เข้าเรือนมาเจอะคำถามของคุณเพ็ญชมพูเข้า....
สารภาพว่าผมแอบผงะอยู่ไม่ใช่น้อย

ด้วยเหตุที่ไปถามป่วนค้างไว้มาก ถึงพระจอมเกล้ากับนครวัด

(เลยเข้าใจไปเองว่าท่านอาจจะหวังให้ผมเข้ามาตอบ ?)
ทฤษฎีว่าด้วย "กุก" ในจารึกนครวัดมีอยู่หลายทฤษฎีครับ
บางทีก็ออกแนวเวิ่นเว้อ อ่านไปขำไปอยู่บ้าง
ขออนุญาตยกมาคร่าวๆ เฉพาะที่น่าสนใจ
อย่างแรก เป็นของจิตร ภูมิศักดิ์
ท่านว่า "กุก" เป็นการสะกดเพื่อรักษาเสียง
ผมค่อนข้างเห็นด้วย ว่าเหตุน่าจะเป็นเช่นนั้น
พูดเพียงเท่านี้ เกรงคนอ่านจะงงเอา
(ผมยิ่งพูดเรื่องภาษาไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ด้วยสิครับ)
ขออนุญาตขยายความเพิ่มว่า
ไวยากรณ์ภาษาไหนๆในสมัยกระนู้น...
เขาก็ต้องยึดภาษาปากเป็นหลัก
เพราะเมืองๆหนึ่ง จะมีคนเขียนหนังสือเป็นถึง 10% หรือเปล่าก็ไม่รู้..
แม้กระทั่งรุ่น พ.ศ. 2470 หรือ 2480 แล้ว
สังคมไทยก็ยังมีลักษณะแบบนี้ให้เห็นอยู่
ตัวอย่างเปิดหาได้ในสานส์สมเด็จ หรือจดหมายเหตุต่างๆ
ที่กรมพระยานริศ และกรมพระยาดำรงค์ทรงเขียนครับ
เสด็จในกรมทั้ง 2 ท่านทรงสะกดคำบางคำต่างกันตลอดเวลา
เช่น คำว่า "นาที" และ "นาฑี" เป็นต้น
ไล่มาจนโรงพิมพ์วัดเกาะพิมพ์นิทานขายบานเบอะนั่นล่ะครับ
ไวยากรณ์ถึงได้คล้ายกับยุคปัจจุบันมากขึ้น
คือ กระเดียดไปทางภาษาเขียนซะมากกว่า
เพราะฉะนั้น ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่เขาทำจารึก
ภาษาเขียนของแต่ละสังคมก็ต่างกันไป
คำๆเดียวกัน เทียบตัวอักษรได้เท่ากัน
เวลาอ่าน อ่านออกเสียงต่างกัน หรือคำพูดคำเดียวกัน เขียนอักษรต่างกันก็มี
ถ้าท่านผู้อ่านงงกับเหตุผล ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นในปัจจุบัน คือคำว่า "พระ"
สะกดด้วยตัวอักษรที่เทียบกลับไปสู่ภาษาบาลี - สันสกฤตได้เหมือนกัน
แต่ภาษาของ 3 ชาติ คือ เขมร พม่า และไทย ออกเสียงต่างกัน
ได้แก่ "เปรียะ" "ปยา" และ "พระ" ตามลำดับ
แต่ครั้นใครซักคนจะไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่า
มึงอ่านผิดเจ้าตัวก็ไม่ได้ออกเสียงตรงกับภาษาบาลี - สันสกฤตซักเท่าไหร่
เพราะหน่วยเสียงในภาษามันต่างกันไปในแต่ละสังคมนี่ครับ
การถ่ายเสียงจากภาษาต้นมาสู้ภาษาของตัวเองก็ต้องต่างกันเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น ผมเลยค่อนข้างเห็นด้วยกับจิตร ในเรื่องนี้
จิตรเสนอต่อไปว่า ที่ต้องสะดกว่า "กุก" เพื่อให้ออกเสียงว่า "กกฺ"
และเทียบกับวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น.. ผมก็ยังเห็นด้วย
เพราะอยุธยาเริ่มต้นด้วยการเป็นละโว้... ที่ยังเป็นขอมอยู่นั่นแล
แต่พอออกเสียงว่า "กก" แล้ว... จิตรลากไปหาแม่น้ำกก..
อันนี้ผมยังไม่ตัดสินใจเชื่อครับ ดูแผนที่แล้วมันไกลเกิน
ลองดูว่าเมืองอื่นๆอีกสี่ห้าเมืองที่มีชื่ออยู่นั่น...
ระยะทางจากเมืองต้นไปเมืองพระนครมันใกล้กว่ากันมากนะครับ
ประเด็นสนับสนุนที่จิตรใช้ คือ... จิตรเอาท้าวฮุ่งขุนเจืองมาอ้างอิง
แล้วบอกว่าการแต่งตัวของพลเสียม คล้ายกับที่บรรยายไว้...
เช่น ช้องผมประดับลูกปัด เสื้อ และผ้านุ่ง....
แต่ทั้งหมดนั่นมันคือหลักฐาน 2 ประเภท
วรรณคดี กับ ภาพประติมากรรมนูนสูง....
แล้วเครื่องแต่งกายที่ว่า (ขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดนะครับ - เพราะจำไม่ได้)
ลองอ่านดูดีๆ... แล้วไปเทียบกับเครื่องแต่งกายชนเผ่าดู
ถ้าอยากให้มีสีสันซะหน่อย... ขึ้นไปถึงชนเผ่าในจีนเลยครับ
พวกที่พูดภาษามรดกไทเดิมพวกนึง พวกที่พูดภาษาตระกูลโปรโตไทพวกนึง
และพวกที่พูดภาษาตระกูลอื่นไปเลย เช่น เย้า(เมี่ยน) หรือ ม้ง... เป็นต้น
เครื่องแต่งกายพวกเขาลากไปหาคำบรรยายในท้าวฮุ่งขุนเจืองได้อยู่หลายเผ่านะครับ
สรุปว่าหลักฐานยังค่อนข้างอ่อนเกินไปครับ ที่จะเอามาเทียบกัน
ปล่อยให้ปลายเปิดๆทิ้งเอาไว้น่าจะดีกว่า
อีกทฤษฎีที่พอรับได้ เลยบอกว่า "เสียมกกอยู่แถวเวียงจันทน์"
คนเสนอ คือ ศรีศักร์ วัลลิโภดม เหตุในการเสนอ... เพราะคิดแบบนั้น..
เออ.... ดูโดยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มันก็เข้าเค้ามากกว่า
แต่จะหาหลักฐานอื่นมาสนับสนุน.... ก็ยากอยู่ใช่ย่อย
เพราะดูเหมือนว่าคนคิดแกจะเอาความคิดในสังคมปัจจุบัน(รุ่นที่แกคิด) มาชุบตัวเสียใหม่
ในเมื่อ เสียม = สยาม = ไท (เผลอๆจะไทย) งั้น มาจากเวียงจันทน์นั่นแล ง่ายที่สุด....
มันก็ใช่ว่าจะถูก หรือมีหลักฐานสนับสนุนนะครับ... แต่ก็ใช่ว่าจะผิดอีกเช่นกัน
อย่างนึงที่น่าสนใจ คือ ถ้าเชื่อท้าวฮุ่งขุนเจืองแล้ว...
พวกไทลุ่มน้ำกกเขาเข้ามายึดพื้นที่ตอนเหนือๆของลาว
ไล่ลงมาถึงตอนกลางประเทศได้.. เวียงจันทน์อาจจะอยู่ในข่ายนั้น
แต่จะไปเอาแน่เอานอนกับตำนานที่แต่งทีหลังลงมาเป็นร้อยปี...
แถมยังแต่งเพื่อยอพระเกียรติอีกตะหาก และให้นายติบอฟันธง
ก็เกรงจะโดนเขาฟ้องศาลต้องขอโทษขอโพยเขาออกโทรทัศน์อยู่ในทีนะขอรับ
เอวัง... ด้วยประการฉะนี้แล
ขอความกรุณาสมาชิกท่านอื่นๆเข้ามาตรวจแก้การบ้านของนายติบอด้วยนะขอรับ