แต่ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ขุนหลวงพ่องั่วได้หัวเมืองเหนือทั้งปวงในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น มันสอดคล้องกับหลักฐานฝ่ายล้านนาที่ว่า วัตติเดชอำมาตย์ (ขุนหลวงพ่องั่ว) ตีได้เมืองสุโขทัยหลังพญาลิไทสวรรคต
ดังนั้น เมืองเหนือทั้งปวง ก็ควรจะเป็น แคว้นสุโขทัย นะครับ
และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)
สิ่งที่ผมคาใจเรื่อง "เมืองเหนือทั้งปวง" คือ ทำไมหลังได้แล้ว ยังจะต้องทำสงครามต่ออีก จนสุดท้าย มหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม จึงจะผ่านไปตีเชียงใหม่ได้
ส่วนหลักฐานฝ่ายล้านนาที่คุณ Bhanumet อ้างถึง คือ "ตำนานมูลศาสนา" หรือเปล่าครับ ?
ถ้าใช่ผมจำได้เลาๆ ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างเงื่อนไขพิพาทกับสุโขทัยเรื่องค้าข้าว โดยใช้เมืองชัยนาท (มั้ง) ครับ
เท่าที่ผมจำได้ เห็นจะไม่มียึดเมืองสุโขทัยนะครับ แต่ดูเหมือนจะยอมอะไรบางอย่างกับอยุธยา
ขออภัยด้วยครับ อ่านมา หก-เจ็ดปีแล้ว จำได้ลางๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ยังอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
ถ้าคุณ Bhanumet มีตำนานมูลศาสนา (หรือ ท่านใดก็ได้) รบกวน นำเนื้อความตอนนี้มาลงไว้ก็ดีครับ เป็นประโยชน์มากที่เดียว
===============================
และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)ความใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
ศักราช ๗๓๓ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง
ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ได้เมือง
ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากัง (ราวและพระยา) ใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระยา) ใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพ (หลวง) เสด็จกลับคืนมา
ศักราช ๗๓๖ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๑๗) สมเด็จพระบรมราชา(ธิราช) เจ้า และพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบูรพทิศหน้าพระบั้นชั้นสิงห์ สูงเส้น ๓ วา
ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัว (อพ) ยพมาครั้งนั้นมาก
ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมือง (ชากังราว) เล่า ครั้งนั้นพระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพ (หลวง และจะ) ทำมิได้ และท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี และจึงเสด็จทัพหลวงตาม และท้าวผ่าคองนั้นแตก และจับได้ตัวท้าวพระยาและกสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก และทัพหลวงเสด็จกลับคืน
ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม
ศักราช ๗๔๘ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน
ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพานและจึงเจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้พิฆาตเจ้าทองลันเสียถ้าพิจารณาว่า ได้เมืองเหนือทั้งปวง คือ แคว้นสุโขทัย (รวมทั้งกำแพงเพชร และ พิษณุโลก) ในปี พ.ศ. ๑๙๑๔
ตามแนวน้ำน่าน: แสดงว่า ทรงดำเนินนโยบายทำสงครามต่อไปทางเหนือของสุโขทัย โดยไปตี ชากังราว ที่น้ำน่านในปี พ.ศ. ๑๙๑๖
ตามกำแพงเพชร: แสดงว่า สองปีต่อมา สุโขทัยแข็งข้อ กับอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๑๖
ถ้าตามแนวกำแพงเพชร จะเห็นได้ว่า สุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๙๑๖ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจอยุธยาก็ได้ คำว่า ได้เมืองเหนือทั้งปวง ในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมืองบางอย่าง เพราะเป็นช่วงพลัดเปลี่ยนรัชกาลของกษัตริย์สุโขทัย ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนทางการเมือง อยุธยาต้องการสุโขทัยมานานแล้ว จึงน่าจะใช้นโยบายอะไรบางอย่างที่ทำให้สุโขทัยยอมเป็นประเทศราชโดยไม่เสียเลือดเนื้อ น่าเสียดายที่พงศาวดารไม่ได้บันทึกอะไรไว้มากกว่านี้
แต่สองปีต่อมาพระมหาธรรมราชาที่ ๒ น่าจะได้ "back up" ชั้นดี มียุให้แข็งเมือง ซึ่ง back up นั้นก็เห็นอยู่เลาๆ ว่าคือ ท้าวผาคอง ในเนื้อความ
ผมเอนไปทางชากังราว คือ กำแพงเพชรครับ เนื่องจาก เนื้อความต่อมา เป็นเรื่องของการตีเมืองหน้าด่านของสุโขทัย คือ ชากังราว (กำแพงเพชร) กับ พิษณุโลก ก่อนที่พระมหาธรรมราชาจะยอมแพ้ (พ.ศ. ๑๙๒๑) ซึ่งนับได้ว่า ณ จุดนี้ สุโขทัย "กลับ" มาเป็นประเทศราชเหมือนเดิม
เพราะจะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่ผ่านสุโขทัย ก็รุกไปเชียงใหม่ไม่ได้
ถ้าตามแนวน้ำน่าน จะสัญนิษฐานโดยพื้นฐานที่ว่า สุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ดังนั้น ชากังราว จึงควรอยู่เหนือขึ้นไป
ตรงนี้จะอธิบาย ลำดับเวลานี้ยังไงครับ ?
ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากังราว (ไสแก้ว) (ในลุ่มน้ำน่าน) ไม่ได้เมือง => แสดงว่า ได้พิษณุโลกแล้ว จึงผ่านขึ้นมาได้ ?
ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก (สามแก้ว) ได้เมือง => แสดงว่า พิษณุโลกแข็งเมือง ? ถ้าพิษณุโลกแข็งเมือง แสดงว่า สุโขทัยแข็งเมืองด้วย แต่ทำไม ไม่ทรงไปปราบสุโขทัยก่อน จะเข้าไปตีอีกครั้ง ?
ปีต่อๆ มาก็เน้นตีชากังราว สุดท้าย มหาธรรมราชา ก็ออกมาถวายบังคม ตามเนื้อความ มหาธรรมราชาในที่นี่ ควรเป็นกษัตริย์สุโขทัยครับ ไม่ใช่กษัตริย์เมืองชากังราว เพราะพระนามนี้ เป็นนามตามประเพณีกษัตริย์เมืองสุโขทัย => ทำไมสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ไม่ทรงไปตีสุโขทัยเลย ? เพราะเป็นทางผ่านอยู่แล้ว และมหาธรรมราชาก็ไม่จำเป็นต้องยอมแพ้ เพราะอยุธยาตีเืมืองในลุ่มน้ำน่าน ยังทรงมีโอกาสมาตั้งมั่นในเมืองสุโขทัยได้อีก ?
คำถามเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้ผมยังไม่เชื่อว่า ชากังราว อยู่ในลุ่มน้ำน่าน
อีกประการหนึ่ง เรื่องลำดับชื่อคือ
มหาธรรมราชา - พี่คนโต
คำแหงพระราม - คนที่ ๒ (ชื่อราม เป็นธรรมเนียมตั้งชื่อลูกคนที่สอง)
สามแก้ว - คนที่ ๓
ไสแก้ว - คนที่ ๔
ดังนั้น จะเห็นเครือข่ายดังนี้
มหาธรรมราชา ครองสุโขทัย
คำแหงพระราม - "น่าจะ" ครองศรีสัชนาลัย (ความในเรื่องไม่ได้บอกไว้)
สามแก้ว - ครองพิษณุโลก เมืองสำคัญอันดับสามของแคว้นสุโขทัย
ไสแก้ว - ครองชากังราว ซึ่ง "น่าจะหมายถึง" กำแพงเพชร เมืองสำคัญอันดับสี่ของแคว้นสุโขทัย
อันนี้ก็ฝากไว้ให้พิจารณาเช่นกันครับ
