เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5249 เรียนถามเรื่องคาถาภาษาบาลีครับ
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


 เมื่อ 26 ต.ค. 09, 22:58

ไปเจอคาถานี้มาครับ

อายนฺตุ โภนฺโต อิธ ทานสีลา
เนกฺขมฺมปญฺญา วิริยญฺจ ขนฺตี
สจฺจาธิฏฐานา สหเมตฺตุเปกฺขา
ยุทฺธาย โว คณฺหถ อาวุธานีติ

แต่ปรากฏว่ามีการผูกคาถาหลายแบบมาก เท่าที่พบมีดังนี้

อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺม  ปญฺญา  สห  วิริย  ขนฺติ  สจฺจาธิฏฐานา  สห  เมตฺตุเปกฺขา  ยุทฺธาย  โว  คนฺหก  อาวุธานิ

อายนฺตุ  โภนโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺมปญฺญาวิริยญฺจขนฺติ สจฺจาธิฏฺฐานา  สห  เมตฺตุเปกฺขายุทฺธาย โว  คณฺหถ อาวุธานิ

อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺมปญฺญา  สห  วิริยขนฺติ  สจฺจาธิฎฺฐานา  เมตฺตุเปกฺขา  ยุทฺธาย  โว  คณฺหถ  อาวุธานิ

อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺมปญฺญา  วิริยญฺจ  ขนฺตี  สจฺจาธิฏฐานา  สหเมตฺตุเปกฺขา  ยุทฺธาย  โว  คณฺหถ  อาวุธานีติ

ขอเรียนถามท่านผู้รู้ว่าที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์และฉันทลักษณ์ของบาลีต้องเป็นอย่างไรครับ

ถ้าเป็นไปได้รบกวนขอคำแปลและการจัดรูปแบบบรรทัดตามฉันทลักษณ์ด้วยครับ

ขอบพระคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ต.ค. 09, 08:41

คาถานี้ แต่งเป็นอินทวชิรฉันท์ (อินทรวิเชียรฉันท์) รูปคาถาที่ถูกต้องตามบังคับครุลหุ คือ คาถาที่ยกมาเบื้องต้นว่า

อายนฺตุ โภนฺโต อิธ ทานสีลา
เนกฺขมฺมปญฺญา วิริยญฺจ ขนฺตี
สจฺจาธิฏฐานา สหเมตฺตุเปกฺขา
ยุทฺธาย โว คณฺหถ อาวุธานีติ ฯ

(ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ / ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ เป็นบังคับคณะอินทวชิรฉันท์ ๑ บาท  คาถา ๑ บท ประกอบด้วยอินทวชิรฉันท์  ๔ บาท)

อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺม  ปญฺญา  (ตรงนี้ต้องสมาสคำ) สห  วิริย  (ตรงนี้ผิดครุลหุฉันท์ พยางค์เกินคณะ) ขนฺติ  สจฺจาธิฏฐานา  สห  เมตฺตุเปกฺขา  ยุทฺธาย  โว  คนฺหก  อาวุธานิ (ตรงนี้ต้องลงท้ายว่า ติ ซึ่งมาจากคำว่า อิติ ลบ อิ แล้วนำไปสนธิกับ อาวุธานิ ยืด นิเป็นนี เวลานับคณะฉันท์ ไม่นับ ติเข้าในคณะฉันท์ นิ ที่ยืดเป็น นี นับเป็นครุ ด้วยเกณฑ์ว่า ลหุท้ายคณะ เป็นครุได้)

อายนฺตุ  โภนโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺมปญฺญาวิริยญฺจขนฺติ (ตรงนี้ต้องแยกสมาส เป็น เนกฺขมฺมปญฺญา วิริยญฺจ ขนฺตี ฯ วิริยํ + จ เป็น วิริยญฺจ แล้วนำไปสมาสกับคำอื่นอีกไม่ได้ ) สจฺจาธิฏฺฐานา  สห  เมตฺตุเปกฺขายุทฺธาย (เมตฺตุเปกขายุทฺธาย ต้องแยกเป็น สหเมตฺตุเปกฺขา/
ยุทฺธาย มิฉะนั้นจะเข้าใจว่า สหเมตฺตุเปกฺขา สนธิกับ อายุทฺธาย ซึ่งไม่ใช่ เพราะในบรรทัดต่อมา มีคำว่า อาวุธานิ ที่มีความหมายเหมือน อายุทฺธ  คำนี้จึงควรเป็น ยุทฺธาย เท่านั้น)  โว  คณฺหถ อาวุธานิ (ตรงนี้ต้องลงท้ายว่า ติ ซึ่งมาจากคำว่า อิติ ลบ อิ แล้วนำไปสนธิกับ อาวุธานิ ยืด นิเป็นนี เวลานับคณะฉันท์ ไม่นับ ติเข้าในคณะฉันท์ นิ ที่ยืดเป็น นี นับเป็นครุ ด้วยเกณฑ์ว่า ลหุท้ายคณะ เป็นครุได้)


อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺมปญฺญา  สห  วิริยขนฺติ (ตรงนี้ผิดครุลหุฉันท์ พยางค์เกินคณะ) สจฺจาธิฎฺฐานา  เมตฺตุเปกฺขา  (ผิดครุลหุฉันท์ เพราะตัดคำว่า สห ไปไว้บรรทัดก่อนหน้านี้) ยุทฺธาย  โว  คณฺหถ  อาวุธานิ (ตรงนี้ต้องลงท้ายว่า ติ ซึ่งมาจากคำว่า อิติ ลบ อิ แล้วนำไปสนธิกับ อาวุธานิ ยืด นิเป็นนี เวลานับคณะฉันท์ ไม่นับ ติ เข้าในคณะฉันท์  นิ ที่ยืดเป็น นี นับเป็นครุ ด้วยเกณฑ์ว่า ลหุท้ายคณะ เป็นครุได้)



อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา  เนกฺขมฺมปญฺญา  วิริยญฺจ  ขนฺตี  สจฺจาธิฏฐานา  สหเมตฺตุเปกฺขา  ยุทฺธาย  โว  คณฺหถ  อาวุธานีติ (บทนี้ถูกต้อง จัดวรรคตอนดังนี้
อายนฺตุ  โภนฺโต  อิธ  ทานสีลา /
 เนกฺขมฺมปญฺญา  วิริยญฺจ  ขนฺตี /
 สจฺจาธิฏฐานา  สหเมตฺตุเปกฺขา /
ยุทฺธาย  โว  คณฺหถ  อาวุธานีติ ฯ)

ส่วนคำแปลขอไปเรียบเรียงก่อน เพราะไม่ได้แปลบาลีมานานแล้วเดี๋ยวจะแปลผิดได้
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ต.ค. 09, 10:16


ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ คุณ  luanglek

ส่วนคำแปลรอได้ครับ ไม่ต้องรีบ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ต.ค. 09, 14:26

อยากทราบคำจำกัดความ(เมื่อก่อนมีอยู่ระยะหนึ่งใช้กันว่า ความจำกัดคำ) ของคำว่า "คาถา" จังเลย(ที่จริงเปิดตำราเอาก็ได้ แต่ผมว่า ฟังจากท่านผุ้รู้ ดีกว่า) เคยได้สิ่งที่ผู้ให้เรียกว่า คาถา มาเยอะ เช่นที่ต่างจังหวัดเห็นพระเอามือกวนในกะทะน้ำมันที่ร้อนเดือดๆ อยากทำมั่ง ท่านก็ว่า ถ่องคาถานี้แล้วกวนเลย โอยมือพอง ครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ต.ค. 09, 01:57

เข้ามาขัดระหว่างรอผู้เชี่ยวชาญมาตอบครับ คุณมานิต

ผมไม่มีความรู้ครับ จึงลองไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ เผื่อจะพอมีปะโยชน์บ้าง

คาถา ๑                น. คําประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี, อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง.

คาถา ๒, คาถาอาคม   น. คําเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์.



ไม่แน่ใจว่า คาถา มาจาก กถา หรือไม่

กถา   [กะ-]          น. ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).

บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ต.ค. 09, 03:23

ข้อมูลเสริมเกี่ยวกับคาถานี้ครับ

http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y8476399/Y8476399.html
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ต.ค. 09, 11:06

ขอบพระคุณครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 พ.ย. 09, 17:09

ยังเฝ้ารอคำแปลจากคุณ luanglek อยู่นะครับ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 22:44

ขออภัยที่ทำให้รอนาน  ได้รับเมลแล้วมาเตือนทวงคำแปลคาถาแล้ว  พอดีว่าช่วงนี้มัวแต่สนุกอยู่กับเรื่องขุนช้างขุนแผนอยู่เลยยังไม่ได้แปลให้

แต่วันนี้จะแปลให้ครับ  จะแปลแบบเอาความ หรือแปลดดยอรรถ ไม่ได้แปลยกศัพท์ หรือแปลตามพยัญชนะ เพราะเกรงว่าจะอ่านไม่เข้าใจ

คาถานั้นแปลได้ดังนี้ 

ข้าแต่ผู้เจริญทั้งหลาย อันว่าทานบารมีและศีลบารมี เนกขัมมบารมีและปัญญาบารมี  วิริยบารมีและขันติบารมีด้วย สัจบารมีและอธิษฐานบารมี  พร้อมด้วยเมตตาบารมีและอุเบกขาบารมี จงเข้ามาที่นี่. อันว่าท่านทั้งหลาย (หมายถึงบารมีทั้ง ๑๐ ประการที่กล่าวมาข้างต้น) จงมาเป็นอาวุธทั้งหลายเพื่อการสู้รบเถิด ฯ 

ปกติคาถาบทต่างๆ ที่คนนิยมท่องบริกรรมด้วยความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์  เคยได้ยินคนพูดให้ฟังว่า  ท่านมักไม่ให้แปลความหมายกันเพราะพอรู้ความหมายแล้วบางทีคาถาจะคลายความศักดิ์สิทธิ์ลง 

แปลอย่างนี้ไม่ทราบว่า เป็นที่พอใจหรือไม่

เรื่องนิยามความหมายของคำว่า คาถา ไว้คราวหน้าดีกว่า ที่ตอบได้ตอนนนี้  คาถา กับ กถา เป็นคนละคำ  กถา แปลว่า เรื่อง เรื่องราว  ปรุงขึ้นจากธาตุกริยา กถฺ ในบาลีสันสกฤต
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 พ.ย. 09, 10:05

มีหลายท่านกล่าวว่า คาถาที่ว่าศักสิทธินั้นอย่าแปล เพราะถ้าแปลแล้วก็จะรู้ว่าที่ท่องไปนั้นหมายความว่าอย่างไร แล้ว "ใจ" เรา (ที่เคยคิดว่าศักสิทธิ)จะเปลี่ยน ผมเชื่อนะครับว่า ความศักสิทธิของคาถา อยู่ที่ใจ/ศรัทธา จะเล่าประสบการณ์ ไว้ ณ ที่นี้ก็จะไม่เหมาะ เอาไว้มีโอกาสที่เหมาะสมครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 พ.ย. 09, 10:08

กราบขอบพระคุณ คุณ luanglek มากครับ

ผมไม่ได้เอาไปใช้เชิงคาถาอาคมครับ แต่เป็นลักษณะตั้งสัตยาธิษฐาน เอาบารมีที่สั่งสมมาด้วยตนเอง นั้น เป็นกำลังเพื่อบรรลุความสำเร็จ (ในทางที่ชอบ)
จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ นิพพาน ครับ แต่คงมิใช่ชาตินี้ อิอิ

เวลา กราบพระ หรือ สวดมนต์ ผมต้องการที่จะรู้ นัยยะ ความหมาย ครับ
เช่น กราบพระสามครั้ง คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ อันมี พระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ เป็นอาทิ
ธูปสามดอกก็เช่นเดียวกับกราบพระสามครั้ง
เทียนสองเล่ม แทน พระธรรม พระวินัย (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี) เพื่อระลึกถึง พระธรรมคุณ
เราถึงจุด ธูป ก่อน เทียน (ที่ใช้ว่า จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย) เพราะเราเรียงว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ดอกไม้หลากหลายชนิด แทน พระสงฆ์ (ซึ่งมาจากต่างชนชั้นวรรณะ แต่มารวมกันเป็น ศากยบุตร) เพื่อบูชา พระสังฆคุณ

ดอกบัว เป็นสัญญะ ถึงการหลุดพ้น (พุทธะ - ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกเบาน) เป็นสัญลักษณ์ของ พระพุทธเจ้า

กราบพระพุทธรูป เพื่อระลึกถึง พระพุทธคุณ (ที่มีมากมายมหาศาล) จะได้รำลึกถึงความเหนื่อยยากของพระองค์ ความเป็นบุคคลที่ประเสริฐสูงสุดของพระองค์
เพื่อจะได้เป็นแบบอย่าง และเป็นหลักยึดทางจิตใจ ให้แก่เรา (โดยเฉพาะยามที่จิตใจใฝ่ต่ำ หรือ ท้อแท้)
เพราะเวลาผมทำงาน หรือ พักผ่อน ก็มักจะตั้งตนอยู่บนความประมาท แต่เมื่อแลเห็น พระพุทธรูป (หรือวัด) ก็จะฉุกคิดขึ้นมาทันที
ผมว่าเป็นอุบายที่ดีของคนโบราณ

แม้ปัจจุบัน คนจะนิยมกราบไหว้ในเชิงรูปเคารพ แบบเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการอ้ออนวอนขอ (โดยเฉพาะหวย ๕๕)
แต่ผมไม่ได้ตำหนินะครับ เพราะคนเราควรมีที่พึ่งทางจิตใจ ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือ ปฏิรูปการศึกษา อย่างถูกต้อง ก็อาจจะดีกว่านี้
(นายผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ศาสนาคริสต์ เน้นศรัทธาความเชื่อ แต่ฝรั่งกลับคิดเป็นเหตุเป็นผล ศาสนาพุทธ เน้นปัญญา หลัก เหตุ และ ผล แต่คนไทยกลับงมงายพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์)

เวลาสวดมนต์ผมก็ต้องทราบความหมายด้วยเช่นกันครับ

ป.ล. ผมส่งข้อความไปเพื่อเรียนถามนะครับ มิได้เร่งรัดหรือทวง แหะ ๆ
ป.ล.๒ ผมห้อยพระ และเชื่อในเครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นะครับ
             (เวลาห้อยพระก็จะไม่กล้าทำอะไรไม่ดี เช่น กินเหล้า ก็ต้องอัญเชิญออก - ฮา - แต่ตอนนี้งดเหล้าเข้าพรรษาครับ ออกแล้วก็ยังพยายาม กะจะเลิกขาดเลย)
ป.ล.๓ หากความคิดเห็นของผมผิดพลั้งไปอย่างไร ก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ ขอให้ท่านผู้รู้ช่วยแก้ไข มิจฉาทิฏฐิ ให้ด้วย (ถ้ามี) จักเป็นพระคุณยิ่งครับ

 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง