เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 64856 เรื่องเล่าของคุณยายสี่แผ่นดิน ข้าหลวง(รุ่นเล็ก)ในสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


 เมื่อ 31 ต.ค. 09, 08:13

ผมมีโอกาสได้อ่านเรื่องเล่าที่คุณยายท่านเขียนลงไว้ในหนังสือที่ระลึก"70 ปี เพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ สู่ วไลยอลงกรณ์" เห็นว่าเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจใคร่รู้ จึงขออนุญาตจากคุณยายเพื่อนำมาลงไว้ให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกันครับ

คุณยายท่านเขียนไว้ดังนี้ครับ
"ทูลกระหม่อม"
เยาวัยนาฏ  ชินะโชติ
ข้าหลวง(รุ่นเล็ก)ในสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ

เข้าเฝ้าถวายตัว
             
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2473 คุณแม่(คุณหญิงน้อม  รามรณรงค์) พาพี่สาว ด.ญ.ยุวนุต  ดิฉัน ด.ญ.เยาวัยนาฏ และน้องชาย ด.ช.เตื้อง เข้าเฝ้าถวายตัว โดยเชิญพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ คนละพาน คลานเข้าไปถวายทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระองค์ได้พระราชทานเหรียญ "ว.อ." พระนามย่อ เป็นอักษรทองลงยาสีเขียวแก่เราทั้งสามคน และพระราชทานชื่อให้ ด.ช.เตื้อง ว่า "นินาท" ซึ่งคุณแม่ได้ขอพระราชทานไว้ก่อนแล้ว ดิฉันและพี่สาวดีใจมากที่ได้เป็นข้าหลวงในทูลกระหม่อม น้องชายดีใจที่มีชื่อพระราชทาน คุณแม่ก็ปลื้มที่ทรงเมตตาแก่ลูก เป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดในชีวิต
เข้าไปอยู่ในวัง
             วันที่ 23 กันยายน พ.ศง 2473 คุณแม่ไปส่งดิฉันและพี่ยุวนุตเข้าไปอยู่ในวังสวนสุนันทา ตำหนักทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ฯ ในความปกครองของคุณประมูล  บุนนาค อยู่เรือนไม้ซึ่งเป็นที่พักของคุณประมูล เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น อยู่ห่างจากพระตำหนักที่ประทับประมาณ 300 เมตร ชั้นล่างเป็นพื้นซีเมนต์ ใต้ถุนโปร่ง มีห้องเก็บของเครื่องทำน้ำอบไทยของคุณประมูล พื้นที่โล่งนี้ใช้เป็นที่ทำน้ำอบไทย มีเครื่องใช้หลายอย่างมากมายเต็มไปหมด 
                 น้ำอบไทยคุณประมูลมีชื่อมาก เจ้านายทุกตำหนักทรงใช้ แม้แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และเจ้านายที่ประทับอยู่ข้างนอกวังสวนสุนันทาได้ให้ข้าหลวงถือขวดแก้วเจียระไนมาซื้อน้ำอบที่เรือนนี้  น้ำอบไทยจะบรรจุอยู่ในขวดโหลแก้วใบใหญ่มาก  ข้างๆขวดโหลวางชามกระเบื้องใส่กรวยและกระบวยทองเหลืองสำหรับตักน้ำอบ มีผ้าขาวสะอาดวางบนถาดสำหรับเช็ดขวดน้ำอบเมื่อน้ำอบไหลเปียกด้านนอกขวด  เวลาจะตักน้ำอบต้องใช้กระบวยด้ามยาวคนแป้งที่นอนก้นขวดใหเผสมกันเป็นเนื้อเดียว เวลาคนน้ำอบลำบากมาก เพราะคนแรงไม่ได้ กระบวยจะกระทบข้างขวดโหลแก้วเกิดร้าวและแตกได้  ราคาน้ำอบกระบวยเล็กนิดเดียว ราคา 5 สตางค์
                 ชั้นบนมี 2 ห้อง ห้องหนึ่งเป็นที่พักคุณประมูล อีกห้องอยู่รวมกัน 5 คน ก่อนเข้านอนต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า สวมชุดนอนเป็นกางเกงผ้าลินินขายาว มีเชือกร้อยผูกที่ขอบเอวสีขาวหรือสีอ่อนๆ ส่วนเสื้อไม่บังคับ ส่วนมากเราจะสวมเสื้อชั้นในสีขาวแบบโบราณ จีบรอบอกหน้าหลังติดลูกไม้มีแขนเป็นผ้าแบนกว้างครึ่งนิ้ว 2 ข้างไหล่ 

ยังมีต่ออีกมากครับ ถ้ามีท่านใดสนใจใคร่อ่านต่อก็จะนำมาลงไว้เรื่อยๆครับ ขอหยุดไว้เพียงนี้ก่อนนะครับ นั่งพิมพ์นานๆแล้วปวดตาครับ       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 08:36

เข้ามาขอบคุณ ค่ะ   
เป็นการบันทึกวัฒนธรรมไทยในอดีต ที่มีคุณค่าทางการศึกษาประวัติศาสตร์มาก
ค่อยๆพิมพ์ไปทีละเล็กละน้อย ก็แล้วกัน จะได้ไม่ปวดตามาก
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 09:21

สนใจอยากอ่านต่อค่ะ

รบกวนลงประวัติย่อคุณยายด้วยนะคะ  เพราะผู้ที่ศึกษาสาแหรกสกุลอยากเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ
บันทึกการเข้า
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 12:43

ท่านหญิงผู้มีพระคุณ
            การที่ครอบครัวดิฉันได้เข้าเฝ้าโดยสะดวกยิ่ง เพราะความกรุณาของ หม่อมเจ้าหญิงพิมพ์พักตร์พาณี  สวัสดิวัตน์
ท่านหญิงทรงทำหน้าที่รองอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินี ทรงโปรดสนทนากับคุณแม่เมื่อคุณแม่เป็นครูที่โรงเรียนราชินี หลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนเซ็นต์โยเซฟ คอนแวนต์ คุณแม่ศึกษาที่นี่นานมาก ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ คุณตานำคุณแม่มาให้อธิการชีเลี้ยงดู เสียค่าจ้างแพงมากเพราะคุณแม่เป็นธิดาคนแรก คุณตาต้องไปต่างจังหวัดแห่งละนานๆ ตรวจราชการทั่วทุกจังหวัด ไม่ไว้ใจคนเลี้ยงที่บ้าน จึงมอบหน้าที่เลี้ยงดูอบรบให้แก่อธิการชีโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คุณแม่จบหลักสูตรสูงสุดของโรงเรียน ตัด เย็บ ปัก ถักร้อย ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศษ เปียนโน เป็นวิชายอดเยี่ยม  ท่านหญิงพิมพ์ทรงคิดปรับปรุงการสอนนักเรียนราชินีให้ก้าวหน้าทันสมัย  จึงโปรดสนทนาวิชาการที่คุณแม่ได้พบและเรียนมา และขอให้คุณแม่ถ่ายทอดวิชาให้แก่นักเรียนราชินีด้วย
               ท่านหญิงพิมพ์เสด็จเข้าเฝ้าทูลกระหม่อมประจำทุกเดือน  ถวายรายงานการเรียนการสอน แขกมาเยี่ยมโรงเรียน ครูลาออก ครูเข้าใหม่ ทุกๆเรื่อง ท่านหญิงจึงทูลขอประทานให้คุณแม่ได้เข้าเฝ้าพร้อมกับลูก 3 คน
               คุณแม่ได้รับพระมหากรุณาให้ถวายพระอักษรภาษาต่างประเทศแก่เจ้านายหลายพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่เข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ทรงรับสั่งถามทุกข์สุข ทรงเรียกคุณแม่ว่า"ครูน้อม" ทุกครั้งทรงโปรดสนทนาเป็นเวลานาน จนลูก 3 คนที่คุณแม่พาไปเฝ้าด้วยหมอบเฝ้าไม่ไหว บิดตัวไปมาด้วยความเมื่อย รับสั่งให้ข้าหลวงพาลงไปวิ่งเล่นข้างล่าง

พระตำหนักและอาคาร
             ในบริเวณเขตพระตำหนักเนื้อที่กว้างขวาง องค์พระตำหนักตั้งบนเนินดิน คล้ายภูเขาเตี้ยๆ เวลาจะขึ้นพระตำหนัก ดิฉันต้องวิ่งขึ้น มิฉะนั้นต้องเดินเอนตัวไปข้างหน้า หาไม่จะหงายหลัง พื้นถนนเป็นกรวดเล็ก ทางขึ้นเป็นวงคล้าย U-Turn ทางนี้กว้างพอให้รถยนต์พระที่นั่งขึ้น-ลงได้สะดวก พระตำหนักตั้งอยู่ตรงโค้งตัวยู (U) รถพระที่นั่งจะจอดหน้าพระตำหนักพอดี ทางขึ้นพระตำหนักมีอัฒจรรย์ 2 ข้าง ซ้าย-ขวา รูป Y ตรงข้ามพระตำหนักติดกับขอบถนนที่รถยนต์พระที่นั่งจอดจะมีอ่างบัวปูนรูปยาว-รีใหญ่มาก บนขอบอ่างด้านบนทำเป็นที่นั่งกว้างประมาณ 8 นิ้วรอบอ่าง ในน้ำมีปลาทองว่ายอยู่หลายตัว กอบัวในอ่างเป็นบัวสีต่างๆ ดอกเล็ก กลีบบาง ดอกหนึ่งมีกลีบน้อย พระตำหนัก 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นปูน พื้นปูกระเบื้องแผ่น ด้านซ้ายมีห้องพักข้าหลวงใหญ่ 3 ห้อง ห้องหนึ่งท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ อีก 2 ห้อง คุณจรัส - คุณคมคาย - คุณสายใจ ณ มหาไชย คุณละเอียด วินิจฉัยกุล  ด้านขวาเป็นห้องกว้าง 1 ห้อง คุณเพี้ยน อากาศฤกษ์ เราเรียกคุณเพี้ยนกันว่า "กุ๊ก" ท่านจัดเครื่องเช้าและเครื่องว่าง มีเครื่องดื่ม ขนมปัง เนย แยม นมสด-นมข้น น้ำตาลก้อน ฯลฯ จัดบนถาดเงินใบใหญ่ เด็กยกไม่ไหว เครื่องดื่มจะจัดถวายหลายชนิดแล้วแต่จะโปรดเสวยชนิดใด ขนมปังนี้ จะมีรถขนมปัง รถเป็นตู้ทึบ ข้างรถจะเขียนบอกชื่อโรงงานทำขนมปัง "โอเรียนเต็ล" หรืออะไรจำไม่ได้แต่ทราบว่ามีอยู่แห่งเดียวในสมัยนั้น ขนาดขนมปังก้อนเดียวเรียกกันว่าขนมปังปอนด์ ห่อมิดชิดด้วยกระดาษบางขาวสะอาด กุ๊กจะหั่นเป็นแผ่นบางๆ ปิ้งเหลืองกรอบ นมสดใส่กากระเบื้องขาวรูปหมีตัวเล็ก ภาชนะอื่นที่ใส่ของน้ำจะเป็นรูปหมีน้อยทั้งหมด เครื่องเช้านี้เสวยในห้องบรรทม
             พระตำหนักชั้นบน ด้านขวาสุดเป็นห้องบรรทม ติดกับด้านหลังห้องบรรทมเป็นห้องทรงใหญ่ เพราะมีเครื่องต้มน้ำร้อนเป็นโลหะ เครื่องค่อนข้างใหญ่ตั้งอยู่ ทรงสรงด้วยน้ำอุ่นทุกครั้ง ถัดมาเป็นห้องใหญ่กลางพระตำหนัก เป็นที่ประทับรับผู้ที่เข้าเฝ้าและทรงอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ประทับบนพระแท่นไม้กว้างนักประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร มีเบาะนิ่มเต็มพระแท่น ปูชั้นบนด้วยผ้าขาวสะอาดชายห้อยลงข้างหนึ่ง ชายผ้าปู ติดริมด้วยลูกไม้ใหญ่ขนาด 10 ซ.ม. อีก 3 ด้านเป็บขอบไม้ สูงประมาณ 30 ซ.ม. มีพระเขนยรูป-สีต่างๆวางอยู่ 3-4 องค์ มีผู้ถวายพระเขนยแปลกสวยงาม สีสดมากหลายใบ ทรงเลือกวางบนพระแท่น ทำให้เจ้าของผู้ประดิษฐ์ปลาบปลื้มเป็นที่สุด
             วันคล้ายวันประสูติปีหนึ่ง คุณแม่ปักสดึงผ้าต่วนสีม่วงแก่ วางลายหนุมานหาวเป็นดาวเดือน เหาะลอย ใช้เวลาปักหลายเดือน ตัวหนุมานใช้ไหมสีหลายสีมาก คุณแม่ถวายในวันคล้ายวันประสูติ 16 เมษายน ทรงพอพระทัย รับสั่งชมเชยและทรงใช้พิงบนพระแท่นอยู่เป็นเวลานาน  เมื่อดิฉันขึ้นเฝ้าเห็นหมอนฝีมือคุณแม่ยังอยู่บนพระแท่นก็ปลื้มมาก
             ในห้องนี้มีตู้หนังสือยาวตามความยาวของห้อง แต่ไม่สูง ประมาณ 1 เมตร บรรจุหนังสือต่างประเทศบนชั้น 3 ชั้น ขณะนี้ตู้หนังสือนี้ตั้งอยู่ที่โรงเรียนราชินีบน  ดิฉันได้ไปลูบคลำตู้หนังสือนี้ที่โรงเรียนราชินีบน บางกระบือ ด้วยความรู้สึกเศร้านึกถึงในอดีต ดิฉันเคยเช็ดฝุ่นละอองที่ตู้นี้ จำได้ว่าบนหลังตู้ปูด้วยผ้าขาวติดลูกไม้ ตั้งพระรูป แจกันปักดอกไม้บนผ้าขาว เป็นระยะห่างกันพองาม มีพระรูปสมเด็จพระราชบิดาทรงอุ้มพระธิดา พระรูปหมู่พระนัดดา 3 พระองค์และรูปองค์อื่นๆ
             ห้องสุดท้ายถัดไปเป็นห้องเสวยอยู่ด้านตะวันออก โต๊ะเสวยไม้สี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละประมาณ 1.5 เมตร ตั้งอยู่กลางห้องใต้ช่อโคมไฟงาม ปูด้วยผ้าขาวบนผ้าหนานุ่ม ประทับเสวย 4 พระองค์ พระที่นั่งของทูลกระหม่อมอยู่ด้านทิศตะวันออก ตรงกันข้ามเป็นที่ประทับ หม่อมเจ้าหญิงสุภาภรณ์ ไชยันต์ ด้านขวามือ หม่อมเจ้าหญิงภิรมย์สงวน ไชยันต์ ด้านซ้ายมือ หม่อมเจ้าหญิงดวงตา จักรพันธ์ ใต้โต๊ะเสวยตรงกลางตั้งม้าเล็กวางกระถางโลหะใส่ขดยากันยุง จุดไล่ยุงขณะประทับเสวย เมื่อเสด็จลุกจากที่ประทับ จะต้องนำออกไปดับไฟ
             บนโต๊ะเสวยนั้น ข้าหลวงผู้ใหญ่ท่านเป็นผู้จัดวางของใช้ ตั้งแต่ แก้วน้ำ จานรองเงิน จาน ช้อน ส้อม มีด ถ้วย ชาม ผ้าเช็ดมือม้วนอยู่ในปลอกเงิน ฯลฯ ครบ เตรียมไว้ก่อน
             ด้านหนึ่งของห้องเสวย ตั้งโต๊ะไม้ยาว ปูด้วยผ้าขาววางของใช้ ในห้องเสวยมีจานชาม ถ้วยใหญ่-เล็ก เป็นกระเบื้องสีครามขอบทองมีอักษร ว.อ. ตัวเล็กติดบนขอบภาชนะทุกใบ ถ้วยแก้ว แก้วน้ำ ชามแก้วกลม ไม่มีลวดลาย เกลี้ยงๆ มีลิ้นชักเก็บช้อนส้อม มีดขนาดต่างๆ เรียงเป็นระเบียบ อีกลิ้นชักหนึ่งเก็บผ้าเช็ดมือพับซ้อนไว้เป็นตั้งสูง และอีกลิ้นชักเก็บปลอกผ้าเช็ดมือเงินและถาดเงินรองแก้ว ขาววับเป็นมันเรียงอยู่เต็ม
             ด้านหนึ่งตั้งตู้กระจกสูงมาก มี 2 ชั้น เก็บตุ๊กตาต่างๆใหญ่-เล็ก สวยงามมาก มีตุ๊กตาแหม่มขนาดใหญ่สูง 50 ซ.ม.เห็นจะได้ สวมกระโปรงสีชมพู ผ้าบางติดลูกไม้แพรวพราว เครื่องประดับสร้อยคอ ข้อมือ รองเท้าหนังหุ้มส้นสูง กระโปรงบางยาวบานกว้าง ผมสีทองหยิกสลวยยาว ผมด้านหลังม้วนเป็นหลอดห้อยประบ่าต้นคอ  ตุ๊กตาแหม่มกระโปรงบานนี้ ดิฉันต้องเข้าไปจ้องใกล้ๆติดตู้ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ขึ้นห้องเสวย
             ด้านใต้ห้องเสวย ตั้งตู้กระจกเรือเดินสมุทรจำลอง ชื่อที่ติดอยู่หัวเรืออัญเชิญพระน่ม "วไลย" เป็นชื่อเรือ เรือจำลองนี้ทำด้วยเงินยาวประมาณ 50 ซ.ม. บนเรือมีห้องเล็กๆหลายห้อง ของใช้ประจำเรือต่างๆพร้อมครบเหมือนกับเรือเดินสมุทรจริง แต่ขนาดเล็ก
             ใต้โต๊ะที่วางกระจกเรือเดินสมุทรจำลอง เป็นที่รับประทานอาหารของสุนัขชื่อ "WY" สีน้ำตาล ขนหยิกยาว หูแบนใหญ่ห้อย 2 ข้าง เราเรียกเขาว่า "ไหว" ทรงโปรดมาก เขามีสิทธิ์พิเศษตามเสด็จไปทุกแห่ง นอนในห้องบรรทม ขึ้นนั่งนอนบนพระแท่นแม้ขณะที่ทรงประทับอยู่  เด็กข้าหลวงรุ่นเล็กรวมทั้งดิฉันด้วย มีหน้าที่จัดอาหาร(คลุกจากห้องเครื่อง) บริการให้ "ไหว" ทานมื้อกลางวันมื้อเดียว เฉพาะในวันหยุดโรงเรียน ส่วนมื้ออื่นข้าหลวงที่ไม่ไปโรงเรียนเป็นผู้จัด เริ่มต้นต้องจัดที่รับประทานก่อน ดูวากระดาษและผ้าขาวปูยังสะอาดอยู่หรือไม่ ถ้าดูมอมก็เปลี่ยนใหม่ทั้งชุด คือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ 2-3 แผ่น ปูกับพื้นกระดานก่อน แล้วปูทับด้วยผ้าขาว เปลี่ยนใหม่ทั้งชามและน้ำ นำจานอาหารข้าวสวยคลุกกับปลานึ่งและผักกาดขาวหั่นชิ้นเล็กๆต้มสุก เขาจะเติมเครื่องปรุงอะไรบ้างก็ไม่ทราบ เพราะคนงานนำมาจากห้องเครื่อง ก่อนจะนำไปให้ "ไหว" ใช้ช้อนเขี่ยอาหารยังร้อนๆอยู่ตรวจดูก้าง เปลือกข้าวหรือเม็ดอะไรที่ติดมา ถ้าพบก็หยิบทิ้ง เมื่อเรียบร้อยจึงใช้ผ้ารองจานข้าว นำไปในห้องเสวย รอสักครู่ให้อาหารหายร้อน (ตอนนี้ดูต๊กตาในตู้) จึงวางจานตรงกลางผ้าที่ปูไว้ "ไหว" จะเดินมาเองไม่ต้องเรียก เราต้องจับหูใหญ่ที่ห้อยอยู่ 2 ข้างขึ้นไว้บนหัวเขา เอากิ๊บหนีบไว้ มิฉะนั้นหูจะเปื้อนอาหาร นั่งดูเขาค่อยๆทานเรียบร้อยไม่หก หมดจานแล้วจะดื่มน้ำ แล้วมองหน้าเรา ดิฉันก็จะเช็ดปากให้ แล้วเอาหูลงจากที่หนีบไว้ แล้วเขาก็จะเดินไป ดิฉันเก็บจานข้าวพับผ้าเช็ดปาก  เอาของลงไปไว้ที่ห้องล้างชาม คนงานจะเก็บผ้าไปซัก นำจานล้างแล้วส่งกลับไปยังห้องเครื่อง
             อาคารที่อยู่ใกล้พระตำหนักที่สุด คือเรือนหม่อมเจ้า ห่างประมาณ 10 เมตร ระดับพื้นเรือนต่ำกว่าพื้นพระตำหนักประมาณ 1 เมตร ทางขึ้น-ลง ต้องใชบันไดปูนขั้นสั้นๆ เป็นรูปโค้ง สิบกว่าขั้น เรือนนี้มี 2 ชั้น  ชั้นล่างเป็นใต้ถุนปูด้วยแผ่นหินสี่เหลี่ยม เรือนนี้ยาว มีบันไดขึ้น-ลง ตรงกลางเรือน เป็นเรือนไม้ ชั้นบนด้านซ้ายมือมี 2 ห้อง ห้องริมสุดเป็นห้องประทับ หม่อมเจ้าหญิงสุภาภรณ์ และ หม่อมเจ้าหญิงภิรมย์สงวน ไชยันต์ องค์พี่และองค์น้อง 2 พระองค์ทรงปกครอง ม.ร.ว.เปรมปรีดิ์มาน เกษมศรี ตั้งแต่คุณหญิงยังอายุน้อย คุณหญิงจึงพักอยู่กับท่านอาด้วย  ถัดไปห้องอยู่ติดบันไดทางขึ้นลง หม่อมเจ้าหญิงดวงตา  จักรพันธ์ ประทับกับ หม่อมหลวงยุพิน สนิทวงศ์  ชั้นบนด้านขวามือมีห้อง 2 ห้องเหมือนด้านซ้ายมือ ห้องริมสุดเป็นห้องคุณสังวาลย์ บุณยรัตพันธุ์ คุณระวี น้องสาว คุณพรรณลัมภ์ บุณยรัตพันธุ์ หลานสาว  ห้องต่อมาติดบันได อยู่กันหลายคน ม.ล.นกน้อย มาลากุล ม.ร.ว.คำทัศน์ เกษมสันต์  ม.ร.ว.ปรุงสมร จักรพันธ์ ม.ร.ว.สุคนธ์ทิพย์  เทวกุล  ม.ร.ว.สุทธิทิพย์  เทวกุล  ลงบันไดมาชั้นล่าง ห้องแรก ซ้ายมือ-ขวามือ เป็นห้องน้ำข้างละ 1 ห้อง ติดกับห้องน้ำเป็นห้องคนรับใช้ ข้างซ้าย 1 ห้อง ข้างขวา 1 ห้อง
             ปลายเนินไกลจากพระตำหนักประมาณ 100 เมตร อยู่ต่ำบนพื้นดินธรรมดา มีห้องแถวไม้ยาวประมาณ 10 ห้อง ข้าหลวงใหญ่ที่เป็นสามัญชนพักอยู่ห้องละ 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง  เรียกเรือนตรงนี้ว่าห้องแถว  ห่างจากปลายสุดห้องแถวไปประมาณ 50 เมตร เป็นโรงทอ คุณทองพูน เป็นครูสอนทอผ้า ดิฉันไม่ได้เรียนเพราะขาสั้นเหยียบไม่ถึงแป้น  ปลายสุดห้องแถวด้านขวามือเป็นตึกชั้นเดียวยาว มีปล่องให้ควันออก 2 ปล่อง  ห่างกันเป็นครัวหุงข้าวด้วยฟืนและกระทะใบบัวใหญ่มาก ตึกครัวแบ่งเป็น 2 ส่วน ใช้ประกอบอาหารให้ข้าหลวง ส่วนหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งเป็นครัวของตำหนักทูลกระหม่อม  อีกครึ่งหนึ่งเป็นครัวของตำหนักเสด็จพระองค์หญิงเยาวภาพงษ์สนิท  พระตำหนักเสด็จพระองค์หญิงเยาวภาฯอยู่ใกล้พระตำหนักทูลกระหม่อมมาก ราวๆ 200 เมตร เวลาดิฉันออกจากเรือนไปขึ้นเนินเพื่อขึ้นพระตำหนักทูลกระหม่อม ต้องผ่านตำหนักเสด็จพระองค์หญิงเยาวภาฯ  หากวันใดเสด็จประทับทอดพระเนตรกระถางกุหลาบฝรั่ง มีดอกโตมาก ตั้งอยู่หน้าพระตำหนักเป็นแถวประมาณ 40 กระถาง  เสด็จโปรดกุหลาบและทรงเอาพระทัยใส่ดูแลด้วยพระองค์เอง เสด็จทอดพระเนตร ดิฉันกำลังวิ่งผ่าน ทรงรับสั่งด้วยทุกครั้ง บางครั้งรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าในสวนกุหลาบ และรับสั่งให้ข้าหลวงบนตำหนักหยิบขนมมาประทานให้หลายครั้ง  ดิฉันได้รับพระเมตตาประทานขนมให้บ่อย  คิดหาทางถวายเสด็จบ้างก็ไม่มี  วันหนึ่งกลับจากโรงเรียนราชินี ซื้อเมล็ดแตงโมเค็ม อยู่ในถุงกระดาษเล็ก ถุงละ 1 สตางค์ ซื้อมา 2 ถุง คิดว่าจะแกะรับประทานเอง ขณะเดินลงจากเรือน เห็นเสด็จกำลังทอดพระเนตรกระถางกุหลาบอยู่หน้าพระตำหนัก  นึกได้ว่าเรามีเมล็ดแตงโมอยู่ในกระเป๋า จึงกลับขึ้นเรือนไปหยิบห่อเมล็ดแตงโมมา 1 ห่อ นำไปจะถวายเสด็จ ข้าหลวงที่เฝ้าอยู่ขัดขวางไม่ให้ถวาย ดิฉันได้เถียงกับข้าหลวงคนนั้นเสียงค่อนข้างดัง  จนเสด็จทรงได้ยิน รับสั่งถามเรื่องที่เอะอะกัน ทรงทราบแล้วทรงพระสรวล และรับสั่งให้ดิฉันถวายเมล็ดแตงโม 1 ห่อนั้น รับสั่งถามว่า "กินยังไง" ดิฉันก็ทูลวิธีขบถวาย ทรงขบเมล็ดแตงโมแล้วรับสั่งว่า "ขบถูกวิธีไหม เค็มๆ มันๆ อร่อยดี"  ดิฉันดีใจที่เสด็จได้เสวยเมล็ดแตงโมและรับสั่งว่า"อร่อยดี" กราบทูลลา วิ่งขึ้นเนินเข้าพระตำหนักทูลกระหม่อมเพื่อเตรียมตัวเข้าถวายงานในห้องเสวย
 
ยังมีต่ออีกหลายเรื่องนะครับ ว่างๆจะเข้ามาลงเรื่อยๆ  วันนี้พอเท่านี้ก่อนนะครับ
บันทึกการเข้า
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 13:01

สนใจอยากอ่านต่อค่ะ

รบกวนลงประวัติย่อคุณยายด้วยนะคะ  เพราะผู้ที่ศึกษาสาแหรกสกุลอยากเก็บไว้เป็นหลักฐานค่ะ

เรื่องประวัติของคุณยาย เอาไว้ผมจะลองขออนุญาตท่านดูก่อนนะครับ ถ้าท่านอนุญาตผมยินดีที่จะลงไว้ให้ทราบครับ

ขณะนี้ท่านอายุ 88 ปีครับ สุขภาพจิตสดใส สุขภาพกายแข็งแรง ท่านยังขึ้นรถเมล์ไปไหนมาไหนได้สบายๆครับ

อ่านเรื่องของท่านก็น่าที่พอจะรู้ประวัติท่านได้บ้างนะครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 13:53

ดิฉันหมายถึงประวัติ เจ้าคุณและคุณหญิง รามรณรงค์  ค่ะ
เพียงคร่าว ๆว่าท่านเกิดที่ไหน  จังหวัดอะไร  พี่น้องกี่คน


นักเก็บสาแหรกนี่เก็บกันอย่างจริงจัง

จุดประสงค์ก็เพื่อเขียนประวัติข้าราชการในจังหวัดต่างๆ  เช่น ผู้ว่าราชการคนแรก  จน คนปัจจุบันเป็นต้น
หรือข้าราชการในกระทรวงหลัก ๆ

พบว่าต้องตรวจสอบและชำระกันยกใหญ่เพื่อความถูกต้อง  และเกียรติประวัติของสกุลให้คนมาทีหลังได้ศึกษา
บันทึกการเข้า
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 17:22

เรือนต้นไม้ฝรั่ง
          ข้างๆเรือนหม่อมเจ้า มีเรือนต้นไม้ขนาดเล็กล้อมรอบด้วยลวดตาข่าย มีประตูปิดอยู่เสมอ ไม่ให้ใครเข้าได้ นอกจากคนสวนผู้ถือกุญแจ ข้างในเรือนมีต้นไม้จากต่างประเทศที่มีราคา ดิฉันยืนเกาะลวดตาข่ายดู ก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น กระถางตั้งเรียงบนไม้กระดานเป็นชั้น เป็นขั้นบันได ตอนที่ดูนั้นไม่เห็นต้นใดมีดอก เมื่อท่านผู้ใหญ่ทราบว่าดิฉันไปที่เรือนต้นไม้ ก็จะห้ามมิให้ไปเล่นตรงนั้น
             บนสนมาหญ้าทางทิศตะวันออกของตัวตำหนัก มีที่ประทับเล็กๆ โปร่ง ไม่มีฝา มีไม้ตีเป็นตาราง 4 มุม สูงประมาณ 3 เมตร มีต้นกุหลาบปลูกเลื้อยขึ้นไปด้านบนทั้ง 4 มุม ใต้ซุ้มกุหลาบปูกระเบื้องแผ่น ตั้งพระเก้าอี้ไว้ นานๆทูลกระหม่อมจะเสด็จมาที่ซุ้มกุหลาบนี้ ทราบว่าเป็นกุหลาบเลื้อยดอกโตสีเหลือง แต่ดิฉันยังไม่เคยเห็นดอกกุหลาบสีเหลืองนี้เลย
            มีกุหลาบอีกชนิดหนึ่งชื่อ "แดงต้อย" ดอกสีแดงเข้ม ดอกไม่ใหญ่ขนาดดอกมะลิซ้อน เวลาบานกลีบจะไม่แบเหมือนดอกกุหลาบอื่น กลีบกุหลาบแดงต้อยจะโค้งเหมือนกลีบดอกบัว ปลูกเป็นแถวยาวไปข้างทางเดิน ยังมีแถวพุทธชาดอยู่ข้างทางเดินอีกหลายแห่งเป็นแถวยาว หลังพระตำหนักมีต้นจำปาเป็นแถวยาว เวลามีงานในวังหลวงหรือวังสระปทุม เด็กๆจะถูกเกณฑ์ให้เก็บดอกพุทธชาดกันคนละขัน บางคนขึ้นต้นจำปาเก็บดอก รวบรวมให้ช่างดอกไม้ร้อยประดิษฐ์แบบต่างๆ ใช้ในงาน
บันทึกการเข้า
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 พ.ย. 09, 14:13

พระกรุณาธิคุณยิ่งใหญ่
   ข้าหลวงแบ่งเป็นลำดับกันไป ตั้งแต่ ชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง คุณสังวาลย์  บุณยรัตพันธุ์ (ข้าหลวงถวายงานใกล้ชิดที่สุด) ทุกท่านตามที่กล่าวมานี้ อยู่เรือนหม่อมเจ้า ลำดับรองมา เป็นข้าหลวงที่พักอยู่ห้องชั้นล่างพระตำหนัก  ลำดับรองลงมา เป็นข้าหลวงที่พักอยู่ห้องแถว ลำดับสุดท้าย เป็นเด็กๆ อยู่ที่เรือนกับคุณประมูล
   ทูลกระหม่อมทรงพระกรุณาให้ข้าหลวงได้รับการศึกษาอย่างดี  เด็กเล็กและเด็กสาวได้เรียนที่โรงเรียนราชินี ตอนเช้ามีรถรับไปส่งที่โรงเรียน ตอนเย็นรถไปรับจากโรงเรียนส่งกลับวัง  เช้าขึ้นทุกคนตื่นนอนรีบอาบน้ำแต่งชุดนักเรียน  รับประทานอาหารที่ห้องครัวนำมาส่งยังที่พักของนักเรียนทุกคน  แล้วรีบถือกระเป๋าเดินหรือวิ่งไปขึ้นรถยนต์ที่จอดคอยอยู่นอกประตูวัง  มีรถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก สีน้ำเงินแก่ ส่งนักเรียนราชินีบน มีนักเรียนน้อยคน ที่จำได้คือ คุณพูนทรัพย์  ม.ร.ว.เปรมปรีดิ์มาน  ส่วนรถยนต์คันที่สองขนาดใหญ่ มีที่นั่งยาวตามลำตัวรถ ที่นั่งซ้าย-ขวา หันหน้าหากัน หรือจะเรียกรถสองแถวก็ได้  ท้ายรถตรงกลางมีช่องให้ขึ้น-ลง แต่ไม่มีประตู คนขับรถยนต์ชื่อนายผาด  ข้างๆนายผาดจะมีหญิงกลางคนยังไม่แก่มาก ชื่อยายคร้ามนั่งคู่อยู่ข้างหน้ารถ  ยายคร้ามเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยในรถ แกจะบอก “คุณเล็กๆ เข้ามานั่งข้างในค่ะ นั่งท้ายรถไม่ได้เดี๋ยวจะตกลงไป” เมื่อนั่งกันตามยายคร้ามสั่งแล้ว ยายคร้ามจะเป็นผู้นับนักเรียนที่นั่งบนรถ เมื่อครบจำนวนก็สั่งให้นายผาดออกรถได้ 
   ขณะนั่งอยู่บนรถยนต์คุยกันเสียงดังไม่ได้จะถูกยายคร้ามดุ  จนกระทั่งรถจอดหน้าประตูโรงเรียน  นักเรียนจะลงจากรถเดินเข้าประตูโรงเรียน ยายคร้ามก็ลงจากรถเหมือนกัน คอยดูนักเรียนที่ลงจากรถทีละคน นักเรียนโตที่อยู่ใกล้ทางลงจะลงก่อน ไม่มีปัญหาอะไร พอถึงนักเรียนที่นั่งกลางและด้านในสุดของรถ จะกระโดดลงกันเสียงดังปังๆ  ยายคร้ามก็จะปรามว่า “เบาๆเจ้าค่ะคุณเล็กๆ เดี๋ยวจะล้มตกกระไดเจ็บนะเจ้าคะ” เมื่อลงจากรถหมดแล้วยายคร้ามก็จะขึ้นรถ  รถยนต์แล่นกลับไปจอดที่ไหนก็ไม่ทราบ     
   ตอนเย็น นายผาดก็จะมาจอดคอยรับนักเรียนกลับ  ยายคร้ามจะยืนอยู่ที่ประตูโรงเรียนให้เราเห็น  เพื่อให้รู้ว่ารถมารอรับแล้ว ให้ทุกคนรีบไปขึ้นรถได้  เมื่อยายคร้ามเห็นว่านักเรียนเต็มรถ ก็จะนับจำนวน ถ้าไม่ครบก็จะเอะอะว่าขาดใคร  ตอนนี้จะมีผู้อาสาไปตามผู้ที่ยังไม่มาขึ้นรถ  ยายคร้ามจะตัดสินว่าสมควรให้ใครไปตาม  สักครู่ผู้ที่มาช้าก็จะเดินมาขึ้นรถอย่างเงียบๆหงอยๆ  เพราะถูกคนที่รออยู่ในรถมองเขาอย่างตำหนิ   ส่วนผู้ทีไปตามบ้างทีก็หายไปนาน  ยายคร้ามก็จะบ่นพึมพำว่า “คุณเล็กๆนี่แย่จริง คนนี้มา คนตามหายไป เออ! ก็ต้องรอไปอีก” เป็นดังนี้แทบทุกวัน
   เมื่อรถที่รับนักเรียนในตอนเย็นจอดส่งหน้าประตูวัง ทุกคนลงจากรถ เดินเข้าประตูวัง ประตูนี้มีขอบด้านล่างสูง  โขลน(คนเฝ้าประตูวัง)เขาเรียกขอบด้านล่างประตูว่า “แม่ธรณีประตู”  เวลาเข้าประตูต้องข้ามธรณีประตูไป  เท้าไปเตะโดนไม่ได้  ถ้าเท้าไปโดน ต้องก้มลงกราบขอโทษ  ฉะนั้นเวลาเข้า-ออก  ต้องระมัดระวังมาก  ดิฉันเองจึงต้องดึงผ้าถุงให้สูงเลยหัวเข่า จ้องเขม็งที่ธรณีประตูแล้วก้าวยาวข้ามไป พอพ้นได้ก็ดีใจ วิ่งห้อไปรวดเร็วเพื่อแย่งกันอาบน้ำ แต่งตัวใหม่ ทำการบ้าน และรอเพื่อนให้ครบคน จึงจะรับประทานอาหารเย็นได้ 
   สำรับอาหารคาว-หวาน หม้อข้าว  ทุกอย่างตั้งเทียบอยู่แล้ว  แต่ยังต้องคอยกันมาให้พร้อม ผู้ที่คอยนานก็รำคาญ จึงหยิบอ้อยบ้าง ส้มบ้าง มารับประทานแก้รำคาญ  ทำให้ของหวานเหลือน้อยไม่พอกับจำนวนคน  จึงมีการต่อว่าเอะอะกัน  ถ้าคุณประมูลอยู่เรือนก็จะออกมาดู และอบรบสั่งสอนไม่ให้ทำเสียงดัง
   ครั้นเมื่อรับประทานอาหารเย็นเสร็จ ก็ต้องล้างมือทำความสะอาด  แล้วแต่งตัวให้เรียบร้อย โดยเลือกผ้าถุงสีไม่ฉูดฉาดและไม่มีดอกลาย  คาดเข็มขัดหนัง ส่วนเข็มคัดเงิน-นาก นั้นห้ามใช้ (เนื่องจากเป็นโลหะ ทูลกระหม่อมทรงเกรงว่าจะเป็นสื่อทำให้ฟ้าผ่า)  แล้วเหน็บชายขอบผ้าถุงให้เรียบร้อย ชายล่างผ้าถุงต้องตรงไม่โย้เย้เอียงเฉไปข้างใดข้างหนึ่ง สวมเสื้อสีขาวแขนสั้น หวีผมเรียบผัดหน้าพอนวล  เตรียมขึ้นเฝ้า
   ทุกคนจะต้องถือของติดมือไปด้วย  ถือหนังสือไปอ่าน-ท่อง  ถือถุงหรือกล่องการฝีมือ เช่นถักโครเชต์ นิตติ้ง ปักผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ถ้าใครนั่งมือเปล่าจะถูกผู้ใหญ่มอง  เคยมีข้าหลวงคนหนึ่งนั่งเฝ้าโดยไม่ได้ทำอะไรเลย คุณผู้ใหญ่จึงคลานมาใกล้แล้วกระซิบถามว่า “หนู ไม่มีอะไรทำหรือ” หนูคนนั้นตอบว่า “ทำอยู่ค่ะ กำลังท่องร้องเพลง ลาวดำเนินทราย พรุ่งนี้จะสอบร้องเพลง”  คุณข้าหลวงใหญ่ได้นำความนี้กราบทูลให้ทรงทราบ ทรงพระสรวล รับสั่งว่า “คราวหน้าบอกเขาให้ร้องดังๆได้”
     ใกล้ 2 ทุ่ม(20.00น.) ข้าหลวงที่มีหน้าที่เดินโต๊ะจะค่อยๆคลานถ่อยออกมา เพื่อไปยังห้องเสวย ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งบนตำหนักเดียวกัน  ตรวจดูเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะผ้าถุงไม่ให้รุ่มร่าม ขอบล่างของผ้าถุงต้องตรงไม่เฉเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะต้องยืนถวายการรับใช้อยู่ตลอดเวลาเสวย จึงต้องระมัดระวังเป็นเรื่องสำคัญ  รองลงมาต้องสวมเสื้อผ้าขาวสะอาดรีดเรียบ ผมไม่ยุ่งรุงรัง และยาวไม่ได้ ใบหน้ามีแป้งเล็กน้อย  เคยมีคุณหญิง(ม.ร.ว.) คนหนึ่งชอบทาหน้าด้วยฝุ่นจีน เวลาทาต้องใช้น้ำด้วย ทาแล้วใบหน้าขาวมาก ทูลกระหม่อมทอดพระเนตรแล้วรับสั่งว่า “เหมือนงิ้ว”
   เครื่องเสวยตอนค่ำ ทุกวันจะเริ่มด้วยอาหารฝรั่ง ห้องเครื่องฝรั่งอยู่ที่วังสระปทุม กุ๊กผู้ชายเป็นผู้จัด บรรจุมาในภาชนะเงิน ห่อด้วยผ้าขาว ตีตราเชือกที่ผูกห่อผ้าขาวด้วยก้อนดินสอพองทุกหม้อ หรือทุกจาน  ในทุกคืนรถยนต์จากวังสระปทุม จะนำเครื่องฝรั่งมาส่งที่ประตูวังสุนันทา คนงานหญิงเป็นผู้นั่งคอย รับและเชิญเครื่องมายังตำหนัก วางไว้ที่ห้องพักเครื่อง เพื่อให้ข้าหลวงใหญ่ได้ตรวจดูความเรียบร้อยของที่หุ้มห่อภาชนะ  โดยจะตรวจดูตราบนเชือกที่ผูกห่อผ้า จนเมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดีแล้ว จึงดึงเปิดเอาผ้าขาวออก  แต่ยังคงต้องนั่งเฝ้าเครื่องอยู่จนกว่าจะนำขึ้นเสริฟหมดทุกรายการแล้ว ท่านจึงไปได้
   เมื่อทูลกระหม่อมเสด็จเข้าห้องเสวย ตามเสด็จด้วยท่านหญิง 3 องค์ ข้าหลวงคนหนึ่งต้องนั่งคอยเลื่อนพระเก้าอี้ถวายทูลกระหม่อมพระองค์เดียว  จนเมื่อเริ่มต้นการเสวย ข้าหลวงรินน้ำถวาย ทูลกระหม่อมเสวยน้ำแร่ “วิชชี่” จากฝรั่งเศส องค์อื่นเสวยน้ำขวดแช่เย็น  เครื่องฝรั่งเริ่มต้นด้วยซุป มีซุปโรยด้วยขนมปังทอดชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก (ขนมปังทอดแยกมาต่างหาก) ซุปมีหลายชนิด เช่น ซุปมะเขือเทศ ซุปข้าวโพดฯลฯ ซุปใสก็มีหลายชนิด วันหนึ่งๆเข้าจัดซุปมาเพียงอย่างเดียว และสลับเปลี่ยนไปทุกวัน  ชุดต่อไป จะเป็นเนื้อสัตว์ เนื้อแกะ นก วัว แพะ ปลา ไก่ เป็ด อย่างใดอย่างหนึ่ง  ที่จัดประจำเป็นเครื่องเคียง คือมันฝรั่งชิ้นบางทอดกรอบ  ผักเขียวอบหรือนึ่งสุก  มันฝรั่งบดสุกแล้วกดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเมล็ดข้าว บางครั้งมีมักกะโรนีซอสมะเขือเทศ ใส่แฮม เนื้อไก่ฉีกฝอย อาหารฝรั่งชื่อ soufflé ก็โปรดให้จัดถวาย
   เมื่อเสวยเครื่องฝรั่งครบ 2 ชุด คือซุปและเนื้อสัตว์ ต่อไปเสวยเครื่องไทย คุณนายวุ้น  วินิจฉัยกุล เป็นผู้จัดถวาย เครื่องไทยจัดวันละ 2 ครั้ง เที่ยงและค่ำ ส่วนเครื่องฝรั่งจัดถวายตอนค่ำครั้งเดียว เครื่องไทยที่ต้องจัดถวายทุกวัน ขาดไม่ได้อันดับหนึ่งคือ แกงจืด โปรดแกงจืดวุ้นเส้น น้ำแกงสีน้ำตาล คงจะใส่ซอสหรืออะไรตามสูตรคุณนายวุ้น แต่น้ำแกงสีขาวไม่ได้  อันดับสองได้แก่ผัดผักกาดขาว มีเนื้อไก่ขาวไม่ติดหนัง ชิ้นโตประมาณ 1 นิ้วและชิ้นไม่หนา วางอยู่บนผักประมาณ 10 ชิ้น และอันดับสามคือ ปลาดุกอุยย่างตัวโตเอาหัวออก อย่างอื่นก็สลับเปลี่ยนไป เช่นแกงเผ็ด แกงใส่กะทิ ยำต่างๆ น้ำพริก ผัก ปลาทู เครื่องหล่นต่างๆเช่น เต้าเจี้ยว กะปิคั่ว นานครั้งจึงมี  ส่วนชุดน้ำพริกปลาทู จัดบ่อย ปลาทูทอดตัวใหญ่มาก ผักสดจัดเป็นพุ่ม ตรงกลางจานใช้ยอดผักบุ้งตั้งเป็นกอ รองลงมาเป็นแตงกว่า มะเขือเปราะแกะสลักเป็บกลีบ วางรอบกอผักบุ้ง  มีกระชาย ขมิ้นขาว ทำเป็นดอกมีกลีบ 3-4 กลีบ แต่งอยู่ระหว่างมะเขือ แตงกวา มีช่อมะเขือพวงและมะเขือเล็กๆแซมอยู่รอบๆ  ผักต้มไม่จัดถวายเลย ทูลกระหม่อมโปรดน้ำพริกปลาทู  เมื่อดิฉันขึ้นเดินโต๊ะ (เป็นผู้เสริฟถวาย) เห็นพระองค์เสวยแทบทุกครั้ง  ทุกครั้งที่เสวยไม่ว่าเครื่องฝรั่งหรือเครื่องไทย ข้าหลวงทุกคนต้องยืนคอยถวายงานโดยไม่ต้องหมอบคลาน (พระองค์ไม่โปรดให้หมอบคลาน)
   เครื่องหวานเป็นหน้าที่ของคุณยายขำ ท่านเป็นผู้มีอายุแล้ว ท่านจัดเครื่องหวานโดยเฉพาะ ที่จัดประจำคือ “อ้อย” คุณยายควั้นอ้อยเป็นชิ้นสั้น เกลาเรียบไม่มีเหลี่ยมเลย ทูลกระหม่อมเสวยประจำทุกวัน  “เงาะ” เป็นผลไม้ประจำเช่นเดียวกัน  โดยผ่าผลเงาะตามยาวของลูกเป็น 2 ซีก ใช้มือแกะเม็ดออกไม่โปรดให้ใช้มีดคว้านเม็ดออก(เข้าใจว่าคงทรงพระวิตกว่าเงาะจะช้ำ) ผลไม้อื่นก็มีเช่นแอปเปิ้ลเขียว จัดมาเป็นผล ไม่ต้องผ่าออก แต่ไม่เคยเห็นทูลกระหม่อมเสวยเลย  ส่วนท่านหญิงนั้นเมื่อจะเสวยใช้มีดที่จัดวางบนโต๊ะผ่าและปอกเอง  “ลางสาด” ก็เป็นผลไม้ที่โปรดเหมือนกัน  จัดเรียงมาเป็นผลไม่มีเปลือก ทรงแกะกลีบลางสาดที่ไม่มีเม็ดเสวย  ลางสาดนี้ไม่จัดทุกวัน แล้วแต่ฤดูกาล  “มังคุด” เป็นผลไม้อีกชนิดที่โปรด แต่ต้องเป็นผลเล็กๆ  ยายขำเรียกว่า “ดอกมังคุด”  ดิฉันเคยคุยกับยายขำว่า “ไม่ใช่หน้าเงาะ หน้ามังคุด หน้าลางสาด ยายไปซื้อจากไหน” ยายบอกว่า “สั่งเจ้าประจำให้เจ้าของสวนแสวงหาส่งมาถวาย”  ผลไม้อื่นก็จัดตามฤดูที่มี เช่น ชมพู่ม่าเหมี่ยว ชมพู่เขียว มะม่วงมัน มะม่วงสุก องุ่น สาลี่ ฯลฯ ส่วนผลไม้ที่มีเม็ดสีดำ เช่น ลำไย น้อยหน่า ไม่จัดถวาย  ผลไม้สำคัญที่จัดถวายไม่ได้ และนำเข้าวังสุนันทาไม่ได้เด็ดขาดคือ “ทุเรียน” ใครนำเข้าประตูวังจะมีโทษ ถูกโขลนจับ   
    สุดท้าย เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ข้าหลวงจะถวายชามแก้วกลมใหญ่ประมาณ 6 นิ้ว ใส่น้ำสะอาด ทรงล้างพระหัตถ์  ประทับรับสั่งสนทนากับท่านหญิงทั้งสามอยู่สักครู่ จึงเสด็จลุกจากที่ประทับ เสด็จเข้าห้องกลาง ท่านหญิงบางพระองค์ก็เข้าเฝ้าต่อ องค์อื่นเสด็จกลับตำหนัก ข้าหลวงที่ถวายงานเดินโต๊ะก็ออกจากห้องเสวยได้ หลังจากเก็บเครื่องใช้บนโต๊ะออกหมดแล้ว
   ทูลกระหม่อมทรงพระเมตตามากๆ โดยเฉพาะข้าหลวงรุ่นเล็ก เด็กขนาดอายุ 10-15 ปี ที่อยู่ในวัยเรียน ได้มีหน้าที่ถวายงานเพียงเล็กน้อยมาก ทั้งนี้กิจวัตรของพวกเรา เช้าขึ้นก็รีบไปโรงเรียนทุกวัน หยุดวันอาทิตย์เพียงวันเดียว วันเสาร์เรียนครึ่งวัน ดังนั้นโอกาสที่จะได้ขึ้นเฝ้าจึงน้อยมาก  นอกจากตอนเย็นเมื่อกลับจากโรงเรียนแล้วได้ขึ้นเฝ้าทุกวันและได้เดินโต๊ะทุกวันตอนค่ำ  วันเสาร์ถ้ากลับทันก็ได้เข้าเฝ้าถวายเดินโต๊ะเครื่องไทย  ถ้ากลับช้าก็เฝ้าไม่ทัน เพราะต้องอาบน้ำเปลี่ยนชุดนักเรียนออก  ส่วนวันอาทิตย์นั้น แน่นอนได้เข้าเฝ้าตั้งแต่ 11.00 น. จนถึงกลางวันและได้เดินโต๊ะถวายรับใช้อีกด้วย   วันอาทิตย์เป็นวันหยุด คุณประมูลผู้ปกครองคอยคุมให้ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดห้อง ฯลฯ จึงห้ามขึ้นเฝ้าเช้านัก หลังจากเดินโต๊ะเสร็จประมาณบ่าย 2 โมง กลับมาที่เรือนพัก เตรียมรีดผ้าด้วยเตารีดใส่ถ่านติดไฟก้อนแดง ซึ่งดิฉันไม่ชอบเลย เพราะเตารีดร้อนจะกระทบเนื้อแถวมือ แขน ทำให้เนื้อพองบ่อยๆ
บันทึกการเข้า
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 07:12

เสด็จโดยรถยนต์
   บางวันผู้ใหญ่จะแจ้งให้ทราบว่าวันนี้ทูลกระหม่อมจะเสด็จไป วังสระปทุม วังวิทยุ หรือพระบรมมหาราชวัง ฯลฯ  ข้าหลวงต้องขึ้นเฝ้าส่งเสด็จ รถยนต์พระที่นั่งมี 2 คัน คันเล็กทรงใช้เสด็จไปวังเจ้านายเพื่อทรงพระสำราญ  แต่คันใหญ่เป็นรถยนต์เก๋ง 2 ตอน ที่หน้าหม้อรถติดโลหะมือผู้หญิงกรีดนิ้วถือกำไลชู  ผู้ขับรถยนต์พระที่นั่งชื่อนายเมี้ยน นายไกร นายนาถ ผู้ที่นั่งคู่กับคนขับชื่อจมื่นเทพ-สุรินทร์ (ม.ล.ประจวบ กล้วยไม้) คุณจมื่นผู้นี้เป็นผู้เดียวที่ต้องตามเสด็จทุกครั้งไม่ว่าเสด็จงานใด  คุณจมื่นแต่งกายนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อสีขาวคอตั้งติดกระดุมทอง 5 เม็ด สวมถุงเท้า รองเท้าหนังดำมันวับ คนขับรถยนต์สวมกางเกงสีดำ ตัวพองหลวมขายาว มีท็อปบู้ทปิดขากางเกง สวมเสื้อสีขาวคอตั้งติดกระดุม 5 เม็ด เช่นคุณจมื่น แต่จำไม่ได้กระดุมอะไร  เมื่อใกล้เวลาเสด็จ รถยนต์จะแล่นขึ้นเนินมาตามถนนโรยกรวด ขึ้นทางซ้ายจอดติดพื้นหน้าตำหนัก ด้านขวาตรงที่นั่งคนขับอยู่ใกล้อ่างบัว  คุณจมื่นและคนขับจะลงจากรถลงมายืนอยู่ข้างรถและต้องปิดประตูรถไว้  ข้าหลวงที่รู้จักคุณจมื่นจะนำแก้วน้ำมาให้ดื่มและสนทนาด้วย  ข้าหลวงที่ตามเสด็จประจำคือ ม.ล.ยุพิน สนิทวงศ์ หรือ ม.ล.นกน้อย มาลากุล คนใดคนหนึ่ง ผลัดเปลี่ยนกัน  เมื่อเสด็จลงจากพระตำหนัก ข้าหลวงตามเสด็จเดินตามลงมา  คุณจมื่นโค้งถวายความเคารพพร้อมกับเปิดประตูให้เสด็จขึ้นประทับ  ม.ล.ยุพิน  ถอนสายบัวถวายความเคารพแล้วก้าวขึ้นนั่งเคียงทูลกระหม่อม คุณจมื่นถวายความเคารพขึ้นนั่งประจำที่  นายเมี้ยนถวายความเคารพตั้งแต่เสด็จลง จนประทับรถยนต์แล้วนายเมี้ยนจึงขึ้นนั่งที่คนขับ แล้วนำรถพระที่นั่งแล่นจากเนินไป  ข้าหลวงที่นั่งเฝ้าส่งเสด็จหมอบกราบขณะที่ประทับรถยนต์เรียบร้อยแล้ว   
เครื่องทรง
   ขณะที่ประทับในพระตำหนักทุกๆวัน ทูลกระหม่อมทรงผ้าพื้นเนื้อละเอียดสีต่างๆ แล้วแต่จะทรงโปรด  ทรงแบบโจงกระแบน ฉลองพระองค์แบบเรียบคอกลมสีอ่อน เข้าชุดกับผ้าทรง เนื้อผ้าฉลองพระองค์เบาบาง เป็นผ้าป่านหรือแพรเนื้ออ่อน มีดอกเล็กๆหรือลวดลายน้อยๆ ผู้ตัดเย็บถวายคือคุณระย่อ ณ นคร ท่านชื่อเล่นว่า “นุ้ย” ทุกคนเรียก “น้านุ้ย” ท่านหญิงและคนที่มีอายุมากกว่าเรียก “แม่นุ้ย” เวลาเสด็จส่วนพระองค์โดยรถยนต์ จะทรงผ้าถุงสำเร็จรูปองค์หลวม ไหมเชียงใหม่ มีเชิงที่ปลายล่าง ฉลองพระองค์แพรบาง สีเข้าชุดกับผ้าไหม  แต่เวลาเสด็จงานราชพิธีในวัง จะทรงผ้ายกฉลองพระองค์แขนยาว ทรงติดเหรียญตรา และทรงสายสะพายชั้นต่างๆตามแต่พระราชพิธีเล็ก-ใหญ่
   ทรงฉลองพระบาทแตะขณะประทับบนตำหนัก เวลาเสด็จนอกวัง ทรงฉลองพระบาทหนังส้นสูงไม่มาก
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 15:20

น่าสนใจมากครับ อยากอ่านต่อครับผม ผมเชื่อว่าผมรู้จักท่านผุ้หนึ่ง ที่ใช้สกุลนี้ จำได้ว่าชื่อ สุวิทย์(มั้ง) เคยทำงานสายการเมื...ด้วยกันครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 19:31

พี่ตาล  สุวิช  ชินะโชติ ถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้วครับ

พี่ที่ผมสนิทมากอีกท่านหนึ่งคือ พลตรี ณัฏฐพร  ชินะโชติ นี่ก็เพิ่งเสียชีวิตไป  ถ้ายังอยู่คงจะได้สอบถามข้อมูลแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง

พี่ตุ้ม  ณัฏฐพร ท่านเคยเล่าว่า ท่านมีคุณป้าอยู่ท่านหนึ่งชื่อ สมบุญ  ชินะโขติ เป็นเพื่อนนักเรียนของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาฯ มาตั้งแต่เรียนราชินี  ต่อมาท่านได้ถวายตัวเป็นคุณข้าหลวงในสมเด็จฯ  และได้เป็นต้นห้องของสมเด็จฯ มาจนสมรสกับพระประสิทธิ์บรรณการ (แฉล้ม  กฤษณามระ) บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือดุสิตสมิต  โปรดสังเกตนะครับผมใช้คำว่า บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา  เพราะหนังสือดุสิตสมิตนั้นมีบรรณาธิการและบรรณานุกร  ดังนี้
บรรณาธิการใหญ่  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
บรรณาธิการ        หม่อมเจ้าชัชวลิต  เกษมสันต์  เจ้าพระยารามรามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)  พระยาอุดมราชภักดี (โถ  สุจริตกุล)
บรรณานุกร         หม่อมเจ้าดุลภากร  วรวรรณ  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล  นายจ่ายวด (ปาณี  ไกรฤกษ์)  พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง  สาคริก)

                 
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 พ.ย. 09, 11:16

ครับผม เรื่องนี้ผมขออนุญาต safe ไว้นะครับ เพราะสามารถใช้เป็นประโยชน์ได้มากครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 พ.ย. 09, 11:25

อ่านแล้วนึกถึงหนังสือ ชีวิตในวัง ของม.ล. เนื่อง นิลรัตน ค่ะ  ท่านเป็นข้าหลวงในวังของพระวิมาดาฯ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 พ.ย. 09, 09:55

ต้องขอแสดงความเคารพอย่างสูง มายังท่านที่บันทึก และขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ว่าท่านได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับคนรุ่นหลังครับ เป็นการบันทึกที่ละเอียด ละออ อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้อ่าน เลยทีเดียว ครับ ผม
มานิต
บันทึกการเข้า
thotrotfai
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 14:04

เหตุการณ์ประทับใจที่อยู่ในความทรงจำ
      เหตุการณ์ที่ 1 วันหนึ่งจำวันไม่ได้ พี่ๆผู้ใหญ่บอกว่า “พรุ่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะเสด็จมาที่พระตำหนักและประทับร่วมโต๊ะเสวย” พวกเราดีใจมากที่จะได้เข้าเฝ้านายหลวงอย่างใกล้เวลาเดินโต๊ะ แต่ผิดหวัง เพราะท่านจัดข้าหลวงสาวๆที่เรียบร้อยไว้ถวายรับใช้อยู่แล้ว เราถูกห้ามไม่ให้ขึ้นตำหนักก่อนเวลาเสด็จ 1 ชั่วโมง จึงนัดกันไปคอยข้างทางที่จะเสด็จผ่าน  ทรงพระดำเนินเข้ามาเอง ไม่ประทับรถยนต์ ดิฉันได้ที่เฝ้าปลายเนิน  ข้าหลวงตำหนักอื่นก็เข้ามานั่งคอยเฝ้ารับเสด็จกันเต็มไปหมด พอถึงเวลาโขลนจะถือคบเพลิงยาวสูง จุดไฟเดินนำขบวนมาเป็นคู่ ทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินตรงกลางแถวโขลน ท้ายขบวนมีโขลนถือคบไฟอีก 3 คู่  พระเจ้าอยู่หัวทรงผ้าม่วงสีชมพูสด สมเด็จพระราชินี ทรงผ้าซิ่นและฉลองพระองค์สีชมพู ทรงพระสรวลยิ้มกับผู้เข้าเฝ้า เราหมอบกราบเงียบๆเมื่อเสด็จมาใกล้ ไม่ได้ตะโกน “ทรงพระเจริญ” เหมือนสมัยนี้ 
      วันนี้พิเศษกว่าทุกวัน บนพระตำหนักเปิดไฟฟ้าทุกดวง ข้าหลวงเดินกันขวักไขว่ที่ชั้นล่าง โขลนดับไฟนั่งรอที่ขอบถนนทั้งสองข้างเพื่อรอเสด็จกลับ ดิฉันใจเต้นตึ๊กๆ จำภาพนี้ได้จนทุกวันนี้
      เหตุการณ์ที่ 2  ใน พ.ศ.2474 พระองค์หญิงกัลยานิวัฒนา พร้อมด้วยพระอนุชา 2 พระองค์ และหม่อมสังวาล เข้าเฝ้าทูลกระหม่อม  ทั้ง 3 พระองค์เสด็จขึ้นไปบนตำหนัก ส่วนหม่อมนั่งพักที่ชั้นล่าง ใช้ผ้าเช็ดหน้าโบกไปมา ดิฉันมองดูคิดว่าท่านคงจะร้อน จึงไปนำแก้วน้ำเย็นพร้อมถาดรองมาส่งให้ ท่านบอกว่า “ขอบใจจ้ะ” แล้วดื่มน้ำเย็นหมดแก้ว ดิฉันขอแก้วมาเติมน้ำเย็นให้อีก ท่านบอกว่า “พอแล้ว” ดิฉันถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไปบนตำหนักอีกครั้ง จึงไม่ได้เห็นพระนัดดาทั้งสามพระองค์ว่าทรงทำอะไร
      เหตุการณ์ที่ 3 จำปีไมได้เช่นกัน  คุณไสว บุณยรัตพันธุ์  ข้าหลวงคนหนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณา ได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา จบการศึกษา กลับประเทศไทย เข้าเฝ้าทูลถวายรายงานการศึกษา คุณไสวนุ่งผ้าไหมสีชมพูเป็นกระโปรงสำเร็จรูป สวมเสื้อผ้าโปร่งใส สีขาวแขนยาว ชายเสื้ออยู่ในกระโปรง สวมหมวกปีกกว้าง บางใส สวมถุงน่องรองเท้าส้นสูง เดินเร็วว่องไว เหงื่ออก ใช้ผ้าเช็ดหน้าซับเหงื่อบ่อยๆ แก้มแดง ปากแดง ใบหน้าขาวตามธรรมดา ผิวขาวผ่อง จัดเป็นหญิงสวยมาก คุณไสวกราบทูลกระหม่อมด้วยท่าทางเก้งก้าง ข้อศอกถางและนั่งหมอบไม่ได้ ทรงอนุญาตให้นั่งบนเก้าอี้ กราบทูลเรื่องราวด้วยภาษาไทยไม่ชัด ใช้ภาษาอังกฤษปะปนตลอดเวลา ทราบว่าท่านไปเรียนอยู่หลายปี
      เหตุการณ์ที่ 4 วันหนึ่งจู่ๆก็มีข้าหลวงคนหนึ่งมาบอกว่า “ไหวตาย” เรากำลังนั่งกันอยู่หลายคน ตกใจเพราะไม่เคยได้ข่าวมาก่อนว่า “ไหวเจ็บ” แล้วทำไมจึงตาย ก็รีบขึ้นตำหนัก ข้าหลวงคนนั้นบอกว่า  “ไม่ต้องไปดูหรอก ตายจริงๆ คุณผู้ใหญ่ให้มาบอกว่า จะฝังไหวเย็นนี้ ทุกคนรีบทำพวงหรีดเล็กๆ ถือเข้าขบวนตามศพ “ไหว” ให้เสร็จ ถ้าใครไม่มีพวงหรีดจะถูกลงโทษ” (จากที่เข้าใจว่าเป็น   “คุณไสว” กลายเป็น “ไหว” สุนัขทรงเลี้ยงของทูลกระหม่อม) ทุกคนจึงรีบลุกขึ้นไปหาดอกไม้มาทำเป็นพวงหรีด ช่วยกันทำคนละอย่าง เพราะมีคนมัดพวงหรีดเป็นอยู่ 2-3 คน คนทำไม่เป็นจึงวิ่งไปหาลวดเล็ก เก็บกิ่งไม้เล็กมาขดเป็นวงกลม เก็บดอกบานบุรี ดอกพวงชมพู ดอกชงโค ดอกลั่นทม มาแซมไปบนขดวงกลม เอาลวดผูกรัด เมื่อได้ครบจำนวนคนแล้วก็รีบไปอาบน้ำแต่งตัว เพื่อเข้าขบวนฝังศพ
      หีบไม้ที่ถูกทำขึ้นอย่างกะทันหัน จึงไม่ได้ทาสีหรือน้ำมัน แต่ก็มีผ้าคลุมหีบสวยงาม ใครเป็นคนแบกหีบศพของ “ไหว” ก็จำไมได้ ทูลกระหม่อมทรงดำเนินตามเป็นพระองค์แรก ถัดมาเป็นท่านหญิง ม.ร.ว.ทุกคน  พี่ผู้ใหญ่ และเด็กๆอยู่ท้ายขบวนตามลำดับ
      ทรงวางพวงหรีดแล้วเสด็จขึ้นตำหนัก ท่านหญิงตามเสด็จกลับ ทุกคนวางหรีดแล้วกลับ หรีดดอกไม้สวยคลุมหลุมศพ “ไหว” เป็นกองโต รุ่งขึ้นอีก 2 วัน ม.จ.หญิงพิมพ์พักตร์พาณี สวัสดิวัฒน์ ทรงนำแผ่นหินอ่อนจารึกคำไว้อาลัย “ไหว” เป็นอักษรตัวทอง

         อาลัยไหวผู้ซื่อ   สวามิภักดิ์
         ตามติดคอยพิทักษ์   ค่ำเช้า
         เป็นสัตว์แต่น่ารัก   น้ำจิต
         เจ้าดับชีพใจเศร้า   ระลึกแล้วเสียดาย

      วางไว้ที่หลุมศพ “ไหว” ติดกับเนินตำหนักที่ประทับ
      เมื่อ “ไหว” ตายแล้ว เครื่องใช้ของ “ไหว” ได้นำออกมาพระราชทานแก่ข้าหลวง ดิฉันได้รองเท้าหนังนิ่มๆแบบสูงขึ้นจากข้อเท้าคล้ายรองเท้าทหาร สีน้ำตาล 1 ข้าง ทั้งหมด 4 ข้าง ไม่ทราบใครโชคดีได้สร้อยคอทองพร้อมเหรียญทองที่จำรึกชื่อ “ WY” ไป (แต่ลือกันว่า ม.จ.หญิงดวงตา จักรพันธ์ได้ไป)
      เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 รัฐบาลเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ทูลกระหม่อมเสด็จจากพระตำหนัก ในสวนสุนันทา ไปประทับที่ต่างจังหวัด รับสั่งให้ข้าหลวงที่มิได้ตามเสด็จ ออกจากวังกลับไปอยู่บ้าน ข้าหลวงรุ่นเล็กที่กำลังเรียนหนังสือ ให้ไปนอนค้างที่โรงเรียนราชินี เพราะโรงเรียนปิด เนื่องจากมีรถถังและทหารถือปืนเดินขวักไขว่บนถนนหลายสาย นักเรียนไปโรงเรียนไม่ปลอดภัย จึงปิดโรงเรียนไม่กำหนด ดิฉันนอนค้างอยู่ที่โรงเรียนราชินี บางคน( ม.ร.ว.และ ม.ล.) เข้าไปพักอยู่ในพระบรมมหาราชวังที่ “พระตำหนัก” ซึ่งเคยเป็นที่ประทับ และมีข้าหลวงอยู่ที่นี่ดูแลเครื่องใช้ และเฝ้าพระตำหนักอยู่แล้ว เมื่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน ค่อยเบาบาง สงบลง พวกเราก็พยายามติดต่อกับทางบ้านให้มารับจากโรงเรียน กลับไปอยู่ที่บ้านกัน  หลังจาก 24 มิถุนายน ประมาณ 1 เดือน เราก็นัดกันเข้าวังสวนสุนันทา เพื่อเก็บเสื้อผ้าข้าวของ  เมื่อพบกันที่เรือนพัก ต่างก็ร้องไห้อาลัย คิดถึงทูลกระหม่อมผู้มีพระคุณอย่างสูงสุดในชีวิต  ข้าหลวงทุกคนยังคงเรียนที่โรงเรียนราชินีอยู่เหมือนเดิม  ทรงประทานค่าเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียนทุกอย่าง ทางโรงเรียนทำบัญชีไปเบิกเงินกับผู้ดูแลนักเรียน นอกจากนี้ในเดือนเมษายน สงกรานต์ของทุกปี จะประทานของใช้ให้นักเรียนเด็กหญิง ดิฉันกับพี่สาวได้รับผ้าดิบขาวสำหรับตัดเสื้อนักเรียนคนละ 6 ตัว ผ้าขาวเบอร์ 120 สำหรับตัดเสื้อชั้นใน กางเกงใน กระโปรงชั้นในคนละ 1 พับ ผ้าถุงสีน้ำเงินสำหรับนุ่งไปโรงเรียนคนละ 6 ผืน ส่วนน้องชายได้รับผ้าขาวตัดเสื้อนักเรียนคนละ 6 ตัว ผ้าตัดกางเกงหนาสีน้ำตาล 6 ตัว คุณแม่ไปรับของที่วังสระปทุมกับผู้ดูแลนักเรียน  น้องนินาทได้รับประทานค่าเรียนเช่นเดียวกัน คุณรวี บุณยรัตพันธุ์ เป็นผู้จ่าย คุณแม่นำใบเสร็จรับเงินของโรงเรียนไปด้วย
      ดิฉันได้รับพระราชาทานเมตตาให้เรียนที่โรงเรียนราชินีถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  คุณครูระวี จึงแจ้งให้ทราบว่า ถ้าจะเรียนอะไรต่อก็ออกเงินเอง ฉะนั้นเมื่อดิฉันสอบเข้าโรงเรียนเตรีมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ จึงต้องใช้เงินส่วนตัวตั้งแต่นั้นมา
      ข้าหลวงทุกคนเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ทูลกระหม่อมจะรับสั่งถามความสมัครใจว่าจะเรียนอะไรต่อ บางคนขอเรียนต่อชั้นมัธยมที่ 7-8 บางคนขอลาออกไม่เรียนต่อ ส่วนมากจะสมัครเข้าเรียนเป็นพยาบาล  ข้าหลวงที่ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือคุณพูนทรัพย์ ไกรยง และคุณเพียบ สุจริตกุล
      มหาดเล็กของทูลกระหม่อมมี 2 คน คือ ม.ร.ว.ปรียพจน์ผดุง จักรพันธ์ และนายนินาท ชินะโชติ ต่อมาคุณชายได้รับราชการเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ จนถึงแก่กรรมในตำแหน่งนี้นายนินาท ชินะโชติ
ได้รับพระราชทานเมตตาประทานเงินค่าเรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนอำนวยศิลป์ คุณครูระวี ผู้ดูแลนักเรียนก็แจ้งงดจ่ายเงินถ้าจะเรียนต่อไป  นายนินาท ได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิตจากศิริราช รับราชการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลโรคปอด จังหวัดนนทบุรี ต่อเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลโรคทรวงอก  นายแพทย์นินาท มีความชำนาญรักษาโรคปอดและดูฟิล์มเอ็กซเรย์ ได้ถวายการวินิจฉัยฟิล์มเอ็กซเรย์ ของสมเด็จพระราชินีครั้งที่ทรงตกจากหลังม้า ได้ถวายการรักษาการไอเรื้อรังแก่ ม.จ.หญิงภิรมย์สงวน และทำการรักษาโรคปอดให้คุณครูระวี คุณครูละออ สุวงศ์  ม.จ.หญิงพงษ์ประพันธ์
         ทูลกระหม่อมทรงสนพระทัยในการเรียนของข้าหลวงมาก  ทรงทอดพระเนตรตรวจสมุดพกนักเรียนทุกคนที่ ม.จ.หญิงพิมพ์พักตร์พาณี นำมาถวาย   คนใดเรียนอ่อนวิชาใดก็จะให้ผู้ปกครองดูแลกวดวิชาให้  ข้าหลวงที่ไม่แข็งแรงเจ็บป่วย ก็จะได้รับพระเมตตาให้ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์ทำการรักษาให้หาย
      เมื่อ พ.ศ.2481 ทูลกระหม่อมเสด็จกลับจากรักษาพระองค์ที่ต่างประเทศ ประทับที่พระตำหนักใหม่ “คันธวาส” คุณแม่และดิฉันได้เข้าเฝ้าที่ชั้นล่างของพระตำหนัก ขณะนั้นประทับบนพระเก้าอี้ ทอดพระเนตร ม.ล.ยุพิน สนิทวงศ์ ทอดแผ่นเผือกที่ slice เป็นตะแกรงโปร่ง ทูลกระหม่อมรับสั่งถามดิฉันว่า “เรียนถึงชั้นไหน” กราบทูลว่า “จบชั้มัธยมศึกษาปีที่ 6 และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แล้วเพคะ” ทรงรับสั่งถามอีกว่า “จะเรียนแผนกอะไร” ดิฉันกราบทูลว่า “อยากจะเรียนคณะแพทย์ศาสตร์เพคะ” ทูลกระหม่อมทรงพระสรวลมีรับสั่งว่า “ครูได้ลูกเป็นแพทย์หญิง ดีมาก ฉันให้ทุนเรียนต่อไป” ม.ล.ยุพิน มองหน้าดิฉันและยิ้มให้ด้วยความยินดี ต่อมาดิฉันได้ขอเบิกค่าเรียนจากคุณครูระวี คุณครูไม่จ่าย บอกว่าไม่มีหลักฐาน ดิฉันอ้าง ม.ล.ยุพิน เป็นพยานและได้ยินพระกระแสรับสั่งวันนั้น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
      วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ขณะที่ดิฉันนั่งเรียนในห้องเรียน 42 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท นักการเอากระดาษแผ่นหนึ่งมาส่งให้อาจารย์ที่สอน อาจารย์เดินมาหาดิฉัน บอกว่าเก็บหนังสือใส่กระเป๋าให้หมด แล้วออกไปพบท่านผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) ที่ห้องของท่าน ดิฉันถือกระเป๋าหนังสือเดินออกมา ยังไม่ทันถึงห้องผู้อำนวยการ ก็พบท่านยืนรออยู่ ท่านพูดว่า “ทูลกระหม่อมสิ้นแล้ว เธอรีบไปวังคันธวาส อาจารย์...จะพาไป ฉันจะให้อาจารย์...ไปเรียนให้คุณแม่ทราบที่บ้าน อนุญาตให้หยุดเรียนได้” ดิฉันนึกกราบขอบพระคุณต่อท่านผู้อำนวยการเป็นอย่างสูงที่ให้ดิฉันมาทันได้ถวายความจงรักภักดี
      ดิฉันมานั่งที่วังคันธวาส สายประมาณ 10 โมงเช้า พบข้าหลวงที่อยู่ที่วังนี้ร้องไห้ตาแดงกันทุกคน  พี่ประพาฬ  บุนนาค  ซึ่งเฝ้าถวายใกล้ชิดตลอดเวลาที่ทรงพระประชวร หน้าซีดเซียว ได้กรุณาพาดิฉันขึ้นไปบนชั้น 2 พระตำหนัก ทูลกระหม่อมบรรทมเหยียดยาวบนพระแท่น พระเกศาปลิวกระจาย (เพราะเขาเปิดพัดลมตั้งตรงมาที่พระวรกาย) หลับพระเนตร พระโอษฐ์เม้มเล็กน้อย ยังคงระบายยิ้มนิดหน่อย ดิฉันหมอบกราบ แล้วยังคงนั่งจ้องพระองค์ไปทั่วพระวรกาย เครื่องทรงแบบธรรมดาที่ทรงใช้อยู่กับพระที่ ทรงผ้าพื้นและฉลองพระองค์หลวมๆอย่างที่ดิฉันเคยเห็นประจำ ดิฉันหมอบเฝ้าอยู่นานจนคุณหญิงเยี่ยมศรี โสภางค์ ให้คนมาตามลงไปวัดตัวตัดเสื้อชุดตามเสด็จพระโกศ
      ม.ร.ว.เยี่ยมศรี รีบตัดเย็บเสื้อกระโปรงสีขาว ตัวเสื้อเป็นผ้าลูกไม้ มีแขนเล็กน้อย คอแหลม ผ่าอก ติดโบว์เล็กๆลงตรงขอบริมเสื้อที่ผ่าอก ต่อจากคอลงมาถึงหน้าอก 1 ชิ้น กลางหน้าอก 1 ชิ้น ระดับเอว 1 ชิ้น เป็นโบว์ริบบิ้นเล็กๆ ขนาดเสื้อตัวสั้นเลยเอวลงมาเล็กน้อย กระโปรงหรือถุงสำเร็จ เป็นผ้าขาวลื่น หนาเล็กน้อยไม่ใช่ผ้าฝ้าย ยาวครึ่งขา ทั้งชุดนี้สีขาว
      เวลาบ่ายคุณแม่มาถึง ขึ้นเฝ้า ร้องไห้ ขณะที่มีผู้มาเฝ้าหลายท่าน ค่อนข้างเต็มตำหนักชั้นล่าง คุณแม่ไม่ได้อยู่ที่ตำหนักจนถึงพระราชพิธี คุณแม่กลับไปก่อนพร้อมกับนำเสื้อผ้าชุดนักเรียน กระเป๋าหนังสือ รองเท้าดำ ถุงเท้าสั้นของดิฉันกลับไปด้วย
      ข้าหลวงที่จะต้องตามเสด็จ จัดแจงอาบน้ำแต่งตัวด้วยชุดขาวที่คุณหญิงเยี่ยมศรี ตัดเย็บให้ สวมถุงเท้าขาวยาว รองเท้าผ้าใบสีขาว เตรียมตัวเพื่อเชิญเครื่องราชอิสริยยศ รวมทั้งหมด 5 คู่
      บ่าย 3 โมง ประธานผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา เสด็จแทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ถวายน้ำทรงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงหวีพระเกศาถวาย แล้วเสด็จไปประทับยืนคู่กับพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช คอยให้พนักงานภูษามาลาแต่งพระศพเชิญลงพระโกศ ขณะที่ข้าหลวงในชุดขาว 5 คู่ เชิญเครื่องราชอิสริยยศ ยืนเข้าแถวเป็นคู่ ถวายพระเกียรติยศ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร กลองชนะ เจ้าพนักงานเชิญพระโกศจากชั้นบนลงมาไม่ได้ ด้วยยอดพระโกศสูง จึงต้องเชิญลงทางพระแกล ขึ้นรถมณฑปโดยขบวนรถม้า มีกองทหารม้านำเสด็จ กระบวนเคลื่อนออกจากวังคันธวาสไปสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ประทับยืนเฝ้า ขณะที่เชิญพระโกศลงทางพระแกล น้ำพระเนตรไหล ทรงใช้นิ้วพระหัตถ์ป้ายน้ำพระเนตรบ่อยครั้ง วันนั้นทรงเครื่องเต็มยศทหารสีแดง ข้าหลวงที่เชิญเครื่องราชอิสริยยศนั่งรถยนต์คันใหญ่ตามขบวน เมื่อถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึงเชิญเครื่องราชอิสริยยศ ทั้ง 10 พาน วางเรียงหน้าพระบรมโกศ
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สมเด็จพระพี่นางกัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระอนุชาภูมิพล ทั้งสามพระองค์ถวายหรีดเป็นแผ่นแก้วหนา มีรูปพวงหรีดอยู่ในเนื้อแผ่นแก้ว ส่งมาจากสวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่หน้าพระโกศ
          มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ทุก 7 วัน ดิฉันและเพื่อนข้าหลวงต้องเข้าไปเชิญเครื่องราชอิสริยยศทุกครั้ง แต่งชุดขาวเชิญเครื่องจากพระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เดินคู่เป็นแถวขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วางเรียงหน้าพระโกศ เมื่อเสร็จพระราชพิธีก็จะเชิญกลับไปไว้ที่พระตำหนักดังเดิม คุณท้าวโสภา จะเป็นผู้เก็บรักษา

พระราชทานเพลิงศพ
         พระเมรุตั้งที่สนามหลวง ดิฉันและเพื่อนข้าหลวงเชิญเครื่องราชอิสริยยศ เดินตามพระโกศเวียนรอบพระเมรุ ในวันพระราชทานเพลิง 14 พฤษภาคม 2484 และไดทำหน้าที่อีกในวันเก็บพระอัฐิ 15 พฤษภาคม 2448 และเชิญพระอัฐิเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 20 พฤษภาคม 2484 บำเพ็ญพระกุศลพระอัฐิ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วเชิญพระอัฐิขึ้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อีกหลายวันต่อมา วันที่ 29 พฤษภาคม 2484 จึงได้มีพิธีบรรจุพระอังคารทูลกระหม่อม ณ อนุสรณ์ “รังสีวัฒนา” ภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
         ทุกปี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ข้าหลวงที่ยังมีชีวิตจะไปที่วัดราชบพิธฯ เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ข้าหลวงที่ไปงานนี้ นำช่อดอกกุหลาบสีชมพู วางถวายบนพระแท่นที่บรรจุพระอังคารในอนุสรณ์ “รังสีวัฒนา” ร่วมถวายเงินทำบุญถวายพระราชกุศลแด่ ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ พระองค์ประทานทุกสิ่งอย่างให้ดิฉันและข้าหลวงทุกคน ที่มีชีวิตอยู่ด้วยดีมีความสุขสบายกันทั่วทุกคน
                  พนมกรก้มเศียรอภิวาท
                  เยาว์วัยนาฎข้าองค์พระทรงศรี
                  เจริญชนม์ครบถ้วนแปดสิบสองปี
                  ทำบุญถวายเทวีด้วยปรีดา
                  
                  แม้ประทับฟากฟ้าสรวงสวรรค์
                  หรือเสด็จจรจรัล ณ หนไหน
                  หม่อมฉันจะตามเสด็จไป
                  ถวายงานทูลกระหม่อม “วไลย” นิจนิรันดร์

                                    วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2546

หมายเหตุ- บทความนี้ คุณเยาว์วัยนาฎ  ชินะโชติ เรียบเรียงเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก “70ปี เพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ สู่วไลยอลงกรณ์” เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546


ทุกถ้อยคำของทุกกระทู้ผมจะนำไปให้คุณยายท่านได้อ่าน เชื่อว่าความชื่นชมในคุณค่ากับงานของคุณยายที่ผมนำมาลงไว้นี้ จะเป็นวิตามินชั้นดี ให้คุณยายเยาวัยนาฎ มีกำลังใจและสุขภาพอนามัยที่ดียิ่งๆขึ้น และคิดว่าโอกาสต่อไปผมคงจะมีโอกาสได้นำงานเขียนของท่านมาลงไว้ให้ท่านได้อ่านกันอีกแน่นอนครับ

                                                                        ด้วยความปรารถนาดี
                                                                         ทศพล  สกลนาวิน

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 20 คำสั่ง