการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปราสาทหินนครวัดนั้นใหญ่โตเกินไป จึงมีพระบรมราชโองการออกไปว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ให้รื้อถอนปราสาทหินขนาดย่อม ๆ เข้ามาสัก ๒ หลังแทน มีพระราชประสงค์จะให้นำมาก่อไว้กลางกรุงเทพมหานครทีเดียว โดยจะให้นำมาตั้งที่เขามหาสวรรค์หลังหนึ่ง และที่วัดปทุมวันอีกหลังหนึ่ง เพื่อเป็นเกียรติยศในภายหน้า

นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเขียนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความผูกพันกับปราสาทขอมมาก การส่งกำลังพลถึง ๑,๐๐๐ คน เข้าไปยังเมืองเสียมราฐในครั้งนั้น โดยหวังว่าจะรื้อปราสาทพระขรรค์และตาพรหม

แต่มีเหตุให้ต้องเลิกล้มโครงการนี้โดยกะทันหัน ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ว่า...

ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศรบอกให้พระยาอนุภาพไตรภพเจ้าเมืองเสียมราฐเข้ามากราบทูลว่า ได้เกณฑ์คนและกรมการให้พระสุพรรณพิศาลแล้วไปตั้งพลีกรรมบวงสรวง ได้ลงมือรื้อปราสาทเมื่อ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ (พ.ศ. ๒๔๐๓) มีเขมรประมาณ ๓๐๐ คน ออกมาจากป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ฆ่าพระสุพรรณพิศาลตายคน ๑ พระวังตายคน ๑ บุตรพระสุพรรณพิศาลตายคน ๑ ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตร ป่วยเจ็บหลายคน

ในที่สุดจึงทำได้แต่ทรงเจ้าพนักงานเดินทางไปเสียมราฐเพื่อถ่ายรูปปราสาทนครวัดเข้ามา

และ

เมื่อ ณ เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล อัฐศก โปรดเกล้าฯ ให้พระสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทที่พระนครวัด จะจำลองทำขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 11:47

ที่นครวัดมีอะไรเกี่ยวกับคำว่า สยาม

ที่ระเบียงปราสาทนครวัด มีภาพสลักหินเป็นรูปขบวนทัพมีแม่ทัพนั่งอยู่บนหลังช้าง พร้อมพลเดินเท้าจำนวนมาก และมีคำบรรยายว่า เนะ สฺยำกุกฺ (นี่! เสียมกุก)

คำว่า เสียม หมายถึง สยาม ส่วน กุก จะหมายถึงอะไร

มีใครบ้างเอ่ย อยากทราบคำตอบ ?

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 16:03

เข้าเรือนมาเจอะคำถามของคุณเพ็ญชมพูเข้า....
สารภาพว่าผมแอบผงะอยู่ไม่ใช่น้อย  ขยิบตา
ด้วยเหตุที่ไปถามป่วนค้างไว้มาก ถึงพระจอมเกล้ากับนครวัด รูดซิบปาก
(เลยเข้าใจไปเองว่าท่านอาจจะหวังให้ผมเข้ามาตอบ ?)


ทฤษฎีว่าด้วย "กุก" ในจารึกนครวัดมีอยู่หลายทฤษฎีครับ
บางทีก็ออกแนวเวิ่นเว้อ อ่านไปขำไปอยู่บ้าง
ขออนุญาตยกมาคร่าวๆ เฉพาะที่น่าสนใจ

อย่างแรก เป็นของจิตร ภูมิศักดิ์
ท่านว่า "กุก" เป็นการสะกดเพื่อรักษาเสียง
ผมค่อนข้างเห็นด้วย ว่าเหตุน่าจะเป็นเช่นนั้น
พูดเพียงเท่านี้ เกรงคนอ่านจะงงเอา
(ผมยิ่งพูดเรื่องภาษาไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ด้วยสิครับ)


ขออนุญาตขยายความเพิ่มว่า

ไวยากรณ์ภาษาไหนๆในสมัยกระนู้น...
เขาก็ต้องยึดภาษาปากเป็นหลัก
เพราะเมืองๆหนึ่ง จะมีคนเขียนหนังสือเป็นถึง 10% หรือเปล่าก็ไม่รู้..

แม้กระทั่งรุ่น พ.ศ. 2470 หรือ 2480 แล้ว
สังคมไทยก็ยังมีลักษณะแบบนี้ให้เห็นอยู่
ตัวอย่างเปิดหาได้ในสานส์สมเด็จ หรือจดหมายเหตุต่างๆ
ที่กรมพระยานริศ และกรมพระยาดำรงค์ทรงเขียนครับ
เสด็จในกรมทั้ง 2 ท่านทรงสะกดคำบางคำต่างกันตลอดเวลา
เช่น คำว่า "นาที" และ "นาฑี" เป็นต้น

ไล่มาจนโรงพิมพ์วัดเกาะพิมพ์นิทานขายบานเบอะนั่นล่ะครับ
ไวยากรณ์ถึงได้คล้ายกับยุคปัจจุบันมากขึ้น
คือ กระเดียดไปทางภาษาเขียนซะมากกว่า

เพราะฉะนั้น ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่เขาทำจารึก
ภาษาเขียนของแต่ละสังคมก็ต่างกันไป
คำๆเดียวกัน เทียบตัวอักษรได้เท่ากัน
เวลาอ่าน อ่านออกเสียงต่างกัน หรือคำพูดคำเดียวกัน เขียนอักษรต่างกันก็มี

ถ้าท่านผู้อ่านงงกับเหตุผล ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นในปัจจุบัน คือคำว่า "พระ"
สะกดด้วยตัวอักษรที่เทียบกลับไปสู่ภาษาบาลี - สันสกฤตได้เหมือนกัน
แต่ภาษาของ 3 ชาติ คือ เขมร พม่า และไทย ออกเสียงต่างกัน
ได้แก่ "เปรียะ" "ปยา" และ "พระ" ตามลำดับ
แต่ครั้นใครซักคนจะไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่า มึงอ่านผิด
เจ้าตัวก็ไม่ได้ออกเสียงตรงกับภาษาบาลี - สันสกฤตซักเท่าไหร่
เพราะหน่วยเสียงในภาษามันต่างกันไปในแต่ละสังคมนี่ครับ
การถ่ายเสียงจากภาษาต้นมาสู้ภาษาของตัวเองก็ต้องต่างกันเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ผมเลยค่อนข้างเห็นด้วยกับจิตร ในเรื่องนี้



จิตรเสนอต่อไปว่า ที่ต้องสะดกว่า "กุก" เพื่อให้ออกเสียงว่า "กกฺ"
และเทียบกับวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น.. ผมก็ยังเห็นด้วย
เพราะอยุธยาเริ่มต้นด้วยการเป็นละโว้... ที่ยังเป็นขอมอยู่นั่นแล

แต่พอออกเสียงว่า "กก" แล้ว... จิตรลากไปหาแม่น้ำกก..
อันนี้ผมยังไม่ตัดสินใจเชื่อครับ ดูแผนที่แล้วมันไกลเกิน
ลองดูว่าเมืองอื่นๆอีกสี่ห้าเมืองที่มีชื่ออยู่นั่น...
ระยะทางจากเมืองต้นไปเมืองพระนครมันใกล้กว่ากันมากนะครับ

ประเด็นสนับสนุนที่จิตรใช้ คือ... จิตรเอาท้าวฮุ่งขุนเจืองมาอ้างอิง
แล้วบอกว่าการแต่งตัวของพลเสียม คล้ายกับที่บรรยายไว้...
เช่น ช้องผมประดับลูกปัด เสื้อ และผ้านุ่ง....
แต่ทั้งหมดนั่นมันคือหลักฐาน 2 ประเภท
วรรณคดี กับ ภาพประติมากรรมนูนสูง....

แล้วเครื่องแต่งกายที่ว่า (ขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดนะครับ - เพราะจำไม่ได้)
ลองอ่านดูดีๆ... แล้วไปเทียบกับเครื่องแต่งกายชนเผ่าดู
ถ้าอยากให้มีสีสันซะหน่อย... ขึ้นไปถึงชนเผ่าในจีนเลยครับ
พวกที่พูดภาษามรดกไทเดิมพวกนึง พวกที่พูดภาษาตระกูลโปรโตไทพวกนึง
และพวกที่พูดภาษาตระกูลอื่นไปเลย เช่น เย้า(เมี่ยน) หรือ ม้ง... เป็นต้น
เครื่องแต่งกายพวกเขาลากไปหาคำบรรยายในท้าวฮุ่งขุนเจืองได้อยู่หลายเผ่านะครับ

สรุปว่าหลักฐานยังค่อนข้างอ่อนเกินไปครับ ที่จะเอามาเทียบกัน
ปล่อยให้ปลายเปิดๆทิ้งเอาไว้น่าจะดีกว่า





อีกทฤษฎีที่พอรับได้ เลยบอกว่า "เสียมกกอยู่แถวเวียงจันทน์"
คนเสนอ คือ ศรีศักร์ วัลลิโภดม เหตุในการเสนอ... เพราะคิดแบบนั้น..
เออ.... ดูโดยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มันก็เข้าเค้ามากกว่า
แต่จะหาหลักฐานอื่นมาสนับสนุน.... ก็ยากอยู่ใช่ย่อย

เพราะดูเหมือนว่าคนคิดแกจะเอาความคิดในสังคมปัจจุบัน(รุ่นที่แกคิด) มาชุบตัวเสียใหม่
ในเมื่อ เสียม =  สยาม = ไท (เผลอๆจะไทย) งั้น มาจากเวียงจันทน์นั่นแล ง่ายที่สุด....
มันก็ใช่ว่าจะถูก หรือมีหลักฐานสนับสนุนนะครับ... แต่ก็ใช่ว่าจะผิดอีกเช่นกัน

อย่างนึงที่น่าสนใจ คือ ถ้าเชื่อท้าวฮุ่งขุนเจืองแล้ว...
พวกไทลุ่มน้ำกกเขาเข้ามายึดพื้นที่ตอนเหนือๆของลาว
ไล่ลงมาถึงตอนกลางประเทศได้.. เวียงจันทน์อาจจะอยู่ในข่ายนั้น
แต่จะไปเอาแน่เอานอนกับตำนานที่แต่งทีหลังลงมาเป็นร้อยปี...
แถมยังแต่งเพื่อยอพระเกียรติอีกตะหาก และให้นายติบอฟันธง
ก็เกรงจะโดนเขาฟ้องศาลต้องขอโทษขอโพยเขาออกโทรทัศน์อยู่ในทีนะขอรับ




เอวัง... ด้วยประการฉะนี้แล
ขอความกรุณาสมาชิกท่านอื่นๆเข้ามาตรวจแก้การบ้านของนายติบอด้วยนะขอรับ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 23:07

อ้าวเอวังแล้วหรือครับ ผมนึกว่า เสียม กุก จะเป็นทหารที่ไปจากทางแถวๆเมืองสุโขทัย เสียอีกครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 12 พ.ย. 09, 23:37

รอคุณเพ็ญชมพูมาตรวจการบ้านก่อนดีกว่าครับ
ที่ผมเล่าไปอาจจะผิดหมดเลยก็ได้นะครับ  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 10:16

เข้ามาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเรื่อง สยามประเทศ ในส่วนของ เสียมกุก หรือ เสียมกุก กันต่อ

เรื่อง เสียมกุก ยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัว ทุกท่านมีสิทธิ์เสนอความเห็นพร้อมข้อมูลอ้างอิง

 ยิงฟันยิ้ม

ก่อนอื่นขออธิบายเรื่องภาพสลักหินที่นครวัดในส่วนที่เกี่ยวกับ เสียมกุก

นครวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๕-๑๖๙๐) เป็นขบวนทัพของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ไปทำสงครามกับอาณาจักรจามปา กองหน้าสุดเป็นภาพพลธนู มีอักษรเขมรโบราณจารึก (ภายในวงเล็บเป็นคำแปลของ จิตร ภูมิศักดิ์) บอกไว้ว่า

๑.อฺนกฺ ราชการฺยฺย ภาพ ปมญฺ เชงฺ ฌาล ด นำ สฺยำ กุกฺ (ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฺฌาลซึ่งนำชาวเสียมกุก)

ถัดมาเป็นภาพสลักกองทหารอีกกองหนึ่ง มีตัวนายยืนถือธนูอยู่บนหลังช้าง มีอักษรจารึกว่า

๒. เนะ สฺยำ กุกฺ (นี่ เสียม กุก)

ถัดมามีกองทัพของชาวละโว้ ตามหลังกองทัพเสียมกุกมาติด ๆ มีอักษรจารึกว่า

๓. วฺระ กมฺรเตงฺ อญฺ ศฺรี ชย สิงฺหวรฺมฺน กลุงฺ ไวร นำ วล โลว (พระกัมรเตงอัญศรีชยสิงหวรมันภายในป่า นำพลละโว้)



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 11:16

การอ่านอักษรจารึกบนภาพที่ผนังระเบียงนครวัดนั้น นักโบราณคดีฝรั่งเศสเป็นผู้อ่านออกและพิมพ์เผยแพร่ ผู้อ่านจารึกออกเป็นคนแรกคือนายเอยโมนีเยร์  Étienne François Aymonier โดยได้อ่านและแปลไว้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๓ แต่อ่านพลาดตรงคำสำคัญ สฺยำกุกฺ อย่างจัง โดยจารึกที่ ๑ อ่านเป็น สฺยำ กกฺ (ไม่มีสระอุ) และจารึกที่ ๒ อ่านเป็น เนะ สฺยำ กุต (ยังมีหมายเหตุบอกไว้ด้วยว่า กุด แปลว่า ด้วน)

ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยนี้นำมาสู่ความผิดพลาดอันใหญ่หลวงในการตีความทางภาษาและโบราณคดี

สฺยำ กกฺ บางคนถึงกับตีความว่ามาจากภาษาจีนว่า เสียมก๊ก

ส่วน สฺยำ กุต บางคนตีความว่าคือ สยามกุฎ กูฏ ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ยอด สยามกุฏ ก็คือ จอมทัพสยาม  รูปที่ตรงกับคำจารึกเป็นภาพนายทัพขี่ช้างยิงธนูพอดี แปลภาพนี้ได้ว่า นี่รูปจอมทัพสยาม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตึความว่าหมายถึง เซียมกุฎิ แปลว่า ห้องสยาม โดยเขียนเกี่ยวกับภาพนี้ไว้หนังสือถกเขมร ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๖ ดังนี้

คนไทยเป็นแน่แล้ว ไม่มีผิดไปเลย เพราะนอกจากหนังสือที่จารึกไว้บนภาพว่า "เซียมกุฎิ" หรือ "ห้องสยาม" แล้ว หน้าตาท่าทางของนายและพลในกองทัพไทยนั้น พอเราเห็น เราก็จดจำได้ เมื่อพันปีมาแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็คงอยู่อย่างนั้น เราอาจได้เห็นคนเหล่านี้เดินอยู่ในกรุงเทพฯ หรือในที่อื่น ๆ ในเมืองไทยทุกวันนี้ ในภาพนั้นเราได้เห็นเค้าหน้าเพื่อนฝูง ญาติ และคนที่เรารู้จักบางคน ยิ่งพิจารณาดูนานเท่าไร ก็ยิ่งเห็นเหมือนขึ้นทุกที ไม่รู้ว่ามาเดินกระบวนหาอะไรกันอยู่ถึงนี่

กลับมาพูดถึงเรื่องการอ่านจารึกนี้ใหม่

ศาสตราจารย์หลุยส์ ฟิโนต์ Louis Finot ได้ตรวจพบและตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๗ จากนั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ศาสตราจารย์ยอช เซดส์ George Coedès ได้อ่านคำจารึกนี้ใหม่ทั้งหมด และได้พิมพ์คำจารึกออกมา โดยจารึกทั้ง ๒ แห่งนี้เป็น สฺยำกุกฺ ทั้งคู่

ขอให้สังเกตว่าฝรั่งแก้ สฺยำ กุต เป็น สฺยำ กุกฺ แล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ อีก ๔๒ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๙๖) คนไทยยังพูดึงเรื่อง เซียมกุฏิ กันอยู่เลย

 ยิงฟันยิ้ม


นี่ ห้องสยาม หรือ จอมทัพสยาม หรือ เสียมกุก ?




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 12:08

ทีนี้ลองมาพิจรารณาความหมายของ เสียมกุก


แต่พอออกเสียงว่า "กก" แล้ว... จิตรลากไปหาแม่น้ำกก..
อันนี้ผมยังไม่ตัดสินใจเชื่อครับ ดูแผนที่แล้วมันไกลเกิน
ลองดูว่าเมืองอื่นๆอีกสี่ห้าเมืองที่มีชื่ออยู่นั่น...
ระยะทางจากเมืองต้นไปเมืองพระนครมันใกล้กว่ากันมากนะครับ

ประเด็นสนับสนุนที่จิตรใช้ คือ... จิตรเอาท้าวฮุ่งขุนเจืองมาอ้างอิง
แล้วบอกว่าการแต่งตัวของพลเสียม คล้ายกับที่บรรยายไว้...
เช่น ช้องผมประดับลูกปัด เสื้อ และผ้านุ่ง....
แต่ทั้งหมดนั่นมันคือหลักฐาน 2 ประเภท
วรรณคดี กับ ภาพประติมากรรมนูนสูง....

หลักฐานของจิตรไม่ใช่มีแค่ วรรณคดี กับ ภาพประติมากรรมนูนสูง แต่ยังมีหลักฐานทาง สังคมศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อีกด้วย

สฺยำกุกฺ เป็นการเขียนที่ถูกต้องที่สุดในสำเนียงเขมร และเมื่อแปลเป็นไทยก็ควรเป็น เสียมกก (ชาวเสียมแห่งลุ่มแม่น้ำกก) หรืออาจเขียนรักษารูปศัพท์จารึกไว้นิด ๆ ก็ได้ว่า เสียมกุก (ชาวเสียมแห่งลุ่มแม่น้ำกุกนที)

เสียมกก หรือ เสียมกุก ฟังดูไม่คุ้นหูไทย แต่เมื่อเขมรเรียกชนชาติไท-ไตว่า เสียม เขาก็ต้องเรียกชาวเสียมที่ลุ่มน้ำนี้ว่า เสียมกก; เหมือนพม่าเรียกคนไตว่า ชาน ก็ต้องเรียกคนไตแห่งลุ่มแม่น้ำเมา หรือไตเมา ว่า ชานเมา หรือ เมาชาน, ถ้าให้เขมรเรียกคนไตที่นี่บ้าง ก็ต้องเรียก เสียมเมา หรือ เซียมเมา เหมือนอย่างเรียกไทใหญ่ว่า เสียมธม  

ทำไมจิตรจึงเชื่อว่า สฺยำ กุกฺ คือ ชาวเสียมแห่งลุ่มแม่น้ำกก

ลุ่มแม่น้ำนี้เป็นศูนย์กลางใหญ่ที่สำคัญของสังคมและอารยธรรมไทยในสมัยโบราณ ร่องรอยที่เป็นรูปธรรมคือ บนสองฝั่งแม่น้ำกกของจังหวัดเชียงรายและอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ มีทราบโบราณสถานอยู่มากมาย เฉพาะที่อำเภอฝาง อันเป็นตอนต้นแม่น้ำกก มีทรากคูเมืองและกำแพงเมืองอยู่ถึง ๑๒ แห่ง ส่วนในตอนปลายของแม่น้ำกกที่จังหวัดเชียงราย พบถึง ๑๕ แห่ง

จริงอยู่ที่ทรากเมืองเหล่านี้ บางเมืองก็สร้างขึ้นภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (หลังจารึกนครวัด) แต่ก็เป็นหลักฐานได้ดีว่ามีชนชาติไต-ไท ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำกกอย่างหนาแน่น มีการสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ไม่ขาดสาย

ในสมัยที่ศรีสูรยวรมันที่ ๒ สร้างนครวัดนั้น บริเวรลุ่มแม่น้ำกกกำลังเจริญอย่างสูงสุด อาณาจักรสำคัญบริเวณนั้นคืออาณาจักรเงินยางหรือหิรัญนคร กษัตริย์ของเงินยางคือ ลาวชิน (พ.ศ. ๑๖๓๘-๑๖๖๕) และขุนเจือง (พ.ศ. ๑๖๖๕-๑๗๓๕) ขุนเจืองเป็นวีรบุรุษสำคัญแห่งอาณาจักรเงินยาง แผ่อำนาจออกไปถึงล้านช้างและแกว (เวียตนามเหนือ)

ขุนเจืองแห่งเงินยางผู้พิชิตล้านนาและเวียตนาม ส่งกองทัพจากลุ่มแม่น้ำกกไปช่วยมหามิตร กษัตริย์ศรีสูรยวรมันที่ ๒ แห่งเขมร ทำสงครามกับจามปา ฝ่ายหนึ่งทำสงครามกับเวียตนาม อีกฝ่ายหนึ่งทำสงครามกับจาม เวียตนามเป็นกำลังหนุนสำคัญของจามที่คอยรังควานเขมร การทำศึกกับเวียตนามของขุนเจืองจึงเป็นผลดีต่อเขมรอย่างยิ่ง และการที่เขมรทำสงครามกับจามก็ย่อมเป็นที่พอใจของขุนเจือง เพราะเงินยางกับจามเป็นศัตรูคู่สงครามกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ของขุนเจือง คือพญาลาวเงิน

ในวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง พรรณนาไว้ว่าเดชานุภาพของขุนเจืองเป็นที่เลื่องลือไปจนถึงอาณาจักรเขมร

นามกรก้ำเขมขอม   เมืองม่าน ก็เถิง

(ท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง, ฉบับกรมศิลปากร พิมพ์พ.ศ. ๒๔๘๖, หน้า ๒๐๔)



บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 พ.ย. 09, 15:01

ขอม, ก๋อม กะหล๋อม เป็นคำภาษาไทยเหนือ
ที่ใช้เรียกอาณาจักรที่อยู่ทางใต้ลงมา
และมีวัฒนธรรมที่กระเดียดไปทางขอมมากกว่าตัวเองครับ

พงศาวดารล้านนาหลายฉบับ เช่น ชินกาลมาลี หรือพงศาวดารโยนก
เล่าถึงชาวขอมว่าอพยพย้ายเมืองไปหงสาวดี...
ถ้าจะบอกว่า "ขอม" คือ "เขมร"....
แล้วปักหมุดแผนที่ซะว่าอยู่แถวๆเสียมเรียบ หรือพระตะบอง
จะให้อพยพไปถึงหงสาวดีนี่ก็ไกลไปหน่อยครับ

แต่ถ้าเทียบกับจามเทวีวงศ์ หรือพงศาวดารอื่นๆของลำพูน
ที่เล่าถึงการอพยพหนีโรคห่า (ขออนุญาตใช้คำนี้นะครับ)
ไปถึงเมืองหงสาวดี และพบว่าคนที่นั่นพูดภาษาเดียวกันอยู่...
ก็คงพอบอกได้ว่าขอมของล้านนา คือ ลำพูน หรือบริเวณแถวๆนั้น
แต่ถ้าวัดจากรูปแบบศิลปะ (ที่ปัจจุบันมาเรียกกันว่าประวัติศาสตร์ศิลป์)
ศิลปะที่ลำพูนดูจะสืบเนื่องจากศิลปะทวารวดีมากกว่าศิลปะอื่นๆในประเทศไทย

แต่ถ้าวัดจากตำนานพระนางจามเทวีอีกเช่นกัน...
เธอมาจากละโว้นะครับ


และถ้าเอาประวัติศาสตร์ศิลปะ (ที่สมัยจิตรยังไม่ตายท่านเรียกว่า "โบราณคดี") เป็นแกน
ศิลปะเชียงแสน(ที่จิตรเปิดเรื่องไว้ว่าเรียกตามนักเล่นพระ)
ก็ดูจะไกลจากศิลปะขอมในเมืองพระนครของเขมรอยู่มากโขครับ






ปล. เรียนคุณเพ็ญชมพูครับ ผมเป็นคนใช้ภาษาได้น่าสับสนมากคนหนึ่ง
บางครั้ง เวลาเขียนกระทู้ก็เกรงว่าคนอ่านที่ไม่คุ้นกับงานวิชาการจะงง
เวลาเล่าอะไรก็จะพยายามลดทอนภาษาให้อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆหน่อย
ตอนที่พูดถึงหลักฐานปฐมภูมิ ทุติยภูมิ วัฒนธรรมตกค้าง
หรือการศึกษาเปรียบเทียบ ที่จิตรนำมาใช้
เลยเลือกใช้คำว่า "หลักฐาน" กับ "ประเภทของหลักฐาน" เป็นหลัก
คือ ภาพสลัก และวรรณกรรม

ส่วนรายละเอียดของชิ้นงานอื่นๆลงไปในเนื้อหาของหลักฐาน
เช่น รายละเอียดของภาพสลัก (ที่ยุคจิตร เรียกว่าโบราณคดี แต่ยุคนี้เรียกว่าประวัติศาสตร์ศิลปะ)
หรือเรื่องราวในพงศาวดาร - วรรณคดี (ที่ตรงกับคำว่า "สังคม" และ "ประวัติศาสตร์" ของคุณเพ็ญชมพู)
ผมไม่ได้ยกมาลงในกระทู้ เพราะเกรงไปเองว่าเป็นรายละเอียดที่อาจจะมากเกินไป



นอกจาก 2 เรื่องนี้แล้วสิ่งที่จิตรนำมาใช้ และน่าสนใจมาก
คือ การศึกษาเชิงนิรุกติศาสตร์ เช่น การเทียบเสียงในภาษาให้เห็นว่า
คำว่า "อัสสัม" เกิดจากการเติมเสีย "อะ" ลงหน้าคำว่า "สยาม"
เพื่อรักษาเสีย "ส" ซึ่งบางภาษาออกเสียงไม่ได้โดยตรง
โดยการเทียบกับวิธีการเติมหน่วยเสียงลักษณะเดียวกันในภาษาฝรั่งเศส

หรือการศึกษาหา "สยาม" ในเรื่องราวของชาติอื่นๆ
ผมเห็นว่าเป็นวิธีที่น่าชื่นชมมาก...
(แต่เชื่อว่าจิตรไม่ใช่นักวิชาการคนแรกที่ทำแบบนี้)

แต่ก็ยังรู้สึกว่าจิตรก็อยู่ในลักษณะของคนที่ชำนาญด้านประวัติศาสตร์ - อักษรศาสตร์
คือ เป็นคนที่อ่อนการตีความหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ มากกว่าด้านอื่นๆครับ
อ่อ... ผมยังไม่เห็นว่าจิตรใช้รายละเอียดจากการขุดค้นพื้นที่ (ที่ปัจจุบันเรียกว่า "โบราณคดี") นะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง