เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 10652 จากเรื่อง Anna and The Kings ครับ
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 10 ก.พ. 01, 13:55

ผมหายหน้าไปนานมาก แต่แว้บกลับมาก้ได้ ไปตามอ่านกระทู้หลาย ๆ กระทู้แล้ว ก็ได้เห็นศึกชิงนาง เกิดขึ้นใหม่ แต่กลับเป็นพระเอกคนเก่าชิงนางเอกใหม่ นี่จะยังไงน้อ
ทำไมมีชิงนางทีไร คุณ นิล สหายผม แกถึงได้ไปเอี่ยวด้วยทุกที
เอ้า กลับเข้าเรื่องถามเรื่องกระทู้ก่อน  ผมเพิ่งได้มีโอกาสดูเรื่อง Anna ไปไม่นานนี้ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความจริงมากนัก แต่ที่ผมสงสัย และอยากจะรู้ว่า หนังเค้าจะรักษาความจริง (น้อย ๆ ) ไว้สักแค่ไหนก็คือ ตอนที่ King โจว เหวิน ฟะ ขอให้ แอนนาคนสวย ของผม อ่านจดหมาย ซึ่งปรากฎว่าเป็นจดหมายจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัย ของ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอร์น เขียนไปถึง สยามของเรา
ผมอยากทราบว่า เรื่องนี้มีโอกาสจริง หรือเปล่าครับ
คือ คิดว่า อเมริกา จะเริ่มติดต่อกับไทยเราตั้งแต่สมัยไหน แล้วช่วงเวลา ของ ลินคอร์น ตรงกับสมัยของ ร. 4 จริงหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 ม.ค. 01, 15:13

เข้าใจว่าอีกสักประเดี๋ยว เพื่อนของคุณพระนายก็คงจะเข้ามาเอี่ยวในกระทู้นี้
แต่ตอนนี้อาจจะกินน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง เพิ่มพลังเสียงอยู่

ตอบสั้นๆว่า สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เคยมีพระราชสาส์นไปถึงอับราฮัม ลินคอล์นจริงๆค่ะ
ส่วนจดหมายตอบก็น่าจะมีนะคะ
คำตอบคือมีโอกาสเป็นจริงตามหนัง แต่นางแอนนาจะได้เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการหรือเปล่าไม่ทราบ
บันทึกการเข้า
koong
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 ม.ค. 01, 18:59

ใช่ที่จะส่งช้างไปช่วยรบหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ม.ค. 01, 19:27

ใช่ค่ะ  ทรงทราบถึงสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้     ในเมื่อไทยทำสงครามใช้ช้างศึกเป็นกำลังสำคัญ ก็ทรงเอื้อเฟื้อไปว่า จะส่งช้างไปช่วย
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 00:27

หวังว่าคงไม่ได้ทรงส่งไปจริง ๆ นะครับ ผมสงสารช้างมากเลย ถ้าต้องไปจริง ๆ แล้ว อเมริกา ส่งทูตมาติดต่อกับประเทศไทย ตั้งแต่สมัยไหนครับ เพราะกว่าอเมริกาจะเป็นประเทศก็ปี  1776 แต่ช่วงนั้นก็ยังรบกับอังกฤษอยู่เลย คุณเทาชมพูช่วยเล่ายาว ๆ สักนิดไม่ได้เหรอครับนะ นะ  ผมอยากรู้นี่ครับ ผมรู้ คุณเทาชมพูใจดี
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 07:58

หวัดดีค่ะ คุณพระนาย  ดีใจที่กลับมาเยี่ยมค่ะ

เรื่อง ร๔ ทรงเสนอที่จะส่งช้างไปช่วยประธานาธิบดีลิงคอล์นใน Civil War นี่  จำได้เลาๆว่า  อ่านเจอในต้นเรื่อง Anna and the King of Siam ของ
Margaret Landon ค่ะ  แต่ไม่ทราบว่า  แอนนา เขียนไว้ในต้นฉบับของเธอหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 08:27

เท่าที่เคยอ่านเจอ อเมริกาบอกขอบใจ ไม่เอาช้างครับ (สงสัยกลัวเลี้ยงไม่ไหว)
แต่มีคนไทยไปอาสาช่วยฝ่ายเหนือรบครับ แต่จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว ใครมีข้อมูลใกล้มือช่วยเล่าหน่อยสิครับ
เรื่องอเมริกา ไทยเรารู้จักมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยครับ ไม่เชื่อลองอ่านเรื่องประวัติลอยกระทงกับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ดูสิ ฮ่าฮ่าฮ่า ความจริงแล้วถ้าถือว่า ร.๓ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้จริงแล้ว แสดงว่าอย่างน้อยสมัย ร.๓ เราก็รู้จักกันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่ามีความสัมพันธ์ทางการทูตกันหรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 09:31

เคยอ่านพระราชสาส์น  จะไปค้นให้ค่ะคุณพระนาย ใจเย็นๆ    
คุณพวงร้อยขา ขอแบ่งผัดกระเพราให้คุณพระนายและคุณ CrazyHOrse ชิมรอเวลาไปก่อนนะคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 16:04

อเมริกาเพิ่งตั้งประเทศมาได้ไม่เกินสองร้อยกว่าปีไม่ถึงสามร้อยปี  เพราะฉะนั้นจะส่งทูตมาไทยได้ เก่าที่สุด ไม่เกินช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นครับ
จากความจำ ไม่ได้ค้นเอกสารนะครับ เข้าใจว่าสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างสยามกับสหรัฐฯ ฉบับแรก ทำในสมัย ร.3 (มั้ง-?) ทูตอเมริกันที่เข้ามาทำสัญญาชื่อ เอ็ดมันด์  รอเบิต ยังจำได้ว่าสัญญาฉบับนั้นทำเป็น 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ โปรตุเกส และจีน เพราะ "ไทยมิรู้จักอักษรมริกัน มริกันมิรู้จักอักษรไทย"  ทำให้ในฉบับไทย เรียกชื่อประเทศสหรัฐฯ คู่สัญญา โดยเขียนเลียนเสียงภาษาโปรตุเกสว่า "อิสตาโดอุนีโดดาอะเมริกะ"

ผมเข้าใจว่า ร.4 จะทรงมีพระราชสาสน์ไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนอับราฮัม ลินคอล์น ที่ว่าทรงเสนอจะพระราชทานช้างไปให้นะครับ แต่กว่าพระราชสาสน์จะไปถึงกว่าฝ่ายโน้นจะตอบ ก็เปลี่ยนประธานาธิบดีแล้ว คนที่มีหนังสือมากราบบังคมทูลตอบ คือท่านประธานาธิบดีลินคอล์น
นักประวัติศาสตร์สำนักหนึ่งเห็นว่า (และผมออกจะเห็นด้วย) ร.4 มิได้มีพระราชประสงค์จะพระราชทานช้างไปให้อเมริกาเพื่อช่วยฝ่ายเหนือทำสงครามกับฝ่ายใต้ เพราะช้างนั้นเป็นสิ่งที่ภาษาวิชาการระหว่างประเทศสมัยนี้เรียกว่า dual -use ใช้ได้ทั้งทางสงครามและทางสันติ ใช้เป็นรถถังก็ได้ (ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเอง ฮันนิบาลก็เคยใช้ทัพช้างรบกับโรมันมาแล้ว) แต่ใช้เป็นรถแทรกเตอร์ก็ได้เหมือนกัน และทรงมุ่งในทางให้เอาไปใช้เป็นรถแทรกเตอร์ช่วยหักล้างถางพง มากกว่าเอาไปรบ ยิ่งถ้าทรงมีพระราชสาสน์ไปตั้งแต่ก่อนสมัยท่านลินคลอล์นยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอเมริกันเลย เพราะตอนนั้นสงครามกลางเมืองยังไม่เกิด
รอฟังรายละเอียดตามพระราชสาสน์จากคุณเทาชมพูครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 18:43

สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชสาส์นหลายฉบับ  ในหลาย พ.ศ. ไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ครั้งแรก ในพ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖)  ในสมัย  "แฟรงกินเบิศปริศเดน" (President Franklin Pierce) ซึ่งส่งทูตชื่อ"มิสเตอร์โตนเซนฮาริศ" (Mr. Townsend Harris" มาเจริญสัมพันธไมตรี  ทำหนังสือสัญญาใหม่กับไทย
ทรงเท้าความไปในพระราชสาส์นถึงการต้อนรับทูตไว้ละเอียด  ลอกมาไม่ไหว  ตัดตอนมาย่อๆก็แล้วกัน
เริ่มตั้งแต่ท่านทูตนั่งเรือกำปั่นรบกลไฟชื่อแซนแยกซินโต( ใครทราบบ้างคะว่าชื่อภาษาอังกฤษคืออะไร) มาทอดอยู่หลังเต่า( หมายถึงสันดอน) ตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา  แล้วส่งข่าวเข้ามาถึงกรมท่า  ทางสยามก็จัดขุนนางออกไปรับ จัดหาที่พักให้อย่างดี  รอจนได้เวลาแล้วก็ให้ทูตอัญเชิญอักษรสาส์นขึ้นถวาย  
เท่าที่อ่านทางเราก็ต้อนรับอย่างดี สมเกียรติ  ดูจะเป็นไมตรีมากกว่าชาติอื่นๆแถวนี้
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔  แม้ไม่ได้เป็นกวี แต่ก็เป็นนักการทูตที่ฝีปากดีมาก  เจรจารื่นหู ให้เกียรติอีกฝ่าย รู้จักวิธีผูกมิตร ถ่อมตัว อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าท่านไว้พระยศว่าเป็นพระมหากษัตริย์สมมุติเทพ   แต่ก็ทรงเก่งมากอีกอย่างคือไม่เจรจาเสียจนอ่อนน้อมเสียจนกระทบกระเทือนพระเกียรติยศ  ทุกครั้ง เกียรติที่ได้รับหรือการยกย่องอีกฝ่าย ไม่ใช่เป็นส่วนพระองค์ แต่จะทรงใช้คำว่า "กรุงสยาม" ทั้งหมด    เมื่อนึกว่าเป็น ๑๕๐ ปีมาแล้ว นับว่าท่านล้ำสมัยน่าทึ่งทีเดียว

" กรุงสยามมีความยินดีนัก ด้วยได้พบครั้งคราวอันดีเพื่อจะได้เจรจาปราศรัยกับด้วยเมืองใหญ่อันมีอานุภาพมากคือยูไนติศเตศอเมริกา    แลมีความแน่ใจว่าพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการที่ไปด้วยกัน  ท่านจะได้รับด้วยความเห็นแก่ไมตรี  แล้วจะเปิดเผยแก่คนทั้งปวงที่ควรจะได้เห็นในบ้านเมืองของท่าน  เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศแก่กรุงสยาม  แลตัวท่านทั้งสองฝ่าย  แลจะได้เก็บไว้ในความเป็นของท่านหรือในที่ผู้ครอบครองบ้านเมืองสืบไป  เป็นเครื่องหมายของความรักใคร่โดยไมตรีที่มีในระหว่างของแผ่นดินสยามและยูไนติศเตศอเมริกา…"
แล้วทรงขอว่า
" เมื่อเวลาไรๆลางทีหากจะมีถ้อยความเกี่ยวข้องต้องข่มขู่ แต่อำนาจในทะเลใหญ่อันใดอันหนึ่งที่จะมีมาแต่บ้านเมืองใหญ่ๆอันอื่นที่มีอำนาจมาก   ขออย่าได้เพิกเฉยละเลยเสียไม่เอาธุระ  หรืออย่างหนึ่งเมื่อใดมีผู้ไปฟ้องกล่าวโทษผู้ครองข้างสยามอย่างใดอย่างหนึ่ง  ก็ขอให้ไถ่ถามแลพิจารณาพิพากษาโดยยุติธรรมที่เที่ยงถ่องแท้"
คุณนกข.จะตีความว่าอย่างไรต้องรออ่าน   แต่ดิฉันตีความว่า ท่านเข้าใจหลัก balance of power   ทรงเอ่ยถึงบ้านเมืองใหญ่อื่นๆในที่นี้ก็พวกล่าอาณานิคมทั้งหลายที่ทรงไม่ไว้ใจอยู่เหมือนกัน
นอกจากนี้ก็ทรงออกตัวให้ชาวสยามด้วยกันอย่างน่ารักมาก  เหมือนพ่อออกตัวชิงดุลูกเสียก่อนจะให้ครูลงโทษ
" อนึ่งชาวสยามประเทศนี้  ย่อมเป็นคนกึ่งดีกึ่งร้ายตลอดมาหลายชั่วอายุ  โง่เขลามากมายด้วยกัน   ไม่รู้จักอย่างธรรมเนียมที่ดี  เมื่อมาสมคบค้าขายกับชาวอเมริกันแลชาวประเทศอื่นที่มีขนบธรรมเนียมบ้านเมืองผิดกัน  เกลือกบางจำพวกจะเข้าใจผิดแล้ว  จะพูดผิดๆ ทำผิดๆไปบ้างก็ถ้าการอันนั้นไม่เป็นการอันใหญ่โตสำคัญนัก  กรุงสยามปรารถนาขอให้ผู้ครองเมืองท่านจงอดโทษเสียๆบ้างโดยสมควรด้วย  "
เล่าเสียยาว  อ่านแล้วชอบค่ะเลยเอามาเผื่อให้ทั่ว
ส่วนฉบับที่ ๒  พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ.๑๘๖๐) ทรงตอบรับสาส์นจากประธานาธิบดี " เยมบุกขแนนปริไสเดนด์"( President James Buchanan)
ฉบับที่ ๓  ปีเดียวกันตอบรับบรรณาการและสาส์น
ฉบับที่ ๔ พระราชทานของแลช้างไปอเมริกา
ไม่ได้ทรงระบุว่าให้เอาไปทำสงคราม  แต่ทรงทราบความว่าอเมริกาไม่มีช้าง    แต่ว่ามีอูฐที่ซื้อไปจากตะวันออก  ถ้าหากว่าหาที่ๆเหมาะได้ช้างก็แพร่พันธุ์เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง  ทรงอธิบายว่า
" มีกำลังจะได้บรรทุกแลเดินทางบุกป่ารกป่าชัฏไปได้ในเวลาที่ประสงค์ไปในทางที่มีทางใหญ่ของรถของเกวียนยังไม่ได้ทำ"
ทรงขอให้ทางอเมริกาจัดหาเรือกำปั่นและหญ้าแห้งมาบรรทุกช้างเอาไปเอง กับจัดหาถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสมให้ด้วย    ส่วนจะว่าอย่างไรก็ขอให้ตอบมา
ยังไม่พบสาส์นประธานาธิบดีว่าตอบปฏิเสธยังไง  ไม่มีหลักฐานว่าไทยเราส่งช้างไปในรัชกาลนั้นหรือรัชกาลไหนค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 20:53

ใช่แล้วครับ ประธานาธิบดีบูแคแนน ที่  ร.4 ทรงมีพระราชสาสน์ไปพระราชทาน แต่ว่าคนที่มีหนังสือตอบขอบใจไทยมา (แต่ไม่เอาช้าง บอกเหตุผลมาด้วยว่าเพราะสหรัฐฯ มีเครื่องจักรไอน้ำใช้อยู่แล้ว) นั้น คือลินคอล์น
ภาษาอังกฤษของ ร.4 นั้น พูดได้คำเดียวว่าน่าทึ่งครับ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าทรงพระอุตสาหะเรียนด้วยพระองค์เอาเอง โดยทรงศึกษาไปพร้อมๆ กับภาษาละติน บางทีรูปประโยคจึงฟังแปลกๆ บ้างในภาษาอังกฤษ (ที่อีตายูล บรินเน่อร์เอามาล้อ... ผมอยากจะเชื่อว่า ภาษาอังกฤษของ ร.4 ที่ฝรั่งฟังดูแล้วว่าตลกนั้น อย่างน้อยดีกว่าภาษาไทยของลินคอล์นมากนักหนา เพราะลินคอล์นไม่รู้ภาษาไทยเลย)  แต่ถึงจะมีสำนวนส่วนพระองค์ที่เราฟังไม่คุ้นหู ก็ฟังเข้าใจได้ดีโดยตลอด
เทาว์เซน แฮริสเป็นทูตอเมริกันหลังเอดมันด์ รอเบิตครับ รอเบิตเข้ามาตั้งแต่รัชกาลก่อน คือ ร. 3 ให้ผมเดา เรือกำปั่นของท่านทูตน่าจะเป็นเรือชื่อสเปน ซาน จาซินโต San Jacinto (ออกเสียงจริงๆ เป็นสเปนยังไงก็ไม่ทราบ - ฮาซินโต?)
พระราชดำรัสประวัติศาสตร์ของในหลวงองค์ปัจจุบันต่อสภาคองเกรส เมื่อเสด็จเยือนอเมริกาอย่างเป็นทางการรระดับรัฐ ปี 2503 ก็ท้าวท้าวความถึงเรื่องที่พระเจ้าทวด  ร.4 ทรงเสนอจะให้ช้างแก่อเมริกาด้วย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 ม.ค. 01, 21:36

ที่แสดงถึงพระอัจริยภาพที่กล่าวได้ว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงรับสืบมาแต่พระบรมราชปิตามไหยิกา (- แปลว่าทวดรึเปล่านะ - คือ ร.4 น่ะครับ) ก็คือว่า ในพระราชดำรัสต่อคองเกรสองค์นั้น ในหลวง ร.9 ทรงกล่าวถึงข้อเสนอของ ร.4 ที่จะให้ช้าง ทรงอ้างถึงทำไม ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าในปี 2503 สงครามเย็นกำลังเข้มข้น รัฐบาลไทยเดินโยบายกอดคอกับอเมริกันล่มหัวจมท้ายกันต้านคอมมิวนิสต์ แล้วก็แบมือรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารจากอเมริกันอย่างเต็มที่ อเมริกาก็ทุ่มให้เราเยอะ และอาจจะมีบางอเมริกันรู้สึกไปก็ได้กระมัง ว่า เขาให้ความช่วยเหลือเราเยอะแยะขนาดที่เรียกว่า ซื้อประเทศไทยไว้ด้วยความช่วยเหลือ (และผมว่า ทางฝ่ายไทยก็อาจจะมีคนไทยบางคนด้วยกระมัง ที่รับความช่วยเหลือจากอเมริกันมากๆๆๆ จนเผลอหลงนึกไปว่าอเมริกาเป็นเทวดาไป)
ในหลวงรัชกาลนี้ทรงรงมีพระราชดำรัสขอบใจอเมริกาที่ช่วยเรา แต่ทรงย้ำว่า ทรงเข้าใจว่านี่เป็นความช่วยเหลือระหว่างเพื่อนต่อเพื่อน เพื่อนที่ให้ความช่วยเหลือกันโดยน้ำใจไมตรี และโดยมีฐานะเสมอกัน (ไม่ใช่นายโยนกระดูกให้หมา - อันนี้ผมว่าเอง) และไทยหวังว่า สักวันเราจะสามารถพัฒนาตนเองได้จนเพื่อนไม่ต้องช่วยเราอีกต่อไป (ไม่ใช่แบมือขอไม่มีที่สิ้นสุด)
ทรงท้าวความถึง ร.4 และข้อเสนอของพระองค์ว่า พระราชประสงค์ของ ร.4 นั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าทรงต้องการจะเสนอให้เพื่อนของพระองค์ในสิ่งที่เพื่อนยังขาดอยู่ เท่านั้นเอง
พระราชดำรัสองค์นี้เป็นพระราชดำรัสประวัติศาสตร์ และฝรั่งที่ได้ฟังก็ชอบใจกันมากถึงกับถวายพระเกียรติยศโดยลุกขึ้นปรบมือถวายเมื่อตรัสจบ และผมว่า รัฐบาลสมัยต่อๆ มาน่าจะรับใส่เกล้าฯ ไปพิจารณาด้วย
บันทึกการเข้า
โสกัน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 03:24

ผมเคยเห็นว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเรียกสหรัฐว่า
สหปาลีรัฐอเมริกา
มีใครทราบมั้ยครับว่า ใช้กันช่วงไหน และ ทำไมเลิกใช้เสีย
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 04:48

ต้องขอบคุณ เพื่อน ๆ พี่ ๆ ทุกคนด้วยครับ
ที่มาช่วยตอบ อย่างที่บอก ผมไม่ได้เชื่อเรื่อง ว่า แอนนา จะมีอิทธิพลกับ กษัตริย์ของเราหรือไม่ แต่ผมพอได้ดูแล้วก็เกิดความสงสัย อยากหาข้อมูล คิดว่า ถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยว
วอชิงตัน ดีซี อีกสักครั้ง ผมคงจะไปที่
Smithsonian แล้ว ลองไปขอดูว่า ทางอเมริกัน เค้าจะเก็บหรือบันทึกจดหมายเหตุ ที่ติดต่อกับประเทศเราไว้บ้างหรือเปล่า
ผมคิดว่า นิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นเป็นทางนึงที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ สนใจประวัติศาสตร์ได้นะครับ เพราะในรูปแบบการเรียน หรือค้นคว้าตำราอย่างเดียว คงยากที่จะทำให้หลายคนสนใจ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 23 ม.ค. 01, 08:20

มาขยายความนิดหนึ่ง
ที่ผมบอกว่าไทยเราคบกับอเมริกามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้นเป็นมุขนะครับ น้องๆอย่าถือเป็นจริงเป็นจัง ผมเอามาจากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่มีการเอ่ยถึงประเพณีลอยกระทงน่ะครับ ในนั้นมีคนจับพิรุธไว้หลายอย่าง เรื่องการเอ่ยถึงอเมริกา (ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอย่างที่คุณนกข.ว่า คือ เพิ่งจะตั้งประเทศในยุคสมัยเดียวกับกรุงรัตนโกสินทร์) การเอ่ยถึงปืนใหญ่(ซึ่งเพิ่งจะมีก่อนเสียกรุงครั้งแรกสักร้อยปีเห็นจะได้) สมมติฐานในยุคหลังจึงเชื่อว่าแต่งในต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง โดยอาจเป็นพระราชนิพนธ์ในร.๓ด้วยซ้ำ
น้องๆอย่าเอาแต่ตลกเยี่ยงอย่างผมนะครับ แฮ่ แฮ่
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง